ปราบดา หยุ่น
(www.typhoonbooks.com)
ในโลกใบเล็กๆ ของผู้ที่มีตำแหน่งเป็น “ศิลปิน” การแบ่งแยกสถานะระหว่างศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะชั้นสูง (High Art) กับ “ช่าง” ผู้ผลิตงานชั้นต่ำ (Low Art) เป็นเรื่องธรรมดาที่สร้างความรู้สึกระหองระแหงให้แก่สมาชิกของแต่ละฝ่ายโดยปริยาย ไม่ต่างจากการแบ่งแยกนักเขียน (นักประพันธ์วรรณกรรม กับนักเขียนเรื่องประโลมโลก) นักดนตรี (ดนตรีคลาสสิกหรือดนตรี “ศิลป์ๆ” กับดนตรีพ็อป) ไปจนถึงนักแสดง (นักแสดงละครเวที กับนักแสดงละครทีวีน้ำเน่า) และหลายครั้ง การแบ่งแยกเช่นนี้ทำให้สิ่งสำคัญที่สุดของศิลปะที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ถูกมองข้ามหรือถูกกลบเกลื่อนด้วยรัศมีของ “สถานภาพ” อย่างน่าเสียดาย
สิ่งสำคัญที่ว่านั้นไม่ใช่คุณภาพบนเปลือกของงาน ไม่ใช่สารที่ผู้สร้างต้องการสื่อ และไม่ใช่ความช่ำชองแม่นยำแบบช่างฝีมือของศิลปิน
แต่เป็น “ความพิเศษส่วนตัว” ที่ทำให้งานของบางคนโดดเด่นแตกต่างจากพรรคพวกผู้ร่วมสถานภาพเดียวกัน–ในภาษาอังกฤษ เมื่อมีการค้นพบงานของศิลปินที่แตกต่างอย่างชัดเจนจนไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับงานของคนอื่นๆ ได้ คนพิเศษประเภทนี้มักได้รับการกล่าวขวัญว่าอยู่ใน “a class of his/her own,” มีชนชั้นของตัวเองเสร็จสรรพ ไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่อาจนำไปปะปนกับกลุ่มไหน ต้องจับแยกไปขังเดี่ยวเท่านั้น
การแบ่งแยกสถานภาพให้ศิลปะ ไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถในการสร้างสรรค์หรือพลังในผลงานของศิลปินแม้แต่น้อย หากมุ่งเน้นที่จะให้ความสำคัญกับ “อุดมการณ์” มากกว่าการกระทำ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการจัดกลุ่มแบบตื้นเขินเพื่อแยกแยะศีลธรรมและจริยธรรมออกเป็นขาวกับดำ เช่นบอกว่าศิลปินที่มีคนสนใจซื้อผลงานมาก แปลว่าพ็อปและเป็นพาณิชย์เกินไป ไม่ลึกซึ้งจริงจังจนไส้แห้งเท่าศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก (หรือศิลปินที่ได้แสดงงานบนผนังแกลเลอรี ผนังพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง ย่อมน่านับถือกว่าศิลปินที่แสดงงานตามร้านอาหารหรือสถานเชิงพาณิชย์อื่นๆ) นักเขียนที่เจาะจงเขียนเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคม (topical) นักเขียนที่สามารถยกอ้างทฤษฎีต่างๆ ของปัญญาชนต่างชาติได้บ่อยๆ (หรือในกรณีของประเทศไทย จะให้ดีเลิศ ต้องอวดความรู้เกี่ยวกับปรัชญาตะวันออกเพิ่มไปด้วย) ย่อมคู่ควรแก่การสรรเสริญมากกว่านักเขียนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ให้วัยรุ่นอ่าน
ประเด็นที่ถูกละเลยเพราะการแบ่งแยกสถานภาพเช่นนี้ คือระดับความสามารถของการสร้างสรรค์ในงานแต่ละชิ้นของศิลปินแต่ละคน ศิลปินคอนเซ็ปชวลแสดงงานในแกลเลอรีดัง อาจเป็นเพียงคนปลิ้นปล้อน หวังชื่อเสียง มากกว่าจะเป็นผู้มีความคิดต่อโลกในรูปแบบที่น่าสนใจจริงๆ ผลงานของเขาหรือเธออาจไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างซื่อตรงเท่าไรนัก ในขณะที่นักวาดภาพประกอบผู้พอใจแล้วกับการแสดงงานบนผนังร้านกาแฟเล็กๆ อาจเพียบพร้อมไปด้วยความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ กระทั่งอาจมีพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในระดับกว้างและเป็นรูปธรรมกว่าด้วยซ้ำ
น่าเสียดายที่สังคมของการ “แปะป้ายชื่อ” มักจัดอันดับให้คนเหล่านี้อยู่ด้านล่างๆ เพียงเพราะสถานภาพของพวกเขาแตกต่างไปจากขนบของค่านิยมคร่ำครึที่ยกยอ “สาระและความสำคัญ” (ซึ่งโดยปรกติเป็นคุณสมบัติที่ดี หากไม่ถูกบิดเบือนความหมายโดยคำว่า “วิชาการ” กับ “พัฒนาการ” อย่างที่เป็นอยู่)
กลุ่มคนผู้น่าจะรู้ซึ้งถึงการถูกแบ่งแยกสถานะในการผลิตงานสร้างสรรค์มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือนักเขียนการ์ตูน
เอเดรียน โทไมน์ (Adrian Tomine) เขียนในคำนำสำหรับหนังสือรวมงานภาพวาด “การ์ตูน” ที่ชื่อ Scrapbook, Uncollected Work: 1990-2004 (พิมพ์โดย Drawn & Quarterly Publications, 2004) ของเขาว่า: “เมื่อผมพบใครสักคนเป็นครั้งแรกและถูกถามว่าผมทำงานอะไร ผมจะบอกว่าผมเป็นนักวาดการ์ตูน (แต่ถ้าคนถามเป็นหญิงสาวน่ารักละก็ ตอนแรกผมจะบอกว่าผมเป็น ‘นักวาดภาพประกอบ’ หรือ ‘ศิลปินเชิงพาณิชย์’ แล้วค่อยๆ นำร่องไปจนถึงคำว่า ‘นักวาดการ์ตูน’ เมื่อผมรู้สึกผ่อนคลายและมั่นใจมากขึ้น)”
ชื่อตำแหน่งและสถานภาพในสังคมสร้างความซับซ้อนให้แก่ความรู้สึกนึกคิดของคนได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ มันกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตที่หลายคนให้ค่ามากกว่าความอยู่ดีมีสุข แม้แต่สถานภาพที่ถูกจัดวางว่า “ต่ำ” อยู่แล้ว ยังอุตส่าห์มีความแตกต่างของระดับความต่ำให้ต้องทบทวน สาขาความสร้างสรรค์ถูกจำแนกออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยระบบผิวเผินที่พยายามจะกำหนด “ชนิด” ของมนุษย์เพื่อการบริหารสังคมด้วยมุมมองสำเร็จรูป เมื่อผมตอบคำถามคนว่าผมเป็นนักเขียน ยังต้องพยายามสรรหาคำตอบที่เหมาะสมให้คำถามที่มักตามมาว่า “เขียนอะไร”–สักวันผมอยากจะตอบ: “เป็นนักเขียนคิ้วครับ เขียนประจำให้คณะงิ้วร่อนเร่”
การ์ตูนเป็นงานศิลปะที่ถึงแม้จะถือว่าเป็นพื้นฐานการกำเนิดของศิลปะแขนงอื่นๆ (ภาพวาดบนผนังถ้ำโดยมนุษย์ดึกดำบรรพ์ก็คือการวาดการ์ตูนอย่างหนึ่ง) แต่สถานภาพของมันกลับถูกกดอยู่กับสิ่งที่มักถูกเรียกรวมว่า “เรื่องไร้สาระ” เสมอ และแม้ว่าการ์ตูนกับวัยเด็กจะเป็นของคู่กันประหนึ่งธรรมชาติกำหนด แต่คนส่วนมากก็เชื่อว่าพฤติกรรมการเสพการ์ตูนควรค่อยๆ จางหายไปจากชีวิตพร้อมๆ กับการล่วงเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในสังคมที่ยึดติดกับสูตรสำเร็จและการยึดติดกับธรรมเนียมอย่างเหนียวแน่นเช่นสังคมไทย สิ่งที่เรียกว่า “การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่” (หากไม่ใช่ในความหมายของการ์ตูนลามกอนาจาร) ก็แทบจะของแปลกประหลาด ไม่มีใครพบเห็น
ทว่าในวัฒนธรรมที่พอจะมีช่องว่างให้ความแตกต่างอยู่บ้าง การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีมานานพอสมควร เอเดรียน โทไมน์ บอกว่า ความสนใจของเขาไม่ใช่ความเป็นการ์ตูน แต่เป็น “telling personal stories in comics form,” หรือการแสดงความรู้สึกและเรื่องราวส่วนตัวออกมาในรูปแบบของการ์ตูน นั่นแปลว่าไม่จำเป็นต้องเน้นขายความสนุกสนานหวือหวาแบบพิสดารอย่างการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย ไม่ต้องเป็นจินตนาการเหนือจริงหรือตลกโปกฮาสุดโต่งแบบการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับคนธรรมดา เกี่ยวกับปัญหาหลากหลายรูปแบบในชีวิตของตัวละครต่างๆ อาจมีประเด็นของความสัมพันธ์ในครอบครัว การเติบโตเปลี่ยนแปลงจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่ง การมีเซ็กซ์ครั้งแรก ความละเอียดอ่อนของอารมณ์ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรืออะไรก็ได้ที่สะท้อนความเป็นคน โดยไม่ต้องปรุงแต่งให้เข้มข้นกว่าเหตุการณ์ประจำวันทั่วไป
การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ (แต่ไม่ห้ามเด็กอ่าน) จึงไม่ต่างจากศิลปะการเล่าเรื่อง (Narrative Art) อย่างวรรณกรรมและภาพยนตร์ หากแต่ใช้รูปแบบของการ์ตูนเป็นสื่อแทน–จะว่าไป มันก็คือการผสมผสานระหว่างสองสิ่งนั้นพอดิบพอดี เป็นวรรณกรรมที่มีภาพมากกว่าตัวหนังสือ เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ถูกเลือกแช่นิ่งเฉพาะเฟรมที่สำคัญต่อการเล่าเรื่อง
ผู้ใหญ่บางคนคงรู้สึกตะขิดตะขวงที่จะเรียกงานทัศนศิลป์ชนิดนี้ว่าการ์ตูน (เพราะทำให้ต้องยอมรับว่าตัวเองแม้โตเป็นควายแล้วก็ยังอ่านการ์ตูนอยู่) จึงบัญญัติศัพท์ “วรรณกรรมภาพ” (Graphic Novel, Visual Novel, Illustrated Novel) ขึ้นมาใช้ให้เหมาะกับวัยที่ “จริงจัง” มีสาระ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสถานภาพและการเรียกชื่อที่ฝังแน่นในจิตสำนึกของคนยุคใหม่อีกเช่นเคย การเลือกเปลี่ยนศัพท์จากคำง่าย คุ้นหู ให้เป็นคำที่ฟังดูมีมิติ มีการศึกษา สามารถผลักดันสถานภาพของสิ่งนั้นให้สูงขึ้นทันที แม้โดยเนื้อแท้แล้ว “วรรณกรรมภาพ” ก็ยังคงแปลง่ายๆ ได้ว่า “การ์ตูน”
ทว่าไม่รู้คนเราเป็นโรคอะไร ก่อนจะยอมรับนับถือผลงานของใครได้ เป็นต้องสรรหาเสื้อผ้าภูมิฐานมาสวมใส่ให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ช่วยยกสถานภาพสู่ความ “เหมาะสมที่จะเชิดชู” เสียก่อน น้อยคนนักที่จะยอมหมอบกราบแทบเท้าขอทาน แม้ขอทานคนนั้นจะสามารถพิสูจน์ด้วยการกระทำว่าเขามีสติปัญญาหลักแหลมเพียงไร–สังคมต้องขอร้องให้อาบน้ำหน่อย ใส่สูทผูกเนกไทสักนิดได้ไหม หรือง่ายกว่านั้น แค่เข้าไปนั่งในรถเบนซ์ ไม่ต้องปริปากสักคำ เดี๋ยวก็มีคนมายืนตะเบ๊ะต้อนรับเอง
อาร์ต สปีเกิลแมน (Art Spiegelman) เป็นนักวาดการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญเทียบเท่านักเขียนระดับโลกคนอื่นๆ งานของเขามีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมืองและสังคม ซึ่งห่างไกลจากคำว่าไร้สาระอย่างยิ่ง การ์ตูนดังที่ชื่อ Maus เป็นเรื่องอิงประสบการณ์จริงจากคำบอกเล่าโดยพ่อกับแม่ของเขาผู้รอดชีวิตจากกระบวนการฆ่าล้างเชื้อชาติชาวยิวของฮิตเลอร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ มันกลายเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จที่สุดเล่มหนึ่งในโลก หนำซ้ำยังคว้ารางวัลทรงเกียรติ–พูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) มาครอง ทำให้เขากลายเป็นหัวหอกสำคัญในแวดวงการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ สามารถเรียกร้องความสนใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่อการ์ตูน จากเคยถูกเย้ยเหยียดว่าเป็นกิจกรรมไร้สาระของคนไม่รู้จักโต (และเป็นศิลปิน “พาณิชย์” ในสายตาของวงการศิลปะ) ให้กลายเป็นทัศนศิลป์ที่น่าเลื่อมใสแขนงหนึ่งของยุค
ล่าสุด สปีเกิลแมนพิมพ์หนังสือชื่อ In the Shadow of No Towers เกี่ยวกับการล่มสลายของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และสภาวะหวาดผวาของชาวอเมริกันยุคหลัง 9/11–เป็นผลงานตอกย้ำยืนยันว่านักวาดการ์ตูนบางคนอาจมีสาระมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด
นอกจากผลงานของตัวเอง นิตยสารการ์ตูนชื่อ Raw ของสปีเกิลแมน เป็นแรงบันดาลใจและเป็นสนามสำคัญสำหรับนักวาดการ์ตูนปากกาใหม่ทั้งหลาย ที่หลงใหลในศาสตร์แห่งภาพวาดเล่าเรื่อง–กระแส “ทางเลือก” ของนิตยสารการ์ตูนอย่าง Raw (ยังมีนิตยสารคล้ายๆ กันอีกหลายเล่ม เช่น Drawn & Quarterly ที่พิมพ์งานของ เอเดรียน โทไมน์ และ Love & Rockets นิตยสารการ์ตูนทางเลือกชื่อดังในยุคแปดศูนย์) ทำให้สื่อกระแสหลักเริ่มแสดงความสนใจในงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งแวดวงศิลปะชั้นสูงก็ค่อยๆ เปิดรับผลงานของศิลปินที่ได้อิทธิพลจากลายเส้นการ์ตูน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการยอมรับที่ต้องผ่านการปรับเปลี่ยนสถานะจากการ์ตูนในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ราคาย่อมเยา ให้เป็นการ์ตูนบนผืนผ้าใบ หรือต้องใส่กรอบแขวนบนผนังขาวๆ ของแกลเลอรีเสียก่อน จึงจะสมควรต่อการกราบไหว้บูชา
การ์ตูนของ แดเนียล โคลวส์ (Daniel Clowes) ชื่อ Ghost World (พิมพ์โดย Fantagraphics Books) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสองสาวเพื่อนสนิทที่กำลังเผชิญจุดเปลี่ยนและการเติบโตของชีวิต สะท้อนรายละเอียดเปราะบางอ่อนไหวของมิตรภาพ ความรัก ความลับ ความรับผิดชอบ ความแตกต่างระหว่างโลกวัยเยาว์กับความเศร้าหม่นของคนวัยทำงาน และความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างสังคม มันคือหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ที่สื่อความได้ใกล้เคียงนวนิยายหรือภาพยนตร์ที่สุดเรื่องหนึ่ง และสร้างชื่อเสียงให้โคลวส์ไม่น้อย การ์ตูนของเขามีคุณสมบัติของความเป็นภาพยนตร์มากจนอาจเปรียบได้ว่ามันคือสตอรีบอร์ด (storyboard) ชั้นดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ Ghost World ถูกแปรรูปเป็นหนังฮอลลีวูดในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ แสดงนำโดย โทรา เบิร์ช (Thora Birch) กับ สการ์เล็ตต์ โยฮานส์สัน (Scarlett Johansson) และกำกับโดย แทร์รี ซวิกออฟฟ์ (Terry Zwigoff) ผู้เคยกำกับสารคดียอดเยี่ยมเกี่ยวกับบิดาแห่งนักวาดการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่-โรเบิร์ต ครัมบ์ (Robert Crumb) มาแล้ว
ดูเหมือนว่าครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๐๐๐ จะเป็นเวลาทองสำหรับคนไม่ยอมโต–หนังสือการ์ตูนรสแปลกของ คริส แวร์ (Chris Ware) ที่ชื่อ Jimmy Corrigan: The Smartest Kid on Earth (พิมพ์โดย Pantheon Books ในปี ๒๐๐๑) กลายเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากเกือบเทียบเท่า Maus ของ อาร์ต สปีเกิลแมน มันไม่เพียงขายดีและได้รางวัลระดับงานวรรณกรรมอย่าง Guardian First Book Award กับ American Book Award แต่ยังติดอยู่ในรายชื่อ “หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี” ของสิ่งพิมพ์มีสกุลอย่าง TIME และ The Village Voice–ความสำเร็จที่ไม่คาดฝันของแวร์ ไม่เพียงทำให้เขาเป็นที่สนใจของสื่อกระแสหลัก มันยังดึงและดูดวงการการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ให้ส่งรัศมีแจ่มจ้ายิ่งขึ้นไปอีก นักวาดการ์ตูนอย่าง คริส แวร์ เอเดรียน โทไมน์ แดเนียล โคลวส์ รวมถึงรุ่นใหญ่อย่าง อาร์ต สปีเกิลแมน ต่างกลายเป็นศิลปินเนื้อหอม ถูกดมตอมบ่อยครั้งโดยคนสาขาต่างๆ ทุกคนที่กล่าวมาล้วนเคยได้รับการเชื้อเชิญให้วาดรูปลงนิตยสารชั้นสูงอย่าง The New Yorker หนังสือพิมพ์หัวแถวอย่าง The New York Times และสื่ออื่นๆ อีกหลากหลาย ทั้งแต่ปกนวนิยาย ปกซีดี ไปถึงโปสเตอร์หนังใหญ่
เอเดรียน โทไมน์ เรียกงานเฉพาะกิจที่เขารับจ้างวาดเหล่านั้นว่า “Whore Work” หรืองานขายตัว แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเขารับงานด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครเอาปืนมาจ่อหัวบังคับให้ทำ และถึงแม้การผลิตงานเพื่อผลตอบแทนทางการเงินมักถูกพิพากษ์โดยวงการศิลปะว่าเป็นเหตุผลชั้นต่ำ แต่ปรากฏการณ์กระแสนิยมในการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ ที่กระตุ้นให้สื่อกระแสหลักเห็นประโยชน์ของมันมากขึ้น ดูเหมือนจะมีความหมายแฝงมากกว่าจะเป็นการนำมันมาใช้ในระบบธุรกิจโฆษณาเพียงอย่างเดียว–ไม่ว่าจะยอม “ขายตัว” หรือไม่ การได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากสังคม อาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางสถานภาพของนักวาดการ์ตูนบางกลุ่มบางคน และอาจหมายถึงการขยายขนาดของทัศนคติที่คนมีต่อคำว่า “การ์ตูน”
ในช่วงระยะเวลาปี-สองปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งในโลกเริ่มอ้าแขนรับงานการ์ตูนโดยการแสดงมันบนผนัง แต่ถึงแม้ปรากฏการณ์เช่นนี้จะดูเหมือนน่าจะเป็นที่ยินดีปรีดาในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง นักวาดการ์ตูนบางคนกลับรู้สึกว่ามันเป็นการนำเสนอการ์ตูนที่ผิด–พิพิธภัณฑ์และคนในแวดวงศิลปะส่วนใหญ่เห็นการ์ตูนเป็น “ผลิตผลของวัฒนธรรมพ็อป” และการนำมันไปแสดงบนผนังขาวๆ ไม่ได้เป็นการเสนอเนื้อหาหรือความหมายแท้ๆ ของการ์ตูนแต่ละเรื่อง หากมองมันเป็นเพียงการบันทึกประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม
หนังสือการ์ตูน ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ต้องทำความรู้จักด้วยการอ่าน อ่านทั้งเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือ อ่านทั้งรายละเอียดในลายเส้น สีสัน รวมถึงการเลือกลำดับภาพเพื่อเล่าเรื่อง หากคัดสรรเฟรมใดเฟรมหนึ่งเพื่อแขวนโชว์บนผนังแกลเลอรี อย่างมากก็เห็นได้เพียงความสดใสงดงามของฝีมือการวาด ความน่าสนใจขององค์ประกอบ ทว่าปราศจากอรรถรสที่สำคัญของนักวาดการ์ตูนแต่ละคนโดยสิ้นเชิง–ความเป็นกวีของ เอเดรียน โทไมน์ และ คริส แวร์ วิธีดำเนินเรื่องที่แยบคายของ แดเนียล โคลวส์ และสารสาระในงานของ อาร์ต สปีเกิลแมน เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจที่ทำให้พวกเขามี “ชนชั้นของตัวเอง” จนโดดเด่นผิดแผกจากนักวาดการ์ตูนทั่วไป และจะรู้ซึ้งได้จากการอ่านเท่านั้น
นักวาดการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ก็คือคนที่ยังไม่ละทิ้งความผูกพันกับสิ่งที่เขาหรือเธอหลงใหลในวัยเด็ก แทบทุกชื่อที่เอ่ยมา ล้วนเคยตกหลุมรักหนังสือการ์ตูนยอดนิยมที่เด็กทุกคนรู้จัก ทว่าเมื่อเติบโตขึ้น วัยและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้พบ ทำให้ความสนใจ ความรู้สึกนึกคิด และความเชื่อของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป–นี่คือกฎธรรมชาติที่เกิดกับมนุษย์เกือบทุกคน
แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด พวกเขายังไม่ห่างเหินจากการ์ตูน
ธรรมชาติไม่เคยบงการให้ผู้ใหญ่เลิกชอบ อ่าน หรือวาดการ์ตูน ธรรมชาติไม่ตัดสินว่าอะไรเป็นศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ และธรรมชาติไม่สนใจสถานภาพในสังคมของคน
ไม่ว่านักวาดการ์ตูนเหล่านี้จะได้รับการยอมรับถึงขั้นไหน เรื่องที่น่ายกย่องชื่นชมไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางสถานภาพที่ทำให้พวกเขาน่าเชื่อถือ หรือทำให้งานของพวกเขาถูกเรียกว่า “ศิลปะ”
พวกเขาชอบการ์ตูน และต้องการสื่อสารความคิดและประสบการณ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยสิ่งที่เขาชอบ แม้จะเสี่ยงต่อการถูกเหยียดหยามด้วยคำว่าไร้สาระ ขยะ และต่ำ
ธรรมชาติไม่ห้ามปรามพวกเขา พวกเขาไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่หลอกตัวเอง ไม่ยำเกรงความงมงายของคนอื่น
เท่านี้ พวกเขาก็จัดว่าเป็นชนชั้นที่มีสถานภาพน่าเลื่อมใสที่สุดสถานภาพหนึ่งในสังคมโดยไม่รอคำเยินยอจากหนังสือพิมพ์ชั้นนำฉบับใด