สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

ช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ภาพหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัยกวาดใบไม้เป็นประจำทุกวันเป็นภาพที่พบเห็นได้ตามปรกติสำหรับชาวโรงเรียนรุ่งอรุณ แต่กับคนทั่วไปมักเกิดคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่า เหตุใดเขาถึงมาทำสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำในบ้านเรา

และชายชาวญี่ปุ่นคนนี้ทำมาได้พักใหญ่แล้ว

บางครั้งเขาก็คิดถึงบ้าน แต่เป็นน้อยครั้งจริง ๆ

อีมูระ ฮิโรชิ บอกว่าตัวเขาเลือกแล้ว ตั้งแต่ตัดสินใจทิ้งอาชีพอันมั่นคงและบ้านเกิดอันอบอุ่นเมื่อ ๑๒ ปีก่อน มาแสวงหาประสบการณ์ในต่างแดน

นับจากได้ค้นพบบางอย่างในห้องแล็บที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปอาจรำพึงหลังเสร็จงานว่า “อืม เป็นเช่นนี้เอง” หรือไม่ก็ “โอเค งานของเราจบแล้ว” แต่สำหรับฮิโรชิ เขากลับเห็นบางสิ่งที่หายไปในชีวิตมนุษย์ยุคศตวรรษที่ ๒๑

ผลการทดลองครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตเขาทั้งชีวิตจากนักวิจัยเงินเดือนแพงระยับกลับกลายมาเป็นครูในประเทศเล็ก ๆ ที่ใฝ่ฝันอยากปฏิวัติสังคมด้วยการศึกษาและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่น่าอยู่ขึ้น

ต้นฤดูหนาวปี ๒๕๕๑ ผมพบชายที่มีชื่อญี่ปุ่น(อีมูระ ฮิโรชิ) แปลเป็นไทยได้ว่า “หมู่บ้านอันสงบสุขและอุดมสมบูรณ์” ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

“ผมเกิดที่โตเกียว เรียนจบแล้วทำงานกับบริษัทผลิตยาสีฟันที่จะขยายกิจการผลิตอาหารเสริม เลยทำวิจัยจนพบว่าอาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมอันประกอบด้วยข้าว ปลา และซุปเต้าเจี้ยวนั้นดีต่อสุขภาพยิ่งกว่าอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟูด) ผมเลยสนใจอาหารแบบช้า ๆ (สโลว์ฟูด) และสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อม เพราะรู้สึกว่ามนุษย์ทำให้โลกเปลี่ยนไปมากเหลือเกินจากการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม ใช้สารเคมีพร่ำเพรื่อ และทำลายธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง และนั่นก็ทำให้ผมสนใจวิถีเอเชียตรงที่ว่ามันมีจุดร่วมกันอยู่ของคนเอเชียในแง่วิถีโบราณ”

ความสนใจนี้เองทำให้ในปี ๒๕๔๐ หนุ่มวัย ๒๙ ปี ลาออกและเดินทางมาเมืองไทยพร้อมเงินเก็บทั้งหมด “ผมอยากค้นหาคุณค่าของชีวิต เดิมทีก็ค้นหาอยู่ในห้องทดลองซึ่งมันก็ไม่เลวร้ายอะไร แต่สักพักผมอยากทำงานที่สัมผัสกับชีวิตจริง ๆ มากขึ้น ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นสังคมอุตสาหกรรม พื้นที่ปลูกต้นไม้ หมักปุ๋ย ทำเกษตรแบบพึ่งพิงธรรมชาติเหลือน้อยมาก ถ้าจะมีที่แบบนั้นคุณก็ต้องรวยมาก ๆ และเมื่อสมัยเรียนผมเคยแบกเป้มาเมืองไทยและทวีปแอฟริกามาแล้ว ดังนั้นพอถึงเวลาต้องตัดสินใจผมจึงเลือกมาเมืองไทย ตอนนั้นผมอายุมากพอสมควรแล้ว คงไม่ไหวถ้าไปแอฟริกาที่ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ที่สำคัญเมืองไทยก็คือส่วนหนึ่งของเอเชีย”

เป็นเวลาปีกว่าที่ฮิโรชิขลุกอยู่กับงานเอ็นจีโอสายพัฒนาชุมชน ในที่สุดเขาก็พบว่า “ปัญหาสังคมมากมายนั้นแก้ไม่ได้เพราะสาเหตุจากผู้นำและนักการเมืองไทยบางคน เช่นการคอร์รัปชันงบประมาณโครงการต่าง ๆ ที่จะลงมาสู่ประชาชน การทำงานเอาหน้า ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ฯลฯ” ประกอบกับอยากทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น ฮิโรชิจึงขวนขวายหาความรู้ด้วยการสมัครสอบเข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง “แต่สอบตกระนาว” เขาเล่ากลั้วหัวเราะ

หนำซ้ำเมื่อสำรวจเงินในกระเป๋าก็พบว่าร่อยหรอจนน่าเป็นห่วง

“เวลาอยู่ต่างประเทศคุณไม่สามารถประกอบอาชีพได้ทุกอาชีพ บางอาชีพรัฐบาลสงวนไว้สำหรับคนในประเทศนั้น ตอนนั้นผมลาออกจากงานเอ็นจีโอ มีงานพิเศษทำบ้างแต่เงินเก็บลดลงจนน่าเป็นห่วง กระทั่งโรงเรียนรุ่งอรุณติดต่อให้เป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น ผมก็กระโจนใส่เลย”

ครูฮิโรชิกับงานในโรงหมักปุ๋ย

ความที่ไม่คิดจะเป็นครูมาก่อน ฮิโรชิตั้งเป้าว่าจะทำอาชีพนี้เพื่อเลี้ยงปากท้องชั่วคราว แต่ทำไปได้สักพักก็พบว่าโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งมีหลักสูตรต่างจากโรงเรียนอื่น โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก ๆ ได้ให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ กับเขามากมาย

“ที่นี่ให้เด็กได้คิดได้ทำจริง ๆ เมื่อได้เข้ามาสัมผัสผมพบว่าปัญหาเกี่ยวกับนักการเมืองหรือปัญหาที่เกี่ยวกับ ‘คน’ เมื่อครั้งทำงานเอ็นจีโอสามารถหาคำตอบส่วนหนึ่งได้ที่นี่ นั่นคือการสอนเด็ก ส่วนมากเด็กที่นี่มาจากครอบครัวมีฐานะ เมื่อโตขึ้นพวกเขามีโอกาสเข้าสู่อำนาจรัฐได้มากกว่าคนอื่น ถ้าได้รับการปลูกฝังที่ดีเขาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้”

คิดได้ดังนั้น เซนเซ (คุณครู) ฮิโรชิจึงนำประสบ-การณ์เข้ามาใช้ในชั้นเรียน

“ผมสอนพวกเขาถึงคุณค่าของวิถีดั้งเดิม เล่าเรื่องข้าวญี่ปุ่นให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อให้พวกเขาคิดถึงข้าวไทยที่มีคุณค่าไม่ต่างกัน ให้พวกเขากลับมามองคุณค่าในตัวเอง ต่อมาผมยังทำโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนไทยชั้น ม. ๕ กับโรงเรียนมัธยมปลายในญี่ปุ่น ๑ เดือนเพื่อให้พวกเขากลับมามองข้อดีข้อเสียของประเทศเขาได้ชัดเจนขึ้น”

แม้ว่าฮิโรชิจะอิ่มตัวด้านการสอนหนังสือไปพักหนึ่ง เขาลาออกจากการเป็นครูเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ แล้วเดินทางไปดูงานเอ็นจีโอในภาคอีสานและประเทศลาว แต่จนแล้วจนรอด ความคิดจะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่หายไปจากใจ

“ผมได้คุยกับหัวหน้าฝ่ายบัญชีของโรงเรียนรุ่งอรุณ เขาถามว่าสนใจจัดการกับระบบสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนก่อนไหม คือมาทำงานตรงนี้ในโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ให้เต็มที่ก่อน แล้วค่อยขยับขยายไปสู่ระดับที่ใหญ่กว่านั้น ผมเลยตัดสินใจกลับมาทำงานแบบไม่รับเงินเดือน ส่วนหนึ่งเป็นงานความสะอาด อีกส่วนเป็นงานเกี่ยวกับการรีไซเคิล โรงเรียนรุ่งอรุณมีโครงการ ‘ขยะเหลือศูนย์’ ที่มุ่งลดปริมาณขยะอยู่แล้ว กลับมาคราวนี้ผมก็ทำเรื่องระบบทำปุ๋ยหมักโดยนำเอาสูตรญี่ปุ่นในแง่เทคนิคระบายอากาศมาใช้ ที่เหลือก็เป็นงานออกแรง อย่างกวาดใบไม้ แยกขยะ ผมสอนน้อยลงเพื่อทำงานในโรงเรียนให้มากขึ้น สถานะก็ถือว่าเป็นครูประจำเหมือนเดิม เพียงแต่ลักษณะงานต่างไปจากคราวก่อน”

นับแต่นั้น โรงปุ๋ยหมัก จุดแยกขยะ ลานโล่งที่ใบไม้ร่วงเกลื่อนกลาด ก็ได้กลายเป็นห้องทำงานของฮิโรชิ

“มันเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ผมเชื่อว่าในแง่สิ่งแวดล้อมมันส่งผลถึงกัน ในทางนิตินัยผมเป็นครู แต่ผมก็กวาดขยะได้ ผมคิดว่าทุกคนช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน

“หลายคนที่มาเห็นก็งง เพราะในเมืองไทยไม่ค่อยมีคนต่างชาติทำงานแบบนี้ แต่ผมไม่รู้สึกแปลก มันสำคัญที่เรา ‘ทำอะไร’ ผมอยู่ที่นี่ไม่รวยแต่มีความสุข เมืองไทยมีข้อดีคืออุดมสมบูรณ์มาก มีภูมิปัญญามากมาย ขณะเดียวกันจุดเด่นนี้ก็เป็นจุดอ่อนด้วย เพราะเมื่อมีทรัพยากรมากก็ไม่เห็นความสำคัญ ที่ผมสังเกตเห็นอีกจุดคือคนไทยไม่เครียด มักพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ กับปัญหาที่ควรจริงจัง ซึ่งจะกลับกันกับคนญี่ปุ่นที่เครียดทุกเรื่อง แต่ก็ส่งผลดีคือเกิดความคิดและวิธีคิดใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย”

เวลากว่า ๑๐ ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ฮิโรชิมีมุมมองต่อเมืองไทยว่า

“ผมสังเกตการพัฒนาประเทศของไทยแล้วเห็นว่าอนาคตไทยจะเป็นแบบญี่ปุ่น คือเกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก ผมเคยแปลจดหมายขอทุนของนักเรียนไทยที่ยากจน พบว่าเด็กบางคนแม้ฐานะไม่ดีแต่สายสัมพันธ์ในครอบครัวยังเหนียวแน่น ผมอยากให้เมืองไทยพัฒนา ขณะเดียวกันก็รักษาลักษณะที่มีคุณค่าแบบนี้ไว้ได้ด้วย”