วีระศักร จันทร์ส่งแสง : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

หาญณรงค์ เยาวเลิศ คลุกคลีอยู่แวดวงเขื่อนมานับ ๒๐ ปี  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแล้ว ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักตั้งแต่คนระดับชาวบ้านไปจนถึงรัฐมนตรี ในทำนองที่ว่ามีการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนที่ไหน ต้องมีชื่อหาญณรงค์ร่วมอยู่ด้วย

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี ๒๕๕๔  โครงการสร้างเขื่อนหลายแห่งถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วม  ถ้าเป็นไปตามนั้น หมายความว่าในอนาคตอันใกล้ เมืองไทยจะมีเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ในขณะที่สังคมยังกังขากันอยู่ว่า นี่เป็นคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ ?

บนบัญชรนี้เราจึงชวน หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) คุยกันถึงเรื่องเขื่อนกับป่า และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ

ที่ไหนมีเรื่องเขื่อน ทำไมต้องมีชื่อหาญณรงค์อยู่ด้วย
เพราะว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เดินทางไปถึงทุกพื้นที่ที่มีโครงการจะสร้างเขื่อน ไปคุยกับคนในพื้นที่ ไปดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร  ข้อเท็จจริงโดยสรุปในวันนี้คือ ผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อน  คนเคยมีที่นาปลูกข้าวดี ๆ ก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทำกินไม่ได้  นี่เป็นความทุกข์ยากของคนซึ่งถูกเอาที่ดินไปสร้างเขื่อน ทำให้เกิดการเรียกร้องคัดค้านว่าเขื่อนมันไม่เป็นผลดีต่อเขา  คนในพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อน เขามาดูคนที่ได้รับผลกระทบ ก็เห็นว่าเขื่อนไม่ดีจริง กระแสต่อต้านมันก็เกิดต่อเนื่องมา

หากได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมก็สร้างเขื่อนได้ ?
ผมไม่ได้มองเฉพาะชุมชน แต่รวมถึงระบบนิเวศ การจัดการน้ำในภาพรวม เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนท่าด่านหรือเขื่อนขุนด่านปราการชล  ชาวบ้านได้รับการเยียวยาคุ้ม แต่ไม่มีการจัดการทางสังคม ไม่มีการเตรียมความพร้อมรองรับการอพยพ  หลังสร้างเขื่อน ราคาที่ดินรอบ ๆ สูงขึ้นมาก  เขื่อนป่าสักฯ ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยไร่ละ ๗ หมื่นบาท  สมมุติว่ามีที่ดิน ๗๐-๘๐ ไร่ ได้เงินมาเอาไปสร้างบ้าน หมดไป ๒-๓ ล้านบาท แต่เงินที่เหลือก็ไม่สามารถซื้อที่ได้เพราะราคาที่ดินดีดตัวสูงขึ้นหลายเท่า  ถ้าได้ค่าชดเชย ๔ ไร่ เอาไปซื้อที่ดินได้ไร่เดียว

ในภาพรวมเขื่อนไม่ดีอย่างไรถึงต้องต่อต้าน
เป็นเรื่องของประสบการณ์  ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน  เริ่มจากตอนเป็นนักศึกษา ผมทำกิจกรรมกับชมรมค่ายอาสาพัฒนา ราม-ลานนา  แล้วเป็นช่วงที่มีโครงการเขื่อนน้ำโจน ก็ชวนกันไปในพื้นที่ที่มีการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เพราะมันทำลายพื้นที่ป่า  ตอนนั้นเมืองกาญจน์มีเขื่อนอยู่แล้ว ๔ แห่ง เราไปดูพื้นที่อพยพของคนที่ได้รับผลกระทบ  มันไม่ดีเลย ทำกินไม่ได้  เขาสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า แต่คนเมืองกาญจน์อีกมากไม่มีไฟฟ้าใช้  สร้างเขื่อนเพื่อเก็บน้ำ แต่คนกาญจนบุรีหลายหมื่นครอบครัวยังไม่มีน้ำใช้  เขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบ

ตอนหลังโครงการเขื่อนน้ำโจนต้องยุติไป เราก็ไปดูพื้นที่อพยพต่าง ๆ  เห็นแต่ความไม่เป็นธรรมจากการอพยพคนเพื่อเอาพื้นที่มาสร้างเขื่อน

วันแรกที่ผมเข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ผมไปพื้นที่จังหวัดแพร่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น  เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖  ไปเพื่อทำความเข้าใจแม่น้ำ ชุมชน ชีวิตคน  เขาบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วจะมีน้ำ ปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้ง จะรวยขึ้น  ผมก็อยากหาหมู่บ้านที่รวยขึ้น แต่ไม่มีหน่วยงานไหนตอบได้ว่ามีหมู่บ้านไหนรวยขึ้นบ้าง

เขื่อนไม่เหมือนสร้างถนน เวนคืนเสร็จก็จบกัน  แต่เขื่อนกระทบทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นอยู่  เดิมเขื่อนอาจเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่วันนี้การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าหรือในชุมชนถือเป็นเรื่องมักง่ายที่สุด  มันมีวิธีการจัดการน้ำที่ดีกว่าเขื่อน แต่ไม่มีใครทำ  มีทางออกมากมาย เช่น ปลูกป่า สร้างฝายขนาดเล็กซึ่งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากและลดผลกระทบได้ง่ายกว่า  อย่างฝายหินทิ้งในลำน้ำชี ใช้งบประมาณ ๒.๕ แสนบาท แต่ได้ผล ปลาอพยพขึ้นลงได้  โครงการที่ลงทุนไม่เยอะ เขาไม่ทำ  เขื่อนขนาดใหญ่นั้น ระบบการนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ใช้งบประมาณสูงกว่าราคาเขื่อนเสียอีก  เขื่อนป่าสักฯ ค่าก่อสร้าง ๗ พันล้านบาท  ค่าใช้จ่ายในการอพยพคน ๑.๕ หมื่นล้านบาท  แต่ราคาระบบชลประทานเกือบ ๔ หมื่นล้าน  โครงการเขื่อนแม่วงก์ ค่าก่อสร้าง ๒.๘ พันล้านบาท แต่ราคาระบบชลประทานอีกราว ๑ หมื่นล้านบาท  นี่คือสถานการณ์เรื่องน้ำและเขื่อนในบ้านเราปัจจุบัน

ทีนี้มาดูเรื่องราคาน้ำต่อหน่วย  เขื่อนภูมิพลสร้างเมื่อปี ๒๕๐๑ เสร็จปี ๒๕๐๗  ราคา ๒.๓ พันล้านบาท  ได้น้ำ ๑๓,๔๖๒ ล้านลูกบาศก์เมตร  ถ้าคิดค่าน้ำต่อหน่วยโดยเอาปริมาณน้ำที่ได้นี้หารค่าก่อสร้าง ราคาน้ำต่อ ๑ หน่วยแรกไม่ถึง ๒๐ สตางค์  เทียบกับเขื่อนป่าสักฯ ค่าก่อสร้าง ๒.๓ หมื่นล้านบาท ได้น้ำราว ๑ พันล้านลูกบาศก์เมตร ราคาน้ำต่อ ๑ หน่วยแรกเท่ากับ ๒๓ บาท  เขื่อนท่าด่านราคาก่อสร้าง ๑.๓ หมื่นล้านบาท ได้น้ำ ๒๒๔ ล้านลูกบาศก์เมตร ราคาน้ำต่อ ๑ หน่วยแรกเท่ากับ ๕๘ บาท  แล้ววันนี้คุณจะสร้างเขื่อน ที่ใดก็ได้นะ ราคาน้ำต่อหน่วยเหยียบ ๕๐ บาทแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนอยู่ที่ ๒๐ สตางค์  ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจห่างไกลกันมาก ทำให้ต้องสร้างตัวเลขประโยชน์ที่ได้รับเกินจริงขึ้นมา

การสร้างเขื่อนจะไม่ได้น้ำเท่าที่อ้าง  อย่างตอนสร้างเขื่อนภูมิพล พื้นที่ชลประทานเป้าหมายกินตลอดถึงปากน้ำเจ้าพระยาเลย  ถ้าจริง ก็หมายความว่าไม่ต้องสร้างเขื่อนไหนเพิ่มอีกแล้ว   แต่ทำไมวันนี้ยังต้องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่นครสวรรค์

เขาอธิบายว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วม
ผมว่าง่ายเกินไปที่เอาโครงการพวกนี้มาวางแล้วบอกว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

คุณอ้างว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ในการศึกษาความเหมาะสมของเขื่อนบอกว่าเพื่อการเกษตร ข้ออ้างกับการศึกษายังเป็นคนละเรื่อง  เขื่อนแม่วงก์มีความจุน้ำ ๒๕๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ตามข้อเท็จจริงอาจต่ำกว่านั้นอีก  เขาจะสร้างบนลุ่มน้ำสะแกกรังที่ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ก่อนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา  เขาอธิบายว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อให้มีการบริหารเขื่อนเจ้าพระยาได้ดีขึ้น แต่ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนัก น้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อวันมากกว่าความจุเขื่อนแม่วงก์ทั้งเขื่อนเสียอีก  เขื่อนนี้ความจุน้ำน้อยมาก ไม่มีนัยสำคัญต่อการป้องกันน้ำท่วมเลย เป็นเพียงแต่อาศัยสถานการณ์น้ำท่วม ปี ๒๕๕๔ ในการผลักดันโครงการเหล่านี้ขึ้นมา

แล้วเขื่อนแก่งเสือเต้นล่ะ
เขื่อนแก่งเสือเต้นถูกผลักดันมา ๒๓ ปีแล้ว ถึงวันนี้หน่วยงานรัฐยังคุยกับชุมชนไม่รู้เรื่องเลย  ที่ตั้งเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่เกือบเหนือสุดของลำน้ำยม จากต้นน้ำถึงที่ตั้งเขื่อนครอบคลุมพื้นที่ไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของลุ่มน้ำยม แล้วปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหลือจะทำอย่างไร  แต่เวลาเขาอธิบายจะอ้างว่าเขื่อนนี้ป้องกันน้ำท่วมได้ ทำให้คนรู้สึกเห็นคล้อยตาม  การแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบไม่ใช่ทำได้ด้วยเขื่อน ถึงมีเขื่อนก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา

แต่เท่าที่เห็น ดูเหมือนสังคมไทยจะเห็นไปในทางให้สร้าง
ก็เพราะข้อมูลทำให้คนเชื่ออย่างนั้น และเรามีเวลาตรวจสอบข้อมูลน้อยลง  ผมทำงานมานับ ๒๐ ปี ได้เห็นบทเรียนมากมาย  อันที่จริงน้ำท่วมปีที่แล้วก็มาจากเขื่อน  น้ำล้นมาจากเขื่อนซึ่งรับไม่ได้แล้ว  ถ้าน้ำพอดี เขื่อนป้องกันได้ แต่น้ำเกินพอดีก็ตัวใครตัวมัน  ทุกเขื่อนเป็นอย่างนี้ น้ำเต็มก็ต้องปล่อย แล้วจะมีเขื่อนไปทำไม

จริง ๆ ปัญหาเรื่องน้ำอยู่ตรงไหน ?
อยู่ที่แนวคิดในการจัดการว่าคุณมองน้ำแบบไหน  ถ้ายังมองแต่การก่อสร้าง หรือสถานการณ์น้ำแล้งที่ไม่เอาเรื่องระบบนิเวศมาอธิบาย ผมว่าไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้  วันนี้เราเข้าใจผิดกันหมดว่าแล้งไม่ได้ แล้งแล้วจะเป็นจะตาย เราไม่เคารพกลไกธรรมชาติ  เรื่องน้ำท่วมก็ท่วมไม่ได้ ในความเป็นจริงบางพื้นที่มันเคยท่วม  จะให้ทั้งสองอย่างนี้ไม่มีในประเทศไทยเลยเป็นไปไม่ได้  ที่ไหนแล้งต้องแล้ง เพราะระบบนิเวศเป็นอย่างนั้น  ฤดูกาล
มี ๓ ฤดู ที่ลุ่มต้องมีน้ำท่วม แต่เรากำลังบอกว่าที่ลุ่มไม่ให้น้ำท่วม

และวันนี้เราแยกส่วนกัน การสร้างเขื่อนเป็นเรื่องของกรมหนึ่ง การจัดการน้ำเป็นเรื่องของอีกกรม  ทั้งที่จริงแล้วการจะบริหารน้ำต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  วันนี้เราจัดการน้ำแบบมั่วไปหมด เช่นเอาเขตอุตสาหกรรมไปไว้ที่ภาคตะวันออกทั้งที่ภาคตะวันออกมีน้ำน้อย เป็นต้น  ต่อมาคือหน่วยงานรัฐไม่เคยบอกสังคมเลยว่าแต่ละลุ่มน้ำมีศักยภาพอยู่แค่ไหน เราจะหาน้ำหรือทำระบบชลประทานได้แค่ไหน

ผมทำงานเรื่องน้ำ เห็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอด  อย่างหนึ่งคือความไม่เท่าเทียมด้านข้อมูล และการไม่วิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานราชการว่าความพอดีอยู่ที่ไหน  วันนี้คุณจะสร้างอีกกี่เขื่อน ประเทศไทยก็จะยังขาดน้ำเหมือนเดิม  แล้วพอหมดพื้นที่สร้างเขื่อน คุณจะทำอย่างไร

ตลอดเวลาเกือบ ๒๐ ปีมานี้ เวลาจะมีโครงการเกิดขึ้นที่ไหน ผมไปดู  ผมพบว่าโครงการที่จัดการน้ำดีส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ และต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่าย  สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำทั้งสาย

โดยปราศจากอคติ เขื่อนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
โดยรูปลักษณะผมก็ว่าไม่ถูกต้องแล้ว  เขื่อนเป็นโครงสร้างแข็ง ปรับแก้ลำบาก ไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศ  ลองดูฝายแบบดั้งเดิมของชาวบ้านสิ แต่พวกก่อสร้างไม่ชอบ  การจัดการน้ำถูกครอบด้วยความคิดแบบนี้ทั้งหมด  จะคุยเรื่องผลกระทบทางสังคม นักสร้างเขื่อนไม่เข้าใจ เพราะตอนที่เขาเรียนมาไม่มีหลักสูตรว่าด้วยการจัดการสังคม  เขามุ่งแต่สร้างเขื่อนให้เสร็จและแข็งแรง แค่คำนวณตัวเลข แค่นั้น  ถ้าเขาได้เรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรด้วย เขาจะละเอียดอ่อนกว่านี้

ผมไม่ได้รังเกียจเขื่อน  แต่ ณ วันนี้ยังไม่เห็นข้อดีอย่างถึงที่สุดของการสร้างเขื่อนในบ้านเรา ซึ่งอ้างแต่วัตถุประสงค์เฉพาะหน้า โดยไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

จากประสบการณ์คุณเคยเจอเขื่อนที่ดีบ้างไหม
เขื่อนเพื่อการชลประทานได้ผลบ้าง แต่ไม่เท่าที่อ้าง ทุกเขื่อนมีข้อจำกัด  บ้านเรามีพื้นที่เกษตรประมาณ ๑๓๐ ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ๓๒๑ ล้านไร่  เป็นพื้นที่ในเขตที่ทำโครงการชลประทานไม่เกิน ๔๐ ล้านไร่  พื้นที่นอกเหนือนี้หากจะทำชลประทานก็เหมือนกับเข็นน้ำขึ้นภูเขา อย่างโครงการวอเตอร์กริด หรืออีกหลายโครงการในภาคอีสาน ถือเป็นโครงการที่ฝืนธรรมชาติ  นี่ยังไม่นับรวมถึงว่าการจัดหาน้ำให้แก่พื้นที่หนึ่งย่อมต้องดึงน้ำมาจากที่อื่นด้วย

ที่สำคัญเราชอบลอกเขา โครงการโขง-ชี-มูล ที่สร้างเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา และอีก ๑๔-๑๕ เขื่อนที่สร้างไปแล้วในแม่น้ำมูน แม่น้ำชี  เราลอกโครงการจากออสเตรเลียมาตอนจะทำโครงการอีสานเขียว  แต่ตอนนี้ของออสเตรเลียมีปัญหา การเอาน้ำผ่านท่อไปโดยไม่ใช่การไหลตามธรรมชาติ ทำให้เกิดเกลือขึ้นบนผิวดินนับสิบล้านไร่  พอเขาล้มเหลวเราก็ไม่พูดถึง  น้ำต้องมีน้ำผิวดิน น้ำชะล้างเกลือ เพื่อให้ระบบนิเวศสมดุล  เราจะให้คนอีสานทำนาปีละ ๒ ครั้งอย่างในภาคกลางอาจไม่ใช่เรื่องถูกต้อง หรือการจะสร้างเขื่อนตาปีเพื่อเอาน้ำไปรดปาล์มในภาคใต้ เป็นเรื่องไม่จำเป็นเลย

มีข้อยกเว้นสำหรับการสร้างเขื่อนบ้างไหม
ข้อยกเว้นคือหาทางจัดการน้ำอย่างเหมาะสม เพราะทุกวันนี้ พื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับการสร้างเขื่อนหมดไปแล้ว  โครงการเขื่อนที่กำลังจะสร้างล้วนอยู่ในชุมชนที่ไม่รู้จะย้ายไปไหน หรืออยู่ในป่าในอุทยานฯ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนท่าแซะ  ถามว่าถ้าสร้างเขื่อนเหล่านี้หมดทุกเขื่อน สังคมไทยจะได้รับการดูแลเรื่องน้ำอย่างถูกต้องหรือเปล่า ก็ไม่  ผมถึงมองว่าทางออกในการจัดการน้ำไม่ใช่เขื่อน เราต้องคิดกันตั้งแต่ตอนนี้ ประเทศอื่นเขาคิดกันแล้ว สหรัฐอเมริกาเขาไม่สร้างเขื่อนแล้ว แต่บ้านเรายังไม่กลับมาทบทวน ยังคิดแบบเก่า

ความคิดเก่า ๆ แบบนี้มาจากไหน ก็มาจากนักการเมืองแบบเก่า  สำหรับโลกทุกวันนี้ เขื่อนไม่ใช่นวัตกรรมใหม่อีกแล้ว เป็นนวัตกรรมที่ล้าหลัง มันสร้างความเสียหายทั้งลำน้ำ  เขื่อนในแม่น้ำโขงประเทศจีน สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเกือบ ๒,๐๐๐ กิโลเมตรจนถึงปากแม่น้ำ

ถ้าย้อนเวลากลับได้ เราควรสร้างเขื่อนขึ้นในเมืองไทยไหม
ผมไม่อยากรื้อฟื้น  เขื่อนที่สร้างไปแล้วก็ได้น้ำในระบบชลประทาน แต่ต้องย้ายคนเป็นอำเภอนะ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสังคมก็มาก  แต่ละเขื่อนก็มีค่าบำรุงรักษา ไม่ใช่ว่าลงทุนครั้งเดียวแล้วอยู่ได้ตลอด

ที่สำคัญผมขอย้ำว่า ยุคของการสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่เหมาะสมมันหมดไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ชุมชนและธรรมชาติ มันจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดในเชิงนโยบาย

ปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ  ประเทศยิ่งพัฒนา เรายิ่งสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำมากขึ้น น้ำก็ย่อมท่วมมากขึ้น  ค่าจัดการก็แพงมาก เหมือนสร้างตึก ๑๐๐ ชั้น ค่าลิฟต์ก็ยิ่งแพง

จุดสำคัญของการจัดการน้ำ คือขอให้เรามีข้อมูลเท่ากัน และให้สังคมมีทางเลือก