เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เสียงดนตรีญี่ปุ่นของผู้เข้าประกวดหมายเลขล่าสุดเพิ่งเงียบลงเพียงอึดใจ แล้วลำโพงขนาดใหญ่ก็แผดเสียงกระหึ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

หุ่นเกราะ ๒ ตัวยืนจังก้าบนเวที

ด้านหนึ่งคือ “ชิโรคิชิ” หุ่นเกราะสีเงินบาดตาถือดาบหันเข้าหา“คุโรโคชิ” หุ่นเกราะร่างดำทะมึน

แม้ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องมาก่อน ฝูงชนที่รายล้อมก็พอประเมินออกว่าการปะทะกันระหว่างตัวแทนแห่งทวยเทพกับอสูรร้ายกำลังจะอุบัติขึ้นแล้ว

“เมื่อองค์หญิงจีสน่าบอกให้อัศวินขาวตามหาขุมพลังศักดิ์สิทธิ์  อัศวินดำจึงต้องคอยขัดขวางทุกวิถีทาง” เนื้อเรื่องตอนหนึ่งจากเกมดังแดนอาทิตย์อุทัย White Knight Chronicles คือปฐมบทนำมาซึ่งฉากสู้รบอันยิ่งใหญ่บนเวที

เว้นจากซาวนด์เสียงดนตรีหนักหน่วง ทรงพลัง ที่สุดคือความพิถีพิถันของชุดเกราะซึ่งไม่ว่าจะมองมุมใดก็บ่งบอกถึงลักษณะแข็งแกร่งบึกบึน งามสง่า สวยเฉียบขาดบาดตาราวกระโจนออกมาจากหนังอัศวินข้ามพิภพ

ลึกลงไปภายใต้ชุดเกราะอันประกอบขึ้นจากโฟมยาง ผ้าหนัง ขนนก ฯลฯ  ชาย ๒ คนกำลังสวมบทบาทตัวละครที่ตนคลั่งไคล้บนเวที

ไม่กี่วันก่อนงานประกวดคอสเพลย์ World Cosplay Summit 2012 จะเริ่มขึ้น  ชายคนหนึ่งเอ่ยกับเราระหว่างพาชม “คลัง” เก็บชุดคอสเพลย์ที่บ้าน เขาพูดขณะถือหน้ากากตัวการ์ตูนอะไรสักอย่างที่เราไม่รู้จัก

“ผมเคยฝันจะเป็นยอดมนุษย์ ต่อสู้พิทักษ์โลกจากเหล่าร้าย  หาเหล็กไม่ได้ก็เอาหม้อมาสวมหัว ใช้ฝาหม้อเป็นโล่กำบัง ถือตะหลิวไล่ฟันกับพี่ชาย  เราบุกตะลุยเข้าไปในรังของศัตรู ปราบอริที่คิดจะครองโลกเสียราบคาบ เอาชนะหัวหน้าปีศาจ ปล่อยลำแสงสีทองปกป้องมวลมนุษย์”

ภาพฝันวันหวานอาจลบเลือนไปตามกาลเวลา  ทว่าไม่ใช่สำหรับ “คอสเพลเยอร์” นักแต่งกายเลียนแบบตัวละครผู้นี้  ในวันที่ไร้พันธนาการจากชุดเกราะแปลกตา เขาหยิบดาบประดิษฐ์เล่มหนึ่งขึ้นมาแล้วบอกต่อว่า

“แม้วันนี้ผมอายุ ๒๐ กว่า แต่ยังฝันถึงเรื่องราวเหล่านั้นอยู่  เวลาเราอ่านการ์ตูนหรือเล่นเกมสนุก ๆ พบตัวละครถูกใจ แล้วประดิษฐ์ชุดเกราะเลียนแบบได้ มันให้ความรู้สึกสุดวิเศษนะ  เหมือนย้อนเวลากลับไปครั้งเอาหม้อสเตนเลสครอบหัว  คราวนี้พูดไม่ออก มันตื้นตัน เร้าใจ ภูมิใจว่าเห็นไหมมันเป็นไปได้นะ

“บัดนี้ความฝันของผมเป็นจริงแล้ว”

กำเนิดคอสเพลย์ โลกเลียนแบบตัวละคร

ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศที่ให้กำเนิดวัฒนธรรมการ์ตูนข้ามชาติ  หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาพฝันและจินตนาการของนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นได้ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นกระดาษ กลายเป็นบานประตูมหัศจรรย์เปิดออกสู่โลกแห่งความฝันและเสรี  ท่ามกลางวิถีชีวิตที่อัดแน่นด้วยการแข่งขัน ว่ากันว่าที่นั่น “มังงะ” หรือหนังสือการ์ตูน คือสิ่งพิมพ์ที่คนญี่ปุ่นนิยมอ่านมากเป็นอันดับ ๒ รองจากหนังสือพิมพ์

ความคลั่งไคล้ในการ์ตูนก่อเกิดสังคมของคนรักการแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูนขึ้นมา ขยายวงไปยังตัวละครใน “อะนิเมะ” (ภาพยนตร์การ์ตูน) วิดีโอเกม ไปจนถึงเลียนแบบดารา นักร้อง  ที่ตนชื่นชอบ  มีการผลิตสินค้าที่ระลึกรวมทั้งเสื้อผ้าเลียนแบบตัวละครจำหน่าย โดยมีชุด “ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน” นำขบวน

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ คำว่า คอสเพลย์ (cosplay) ถูกใช้เรียกการแต่งกายเลียนแบบตัวละครเป็นครั้งแรก เมื่อคอลัมนิสต์ โนบุยุกิ ทากาฮาชิ (Nov Takahashi) เขียนคำนี้ลงในนิตยสาร My Anime เพื่อย่อคำว่า คอสตูมเพลย์ (costume play) ที่เคยใช้เรียกการแต่งกายเลียนแบบตัวละครในงานแสดงหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์

ในทางภาษาศาสตร์ คอสเพลย์ยังไม่มีการบัญญัติไว้ในดิกชันนารี

คำนี้มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า costume-เครื่องแต่งกาย กับ play-เล่น  นิยามความหมายของคำใหม่ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น “การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร” ตลอดจนการลอกเลียนบุคลิก ท่าทาง อากัปกิริยาของตัวละครต้นแบบความคลั่งไคล้การแต่งกายเลียนแบบตัวละครของชาวญี่ปุ่นนี้ มีการสำรวจโดยนิตยสารการ์ตูนฉบับหนึ่งพบว่า สมาชิกนิตยสารคอสเพลย์จากราว ๒๐๐ คนเมื่อปี ๒๕๓๔  เพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ คนในปี ๒๕๔๐  กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาเพียง ๕-๖ ปี สังคมคอสเพลย์ที่ญี่ปุ่นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง ๔๐ เท่า

ในญี่ปุ่นคอสเพลย์เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะย่านฮาราจูกุใจกลางกรุงโตเกียว–ย่านที่วัยรุ่นมักจะมารวมตัวตามสวนสาธารณะ ริมฟุตบาท ร้านค้าต่าง ๆ ด้วยเป็นแหล่งรวมร้านขายของเล่น เกม และเป็นแหล่งรวมแฟชั่นหลากสไตล์  วัยรุ่นนิยมแต่งกายหลุดโลกมาอวดโฉมกันที่นี่  จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเห็น “นินจาฮาโตริ” เดินสวนกับพนักงานออฟฟิซตามท้องถนน

แล้วคอสเพลย์เดินทางมาถึงเมืองไทยได้อย่างไร ?

ในงานส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๒๖  รายการ “ช่อง ๙ การ์ตูน” ในยุคที่ “น้าต๋อยเซมเบ้”–นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ ยังเป็นนักพากย์และพิธีกรขวัญใจเด็ก ๆ ได้จัดกิจกรรม “ประกวดการแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูน” ขึ้นบริเวณลานจอดรถของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙  วันนั้นเด็ก ๆ แปลงกายเป็นโนบิตะ อาราเล่ ราราเบล ซูเปอร์แมน  แม้ไม่ได้ใช้คำว่า “คอสเพลย์” แต่ก็นับเป็นกิจกรรมที่มีความหมายสอดคล้องกับคำว่าคอสเพลย์เป็นครั้งแรกในเมืองไทย

สังคมคนรักการแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูนในเมืองไทยดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ  เป็นเรื่องสนุกและ “ทำตามฝัน” ที่รับรู้กันในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม

จนอีก ๑๕ ปีต่อมา วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๑  กลุ่ม “ACHO” (ชื่อกลุ่มมีที่มาจากอักษรตัวแรกของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ๔ คน–Amagi Sayuri, Clamp, Hatsuki Shinobu, Ozaki Minami) สังคมคนรักการ์ตูนที่มักนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนนิตยสาร การ์ตูน รูปวาดและนิยายที่พวกเขาแต่งขึ้นเอง ได้จัดกิจกรรมนัดพบกัน

วันนั้นคำว่าคอสเพลย์ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก  มีการประกวดคอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูนเรื่องสแลมดั๊งก์ กันดั้มวิง เอวานเกเลี่ยน ฯลฯ

ใน “บลอคของชุน” (shunacho.exteen.com) สมาชิกกลุ่ม ACHO ได้โพสต์บันทึกความหลังถึงงานประกวดเครื่องแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูนครั้งนั้นว่า

“แต่ก่อนไม่มีใครรู้จักคอสเพลย์ คนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นออกไม่ได้มีมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้ คนที่มีโอกาสไปญี่ปุ่นก็มีแค่ไม่กี่คน  ผู้จุดประกายการคอสเพลย์เป็นคนแรกคือ สองพี่น้องสมาชิกหมายเลข ๖ และ ๗ ผู้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้ง ติดตามข่าวสารวงการการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด  ทั้งสองเป็นคนนำเรื่องการแต่งตัวเลียนแบบตัวการ์ตูนหรือที่เรียกว่าคอสเพลย์มาเล่าให้ฟัง  ทำให้เหล่าสมาชิกอาวุโสทั้งหลายอยากทำบ้าง  คอสเพลย์ครั้งแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดด้วยประการฉะนี้”

 

“คลั่งไคล้ หลงใหล” หัวใจคอสเพลย์

“เหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง”

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ หากใครเดินทางมางาน “Reborn only event 5” ณ อาคารพระมงกุฎเกล้าเวชวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คงรู้สึกไม่ต่างกัน

ภายในห้องโถงนั้นด้านหน้าคือเวที ตรงกลางมีเก้าอี้เรียงเป็นแถวยาว ล้อมรอบด้วยบูทจำหน่ายสินค้าอันประกอบด้วยการ์ตูน การ์ดเกม โปสเตอร์ พวงกุญแจและของที่ระลึก ฯลฯ

วัยรุ่นที่มาชุมนุมกันต่างสวมชุดหนัง สูทสีดำ ทาหน้าขาว ย้อมสีผม  บ้างสวมชุดกิโมโน บนศีรษะคาดเขาวัวเล็ก ๆ

พื้นที่นี้มีเพียงตัวการ์ตูนจากเรื่อง รีบอร์น ครูพิเศษจอมป่วน เท่านั้น

การ์ตูนเรื่อง รีบอร์น (Reborn) เรื่องราวของเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง วันหนึ่งเขาได้พบคุณครูสอนพิเศษนามว่า รีบอร์น  ผู้ซึ่งภายนอกเป็นเด็กทารก ทว่าแท้จริงเป็นนักฆ่าชั้นเซียน  รีบอร์นเดินทางมาเพื่อฝึกฝนเด็กหนุ่มให้พร้อมสำหรับการเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย  เรื่อง รีบอร์นโด่งดังมากในญี่ปุ่นและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศไทย เกิดสังคมคนรักรีบอร์นและคอสเพลย์เลียนแบบตัวการ์ตูนเรื่องนี้

“หนูชอบ รีบอร์น มาก ตามอ่านมาตั้งแต่ตอนแรก พอรู้ว่ามีคอสเพลย์รีบอร์นก็ตามมาร่วมกิจกรรมทุกครั้ง” วัยรุ่นหญิงสวมเสื้อเชิ้ตขาวปล่อยชายเลียนแบบการแต่งกายของสมาชิกแก๊งมาเฟียคนหนึ่งเอ่ย

ขณะที่หญิงสาวผู้สวมชุดหนังสีดำ วิกสีเทา เลียนแบบตัวละครชื่อ “สควอโล่” ให้สัมภาษณ์ว่า

“ในการแต่งชุดคอสเพลย์ คอสเพลเยอร์ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบตัวละครที่คอสเพราะอะไร ต้องทำความเข้าใจนิสัยตัวละครนั้น มันสะท้อนว่าคุณคือคอสเพลเยอร์ตัวจริง”

เธอบอกว่า แค่คุณแต่งตัวแปลก คิดว่าตัวเองดูดี โดดเด่น เดี๋ยวจะต้องมีคนมารุมขอถ่ายรูป “อย่างนั้นไม่เรียกว่าคอสเพลย์”

เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเจอคอสเพลเยอร์ซึ่งแต่งตัวโดดเด่นจนเธออยากทำความรู้จัก พอเธอเดินเข้าไปคุยเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนั้น อีกฝ่ายกลับได้แต่อ้ำอึ้ง ไม่รู้ว่าเนื้อเรื่องการ์ตูนเป็นอย่างไร…

พูดคุยกันได้ไม่นาน เธอก็ถูกดึงตัวไปถ่ายรูปหมู่ที่มุมห้องโถงใหญ่  ตรงนั้นตัวละครในฝันของนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นปรากฏร่างเป็นตัวเป็นตนและรวมกันเป็นกลุ่มก้อน  เสียงหัวร่อต่อกระซิกสิ้นสุดทันทีเมื่อช่างภาพนับ ๑๐ คนประกาศว่าพร้อมลั่นชัตเตอร์

ลีลาแปลก ๆ กับมาดนิ่งขรึมนั่นหรือคือบุคลิกแท้จริงของตัวละครเรื่อง รีบอร์น ที่แต่ละคนกำลังสวมบทบาท  สาวผู้สวมกิโมโนดำหยิบร่มกระดาษแบบญี่ปุ่นขึ้นมากาง ผู้สวมบทคนรับใช้ก็นั่งพับเพียบกับพื้นอย่างสำรวม

ผมพบ “กฎ” ข้อหนึ่งของการคอสเพลย์ว่า สิ่งสำคัญไม่น้อยกว่า “ความเหมือน” ของชุด คือ “ความคลั่งไคล้” ในตัวละครต้นแบบ  แม้ต่อมาจะพบว่ามีบางคนแอบ “แหกกฎ” เล็ก ๆ เพื่อเติมเต็มความฝัน

เมธัส วัฒนกูล หนุ่มวัย ๒๑ ปี เคยคอสเพลย์เป็น “เมกะ-ตรอน” ผู้นำหุ่นยนต์สุดเหี้ยมโหดในการ์ตูนเรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ส (Transformers) เล่าเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อนให้ฟังว่า

“คนทั่วไปคิดว่าคาแร็กเตอร์ของเมกะตรอนต้องดุร้าย แต่ผมว่าไม่ เขาก็แค่ดุร้ายตอนต่อสู้  สำหรับผม เขาคือนักวางแผนที่เฉียบขาด เป็นจอมทัพมาดสุขุมกลางสมรภูมิสงครามหุ่นยนต์รบ  เมื่อผมมีโอกาสคอสเป็นเมกะตรอน แน่นอนเราต้องสวมบทบาทให้สมคาแร็กเตอร์ แต่มุมหนึ่งผมแอบซ่อนมาดพระเอกเท่ ๆ เอาไว้  เมกะตรอนไม่จำเป็นต้องดุร้าย นี่คือสิ่งที่คอสเพลย์เติมเต็มความฝันให้ผม”

ความฝันวันหวาน กระโจนสู่โลกจินตนาการของคอสเพลย์

“เด็กคอสส่วนใหญ่จะรู้จักมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) หรืออะนิเมะ (ภาพยนตร์การ์ตูน) ตอนอยู่ชั้น ม. ๑  พอขึ้น ม. ๒-๓ ถึงรู้จักคอสเพลย์ ได้เที่ยวเล่น ถ่ายรูปตามงานคอสเพลย์บ้าง แต่ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ ไม่สันทัด  พอขึ้น ม. ปลายถึงเริ่มแต่งคอสเพลย์  แล้วเส้นทางชีวิตนับจากนี้ ไม่ว่าคุณจะชอบคอสเพลย์หรือไม่ ระบบการศึกษาจะบีบให้คุณต้องลดกิจกรรมคอสเพลย์ลง  ยิ่งคุณเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตในโลกใหม่ก็ทำให้คุณลืมคอสเพลย์ไปเสียแล้ว”

ปฐวิกรณ์ อุทธิเสน ชายร่างใหญ่วัย ๒๙ ปี คอสเพลเยอร์ชนิดเข้าเส้น ประเมินวัฏจักรของคอสเพลเยอร์คนหนึ่ง

“คนที่ไม่ทิ้งคอสเพลย์คือคนที่แต่งคอสเพลย์เป็นงานอดิเรกในช่วงมหา’ลัย  ไม่ลืมความสนุกสนานของคอสเพลย์ไปจนกระทั่งเรียนจบ ซึ่งผมพบว่ามีอยู่น้อยมาก”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คอสเพลเยอร์ชาวไทยมักมีอายุไม่เกิน ๒๐ ปี  คอสเพลเยอร์ที่อายุเกิน ๓๐ ปีมีน้อยแทบนับคนได้

พวกเขากระโจนสู่โลกใบนี้ได้อย่างไร ?

ปฐวิกรณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง

“ผมคอสมาตั้งแต่ ม. ๔  ครั้งแรกที่ห้างย่านสีลม”

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ปฐวิกรณ์รู้จักคอสเพลย์ ก่อนหน้านั้นเขาเคยเที่ยวเล่นงานคอสเพลย์มาแล้ว ๒-๓ ครั้ง

“ตอนแรกไม่กล้า ไม่ประสีประสา แค่รู้ว่างานรวมคนแต่งตัวเลียนแบบการ์ตูนอย่างนี้เคยเห็นในอินเทอร์เน็ต  เด็กญี่ปุ่นแต่งตัวกันน่าสนุกดี บอกเพื่อนว่าเด็กพวกนี้เขาแต่งตัวสวยดีนะ”

ขึ้น ม.๔ ปฐวิกรณ์ถึงกล้าแต่งคอสเพลย์เป็นครั้งแรก

“ชุดแรกเป็นตัวละครจากเกมออนไลน์ ไม่มีใครมาขอถ่ายรูป แต่ได้เพื่อน ได้แลกเมลกัน”

นับตั้งแต่นั้นชีวิตเขาก็ก้าวสู่โลกคอสเพลย์เต็มตัว  เมื่อปี ๒๕๕๓ ปฐวิกรณ์ชนะเลิศการประกวดคอสเพลย์รายการ World Cosplay Summit 2011 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดคอสเพลย์รายการใหญ่ที่ญี่ปุ่น  คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ ๒ และรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม

ขณะที่ สุภีมพศ ปวีร์ภคพงศ์ คอสเพลเยอร์อีกคน มีเส้นทางเข้าสู่วงการคอสเพลย์แตกต่างไป

ผมพบชายหนุ่มวัยเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหมาด ๆ คนนี้ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์สำโรง  ตอนนั้นเขาเพิ่งก้าวลงจากเวทีประกวดคอสเพลย์ Cartoon & Game Community 2012 ที่เขาสวมบทบาทเป็นจอมโจรสลัดจมูกยาวนาม ยูซุป จากการ์ตูนเรื่อง วันพีซ (One piece)

ชุดคอสเพลย์ของสุภีมพศโดดเด่นด้วยจมูกยื่นยาวทำจากซิลิโคน หมวกใบใหญ่มีเขาโง้ง กับไม้เท้าคู่กายจอมโจรสลัด  ผมสังเกตว่าเมื่อเขาสวมบทบาทเป็นยูซุป เขาต้องทำปากเป็นรูปตัวยูคว่ำตลอดเวลา

“คุณคอสมาตั้งแต่เมื่อไหร่” คนที่เพิ่งกระโจนสู่โลกใบใหม่เอ่ยปากถาม

ภายใต้ชุดตัวการ์ตูนจมูกยาว คิ้วหนา ผมหยิกฟูฟ่อง  ผมดูไม่ออกว่าชายคนนี้หน้าตาแท้จริงของเขาเป็นอย่างไร

“ตั้งแต่วันแรกของมหาวิทยาลัย ปี ๑”

“วันแรกของมหาวิทยาลัย ?” คำตอบของเขาช่างน่าสงสัย

“ที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร  วันแรกของการรับน้อง เราถูกจับแต่งชุดคอสเพลย์”

สุภีมพศเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น มันแจ่มชัดในความทรงจำแม้ล่วงมากว่า ๕ ปีแล้ว

“น้องใหม่คณะจิตรกรรมทุกคนต้องถูกจับแต่งชุดคอสเพลย์  ผมถูกแต่งเป็น ‘ชุน’ ตัวการ์ตูนสุดเท่จากเรื่อง เซนต์เซย่า  รุ่นพี่จับเราปิดตาแล้วสวมเครื่องแบบโดยเราไม่รู้ว่าชุดอะไร พอลืมตาก็กลายร่างเป็น ‘ชุน’ นักรบสวมเกราะชมพูเสียแล้ว”

 

เบื้องหลังความงามในชุดลอกเลียนแบบ

“การทำชุดคอสเพลย์เป็นความภาคภูมิใจของเจ้าของชุด มันไม่ใช่ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อสนองความต้องการของผู้ใส่โดยผู้ใส่ขนานแท้  แม้เป็นชุดเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่คนทำเป็นคนละคนกัน อารมณ์ของชุดก็เปลี่ยนไป  ในญี่ปุ่นแม้มีชุดคอสเพลย์แบบ official ได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้องวางจำหน่ายอยู่มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นชุดที่ถูกใจในสายตาคอสเพลเยอร์ทุกคน”

ทาดาอากิ แจ็กกี้ โดไซ (Tadaaki Jacky Dosai) ซูเปอร์-ไวเซอร์นิตยสาร Cosmode (ภาคภาษาญี่ปุ่น) นิตยสารสำหรับ ผู้ชื่นชอบการแต่งกายแนวแฟนตาซี เขียนคอลัมน์ “จับเข่าคุยเรื่องคอสเพลย์” ลงนิตยสาร Cosmode Thailand ฉบับที่ ๓ ตอนหนึ่งว่า

“ยกตัวอย่างข้อมูลในหนังสือฉบับนี้ แม้นำเสนอวิธีการทำชุด อุปกรณ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีเท่านั้น สุดท้ายคอสเพลเยอร์นั่นแหละจะต้องประยุกต์วิธีการสร้างผลงานให้เหมาะกับตนเองขึ้นมา”

เบื้องหลังชุดคอสเพลย์สีสันจัดจ้านแสบตาหรือสีดำทะมึน จึงสะท้อนความรักความพยายามของคอสเพลเยอร์เจ้าของชุด

ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสร้างสรรค์สิ่งของงดงามที่ไม่มีอยู่จริงให้ออกมางดงามและสมจริงตามต้นแบบที่สุด

ยิ่งเมื่อรู้ว่าการทำชุดคอสเพลย์ของคอสเพลเยอร์บางคนเริ่มต้นจากศูนย์  พวกเขาไม่เคยมีความรู้เรื่องคอสตูม ไม่ว่าเรื่องการทำชุด แต่งหน้า จัดแต่งทรงผม  หากแต่เพียงเพื่อจะเนรมิตชีวิตในโลกจินตนาการขึ้นมา พวกเขาต้องศึกษารายละเอียดตัวละครต้นแบบในทุกมิติ

กลางเดือนเมษายน ก่อนงานประกวดคอสเพลย์รายการ K-COS Family ที่ห้างเดอะมอลล์ นครราชสีมา จะเริ่มขึ้นในอีกไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง  ผมเดินทางมาบ้านไม้หลังหนึ่งย่านฝั่งธน สถานที่ซึ่งคอสเพลเยอร์ ๔-๕ คนนัดรวมตัว

ช่วงเวลากระชั้นเหลือไม่ถึง ๑ วันก่อนขึ้นเวที ดูจะเป็นช่วงที่มีค่ายิ่งสำหรับคอสเพลเยอร์

ความฉุกละหุก (ของการทำชุด) นั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน  แม้บางครั้งคร่ำเคร่งถึงขนาดยอมอดข้าวสักมื้อ

บ่ายนั้นลานปูนกว้างขวางข้างบ้านไม้แทบไม่มีที่ว่าง มันกลาดเกลื่อนไปด้วยอุปกรณ์ทำชุดคอสเพลย์ ทั้งกระป๋องสีสเปรย์ โฟมยาง ผ้าหนัง ท่อพีวีซี กาว กรรไกร ฯลฯ

ชิ้นส่วนของชุดที่ขึ้นรูปพอดูออกว่าคือชิ้นส่วนตั้งแต่ช่วงคอขึ้นไปถึงส่วนหัวของมังกรตัวหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยเส้นเลือดปูดโปน กับชุดนักรบหญิงสีฟ้าประดับประดาด้วยผ้าขนเป็นริ้ว ๆ

พรุ่งนี้คอสเพลเยอร์ “กลุ่มซีจี” จะคอสเพลย์เป็นตัวละครจากเกมออนไลน์ Monster Hunter

“โอ๊ตแต่งเป็นมังกรคิมสัน ส่วนยูเป็นนักล่ามังกรสวมชุดเกราะจีนูก้า” คอสเพลเยอร์คนหนึ่งเริ่มต้นบทสนทนา

โอ๊ต-ดลภัทร์ ชาติชัย วัย ๑๗ ปี เด็กหนุ่มร่างผอม ตาหวาน พูดจาชัดถ้อยชัดคำ คอสเพลย์มาได้ปีกว่า กล่าวอย่างคลั่งไคล้ว่า

“ชุดเกราะของคิมสันนั้นโดดเด่นกว่าใคร  มังกรตัวนี้เป็นตัวแทนแห่งความมืดทั้งที่เป็นธาตุไฟ ผมชอบมาก”

ด้านยู-นฤมล สุขอยู่ อายุ ๒๕ ปี หัวหน้ากลุ่มซีจี คอสเพลย์มาเป็นปีที่ ๑๑ แล้ว บอกว่า “หนูไม่เคยล่ามังกรตัวนี้ (ในเกม) ได้สักที พรุ่งนี้จะขอจัดการบนเวที เป็นความอยากส่วนตัว  ส่วนชุดเกราะจีนูก้ายังไม่มีใครเคยทำ ไม่เชื่อลองไปค้นในยูทูบได้ เอาหัวเป็นประกัน มันทำยาก”

ยูเป็นผู้นำกลุ่มซีจี เธอก่อตั้งกลุ่มนี้มาหลายปีแล้ว  ด้วยประสบการณ์การทำชุดคอสเพลย์ที่บ่มเพาะมานาน ปัจจุบันเธอจึงรับจ้างตัดเย็บชุดคอสเพลย์  หญิงสาวร่างท้วม คุยเก่ง หัวเราะง่าย หยิบชุดเกราะจีนูก้าที่ยังไม่เสร็จดีขึ้นมา  ชุดโทนสีฟ้าแยกออกเป็นสนับแขน สนับขา ส่วนศีรษะและลำตัว

“ความยากของชุดจีนูก้าคือการเก็บรายละเอียดของรอยหยักบนเกราะ เราต้องใช้คัตเตอร์กรีดโฟมยางลงไป ทากาวยาง ห่อผ้าหนัง แล้วเอามือกดค้างไว้  ครั้งหนึ่งมันเอาหนังยูไปเพราะเวลาผ้าหนังถูกกาวยางมันร้อนมากจนควันขึ้น”

อุปกรณ์ทำชุดคอสเพลย์ที่เป็นวัตถุดิบหลักนั้นแท้จริงมีอยู่ไม่กี่อย่าง ชุดคอสเพลย์และ “พร็อป” (prop-อุปกรณ์เสริมเพื่อให้การคอสเพลย์สมบูรณ์แบบ เช่น ไม้คทา ดาบซามูไร ลูกนกตัวเล็ก ๆ เกาะไหล่  ตู้กดน้ำ สัญญาณไฟจราจร หน้าผาหิน ฯลฯ) มักทำด้วยโฟมยาง ผ้าหนัง กับตัวยึดซึ่งแล้วแต่ว่าจะใช้กระดุมเป๊กหรือตีนตุ๊กแก

หญิงวัย ๒๕ เล่าถึงความยากลำบากในการทำชุดคอสเพลย์ต่ออีกว่า “บางชุดต้องใช้ฟิกเกอร์ช่วย”–ฟิกเกอร์ (figure) คือหุ่นตุ๊กตาหรือโมเดลตัวการ์ตูนขนาดเล็ก

เธอบอกว่าคอสเพลย์บางชุดทำยาก ต้อง “ซ้อมมือ” ก่อนว่าแขน ขา น่อง ลำตัว มีสัดส่วนเท่าไร  การทดสอบกับแบบจำลองขนาดมินิช่วยได้

“บางชุดมองผ่าน ๆ เหมือนว่าน่าจะทำง่าย เสร็จไว แต่พอแกะแบบถอดลายถึงบางอ้อว่ามันมีรายละเอียดซ่อนอยู่เยอะ ฉะนั้นก่อนทำเราต้องเก็บรายละเอียดของชุดในทุกทิศทุกทาง สร้างภาพ ๓ มิติในหัวให้ได้โดยใช้ภาพจากอินเทอร์เน็ตหรือการ์ตูน”

กรณีชุดมังกรคิมสัน เธอย้ำว่าตำแหน่งข้อศอก ข้อเข่า ต้องออกแบบให้พับได้จริง  เพราะบางชุดแม้ใส่ได้จริงแต่เดินไม่ได้ก็มีมาแล้ว

ด้านโอ๊ตผู้เตรียมแปลงร่างเป็นมังกรคิมสันในวันพรุ่งนี้เสริมว่า “เราต้องวัดขนาดลำตัว ยาวหน้า ยาวหลัง ขา แขน ไหล่ ได้เท่าไหร่ตัดโฟมเผื่อออกไปอีกครึ่งนิ้ว  ตรงหัวมังกรขอกว้าง ๆ คนใส่จะได้ไม่อึดอัด  อันที่จริงไม่ควรมีรูอยู่ตรงกลาง (ลำคอ) แต่มันร้อนมาก ต้องใช้รูระบายอากาศช่วย”

ในหน้าแรก ๆ ของนิตยสาร Cosmode Thailand เปิดพื้นที่ให้คอสเพลเยอร์ได้บอกเล่าขั้นตอนการทำชุดคอสเพลย์ของตน  ซึ่งกระบวนการของหลายคนก็สลับซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ

คนที่ใช้ชื่อว่า “YukiGodbless” คอสเพลย์เป็น “มาเรีย” จากเกม Knight in the nightmare tome of lost souls เล่าขั้นตอนการทำชุดนักรบเกราะเหล็กของเธอว่า

“ชุดของมาเรียทำจากโฟมยางเนื้อบางแทบทั้งหมด สลักรอยแตกร้าวทั้งตัวเพื่อเน้นความเหมือนจริง จากนั้นลงทับด้วยสีอะคริลิกแล้วเก็บรายละเอียด”

ส่วนคนที่ใช้ชื่อว่า “Erioru Hairakisawa” คอสเพลย์เป็น “Shidou Hikaru” นักรบหญิงจาก Magic Knight Rayearth เล่าถึงขั้นตอนการทำชุดสาบสีชมพูพร้อมอุปกรณ์ประดับประดาจัดเต็มว่า

“ชุดกระโปรงด้านในทำจากผ้าซับในสีชมพู ทับด้วยผ้าชีฟองสีขาวเพื่อที่เวลาตัดออกมา ตัวในจะได้ดูฟู พลิ้วไหวและสีไม่ออกชมพูเกินไป  ผ้าคลุมไหล่ใช้ผ้าเครปตัดแบบวงกลมเพื่อให้ดูทิ้งตัวและพลิ้วสวยงาม  ปลอกแขนและศีรษะทำจากหนังสีขาวบุด้วยฟองน้ำเพื่อให้ดูเป็นเกราะ หากไม่บุเข็มขัดและปลอกแขนอาจดูฟีบเกินไป”

ที่บ้านไม้ย่านฝั่งธน ผมพบว่าการชุบชีวิตตัวละครที่รัก สร้างสรรค์สิ่งของที่ไม่มีตัวตนอยู่บนโลกให้ออกมางดงามและสมจริงตามต้นแบบ จำเป็นต้องใช้จินตนาการอย่างยิ่งยวด

ชีวิตที่ไม่โสภาของเด็กคอส

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๔

นฤมล สุขอยู่ หรือยู  ขณะนั้นเธออายุ ๑๕ ปี เป็นเด็กสาววัยแรกรุ่น มีงานอดิเรกคือถ่ายภาพ และหารายได้พิเศษด้วยการเป็นตากล้อง

หลังกวาดเลนส์ไปพบการประกวดคอสเพลย์งานหนึ่งเข้าอย่างบังเอิญ เพื่อนช่างภาพถามขึ้นว่าคิดจะแต่งตัวเลียนแบบตัวละครอย่างนี้บ้างไหม ?

สมัยนั้นงานประกวดคอสเพลย์ที่ตึกช้าง ถนนพหลโยธิน สนับสนุนโดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ นับว่าเป็นงานใหญ่และเป็นงานประกวดคอสเพลย์ลำดับแรก ๆ ของประเทศไทย  เงินรางวัลสำหรับผู้คว้ารางวัลชนะเลิศสูงถึง ๓๐,๐๐๐ บาท และยังมีอีกหลายรางวัลลดหลั่นกันไป  แต่ยูยืนยันว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักของเธอ

“เราคิดว่ามันน่าสนุก ท้าทาย อยากแต่งบ้างก็เท่านั้น”

สังคมไทยสมัยนั้น น้อยคนนักจะรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่าคอสเพลย์ มิต้องเอ่ยถึงการเสียเงินทำชุดเป็นหมื่นบาท มันช่างดูไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่  เช่นเดียวกับพ่อแม่ของเธอ ทันทีที่รู้เรื่องก็หาเหตุผลมาทัดทาน ถามเอาความว่าประกวดแล้วได้อะไร ?

“จำได้ว่าครั้งแรกพ่อนิ่ง แต่แม่คัดค้านสุดขีด บอกเสียเวลา ทำไมไม่หาอะไรทำที่เป็นสาระมากกว่านี้”

แต่เธอยังคงเดินหน้าผลักดันความฝันที่จะแปลงร่างเป็น “ดาร์กลอร์ด” จากเกม Mu online  แถมยังชักชวนน้องชายมาแต่งเป็น “เมจิก” ตัวละครจากเกมเรื่องเดียวกัน  รายละเอียดชุดส่วนที่เป็นเหล็กนั้น เธอไหว้วานญาติซึ่งเป็นช่างกลึงเหล็กช่วยทำให้

เรื่องราวครึ่งแรกนั้นราวกับปาฏิหาริย์เมื่อคอสเพลเยอร์หน้าใหม่ทั้งสองได้รับรางวัลสูงสุดจากการประกวดคอสเพลย์เวทีแรกในชีวิต  ชุดเกราะเหล็กพาเธอคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ ๒  ขณะที่น้องชายคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ ๑  เงินรางวัลรวมกันสูงถึง ๕๐,๐๐๐ บาท  กลบงบประมาณที่บานปลายไปมากคือ ๒๕,๐๐๐ บาทเสียมิด

ยูหอบเงินรางวัลกลับบ้านด้วยความอิ่มเอิบใจ คิดว่าพ่อแม่คงดีใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอคลั่งไคล้บ้าง  เธอวางเงินรางวัลบนโต๊ะ เตรียมก้มลงหยิบอัลบั้มรูป  ทว่าไม่ทันที่จะมีโอกาสเอ่ยประโยคใด เรื่องเศร้าราวฉากสุดท้ายในนิยายแสนรันทดก็บังเกิด

พ่อปัดเงินทิ้ง เทอัลบั้มรูปลงกองพื้น แล้วราดน้ำมันจุดไฟเผาพร้อมชุดคอสเพลย์ที่เธอใช้เวลาทำนานนับเดือน

ไฟลุกพรึ่บในวินาทีเดียวกับที่น้ำตาของยูร่วงไหลเป็นสายน้ำ  เธอตะโกนลั่นบ้านว่า “เกลียดพ่อที่สุด” ขณะอีกฝ่ายสวนกลับ “จะบ้าไปถึงไหน ไม่คิดบ้างหรือไงว่ามันไร้สาระ !”

คำพูดที่ปักลงกลางใจ คือคำพูดของพ่อบังเกิดเกล้าที่ว่า “จะไปตายที่ไหนก็ไป !”

ยูปิดห้องขังตัวเองนานเป็นสัปดาห์ ข้าวปลาไม่ตกถึงท้อง  วันหนึ่งเธอกรีดข้อมือตัวเองในห้องน้ำ จนพ่อต้องพังประตูเข้าไปช่วย อุ้มเธอไปส่งโรงพยาบาล

หญิงสาวผู้ก้าวผ่านประสบการณ์เฉียดตายถ่ายทอดความรู้สึกว่าครอบครัวของเธอไม่ใช่ครอบครัวอบอุ่นเท่าไรนัก  ในใจลึก ๆ เธอรู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า

หลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญซึ่งเกือบพรากชีวิตเธอไปจากโลกนี้ ยูหันไปคร่ำเคร่งกับการเรียนชนิดเอาเป็นเอาตาย ไม่เล่นไม่สนใจใคร ใบหน้าไม่มีรอยยิ้ม เธอหายไปจากโลกคอสเพลย์นานเกือบ ๓ ปี

“ครั้งนั้นยอมรับว่าทำไปเพราะประชด พ่อบอกให้เรียนเราก็จะเอาแต่เรียนท่าเดียว ผลการเรียนจากระดับปานกลาง เกรดเริ่มสูงขึ้น แต่พ่อบอกพอเถอะ หยุดได้แล้ว เล่นบ้างเถอะนะ ขออย่าให้เราเป็นอะไรไปอีกเลย  ตอนนั้นยูเรียนหนักจนเข้าโรงพยาบาล ไม่ยอมกินข้าว เป็นโรคกระเพาะมาจนถึงทุกวันนี้”

ปัจจุบันยูอายุ ๒๕ ปี มีงานประจำในตำแหน่งข้าราชการระดับซี ๗  เงินเดือนสูงเกิน ๒ หมื่นบาท หากเดือนไหนทำงานล่วงเวลาเงินค่าตอบแทนจะสูงถึง ๓๕,๐๐๐ บาท

แต่แม้ว่าอายุจะมากขึ้นและมีงานประจำเป็นหลักแหล่งมั่นคง ยูก็ยังหาเวลาขึ้นเวทีประกวดคอสเพลย์  เมื่อถูกถามว่าคิดจะคอสเพลย์จนถึงเมื่อไหร่ เธอมักจะตอบว่า

“จนกว่ายูจะตาย และถ้าวันไหนยูตายทุกคนไม่ต้องแต่งชุดดำ ให้แต่งชุดคอสเพลย์มางานศพ นี่คือคำพูดสุดท้ายของยู”

 

วัยรุ่นและตัวตนบนพื้นที่ชีวิต

ที่ประเทศญี่ปุ่นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมคอสเพลย์  ว่ากันว่าที่นั่น คนญี่ปุ่นยอมรับและเข้าใจคอสเพลย์ในฐานะงานอดิเรกไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์แต่งกายลักษณะนี้ได้ทั้งนั้น

การที่ใครสักคนสวมชุดเลียนแบบตัวละครเดินสวนกับพนักงานออฟฟิซในที่สาธารณะ อาจเป็นจุดสนใจของผู้คนบ้าง ทว่านั่นไม่กระตุ้นให้เกิดคำถามว่า “อะไร” หรือ “ทำไม” มากเหมือนในบ้านเรา

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จิตแพทย์และนักเขียนผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจารณ์การ์ตูนโดยอาศัยหลักจิตวิทยา กล่าวถึงการแต่งกายคอสเพลย์ของกลุ่มวัยรุ่นว่า

“มันเป็นเรื่องของ ‘เนื้อหา’ (content) เป็นเรื่องของเครื่องมือพัฒนาบุคลิกภาพวิธีหนึ่ง”

ก่อนอื่น คุณหมอประเสริฐชักชวนเราให้ก้าวออกมาจากสังคมคอสเพลย์ ลองทำความเข้าใจภาพในมุมกว้างเป็นลำดับแรก

“ภาพกว้างคือเด็กทุกคนมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ต้องดำเนินไป  ไม่ว่า ‘เนื้อหา’ หรือ ‘เครื่องมือ’ ที่เขาใช้จะเป็นอย่างไร  เขามีหน้าที่ ๔ อย่าง หนึ่ง ค้นหาอัตลักษณ์  สอง ค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศ  สาม ค้นหาเพื่อนต่างเพศ  และสี่ ค้นหาอาชีพ

“ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นภารกิจหลักที่เด็กและวัยรุ่นทุกคนต้องทำ  แต่ละคนใช้เครื่องมือแตกต่างกันไป บางคนใช้วิธีท่องตำราเรียน บางคนตีเทนนิส บางคนตีรันฟันแทง และบางคนใช้คอสเพลย์

“สำหรับเด็กเรียน พวกเขามีพื้นที่ทางสังคมชัดเจนคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามแข่งขันวิชาการโอลิมปิก  ขณะที่เด็กเก่งกีฬาใช้สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส  นักตีรันฟันแทงใช้ท้องถนน  สำหรับคอสเพลเยอร์ก็ต้องการพื้นที่ของตนเหมือนกัน  จะเห็นว่าแต่ละคนมีวิธีค้นหาตนเองแตกต่างกันไป”

คำถามคือใครเป็นผู้กำหนดสนามให้เขา ?

“เด็กจำนวนมากไม่มีความสามารถมากพอที่จะใช้สนามของโรงเรียนพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง แต่จริงหรือที่เราจะสรุปว่าพวกเขาไม่มีความสามารถ  แท้จริงเป็นเพราะเราสร้างสนามให้เขาคับแคบเกินไปหรือเปล่า  เราบีบให้เด็กที่มีเงินเรียนกวดวิชาเท่านั้นดำรงชีวิตบนสนามนี้ได้  ส่วนที่เหลือให้เขาออกจากสนามนี้ไป บางคนยังไม่พร้อม เขาอาจไปตีรันฟันแทงกันบนท้องถนน  บางคนอาจแวะเข้าสนามเทนนิสก่อน หรือแวะงานคอสเพลย์ก่อน”

หมอจิตเวชชี้ว่า เมื่อเราเข้าใจว่าคอสเพลย์เป็นเครื่องมือพัฒนาบุคลิกภาพวิธีหนึ่ง คำถามที่ตามมาคือวิธีนี้มีข้อเสียบ้างไหม แล้วกิจกรรมคอสเพลย์มีราคาแพงไปหรือเปล่า

“สมมุติเราคิดว่าการเล่มเกมเป็นวิธีพัฒนาบุคลิกภาพวิธีหนึ่ง คำถามคือเกมมีข้อเสียและราคาแพงเกินไปไหม  สมมุติเราคิดว่าเกมมีข้อเสียคือเสียเวลา การใช้เวลาเล่นเกมเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า  ถ้าอย่างนั้นร้านเกมกำลังทำการค้าที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนอยู่ใช่หรือไม่ แล้วผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กอยู่ในร้านเกมทั้งวันทั้งคืนหมายความว่าอย่างไร  ใครกันที่กำลังทำร้ายเด็ก”

นพ. ประเสริฐกล่าวย้ำว่าเรื่องเกมและร้านเกมเป็นเพียงตัวอย่างสมมุติ ปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าการเล่นเกมมีคุณประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง

“คอสเพลย์เองก็เช่นกัน  คำถามคือมันมีข้อเสียและแพงไปไหม  ให้พ่อแม่เด็กเป็นผู้ตอบรายที่หนึ่ง ต่างคนย่อมต่างจิตต่างใจ บางคนอาจจะตอบว่าไม่มีข้อเสียและไม่แพง แต่พ่อแม่บางคนอาจคิดตรงกันข้าม  ด้านบริษัทผู้จัดงานคอสเพลย์มีเป้าหมายหลักคือมุ่งทำกำไร หากอยากทำซีเอสอาร์ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า การทำธุรกิจที่สร้างความเสียหายแล้วล้างภาพหรือไถ่บาปด้วยซีเอสอาร์เป็นเรื่องเหมาะสมหรือเปล่า  หรือแท้จริงแล้วเราควรเลือกประกอบธุรกิจที่ไม่สร้างความเสียหายตั้งแต่ต้น”

เมื่อเข้าใจว่าคอสเพลย์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นเพียงเปลือกนอกของเรื่องที่สำคัญกว่าคือการค้นหาอัตลักษณ์ อัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อนต่างเพศ และอาชีพ ก็ยังมีหลักคิดบางประการที่สำคัญและควรคำนึงถึง นั่นคือเรื่อง “ทักษะชีวิต” (life skill)

ทักษะชีวิตที่เราอยากให้เด็กและเยาวชนของเราเป็น เป็นแบบไหน ?

“หากเราอยากให้เขาเติบโตขึ้นเป็นบัณฑิตหรือผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล รู้จักวางแผน รับผิดชอบการกระทำ รู้จักทำงานหนัก หนักเอาเบาสู้ อดทนและรอคอย ไม่ลุ่มหลงกับความสุขหรือความสนุกฉาบฉวย  ที่สุดคือรู้จักทำประโยชน์แก่สาธารณะ

“ผมคิดว่าการเล่นเกม การชิงโชค และการพนัน สามอย่างนี้เป็นตัวอย่างของกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนเรียนรู้เรื่องการลงทุนน้อยได้มาก รวมทั้งการได้ผลลัพธ์กลับคืนมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งนั่นน่าจะมิใช่คุณสมบัติอันพึงประสงค์

“สิ่งที่ผู้ปกครองควรตอบคือคอสเพลย์ของลูกคุณเป็นแบบไหน  คอสเพลย์ที่ดีอาจออกแบบให้เด็กพัฒนาทักษะอัน
พึงประสงค์ได้ แต่คอสเพลย์ที่ร้ายอาจจะทำให้เด็กลุ่มหลงในความสนุกฉาบฉวยได้เช่นกัน”

คอสเพลย์ปาร์ตี้ : แดนเสรี เวทีประกวด

เสียงโห่ร้องของคนนับร้อยนับพันดังสนั่นเมื่อผู้เข้าประกวดคอสเพลย์รายการ World Cosplay Summit 2012 หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ทยอยตบเท้าขึ้นเวที

พื้นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เบื้องหน้านี้ ไม่มีใครเป็นตัวของตัวเองอีกต่อไปแล้ว

ผมเห็นแม่นางไต้เกี้ยวและแม่นางเสี่ยวเกี้ยว ตัวละครเอกจากเกม Dynasty Warriors ซึ่งมีโครงเรื่องมาจากวรรณกรรม สามก๊ก ร่ายรำอย่างอ่อนช้อยบนเวทีสอดรับกับท่วงทำนองเพลงจีนที่เตรียมมา

ผมเห็นเซเลอร์มูนและเซเลอร์จิบิอุสะ (เซเลอร์มูนน้อย) สองพี่น้องต่างวัยในชีวิตจริงสนทนากันด้วยภาษาญี่ปุ่นแล้วก็เต้นสนุกตามจังหวะเพลงประกอบการ์ตูนเรื่องดัง พร้อมแอ็กชันท่าแปลงร่างเมื่อสิ้นสุดการแสดง

ผมเห็นเอลซ่าและอิคารุกะ สองสาวซามูไรจากเกม Fairy Tail พูดคุยกันไม่กี่ประโยคแล้วก็ประดาบกันดุเดือด  เสียงโลหะกระทบกันดังแสบแก้วหู  ทุกท่วงท่า ทุกจังหวะจะโคนช่างพอเหมาะพอดีกับเสียงดนตรีที่เธอทั้งสองเตรียมมา และแสดงให้เห็นว่าซักซ้อมกันมาจนรู้ใจ

ผมเห็นอาเทอร์ อัศวินเกราะเงิน ต่อสู้กับปีศาจหัวสิงโต  แล้วชุดเกราะก็หลุดออกจากร่างจอมอัศวินทีละชิ้น ๆ  จน
คอสเพลเยอร์คนนี้เหลือเพียงชุดกางเกงขาสั้นลายจุดเรียกเสียงหัวเราะครืน  เรื่องราวเป็นไปตามบทบาทของตัวละครอัศวินอาเทอร์ในเกม Ghosts’n Goblins ที่ว่าเมื่อไรอัศวินโดนทำร้าย  ชุดเกราะจะค่อย ๆ หลุดกระจายออกทีละชิ้น ๆ

ทุกอิริยาบถบนเวทีมีพลังส่งถึงเหล่ากองเชียร์  ผู้คนนับร้อยด้านล่างลุกขึ้นยืนกรีดร้องและรุมถ่ายรูปไม่ขาดระยะ  เมื่อการสวมบทบาทคือส่วนเติมเต็มให้การคอสเพลย์ครบถ้วนสมบูรณ์ บางเวทีผู้ชนะไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวยที่สุด เหมือนที่สุด แต่ขอให้เข้าถึงคาแร็กเตอร์ของตัวละครตัวนั้นได้มากที่สุด

……………………

 

งานคอสเพลย์ไม่ว่างานใดมีโอกาสเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นได้เสมอ

บ่อยครั้งผมเจอผู้ชายกลายร่างเป็นตัวละครผู้หญิง พอ ๆ กับที่เจอผู้หญิงคอสเพลย์เป็นตัวละครผู้ชาย  เมื่อเข้าไปถามก็ได้ความว่า

“คอสเพลย์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ ชายอยากคอสหญิง หญิงอยากคอสชายได้ไม่มีปัญหา  พี่ลองคิดดูว่าหนูเป็นผู้หญิง อ่านการ์ตูนผู้หญิง เห็นตัวการ์ตูนผู้หญิง  ในฐานะผู้หญิง แน่นอนเรามองว่าน่ารัก แต่กับตัวการ์ตูนผู้ชายมันให้ความรู้สึกคลั่งไคล้ไปอีกแบบ  เราชอบพระเอกมากกว่า รู้สึกอยากเลียนแบบมากกว่า”

เมื่อหันไปถามชายหนุ่มผู้เคยคอสเพลย์เป็นตัวละครหญิงมาแล้วหลายครั้ง เขาบอกว่า

“มันไม่เชิงว่าผมชอบชุดเมด (แม่บ้าน)  แค่เห็นแล้วถูกใจ ขอยืมชุดเพื่อนมาใส่แล้วมีคนชมว่าน่ารัก ชมว่าคอสขึ้น”

…ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจในบางกรณี  ยกตัวอย่างชายหนุ่มคนนี้ เขายอมรับว่าแท้จริงเขาเป็นไบเซ็กชวล…

ในงานประกวดคอสเพลย์ Eco Mix & Match Super Hero ที่ห้างยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว  ชายในชุดเกราะเมจิกกลาดิเอเตอร์ ย้อมสีผม มีหลอดไฟติดตามแขน เล่าว่า

“ความสุขอย่างหนึ่งของคอสเพลย์คือการสวมชุดแล้วเป็นจุดสนใจ  ยิ่งมีคนเข้ามาขอถ่ายรูปมากเท่าไหร่ ยิ่งชี้วัดว่าเราแต่งตัวสวยมากเท่านั้น  ผมภูมิใจทุกครั้งที่มีคนชอบชุดของเรา  ตอนนี้ผมรับจ้างทำชุด เวลาลูกค้าโทร. มาเล่าว่ามีคนชอบชุด นั่นละคือความสุขที่สุดแล้ว”

ในโลกที่เต็มไปด้วยชุดหนัง สูทสีดำ เด็กหน้าขาวย้อมสีผม เครื่องแต่งกายแปลกประหลาดราวหลุดออกมาจากโลกอื่น  พื้นที่แห่งนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผมสงสัย

มันช่างน่าแปลกใจกับการที่มีคนคลั่งไคล้ตัวละครที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ทุ่มเทถึงขนาดทนอดหลับอดนอนลอกแบบ แกะลาย พินิจพิเคราะห์ในทุกรายละเอียดตามเว็บไซต์หรือการ์ตูนเพียงเพื่อประดิษฐ์ชุดเลียนแบบตัวละครออกมา สวมใส่กลายร่างเป็นบุคคลอื่น ชื่นชมความงดงาม แล้วออกเดินทางแสดงตัวให้ผู้คนรุมล้อมถ่ายรูป

จากภาพในหนังสือการ์ตูนสู่ภาพถ่าย จากความฝันสู่ความจริง เมื่อสิ่งที่ไม่เคยมีตัวตนกลับมีตัวตนขึ้นมา  ถึงวันที่เขาถอดชุดคืนร่างกลับเป็นคนธรรมดา เหลือเพียงภาพถ่ายบนกระดาษหรือตามเว็บไซต์  สำหรับคอสเพลเยอร์ ภาพที่เห็นคงแตกต่างไป เมื่อภาพใหม่นั้นมีวิญญาณของพวกเขารวมอยู่ด้วย

…………….

 

ที่บ้านของเด็กชายผู้สวมชุดหุ่นเกราะสีเงิน ก่อนการประกวดเขาพาผมเดินดูสถานที่เก็บชุดคอสเพลย์  ห้องมืด
มุมหนึ่งมีตู้ไม้ใบใหญ่ตั้งอยู่ ทุกชั้นอัดแน่นด้วยหน้ากากหุ่นไม่ซ้ำแบบ  ผมขออนุญาตหยิบหน้ากากอันหนึ่งขึ้นมา  มันเก่าคร่ำคร่าแต่พอดูออกว่าเป็นหน้ากากหุ่นกันดั้ม

หนุ่มคนนั้นท้าให้ผมลองใส่หน้ากากนั่น

ผมลังเลใจ แล้วสุดท้ายก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่อยากทำมานาน

ภายใต้ชุดกันดั้มที่ยังไม่สมบูรณ์  ผมนึกถึงคำพูดของ Shawn Levy ผู้รังสรรค์ภาพยนตร์เรื่อง Real Steel

“ในวันที่มองโลกเปลี่ยนไป  เรื่องราวของหุ่นเหล็กตัวโตสู้กัน  การได้เป็นฮีโร่ วีรบุรุษ ความสัมพันธ์พ่อลูก  ภาพยนตร์ที่เหมือนภาพฝันของเหล่าเด็กผู้ชาย

“ช่วยเตือนให้เราไม่ลืมความเชื่อในตอนนั้นว่า พลังใจชนะทุกสิ่ง”

 

เอกสารประกอบการเขียน
ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ. “ ‘คอสเพลย์’ เลียนแบบตัวละคร สะท้อนตัวฅน”. ใน บางสิ่งที่ชีวิตต้องการ. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๕๔.
เขมทัต พิพิธธนาบรรพ์. “การแต่งคอสเพลย์ของกลุ่มวัยรุ่นไทย กับการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมย่อยและบทบาทของสื่อ”. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปีการศึกษา ๒๕๕๑.

ขอขอบคุณ
คุณสมภพ เกษรขจรทิพย์
คุณวิจักษณ์ ธิมามนตรี
คุณนฤมล สุขอยู่
คุณปฐวิกรณ์ อุทธิเสน
คุณมนัสวิน มลิวงค์
คุณธนพล จตุทิพยคันธา
คุณขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)