เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

หัวเราะ และน้ำตาใน ทุ่งกุลาร้องไห้

ทุ่งกุลาอยู่ตรงไหน

ทุ่งกุลาร้องไห้

อาจเป็นความหดหู่ คลุมเครือ ลึกลับ ในความรู้สึกของคนที่ได้ยินชื่อ หรือแม้กระทั่งคนในท้องถิ่นเอง

“ทุ่งกุลาอยู่ตรงไหน ?” นักเขียนถามเจ้าถิ่นเมื่อมายืนอยู่ในทุ่งกุลาแล้ว

พระหนุ่มที่วัดแสนสีตอบ “ใจกลางของมันอยู่ที่สระสี่เหลี่ยม”

“ผมว่าน่าจะอยู่แถวลำพลับพลา” เป็นคำตอบของอดีตนายฮ้อยเมืองสุวรรณภูมิ

“อยู่นี่แหละ โน่นไงกองขี้นกอินทรีหลังบ้านผมน่ะ” พ่อใหญ่เจ้าของร้านชำข้างโรงเรียนบ้านโพนครกน้อยบุ้ยหน้าไปทางหลังบ้าน

“แล้วอาณาเขตของมันกินคลุมไปถึงไหนครับ ?”

“โคราชโน่นแหละ” พ่อใหญ่วาดมือไปทางตะวันตก ตรงกับที่พ่อใหญ่จากหมู่บ้านหว่านไฟ ร้อยเอ็ด เคยบอกนักเขียนว่า หางทุ่งกุลากินคลุมไปถึงตลาดแค นครราชสีมา

“ทิศเหนือก็จดขอนแก่น สารคาม ทิศตะวันออกก็บ่อพันขัน ราษีไศล ทิศใต้ก็สตึก บุรีรัมย์”

แผนที่จากปากคำพ่อใหญ่เจ้าของร้านชำตรงตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของที่ราบสูงอีสานที่นักเขียนเคยอ่านมา บางตำราวิชาการทางธรณีวิทยาบอกว่า ดินแดนแถบนี้ประกอบขึ้นจากแอ่งแผ่นดิน ๒ แอ่งใหญ่ คือแอ่งสกลนครทางอีสานเหนือกับแอ่งโคราชในเขตอีสานใต้ อันเป็นที่ราบกว้างใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ตอนใต้ของจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี กับทางตอนบนของบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ในเขตลุ่มน้ำมูนซึ่งยามหน้าฝนจะมีน้ำเอ่อล้นฝั่งแทบทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ ยาวไปตามลำน้ำซึ่งไม่เอื้อให้น้ำระบายออกไปอย่างรวดเร็ว ครั้นเข้าหน้าแล้งน้ำระเหยแห้งกลายเป็นทุ่งโล่ง ดินกร่อยทำการเพาะปลูกไม่ได้ เป็นทุ่งร้างที่มีแต่พงหญ้าและไม้พุ่มขนาดเล็กขึ้นประปราย คั่นแบ่งแอ่งราบกว้างใหญ่ออกเป็นท้องทุ่งย่อย ๆ ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า ทุ่งสำริด ทุ่งปู่ป๋าหลาน ทุ่งหมาหลง ทุ่งหลวง ทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งราษีไศล

แต่ชื่อของทุ่งกุลาร้องไห้ดูจะคุ้นความรู้สึกของผู้คนมากที่สุด ในภาพของท้องทุ่งอันเวิ้งว้างกว้างไกล ลมแรงอย่างโหดร้าย ยามหน้าฝนน้ำท่วม ถึงยามแล้งก็แล้งไร้ไปสิ้นตั้งแต่ดินถึงฟ้า

จนเมื่อปี ๒๕๑๔ กรมพัฒนาที่ดินเริ่มเข้ามาสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่แห้งแล้งกันดารแถบลุ่มน้ำมูนตอนกลาง กำหนดเอาพื้นที่ ๒,๑๐๗,๖๙๐ ไร่ใน ๕ จังหวัด เป็นพื้นที่เป้าหมายของ “โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้”

ทุ่งกุลาร้องไห้ตามการกำหนดขอบเขตของกรมพัฒนาที่ดินอยู่ระหว่างฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำมูนตอนกลางกับแม่น้ำชีตอนล่าง ในพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำสาขาอีกหลายสาย ได้แก่ ลำเสียวใหญ่ ลำเสียวน้อย ลำเตา ทางตอนบนของทุ่ง ลำพังชูทางตะวันตก รวมทั้งลำพลับพลาที่ไหลผ่านกลางทุ่งกุลา

พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ตามการขีดเขตอย่างเป็นทางการอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกราว ๑ ใน ๔ อยู่ในอำเภอท่าตูมและอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่เหลืออยู่ในอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และบางส่วนของอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กับอีกราวร้อยละ ๓ อยู่ในพื้นที่บางส่วนของอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร

เมื่อกล่าวถึงทุ่งกุลาร้องไห้ในวันนี้ ไม่ว่าในฐานะของแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชื่อก้องโลก หรือในทางโบราณคดี จะหมายความถึงพื้นที่ส่วนนี้-เท่านั้น

การเกี่ยวข้าวด้วยแรงคนที่ทำกันมาแต่เดิม (บน) แทบกลายเป็นอดีตไปแล้ว หลังการเข้ามาของรถเกี่ยวข้าว (กลาง) ยิ่งแปลงในทุ่งกุลาที่มีการวางผังมาเป็นอย่างดี และมีการตัดถนนอย่างทั่วถึงด้วยแล้ว เจ้าของนาก็แทบไม่ต้องออกแรงเลย จ้างรถมาเกี่ยวและนวดเสร็จสรรพในคราวเดียว จากนั้นก็ถ่ายใส่รถบรรทุกที่มารอรับขนข้าวเปลือกถึงริมคันนา (ล่าง)

ภาชนะดินเผาบรรจุดกระดูกแบบต่างๆ ที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว อายุร่วม ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปี

อู่อารยธรรม

ลูกทุ่งกุลาจากรัตนบุรี (สุรินทร์) ที่ชื่อ สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งอยู่ในวัยค่อนคนในวันนี้ ฉายภาพท้องทุ่งบ้านเกิดของเขาให้ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ว่าในทุ่งนั่น

“คุณยืนอยู่ตรงไหนก็จะเห็นแต่ดินจรดกับตีนฟ้า” เขาว่า “ในวันแดดจัดขาวโพลนจนให้ความรู้สึกอนาจาร”

“…ได้ยินเขาพูดกันว่า เมื่อยี่สิบปีก่อนเคยมีคนเห็นหมาจิ้งจอกผ่านมาฝูง แล้วมันก็หายไปในความมืดสีขาวของทุ่งกุลาร้องไห้”

หรือแม้กระทั่งบทกวีชิ้นลือลั่นชื่อ “อีศาน” ของนายผี(อัศนี พลจันทร) ที่ขึ้นต้นว่า

ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย คือเลือดหลั่งลงโลมดิน

ที่จงใจจะให้ภาพความยากแค้นบนดินแดนที่ราบสูง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และต่อมาวงคาราวานนำมาร้องใส่ทำนองเป็นเพลงชื่อ “อีสาน” ก็คงมีคนไม่น้อยพุ่งเป้าไปว่านั่นเป็นภาพของทุ่งกุลาร้องไห้

แต่ก่อนจะกลายมาเป็นดินแดนกันดารและล้าหลังที่สุดของประเทศ ทุ่งกุลาเคยเป็นอู่อารยธรรมที่รุ่งเรืองและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ หากนับว่าบ้านเชียงเป็นรากเหง้าของอีสานเหนือหรือแอ่งสกลนคร ทุ่งกุลาร้องไห้ก็ถือเป็นตัวแทนของอารยธรรมมนุษย์ในแถบอีสานใต้

ความจริงนี้ถูกเปิดออกโดยใบมีดของรถแทรกเตอร์ซึ่งเข้ามาปรับที่ดินด้านหลังวัดปทุมคงคาในหมู่บ้านเมืองบัว คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าปาดหน้าดินลงไปไม่ถึง ๒ เมตร ก็ปะเข้ากับหม้อไหโบราณแทรกอยู่ในชั้นดิน

ข่าวการพบวัตถุโบราณในตำบลทางใต้อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางไปถึงอุบลราชธานี และนำ สุกัญญา เบาเนิด เข้ามายังพื้นที่

“เมืองบัวเป็นตัวแทนของการศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ของพื้นที่อีสานล่าง” นักโบราณคดีสาวพูดถึงองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเมืองบัว ที่มีเธอเป็นหัวหน้าโครงการขุดค้น สุกัญญามาที่เมืองบัวครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๑ หลังเข้ารับราชการที่สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ได้ ๒ ปี จากนั้นก็ทำโครงการวิจัยเข้ามาดำเนินการขุดค้นศึกษาในอีก ๓ ปีต่อมา

“เราขุดโดยชาวบ้าน จ้างตามอัตราค่าแรงทั่วไป ๒๐ ตำแหน่ง แต่ชาวบ้านเขาผลัดเปลี่ยนกันมาขุดเกือบทั้งหมู่บ้าน ขุดด้วยจอบจนเจอหลักฐานก็คัดคนมาทำงานละเอียด ทำงานกันไปเราสอนเขาไปด้วย ตอนหลังเวลามีคนมาดู เขาสามารถอธิบายแทนเราได้ การเลือกจุดขุดค้นก็ใช้วิธีสุ่ม เพราะเราไม่รู้ว่าใต้ดินมันมีความหนาแน่นของหลักฐานเพียงใด เราจะดูจากผิวดินที่ถูกเปิดไปแล้ว ที่พบเศษดินเผา เศษกระดูก เลือกพื้นที่ที่ถูกรบกวนน้อย แล้วเริ่มเปิดหน้าดินกว้าง ๒๐x๒๐ เมตร”

ช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างที่สาวนักโบราณคดีเว้นวรรคประโยค ในใจของนักเขียนหวนกลับไปแถวตอนเหนือของทุ่งกุลา บริเวณที่ลำน้ำเตาไหลลงบรรจบลำน้ำเสียวที่หมู่บ้านเมืองบัว ห่างแนวกำแพงด้านหลังวัดปทุมคงคาไปราว ๕๐-๖๐ เมตร เป็นเนินโล่ง ๆ ราบเรียบ เนื้อที่ไม่เกิน ๒ ไร่ รายล้อมด้วยบ้านเรือนของชาวบ้าน ตรงนั้นเคยเป็นหลุมขุดค้นและเปิดให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ดูชมกันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อการศึกษาทางวิชาการจบลง ก็ถูกถมกลบไม่เหลือร่องรอยอีกแล้วในวันนี้

“จากนั้นก็สุ่มเจาะ ๒ x๔ เมตร ดิ่งลงไปสุดชั้นดิน ก็ไม่พบหลักฐานอะไร จนคิดว่าอาจต้องย้ายไปขุดแหล่งอื่น เพราะตามการสำรวจเบื้องต้นของเรา มีแหล่งโบราณคดีในทุ่งกุลาร้องไห้อยู่ราว ๔๐๘ แห่ง นี่เป็นตัวเลขที่ยังไม่ตายตัวนะ อาจมีแหล่งที่ถูกทำลายสูญหายไปแล้วหรือที่ยังสำรวจไม่พบ แต่แล้ววันหนึ่งมีพายุพัดเปิดหลังคาที่คลุมหลุมขุดออก ฝนตกหนักชะผนังดินด้านหนึ่งพังเข้าไปราว ๑๐ เซนติเมตร ก็เจอฝาของภาชนะอย่างหนึ่ง”

เธอเอาภาพให้ดู เป็นภาพถ่ายหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ดูสดใหม่น่าตื่นตาและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ภาชนะดินเผารูปหม้อ ไห แจกัน รูปกลม ๆ เหมือนผลส้ม และแบบยาวรีท้ายมน วางปากประกบกัน วางตัวอยู่บนแท่งดินที่ผ่านการขุดแต่ง ต่างระดับตามช่วงเวลาที่มันถูกฝังลงดิน บางใบแตกบิ่นเผยให้เห็นโครงกระดูกที่บรรจุอยู่ภายใน

“นี่เป็นการขุดพบหลักฐานการฝังศพแบบหม้อกระดูกครั้งใหญ่” หัวหน้าชุดโครงการขุดค้นบรรยายภาพ “ตามข้อมูลเดิมว่า การฝังศพในภาชนะดินเผาทำเฉพาะกับเด็กเท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่จะฝังให้เน่าก่อนแล้วเก็บกระดูกมาใส่ไหฝังอีกครั้ง-นี่ข้อมูลเดิม แต่สิ่งที่เราค้นพบที่เมืองบัว พบว่าศพผู้ใหญ่ก็มีการใส่หม้อในการฝังครั้งแรก ในแวดวงวิชาการโบราณคดีถือว่านี่เป็นข้อมูลใหม่”

หลักฐานที่สุกัญญาพูดถึงเป็นกระดูกผู้หญิง คะเนอายุจากฟันและกระดูกเชิงกรานว่าเสียชีวิตตอนอายุราว ๔๐-๕๐ ปี

ส่วนความเก่าแก่ของหลักฐานทดสอบโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการเก็บตัวอย่างถ่านที่พบในหลุมขุดค้น ส่งไปตรวจสอบหาค่าคาร์บอน-๑๔ ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แล้วนำมาลำดับยุคสมัย พบว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว ๔,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปี

“สมัยที่ ๒ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ อายุ ๒,๕๐๐-๑,๐๐๐ ปี ซึ่งพบหลักฐานการฝังศพครั้งที่ ๒ เยอะมาก”

การฝังศพครั้งที่ ๒ ที่พูดกันในทางโบราณคดีเป็นพิธีกรรมฝังศพของคนโบราณ โดยคนตายจะถูกฝังครั้งหนึ่งก่อน ผ่านไปช่วงหนึ่งจนเนื้อเน่าเปื่อยหมด ก็เก็บกระดูกส่วนสำคัญอย่างกะโหลก แขน ขา บรรจุภาชนะดินเผาใบใหญ่นำลงฝังดินอีกครั้ง

“สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องทำหม้อใหญ่ ๆ” เป็นความสงสัยของสาวนักโบราณคดี และเธอก็ตอบคำถามนั้นเอง “คิดว่าเป็นจิตวิทยาของการบรรเทาทุกข์โศก เพราะพิธีการศพยิ่งซับซ้อนมากเท่าใด มันจะช่วยให้คนบรรเทาความทุกข์ลงไปได้ เบี่ยงเบนความสนใจไปอยู่ที่การทำอุปกรณ์ เหมือนเราทำเมรุทำลายประดับโลง และยังบ่งบอกอะไรอีกบางอย่าง เพราะหม้อใบใหญ่ ๆ ไม่ใช่ทำได้คนเดียว ต้องให้ชุมชนมาช่วย เป็นเรื่องสังคมของคนที่ยังอยู่ด้วย”

“แต่เรื่องหม้อใส่กระดูกในวัฒนธรรมทุ่งกุลานี้ มีความเข้าใจผิดกันอย่างหนึ่ง” เธอพูดเหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้

“คนเข้าใจกันว่าภาชนะใส่กระดูกทุกแบบคือแคปซูล ความจริงไม่ใช่ ที่เป็นรูปหม้อ ไห แจกัน ไม่ใช่แคปซูล ชื่อนี้เราเป็นคนเรียกครั้งแรก ช่วงที่มาทำงานใหม่ ๆ เมื่อปี ๒๕๔๑ เราเห็นภาชนะดินเผาแบบหนึ่ง เป็นหม้อยาวปลายมน ๒ ใบวางแนวนอนปากชนกัน ดูคล้ายแคปซูลยา รู้สึกว่าสิ่งที่เห็นน่าจะใช้คำที่สื่อ เลยเรียกว่าแคปซูล จากขนาดและรูปร่างคิดว่าใส่คนทั้งตัว พอเปิดดูพบแต่กระดูกที่ผ่านการเผาแล้ว พิสูจน์จากรอยแตกของกระดูกพบว่าเผาสด คือเผาตั้งแต่เพิ่งตาย คิดว่าเป็นพิธีการทำศพในช่วงที่รับพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว แต่ยังคงใช้วัฒนธรรมเดิมในการเก็บกระดูก”

เมื่อนักเขียนเดินทางมาร้อยเอ็ด และได้พูดคุยกับหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด หัวหน้าทศพร ศรีสมาน ไม่ได้ชี้ชัดว่าพุทธศาสนาเข้าสู่วัฒนธรรมทุ่งกุลาตอนไหน แต่จากหลักฐานล่าสุดที่เจอบอกให้รู้ว่าวัฒนธรรมขอมเข้ามาสู่ทุ่งกุลาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ตามจารึกของพระเจ้าจิตรเสนที่ถูกพบแถวดอนขุมเงิน ใกล้บ่อพันขัน เมื่อปี ๒๕๔๘ เนื้อความในจารึกของกษัตริย์ขอมยุคต้นเล่าถึงสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น กองทัพและกำลังพลของขอมที่เข้ามาในแถบที่เป็นอำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน สันนิษฐานกันต่อมาว่าอิทธิพลของขอมยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ตามการปรากฏของกู่ (หรือศาสนสถานในรูปปราสาท) อยู่ตามเส้นทางการตั้งชุมชนในทุ่งกุลา อาทิ กู่วัดธาตุพันขัน กู่คันธนาม กู่กาสิงห์ กู่พระโกนา กู่เมืองบัว ฯลฯ โดยมีปัจจัยดึงดูดสำคัญคือเกลือ ซึ่งมีศูนย์กลางการผลิตแหล่งใหญ่อยู่ที่บ่อพันขัน ที่นักโบราณคดียอมรับกันว่าเป็นบ่อเกลือใหญ่ที่สุดในแถบอีสานใต้

“ตามหลักฐานทางโบราณคดี ในทุ่งกุลามีคนอยู่มาอย่างน้อย ๓,๐๐๐ ปีแล้ว และมีการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายการตั้งถิ่นฐานออกไปตามลุ่มน้ำสายต่าง ๆ ในทุ่ง จนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ คนจึงเริ่มหายไป หายไปไหนอย่างไร ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด และคงไม่ได้ไปทั้งหมด แต่คนลาวอีสานที่เป็นคนกลุ่มหลักในทุ่งกุลาปัจจุบัน ส่วนใหญ่เพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วง ๒๐๐-๓๐๐ ปี ประวัติศาสตร์ ๓,๐๐๐ ปีของทุ่งกุลาจึงไม่ได้เชื่อมต่อเนื่องกันมาโดยตลอด”

หัวหน้าทศพรฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์แต่เว้นช่องไว้ ไม่พูดถึงสาเหตุที่พลิกเปลี่ยนอู่อารยธรรมอันรุ่งเรืองให้กลายเป็นท้องทุ่งแห้งแล้งไร้ค่า

“จุดเปลี่ยนเกิดจากอะไร เพราะกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์หรือเปล่า ?” นักเขียนนึกไปถึงข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับสภาพความแห้งแล้งและการล่มสลายของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองบางแห่ง ว่ามาจากสาเหตุเกี่ยวกับการตัดไม้มาใช้ในการสร้างอารยธรรม จนแผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็นทะเลทราย

“เป็นไปได้ไหมครับว่าทุ่งกุลาโบราณตัดไม้มาต้มเกลือและถลุงเหล็กกันจนหมด”

“ก็อาจเป็นไปได้ เพราะการต้มเกลือหรือการถลุงเหล็กต้องใช้ฟืน” หัวหน้าทศพรไม่ตัดประเด็นนี้ แต่เสนอประเด็นที่เป็นไปได้มากกว่าว่า “แต่ตามข้อมูลทางธรรมชาติวิทยา พื้นที่ทุ่งกุลาส่วนใหญ่เป็นทะเลเกลือที่มีสภาพอย่างทุกวันนี้มาแต่เดิมแล้ว”

สอดคล้องกับมุมมองของสุกัญญาที่เห็นว่าทุ่งกุลามีสภาพเช่นนี้มาตั้งแต่อดีต “อาจเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด แต่คนยุคนั้นเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องน้ำท่วม เขาแก้ด้วยการขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชน เหมือนแก้มลิงป้องกันน้ำจากแม่น้ำมูนหน้าน้ำหลาก และยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง การมองทุ่งกุลาว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ไร้ค่าหาประโยชน์ไม่ได้ เป็นมุมมองจากมิติปัจจุบัน แต่ถ้าเรียนรู้จากประวัติศาสตร์จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าในอดีตที่ผ่านการสั่งสมทางวัฒนธรรม”

ตัวเลขจากการสำรวจล่าสุด ในทุ่งกุลามีแหล่งโบราณคดี ๔๐๘ แห่งตามชุมชนต่างๆ มักพบเห็นเศษหม้อไหดินเผาโบราณได้ไม่ยาก อย่างครอบครัวในหมู่บ้านเมืองเตาในภาพนี้ขุดเจอซากหม้อไหนับสิบใบตอนพลิกฟื้นดินข้างบ้านจะทำแปลงผักสวนครัว

กู่ หรือ โบราณสถานในรูปปราสาท สิ่งหลงเหลือจากการแผ่อิทธิพลเข้ามาของขอม ปัจจุบันในทุ่งกุลามีกู่สำคัญหลายแห่ง อย่างกู่คันธนาม (บน) และกู่พระโกนา (ล่าง)

กินข้าวทุ่ง (นุ่งผ้าไหม) ที่กู่กาสิงห์เป็นจุดขายหนึ่งของการท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีการจัดงานเทศกาลใหญ่ทุกปีเพื่อให้คนภายนอกได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศกลิ่นอายของทุ่งกุลา แต่สำหรับชาวถิ่นเอง การกินข้าวทุ่งริมนาถือเป็นวิถีสามัญที่ทำกันอยู่ตลอดฤดูเพาะปลูก

ในหมู่ชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมี หญ้าในนาข้าวไม่ใช่วัชพืชที่ต้องกำัจัดให้สิ้นซาก แต่ถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของวัวควาย ยามข้าวเต็มนาหน้าฝน ปล่อยวัยควายลงทุ่งไม่ได้ เจ้าของต้องมาหาเกี่ยวหญ้าไปให้พวกมันกินถึงคอก

ลูกทุ่งกุลา

“ลำบากไหม อยู่ในทุ่งกุลา ?” นักเขียนถามพ่อใหญ่พิชิต จันทร์หนองสรวง ชาวตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ (ร้อยเอ็ด) หมู่บ้านของแกอยู่หลังกู่พระโกนา โบราณสถานยุคขอมที่สำคัญแห่งหนึ่งในทุ่งกุลาร้องไห้

“ที่ว่ายากลำบาก เป็นคำคนพูดกันไป ทุ่งกุลาแห้งแล้ง แต่อุดมสมบูรณ์ หากินสบาย” ผู้เฒ่าพูดถึงแผ่นดินที่อยู่มาแต่เกิด

นักเขียนขอให้แกขยายความ

“ทุ่งกุลาไม่อดอยากเหมือนที่เขาพูด อาหารไม่ใช่ว่าขาดแคลน คนที่ดอนที่ไหนก็ลงมาหากินจากทุ่งกุลาทั้งหมด อาหารมีอยู่ในทุ่ง บ่ได้ซื้ออิหยังจั๊กแนว”

ผู้เฒ่าชาวทุ่งกุลาเล่าความหลังต่อไปเหมือนภาพวันวานยังแจ่มชัดอยู่ตรงหน้า ทีแรกนักเขียนตั้งใจว่าจะเอาคำเล่าของแกมาแปรเป็นภาพเล่าเรื่องสู่ผู้อ่าน แต่ยิ่งฟังก็พบว่าลำพังถ้อยคำของพ่อใหญ่ก็ทำหน้าที่นั้นได้ครบถ้วนในตัวเองแล้ว โดยไม่ต้องผ่านจินตนาการของนักเขียนอีก

“กบ นก ปลา กระต่าย แต่ก่อนมีเยอะ ตอนเตรียมแปลงหว่านกล้า เอาตาข่ายดักไว้กระต่ายก็มาติด ผักหญ้าเก็บเอาตามข้างทาง ในทุ่งมีปลาเยอะ เลือกกินเอาได้ตัวเล็ก ๆ ไม่เอา ตอนเย็นขึ้นจากนา คนที่บ้านก่อไฟรอได้เลย พวกกลับจากนาถือไฟส่องทางเดินกลับบ้านก็ส่องหาปลาไปด้วย ก็พอได้สู่กันกิน หรือถ้าพลาดไม่เจอปลาก็มีกบที่รับรองว่าไม่พลาด มันจะนั่งคางขาว ๆ อยู่ตามคันนา ตอนกลางวันมันจะอยู่ตามรู ก็เอาเบ็ดแหย่ลงไป เกี่ยวคางดึงขึ้นมาเลย เลือกเอาแต่ตัวใหญ่ ๆ ตัวเล็กปล่อยไป ขี้เกียจหาก็หยุด มาถึงช่วงหาขายตลาดนี่แหละที่ตัวเล็กตัวใหญ่จับเอาหมด กบในทุ่งกุลามีมากขนาดไหน ขอให้นึกเอาจากที่เขาบอกว่า กบในทุ่งกุลาคนจะไม่ได้ยินมันร้องหาคู่ เพราะมันมีมากจนอยู่ใกล้ ๆ กัน จับคู่กันได้เลย ไม่ต้องร้องเรียกหา ถึงหน้าเกี่ยวข้าวที่ว่าแล้ง ๆ ก็จะมีน้ำอยู่ตามหนอง ก็ไปขุดหาปลาหลดในตม มันอยู่ใต้ดินก็ไม่ใช่จะรอดมือเรา ฮ่า ฮ่า เอามาต้มส้มใส่มดแดง อยากกินขนมหวาน น้ำอ้อยน้ำตาลหายาก ก็เดินไปตามกอไผ่ หาน้ำผึ้งจากรังมิ้มเอามาทำน้ำราดลอดช่อง”

“ที่ว่าทุ่งกุลาอดอยากยากแค้น มาจากคนที่ไม่รู้จักทุ่งกุลาจริง แต่คนที่อยู่ทุ่งกุลาจริงบ่เคยอด อาศัยทุ่งกุลานี่แหละเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ส่งเรียนหนังสือ” เป็นข้อสรุปส่วนตัวของพ่อใหญ่พิชิตต่อทุ่งกุลา-แผ่นดินถิ่นเกิดที่แกอยู่เห็นมันมา ๗๙ ปี

“ยามแล้งก็ร้อน แต่ด้วยความเคยชินก็อยู่สบาย ฤดูหนาวก็หนาว ลมแรง ยิ่งตอนฝนมาใหม่ ๆ ลมแรงมาก เกวียนพ่อค้าบรรทุกข้าวสารมา ๒-๓ กระสอบ ยังถูกลมพัดคว่ำเลย ฮ่า ฮ่า เพราะไปจอดขวางทางลม ถึงฤดูฝนก็ตกเยอะกว่าสมัยนี้ ทั้งทุ่งเป็นผืนน้ำขาวโพลนไปหมด พายเรือจากสุวรรณภูมิถึงบ้านตาหยวกได้สบาย”

หมู่บ้านที่ผู้เฒ่ากล่าวถึงอยู่ลึกเข้าไปกลางทุ่งแถวริมลำพลับพลา ห่างจากตัวอำเภอนับสิบกิโลเมตร

“ตอนผมเด็ก ๆ ชุมชนในทุ่งกุลายังมีไม่มาก ที่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก็มีบ้านเมืองบัว บ้านดงคลั่ง บ้านจาน บ้านกู่กาสิงห์ บ้านจ่าแอ่น บ้านแสนสี และบ้านตาหยวก บ้านนี้เป็นหมู่บ้านคนเขมร ในทุ่งกุลานี่คนเขมรอยู่มาก่อน”

นักเขียนถามลึกลงไปว่า เป็นเขมรที่เข้ามาตั้งแต่พันปีก่อนหรือไม่ พ่อใหญ่ไม่ยืนยัน แกรู้แต่ว่าอยู่มาก่อนที่คนลาวอย่างพวกแกจะอพยพมาจากทางฝั่งลาว

“ที่บ้านตาหยวกผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง” ผู้เฒ่าพูดเหมือนเพิ่งนึกได้ “ชื่อ เดช ภูสองชั้น เขารู้เรื่องทุ่งกุลาเยอะ ถ้าอยากรู้ก็ไปถามเขาได้”

นักเขียนคุ้นชื่อกำนันเดช ภูสองชั้น มาก่อนแล้ว จากหนังสือ ฅนทุ่งกุลา ซึ่งเขียนถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่งกุลาโดยคนในทุ่งเอง ตั้งแต่ที่มาของทุ่งกุลา วิถีชีวิตของผู้คนในทุ่ง อย่างเรื่องการทำมาหากิน การหาตาน้ำ การต้มเกลือ ความเชื่อ การค้าวัวควาย ไปจนถึงเรื่องสัตว์ในป่าปลาในน้ำ เรื่องประวัติศาสตร์และตำนาน อย่างเรื่องสระแก-สระสี่เหลี่ยม ที่พระหนุ่มวัดแสนสีบอกว่าเป็นสะดือทุ่งกุลา ก็มีคำบอกเล่าเกี่ยวกับที่มาอยู่ในหนังสือเล่มนี้

สระน้ำโบราณทั้งสองนี้อยู่แถวรอยต่อของอำเภอสุวรรณภูมิกับอำเภอเกษตรวิสัย (ร้อยเอ็ด) เล่ากันมาว่าสระทั้งสองเกิดจากการท้าแข่งกันระหว่างหญิง-ชาย ใช้จำนวนคนเท่ากัน ให้ขุดในคืนเดียว เมื่อดาวเพ็กหรือดาวประกายพรึกขึ้นเหนือขอบฟ้าตะวันออก ให้ถือเป็นสัญญาณหมดเวลา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกา ในคืนแข่งขัน เมื่อขุดไปได้สักพักฝ่ายหญิงก็ออกอุบายจุดไฟยกขึ้นทางตะวันออก ฝ่ายชายหันเห็นก็คิดว่าดาวเพ็กขึ้นแล้วก็หยุดขุด ขณะที่เพิ่งขุดสระไปได้เพียงครึ่งเดียว ขณะที่ฝ่ายหญิงขุดต่อไปจนสว่าง เสร็จเป็นสระน้ำ เรียกกันต่อมาว่าสระสี่เหลี่ยม ส่วนสระของผู้ชายที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ขุดไม่เสร็จ เรียกกันต่อมาว่า สระแก

เมื่อได้เบาะแสจากพ่อใหญ่พิชิตว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่ไกล นักเขียนจึงตีรถต่อไปตามเส้นทางหลวงสาย ๒๑๔ ช่วงสุวรรณภูมิ-ท่าตูม ถึงป้อมยามธรรมจารีเลี้ยวขวาเข้าไปอีก ๓ กิโลเมตรก็ถึงบ้านตาหยวก บ้านกำนันเดชอยู่หลังอนุสาวรีย์เจ้าปู่ทุ่งกุลา แต่หลานสาวที่อยู่บ้านชี้บอกทางให้ตามแกไปที่ริมลำพลับพลา หลังเกษียณจากตำแหน่งกำนัน เขาปลีกตัวไปปลูกกระท่อมหาความสงบสันโดษอยู่ที่นั่น

“ตอนผมจำความได้ หมู่บ้านตาหยวกมีคนอยู่ราว ๔๐-๕๐ หลังคา อยู่ในเขตตำบลสระคู ตำบลเดียวกับพิชิต ตอนนี้มี ๗๐๐ กว่าครัวเรือน แยกออกมาเป็นตำบลทุ่งหลวงตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ผมเป็นกำนันคนที่ ๓ ของตำบลนี้” กำนันเดชพูดชัดถ้อยชัดคำตามสำเนียงของคนเชื้อสายเขมรทั้งน้ำเสียงและใบหน้าดูหนุ่มกว่าวัย แกไว้ผมยาวมุ่นมวยไว้ท้ายทอยตามแบบหมอพราหมณ์

“ผมอ่าน ฅนทุ่งกุลา แล้ว แต่ยังอยากฟังจากปากคนเขียนด้วย” นักเขียนพูดหลังแนะนำตัวกับอดีตกำนัน

“ผมเอามาจากเรื่องที่ผู้เฒ่าบอกเล่ามา ผู้เฒ่าเล่าแล้วไม่เขียนไว้ ผมฟังก็จำมาและว่าต้องเขียนไว้ให้ลูกหลานอ่าน กับบางเรื่องผมก็เขียนจากที่ผมพบเห็นเอง”

“เริ่มมาอย่างไรครับ”

“ผมไปเห็นหนังสือของ ไพวรินทร์ ขาวงาม ที่บ้านของเขาในหมู่บ้านสาหร่าย เอามาอ่านแล้วผมก็เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ผมก็น่าจะเขียนได้”

เพื่อนบ้านที่กำนันเดชพูดถึง นักอ่านทั่วประเทศคงรู้จักเขาดีในฐานะกวีซีไรต์ หรือบางทีใครบางคนก็ให้สมญาแก่เขาอย่างยกย่องว่า กวีศรีทุ่งกุลา ตามภูมิลำเนาที่เขาเกิด หมู่บ้านสาหร่าย บ้านเกิดของกวีไพวรินทร์ อยู่ห่างจากบ้านตาหยวกของกำนันเดชไปทางปลายลำพลับพลาราว ๔ กิโลเมตร คนละฟากถนนของเส้นทางสายสุวรรณภูมิ-ท่าตูม และต่อมาเขาก็เป็นคนเอางานเขียนของกำนันเดชไปเสนอสำนักพิมพ์ กระทั่งได้รับการพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ไปทั่วประเทศในชื่อ ฅนทุ่งกุลา ซึ่งน่าจะเป็นงานเขียนเรื่องทุ่งกุลาเล่มแรก ๆ ที่เขียนโดยชาวทุ่งกุลาเอง

“ทุ่งกุลากว้างใหญ่ แต่ละคนก็ได้สัมผัสต่างกันไป” ไพวรินทร์ยังคงท่วงทำนองแบบนักกวี ในการเปิดเรื่องเล่าถึงแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเอง

“แถวบ้านผมน่าจะเป็นใจกลางที่สุดของทุ่งกุลา เดิมอยู่ในเขตตำบลทุ่งหลวง ความหมายตามชื่อคือทุ่งใหญ่ที่เป็นศูนย์กลาง แต่ตอนหลังหมู่บ้านของผมแยกมาอยู่ในตำบลทุ่งกุลาที่ตั้งขึ้นใหม่”

กวีศรีทุ่งกุลาเปิดเรื่องอย่างรัดกุม แล้วย้อนภาพวัยเยาว์ของตัวเองในทุ่งกว้าง

“หลังจบ ป. ๔ ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ผมไปเรียนต่อจนจบ ป. ๗ ที่โรงเรียนบ้านตาหยวก ในหมู่บ้านของกำนันเดชนั่นแหละ ต้องปั่นจักรยานฝ่าทุ่งซึ่งเมื่อก่อนเวิ้งว้างน่ากลัวมาก ลมแรง มีทุ่งนา มีสัตว์ป่าพวกกระต่าย ไก่ป่า หมาจิ้งจอก อยู่ในป่าช้าที่มีต้นไม้รกครึ้ม”

ทุ่งกุลาในความทรงจำของกวีหนุ่มใหญ่ไม่ต่างจากที่คนภายนอกรู้ แต่ต่างกันที่ความรู้สึกและความผูกพันต่อทุ่งกุลา

“หน้าร้อนก็แห้งแล้ง ไปเลี้ยงควายถ้าไม่มีรองเท้าใส่ต้องใช้ผ้าขาวม้าพันตีน เพราะพื้นดินร้อนมาก หน้าหนาวก็หนาวมาก หน้าน้ำน้ำเยอะ ปลาไม่อด ช่วงน้ำหลาก ปลาขึ้นมาบนถนน ยังเคยไปเก็บ แย่งกับหมาเพราะบางทีหมาไปเจอก่อน ตามห้วย หนอง บึง ทาม มีตาน้ำ เราไปขุดเป็นบ่อไว้ เวลาไปเลี้ยงควายก็เอาใบไม้ม้วนเป็นกรวยตักน้ำกินได้ ฟังดูเหมือนโรแมนติก แต่เป็นวิถีชีวิตจริง ๆ นะ ตอนนั้นทุ่งยังไม่มีสารเคมี ขยะ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว กระป๋อง ขวด พลาสติก ขยะสารพัด โลกเปลี่ยน จิตใจคนชนบทก็เปลี่ยน เราเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสเห็นความสวยงามอย่างเด็กในวัยผม เราเคยขับเกวียน หุงข้าวด้วยก้อนเส้า กินข้าวหม้อดิน นั่งกินกันในทุ่ง คนรุ่นใหม่คงได้แต่ฟังเรื่องเล่า และอาจไม่มีความผูกพันที่ต้องอาลัยอาวรณ์”

ฟอสซิลหอยน้ำจืดอายุ ๒ ล้านปี ที่ชาวบ้านเรียกกันตามตำนานว่า ขี้นกอินทรี มีอยู่หลายแห่งในแถบทุ่งกุลา ในภาพเป็นที่โรงเรียนบ้านโพนครกน้อย ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

บ่อพันขัน บ่อน้ำจืดธรรมชาติท่ามกลางความเค็มของชั้นเกลือใต้ดิน ปากบ่อมีขนาดพอจ้วงตัดได้ แต่มีน้ำใสเย็นไหลออกมาไม่ขาดสาย ตัดไม่รู้จักแห้งเป็นที่น่าอัศจรรย์ ภายหลังมีการสร้างขอบซีเมนต์กั้นเป็นอ่างรอบบ่อ ปรับภูมิทัศน์ และทำแนวคันดินกั้นไม่ให้น้ำกร่อยในอ่างเก็บน้ำเอ่อเข้ามาท่วม

ทะเล-น้ำตา

บนแผนที่อีสาน ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ใช่จุดเล็ก ๆ เท่าที่ปักปลายเข็มหมุด แต่รูปร่างของมันอาจเปรียบได้กับเป็ดยักษ์ที่กำลังยืดคอซุกไซ้หาอาหาร ตั้งแต่ปลายหางทางตะวันตกไปสุดขอบปากทางตะวันออก วัดความยาวในพื้นที่จริงได้ ๑๕๐ กิโลเมตร ความกว้างใหญ่ของลำตัวจากเหนือถึงใต้ ๕๐ กิโลเมตร มีหมู่บ้านเกินพันแห่ง กับผู้คนกว่า ๖ แสนคน อาศัยอยู่ภายในนั้น แต่นักเขียนกับเพื่อนคงไม่สามารถลงไปสำรวจชุมชนในทุ่งกุลาได้ทั้งหมด แรกสุดเขาจึงเริ่มต้นด้วยการอาศัยทางหลวงแผ่นดินเป็นเส้นทางสำรวจ

จากแถวรอยต่อจังหวัดสุรินทร์-ร้อยเอ็ด บนทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ พวกเขามุ่งหน้าไปทางอำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮีของจังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นก็มุ่งไปทางตะวันตกตามเส้นทางหมายเลข ๒๐๒ ผ่านตัวอำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเกษตรวิสัย ข้ามสู่เขตจังหวัดมหาสารคาม ในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย แล้ววกลงใต้ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๙ สู่อำเภอสตึก (บุรีรัมย์) และอำเภอชุมพลบุรี (สุรินทร์) ตามเส้นทางสาย ๒๐๘๑ จนเกือบสุดสายก็เลี้ยวลัดเลาะเข้าไปตามเส้นทางท้องถิ่นที่เชื่อมระหว่างชุมพลบุรีกับเกษตรวิสัย ซึ่งไหลผ่านไปเป็นแถบใจกลางของทุ่งกุลาร้องไห้

อย่างน่าแปลกที่ชุมชนในพื้นที่ร่วม ๒ ล้านไร่ภายในวงล้อมของถนนวงแหวนเชื่อมรอยต่อ ๕ จังหวัดตอนกลางของภาคอีสานมีตำนานพื้นบ้านเรื่องเดียวกัน ซึ่งกล่าวถึงและเชื่อมร้อยชุมชนในทุ่งกุลาเข้าไว้ด้วยกัน

หลังฟังจากกำนันเดชไปรอบหนึ่งแล้ว นักเขียนก็ได้ฟังซ้ำอีกจากพ่อใหญ่เจ้าของร้านชำข้างโรงเรียนบ้านโพน-ครกน้อย พระหนุ่มที่วัดแสนสี อดีตเจ้าอาวาสวัดบ่อพันขัน จนจำมาเล่าต่อได้

ทุ่งกุลาเดิมเป็นทะเลมาก่อน มีนครจำปานาคบุรีอยู่ทางฝั่งตะวันตก เจ้าเมืองมีพระธิดาชื่อ พระนางแสนสี และมีหลานชื่อ นางคำแพง ทั้งสองมีท้าวจ่าแอ่นเป็นองครักษ์ และเมืองนี้จะมีพญานาคคอยช่วยเหลือเมื่อถึงคราวเดือดร้อน

ทางฝั่งตะวันออกของทะเลมีเมืองอีกแห่งชื่อ บูรพานคร เวลานั้นเจ้าเมืองได้ส่งพระโอรสคือ ท้าวฮาดคำโปง และหลานคือ ท้าวอุทร ออกไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ เมื่อเรียนจบ อาจารย์ก็ให้ไปลองวิชากับพญานาคของเมืองจำปานาคบุรี

ครั้นไปถึง หนุ่มจากต่างเมืองทั้งสองกลับให้ความสนใจในตัวพระธิดามากกว่าจะคิดสู้รบกับพญานาค ทว่ายังไม่เคยได้เข้าถึงตัว เพราะองครักษ์จ่าแอ่นคอยดูแลอย่างเข้มงวด

จนวันหนึ่ง นางทั้งสองพายเรือออกไปเล่นน้ำโดยมีท้าวจ่าแอ่นติดตามไปด้วยเช่นทุกครั้ง เจ้าชายจากบูรพานครคอยทีอยู่แล้วจึงเสกผ้าเช็ดหน้ากลายเป็นหงส์ทองลอยไปตามน้ำ พระธิดาเห็นก็เกิดความอยากได้ รับสั่งให้ท้าวจ่าแอ่นพายเรือออกตามจับตัว แต่พอเข้าใกล้หงส์ทองก็ว่ายหนี ครั้นลอยห่างออกไปก็เหมือนรอให้ตาม หงส์ทองหลอกล่อ พาเรือของเจ้าหญิงออกไปสู่กลางน้ำไกล ท้าวฮาดคำโปง กับท้าวอุทรสบโอกาสก็แล่นเรือออกไปจับตัวขึ้นสำเภาของตนพาออกสู่ทะเลกว้าง

เมื่อทางเจ้าเมืองจำปานาคบุรีรู้ข่าวก็ขอความช่วยเหลือจากพญานาคที่อยู่ใต้บาดาล พญานาคสั่งบริวารให้ช่วยกันดันพื้นขึ้นมา น้ำทะเลก็แห้งในทันที

ท้าวฮาดคำโปงแล่นสำเภาต่อไปไม่ได้ ก็เอาตัวเจ้าหญิงแสนสีไปซ่อนไว้ที่ดอนแห่งหนึ่ง เอาตัวนางคำแพงไปไว้อีกแห่ง และเอาท้าวจ่าแอ่นไปไว้อีกแห่ง

หลายร้อยปีหรือหลายพันปีต่อมา ที่ดินดอนเหล่านั้นกลายมาเป็นบ้านจ่าแอ่น (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านแจ่มอารมณ์) ที่ซ่อนนางแสนสีกลายเป็นบ้านแสนสี และที่ซ่อนนางคำแพงกลายเป็นบ้านหัวดงคำแพง อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด แต่บางคนว่าจุดที่ซ่อนหลานเจ้าเมืองจำปานาคบุรีนั้นอยู่ที่ ทุ่งปู่ป๋าหลาน หรือตำบลปะหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม) ในปัจจุบัน

เมื่อได้ตัวพระธิดามาแล้ว ความรักของท้าวฮาดคำโปงยังไม่สมหวัง เพราะท้าวอุทรก็มีความพึงใจในตัวนางเช่นกัน เกิดขัดแย้งสู้รบกัน ท้าวอุทรฟันท้าวฮาดคำโปงคอขาด แต่ด้วยใจที่ยังผูกพันต่อพระนางแสนสี ดวงวิญญาณจึงไม่ยอมไปไหน

“กลายเป็นผีหัวแสงอยู่ในทุ่งนั่นแหละ” กำนันเดชเชื่อมโยงตำนานเข้ากับปรากฏการณ์ที่คนสมัยก่อนมักพบเห็นในทุ่งกุลา ซึ่งชาวบ้านในบางถิ่นเรียกผีโป่งหรือผีเป้า “ลอยมาตามหานางแสนสี ใครเจอดวงไฟลอยอยู่ในทุ่งต้องพูดว่า ไม่เห็นนางแสนสี แต่มาก็ดีแล้ว ช่วยส่องทางให้ลูกหลานเดินกลับบ้านด้วย”

หลังน้ำทะเลเหือดแห้งไปแบบฉับพลัน ปูปลาทะเลมากมายติดแห้งตายอยู่เต็มพื้น เน่าเหม็นถึงชั้นฟ้า เดือดร้อนองค์อินทร์ต้องส่งนกอินทรียักษ์ผัวเมียลงมากินซากสัตว์ทะเล

“ปีกของมันนี่นะ ยามบินขึ้นนี่ฟ้ามืดครึ้มเลย” พ่อใหญ่ เจ้าของร้านชำบรรยายภาพนกอินทรียักษ์ของพระอินทร์อย่างกับว่าแกได้เห็นมากับตาจริง ๆ

นกอินทรีผัวเมียกินซากกุ้งหอยปูปลาจนอิ่มหนำ ก็ถ่ายมูลกระจายไว้ตามที่ต่าง ๆ ในทะเลแห้ง หลงเหลือมาถึงปัจจุบันที่คนในทุ่งกุลายังเรียกว่า ขี้นกอินทรี กองใหญ่อยู่ที่โพนขี้นก ในตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ (ร้อยเอ็ด)ต่อมามีการศึกษาวิจัยทางวิชาการระบุว่า เป็นซากหอยขม หอยกาบโบราณ อายุราว ๒ ล้านปี

“มันมากินน้ำในสระหลังบ้านผมนี่” พ่อใหญ่แถมท้ายเรื่องเล่าด้วยการพาไปดูร่องรอยของสิ่งที่แกเล่าถึง “เสร็จแล้วก็ถ่ายมูลไว้กองหนึ่งด้วย ที่โรงเรียนบ้านโพนครกน้อยก็อีกกองหนึ่ง กินซากเสร็จแล้วนกอินทรีก็ไปนอนฝันว่าได้กินช้างสารอยู่ที่ดงตะตึก ตรงที่ปัจจุบันเขาสร้างเป็นสนามบินสตึก บุรีรัมย์โน่นแน่ะ”

ส่วนบ่อพันขันอันเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีความน่าอัศจรรย์ใจตรงที่มีบ่อน้ำจืดขนาดพอจ้วงขันตักได้ อยู่กลางพลาญหินที่เต็มไปด้วยคราบเค็มของเกลือใต้ดิน ตำนานเรื่องเดียวกันเล่าว่าเกิดจากการบันดาลของพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าเพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด ฉบับของกำนันเดชเล่าว่า บ่อน้ำจืดนั้นเป็นรูถ้ำที่พระสาวกเรียกนกอินทรีเข้ามาอยู่ แล้วเอาจีวรคลุมไว้กระทั่งกลายเป็นพลาญหินใหญ่ คลื่นลอนของแผ่นหินที่เห็นนั่นก็คือริ้วจีวรพระ

ขณะที่ หงสรถ สมอาษา หรืออดีตพระปลัดอำพร เจ้าอาวาสวัดบ่อพันขัน บอกว่าเป็นทางลงกลับเมืองบาดาลของพญานาคหลังช่วยชาวเมืองจำปานาคบุรีเสร็จแล้ว แต่ทิ้งพิษความเค็มไว้เต็มพื้น สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงให้พระโมคคัลลานะ เอาจีวรมาคลุมทางขึ้นลงของพญานาคเอาไว้ แต่ด้วยเกรงว่า ผู้คนจะไม่มีน้ำจืดใช้ จึงบันดาลให้เกิดบ่อน้ำจืดขนาดพอจ้วงขันตักได้ แต่ตักเท่าใดก็ไม่มีวันเหือดแห้ง เป็นแหล่งน้ำจืดอยู่กลางพลาญหินที่เต็มไปด้วยความเค็มของคราบเกลือ

แต่ความเค็มของเกลือในดินไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นโทษภัย ตรงกันข้ามอาจถือเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ายิ่งในยุคสมัยหนึ่ง ความที่เป็นแหล่งผลิตเกลือยุคโบราณขนาดใหญ่ในแถบอีสานใต้ นักโบราณคดีบางคนจึงเชื่อว่าบ่อพันขันอาจเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ในยุคนั้น ที่เชื่อมโยงการค้าไปถึงดินแดนที่ราบต่ำรอบทะเลสาบเขมร แหล่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่คงอาศัยเกลือจากอีสานในการทำปลาร้าปลาเค็ม

ทางเดินในทุ่งกุลาจึงคงมีมาอย่างยาวนานและยาวไกล เคยรุ่งเรืองเกรียงไกรมาก่อนที่ชาวเผ่ากุลาจะมาผจญกับสภาพความกันดารแห้งแล้งในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ กระทั่งก่อตำนานกลายเป็นที่มาของชื่อทุ่งกุลาร้องไห้ในปัจจุบัน

คาราวานค้าขายเกลือจากทุ่งกุลาเดินทางลงใต้ แต่พ่อค้าเร่เผ่ากุลาเดินทางมาจากทางตะวันตก

คงมีคนไม่มากที่รู้ว่าคนกุลา แท้จริงคือชาวไทใหญ่และต้องสู้ในประเทศพม่า ที่เดินทางผ่านชายแดนตะวันตกและภาคเหนือเข้ามาเป็นพ่อค้าเร่อยู่ในภาคอีสานกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้อภิสิทธิ์ทางการค้าตามสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. ๒๓๙๘ ซึ่งชาวกุลาถือเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสะดวก

ขบวนพ่อค้ากุลาจะเดินกันไปเป็นกลุ่ม ๑๐-๒๐ คน ขายสินค้าพวกผ้าแพร ง้าว ฆ้อง เครื่องเงิน เข็ม ขันอัญมณี ยาสมุนไพร เครื่องเขิน สีย้อมผ้า เชี่ยนหมาก โดยจะหาบของเร่ไปตามหมู่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น ระหว่างทางก็จะรับซื้อสินค้าขายต่อทำทุนหมุนเวียนไปเรื่อย

จนคราวหนึ่งกลุ่มพ่อค้ากุลาเดินทางจากอุบลฯ ศรีสะเกษมาถึงสุรินทร์ ท่าตูม ก็ซื้อครั่งจำนวนมากจะนำไปทำเป็นสีย้อมผ้า ขึ้นไปขายต่อทางมหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี พอข้ามแม่น้ำมูนขึ้นไปสู่ฝั่งทางเหนือก็เข้าสู่ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ เป็นเส้นทางที่พวกเขาไม่เคยผ่านมาก่อน ทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง มองเห็นเมืองป๋าหลานอยู่ในสายตา แต่ไม่รู้ว่าอยู่ไกลมากอย่างที่คนอีสานพูดกันมาแต่โบราณว่า ใกล้ตาไกลตีน

เมื่อพากันเดินออกไปอยู่กลางทุ่งเวิ้งว้าง ต่างก็เหนื่อยล้าอิดโรย เป็นฤดูแล้งที่น้ำก็หาดื่มไม่ได้ ต้นไม้จะให้พักหลบแดดก็ไม่มี พ่อค้าเร่จากแดนไกลคิดว่าคงต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้กลางทุ่งกว้างแห่งนี้เสียแล้ว ก็พากันร้องไห้ออกมา

ก่อนออกเดินทางต่อ พวกเขาตัดใจเทครั่งในหาบออกเสียบางส่วน ต่อมาตรงนั้นเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย แต่เดินต่อไปเท่าใดก็ยังไม่พ้นทุ่งสักที พวกเขาอ่อนล้ามากขึ้นเรื่อย จำต้องเทครั่งทิ้งทั้งหมด ตรงบริเวณที่เป็นหมู่บ้านดงครั่งใหญ่ปัจจุบัน ชุมชนทั้งสองอยู่ในอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

พอข้ามทุ่งมาถึงหมู่บ้าน มีคนจะมาขอซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่พ่อค้ากุลาไม่มีของจะขาย ความเหนื่อยล้าอิดโรยจากการเดินทางบวกกับความเสียดายข้าวของที่จำใจต้องเททิ้งไว้กลางทาง ทำให้พวกเขาต้องหลั่งน้ำตาอีกครั้งต่อหน้าชาวบ้านที่มามุงดู ทุ่งกว้างที่ทำให้พ่อค้าเร่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอีสานต้องหลั่งน้ำตา จึงได้ชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาแต่นั้น

แต่ลูกกุลารุ่นหลังที่ยังมีชีวิตอยู่ปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินคนรุ่นพ่อของพวกเขาพูดถึงเรื่องนี้

“อ๋อ ทุ่งกุลาร้องไห้น่ะรึ ?” แม่ใหญ่ปุ่น บุญยอ ย้อนถาม แล้วหัวเราะเขิน ๆ จนน้ำหมากกระเซ็น “ไม่รู้หรอก พ่อก็ไม่เคยเล่าให้ฟัง”

นางเป็นหญิงชราในหมู่บ้านโนนใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีคนกุลากลุ่มใหญ่เข้ามาแต่งงานกับสาวชาวถิ่น สร้างครอบครัวสืบต่อมา ปัจจุบันยังมีลูกชาวกุลาอยู่ในหมู่บ้านนี้ แม่ใหญ่ปุ่น บุญยอ วัย ๘๙ ปีนี้ก็เป็นคนหนึ่ง นางเป็นลูกคนหัวปีของทวดซุนต้องสู้ ซึ่งเป็นกุลารุ่นท้าย ๆ ที่เดินทางจากฝั่งพม่าเข้ามายังแถบอีสานของไทย ทวดซุนเสียชีวิตเมื่อราว ๔๐ ปีที่แล้ว ตอนอายุได้ ๙๐ กว่าปี

“เอาของมาขาย เอาของจากที่นั่นมา เอาของจากที่นี่ไป” แม่ใหญ่เล่าถึงการเดินทางของบิดา

“หาบมา บ่มีรถมีรางคือมื่อนี่ ไปกันคราวเป็นสิบคน มีพ่อเลี้ยงเป็นหัวหน้า กับกลุ่มลูกจ้างของใครของมัน ย่างไปสัก ๕-๖ กิโลก็พักที ตอนกลางคืนก็พักตามวัด ศาลากลางบ้าน เรื่องเสบียงอาหารเพิ่นเล่าให้ฟังว่า หยุดพักบ้านไหนก็เอาของไปแลกข้าวมาหุง แลกเป็ดไก่มากิน เพิ่นว่าซั่น”

ส่วนเหตุที่บ้านโนนใหญ่กลายเป็นปลายทางของนักเดินทางไกลหลายคน น่าจะเนื่องมาจากบ้านนี้เป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์และเป็นหมู่บ้านช่างที่มีสินค้าให้พ่อค้าเร่จากแดนไกลนำไปขายต่อได้

“ที่นี่เลี้ยงไหม น้ำย้อมทางนั้นดี ก็เอามาขาย กลุ่มหนึ่งมาเอาสินค้ากลับไป ตอนมาใหม่ก็ตุ้มพี่ตุ้มน้องลูกหลานมาเป็นสิบ ที่บ้านเขากันดาร มาเห็นที่นี่ว่าสบาย อยากกินอะไรก็บ่อึดอดอยาก มาเอาเมียมีลูก ดำนาเสร็จก็เฮ็ดงานช่างจนเป็นทุกแนว ขัน พานน้อย พานใหญ่ สร้อย แหวน เข็มขัด เสร็จหน้านาก็เอาไปขาย ไป ๘ เดือน ๑๐ เดือน หรือ ๓ ปีจึงได้มาก็มี

“ได้กับกุลาไม่อึดอยาก ใครก็อยากยกลูกสาวให้ ตอนนั้นแต่งกันสินสอด ๖ บาท ๘ บาท หรือ ๑๒ บาท” ลูกสาวทวดซุนเล่า และเล่าต่อว่าแม่ของแกมีพี่น้อง ๒ คน และทั้งคู่ก็ได้สามีเป็นกุลา เช่นเดียวกับลูกสาวอีกหลายคนในหมู่บ้าน รวมทั้งแม่ของพระคำใบ คุตตจิตโต ที่แต่งงานกับพ่อคำมุล ต้องสู้

“สมัยนั้นบ้านยังมุงด้วยหญ้าคา หรือไม่ก็กระเบื้องไม้ มีแต่เฮือนกุลานั่นแหละที่ได้มุงสังกะสี ฐานะของเขาจะดีกว่าไทบ้าน” พระคำใบเล่าความทรงจำเมื่อยังเด็ก ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์ ริมหมู่บ้านโนนใหญ่ ซึ่งถือเป็นวัดของชาวกุลา

แม่ใหญ่สายเลือดกุลาเล่าด้วยว่า ลูกหลานกุลาในเมืองไทยไม่รู้ภาษากุลา แต่พอรู้เห็นวัฒนธรรมการกินอยู่ของทางฝ่ายพ่อ

“กุลากินข้าวเจ้า บ่ได้กินข้าวเหนียว พอมาอยู่นานแล้วจึงกินป่นกินอาหารอีสานเป็น อาหารเพิ่นก็ธรรมดา ๆ แต่ใส่น้ำมันหลาย ใส่ผัดใส่เจียว ของกินของเลี้ยงกันก็ต้มน้ำร้อน กินน้ำชาคุยกันได้หมดคืน หมู่เพื่อนมาหาก็ต้มสู่กันกิน ก็กินแต่น้ำชานั่นแหละ บ่ได้กินเหล้า”

ในช่วงหลังมา ชาวกุลาไม่ออกเร่ร่อนเดินทางไกลอีกต่อไป และไม่ย้อนกลับไปยังถิ่นเดิม จึงไม่มีกุลารุ่นหนุ่ม ๆ ติดตามมาอีก ทางเดินของผู้พเนจรแห่งท้องทุ่งกว้างก็รกร้างและขาดหายในที่สุด

นักเดินทางจากแดนไกลที่มาตั้งรกรากทยอยล้มตายไปตามวัย ทิ้งเรื่องราวลืมเลือน กระทั่งใครต่อใครอาจคิดไปว่าชาวกุลาอาจมีแต่ในตำนาน–หากไม่เหลือเลือดเนื้อเชื้อไขของเหล่าพ่อค้าเร่ผู้ยิ่งใหญ่ที่ยังมีตัวตนอยู่จริง อย่างแม่ใหญ่ปุ่นและพระคำใบ

หลวงตาแห่งวัดทุ่งสว่างอารมณ์เล่าความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งว่า ตอนอายุราว ๑๐ ขวบ ยังเห็นพ่อออกไปเร่ขายของ ท่านเคยขอเดินทางไปด้วย แต่พ่อไม่ยอมให้ไป

ตั้งแต่เด็กมาจนแก่เฒ่าท่านจึงไม่เคยได้เดินตามรอยเท้าพ่อเลย แม้ตัวเองจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อค้าเร่ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเต็มตัว

ยามแล้งว่างจากงานนาก็ชวนกันมาขุดหาหนูในทุ่ง

ตำนานนายฮ้อยต้อนวัวควายข้ามทุ่งปิดฉากลงแล้ว ทุกวันนี้ตลาดวัวควายกระจายอยู่ตามชุมชน เป็นที่นัดพบของคนซื้อและคนขาย จากนั้นวัวควายก็จะถูกขนไปด้วยรถ

นายฮ้อย

การออกเดินทางไกลคล้ายเป็นความหอมหวานของคนหนุ่มเสมอไม่ว่าในยุคใดสมัยใด เมื่อครั้งที่ พิชิต จันทร์หนองสรวง ยังอยู่ในวัยหนุ่มก็เช่นกัน เขาบอกว่าใครได้เดินทางเข้าเมืองกรุงถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

“สมัยก่อนใครได้ต้อนควายไปขายถือว่าเก่ง” พ่อใหญ่พิชิตเล่าความหลัง

“ผมรู้ความมาก็อยู่กับวัวควาย พ่อเลี้ยงไว้เป็นฝูง ๗๐-๘๐ ตัว ตอนนั้นยังไม่มีถนนไม่มีไฟฟ้า เวลาออกไปเลี้ยงควาย ผมใช้วิธีขี่ม้า ถ้าจะขนข้าวของไปไหนก็ใช้เกวียน”

เมื่อโตเป็นหนุ่ม เขาได้สาวแถวตีนทุ่งกุลาเป็นเมีย พอพ่อตาออกปากชวนต้อนควายไปขายที่กรุงเทพฯ เขาไม่ลังเลที่จะร่วมขบวนไปด้วย ในฐานะนายฮ้อยหนุ่ม

“เวลาดูหนังที่มีเรื่องนายฮ้อยต้อนควายไปขาย ผมยังบ่นกับพวกลูกหลานอยู่เลยว่า จะทำเรื่องนายฮ้อยทำไมไม่มาถามกูหนอ เขาทำไม่สมจริง คนที่รู้เรื่องนายฮ้อยดีดูแล้วเขาจะหัวเราะ” อดีตนายฮ้อยเมื่อ ๕๐ ปีก่อนพูดแล้วหัวเราะร่วน

พ่อค้าต้อนควายไปขาย หรือนายฮ้อย ในชีวิตจริงที่เขาผ่านมาด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องเล่าเล่นสนุก ๆ แต่เป็นการเดินทางไกลที่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงและยากลำบาก ทั้งจากเหลี่ยมคูของผู้คนรายทาง โจรผู้ร้าย ความกันดารของเส้นทาง ซึ่งมีชีวิตและทรัพย์สินเป็นเดิมพัน ยังไม่นับไปถึงเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงในการซื้อขาย จนถึงการรักษาเงินทองที่หามาได้ให้กลับถึงบ้าน แต่นอกเหนือจากดอกผลกำไร ต้นทุนเหล่านั้นก็ให้บทเรียนแก่ชีวิต และการันตีความเป็นลูกผู้ชายให้แก่คนที่ผ่านมาได้

ก่อนออกเดินทาง นายฮ้อยแต่ละคนจะคัดควายตัวผู้ที่โตถึกเต็มตัวคนละราว ๑๐ ตัว นี่เป็นจุดหนึ่งที่นายฮ้อยพิชิตหงุดหงิดยามดูหนัง เมื่อเห็นนายฮ้อยในเรื่องต้อนฝูงควายที่มีทั้งลูกเด็กเล็กแดงและควายตัวเมีย ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีนายฮ้อยคนไหนเอาไปด้วย

จากนั้นก็ไปรวมกับนายฮ้อยคนอื่นเป็นกลุ่มใหญ่ ๓๐-๔๐ คน คราวที่พิชิตร่วมเดินทางไปด้วยนั้น เขาเล่าว่าเมื่อรวมกันแล้วควายทั้งฝูงราว ๔๐๐ ตัว เดินต้อนกันไปจากสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด มุ่งลงใต้ไปทางสุรินทร์ ผ่านอำเภอปะคำ เข้าช่องตะโก ไปยังกบินทร์บุรี พนมสารคาม โดยมีจุดหมายอยู่แถวมีนบุรีชานเมืองกรุง

ช่วงที่ผ่านถิ่นคนเขมรแถวดงใหญ่นั่นเอง นายฮ้อยจากทุ่งกุลาก็ถูกลองดี

“พอถึงช่วงที่เป็นป่าดง พวกโจรจะทำทีเข้ามาช่วยเราต้อนควาย”

การจะมาจู่โจมบุกปล้นเอาซึ่งหน้า บางทีโจรก็ไม่กล้า เพราะพวกนายฮ้อยมีปืนมาด้วย โจรก็เกรงนายฮ้อยอยู่เหมือนกัน

พอต้อนเข้าไปถึงในดง โจรก็ถามกันเองเป็นภาษาเขมรว่า “จะเอาหรือยัง ?”

พิชิตเป็นคนลาวอีสาน แต่เขาฟังภาษาเขมรออกและพูดสวนกลับไปว่า “หากแน่ใจว่าเอาได้ก็เอาไป ถ้าไม่แน่จริงฉันก็ไม่มาหรอก”

ว่าแล้วก็เอาปืนออกมายิงใส่ต้นไม้ให้โจรดูความแม่นของฝีมือ

แต่แล้วนายฮ้อยรายหนึ่งในกลุ่มก็เสียควายตัวหนึ่งไปจนได้ พิชิตเล่าว่าโจรทำทีเป็นช่วยไล่ต้อนฝูงควายต่อไปจนถึงจุดที่ต้องข้ามห้วยสายหนึ่ง พวกโจรมาตัดไม้ขวางทางไว้ก่อนแล้ว พอควายผ่านไปไม่ได้มันก็แตกฮือไปตามลำห้วย นายฮ้อยแต่ละคนคุมควายเป็นสิบตัว พอแตกฝูงไปตัวหนึ่ง เจ้าของจะตามไปก็ห่วงควายส่วนใหญ่ในฝูง สุดท้ายก็ต้องปล่อยควายตัวนั้นให้โจรไป

แต่จะอย่างไร กองคาราวานของพ่อค้าควายก็ต้องเดินทางกันต่อไป และคนเป็นนายฮ้อยยังต้องรู้เส้นทางและจุดพักระหว่างทางที่อยู่ในระยะพอดีกับการเดินทางในแต่ละวัน ต้องเป็นที่มีแหล่งน้ำสำหรับทั้งคนและควาย และสามารถตั้งแคมป์แรมคืนได้

เสบียงอาหารบรรทุกมาในเกวียนเทียมวัว จะเดินทางมาหยุดรออยู่ตามจุดพัก ทำกับข้าวกินกันเอง หาผักหญ้าเอาตามข้างทาง หรือไม่ก็ยิงนก หนู กระต่าย ตามแต่จะหาได้

“เดินทางค้างแรมกันไปจนถึงฝั่งแม่น้ำบางปะกง ข้าวสารเสบียงเริ่มหมด และเราจะขายเกวียนให้ชาวบ้านแถวนั้น”

ตอนนั้นแหละที่นายฮ้อยจะต้องผจญกับเหลี่ยมคูของเจ้าถิ่นอีกดอกหนึ่งแล้ว

“เขาจะไม่ยอมซื้อด้วยเงิน แต่จะขอแลกเกวียนกับข้าวสาร บอกว่าเราตีราคาเกวียนเท่าใดก็ตักเอาไปเท่านั้น”

แล้วนายฮ้อยที่ยังต้องเดินเท้าทางไกลไปขายควายที่กรุงเทพฯ จะมีกำลังแบกข้าวสารได้เท่าใด ก็เอามาได้แค่พอกินถึงปลายทาง เป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนกันแบบพอเพียงดีแท้

“ตอนข้ามแม่น้ำบางปะกง ยายเคยฟังตาเล่าแล้วน้ำตาจะไหล” ทองจันทร์ จันทร์หนองสรวง ภรรยาคู่ยากของพิชิตพูดแทรกขึ้นเมื่อสามีเล่าถึงตอนที่ต้องข้ามไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง “ตาต้องว่ายน้ำไปไล่ตีควายตัวนั้นตัวนี้ให้มันข้ามขึ้นฝั่ง”

“มันยากลำบากมาก ควายไม่ยอมข้ามแม่น้ำ ไล่ลงไปแล้วก็จะวนกลับขึ้นฝั่งทางเดิม เราต้องว่ายตามลงไป เอาไม้เรียวหวดไอ้ตัวนำให้ว่ายไปขึ้นฝั่งตรงข้ามก่อน ตัวอื่นจึงยอมว่ายตาม”

นายฮ้อยเฒ่าเล่าความหลังอย่างกระชุ่มกระชวย เหมือนพละกำลังในวัยหนุ่มคืนกลับมาอีกครั้ง

“ผมกล้าว่ายข้ามแม่น้ำบางปะกง เพราะเมื่อก่อนผมเคยว่ายข้ามน้ำโขงมาแล้ว สมัยหนุ่ม ๆ ผมไปค้าของหนีภาษี แล้วโดนเจ้าหน้าที่ฝั่งโน้นไล่จับ ผมโดดลงแม่น้ำโขงว่ายกลับมาฝั่งไทยเลย”

พอเข้ากรุงเทพฯ นายฮ้อยจากทุ่งกุลาจะมาปักหลักขายควายกันอยู่แถวมีนบุรี ลาดกระบัง กว่าแต่ละคนจะขายควายของตัวเองหมดก็กินเวลาอีกระยะหนึ่ง เสบียงอาหารของพวกนายฮ้อยไม่ได้พร้อมสรรพเหมือนก่อนแล้วหลังจากขายเกวียนตอนจะข้ามแม่น้ำบางปะกง ข้าวปลาอาหารบางมื้อในระหว่างนั้นต้องหาซื้อหรือไม่ก็ขอเอาจากคนแถวนั้น

มีบางเรื่องที่แม่ใหญ่ทองจันทร์เล่าว่าสะเทือนใจเมื่อสามีกลับมาเล่า

“เรื่องไหนครับ” นักเขียนกระตือรือร้นอยากฟัง จุดสะเทือนอารมณ์ของคนเล่า เมื่อมาอยู่ในเรื่องก็คงจะส่งความสะเทือนอารมณ์ถึงคนอ่านด้วย

“ตาต้องกินข้าวด้วยกะลา ยายนึกสงสารว่าทำไมลำบากจัง” น้ำเสียงของนางเหมือนยังเจือความเศร้าอยู่ไม่จาง เมื่อเอ่ยถึงความทุกข์ยากแต่หนหลังของสามี

“ก็บอกยายตั้งหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่ตั้งใจจะกินข้าวกับกะลา” เจ้าของเรื่องเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ “แต่เขาเอาใส่ให้ แวะขอข้าวปลาเขา เขาก็ใส่กะลาให้มาเลย ไม่ต้องเอาจานกลับไปคืน”

“แต่ที่ยายประทับใจคือตอนที่ได้เงินมาแล้ว ตาขุดหลุมฝังเงินแล้วนอนทับเอาไว้”

“ต้องทำอย่างนั้นจริง ๆ” นายฮ้อยพยักหน้า

แล้วเล่าต่อว่า เมื่อขายควายบางส่วนได้แล้ว ระหว่างรอขายส่วนที่เหลือให้หมด เขาต้องระวังรักษาเงินกันสุดชีวิต ถึงขนาดว่ายามกลางคืนต้องขุดหลุมเอาเงินฝังดินแล้วนอนทับไว้

จนขายควายได้หมด และเพื่อนนายฮ้อยคนอื่น ๆ ก็ขายหมดครบทุกคน การเดินทางของนายฮ้อยจึงถือว่าจบสิ้นโดยสมบูรณ์ พวกเขาจะชวนกันเดินทางมายังสถานีหัวลำโพง ขึ้นรถไฟกลับทุ่งกุลาบ้านเกิด

ตอนพกเงินเป็นฟ่อนเดินทางออกจากตลาดควาย ฐานะของนายฮ้อยเปลี่ยนไปแล้ว ระหว่างทางมาหัวลำโพง เจ๊กเจ้าถิ่นเห็นคนอีสานวัยฉกรรจ์ร่างกำยำเดินมากลุ่มใหญ่ ก็ส่งเสียงร้องเรียก

“นี่ พวกลื้อไป ไปรับจ้างอยู่กับอั๊วไหม”

“เฮ่ย มึงไม่รู้จักหรือ นั่นนายฮ้อยนะ” คนที่รู้จักนายฮ้อยจากทุ่งกุลาดีเอาศอกกระทุ้งสีข้างเถ้าแก่ “เดี๋ยวเขาเอาเงินปาหัวมึงแตกหรอก”

“โอ้ อั๊วขอโทษ ๆ” ชายปากเปราะละล่ำละลัก

นายฮ้อยผู้เพิ่งมั่งคั่งจากการขายควายหัวเราะเสียงดังอย่างเบิกบานอารมณ์

หลังเสียงหัวเราะ อดีตนายฮ้อยวัย ๗๙ ปีเล่าต่อว่า “ผมออกเดินทางจากทุ่งกุลาเดือนกุมภาพันธ์ ตอนเมียกำลังตั้งท้องลูกคนที่ ๒ พอกลับมาถึงบ้านในเดือนมิถุนายน ลูกเกิดแล้ว เป็นผู้ชาย ตอนนี้อายุ ๕๐ ปีแล้ว”

ลงรถไฟที่เมืองสุรินทร์ แล้วขึ้นรถโดยสารสุรินทร์-ร้อยเอ็ดกลับทุ่งกุลาบ้านเกิด เงินก้อนใหญ่ที่ได้จากการค้าควาย เขาเอาไปเหมาซื้อวัวยกฝูง ๖๔ ตัว

จากนั้นก็ทยอยขายออกไป ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็หมด และทำกำไรให้เขามากกว่าการต้อนควายไปขายกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้เวลา ๔-๕ เดือน

แต่ก็นั่นแหละ บางทีผลกำไรในชีวิตคนเราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเสมอไปมิใช่หรือ

“หลังค้าวัวค้าควาย เลี้ยงหมูขายหมูมาหลายปี ผมก็หันไปทำโรงสีข้าว เมื่อทุ่งกุลากลายเป็นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ”

ชาวนาผัวเมียกำลังช่วยกัน “สรงฝุ่น” หรือการเอามูลวัวควายมาใส่นาก่อนไถ

จากท้องทุ่งแห้งแล้งแสนกันดาร ที่มีแต่คนเบือนหน้าหนี ทุกวันนี้ทุ่งกุลากลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดในโลก

จากท้องนาในทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิเดินทางไกลไปทั่วแดน และจำนวนหนึ่งส่งเป็นสินค้าออกสู่ตลาดโลกในหลายประเทศ

ไม้ยูคาลิปตัสกลายเป็นแหล่งรายได้หนึ่งของคนในทุ่งกุลา แม้บางปีราคาจะไม่ดีนัก แต่คนปลูกก็พอทำใจได้ว่า – ไม่ต้องให้ข้าวให้น้ำมันกิน

ข้าวหอมมะลิ

คงเป็นความพ้องพานอย่างบังเอิญมากกว่าอื่นใด ที่ข้าวหอมมะลิซึ่งไปแพร่พันธุ์อย่างกว้างขวางในทุ่งกุลาร้องไห้ มีถิ่นกำเนิดมาจากแถวลุ่มน้ำบางปะกงที่เหล่านายฮ้อยเคยผ่านทางและเอาเกวียนไปแลกข้าวสาร

เมื่อครั้งยังอยู่ในถิ่นเดิมที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ข้าวชนิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ข้าวขาวดอกมะลิ จนเมื่อมีการคัดสรรพันธุ์ข้าวครั้งใหญ่ในปี ๒๔๙๓ รัฐบาลมอบหมายให้พนักงานข้าวกระจายกันออกไปเก็บรวบรวมข้าวพันธุ์ดีจากทั่วประเทศ เพื่อนำมาคัดสรรพันธุ์ในนาทดลอง

ข้าวขาวดอกมะลิเป็นข้าวมีชื่อเสียงของบางคล้ามานาน ด้วยความหอม นุ่ม อร่อย สุนทร สีหะเนิน พนักงานข้าวอำเภอบางคล้าในขณะนั้นจึงไม่พลาดที่จะเก็บพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิมาด้วย

รวงข้าวตัวอย่าง ๑๙๙ รวง (จากที่เก็บมา ๒๐๐ รวง แต่เกิดสูญหายไป ๑ รวง) ถูกส่งไปคัดสายพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และนำไปทดลองปลูกในภาคต่าง ๆ ก็พบว่าไม่เหมาะกับการปลูกในนาที่ราบลุ่มภาคกลาง เพราะเม็ดข้าวจะอ้วน หักง่าย ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ สายพันธุ์ที่ ๑๐๓ หรือพันธุ์ข้าวที่มาจากรวงที่ ๑๐๓ ให้ผลดี แต่คนเหนือไม่นิยมบริโภคข้าวเจ้า จึงมีคนปลูกน้อย

และสายพันธุ์ที่ ๑๐๕ (จากข้าวรวงที่ ๑๐๕) ให้ผลดีมากในพื้นที่ภาคอีสาน ให้รวงดี เม็ดสมบูรณ์ เรียวยาว

คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าวจึงประกาศให้ขยายพันธุ์ได้เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ในชื่อเป็นทางการว่า ข้าวขาวดอกมะลิ ๔-๒-๑๐๕ (๔ คือจากพื้นที่ ๔ อำเภอบางคล้า, ๒ คือพันธุ์ที่ ๒ จากที่เก็บมา ๒๖ สายพันธุ์, ๑๐๕ คือรวงที่ ๑๐๕) แต่มักเรียกกันว่า ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ (ข้าวเจ้าใช้รหัสเลขคี่ ข้าวเหนียวจะเป็นเลขคู่) กระทั่งกร่อนเสียงมาเป็น ข้าวหอมมะลิ เมื่อเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง ว่ากันว่าเนื่องมาจากเวลาหุงมีกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ หรือตอนสุกข้าวจะขาวเหมือนดอกมะลิ

กรมการข้าวในเวลานั้น (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมวิชาการเกษตร ในปี ๒๕๑๕) เลือกพื้นที่อีสานใต้เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ เนื่องจากเป็นถิ่นของคนเชื้อสายเขมรที่กินข้าวเจ้าเป็นหลัก โดยเริ่มโครงการทำนาสาธิตขึ้นในทุ่งกุลาซึ่งตอนนั้นเป็นทุ่งธรรมชาติที่ยังไม่ถูกบุกเบิก

ไม่นานหลังจากนั้นข้าวหอมมะลิก็แพร่ขยายออกไปเต็มทุ่งกุลาตลอดถึงพื้นที่นารายรอบทุ่ง นับจากการเข้ามากำหนดขอบเขตของกรมพัฒนาที่ดิน สำรวจศึกษาพื้นที่ ขุดคลองระบายน้ำ ยกคันดินเป็นถนน ปรับปรุงแปลงนา ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ภายใต้โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ มีการนำไม้ใช้สอยจากต่างถิ่นจำพวกยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ มาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก แก้ปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืนในครัวเรือน พร้อมกับการพัฒนาสาธารณูปโภคในท้องถิ่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๑๘ ระหว่างอำเภอท่าตูม-ชุมพลบุรี และหมายเลข ๒๐๘๖ กู่พระโกนา-ราษีไศล ก็ถูกสร้างขึ้นในช่วงนั้น กับเส้นทาง รพช. อีก ๗๗ สาย รวมทั้งรับผิดชอบดูแลเส้นทางระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า ๕,๐๐๐ กิโลเมตรซึ่งกระจายขีดทาบไปทั่วทุ่ง เชื่อมสานชุมชนและที่ทำกินในทุ่งกุลาให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และไฟฟ้าก็เข้าถึงครบทุกหมู่บ้านในช่วงนั้น

นักวิจัยท้องถิ่นบ้านเมืองบัวเรียกสถานการณ์ในช่วงดังกล่าวว่าเป็น ยุคทุ่งกุลาแตก

“มีถนนหนทาง ไฟฟ้า โทรทัศน์เข้ามา ทางราชการมาขุดคลองทำทางไปไร่นา รถไถเดินตามเข้ามา เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามา ควายเกวียนก็หมด ข้าวหอมมะลิเข้ามาได้รับความนิยม ข้าวพันธุ์พื้นบ้านเลยหายไป ปูปลาในน้ำแต่ก่อนจะเลือกจับเอาแต่ตัวใหญ่ ๆ ตัวเล็กไม่เอา เดี๋ยวนี้กลับกัน พอทางสะดวก การค้าขายมีมาก ทรัพยากรจึงลดลง ป่าไม้หายไป”

ส่วนเรื่องไม้พันธุ์ต่างถิ่นอย่างยูคาลิปตัสที่เข้ามาแพร่กระจายเต็มทุ่งกุลา ไพจิตร วสันตเสนานนท์ นักวิจัยชุมชนเมืองบัวเล่าว่า

“ไม้ยูคาลิปตัสตอนเข้ามาแรก ๆ ชาวบ้านไม่รับ เพราะรู้ว่ามันจะกินอาหารในดินหมด รัฐบาลก็ให้บริษัทเอกชนเข้ามาปลูกในที่สาธารณะ ต่อมาก็ปลูกตามข้างทาง พอใหญ่ก็ตัดขาย ได้เงินดี ชาวบ้านเลยตัดไม้ธรรมชาติทิ้ง ปลูกยูคา เอ็นจีโอมาบอกว่ายูคาจะทำให้บ้านเราเป็นทะเลทราย แต่รัฐบอกว่ามันไม่ก่อปัญหา ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ชาวบ้านบอกว่าปลูกยูคาไม่เหมือนทำนา มันเป็นไม้ปลูกง่ายตายยาก ทนแล้ง ปลูกแล้วได้แน่ มันให้ความอยู่รอดกับเขา ไม่เหมือนข้าวที่ต้องเสี่ยงกับน้ำท่วมฝนแล้ง”

การถกเถียงถึงผลดีผลเสียของไม้ยูคาลิปตัสดูจะยังไม่มีข้อสรุป แต่ต้นยูคาก็ได้รุกคืบเข้ามาในพื้นที่จนกลายเป็นไม้หลักของทุ่งกุลาในวันนี้ไปแล้วก็ว่าได้ ทุ่งแล้งที่เคยร่ำลือกันว่าแลเห็นดินจดตีนฟ้าได้รอบทิศ ดูจะหาไม่เจอเสียแล้ว เพราะไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนในทุ่งกุลาก็ไม่พ้นต้องเห็นทิวแถวของยูคาอยู่ในสายตา

มียูคาอยู่ทุกที่ ริมทาง ตามคันคลอง บนคันนา-ที่เจ้าของตั้งใจยกให้กว้าง ลงยูคาได้ถึง ๒ แถว ยังไม่นับรวมถึงบางรายที่ปลูกยูคาลงในดินเปล่าทั้งแปลง หรือบางคนก็เปลี่ยนที่นาไปเป็นแปลงปลูกยูคา

ยูคาไม่ต้องเสี่ยงกับน้ำท่วมฝนแล้ง แต่ก็ไม่แน่ว่าจะนำความมั่งคั่งมาให้คนปลูกเสมอไป อย่างปีที่แล้วไม้ยูคาราคาตกต่ำลงเท่าตัว ไม่คุ้มกับการตัดขาย หลายคนจึงจำใจต้องปล่อยให้ยูคายืนต้นต่อไปตามยถา

“จะเป็นไรไป ก็เราไม่ต้องให้ข้าวให้น้ำมันนี่นา” ชาวสวนยูคาปลอบใจเพื่อน และปลอบใจตัวเอง

แต่จะอย่างไร ส่วนราชการที่รับผิดชอบการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ก็มองเป็นความสำเร็จ อย่างน้อยไม้เศรษฐกิจเหล่านี้ได้ช่วยแก้ปัญหาเชื้อเพลิง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มจากการควบคุมการระเหยของน้ำใต้ดิน ทำให้เกลือไม่สามารถขึ้นมาบนผิวดิน และที่สำคัญคือเป็นแนวกั้นกระแสลมให้ลดความแรงลงไปได้มาก

นักพัฒนาเอกชนอย่าง บุญเสริฐ เสียงสนั่น ก็ไม่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่เขามองกว้างออกไปว่า แนวทางการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ที่ผ่านมามักยกเอาแต่เรื่องความแห้งแล้งและความยากจนมาเป็นตัวกำหนดการพัฒนา ขณะที่ประเด็นทางสังคมยังไม่ถูกมอง

มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ที่นำโดยบุญเสริฐ จึงเข้ามาทำในส่วนนี้

“เราพยายามค้นหาว่าในพื้นที่มีรากฐานทางสังคมวัฒนธรรมอย่างไร ที่เป็นอัตลักษณ์หรือรากเหง้าความเป็นมาและประเด็นเหล่านี้จะนำมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาได้หรือไม่ หรือในมิติของธรรมชาติ ซึ่งทุ่งกุลาก็แห้งแล้งตามฤดูกาล แต่อาจเพราะพื้นที่กว้างขวางมากจึงเห็นภาพชัด ขณะที่หากพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ ในทุ่งกุลาถือเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่สำคัญ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกคำนึงถึง มีหน่วยราชการเข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงปลา แต่ชาวบ้านบอกว่าเลี้ยงทำไม แค่ขุดบ่อไว้ก็ได้กินแล้ว หน้าน้ำหลากปลาขึ้นมาอยู่ เข้าหน้าแล้งก็วิดบ่อปลาตามธรรมชาติเหล่านี้ บางคนมีรายได้ดีกว่าขายข้าว หรือที่เขาพูดกันว่า กบทุ่งกุลาไม่ร้อง เพราะการที่กบร้องหมายถึงหาคู่ แต่กบทุ่งกุลาไม่ต้องร้องหาเพราะมีคู่อยู่ใกล้ ๆ เต็มไปหมด เรื่องแหล่งอาหารตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ถูกพัฒนา ผมเคยเห็นเอกสารเท่าที่มี เคยมีการศึกษาปลาแถวนี้เมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว หลังจากนั้นไม่มีอีกเลย”

สิ่งที่เขาและมูลนิธิทำคือการชักชวนชุมชนรวมกลุ่มกันวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนพัฒนากันเอง โดยเลือกพื้นที่ตัวอย่างจากลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วทุ่งกุลา อาทิ เมืองบัว กู่กาสิงห์ บ่อพันขัน ไพรขลา เมืองเตา

บุญเสริฐเผยข้อมูลของบางชุมชนให้ฟังว่า “ที่เมืองเตา มีศาลที่คนทั้งทุ่งกุลาเคารพนับถือ ถ้าเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับเจ้าพ่อศรีนครเตา คนจะให้ความร่วมไม้ร่วมมือ นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นความร่วมไม้ร่วมมือ ความเสมอภาค ทุกคนเท่าเทียม อย่างที่กล่าวกันว่าประชาธิปไตยของชาวอีสานที่แท้จริงก็คือผีนั่นแหละ แต่พลังอันนี้ไม่เคยถูกนำมาเป็นปัจจัยในการพัฒนา”

เวลา ๒๐ กว่าปีของการก้าวเดินบนหนทางนักพัฒนาเอกชน บุญเสริฐสรุปภาพรวมของทุ่งกุลาไว้ประโยคเดียวว่า

“ทุกวันนี้ผลผลิตจากทุ่งกุลาที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ข้าวหอมมะลิกับยูคาลิปตัส”

ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๔ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี ๒๕๔๙ ระบุตัวเลขผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสจากทุ่งกุลาปีละกว่า ๒ ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท พื้นที่เกินครึ่งของทุ่งกุลา หรือราว ๑,๒๗๖,๑๐๓ ไร่ กลายเป็นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ให้ผลผลิตปีละ ๔๑๑,๔๙๓ ตัน โดยเฉลี่ย ๓๒๒ กิโลกรัมต่อไร่

ผืนนาล้านกว่าไร่กว้างใหญ่เท่าใด ? บางทีอาจเกินจินตนาการของใครหลายคนที่จะนึกภาพได้ ระหว่างนั่งรถฝ่าไปกลางท้องนากว้างใหญ่เป็นหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงก็ยังไม่พ้น ในฤดูที่ท้องทุ่งคลาคล่ำไปด้วยชาวนาที่กำลังเตรียมผืนนาไว้รอรับการเพาะปลูก นักเขียนชวนเพื่อนคนขับให้เลี้ยวรถลงไปหาชาวนาผัวเมียคู่หนึ่ง

“นาของฉันมี ๘ ไร่ ได้มรดกมาจากพ่อแม่ ฉันปลูกข้าวหอมมะลิทุกปี” เมียชาวนาแถวเกษตรวิสัยให้ทรัพย์สินที่อยู่ตรงหน้าแนะนำตัวแทนการแจกนามบัตรแบบคนในเมือง นางผละจากงาน “สรงฝุ่น” หรือการเอามูลวัวควายกระจายรองพื้นก่อนไถ

คำพูดของเมียชาวนาพาใจนักเขียนนึกไปถึงคำพูดของเมียเจ้าของร้านข้าวสารตราแสงจันทร์ เมื่อถูกขอให้พูดถึงความพิเศษของข้าวหอมมะลิ

“ไม่รู้จะบอกยังไง เป็นข้าวที่หอม นุ่ม ทานกับอะไรก็อร่อยน่ะ”

เธอหลับตาคิดและพูดต่อ

“ชาวนานิยมปลูกกันมาก เพราะราคาแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ยิ่งในปี ๒๕๕๑ ข้าวนาปีราคาสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ชาวนามีความสุขกันมาก แต่เราคนขายข้าวสารก็เหมือนเดิม เพราะเราซื้อมาขายไปไม่ได้กักตุน”

หญิงชาวนาที่นักเขียนแวะเยี่ยมที่นาพูดถึงเรื่องเดียวกันว่า “ปีที่แล้วข้าวเปลือกขึ้นไปถึงกิโลละ ๑๘ บาท แต่ฉันขายไปก่อนตั้งแต่ตอนโลละ ๑๐ บาท ได้สองหมื่นห้า ถ้าเก็บไว้ขายตอนแพง ๆ ก็คงได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ข้าวเพิ่งขึ้นราคาตอนฉันขายไปหมดแล้ว แต่ได้เท่านั้นฉันก็พอใจ เพราะไม่ได้ลงทุนมาก ฉันไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีใช้ยาอะไรเลย กลัวควายที่เลี้ยงในนาจะเป็นอันตราย หญ้าขึ้นก็ถอนออก เอาให้ควายกิน แล้วก็เอาขี้มันนั่นละมาใส่นา”

ลักษณะเฉพาะอีกอย่างของข้าวหอมมะลิคือ ไม่ชอบปุ๋ยนัก เพราะจะทำให้ต้นข้าวบ้าใบ ไม่แข็งแรง ล้มง่าย ชอบดินร่วนปนทรายที่น้ำไม่ท่วมขัง ปนความเค็มและเปรี้ยว ต้องการสภาพอากาศที่แห้งในช่วงที่กำลังติดเมล็ด และเพื่อไล่ความชื้นในเมล็ดข้าวหลังเก็บเกี่ยว

คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ครบในดินและอากาศของทุ่งกุลา ส่งผลให้ทุ่งแล้งแห่งนี้เป็นที่ลือเลื่องในเรื่องข้าวหอมมะลิดีที่สุด–หอมไกลไปทั่วโลก

แต่สำหรับคนในทุ่งกุลาเอง รวมทั้ง บุญเสริฐ เสียงสนั่น ที่คลุกคลีอยู่กับชาวกสิกรรมมาค่อนชีวิต บอกว่า เดิมในทุ่งกุลาเคยมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หอมกว่าข้าวหอมมะลิ แต่สูญพันธุ์ไปแล้วเนื่องจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์ปรับปรุง

“ข้าวที่ว่านี่หอมขนาดว่าเวลาหุงข้าวอยู่บนบ้าน หมามาเลียเสาเลย เพราะว่ามันหอมยั่วใจ”

เช่นเดียวกับเจ้าของร้านแสงจันทร์ ร้านขายข้าวสารเก่าแก่ในตัวเมืองร้อยเอ็ด ที่บอกว่าดินทุ่งกุลาคงมีแร่ธาตุบางอย่าง ยิ่งตอนเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ข้าวจะหอมมาก หุงในครัวหอมมาถึงหน้าบ้าน ช่วงหลังความหอมลดลง แต่ความนุ่มยังคงเดิม

“ร้านนี้ทำมาตั้งแต่รุ่นแม่ เริ่มเมื่อปี ๒๔๙๙ แต่ก่อนทำข้าวพื้นเมือง อย่างข้าวเจ้าแดง เป็นข้าวเนื้อแข็ง เมล็ดสั้น พอมีข้าวหอมมะลิเข้ามาก็เปลี่ยนมาขายข้าวหอมมะลิ บรรจุถุงพลาสติก ติดตราชื่อร้านแสงจันทร์” สมาน จารีประสิทธิ์ เจ้าของร้านข้าวสารตราแสงจันทร์ พูดถึงธุรกิจของครอบครัว

“เราทำเฉพาะร้าน ไม่มีนา ไม่มีโรงสี แต่เราไม่ซื้อมั่ว จะซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ดูข้าวโดยอาศัยความชำนาญ จากนั้นก็ซื้อมาชิมเอง กินแล้วเราจะรู้ว่าเป็นข้าวดี-ไม่ดี”

“แต่ก็อย่างที่บอก ผมว่าข้าวหอมมะลิไม่ค่อยเหมือนเดิม” เขาลงความเห็น พร้อมทั้งแจงถึงสาเหตุว่ามาจากการกระทำทั้งที่โดยตั้งใจและโดยไม่เจตนา

ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่ข้าวหอมมะลิเป็นที่นิยมไปถึงระดับโลก ทำให้เกิดการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในนาปรังได้ ให้ผลผลิตที่มีลักษณะเหมือนข้าวหอมมะลิอย่างแยกไม่ออก แต่รสชาติและความหอมเทียบไม่ได้กับข้าวหอมมะลินาปี แต่ก็ถูกเรียกในชื่อข้าวหอมมะลิเมื่อออกสู่ตลาด

ส่วนอีกสาเหตุมาจากการปนเปื้อนโดยไม่เจตนา คือการใช้พื้นที่เดียวกันทำนาปรัง เมื่อมาปลูกข้าวหอมมะลิตอนทำนาปี ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีพันธุ์ข้าวนาปรังตกค้างอยู่บ้าง ทำให้ข้าวหอมมะลิเกิดการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจ

แต่ทั้งสองสาเหตุไม่เป็นปัญหาของข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลา เพราะทั่วท้องทุ่งอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ยังไม่มีทั้งระบบชลประทานและการทำนาปรัง

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาจึงยังคงเป็นธัญญาหารโอชะรสวิเศษของชาวนาไทยและคนกินข้าวทั่วโลก

เจ้าของร้านข้าวสารตราแสงจันทร์เป็นพ่อค้า แต่ก่อนจากกันเขาพูดทิ้งท้ายถึงท้องทุ่งและชาวนาอย่างน่าฟัง

“ผมเห็นกับตา หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ คนที่ทำงานอยู่ในเมืองกลับบ้านกันเป็นแถว กลับมาบ้านเขามีข้าวกิน คนมีข้าวกินจะเกิดอะไรมันก็มีสติ พอเศรษฐกิจฟื้นเขาก็ไปทำอะไรต่อได้ นี่เป็นบุญคุณของเกษตรกรรม”

ทุ่งกุลาร้องไห้

กว้างใหญ่และยาวนานเกินที่ใครจะทำความเข้าใจได้ในช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ

ร้อน-ฝน-หนาว เหมือนยาวนาน-ผ่านรอบปี

แม้เพียงน้อยนิดหากเปรียบกับกาลเวลานับล้านปีของท้องทุ่งกว้างใหญ่

แต่ก็คงพอทำให้นักเขียนและคนอ่านได้มองเห็นบ้างว่า

ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ได้มีแต่ความแห้งแล้งกันดาร

ภาพงานวัน “สรงกู่” หรือการสรงน้ำกู่โบราณ ที่หมู่บ้านเมืองบัว ซึ่งนอกเหนือจากการสืบสานประเพณีอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และรวมความสามัคคีของคนในชุมชนแล้ว ปัจจุบันชุมชนกำลังทำวิจัยของท้องถิ่น ศึกษาประเพณีพิธีกรรมเพื่อนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน

เอกสารประกอบการเขียน :
กองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน. เอกสาร “สรุปโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้”, ๒๕๔๐.
กิตติพงษ์ สนเล็ก และ สุกัญญา เบาเนิด. “แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้”. เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานทางวิชาการ, ๒๕๔๖.
เดช ภูสองชั้น. ฅนทุ่งกุลา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
ภูวดล สุวรรณดี. “ข้าวหอมทุ่งกุลา ในวัฒนธรรมทุ่งกุลา ‘เค็ม แห้ง แล้ง ทราย'”. ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” ๒,๕๐๐ ปี จากยุคแรกเริ่ม ล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖
ศรีศักร วัลลิโภดม. “เกลืออีสาน”. เมืองโบราณ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๕.
สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๔ กรมพัฒนาที่ดิน. เอกสาร “ความเป็นมาของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้”, ๒๕๔๙.
สุกัญญา เบาเนิด. “สรุปผลการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้”. เอกสารประกอบการประเมินเพื่อคัดเลือกบุคคลสายงานโบราณคดีเลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น, ๒๕๕๑.
สุรชัย จันทิมาธร. ความบ้ามาเยือน รวมเรื่องสั้น พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๖. กรุงเทพฯ : กำแพง, ๒๕๓๔.

สัมภาษณ์ :
– พระคำใบ คุตตจิตโต วัดทุ่งสว่างอารมณ์ บ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๑ และ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– พระใบฎีกาสมัคร สิริจันโท วัดเกาะบ่อพันขันรัตนโสภณ ต. เด่นราษฎร์ อ. หนองฮี จ. ร้อยเอ็ด, ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑
– พระอนุตร สิริคุตโต วัดแสนสี ต. ดงครั่งน้อย อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑
– ปุ่น บุญยอ ชาวกุลาบ้านโนนใหญ่ ต. ก่อเอ้ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๑ และ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– บุญเสริฐ เสียงสนั่น มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– หงสรถ สมอาษา ทีมวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ่อพันขัน ต. เด่นราษฎร์ อ. หนองฮี จ. ร้อยเอ็ด, ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑
– ไพจิตร วสันตเสนานนท์ ทีมวิจัยประวัติศาสตร์บ้านเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– ศราวุธ ลุนนู และ บุญตา คุตมาศูนย์ ทีมวิจัยชุมชนไพรขลา อ. ชุมพลบุรี จ. สุรินทร์, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– บุญทัน กมล หัวหน้าทีมวิจัยชุมชนเมืองเตา อ. พยัคฆภูมิพิสัย จ. มหาสารคาม, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– จิรยุทธ์ แสงมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเมืองเตา อ. พยัคฆภูมิพิสัย จ. มหาสารคาม, ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑
– ไพรวัลย์ ขาวงาม และชาวบ้านกู่กาสิงห์ อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
– สมชาย สิงห์คำ เจ้าของร้านชำบ้านโพนครกน้อย ต. สระคู อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด, ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑
– พิชิต และทองจันทร์ จันทร์หนองสรวง ชาวทุ่งกุลาบ้านหนองหว้า ต. สระคู อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด, ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑
– สถิตย์ แสนภู และ ทองมี สีระบุตร ชาวบ้านแสนสี ต. ดงครั่งน้อย อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
– เดช ภูสองชั้น อดีตกำนันตำบลทุ่งหลวง อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด, ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑
– ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีชาวบ้านสาหร่าย ต. ทุ่งกุลา อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– สมพร ดุนา และภรรยา ชาวนา อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– สมาน และอาภา จารีประสิทธิ์ ร้านข้าวสารตราแสงจันทร์ เมืองร้อยเอ็ด, ๑๔ และ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– ทศพร ศรีสมาน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด, ๑๒ และ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑
– สุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี, ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑
– ชาวสวนยูคาบ้านโพนแท่น ต. ดงครั่งน้อย อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑
– กำนันและชาวบ้านเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด, ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑ และ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑

ขอขอบคุณ :
ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด ต. สระคู อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด
มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด
กลุ่มแสนสีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตราแม่โพสพ ต. ดงครั่งน้อย อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด
สำนักงานเทศบาลตำบลเมืองบัว อ. เกษตรวิสัย จ. ร้อยเอ็ด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)
ดร. วิเชียร เกิดสุข
คุณจิราภรณ์ ฤทธิทักษ์
คุณวิเชียร สอนจันทร์
คุณจุฑารัตน์ เหลืองสง่างาม
ผู้ใหญ่ประเสริฐ บุญสุข
คุณอาทิตย์ สุภาพ
คุณประภาส ศรีวงษ์กลาง