วันชัย ตัน
ภาพประกอบ : DINHIN
เจ๊โลว์คนนี้ไม่ใช่ เจโล หรือ เจนนิเฟอร์ โลเปซ ดาราชื่อดังแห่งฮอลลีวูด
เธอมีชื่อเต็มว่า คาเรน โลว์ เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์แห่งเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
โดยทั่วไป วิศวกรน่าจะเป็นคนที่มีระบบระเบียบ แต่ทุกวันนี้คุณโลว์กำลังประสบปัญหาการจัดระเบียบชีวิตตัวเอง จนต้องลงทุนเรียกหาที่ปรึกษามาช่วย
ปัญหานี้ไม่ได้มีเหตุมาจากความรัก แต่มาจากความรก
คุณโลว์เธอมีความสามารถพิเศษในการปล่อยให้บ้านรกรุงรังยิ่งกว่ารังหนู จนบรรดาหนูๆ ซูฮก เรียกว่า เจ๊โลว์
เพราะความรกของอพาร์ตเมนต์เจ๊โลว์นั้นไม่ธรรมดา แต่รกระดับที่ตกเป็นข่าว
พอนักข่าวเข้าไปข้างในอพาร์ตเมนต์ สิ่งที่เห็นคือสายคอมพิวเตอร์หลายสิบเส้นที่ไม่ได้ใช้งาน ห้อยระโยงระยางเหมือนไม้เลื้อยอยู่ในห้องนอน แผ่นซีดีซอฟต์แวร์และเกมคอมพิวเตอร์นับร้อยแผ่นเกลื่อนอยู่ในห้องกินข้าวราวกับไม่เคยเก็บมาหลายสิบปี ไม่นับเสื้อผ้า หนังสือ และเครื่องใช้จำนวนมาก ทั้งที่ใช้และไม่ได้ใช้ วางเรียงรายอยู่ทุกมุมห้องจนแทบไม่เหลือพื้นที่ในอพาร์ตเมนต์ให้เดินไปไหนมาไหน
ทุกวันนี้เจ๊โลว์ไม่สามารถจัดการกับปัญหาในบ้านของตัวเองได้ จำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดัดนิสัย “บ้าสมบัติ” ที่ทำให้บ้านของเธอกลายสภาพเป็นโกดังอันรกรุงรัง
ว่าที่จริงพฤติกรรมของเจ๊โลว์ไม่ได้แปลกประหลาดแต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกา มีผู้คนอีกนับล้านที่เป็นพวกเดียวกับเจ๊โลว์
“พฤติกรรมของพวกที่สะสมข้าวของมากเกินไป ก็ไม่ต่างจากพฤติกรรมของคนอ้วนที่กินมากเกินไปจนเกิดปัญหาตามมา ในยุคบริโภคนิยม คนจำนวนมากถูกการโฆษณาชวนเชื่อชักจูงให้ชอปปิงสินค้ามากมายจนไม่มีที่จะเก็บ สินค้าบางอย่างซื้อมาเก็บไว้ข้ามปียังไม่ได้เปิดกล่องเลย ก็ซื้อใหม่อีกแล้ว”
ปีเตอร์ วอล์ช นักจิตวิทยาแห่งลอสแองเจลิส กล่าว พร้อมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
“คนสมัยก่อนไม่ค่อยมีสมบัติมาก อาจมีการกักตุนอาหารหรือข้าวของบางอย่างไว้ใช้ยามขาดแคลนบ้างในบางฤดูกาล แต่คนเดี๋ยวนี้สะสมข้าวของเพียงเพื่อสนองความอยากของตัวเอง และหลายคนก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว บางคนสะสมชุดน้ำชา รูปหล่อเหนือเตาผิง หรือส้อมที่ใช้สำหรับรับประทานปลาโดยเฉพาะ”
ทุนนิยมสมัยใหม่ชักจูงให้คนอยากจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น จนทำให้การเดินชอปปิงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนเมืองจำนวนมาก ร้านค้าและซูเปอร์มอลล์ที่เกิดขึ้นทุกมุมถนน ยิ่งยั่วใจให้ผู้คนหาซื้อของที่เกินความจำเป็นมากขึ้น
ร้านค้าสมัยก่อนมีสินค้าวางโชว์ในร้านน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น แต่ทุกวันนี้ร้านค้าใหญ่ๆ มักจัดวางสินค้าจำนวนมากจนลานตาเพื่อให้คนเลือกชอปได้เต็มที่ อย่างร้านวอลล์-มาร์ต แต่ละสาขามีพื้นที่ถึง ๒๒,๕๐๐ ตารางเมตร สามารถจุสินค้าได้ถึง ๑๓๐,๐๐๐ ชิ้น
โฆษณาตามสื่อต่างๆ ก็กระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยโดยไม่จำเป็นมากขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดการบริโภคทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
คนเหล่านี้ซื้อของเข้าบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่รู้จะจัดการกับสิ่งของเหล่านั้นอย่างไร ได้แต่ปล่อยให้พอกพูนขึ้นทุกวันจนรกรุงรังไปทั้งบ้าน ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังไม่ยอมขจัดทิ้ง ส่วนใหญ่ก็เพราะความเสียดาย บางคนก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า เก็บไว้ก่อน เผื่ออาจได้ใช้ในอนาคต เก็บไปเก็บมาจนกลายเป็นลูกอีช่างเก็บโดยไม่รู้ตัว
ในสหรัฐฯ ปัญหาบ้านรกไม่ใช่เรื่องเล็ก ถึงขนาดมีการแต่งตั้งคณะวิจัยแห่งชาติว่าด้วยความรกรุงรัง
คณะวิจัยชุดนี้ได้ประเมินว่า ทุกวันนี้มีอเมริกันชนกว่า ๓ ล้านคนที่ไม่เคยทิ้งข้าวของเลย แม้แต่หนังสือพิมพ์เก่าๆ ขวดแก้ว กล่องโยเกิร์ต ก็ยังเก็บไว้ คนเหล่านี้มักมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บ่อยครั้งที่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากกองขยะที่ตนสะสมไว้ ในจำนวนนี้ หลายคนจำเป็นต้องเข้าพบจิตแพทย์เพื่อหาทางบำบัดอาการบ้าสมบัติของตัวเอง
กลับบ้านวันนี้ ลองสำรวจดูว่า คุณมีอาการ “เจ๊โลว์” โดยไม่ตั้งใจหรือเปล่า ?