ยางพารา จากปักษ์ใต้ไปทั่วแดนไทย
เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว สวนยางพาราเป็นงานเกษตรแขนงหนึ่ง
แต่คนตัดยางบางคนสัพยอกตัวเองว่าเขาคือ ช่างแกะสลัก และเป็นนักเดินทาง–เดินคำนับต้นยางตอนกรีด และตอนเก็บน้ำยาง จากต้นหนึ่งไปอีกต้น และอีกต้น วันละเป็นหลายกิโลเมตร
แต่โดยวิถีของชาวสวนยางที่ดี ในชีวิตเขาก็แทบไม่เคยเดินทางห่างสวนไปไหนไกล ๆ ได้
ต่างจากต้นยางพารา ที่ในช่วงทศวรรษหลังมานี้ได้เดินทางแพร่หลายไปทุกหัวระแหงทั่วแดนไทย
และจากนั้นยางแต่ละต้นก็ยังได้เดินทางไกล ในวันที่หมดหน้าที่ในการให้น้ำยางแล้ว มันจะออกเดินทางต่ออีกครั้งในรูปของไม้ยาง ที่จะไปแปรเป็นเฟอร์นิเจอร์-งานไม้
ดังเรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับยางพาราที่เราได้ติดตามมานำเสนอใน สารคดี ฉบับนี้
การค้นพบทางฟิสิกส์ครั้งยิ่งใหญ่ของศตวรรษที่ ๒๑ – ๔๘ ปีกับการตามหา “อนุภาคพระเจ้า” – สัมภาษณ์ โจ อินแคนเดลา, อัลเบิร์ต เดอ โรก หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ
ในปี ๒๕๐๗ ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เสนอว่ามีอนุภาคชนิดใหม่อยู่ในธรรมชาติ แต่ตลอดเวลาเกือบ ๕๐ ปี นักฟิสิกส์พยายามค้นหามันแต่ไม่พบ จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักฟิสิกส์ของ CERN ได้ประกาศการค้นพบอนุภาคนี้ซึ่งรู้จักกันในนาม “อนุภาคพระเจ้า”
ผู้คนในวงการวิทยาศาสตร์ต่างตื่นเต้นยินดีและยกย่องว่านี่คือการค้นพบทาง ฟิสิกส์ครั้งยิ่งใหญ่ของศตวรรษ เทียบเท่าการประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ แต่ในหมู่สาธารณชนกลับงงงันว่ามันคืออะไร
ติดตามเบื้องหลังการค้นพบซึ่งใช้เวลายาวนานถึง ๔๘ ปี กับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ๒ ท่าน ศาสตราจารย์โจ อินแคนเดลา และ อัลเบิร์ต เดอ โรก ซึ่งเดินทางมาบรรยายทางวิชาการเรื่องการค้นพบอนุภาคนี้ที่ประเทศไทย และให้โอกาส สารคดี ได้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ