เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

(ซ้าย) จากยอดมออีหืด เบื้องล่างคือผืนป่ากว่า ๑๓,๐๐๐ ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
(ขวา) ลำน้ำแม่วงก์หรือห้วยแม่เรวามีต้นกำเนิดจากป่าแม่วงก์ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.อุทัยธานี นับเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายของป่าตะวันตกที่ยังไม่ถูกเขื่อนปิดกั้น (ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

“กลางปี ๒๕๓๗ เพื่อนโทร. มาบอกว่าวันนี้มีอะไรแปลก ๆ ให้รีบตามมาดู ไปถึงผมเห็นคนเต็มสนามฟุตบอลเลย”

อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงษ์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน

“ตอนสายได้ยินโฆษกประกาศว่าเดี๋ยวจะมีการแจกเหรียญหลวงพ่อคูณ  ตอนนั้นหลวงพ่อคูณท่านกำลังดังมาก ไม่มีใครไม่อยากได้พระหลวงพ่อคูณ”

เมื่อเขาไปถึง สนามฟุตบอลโรงเรียนลาดยาววิทยาคม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ คลาคล่ำด้วยคนเรือนหมื่นจากพื้นที่ละแวกใกล้เคียงมาชุมนุมกันแน่นขนัด

“ต่อมาโฆษกประกาศว่าใครมาจากตำบลไหน ให้ไปรายงานตัวที่เต็นท์ประจำตำบลนั้น  ลงชื่อแล้วรับเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อวินซ่า กินหมดแล้วอย่าทิ้งฝา ให้นำไปแลกเหรียญหลวงพ่อคูณจากผู้ใหญ่บ้านของตัวเองที่หมู่บ้าน

“เขาประกาศว่าอย่าเพิ่งรีบกลับ เดี๋ยวจะมีคอนเสิร์ตแอ๊ด คาราบาว ผมกับเพื่อนก็นั่งรอ  ระหว่างนั้นบนเวทีเริ่มมีการพูดคุยกันเรื่องเขื่อน พูดถึงน้ำท่วม น้ำแล้ง ความทุกข์ยาก  ตกบ่ายสามกว่ามีเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินมาจอด”

หนุ่มใหญ่เลือดปักษ์ใต้วัย ๕๑ ปีคนนี้พบรักกับหญิงสาวชาวนครสวรรค์ จึงผันตัวเองมาตั้งรกรากบนแผ่นดินต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา  เราพบเขาครั้งแรกตอนลงพื้นที่เขาสบกก ชายป่าตะวันตกในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์  อดิศักดิ์เล่าว่าคนที่ก้าวลงจากเฮลิคอปเตอร์วันนั้นคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น

“ไม่นานพิธีกรก็ประกาศเชิญขึ้นเวที มีเจ้าหน้าที่ขนลังกระดาษตามขึ้นไป”

ลังกระดาษนับสิบใบบรรจุรายชื่อผู้ลงนามที่เต็นท์ แล้วพิธีกรก็ประกาศว่า “นี่แหละคือรายชื่อคนที่ต้องการเขื่อนแม่วงก์”

เขารู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลในทันที

“มันช่างตลกสิ้นดี นี่ใช้วิธีการอย่างนี้กันเลยเหรอ ชาวบ้านเซ็นชื่อรับเหรียญหลวงพ่อคูณต่างหาก”

ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น อดิศักดิ์ติดตามความเป็นไปในการสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างต่อเนื่อง  เขาเล่าว่า “บิ๊กโปรเจ็กต์” นี้ไม่เคยห่างหายจากการรับรู้ของชาวอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง

ผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี อดิศักดิ์หรือใครก็คงไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นจะเป็นเพียงอารัมภบทของละครเรื่องยาวที่ชื่อว่า “โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์” มีตัวละครสับเปลี่ยนกันขึ้นเวที ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เอ็นจีโอ ฯลฯ  โดยมีฉากใหญ่คือผืนป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ องคาพยพของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย ป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของจังหวัดนครสวรรค์

ป่าแม่วงก์อยู่ตรงไหน ?

ชื่อเสียงเรียงนามป่าแม่วงก์อาจไม่โดดเด่น มีเสน่ห์เท่าป่าเพื่อนบ้านอย่างป่าห้วยขาแข้ง ป่าอุ้มผาง หรือป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทว่าทั้งหมดนั้นล้วนมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นป่าผืนใหญ่

ดูแผนที่ป่าไม้ของประเทศไทยรูปขวานจะพบพื้นที่สีเขียวเป็นหย่อมกว้างบริเวณ “สันขวาน” ติดพรมแดนพม่า  ตั้งแต่จังหวัดตากไล่ลงมากำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี  พื้นที่ใน ๖ จังหวัดนี้ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ ๑๑ แห่ง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๖ แห่ง  มีอาณาบริเวณ ๑๑.๗ ล้านไร่  รู้จักกันในนาม “ผืนป่าตะวันตก”

ผืนป่าตะวันตกเป็นป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดของไทยและติดอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าและพืชพรรณ  ขณะที่ป่าหลายแห่งมีลักษณะกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยเพราะถูกทำลายหรือถนนตัดผ่านจนแทบไม่หลงเหลือสัตว์ป่าขนาดใหญ่อาศัยในระบบนิเวศนั้นแล้ว

ป่าตะวันตกผืนนี้เองที่ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (๒๕๓๒-๒๕๓๓) รักและหวงแหนเท่าชีวิต  ท่ามกลางอุปสรรครอบด้านในการพิทักษ์ป่า ตั้งแต่ความไม่จริงใจของนักการเมือง ระบบราชการที่เฉื่อยชา งบประมาณอันน้อยนิด การคุกคามของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นที่ลับลอบล่าสัตว์ตัดไม้  ทั้งหมดนี้นับเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็ก ๆ จะแบกรับไว้ได้  ก่อนรุ่งสางวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓ “หัวหน้าสืบ” ตัดสินใจส่งข่าวสารต่อสังคมไทยด้วยชีวิตของเขาเอง

เสียงปืนหนึ่งนัดในราวป่าได้ปลุกกระแสให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความหมายของการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ก่อนสิ้นชีวิต สืบเคยกล่าวว่า “ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้งแล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

สืบเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้งซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของผืนป่าตะวันตกเปรียบเสมือนหัวใจ นี่คือป่าสมบูรณ์ที่ยังไม่มีใครบุกรุกยึดครอง  หากจะรักษาป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งให้ได้ ก็ต้องปกปักรักษาป่าอนุรักษ์ที่อยู่รายรอบเอาไว้ให้ได้ด้วย

หนึ่งปีหลังการจากไปของหัวหน้าสืบ องค์การยูเนสโกก็ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก

๒๒ ปีหลังการจากไปของหัวหน้าสืบ ผมก้มลงมองแผนที่ป่าไม้ไทย  ผืนป่าตะวันตกกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลลักษณะคล้ายหลังมือข้างขวา  หากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งอยู่ตรงกลางฝ่ามือค่อนไปทางปลายนิ้ว ป่าแม่วงก์จะอยู่กลางนิ้วก้อย  เป็นเสมือนป่า “หน้าด่าน” ดุจดังกำแพงเมืองกั้นขวางการรุกรานผืนป่าตะวันตก

หากใครเคยอ่านอมตนิยายเรื่อง ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ (นามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ) ผู้มีพื้นเพเป็นคนกำแพงเพชร  ฉากผจญภัยในป่าดงดิบผืนใหญ่ที่ปกคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร หากไม่ถูกบุกรุกแผ้วถางเสียก่อน  ฉากนั้นก็คือป่าแม่วงก์หรืออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในปัจจุบันนั่นเอง