วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

คงต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นปีที่สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อที่สุด

ผู้บริสุทธิ์ ชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร
ล้มตายไปหลายร้อยคน ไม่นับอีก ๘๕ รายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบทมิฬจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นเพราะรัฐบาลส่งสัญญาณผิดใช้แนวทางที่ไม่ถูกต้องในการจัดการปัญหา เช่น การยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีความเข้าใจในการดูแลปัญหาภาคใต้ การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสายเหยี่ยวที่นิยมความรุนแรงเป็นตัวหลักในการแก้ไขปัญหา

ก่อนหน้านี้กลไกรัฐเองก็กดขี่ข่มเหงพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มาช้านานเพราะเลือกวิธีแก้ปัญหาที่คิดว่าได้ผลทันตา นั่นคือการใช้ความรุนแรง เช่น การ “อุ้ม” ชาวบ้านที่ต้องสงสัยไปสอบปากคำแล้วทำให้พวกเขาหายสาบสูญไป เมื่อญาติพี่น้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจกลับไม่รับแจ้งความหรือบอกกล่าวเพียงว่า “เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว” สร้างความคับแค้นและความเกลียดชังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในหมู่ชาวบ้าน จนที่สุดคนเหล่านี้ได้กลายเป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ลุกลามเสียจนไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด

แต่ยังโชคดีสำหรับประเทศไทยอยู่บ้างที่เมื่อแนวทางใช้ความรุนแรงไม่สามารถจัดการกับปัญหาในภาคใต้ได้หน่วยงานความมั่นคงของประเทศก็เริ่มหันมาพิจารณาแนวทางสันติวิธี

คุณพิชัยรัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ข้าราชการสายพิราบ ผู้คร่ำหวอดกับงานความมั่นคงมาตลอดชีวิต และเชื่อในแนวทางสันติวิธี เอ่ยกับ สารคดีว่า

“ผมทำงานกับปัญหาความขัดแย้งมาตลอด ตั้งแต่สมัยปราบคอมมิวนิสต์ สมัยเวียดนามบุกเข้ามาตามชายแดน มาจนปัญหาม็อบ ปัญหาภาคใต้ ผมคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ตัวความขัดแย้งไม่ได้เป็นปัญหาความมั่นคง แต่วิธีการจัดการกับความขัดแย้งต่างหากที่เป็นปัญหาความมั่นคง สังคมไทยมีปัญหาวิธีการจัดการ พอจัดการผิด ความขัดแย้งที่เป็นเรื่องธรรมดาก็กลายเป็นปัญหาความมั่นคงขึ้นมาทันที”

คุณพิชัยไม่ได้บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจัดการปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้อย่างไร แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาในทางไม่สู้ดี ก็พอทำให้สาธารณชนคาดเดาได้ สำหรับแนวทางสันติวิธีที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ แน่นอนว่าคงไม่ใช่การพูดคุย การขอร้อง การเจรจาไกล่เกลี่ย หรือการประนีประนอม หรือการไม่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ และพยายามหาคำตอบว่า ท่ามกลางความหลากหลายของผู้คนและความเห็นที่แตกต่าง เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

คุณพิชัย รัตนพล ผู้อยู่กับปัญหาชายแดนภาคใต้มา ๓๐ ปี จะไขปริศนานี้ให้ฟัง

คุณพิชัยทำงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติตั้งแต่ปีไหน
ผมจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วไปเรียนต่อนิด้า เข้ารับราชการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ ในช่วงที่บ้านเมืองมีแต่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทยได้ไม่กี่ปี เหตุการณ์ทางการเมืองก็ผันผวน ยิ่งการก่อการร้ายรุนแรง รัฐก็ต้องการความเข้มแข็ง จึงมีการปฏิวัติรัฐประหารติดต่อกันหลายครั้ง เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่าง ๑๔ ตุลา ๑๖ เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙

ช่วงเวลานั้นสถานการณ์ภายนอกก็น่ากลัว เพราะประเทศแถบอินโดจีนกำลังจะเป็นคอมมิวนิสต์กันหมดแล้ว
ตอนนั้นฝรั่งมีทฤษฎีที่เรียกว่าทฤษฎีโดมิโน เขามองว่าเมื่อเวียดนาม ลาว เขมร เป็นคอมมิวนิสต์ อีกหน่อยไทยก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ช่วงต้นของการทำงานผมอยู่กับปัญหาความขัดแย้ง มีแต่เรื่องพวกหนีเข้าเมือง ลี้ภัย เวียดนามบุกเข้ามาตามชายแดน จึงสนใจเรื่องการจัดการความขัดแย้ง เพราะผมคิดว่าความขัดแย้งเช่นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่วิธีการจัดการกับความขัดแย้ง เป็นปัญหาความมั่นคง คือตัวความขัดแย้งไม่ได้เป็นปัญหาความมั่นคง ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในครอบครัว ชุมชน ในองค์กร เช่นโรงเรียน บริษัท ก็มีความขัดแย้ง แต่เป็นแบบบุคคลกับบุคคล เป็นเรื่องผลประโยชน์ ความคิด แต่พอใหญ่ขึ้นมาเป็นเรื่องความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม ปัญหาอย่างนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกสังคมมี แต่สังคมไทยมีปัญหาที่วิธีการจัดการ พอจัดการผิด ปัญหาความขัดแย้งก็บานปลายกลายเป็นปัญหาความมั่นคงขึ้นมาทันที เช่น มีคนบอกว่าเขาไม่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ อยากเปลี่ยนแปลง แต่เขาไม่เคยได้โอกาสเข้ามามีส่วนร่วม เขาเลยชุมนุม ก็ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ เป็นการท้าทายอำนาจรัฐ รัฐก็ต้องควบคุม รักษาความสงบ ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น ทีนี้รัฐไปเข้าใจหรือสงสัยว่าพวกนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต่างชาติหรือลัทธิองค์การต่าง ๆ ความขัดแย้งที่เกิดในสังคมไทยนั้น ถ้าเอาความเกลียดชังในเรื่องชาตินิยมหรือเชื้อชาติเข้าไปปน ปัญหาจะเปลี่ยนแปลงทันที ถ้าจัดการไม่ถูกก็จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคง

การจัดการที่ถูกต้อง ต้องไปดูที่ต้นเหตุ เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก็มาพูดจากันว่าควรจะทำอย่างไร มีทางแก้อย่างไร หากจัดการไม่ถูก มีการใช้กำลัง ปัญหาความขัดแย้งก็กลายเป็นปัญหาความมั่นคง เป็นเรื่องความแตกแยก การแบ่งพวก เป็นปัญหาที่กระทบต่อความสามัคคีในชาติ ผมอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้มาตลอด รู้สึกว่ามันต้องศึกษาเรื่องวิธีการจัดการ

คุณพิชัยอยู่ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ที่มีการปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยหรือไม่
ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ไปประเมินสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ผมได้เห็นเหตุการณ์ ก็รู้สึกไม่สบายใจว่า ถ้าสังคมไทยจัดการความขัดแย้งแบบนี้ ทำให้ปัญหาเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่ ไปโยงกับปัญหาอื่น ๆ ทำให้การแก้ไขปัญหามันยากขึ้น จากนั้นก็เจอกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เพราะเพื่อนบ้านทั้งลาว เขมร เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มรุนแรงขึ้น เห็นร่องรอยการคุกคามที่เป็นภัยจากภายนอก

ผมโชคดี ได้ครูดี ผมเคยทำงานกับท่านผู้การอารีย์ กะรีบุตร อดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ตอนนั้นประมาณปี ๒๕๒๐ คอมมิวนิสต์ไทยเติบโต มีกำลังตั้ง ๑๓,๐๐๐ พื้นที่สีแดง สีชมพูเกือบจะทั่วประเทศ ยิ่งปราบปรามด้วยกำลัง ผกค. ก็ยิ่งโต เดิมทีผมก็เข้าใจว่า ผกค. เป็นอาชญากร ก็เอาตำรวจไปจับ จับทีไรก็ไม่หมด แสดงว่าเราไม่เข้าใจปัญหา ฉะนั้นการจะเข้าใจความขัดแย้ง ต้องเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาทางการเมือง ทางสันติบาลก็เริ่มคิด คือจะเข้าใจความขัดแย้งได้ ก็ต้องไปให้ถึงคู่ขัดแย้งว่าเขาคิดอย่างไร ท่านผู้การเล่าให้ผมฟัง ท่านศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์จากอาจารย์เสริฐ (ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนสำคัญ) ตอนที่อาจารย์เสริฐถูกจับ ท่านผู้การก็ไปนอนในคุก เพื่อจะคุยกับอาจารย์เสริฐ ฟังว่าคอมมิวนิสต์คิดอย่างไร ท่านผู้การชื่นชมว่าอาจารย์เสริฐเป็นคนที่รักสิทธิ เสรีภาพ รักประชาธิปไตย ตำรวจสันติบาลก็เริ่มเข้าใจว่าเรากำลังสู้กับใคร ควรจะใช้วิธีจัดการแบบไหน ในที่สุดผมก็เข้าใจชัดเจนว่า ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแค่คน เปลี่ยนแค่กำลัง ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด มันจะแก้ปัญหาไม่ได้

เป็นเพราะอะไร ที่อยู่ดี ๆ สังคมไทยที่เคยใช้การทหารนำการเมืองในการสู้กับคอมมิวนิสต์ กลับหันมาใช้การเมืองนำการทหารตามนโยบาย ๖๖/๒๓
เราเริ่มรู้ว่า เราจะฆ่ากันเองต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ส่งกำลังทหารออกไปมากมาย ตายก็เยอะ ที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ก็เพราะมันมาถึงสถานการณ์ที่ใกล้ถึงทางตัน คล้ายที่บางคนพูด ยิ่งตัดยิ่งโต ช่วงเวลาแค่ ๑๐ กว่าปี จากวันเสียงปืนแตกที่เป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์กลับเติบโตมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาโดยตลอด ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ก็จะมีข้ออ้างหนึ่งเสมอ ว่าคอมมิวนิสต์กำลังเติบโต ต้องใช้ความรุนแรงจัดการ คือใช้กำลังเข้ายึดอำนาจพลเรือนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง มันก็กลายเป็นเหยื่อ หรือเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสำเร็จของคอมมิวนิสต์ขยายตัวมากขึ้น ผมก็สับสนว่าทำไมเราไม่คิดว่าเราต้องแก้ปัญหาโดยใช้ปัญญาของเราเอง ในที่สุดต้องขอบคุณว่าความคิดอย่างนี้มันได้เกิดขึ้นในสันติบาลก่อน

ช่วงหลังทำไมสภาความมั่นคงจึงหันมาสนใจแนวทางสันติวิธีมากขึ้น
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ฯ ล่มสลาย ผมเริ่มรู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปความขัดแย้งไม่ใช่แบบเดิมแล้ว ไม่ใช่ลัทธิอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย ผมเริ่มรู้สึกว่าความรู้เรื่องความมั่นคงที่ทำอยู่นั้นไม่พอ ผมโชคดีที่ได้เจอครูดี ได้พบอาจารย์หมอประเวศ วะสี ผมไปกราบท่าน ว่าผมสนใจวิธีคิด วิธีเข้าใจสังคมแบบท่าน ท่านก็แนะนำอาจารย์มาร์ค ตามไท ว่ารู้เรื่องสันติวิธี ผมก็ไปขอความรู้ แต่ก็ยังไม่พอ ยังสับสน รู้สึกว่าต้องหาความรู้เยอะ ๆ วันหนึ่งผมไปอภิปรายเรื่องปัญหาความขัดแย้ง ได้เจออาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ท่านก็ลองภูมิผมตรง ๆ โดยถามผมว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากอะไร ผมก็บอกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเข้าใจปัญหาของประชาชน ท่านก็บอกว่า เออ คุณเข้าใจปัญหาถูก ต้นเหตุอยู่ที่นั่น เราก็เลยคุยกัน ท่านก็พูดกับผมตรง ๆ ว่า ท่านไม่ค่อยไว้ใจหน่วยงานด้านความมั่นคง พวกนี้คล้าย ๆ เป็นสายเหยี่ยวที่ไม่ค่อยเข้าใจสังคม

จริงหรือไม่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติในอดีตมีบทบาทเป็นสายเหยี่ยว ที่ใช้อำนาจและความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
มันถูกปลูกฝังมาให้มีความเชื่ออย่างนั้น คือเชื่อว่าการใช้อำนาจจัดการจะทำให้บ้านเมืองสงบ ที่ไหนก็เป็นอย่างนั้น เชื่อว่าถ้าเราใช้อำนาจที่เหนือกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ คือมองประชาชนเป็นแค่พลเมืองที่รัฐต้องดูแล ฉะนั้นหากประชาชนต่อต้านรัฐ ไม่เห็นด้วยกับรัฐ ก็เหมือนเป็นการท้าทายรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย รักษาเอกราช อธิปไตย มันมีภาพการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องกันมา คือการต่อสู้เพื่อรักษาดินแดน อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง

มีการแผ่ขยายของลัทธิอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ซึ่งเชื่อว่ามุ่งทำลายล้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นต้องเข้าใจ ต้องเห็นใจว่าสถานการณ์เป็นอย่างนั้น วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ในการรักษาความมั่นคงจะเน้นไปที่เอกราช อธิปไตย เพราะเห็นตัวอย่างว่าต่อมาเพื่อนบ้านก็เผชิญปัญหาอย่างนั้นทั้งสิ้น คนก็ต้องเสียสละ เสรีภาพก็ต้องจำกัดลงเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ให้คิดแบบเดียวกัน เหมือนกัน เพื่อไม่ให้มีจุดอ่อน เพราะเราต้องต่อสู้กับศัตรูที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก

แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน ผมก็ได้มุมมองอีกมิติหนึ่งจากอาจารย์หมอประเวศ เปลี่ยนมามองว่า “คน” น่ะสำคัญ คนอยู่กันยังไงถึงจะมีความสุข คนมีความแตกต่างหลากหลาย ต่างวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ มีความเชื่อเกี่ยวกับคุณค่าชีวิตที่แตกต่าง รัฐต้องเข้าใจ และระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องทำให้คนที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ เมื่อก่อนควบคุม ใช้อำนาจให้อยู่ด้วยกัน ให้เหมือนกัน เช่น คนจีน ลูกจีน ก็ใช้นโยบายกลืนชาติ ผมเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องเหล่านั้น เคยคิดว่าถ้าไม่เหมือน คือแตกต่าง จะเป็นจุดอ่อน เดี๋ยวคอมมิวนิสต์แทรกซึม เดี๋ยวจีนจะแผ่อิทธิพลเข้ามา ก็เลยต้องรีบกลืน ความคิดเหล่านี้จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง สอดรับกับค่านิยมทางด้านชาตินิยม

ทีนี้พอสถานการณ์มันเปลี่ยนอย่างนี้แล้ว สิ่งแรกคือการหาความรู้ใหม่ ตอนนั้นผมไปคุยกับมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ แกนนำเขื่อนปากมูล) เพราะผมมีบทเรียนว่า ถ้าอยากจะรู้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง ต้องไปรู้ถึงรากเหง้า ต้องรู้ให้ลึกลงไปว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้น ไม่ใช่เขามาชุมนุม อภิปราย ตำหนิ โจมตีเรา เราใช้อารมณ์ไปแก้ปัญหา ก็แก้ไม่ได้ ก็กลายเป็นความขัดแย้ง พี่เดช พุ่มคชา (แกนนำสำคัญของกลุ่มเอ็นจีโอ) ก็น่ารักมาก มาขอพบผม สนใจว่าหน่วยงานความมั่นคงคิดอย่างนี้ด้วยหรือ เราก็คุยกัน พี่เดชเล่าให้ฟังว่า ชีวิตเขาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมาตลอดชีวิต ฉะนั้นถ้าข้าราชการทำความเข้าใจกับเอ็นจีโอ ร่วมมือกับเอ็นจีโอ จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น หน่วยงานความมั่นคงซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำหนดทิศทางด้านความมั่นคงของชาติ จะได้เข้าใจอีกมิติหนึ่งว่า การอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคง สำคัญอยู่ที่รากเหง้า คือ “คน”

หลังจากที่ทำงานด้านสันติวิธีมาระยะหนึ่ง เราก็เริ่มรู้แล้วว่าสังคมเปลี่ยน บ้านเมืองเปลี่ยน หน่วยงานด้านความมั่นคงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เราเริ่มต้นด้วยการทำงานกับนักวิชาการ เอ็นจีโอ สิ่งแรกที่เราประเมินคือ กองทัพเป็นองค์กรที่เข้าใจประชาชนมากที่สุด เพราะทหารเติบโตมาด้วยการเห็นทุกข์ของประชาชน ถ้าประชาชนไม่รัก ทหารจะอยู่ไม่ได้ เราก็ไปเกือบทุกกองทัพภาค ไปอธิบายให้ทหารเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เพราะเรารู้ว่าถ้ากองทัพไม่เข้าใจเรื่องความขัดแย้ง ไม่เข้าใจเอ็นจีโอ ไม่เข้าใจความแตกต่างอย่างนี้ แล้วไปเข้าใจผิดคิดว่าจะมีใครแทรกซึม บ่อนทำลายอีก ก็อันตราย เราพยายามไปอธิบาย ทุกคนก็เห็นด้วยว่าสันติวิธีเป็นสิ่งที่ดี

แต่เป็นความเข้าใจว่าสันติวิธีคือการไม่ใช้ความรุนแรงถ้าเชื่อฟังรัฐ และอยู่ในกรอบกฎหมาย
ทุกครั้งผมถึงต้องไปอธิบายให้คนเหล่านี้ฟังว่า เหตุที่ชาวบ้านมาชุมนุม ก็เพราะว่าบางครั้งตัวกฎหมายเองไม่เป็นธรรม หรือการปฏิบัติตามกฎหมายมันไม่เป็นธรรม ถึงต้องร้องเรียน หรือมาเดินขบวนทุกครั้งที่ชาวบ้านมาร้องเรียน นั่นหมายความว่าเขาได้ผ่านการร้องเรียนตามขั้นตอนต่าง ๆ มาแล้ว ไม่มีหรอกที่อยู่เฉย ๆ วันดีคืนดีอยากเดินขบวนมาร้องที่ทำเนียบ แต่การเมืองมันไม่สามารถเอาความทุกข์ของราษฎรไปหา ส.ส. แล้ว ส.ส. มาพูดในสภาแทนชาวบ้านได้ ว่าชาวบ้านไม่เอาท่อก๊าซ ไม่เอาเขื่อน สิ่งนี้จึงท้าทายมากว่า ความมั่นคงในการอยู่ร่วมกันในบริบทใหม่ของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือ อยู่กันได้โดยไม่ต้องฆ่ากันตายถ้ามีความคิดที่แตกต่าง ไม่ต้องใช้ความรุนแรงกัน นี่คือปัญหาสันติวิธีที่คนไทยกำลังเผชิญ แล้วต้องทำความเข้าใจ มิฉะนั้นก็จะติดอยู่แค่นั้นเอง

หรืออีกปัญหาหนึ่งคือความไม่เข้าใจบนพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด เมื่อหลายปีก่อนมีการชุมนุมของสมัชชาคนจนภาคเหนือและชาวเขาที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ท่านผู้ว่าฯ ก็บอกว่า เราดูแลชาวบ้านอย่างดีที่สุด เวลาหนาวเราก็ดูแล มีปัญหาเราช่วยเหลือทุกอย่าง แต่พวกนี้กลับมาล้อมศาลากลางจังหวัด พูดกันไม่รู้เรื่อง ท่านรับไม่ได้ ในที่สุดก็สลายการชุมนุม ท่านบอกว่าพยายามที่สุดแล้วที่จะใช้สันติวิธี แต่พวกนี้เป็นพวกเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติ พูดจาไม่รู้เรื่อง ผมไปถามพวกชาวเขาที่เป็นสมัชชา เขาบอกว่า พวกเขามาชุมนุมเพื่อเรียกร้องสัญชาติกับที่ทำกิน ไม่ได้มาขอความเมตตา แต่มาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ชัดไหมครับ สิ่งที่ผู้ว่าฯ พยายามจะอธิบายกับสิ่งที่ชาวบ้านพูด คนละมิติเลย

เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็เคยพูดว่า แนวทางสันติวิธีจะทำให้รัฐอ่อนแอ
อาจจะเป็นไปได้ รัฐอาจจะไม่สามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำให้เศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว ต้องเสียเวลาฟัง ต้องเสียเวลาเปลี่ยนแปลงและลดขนาดโครงการลง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และลดความขัดแย้งให้น้อยลง แต่ระยะยาวจะดี ประชาชนจะรู้สึกว่า รัฐมองคนที่เห็นต่างว่าไม่ใช่ศัตรู มองคนที่เห็นต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ รู้สึกว่าแม้คนเล็กคนน้อยก็ดูแลห่วงใย หลายคนเข้าใจว่าเราดูแลแต่คนส่วนใหญ่ ที่จริงในสังคมประชาธิปไตย ผมคิดว่าการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน มันต้องไปด้วยกัน สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน ไม่ใช่ทิ้งคนจน ๆ คนกลุ่มน้อย

ในฐานะที่ใกล้ชิดกับภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการซึ่งถูกมองว่าเป็น “ขาประจำ” ของกลุ่มต่อต้านรัฐ รู้สึกอึดอัดไหม
ไม่หรอก รู้สึกภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ให้รัฐอย่างเต็มที่ ทำให้รัฐมีมุมมองได้หลายทาง แม้จะมีคนไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เราทำอาจมาก่อนกาล ซึ่งจะเจออุปสรรคเสมอ ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำมุสลิม หะยีสุหรง ประธานกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ถูกจับข้อหากบฏ เพราะเสนอข้อเรียกร้องห้าข้อที่รัฐบาลในเวลานั้นรับไม่ได้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เช่น การใช้ภาษามลายูท้องถิ่น การเก็บภาษีแล้วให้ใช้ในพื้นที่ เดี๋ยวนี้ก็มีการเรียนภาษามลายู มีข้าราชการที่เป็นมลายู มี อบต. เก็บภาษีแล้วนำมาใช้ในท้องถิ่นได้ ดังนั้นไม่แปลกที่ผมเคยถูกปลัดกระทรวงบางคนเรียกว่า รองฯ ฝ่ายเอ็นจีโอ เป็นเรื่องโจ๊กในเวทีประชุม หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยก็กระเซ้าว่า…ตัวแทนเอ็นจีโอมาแล้ว แต่ในที่สุดก็บอกว่า เออ แนวทางสันติวิธีนี้ถูกแล้ว เป็นทางผ่านโดยไม่ต้องให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง

สาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งที่ภาคใต้คืออะไร
ก่อนที่เราจะมาพูดกันถึงสาเหตุของความขัดแย้ง เราคงต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นดินแดนของรัฐปัตตานี มีเจ้าปกครองนครเหมือนกับเจ้าล้านนา เจ้าเชียงใหม่ มีวัฒนธรรม มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ต่างไปจากเรา เมื่อส่วนกลางเข้าไปปกครองโดยไม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างตรงนี้ มันก็ง่ายที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และความขัดแย้งอย่างนี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่จะเด่นชัดและรุนแรงขึ้นเมื่อเขารู้สึกว่าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม และ “ความเป็นตัวตน” ที่เรียกกันว่า identity หรือ อัตลักษณ์ ของเขาถูกมองข้าม ละเลย ดูถูก ความเป็นตัวตนในที่นี้คือความเป็นมลายู ความเป็นมุสลิม ที่มีตัวตน มีความภาคภูมิใจในถิ่นเกิด ในรัฐปัตตานีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษา การศาสนา การเดินทางทางเรือ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญ มีวัฒนธรรม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับที่คนล้านนาภาคภูมิใจในวัฒนธรรมล้านนา ภูมิใจในคุณค่าชีวิตและวิถีชีวิตตามแบบล้านนา

เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่า สาเหตุของความขัดแย้งมีสามประการ ประการแรก คือเรื่องของตัวตนที่ถูกมองข้าม ละเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประเด็นนี้ คือคนจีนลูกจีนในไทย ถึงจะอยู่ในเมืองไทย เกิดในเมืองไทย แต่เขาก็รับรู้ได้ถึงตัวตนของเขา รู้ถึงรากเหง้าของตัวเอง ว่าเราคือคนจีน มีเชื้อสายจีน มีความภาคภูมิใจในสายเลือด ในวัฒนธรรมของตน เมื่อก่อนลูกจีนในไทยมีปัญหามาก ได้รับความกดดัน รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็พูดไม่ได้ ความเป็นตัวตนของคนจีนลูกจีนถูกกดเก็บ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จีนได้รับชัยชนะเป็นมหาอำนาจ คนจีนลูกจีนในประเทศไทยฮึกเหิมมาก ผมจำได้ว่าสมัยผมเป็นเด็ก ตอนนั้นพ่อผมเป็นตำรวจอยู่ที่บางยี่เรือ ยังเห็นคนจีนแถวนั้นพากันชักธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา พอตำรวจไปจับก็เกิดปะทะกัน ตำรวจต้องหนี สู้ไม่ไหว คนจีนเลียะพะ เอาไม้ไล่ตี ตำรวจสู้ไม่ได้ก็เอาทหารเรือมาช่วย มีการต่อสู้ ยิงกันตลอด คนจีนล้มตายกันมาก ตอนผมรับราชการใหม่ ๆ ก็ยังเข้าใจผิด คิดว่านโยบายกลืนชาติอาจจะเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นพอเราระแวงว่าการใช้ชื่อป้ายร้านค้าเป็นภาษาจีน การพูดภาษาจีน จะเป็นเรื่องอันตราย หรือมองว่าโรงเรียนจีนน่าจะก่อปัญหา ทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมจีน ทำให้ไม่เป็นไทย เราก็ไปคอยตรวจสอบ กดดันเขา ไปควบคุมโรงเรียนจีนไม่ให้มีเพิ่มขึ้น คำว่า “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ความหมายก็คือ ต้องทำตัวให้เรียบร้อย ไม่งั้นถูกปิด ทั้งหมดนี้มันก็ทำให้เกิดความตึงเครียด เกิดการต่อต้าน คนที่รู้สึกว่ากำลังถูกจับจ้อง ถูกมองว่าเป็นคนนอก ถ้าเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยและมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง เขาก็จะยิ่งกลัว พอยิ่งกลัวก็ยิ่งหลบเลี่ยง

แต่ทำไมต่อมาทุกอย่างมันหายไปหมด คำตอบที่ชัดที่สุด คือ ความเป็นตัวตนของเขาเริ่มได้รับการเคารพ ยอมรับ สมาคมตระกูลต่าง ๆ ของคนจีนได้รับการยอมรับ งานตรุษจีนที่เยาวราชเป็นงานใหญ่ มีการปิดถนนยาวเป็นกิโล สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปเปิดงาน การได้รับการยอมรับจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นที่มาของความภาคภูมิใจ ถ้าปราศจากสิ่งนี้ หรือถูกละเลย ถูกทำลาย ถูกมองข้าม จะทำให้เกิดความกดดัน ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แม้ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา คนเชื้อสายฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้ก็เคยคิดอยากแยกตัวออกจากแคนาดาซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ แต่ผู้ปกครองเขาแก้ปัญหาสำเร็จได้ด้วยการเมือง โดยใช้เวทีในสภาเป็นที่พูดจากัน มาระบายความรู้สึก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาพูดจาว่าคนฝรั่งเศสไม่อยากอยู่เพราะอะไร ขออย่างเดียวอย่าใช้ความรุนแรง สุดท้ายเมื่อพูดกันรู้เรื่องแล้วก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน แต่ที่เมืองไทย กลไกที่จะทำให้สภาทำหน้าที่เป็นที่ระบายความรู้สึกของคนมุสลิม เป็นที่ถกเถียงหาทางออก กลับไม่เกิดขึ้น เรื่องซีเรียสขนาดคนฆ่ากันเป็นรายวันอย่างนี้ สส. สว. ที่เป็นมุสลิมอย่างน้อย ๓๐ คนในสภากลับไม่เคยใช้เวทีทางการเมืองพูดจาหาทางออกเลย มันอันตรายมาก

คุณพิชัยมีความเชื่อมั่นว่าพี่น้องภาคใต้ไม่ได้อยากแบ่งแยกดินแดน
เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ พี่น้องทางใต้ไม่ได้อยากแยกตัวออกไปเป็นรัฐปัตตานี เขาเพียงแต่ต้องการให้คนอื่นยอมรับและเคารพในความเป็นมุสลิมของเขา เหมือนกับที่ยอมรับคนจีนในไทย การกล่าวถึงรัฐปัตตานีไม่ได้หมายความว่าเขาอยากจะแบ่งแยก แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเขา เป็นรากเหง้า เป็นความภาคภูมิใจที่เขาต้องการให้เรายอมรับ ก็เหมือนคนไทยในรัฐกลันตันที่เป็นคนพุทธ เมื่อต้องถูกตัดไปอยู่กับทางมาเลเซีย เขาก็ยังคงต้องการที่จะคงตัวตน คงความเป็นไทยของเขาไว้ แต่มาเลเซียฉลาด เขาก็ให้สิทธิคนเหล่านี้เรียนภาษาไทยได้ระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ?
เราอาจจะละเลยหรือมองข้าม ไม่ได้คิดว่ามันมีนัยยะสำคัญ ตัวอย่างเช่น เราบอกว่าต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เรามองข้าม ไม่เคยคิดถึงวิถีชีวิต ตลอดจนความคิดความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมเลย เรารู้ว่าที่ไหนเศรษฐกิจพัฒนา มันต้องมีอบายมุข เรายอมรับเรื่องพวกนี้ แต่วิถีชีวิตของมุสลิมเขาไม่ใช่แบบนั้น มันก็เหมือนเป็นการกดดันเขาไปโดยปริยาย หรือกับบางเรื่องเราก็คิดเองตอบเอง เราเห็นว่ามุสลิมบางคนไม่พูดภาษาไทย มองว่าเป็นปัญหา เราก็วางแผนจัดการจากกรุงเทพฯ จากส่วนกลางลงไป ผมเคยคุยกับนักพัฒนาระดับสูง เขาพูดว่า เราพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป เดี๋ยวพอเจริญ ความขัดแย้งก็หายเอง ไม่เชื่อดูที่ชลบุรีสิ เมื่อก่อนเป็นดงเจ้าพ่อ มีแต่ความรุนแรง พอพัฒนาเสร็จแล้วเจ้าพ่อก็หาย นี่คนจากหน่วยงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจคิดแบบนี้ ไม่ได้เข้าใจมิติทางวัฒนธรรมเลย และผมยืนยันได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่มีความคิดอย่างนี้

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเห็นการณ์ไกล คงจำได้ ฟ้าหญิงองค์เล็กทรงหัดพูดยาวี องค์ใหญ่ทรงหัดพูดภาษาจีน ในหลวงท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทรงเข้าใจความละเอียดอ่อนในเรื่องเหล่านี้ดี แต่พวกเราทั้งหลายไม่เข้าใจ อย่างตอนที่ม้งเกิดปะทะกับตำรวจที่อุ้มผาง ท่านก็ทรงห่วงใยชาวเขา เข้าไปดูแลช่วยเหลือ

สาเหตุความรุนแรงในภาคใต้ประเด็นต่อมาคืออะไรครับ
ประเด็นที่ ๒ คือ ความอยุติธรรม ซึ่งมันต่อเนื่องกันกับข้อแรก การมองข้าม ละเลย ไม่เห็นความสำคัญ มันก็นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ครั้งหนึ่งมีการประชุมเกี่ยวกับนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญผู้นำมุสลิมมาทั้งหมด คำถามแรกคือ เราจะอยู่กันอย่างไรถึงจะมีความสุข คำตอบก็คืออยากอยู่อย่างมุสลิม อย่างภาคภูมิใจในความเป็นมุสลิม และมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการขออะไรมาก ทางการบอกว่า ก็ให้อยู่แล้วไง สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง กว่าที่พี่น้องมุสลิมจะเรียกร้องเรื่องการใส่ฮีญาบห์ (ผ้าคลุมหน้า) และกปิเยาะห์ (หมวกแขก) ได้สำเร็จ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี ชุมนุมประท้วงสารพัด ทางราชการก็อ้างระเบียบอย่างโน้นอย่างนี้

พอมาถึงรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ท่านเข้าใจ ท่านก็ให้ไปรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ มาเลยว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน ก็ได้มา ๒๓ ข้อที่ต้องปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนในโรงเรียน พี่น้องมุสลิมขอว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การลอยกระทง เด็กนักเรียนซึ่งเป็นมุสลิมไม่ต้องทำได้ไหม หรือการเรียนกระบี่กระบองซึ่งต้องก้มไปกราบไหว้ มุสลิมทำไม่ได้ มันขัดต่อความเชื่อทางศาสนา

ที่ผ่านมาทางการขาดความละเอียดอ่อน ข้าราชการที่ไปดูแลสามจังหวัดภาคใต้ก็คือคนจากภาคกลาง คนสุราษฎร์ฯ คนนครฯ คนสงขลา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจหรือไม่พยายามที่จะเข้าใจ ที่สำคัญ เราไม่เคยฟังเสียงประชาชน ไม่เคยให้โอกาสเขาได้มีส่วนร่วม นี่คือปัญหาใหญ่ เราเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมคือการเรียกมาฟังอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่ มันต้องลงไปลึกกว่านั้น

อย่างกรณีอ่าวปัตตานีที่เคยมีปลาอุดมสมบูรณ์ เคยเป็นแหล่งหากินสำคัญของพี่น้องประมงชาวมุสลิม แต่ปัจจุบันกลับถูกเรืออวนรุนอวนลากเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรไปหมด เมื่อชาวบ้านร้องทุกข์ขึ้นมา รัฐก็ไม่เคยสนใจ เช่นเดียวกับกรณีชาวมุสลิมอำเภอจะนะซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องโครงการท่อก๊าซ… ชาวบ้านคนหนึ่งพูดไว้ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้าให้เรามา เราต้องปกป้องรักษา บัดนี้กำลังถูกทำลาย ขอพระผู้เป็นเจ้าปกป้องคุ้มครองเรา” คำพูดนี้มันมีนัยยะสำคัญที่สะท้อนว่า เขาคงต้องปกป้องทรัพยากรเหล่านี้ด้วยวิธีของเขาเอง เพราะรัฐไม่เคยสนใจฟังเสียงพวกเขา ที่น่ากลัวก็คือ ในที่สุดความรู้สึกคับแค้นเหล่านี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาโดยไม่รู้ตัว

ที่ผ่านมารัฐบาลวางยุทธศาสตร์ของสามจังหวัดภาคใต้ไว้อย่างไร
คุณเชื่อไหม เป็นเรื่องตลกที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดนราธิวาสกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานีคล้ายกันมาก คือเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่เงื่อนไขของทั้งสองจังหวัดไม่เหมือนกันเลย ขณะที่คนกำลังขัดแย้งกัน ฆ่ากันทุกวัน มีแต่ปัญหา แทนที่จะมาคิดกันว่าทำอย่างไรให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง ยุทธศาสตร์ของนราธิวาสกลับอยู่ที่การท่องเที่ยว การค้าชายแดน อาหารฮาลาล อุตสาหกรรม คือทั้งหมดไปเน้นทางเศรษฐกิจ หาเงิน ซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่คงไม่ใช่เวลานี้

เราต้องรู้ว่า อะไรคือปัญหา ประชาชนต้องการอะไร เขาต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ฉะนั้นเรื่องการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้แค่มานั่งฟัง อย่างกรณีความขัดแย้งนี้ เราต้องถามกันตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าเขาต้องการอะไร ต้องการที่จะอยู่อย่างไหน ถ้าคำตอบคือ อยู่อย่างมุสลิมโดยมีความสุขในสังคมไทย คำถามต่อมาก็คือ อย่างไหนที่เรียกว่าอยู่อย่างมุสลิม ที่สำคัญ เราต้องฟังคำตอบจากเขา อย่าคิดเองหรือไปคิดแทนเขา อธิบายแทนเขา ตัดสินแทนเขา ควรจะให้คนในสังคมนั้นได้เป็นตัวของตัวเอง มีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหาในสังคมของตน โดยมี สว. สส. กรรมการอิสลาม เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ดูแลให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ถ้าทำได้อย่างนี้ เขาจะเริ่มมีส่วนร่วมว่านี่เป็นบ้านเขาเมืองเขา

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดของการมีส่วนร่วม คือ วิทยุรัฐสภา ซึ่งน่าเสียดายที่มีแค่ช่วงเดือนรอมฎอนและเปิดให้ตอนตีสาม ชมรมมุสลิมสยาม ชมรมวัฒนธรรมมุสลิม เขาจัดรายการรากเหง้ามุสลิมสยาม มีนักวิชาการมุสลิมมาเล่าให้ฟังว่ามุสลิมในประเทศไทยมาจากไหน สมัยก่อนเขาเคยร่วมรบ เคยภาคภูมิใจในชาติไทยอย่างไร เขาเป็นส่วนหนึ่งมาโดยตลอด อย่างเรื่องกองพันจามซึ่งเป็นหน่วยรบที่เก่งกล้ามาก เขาก็ภูมิใจ นำมาเล่าสู่กันฟัง น่าเสียดายที่รายการอย่างนี้พี่น้องคนไทยไม่เคยได้รู้จัก

แล้วสาเหตุความขัดแย้งประการสุดท้ายคืออะไรครับ
ประเด็นที่ ๓ คือ ปัจจัยภายนอกมันเปลี่ยนแปลง เราต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์สากลที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมหลายแห่งในโลก มันกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างที่เราคาดไม่ถึงและกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ภาพที่ส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ ไม่ว่าภาพการรุกรานในอิรัก ภาพทหารสหรัฐฯ กระทำกับพี่น้องมุสลิม ทหารสหรัฐฯ จับคนอิรักแก้ผ้า ให้หมากัด ภาพเหล่านั้นมันก่อให้เกิดความคับแค้นในหมู่ชาวมุสลิมทั่วโลก พอมันมาซ้อนกับภาพทหารไทยเต็มไปหมดที่ปัตตานี ถามว่าเขาจะรู้สึกยังไง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของนโยบายที่ชาติมหาอำนาจบางชาติเขาประกาศไว้ชัดเจน นั่นคือ ผลักให้การก่อการร้ายออกไปไกลตัวเขา แล้วไปตั้งรับข้างนอก คือใช้ยุทธศาสตร์ตีรังผึ้งให้แตก ไม่ให้ผึ้งไปรุมตีเขา แต่ให้ผึ้งร้อยตัวไปตีคนร้อยคน ซึ่งแน่นอนว่าประเทศอื่น ๆ ย่อมได้รับผลกระทบ

ผมคิดว่าสามปัจจัยนี้ คือ ความเป็นตัวตน ความอยุติธรรม และปัจจัยจากภายนอก อาจจะสะสมมาช้านาน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่พูดความจริงกัน เรากลบเกลื่อน เรามองข้าม เราไม่ให้ความสำคัญ บอกว่าเป็นฝีมือโจรกระจอกบ้าง พวกค้ายาเสพติดบ้าง เป็นเกมการเมืองบ้าง มันไม่ผิดสักอัน แต่มันไม่ใช่ประเด็น

ผมมองว่าการแก้ปัญหาในสถานการณ์อย่างนี้ คือการสร้างความเข้าใจ หาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติบนความต่าง ไม่ใช่เอาแต่จ้องจับผิดหรือคอยแต่หวาดระแวง อย่างพอจับผู้ต้องสงสัยชาวมุสลิมได้ พบว่าเขาไม่ได้พูดภาษาไทย มีเงินต่างชาติ ก็เอามาเป็นประเด็น ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เลย ใครอยู่ที่นั่นไม่มีเงินริงกิตก็แปลกละ แล้วถ้าพูดภาษามลายูไม่เป็นก็คงแปลก ๆ เหมือนคนศรีสะเกษพูดภาษาเขมรไม่ได้ก็แปลก คนหนองคายเว้าลาวไม่ได้ก็แปลกเหมือนกัน

เมื่อก่อนนี้เราเชื่อว่า “ความเหมือน” จะทำให้เกิดความมั่นคง มาวันนี้ผมคิดว่าเราเข้าใจแล้วว่า ความหลากหลาย ความแตกต่าง เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง เราอยู่ได้บนความแตกต่าง ในรัฐธรรมนูญก็เขียนอย่างนั้น รัฐธรรมนูญก็เคารพในความต่าง สังคมใดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมนั้นจะมั่นคง เข้มแข็ง มีปัญญา เพราะวัฒนธรรมคือปัญญา วัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการแต่งตัว ภาษา แต่หมายถึงวิถีชีวิตทั้งหมด ความคิดความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ความเป็นตัวตนทั้งหมด เมื่อสังคมเกิดปัญหา มันก็มีหนทางหลากหลายที่จะเลือกมองเลือกใช้ในการแก้ปัญหาได้

อย่างการถือศีลอดของมุสลิมที่ไม่ว่าคนมีคนจนปฏิบัติเหมือนกันหมด ผมก็มองว่าเป็นการฝึกตนเองให้รู้จักอดทนอดกลั้น ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความทุกข์ยาก ความหิวโหย ฉะนั้นคนที่ผ่านการฝึกฝนตนเองอย่างนี้แล้วก็ยากที่จะเอาเปรียบใคร เพราะเรียนรู้แล้วว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะรวยเป็น ๑๐๐ ล้านหรือมี ๒๐ บาทก็มีทุกข์ไม่ต่างกัน ผมถือว่านี่เป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการจะเห็น นั่นคือทำให้คนในสังคมมีความเมตตา เอื้ออาทร ห่วงใยกัน ซึ่งจะช่วยทำให้สังคมเข้มแข็ง

แต่ขบวนการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนก็มีอยู่จริงใช่ไหม
แน่นอน มันมาจากความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับ บอกได้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีอยู่จริง มีมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ที่ผมตั้งคำถามตอนรับราชการแรก ๆ ก็คือ ทำไมบางครั้งมันขยายตัวมากขึ้น บางครั้งมันก็หดตัวลง คำตอบคือ เมื่อใดที่ปัจจัยสองตัวแรก คือ เรื่องของตัวตนที่ถูกมองข้าม กับเรื่องความอยุติธรรม เกิดขึ้นชัดเจน เมื่อนั้นแนวคิดเรื่องนี้ก็จะกลับมาอีกครั้งและอาจจะรุนแรงในคนบางกลุ่ม จริง ๆ แล้วชาวบ้านเขาไม่ได้อยากแบ่งแยก แต่เขาอึดอัด มีความทุกข์ เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนที่ไม่มีใครยอมรับฟัง เช่นที่สุไหงโก-ลก ในบริเวณที่ใกล้ศาสนสถาน พี่น้องมุสลิมเขาไม่อยากให้มีผับ มีซ่อง มีเธค อยู่เลย ขอให้แบ่งโซนได้ไหม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครเคยฟัง หรือเรื่องที่พี่น้องมุสลิมบางคนส่งลูกไปเรียนเมืองนอก อยากให้ลูกเรียนจบกลับมาแล้วมีงานทำ แต่พอไปเรียนเมืองนอกที่ใช้ภาษาอาหรับ กลับมาเมืองไทยมีใครสนใจ ถ้า กพ. ไม่เทียบวุฒิให้ ก็เข้าทำงานที่ไหนไม่ได้ เป็นหมอเป็นอะไรก็ไม่ได้ เรื่องเหล่านี้รัฐไม่เคยสนใจ เราบอกแต่ว่าไม่มีปัญหา ความขัดแย้งเหล่านี้มันถูกกลบซ่อน ครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน คุณหมอพรพิศ รัตนพูลเลิศ สส. นราธิวาส พูดในสภาว่า ขอให้เรายอมรับความจริงว่า ดินแดนนี้เป็นดินแดนลังกาสุกะ เป็นดินแดนของรัฐปัตตานีมาก่อน ควรที่จะให้การยอมรับ เคารพ และให้เกียรติ ปรากฏว่าพวกสภาความมั่นคงฯ ฟังแล้วไม่พอใจมาก ถามประวัติกันใหญ่ว่าคุณหมอคนนี้เป็นใคร

อีกประเด็นที่ผมอยากพูดก็คือ พี่น้องมุสลิมยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้แคร์เลยว่า ทางการจะจับคนที่ใช้ความรุนแรง จะติดคุกเขาก็ไม่เดือดไม่แค้น แต่ขอให้ผู้ที่ถูกจับกุมได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างที่มันควรจะเป็น เราจึงยังมีความหวังอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม ถ้าเมื่อไหร่ที่กระบวนการยุติธรรมถูกล่วงละเมิดหรือถูกทำให้เสื่อมศรัทธา เราก็คงหมดหวัง และจะอันตรายมาก ฉะนั้นถ้ามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยแล้วหลักฐานไม่พอ ศาลก็ต้องปล่อย อย่างกรณีจับโต๊ะครูที่จะนะข้อหาเผาโรงเรียน ศาลก็ยกฟ้อง อย่างน้อยมันก็เป็นการประกันความมั่นคงของสังคมนี้ว่าเรายังคงอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานแห่งความเคารพ มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ

การที่รัฐบาลสั่งยุบเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอบต. ก่อให้เกิดผลเสียหรือไม่
ศอบต. ตั้งขึ้นสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้แนวคิดการเมืองนำการทหาร แก่นแท้จริง ๆ ของ ศอบต. ก็คือ เป็นศูนย์กลางคอยเชื่อมประสานระหว่างส่วนกลางกับพี่น้องชาวมุสลิม ให้พี่น้องมุสลิมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถมาร้องเรียน เป็นที่ระบายทุกข์ของพวกเขา โดยที่ ศอบต. ก็มีอำนาจที่จะจัดการกับความไม่ยุติธรรมเหล่านั้นได้ เมื่อตอนจะเลิก ท่านดิเด วาบา กรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ยังพูดว่า ศอบต. เป็นที่พึ่งของพวกเรา ถ้าเลิกแล้ว อะไรเกิดขึ้นเราไม่รับผิดชอบ มันสะท้อนว่าที่ผ่านมาทางกรรมการอิสลามเองก็มองว่า ศอบต. ยังเป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้และมีความเข้าใจถึงปัญหาตลอดจนสถานการณ์ต่าง ๆ ทางภาคใต้ดี ครั้งหนึ่งมีคนมุสลิมชักธงชาติไทยลงจากยอดเสา อดีต ผอ. ศอบต. พลากร สุวรรณรัฐ ท่านเข้าใจปัญหา ท่านไม่เอาเรื่องเล็ก ๆ มาเป็นเรื่องใหญ่ พอผู้สื่อข่าวไปถามท่านว่ากรณีอย่างนี้ถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐหรือไม่ ท่านก็บอกว่าต้องให้ตำรวจไปจับตัวมาลงโทษให้ได้ แต่ไม่เกี่ยวกับการท้าทายอำนาจรัฐอะไร เป็นการจับในข้อหาผิด พ.ร.บ. ธง ก็ท่านยังไม่ได้รู้เลยว่าเขาเป็นใคร แบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นี่คือตัวอย่างของการเข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้

แนวทางสันติวิธีคืออะไร
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าสันติวิธีคือการยอมจำนน ปล่อยปละละเลย ไม่ทำอะไร ซึ่งไม่ใช่ เรายังคงทำ ยังคงปฏิบัติทุกอย่างตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย แต่ทำด้วยความรู้สึกว่าเราปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมชาติ ด้วยความเมตตาและเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนร้ายหรือคนดี ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบได้ ๒ วัน มีรายงานข่าวทางโทรทัศน์ ตำรวจนำตัวคนร้ายคดีฆ่าข่มขืนไปทำแผนฆาตกรรม ระหว่างนั้นมีชาวบ้านเข้าไปรุมประชาทัณฑ์คนร้าย ตำรวจเข้าปกป้องผู้ต้องหาจนตัวเองบาดเจ็บ นี่คือตัวอย่างของสันติวิธี หรือเมื่อ ๓ ปีก่อนมีการปล้นธนาคารแห่งหนึ่ง ตำรวจมีปืน โจรถือมีด ตำรวจโดดเข้าล็อกคอคนร้ายแล้วปัดมีด โดนมีดบาดเจ็บ ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมมีปืนแล้วไม่ยิง ตำรวจตอบว่า ผมเชื่อว่าผมจัดการเขาได้ ไม่ควรจะยิงเขาตาย นี่คือตัวอย่างของสันติวิธีโดยแท้ เช่นเดียวกัน ขณะที่มีคำสั่ง ๖๖/๒๓ นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ถือธงว่าจะไปทิศนี้ คือใช้การเมืองนำการทหาร แต่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายก็ไม่ได้หยุดเลยนะ อีกกรณีหนึ่งที่ชัดมากคือที่อำเภอกันตัง ตอนนั้นมีการทุจริตการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ชาวบ้านเป็นหมื่นล้อมที่ว่าการอำเภอ ตำรวจทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมให้ฝูงชนเผาโรงพักแล้วถ่ายภาพแกนนำไว้ หลังจากนั้นคนที่เป็นหัวโจกก็ถูกจับได้ติดคุก ๓๕ ปี สันติวิธีจึงไม่ใช่เรื่องไม่ทำ แต่ทำด้วยความเมตตา

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่างานสันติวิธีทำได้ยาก เพราะ หนึ่ง มันเป็นการเดินข้ามวัฒนธรรมเดิมของเราที่คุ้นชินกันมาเป็นร้อย ๆ ปี วัฒนธรรมแบบที่ว่า ยอมๆ กันไปนะ กดเอาไว้ แต่พอไม่ไหวก็เอามันแรง ๆ ซะที เรากำลังจะเดินข้ามมันแล้วหันมามองว่าสันติวิธีเป็นทางออกทางเดียวที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง หมายความว่า ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ จะไม่มีการใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตอำนาจของกฎหมาย แต่ต้องใช้ความเมตตา รัฐเองก็มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐ คนกลุ่มมากหรือคนกลุ่มน้อย ก็ต้องดูแลเหมือนกัน มันเป็นการเดินข้ามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เราใช้กันมา ซึ่งยากมาก แต่ผมก็เชื่อว่าเราทำได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยเดินข้ามการมุ่งหน้าเข่นฆ่ากันในยุคที่เราสู้รบกับคอมมิวนิสต์ กลับมาพูดจาทำความเข้าใจกัน เราเดินข้ามสิ่งนั้นได้

คิดว่าเหตุการณ์การจลาจลที่ตากใบทำให้สถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ทรุดลงไปมากเพียงใด
ผมไม่อยากวิจารณ์ เรื่องนี้พูดไปตำหนิไปก็รังแต่จะทำให้เจ้าหน้าที่เสียกำลังใจ ผมมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่ตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมอำนาจ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาที่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเปลี่ยนกี่คนก็ไม่มีทาง ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ถามว่ามันรุนแรงมั้ย มันก็เพิ่มความคับแค้นมากขึ้น แล้วที่น่ากลัวคือสายตาจากภายนอก เราปรารถนาจะเป็นผู้นำด้านความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเราไม่สามารถทำให้เมืองไทยศิวิไลซ์ได้ ความปรารถนานั้นคงอยู่อีกไกล คำว่า “ศิวิไลซ์” ไม่ได้หมายถึงแค่มีตึกรามโอ่อ่า แต่มันรวมถึงการใช้ชีวิต ทัศนคติ วิธีการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมด้วย ผมจำได้ว่าสมัยที่กลุ่มสมัชชาคนจนมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบ มีทูตญี่ปุ่นไปดู เขาไม่ได้ไปดูว่ามันรุนแรงไหม จะมาลงทุนได้หรือเปล่า แต่เขาสนใจว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญา มีความสามารถในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างไหม และมีวิธีจัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร ผมว่าเขาสนใจมากกว่าว่าคนไทยอยู่กันอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง กลไก กติกา และวิธีคิด เป็นอย่างไร เราควรจะหวังว่าเราจะสามารถพัฒนาเพื่อเดินไปสู่ความศิวิไลซ์ชนิดที่เจ้าหน้าที่มีความรู้สึกว่าคนที่เห็นต่างไม่ใช่ข้าศึกศัตรู และดูแลเท่าเทียมกัน มองเรื่องความมั่นคงใหม่ว่า ความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดพี่น้องร่วมชาติไว้ด้วยกัน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่จัดการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย ผู้กระทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่ คนละเรื่อง

ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับภาคใต้คืออะไร
ผมคิดว่าคำถามสำคัญทางยุทธศาสตร์คำถามแรก คือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร การหาคำตอบของคำถามนี้หรือการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ต้องทำให้พี่น้องภาคใต้ทั้งหมด รวมถึงพี่น้องในชาติ ได้มีส่วนร่วม ได้พูดได้แสดงความคิดเห็นออกมาว่าสิ่งที่เขาปรารถนาจะให้เกิดขึ้นนั้นคืออะไร รัฐบาลเองในฐานะผู้บริหารก็ต้องถือทิศทางว่าเราจะอยู่ร่วมกับคนที่เห็นแตกต่างโดยใช้การเมืองนำ ไม่ใช่การทหาร ใช้แนวทางสันติวิธี อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าสันติวิธีจะทำให้คนเลิกแบ่งแยกดินแดน ทุกวันนี้ชาวบาธในสเปน ชาวไอริชในอังกฤษ เจริญขนาดนี้ก็ยังมีการก่อการร้าย เพียงแต่ไม่มีใครเห็นด้วย และเมื่อถึงวันหนึ่ง แนวทางสันติวิธีหรือจุดยืนนี้ได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น มีคนเข้าร่วมในแนวทางเหล่านี้มากขึ้น คนที่ไม่เห็นด้วย อยากใช้ความรุนแรง ก็จะลดน้อยลง เราคงต้องใช้เวลาสร้างประวัติศาสตร์กันใหม่ โดยไม่ย้อนรอยกลับไปอย่างเก่า ผมเชื่อว่าเราพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง แต่ว่าเพื่อจะไปให้ถึงจุดนั้น ทั้งรัฐบาลและพี่น้องร่วมชาติทุกคนจะต้องร่วมมือกัน

คิดว่ากับสถานการณ์ที่ภาคใต้ การใช้แนวทางสันติวิธีจะได้ผลเพียงใด
ผมเชื่อว่ามันได้ผล เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามมาก เพราะสันติวิธีมิใช่นโยบายหรือกลไกอัตโนมัติ ที่พอหยิบมาใช้แล้วจะเกิดสันติ ความรุนแรงจะหายไป ที่สำคัญ คนที่ชอบใช้ความรุนแรงก็มักต่อต้านคนที่ใฝ่สันติ แม้กระทั่งในการร่วมขบวนการ เขาก็ไม่ต้องการคนที่ใฝ่สันติมาร่วมงาน เพราะมันทำให้เขาต่อสู้ยากขึ้น มีความแตกแยกทางความคิด ทำให้ไม่มีพลังผลักดันเพียงพอ ดังนั้นเมื่อมีคนแบบนี้เขาก็ต้องทำลายให้หมด ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็คือในศรีลังกา ทมิฬกับสิงหลรบกันมาร่วม ๒๐ ปี ตายไปกว่า ๔ หมื่นคน สุดท้ายก็เริ่มคิดว่าควรจะหยุดฆ่ากันแล้วหาทางสันติดีกว่า แต่คนที่เห็นดีเห็นงามในทิศทางอย่างนี้แล้วพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดสันติ กลับถูกฆ่าตายจำนวนมากด้วยฝีมือของฝ่ายที่นิยมความรุนแรง เช่นเดียวกับที่ตะวันออกกลาง ประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์ก็ถูกฆ่า เพราะมันทำให้คนที่นิยมความรุนแรงได้รับผลกระทบ ฉะนั้นผมจึงบอกว่าการยึดแนวทางสันติวิธีไม่ใช่เรื่องง่าย มีทั้งอันตรายและอุปสรรค หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคนไทยมีความรักสันติโดยธรรมชาติ ที่จริงไม่ใช่ ผมยืนยันว่ามันต้องใช้ความพยายามเดินข้ามประวัติศาสตร์ เดินข้ามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เราเคยเป็นมา เพื่อที่เราจะได้ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็นโดยถาวร

ดังนั้นประการแรกที่จะต้องทำก็คือ รัฐบาลต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดความรู้สึกคับแค้นเกลียดชังกัน ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม เพราะความเกลียดชังจะเป็นอันตรายต่อการทำงาน รัฐบาลเองก็ต้องลบอคติ ความเชื่อเก่า ๆ อย่าพูดในสิ่งที่จะนำไปสู่การเกลียดชัง เช่น พวกนี้ไม่ใช่คนไทย อย่างนี้ไม่ได้ ประการที่ ๒ เรื่องข้อมูลข่าวสาร รัฐต้องเปิดเผยความจริง หากข้อมูลที่รัฐมีไม่สมบูรณ์ ก็ต้องหาข้อมูลจากฝ่ายอื่น ๆ มาทำให้ภาพมันชัดเจนขึ้น เปิดเวทีให้ปัญญาชนที่รักบ้านรักเมืองออกมาพูดจาให้ข้อมูลในทางสร้างสรรค์ แล้วก็อย่าสับสน เช่นพอมีการพูดถึงเขตการปกครองพิเศษ โอ๊ย จะเป็นจะตายเลย ทะเลาะกัน แล้วอย่างนี้จะเดินหน้าไปได้อย่างไร การปกครองพิเศษมันมีหลายรูปแบบครับ เช่น ตั้งกระทรวงขึ้นมาดูแลภาคใต้โดยเฉพาะ เหมือนกับกระทรวงที่ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ตั้งขึ้นเพื่อดูแลชาวอะบอริจินส์

คุณพิชัยเห็นด้วยว่าควรจะมีเขตการปกครองพิเศษ
เราเคยทำมาแล้ว ศอบต. ก็มีฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษแบบหนึ่ง มีรองปลัดกระทรวงลงไปดูแล มีมาตรการพิเศษ เขตการปกครองพิเศษมีหลายระดับ มีหลายรูปแบบ อย่าเพิ่งไปสร้างอคติกับมัน อย่างเมืองพัทยาก็เป็นรูปแบบการบริหารจัดการพิเศษแบบหนึ่ง หรือเราอาจจะตั้งกระทรวงขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะก็ได้ สำคัญว่ารัฐต้องใจกว้าง เปิดโอกาสให้ฝ่ายวิชาการออกมาให้ข้อมูล ทำความเข้าใจ อาจจะพิจารณาจากตัวอย่างที่ประเทศอื่น ๆ เขาทำกัน ดูว่าแคนาดาเขาจัดตั้งเขตปกครองพิเศษอย่างไร พม่า ออสเตรเลีย ศรีลังกา ทำอย่างไร ที่ฟิลิปปินส์เขาก็ทำคล้าย ๆ เรา คือเป็นเขตปกครองพิเศษโดยฝ่ายบริหาร แต่มันเสียตรงที่แกว่งไกว ไม่มั่นคง พอเปลี่ยนรัฐบาลที นโนบายมันก็เปลี่ยน แต่อย่างแคนาดา เขามีกฎหมายรองรับเลยมั่นคง

การพูดจากันด้วยแนวทางสันติวิธีคงไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมไทย
ความยากของสันติวิธีอยู่ตรงที่คนไทยมักไม่อยากจะคุยกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ต้องข้ามตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ข้าม เราก็ไม่สามารถจะเข้าใจทะลุผ่านไปถึงแก่นแท้ของปัญหา ถ้าเราเข้าใจได้ทะลุเมื่อไหร่ ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยก ก็จะหมดไป การใช้แนวทางสันติวิธีจะทำให้รัฐสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน มองทะลุว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง และแก้ปัญหาได้ถูกทาง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าง่ายมันก็จบไปแล้ว แต่มันไม่ง่าย ท้อก็ไม่ได้ ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของความเป็นผู้นำ คือการทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างสันติ เพราะหากบ้านเมืองมีเศรษฐกิจดี แต่คนไทยไม่รักกัน เกลียดชังกัน แล้วจะเกิดประโยชน์อันใด