เรื่อง : ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์
ภาพ : ภานุพงศ์ ช่างฉาย
ผลงานจากค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8
กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย ได้ถูกวิเคราะห์จาก
ดัชนีความเป็นเมืองสีเขียวในเอเชีย
โดยสถาบันวิจัย อีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู)
วิจัยว่ากรุงเทพมหานครมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
ซึ่งจัดว่าต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ได้คือ 39 ตารางเมตร
จำได้ไหม เธอเคยบอกฉัน “กรุงเทพไม่ได้ไร้ต้นไม้ ตามถนนก็ยังมีให้เห็น ที่หลังบ้านก็มีต้นไม้” วันนั้นฉันไม่ได้พูดอะไร เรายังยิ้มเมื่อเห็นต้นคูนผอมๆที่เกาะกลางถนน
ในวันนี้ฉันได้เห็นบางอย่าง ได้พบใครบางคน ฉันเลยเปลี่ยนใจ และอยากเล่าให้เธอฟัง
เธอลองเปิด google map ดูสิ ลองมองกรุงเทพมหานครจากด้านบน มันคือผืนป่าสีเทา จุดสีเขียวของต้นไม้มันเล็กและเลือนรางเหลือเกิน
คราวนี้เธอรู้หรือยังว่าที่เราเคยคิดกันมันผิดถนัด
กรุงเทพฯ: “เมืองศิวิไลซ์”
ฉันคิดว่าฉันรู้จักกรุงเทพฯดีไม่น้อยกว่าใคร รู้จักห้างดังๆ ร้านอาหารดีๆ แต่ฉันเพิ่งรู้ อีกด้านหนึ่ง กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่มีต้นไม้น้อยที่สุดในเอเชีย จะชนะก็แค่ประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่พื้นที่ของเขาเป็นทะเลทรายซึ่งไม่เอื้อต่อการปลูกต้นไม้
โดยเฉลี่ยแล้วเรามีพื้นที่สีเขียว ๓ ตารางเมตรต่อคนหนึ่งคน ในขณะที่เมืองหลวงอื่นๆเช่นโตเกียวมี ๑๖ ตารางเมตรต่อคน กัวลาลัมเปอร์มี ๕๐ ตารางเมตรต่อคน สิงคโปร์มีมากถึง ๖๖ ตารางเมตรต่อคน และค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงทั่วโลกคือ ๓๙ ตารางเมตรต่อคน
พอเห็นตัวเลขแล้วเธอรู้สึกยังไงบ้าง?
การปลูกพืชไม้เลื้อยในอาคารคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ส่งผลให้อุณหภมิในตึกลดลง เพราะ คอนกรีต ปูน และกระจก
ที่สะสมความร้อนเอาไว้ จะสะท้อนความร้อนไประหว่างหมู่ตึกด้วยกัน
และทำให้อุณหภูมิในอากาศเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น
การให้ประโยชน์ของร่มไม้ใหญ่ในสวนลุมพินี ทำให้มีการสร้างคลับฟิตเนส ซึ่งประชาชนได้มาออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก เพราะประชาชมต่างก็ต้องการอากาศสดชื่นบริสุทธิ์จากต้นไม้
กรุงเทพฯ ในวันที่ขาดแคลนต้นไม้
ว่าไหม ปี ๒๕๕๕นี้ บ้านเราอากาศร้อนมากเป็นพิเศษ
เปล่า ฉันไม่ได้เปลี่ยนเรื่องกะทันหัน มันเรื่องเดียวกับที่พูดมาตอนต้นนั่นแหละ
เธอเคยบ่นกับฉันว่าปีนี้ร้อนตับแตก แล้วก็เปิดแอร์ทั้งวัน เธอบอกว่าเป็นเพราะโลกร้อน เพราะอากาศเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นเพราะปัญหาเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่ เมืองหลวงอื่นในภูมิภาคนี้ก็ไม่น่าจะมีอุณหภูมิต่ำไปกว่าเรา แต่ปีนี้กรุงเทพฯของเรามีอุณหภูมิสูงถึง ๔๑ องศาเซลเซียส กระโดดสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จริงๆแล้วมันเป็นเพราะกรุงเทพฯมีต้นไม้น้อย แต่มีตึกมาก จนเป็นปัจจัยให้เกิดภาวะ “เกาะความร้อน” หรือ urban heat island หรือจะเรียกให้สั้นไปอีกว่า UHI
ภาวะนี้ทำให้อุณหภูมิในตัวเมืองเพิ่มสูงกว่าบริเวณโดยรอบอย่างมีนัยยะ เพราะในเมืองเต็มไปด้วย คอนกรีต ปูน และกระจก ที่สะสมความร้อนเอาไว้ และยังสะท้อนความร้อนไประหว่างหมู่ตึกด้วยกัน โดยไม่มีพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้ใหญ่ๆมาช่วยดูดซับความร้อนพวกนี้ไว้เลย อากาศในกรุงเทพมหานครมันถึงได้เป็นอย่างที่เห็น
นอกจากเรื่องความร้อนแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่เธอชอบบ่นเป็นประจำ
เธอเคยดูรูปคนสมัยก่อนแล้วสงสัย ว่าทำไมพวกเขาถึงได้หน้าใสไร้สิว ไม่เหมือนคนปัจจุบัน
ก็ทุกวันนี้ต้นไม้ในเมืองเหลืออยู่น้อย ไม่เพียงพอที่จะช่วยดูดซับมลภาวะต่างๆที่เพิ่มมากขึ้นทุกที
ผลของมลภาวะในอากาศไม่ใช่แค่เรื่องสิวๆเท่านั้น หนึ่งในสามของโรคที่คนกรุงเทพฯเป็นกันเยอะที่สุด ก็คือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
ยิ่งกว่านั้นคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจก เนื่องจากความร้อนและแสงที่สะท้อนจากอาคารต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าการขาดแคลนต้นไม้มากรองแสง ซับความร้อน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้
เธอเองก็ระวังให้ดีเถอะ
ตอนเด็กๆครูเคยบอกเราว่า อย่าจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ให้พักสายตาด้วยการมองต้นไม้เขียวๆบ้าง แต่ในกรุงเทพฯแห่งนี้ เราควรหันไปพักสายตาที่ไหน?
กรุงเทพฯ เมื่อมีต้นไม้
ถ้าเรามีต้นไม้เยอะขึ้น มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาที่บอกไปข้างต้นน่าจะลดน้อยลง เมืองคงเย็นลง มลภาวะในอากาศก็ลดลงทำให้สุขภาพคนดีขึ้น เธอก็น่าจะมีความสุขกว่านี้
เธอรู้หรือเปล่าว่าต้นไม้มีบทบาทต่อคุณภาพชีวิตของคนเรามากแค่ไหน
ในฤดูร้อน ร่มเงาของต้นไม้ทำให้เมืองเย็นลง ๑๕ เปอร์เซ็น
ต้นไม้ใหญ่สูง ๑๘- ๒๐ เมตรหนึ่งต้น ให้ความเย็นเท่ากับแอร์ ๕ เครื่อง ลดอุณหภูมิได้ ๓-๕ องศาเซลเซียส ลดการใช้แอร์ได้ถึง ๕๐ เปอร์เซ็น และยังลดการระเหยน้ำมันจากการจอดรถตากแดดได้อีกด้วย
เธอเริ่มอยากกอดต้นไม้บ้างหรือยัง
ฉันรู้หรอกว่ายัง
เอาอย่างนี้ ฉันจะเล่าเรื่องต้นไม้ที่น่ารักให้ฟัง พวกเขาอยู่ในกรุงเทพนี่แหละ อยู่ร่วมกับเมืองและให้คุณค่ากับเรามานานแล้ว แต่เธอคงไม่เคยรู้จัก
ต้นไม้ใหญ่ในสวมลุมพินีและความเจริญของธุรกิจของสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง
เพราะวิวจากต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้นไม้มีประโยชน์หลายสิ่งให้แก่เรา เป็นอย่างมาก
ต้นไม้ : พื้นที่แห่งชีวิต
ลึกเข้าไป ในซอยเจริญกรุง ๕๕ เขตสาทร มีต้นกร่างขนาดใหญ่อายุ ๒๐๐กว่าปีอยู่ที่นั่น
ต้นกร่างนี้อยู่ติดกับรั้วด้านหลังของโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ลำต้นแม่ใหญ่ขนาด ๑๐ คนโอบ สูงเท่าตึก ๗ ชั้น แถมยังมีต้นลูกที่เกิดจากรากของต้นแม่อยู่ใกล้ๆกัน แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมทั้งตัวถนนและบ้านเรือนรอบๆ
ใต้กิ่งก้านสาขาที่แผ่กว้าง มีคุณลุงคุณป้าเกือบสิบคนนั่งทอดหุ่ยคุยกันอย่างสบายอารมณ์ อีกมุมหนึ่งใต้ต้นลูกมีเด็กๆนั่งเล่นหมากฮอส คุยกันโขมงโฉงเฉง
“มานั่งตรงนี้มันเย็นสบาย อากาศก็สดชื่น ดีกว่านั่งห้องแอร์อีกนะ” ป้าพรพรรณ หนึ่งในสมาชิกใต้ต้นกร่างเขาว่าอย่างนั้น
ต้นกร่างนี้เป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่ให้มานั่งอาศัยร่มเงากันทุกวัน หรือจัดงานบุญบริเวณต้นกร่างกันทุกปี ยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านอีกด้วย
ที่ใต้ต้นกร่าง มีศาล “เสด็จพ่อเทพาดำทุ่ง” ตั้งอยู่ บรรยากาศในศาลเต็มไปด้วยกลิ่นธูปควันเทียนตลอดเวลา กระถางดินหน้าศาลมีก้านธูปปักอัดแน่นเต็มกระถาง เป็นเครื่องยืนยันว่ามีคนมาสักการะบูชามากแค่ไหน รอบๆลำต้นก็ถูกมัดไว้ด้วยผ้าเจ็ดสี เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้าน
“หลายปีก่อนทางโรงเรียนเขาจะตัดทิ้งทำเป็นที่ทิ้งขยะ ชาวบ้านค้านกันแทบตายเขาก็ไม่ฟัง พอเริ่มตัดไม่เท่าไหร่ คนงานก็ตกลงมาตาย อีกเดือนต่อมาผู้รับเหมาก็ตาย ผอ.โรงเรียนก็เลยไม่กล้าแตะอีกเลย ตั้งแต่นั้นใครจะมารับตำแหน่งที่โรงเรียนนี้ก็ต้องมาฝากตัวกับท่านก่อน”
คุณลุง สุเวทย์ โชติวรรณพงศ์ ผู้นำชุมชนเล่าเรื่องต้นกร่างให้ฉันฟัง ด้วยน้ำเสียงเหมือนเล่าถึงญาติผู้ใหญ่ที่เคารพยิ่ง
“แต่ละบ้านเขาไม่กลัวงูกันบ้างเหรอคะ กิ่งก้านระหลังคาบ้านขนาดนั้น” ฉันถาม
“เขาก็ตัดบ้างนะ ถ้ามันรบกวนพื้นที่จริงๆ แต่ส่วนมากเขาไม่ค่อยยื่นกิ่งไปรบกวนใครหรอก พอถูกริบกิ่งไปแล้วก็จะไปงอกไปทางนั้นอีก แล้วเรื่องงูน่ะหายห่วง เรามีเจ็ดสาวน้อยอยู่”
“เจ็ดสาวน้อย?”
“นกกางเขนหางขาวน่ะ อยู่กันมาหลายรุ่นแล้ว รุ่นแรกๆมีเจ็ดตัวก็เลยเรียกเจ็ดสาวน้อย ชอบคอยจิกลูกตางู เมื่อก่อนเคยมีงูเหลือมมาจากไหนไม่รู้ ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นอนขดอยู่บนกิ่ง เอาหัวมุดไว้ใต้ลำตัวเพราะนกคอยจะจิกลูกตา”
เห็นไหม นอกจากเป็นที่พักผ่อนของคนแล้ว ต้นกร่างยังเป็นที่พักพิงของสัตว์ต่างๆ ให้อยู่อย่างร่มเย็นในเมืองกรุงแห่งนี้
ต้นกร่างไม่ใช่เพียงต้นไม้ต้นหนึ่ง หากแต่เป็นสมาชิกอาวุโสที่สำคัญของชุมชน
อย่าเพิ่งเบะปากเลย เธออาจรู้สึกแปลกๆที่คนมองต้นไม้ไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เธอไม่เคยเชื่อถือ
ฉันจะไม่พูดว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่
แต่ฉันจะบอกว่า ความคิดความเชื่อของคนนั้นเปลี่ยนยาก แต่ถ้าความเชื่อมันทำให้ต้นไม้ใหญ่ๆต้นหนึ่งอยู่ในเมืองได้ตลอดไป มันก็ดีไม่ใช่เหรอ หรือเธอคิดว่าไง?
ข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำ ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ที่นั่นมีแต่สีเขียว
ตั้งแต่ลานจอดรถไปจนถึงพื้นที่ระหว่างอาคาร เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้ม
ที่หน้าอาคารจิตเวชฟื้นฟู มีซุ้มเฟื่องฟ้าสีชมพูอมแดงออกดอกบานสะพรั่ง นั่นไม่ใช่แค่ไม้ประดับอย่างที่ฉันคิดตอนแรก แต่เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงต้นจามจุรีใหญ่อายุนับร้อยปี ที่ถูกตัดไปเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วเพราะผลกระทบจากการวางระบบท่อน้ำเสียของโรงพยาบาล
ความผิดพลาดในตอนนั้นทำให้ผู้บริหารรุ่นต่อมาเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
เมื่อต้องสร้างอาคารใหม่ ก็เลยเลือกที่จะปรับรูปแบบของอาคารแทนที่จะตัดต้นไม้
คุณสินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกยิ้มๆว่า “มันมีผลกับคุณค่าทางจิตใจของทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วย”
ที่นี่จึงเป็นตัวอย่างของการกระตุ้นการอนุรักษ์ไม้ใหญ่ในเมือง หนำซ้ำบรรยากาศรอบๆยังร่มรื่นจนฉันอยากชวนเธอไปเดินเล่นด้วยกันสักครั้ง แทนที่จะเป็นที่สยามอย่างทุกที
วางๆเราไปเดินเล่นที่โรงพยาบาลจิตเวชกันดีไหม (ฉันชวนจริงจังนะ)
คราวนี้ฉันจะพูดถึงย่านโปรดของเธอ- เอกมัย
ที่ตึก Shopping mall หน้าปากซอย เอกมัย ๑๐ เป็นตึกให้เช่าสำหรับบริษัทและร้านอาหารต่างๆ ถ้าเธอเคยสังเกตคงเห็นต้นจามจุรีใหญ่ตั้งอยู่โดดเด่น เป็นร่มเงาให้กับลานจอดรถด้านหน้าตึก
โดดเด่น แต่ไม่โดดเดี่ยว
ลึกเข้าไปด้านในมีต้นจามจุรีอีกต้นที่สูงใหญ่และเก่าแก่ไม่แพ้กัน เพียงแต่ต้นหลังนี้มีตึกสร้างครอบไว้
ร่มเงาของต้นจามฯนี้ปกคลุมให้ความร่มรื่นตั้งแต่ชั้นล่างสุดยันชั้นดาดฟ้า
พี่ปิงปอง นิติพัฒน์ สุขสวย หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day เลือกเช่าตึกนี้เป็นสำนักงานด้วยเหตุผลข้อสำคัญข้อหนึ่งคือ “มีต้นไม้นี้มันก็ร่มรื่นดี เย็นสบาย พี่ชอบความคิดที่เจ้าของตึกเขาเห็นความสำคัญ ทั้งที่ตัดต้นไม้แล้วสร้างตึกทับไปเลยก็ได้ แต่เขาก็เลือกที่จะเก็บไว้”
ต้นจามจุรีเนี่ย ไม่ใช่ต้นไม้ไก่กานะเธอ แต่เป็นแชมป์ต้นไม้ด้านการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมระดับโลก เพราะผลิตอ๊อกซิเจนและฟอกคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้มากที่สุด ใบดูดซับฝุ่นได้มากที่สุด และใบที่ร่วงบนพื้นก็ยังช่วยในการปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์
ตอนที่ฉันนั่งคุยกับพี่ปิงปองก็รู้สึกเย็นสบายดีจริงๆ ลมที่พัดมาก็เหมือนจะสดชื่นกว่าที่อื่น
คนทำงานต่างก็สมองโลดแล่นมากขึ้นเมื่อได้อยู่ในบรรยากาศที่ร่มรื่นแบบนี้
“ลองไปยืนใต้ต้นไม้ กับยืนใต้เต๊นท์มันไม่เหมือนกันนะ มีร่มเหมือนกันแต่ยืนใต้เต๊นท์มันจะอึดอัด” พี่ปิงปองบอกอย่างนั้น
เขายังเล่าไปถึงบ้านที่อยู่ชานเมือง ที่เลือกซื้อบ้านหลังนั้นก็เพราะเรื่องต้นไม้เหมือนกัน พี่ปิงปองเลือกซื้อบ้านในโครงการที่ปลูกต้นไม้เยอะๆ มากกว่าโครงการที่มีจุดขายแค่ว่าบ้านสวย นอกจากนั้นเขายังให้ความสำคัญกับการเลือกปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านอีกด้วย
“ถ้าเรารู้จักเลือกปลูกต้นไม้ให้ดีๆนะ แทบไม่ต้องติดแอร์ที่บ้านก็ได้ ศึกษาว่าต้นไหนช่วยด้านไหน ต้นไหนให้อะไร ปลูกแต่ละต้นในทิศไหน สำหรับแดดในแต่ละเวลา ไม่ใช่สักแต่ปลูกต้นไม้ตามชื่อมงคล”
เห็นไหมว่าต้นไม้มันดีกับเราขนาดไหน
เธออาจนึกในใจว่า “ต้นไม้ที่น่ารักมีแค่นี้เองเหรอ”
มันไม่ได้มีแค่นี้หรอก ยังมีอีกมายมายตามสวนต่างๆ โรงเรียน วัด มหาวิทยาลัย ฯลฯ ฉันคงเล่าให้เธอฟังไม่หมด มันมีมากเกินไปสำหรับหน้ากระดาษของฉัน
แต่เชื่อเถอะ มันไม่ได้มีมากพอสำหรับพื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพมหานครหรอกนะ
ต้นไม้จัน แห่งวัดยานนาวา
ต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร ได้ตายลง
ซึ่งทางวัดได้แปรสภาพมาเป็นวัตถุมงคล พระไม้จัน ซึ่งทางวัดนำมาเปิดให้เช่าสักการะ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว
ส่งผลให้เกิดการตัดต้นไม้ในพื้นที่เดิมออกไปซึ่งทำให้ส่งผลกระทบ ต่อปริมาณต้นไม้ในกรุงเทพมหานครลดลง
วิกฤติต้นไม้ แผ่กิ่งก้านไปไม่พ้นคอนกรีต
ต้นไม้ที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็ยังต้องถูกตัดลงไปอีกทุกวัน ด้วยเหตุผลคือ “การพัฒนา”
ต้นไม้ใหญ่จำนวนมากถูกตัดไปอย่างน่าเสียดายเพียงเพื่อพื้นที่ก่อสร้างที่ต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมโดยสมบูรณ์ บางต้นถูกแทนที่ด้วยรั้ว หรือฟุตบาทเท่านั้น
ที่แยกมไหศวรรย์ ย่านตลิ่งชันที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด ทาง กทม. ก็เลยแก้ปัญหารถติดด้วยการสร้างอุโมงค์เพื่อให้รถระบายได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องตัดต้นไม้ที่เคยเรียงรายอยู่ริมถนนจนหมด
ชาวบ้านได้พยายามประท้วงเรียกร้องกันเต็มที่แต่ก็ไม่เป็นผล
สุดท้าย กทม. ได้บอกว่าจะย้ายต้นไม้ไปปลูกที่อื่น แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าปลูกที่ไหน และปลูกไปเท่าไหร่ รู้แต่เพียงว่าตอนนี้ต้นไม้ได้หายไปจากที่เดิมแล้ว รถก็คงไม่ได้ติดน้อยลงสักเท่าไหร่ อากาศก็คงแย่มากขึ้น ชาวบ้านก็ได้แต่มองตาปริบๆ
ที่วัดหงศ์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ บอกว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ แต่ต้องตัดต้นไม้หมด
ซึ่งจริงๆแล้วแค่ปรับแปลนก่อสร้างนิดหน่อยเราก็ได้ตึกที่อยู่ร่วมกับต้นไม้ได้แล้ว
ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ก็ตัดต้นโพธิ์ ที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี และ ต้นประดู่แดงเกือบสิบต้น เพื่อสร้างสระว่ายน้ำ
เจ้าของที่ AUA ตรงถนนราชดำริ ก็กำลังจะตัดต้นไม้ทิ้งเพื่อสร้างคอนโด (ที่ตรงนั้นเรายังเคยไปดูพระอาทิตย์ตกดินด้วยกัน เธอจำได้ไหม)
… นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วน
ต้นไม้ในกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้เกิดขึ้น
การอยู่ร่วมกันระหว่างต้นไม้กับตึกอาคาร –
นิติพัฒน์ สุขสวย หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day เลือกเช่าตึกนี้เป็นสำนักงานด้วยเหตุผลข้อสำคัญข้อหนึ่งคือ มีต้นไม้นี้มันก็ร่มรื่นดี เย็นสบาย คุณนิติพัฒน์กล่าวว่า ชอบความคิดที่เจ้าของตึกเขาเห็นความสำคัญ ทั้งที่ตัดต้นไม้แล้วสร้างตึกทับไปเลยก็ได้ แต่เขาก็เลือกที่จะเก็บไว้เพราะได้เห็นประโยชน์ของต้นไม้
พงษ์พรหม ยามะรัต
หนึ่งในอาสาสมัครกลุ่ม Big Trees กำลังรณรงค์ให้คนในกรุงเทพมหานคร
เข้าใจถึงประโยชน์ของต้นไม้ และร่วมสร้างจิตสำนึก ให้คนหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น
โดยจากการสร้างเครือข่ายจากพลังของ Social Network
https://www.facebook.com/BIGTreesProject
มนุษย์สีเขียวในป่าสีเทา
“พี่ชอบภาพที่ผู้หญิงใส่รองเท้าบู๊ต แล้วเดินตามถนนที่มีต้นไม้สวยๆ หรือขับรถสปอร์ตบนถนนที่ข้างทางเป็นทิวต้นไม้ ไม่ใช่ตึกน่าเกลียด แต่กรุงเทพฯไม่ใช่แบบนั้น”
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่พี่พงษ์พรหม ยามะรัต เข้ามาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครกลุ่ม Big Trees
วันที่เจอกันเขาสวมเสื้อเชิ้ทดูทันสมัย และถือไอโฟนรุ่นล่าสุด
“ตัวพี่แต่ก่อนก็ไม่ได้รักต้นไม้ เป็นคนแบบนี้ ชอบเที่ยว กินเหล้า จนโตขึ้นก็เริ่มรู้ว่ามีปัญหาอย่างไร ยิ่งไปเซี่ยงไฮ้และมีบิ๊กทรี เรารู้ว่าปัญหามันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันกระทบคน อย่างง่ายๆคือค่าแอร์และสุขภาพ”
จากคำพูดของเขา ก็น่าจะรู้ได้ว่าคนอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่าแก่คร่ำครึอย่างที่เธอเคยคิดเสมอไป พี่พงษ์พรหมได้ทำงานร่วมกับกลุ่มบิ๊กทรีตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงปี ๒๕๕๕นี้ ก็เป็นเวลาสองปีแล้ว
ตั้งแต่มีคนไม่กี่คนแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเฟซบุ๊ค ตอนนี้กลุ่มบิ๊กทรี มีคนกดไลค์บนเพจเฟซบุ๊คมากกว่าสองหมื่นคน รณรงค์ต่อสู้เพื่อต้นไม้ใหญ่ในเมือง จนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆในประเทศ
ตอนแรกพวกเขาก็เป็นคนรุ่นใหม่ธรรมดาอย่างเราๆนี่แหละ จนวันหนึ่งเมื่อประมาณสองปีก่อน โอเอซิสแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ บริเวณซอยสุขุมวิท ๔๕ ได้ถูกตัดจนเรียบ พวกเขาจึงเริ่มตระหนักได้ว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจึงได้รวมกลุ่มกันเป็นบิ๊กทรี องค์กรอิสระที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม
“ตอนที่พี่ไปเซี่ยงไฮ้พี่เดินขึ้นจากใต้ดิน แล้วได้กลิ่นเหมือนอยู่เขาใหญ่ พี่เลยคิดว่าทำไมเมืองนอกเขาทำได้ แต่กรุงเทพไม่ยอมทำ”
ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆทั่วโลกกำลังมุ่งเข้าสู่ความเป็น green city ยิ่งไปกว่านั้นบางเมืองอย่างสิงคโปร์กำลังก้าวข้ามไปถึงขั้นเป็น city in the garden แต่ตอนนี้กรุงเทพฯเรายังเป็น gray city อยู่เลย
ยิ่งเมืองโตขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งใช้พลังงานมากเท่านั้น และเราก็ต้องการต้นไม้จำนวนมากมาช่วยดูดซับผลพวงจากการพัฒนาเหล่านั้น พี่พงษ์พรหมเล่าถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ที่เขาเคยไปเยือนว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่
“พี่ได้คุยกับเลขาธิการพรรคที่ดูแลเรื่องเมืองเซี่ยงไฮ้อยู่ ตอนจีนเปิดประเทศ เริ่มก่อสร้างตึกจำนวนมาก สิ่งที่พบคือมลภาวะและอุณหภูมิสูงขึ้น เขาบอกว่าเขาต้องการสร้างเมืองเซี่ยงไฮ้ให้ใหญ่กว่านิวยอร์ค ต้องอาศัยหลายๆด้าน และด้านหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญคือ ไม่ว่าเมืองจะพัฒนาไปแค่ไหน คนต้องอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ”
เพราะฉะนั้น ทางเซี่ยงไฮ้ก็เลยต้องเริ่มกลับมารื้อโครงการใหม่และเริ่มสร้างโปรเจคท์ “เซี่ยงไฮ้กรีนเบลท์” ในปี ๙๙ เพื่อจะเอาต้นไม้กลับมา
ในตอนนั้นเซี่ยงไฮ้มีพื้นที่สีเขียวประมาณ ๑๐ ตารางเมตรต่อคน ก็ตั้งเป้าว่าต้องสูงขึ้นให้ได้ พอปี ๒๐๐๑ เขาเริ่มปลูกต้นไม้ตั้งแต่รอบนอกเมืองไล่เข้าเมืองมาเรื่อยๆ
อีกฟากหนึ่งที่เป็นเขตปู่ตง เป็นเขตใหม่มีตึกเยอะมาก ก็มีการประกาศนโยบายให้สายไฟต้องลงใต้ดินทั้งหมดเพื่อไม่ให้ระกับต้นไม้ กำหนดจำนวนต้นไม้ที่มีต่อจำนวนตึก บางพื้นที่เอาหญ้าออกแล้วเอาต้นไม้ใหญ่ใส่แทน พื้นที่ทุกตารางนิ้วที่ใส่ต้นไม้ได้ เขาใส่หมดเลย
สิบปีจากที่ประกาศนโยบาย พื้นที่สีเขียวในเมืองก็เพิ่มมาเป็น ๓๖ ตารางเมตรต่อคน
และเซี่ยงไฮ้ ได้ใช้สิ่งนี้เป็นการดึงดูดนักลงทุน ว่ามลพิษของเมืองลดลง และมีต้นไม้มากขึ้น
“ในหัวคนไทยหลายคน การพัฒนาต้องกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ทำไมเมืองอื่นๆทำได้ ทำแล้วประสบความสำเร็จด้วย ยิ่งสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเท่าไหร่ ค่าของเมืองเขาก็เพิ่มขึ้น สิงคโปร์กับเซี่ยงไฮ้เป็นตัวอย่างที่ชัด สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจเขาไปด้วยกัน” เขาเสริม
พี่พงษ์พรหมเปิดรูปถนนในเขตซินเทียนตี้ให้ดู ที่หน้าร้านกาแฟสุดเก๋ มีเฟอรารี่สีแดงจอดอยู่ ข้างทางมีต้นไม้เรียงทึบ มันดูเข้ากันอย่างบอกไม่ถูก
ที่นั่นคอนกรีตต้องยอมหลบทางให้ต้นไม้
ฉันลองนึกย้อนกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วเกิดข้อสงสัย
“พี่คิดว่าทำไมคนถึงเลือกตัดต้นไม้ในเขตก่อสร้างทั้งหมดแทนที่จะปรับแปลนให้อยู่กับต้นไม้ได้”
“หลายคนมองแต่เปลือก มันเลยพังหมด นายทุนบางคนไม่มองสาระประโยชน์หลักของต้นไม้ มองเป็นเครื่องตกแต่ง มองแค่คอนเซปท์ไม่ได้มองคอนเทนท์ พอมีอะไรที่เราเห็นว่าสวยกว่า เราก็เลือกจะตัดต้นไม้ทิ้ง และไม่คิดจะปลูกทดแทน”
เขาตอบ
“พี่เป็นที่ปรึกษาให้แบรนดิ้งของอสังหาฯบางเจ้า หลายเจ้ายินดีจะช่วยเรื่องนี้ แต่ไม่มีนโยบายของรัฐมารองรับ การขยับพื้นที่ตึกให้แคบลงก็ได้กำไรน้อยลง หุ้นก็ตก แบบนี้ใครจะอยากทำ”
พี่พงษ์พรหมมองว่าปัญหาหลักคือด้านการจัดการเมืองของฝ่ายบริหาร
“ตอนนี้เอกชนไม่น้อยเริ่มมองเห็นปัญหานี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ถ้ารัฐไม่ช่วยก็ไปไม่ได้จริงๆ บิ๊กทรีเลยพยายามไฟท์ทาง กทม. มาตลอด”
อาจจะยากที่จะหาผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเมือง ดังนั้นการรวมกลุ่มของภาคประชาชนจึงเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้รัฐหันมาเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ บิ๊กทรีจึงพยายามปลุกจิตสำนึกของคนทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คให้ร่วมกันแสดงพลัง
“อยู่ที่คนจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทุกวันนี้กล้าพูดว่าเราทำสิ่งที่ผิดอยู่ เมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้วอาจเห็นภาพไม่ชัด แต่วันนี้มันเริ่มเห็นแล้ว ว่าเราต้องก้าวไปทาง green city จะสร้างตึกกี่ชั้นก็ได้ แต่ก็ต้องมีต้นไม้ด้วย เพราะเมืองมันใช้พลังงานและก่อมลภาวะเยอะมาก”
พี่พงษ์พรหมยังบอกอีกว่า คนปัจจุบันมีการศึกษามากขึ้น ใช้สิทธิได้มากขึ้น มีสิทธิที่จะเรียกสิ่งที่ถูกต้อง
ตอนนี้ทางบิ๊กทรีกำลังผลักดันเรื่อง พรบ.เกี่ยวกับต้นไม้ในเมือง และต้องการความร่วมมือจากทุกคน
“เรากำลังร่าง พรบ กันอยู่ ทางที่ยากที่สุด เราอยากได้แต่อาจไม่เลือกคือเขียนใหม่ แต่เราจะใช้การปรับ พรบ. หรือ พรก.ที่มีอยู่ เช่นเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวกี่เปอร์เซ็น ,มีการกำหนดรางวัลและการลงโทษ เช่นการลดหย่อนภาษีกับคนที่ยอมขยับตึกให้ต้นไม้ ใครตัดต้นไม้ก็โดนปรับ หรือต้องแจ้งว่าเอาไปปลูกทดแทนที่ไหน”
ตอนนี้มีคนกดไลค์และให้ความสนใจกลุ่มบิ๊กทรีเป็นจำนวนหนึ่งในเฟซบุ๊ค แต่ในแง่ปฏิบัติ มีคนน้อยมากที่ให้ความร่วมมือจริงจัง เป็นเพราะคนยังไม่ให้ความสำคัญมากพอ ถึงแม้ปัญหาจากการขาดแคลนต้นไม้จะเริ่มชัดเจนขึ้นทุกวัน
“อุณหภูมิสูงขึ้น เราบ่นก็จบ เราเปิดแอร์ แต่เราไม่ตั้งคำถามต่อว่ามันเกิดเพราะอะไร เพราะงั้นก็ต้องให้คนตั้งคำถามมากขึ้น”
พี่พงษ์พรหมบอกอย่างนั้น ฉันนึกขำ นี่มันตัวเธอชัดๆ
ฉันเดินออกจากสำนักงานใหญ่ของพี่พงษ์พรหมอย่างรื่นใจ ไม่น่าเชื่อว่าที่ใจกลางย่านสุขุมที่แสนจอแจ จะมีสวรรค์สีเขียว ที่นั่นมีต้นไม้ดอกไม้สวยๆเต็มไปหมด มีลมเย็นๆพัดผ่าน มีนกร้องเพลงให้ฟังทั้งวัน เป็นเพราะเจ้าของสถานที่เขาเป็นความสำคัญของต้นไม้ล่ะสิ ใช่ไหม
น่าเสียดาย เดินออกมานิดเดียวเท่านั้น
พอพ้นจากทางโค้งฉันก็เจอไซส์ก่อสร้างขนาดใหญ่
เจอแต่ถนน รถรา และฝุ่นควัน
ฉันได้แต่หวังว่าคงมีสักวัน ที่ภาพจากมุมสูงของกรุงเทพ จะกลายเป็นจุดเทาเล็กๆในป่าสีเขียว ไม่ใช่จุดเขียวเล็กๆในป่าสีเทา
เธอสนใจจะช่วยกันไหม?