นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือ To Kill a Mockingbird เขียนโดยนักเขียนสตรี ฮาร์เปอร์ ลี (Harper Lee) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๙๖๐ และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ๑๙๖๑ สร้างเป็นหนังขาวดำในปี ๑๙๖๒ ซึ่งนอกจากจะได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมและกำกับศิลป์ (ขาว-ดำ) ยอดเยี่ยมแล้ว ยังทำให้ เกรเกอรี เป็ก ได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายชายด้วย หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมประจำปี แต่ปีนั้นรางวัลตกเป็นของ Lawrence of Arabia
เกรเกอรี เป็ก รับบท แอตติคัส ฟินช์ ทนายความในรัฐแอละแบมาที่รับว่าความให้หนุ่มผิวดำที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาข่มขืนหญิงสาวผิวขาว เขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความรับผิดชอบและเที่ยงธรรม แต่กลับถูกเหยียดหยามและดูหมิ่นจากคนในชุมชน
เนื้อหาสำคัญของเรื่องมิได้อยู่ที่การพิจารณาคดี แต่อยู่ที่ แอตติคัส ฟินช์ ในฐานะพ่อม่าย จะอธิบายเรื่องทั้งหมดนี้ให้แก่ลูก ๒ คน คือ เจม อายุ ๑๓ ปี และ สเกาท์ อายุ ๙ ปี อย่างไร
กลับมาที่หนังสือ To Kill a Mockingbird ฮาร์เปอร์ ลี เขียนเรื่องนี้ในลักษณะที่เป็นเรื่องเล่าของ สเกาท์ ฟินช์ ลูกสาวของแอตติคัส หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลมากกว่า ๔๐ ภาษา บ้านเรามีฉบับแปลที่ใช้ชื่อว่า ผู้บริสุทธิ์ แปลโดย ศาสนิก พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เรจีนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ข้อความที่ยกมาอ้างอิงในบทความนี้นำมาจากฉบับแปลของศาสนิก
สำหรับผมแล้ว แอตติคัส ฟินช์ เป็นพ่อตัวอย่างในแง่ที่ว่าเขาเลี้ยงลูกด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เขาไม่มีเวลาให้ลูกเท่าไรนักก็จริง แต่นั่นเป็นเวลาในอดีตที่โลกยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และมือถือ ไม่มีความชั่วร้ายรายล้อมอยู่รอบบ้านหรือในคอมพิวเตอร์กลางบ้าน ดังนั้น ลำพังแค่ท่าทีที่สงบและมั่นคงของผู้เป็นพ่อก็เพียงพอที่ลูกๆ จะยึดเป็นเสาหลักในการเจริญเติบโตต่อไป
นอกเหนือจากท่าทีที่สงบและมั่นคงแล้ว แอตติคัส ฟินช์ ยังมีความขยันหมั่นเพียรเป็นแบบอย่าง ทั้งในด้านการทำงานและการใฝ่หาความรู้
มิสคาโรไลน์บอกฉันให้ไปบอกพ่อว่าอย่าสอนหนังสือฉันอีก เพราะมันจะรบกวนการอ่านของฉัน
“สอนหนูหรือคะ” ฉันเอ่ยด้วยความประหลาดใจ “มิสคาโรไลน์คะ พ่อไม่ได้สอนหนังสือหนูเลย แอตติคัสไม่มีเวลาที่จะมาสอนหนังสือหนูหรอกค่ะ” ฉันเสริมเมื่อเห็นมิสคาโรไลน์ยิ้มและส่ายหัว “ทำไมล่ะคะ ก็ตอนกลางคืนน่ะพ่อเหนื่อยมากเลย พ่อก็เลยเพียงแต่นั่งในห้องนั่งเล่นแล้วก็อ่านหนังสือ” (หน้า ๒๓-๒๔)
กฎข้อแรกของการเป็นพ่อแม่คนคืออยู่บ้าน ปริมาณของเวลาที่พ่อแม่อยู่บ้านจะมีความสำคัญเท่ากับหรือมากกว่าคุณภาพ
มีเวลาน้อยให้ลูก แต่มีคุณภาพนั้น ไม่จริง และใช้ไม่ได้กับยุคสมัยนี้
แอตติคัสไม่มีเวลาให้แก่ลูก ๒ คนมากนัก วันๆ เขาทำแต่งาน ขณะที่วันๆ พวกเด็กๆ ก็เอาแต่เล่น ข้อดีคือเด็กๆ ได้เล่นในสนาม ไม่ได้หมกตัวอยู่กับคอมพิวเตอร์ในบ้านแบบเด็กยุคนี้ การเล่นในสนามและการผจญภัยในละแวกบ้านช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้แก่เด็กๆ โดยที่คนเป็นพ่อแม่ไม่ต้องทำอะไรมากนัก พ่อแม่มีหน้าที่เป็นเสาหลักแล้วให้เสรีภาพแก่ลูก ซึ่งสำหรับแอตติคัสแล้ว เขาเป็นพ่อที่ให้เสรีภาพแก่ลูกมากทีเดียว
“…เมื่อเวลาเด็กถามอะไรนายล่ะก็จงตอบแกซะ อย่าไปคิดมากว่าตอบไปแล้วจะมีผลอะไรตามมา เด็กก็คือเด็กอยู่วันยังค่ำ แต่แกจะสามารถจับการเลี่ยงคำตอบได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ และการเลี่ยงคำตอบนั่นแหละที่จะทำให้แกงงจริงๆ ไม่ใช่ซิ” พ่อของฉันไตร่ตรอง “เมื่อบ่ายนี้นายมีคำตอบที่ถูกต้องแต่ใช้ด้วยเหตุผลที่ผิด การใช้ภาษาเลวๆ หยาบคายน่ะ เป็นขั้นตอนที่เด็กๆ ทุกคนจะผ่านพ้นไปและภาษานี้ก็จะตายไปกับกาลเวลา…” (หน้า ๑๓๖)
อย่างไรก็ตามเสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ แอตติคัสมีข้อห้ามที่ชัดเจนให้แก่ลูก เช่น ห้ามชกต่อยกับเพื่อน ห้ามเสียมารยาทกับครู ห้ามเสียมารยาทกับผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เมื่อเจมและสเกาท์ละเมิดกฎพื้นฐานเหล่านี้ พวกเขาก็ถูกทำโทษอย่างจริงจังทุกครั้งไป โดยเฉพาะเรื่องห้ามเสียมารยาทกับครูนั้นควรเป็นกฎพื้นฐานสำหรับเด็กๆ ไม่ว่ายุคสมัยใด เป็นความจริงที่คุณครูอาจจะไร้เหตุผลในบางเวลาหรือทุกเวลา แต่วัยเรียนเป็นวัยที่เด็กต้องเรียนรู้ขอบเขต รู้จักอดทนและอดกลั้น มิใช่มีเสรีภาพมากเสียจนพัฒนาการทางจริยธรรมเสียหาย
ยกตัวอย่างเรื่องการตัดผม คุณครูจำนวนมากในประเทศของเราเอาจริงเอาจังกับการตัดผมเด็กนักเรียนให้สั้นเกรียน มิเช่นนั้นจะมิให้เข้าห้องสอบ แม้ว่าความจริงกฎข้อนี้ที่โรงเรียนจำนวนมากใช้อยู่จะดูไร้เหตุผลและชวนให้นักเรียนคิดว่าโรงเรียนในประเทศเราช่างล้าหลังทางปัญญาเสียจริง แต่พ่อแม่มีหน้าที่สอนให้ลูกอดทนอดกลั้นและทำตามกฎ เพื่อให้พัฒนาการทางจริยธรรมดำเนินไปได้ มิใช่สอนให้ลูกแหกกฎหรือสนับสนุนให้ลูกไว้ผมยาวโดยเสี่ยงต่อการถูกห้ามเข้าห้องสอบ อันจะทำให้ลูกเคยชินกับการใช้พฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องอื่นๆ ในภายภาคหน้า และไร้ความสามารถในการชั่งน้ำหนักความสำคัญของเรื่องราวต่างๆ รอบตัว เช่น การตัดผมสั้นกับการเข้าห้องสอบ เรื่องใดมีความสำคัญมากกว่ากัน
สำหรับแอตติคัส เขาได้แสดงให้ลูกเห็นว่าความอดกลั้นคืออะไร และมีคุณค่ามากเพียงใด โจทย์ที่เขาสอนลูกยากกว่าโจทย์เรื่องการตัดผมสั้นในโรงเรียนของประเทศเราสมัยนี้มากนัก ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง แอตติคัสถูกถ่มน้ำลายใส่ต่อหน้าลูกๆ ของเขา
“เจม ลองคิดดูนะว่า ถ้าลูกตกอยู่ในฐานะเดียวกับมิสเตอร์เอเวลล์แล้วก็ถูกพ่อทำลายเรื่องน่าเชื่อที่เขาแต่งขึ้นมาจนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในการพิจารณาคดีครั้งนั้น เขาก็ต้องหาทางสร้างชื่อเสียงขึ้นมาใหม่ เขาเป็นคนแบบนั้นเสมอล่ะ เพราะงั้นถ้าการที่เขาถ่มน้ำลายใส่หน้าพ่อแล้วช่วย มาเยลลา เอเวลล์ ให้พ้นจากการทุบตีอย่างโหดร้ายได้ล่ะก็ พ่อก็ยินดีที่จะรับเอาไว้ เขาต้องหาทางระบายออกใส่ใครสักคน และพ่อก็อยากให้เป็นพ่อมากกว่าเด็กๆ พวกนั้น ลูกของเขาน่ะ ลูกเข้าใจมั้ย” (หน้า ๓๔๐)
การละเล่นในละแวกบ้านกระตุ้นพัฒนาการของเด็กๆ ได้ดีกว่าปล่อยให้เด็กหมกอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่มันก็มีอันตราย แอตติคัสจึงมีหน้าที่ป้องกันอันตรายให้แก่ลูกๆ ทั้งจากหมาบ้าและชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับงานที่เขาทำ อย่างไรก็ตามการเล่นคอมพิวเตอร์อยู่ในบ้านอย่างทุกวันนี้ก็มิใช่ว่าจะปลอดภัยจากคนแปลกหน้าเท่าใดนัก ที่น่าห่วงคือพ่อแม่สมัยนี้ป้องกันอันตรายให้แก่ลูกได้ยากกว่าด้วย
เป็นเสาหลัก ให้เสรีภาพ ป้องกันอันตราย และช่วยพัฒนาจริยธรรม จึงเป็นหน้าที่ ๔ ประการของการเป็นพ่อแม่ พัฒนาการทางจริยธรรมอาจจะเป็นกฎพื้นฐานง่ายๆ ดังข้อห้ามของแอตติคัส เป็นข้อควรกระทำดังความอดกลั้นที่แอตติคัสสาธิตให้ลูกเห็น หรือเป็นอุดมคติดังงานแก้ต่างให้แก่คนผิวดำที่แอตติคัสทำ
“พ่อหมายความว่าถ้าพ่อไม่ช่วยว่าความให้ผู้ชายคนนั้น เจมกับหนูก็จะไม่ต้องมาฟังอะไรพ่อต่อไปอีกรึคะ”
“ใช่จ้ะ” (หน้า ๑๑๘)
“เอ้อ คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะคิดว่าพวกเขาถูกและพ่อผิด…
“แน่นอน พวกเขามีสิทธิ์จะคิดอย่างนั้น และมีสิทธิ์ที่จะให้ความเชื่อถือกับความคิดของพวกเขาอย่างเต็มเปี่ยม” แอตติคัสบอก “แต่ก่อนที่พ่อจะอยู่รวมกับคนอื่นได้ พ่อต้องอยู่รวมกับตัวเองได้ก่อน สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องอิงอยู่กับกฎคนส่วนใหญ่ คือหิริโอตตัปปะของคนเรานะลูก” (หน้า ๑๖๔)
การเติบโตของเด็กในชนบทแต่ก่อนเรียบง่าย วันๆ ก็โตขึ้นได้เรื่อยๆ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เพียงไม่กี่เรื่อง นานๆ ครั้งที่แอตติคัสจะต้องลงไม้ลงมือด้วยตนเอง หรือสั่งสอนอะไรจริงๆ จังๆ
“ข่มขืนคืออะไรคะ” ฉันถามเขาในคืนนั้น
…เขาถอนใจแล้วบอกว่า การข่มขืนคือการให้ความรู้ทางกามารมณ์แก่ผู้หญิงโดยการใช้กำลังบังคับและปราศจากการยินยอม (หน้า ๒๐๘-๒๐๙)
ต้นฉบับเขียนว่า “He sighed, and said rape was carnal knowledge of a female by force and without consent.”
วันหนึ่งแอตติคัสบอกกับเจมว่า “พ่ออยากให้ลูกยิงกระป๋องเปล่าที่ลานหลังบ้านมากกว่า แต่พ่อรู้ว่าในไม่ช้าลูกก็ต้องเปลี่ยนมาล่านกแทน แล้วก็จะยิงนกบลูเจย์ทั้งหมดเลยถ้าลูกทำได้ แต่จำไว้นะมันบาปมากที่จะฆ่านกมอคคิ่งเบิร์ดซักตัว”
นั่นเป็นครั้งเดียวจริงๆ ที่ฉันเคยได้ยินแอตติคัสพูดถึงเรื่องบาปในการทำเรื่องราวอะไร… (หน้า ๑๔๐)
ต้นฉบับเขียนว่า “Shoot all the bluejays you want, if you can hit ’em, but remember it’ s a sin to kill a mockingbird.”
การเลี้ยงลูกที่แท้มิใช่แค่การอบรมสั่งสอน แต่คือการทำความดีให้ลูกดูครับ