ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com


แสงศตวรรษ หรือ Syndromes and a Century ในตอนแรกมีโปรแกรมเข้าฉายตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๐ ที่โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ และโรงภาพยนตร์เอสพละนาดซีนีเพล็กซ์เท่านั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ โดยคณะกรรมการมีเงื่อนไขให้ฉายหนังเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อต้องตัดฉากสำคัญออกไป 4 ฉาก ผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ จึงตัดสินใจ ‘ไม่’ ตัดทอนหนังเรื่องนี้ และ แสงศตวรรษ จะไม่เข้าฉายในประเทศไทย

ในฐานะนักดูหนังคนหนึ่ง สาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon), สุดเสน่หา (Blissfully Yours), สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) และ หัวใจทรนง (The Adventure of Iron Pussy) นั่นเพราะว่าผลงานของเขามีหลายมิติ เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่มีประตูเข้าหลายทาง ดังนั้นหลังจากดูหนังเรื่อง แสงศตวรรษ หรือ Syndromes and a Century จบลง ผู้เขียนจึงประมวลมุมมองต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ประการแรก : ในยุคที่หนังไทยมีแต่ “ตลก” และ “ผี” ในยุคที่โลกทั้งใบหมุนไปด้วยเงิน ในยุคที่สถานการณ์เหมือนกันไปหมดในทุก ๆ ธุรกิจเมื่อ “ใครสักคน” ต้องการ “ทำอะไรสักอย่าง” เพื่อไปถึง “คนกลุ่มกว้างที่สุด” เพื่อจะได้เงินมา ในยุคที่คนทำหนังหลงรัก “การเป็นผู้กำกับหนัง” มากกว่า “ตัวหนัง” ซะอีก มันน่าสนใจเหลือเกินที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ยังคงสวนกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกรากแล้วผลิตงานออกมา

คำว่า “อินดี้” ที่มักใช้ขยายสถานะของเขาจึงไม่ใช่ความฉาบฉวยหรือแฟชั่น แต่ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากจนเรียกได้ว่า “ปากกัดตีนถีบ” ทุกครั้งที่ได้ดูหนังของอภิชาติพงศ์ อดคิดไม่ได้ว่า มันวุ่นวายขนาดไหนในการหาเงินจากหลากประเทศเป็นสิบ ๆ ล้านบาท เพื่อสร้างหนังที่ซื่อตรงต่อตัวเองมากที่สุดสักเรื่อง

ในบรรดาศิลปะหลากหลายแขนง การสร้างภาพยนตร์เป็นศิลปะที่มีต้นทุนด้านเงินทุนแพงที่สุด มันจึงเป็นศิลปะที่ทำให้ศิลปินพร้อมจะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” หรือ “เปลี่ยนแปลงเพื่อผู้อื่น” มากที่สุดก็ว่าได้

การสร้างหนังสักเรื่องจึงต้องใช้ศิลปะแห่งการตัดสินใจ การถ่วงน้ำหนักระหว่างสิ่งที่เราอยากทำกับสิ่งที่คนอื่นอยากได้

สิ่งที่อภิชาติพงศ์พูดบ่อย ๆ ก็คือ เขาอาจไม่แคร์คนดู แต่เขาไม่ดูถูกคนดู ทำไมถึงต้องจำกัดทางเลือกของผู้ชมว่า “คนไทยต้องดูหนังแบบนี้ คนไทยพร้อมหรือไม่พร้อมกับหนังแบบไหน” เขาเชื่อว่าถ้าศิลปินทำหนังแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุด มันย่อมไปถึงกลุ่มคนดูของมัน พิสูจน์ได้จากกลุ่มคนดูของเขาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีก่อน รวมทั้งรางวัลต่าง ๆ (โดยเฉพาะรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ สัตว์ประหลาด ได้รับ) ก็เป็นโฉนดยืนยันพื้นที่ในวงการหนังระดับโลก

ในเมื่อยังมีแรงและยังหนุ่มขนาดนี้ ก็สู้ต่อไป
ประการที่ ๒ : อภิชาติพงศ์เป็นนักด้นสด นักทดลอง และนักสัญชาตญาณ

การทำหนังโดยปรกติเริ่มจากการเขียนบทภาพยนตร์แล้วถ่ายทำทุกอย่างตามบท แต่อภิชาติพงศ์เขียนบทเพื่อเป็น “เข็มทิศ” เท่านั้น จากนั้นเมื่อ “ปิ๊ง” ในสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง สถานที่ถ่ายทำ บทสนทนาที่พูดกันเล่น ๆ ฯลฯ เขาจะปรับรื้อบทและถ่ายทำมัน ด้วยเหตุนี้หนังของอภิชาติพงศ์จึง “สด” อยู่เสมอ หลายประโยคที่ตัวละครพูดอาจเกิดจากการด้นสดของนักแสดงหรือมาจากชีวิตของนักแสดงเอง

สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นตั้งแต่ ดอกฟ้าในมือมาร หนังขนาดยาวเรื่องแรก อภิชาติพงศ์กับทีมงานเดินทางท่องเหนือจรดใต้เพื่อถ่ายทำหนังสารคดี โดยให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ “แต่งเรื่องต่อกันไปเรื่อย ๆ” โดยไม่ต้องมีตรรกะใด ๆ ต่อมาเขานำเรื่องที่ชาวบ้านแต่งนี้ไปถ่ายทำเป็นหนังอีกเรื่อง สุดท้ายก็นำหนังเรื่องแรก (สารคดี) และหนังเรื่องหลัง (เรื่องแต่ง) มาตัดต่อรวมกัน ผลลัพธ์กลายเป็นหนังประหลาดเรื่องหนึ่งของโลก

การด้นสดนี้ยังคงอยู่ในแสงศตวรรษ เขาเขียนบทขึ้นมาครึ่งเรื่อง จากนั้นเมื่อเจออะไรที่เข้ามาดลใจก็แก้บทและถ่ายทำไปเรื่อย ๆ เมื่อถ่ายไปได้ครึ่งเรื่องก็หยุดพักไปเขียนบทอีกครึ่งที่เหลือ การ “รื้อสร้างใหม่” เกิดขึ้นในทุก ๆ ส่วนไปจนถึงห้องตัดต่อ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือเขาได้หนังที่ห่างไกลจากบทดั้งเดิมอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นเป็นไร ทำไมเราต้องปล่อยให้สิ่งที่เราเขียนขึ้นมาในเวลาก่อนหน้า กลายเป็นกรอบจำกัดความคิดสร้างสรรค์ด้วยเล่า ?
ประการที่ ๓ : สิ่งสำคัญในงานของอภิชาติพงศ์ก็คือ แรงบันดาลใจและความทรงจำ ซึ่งเป็น ๒ สิ่งอันยิ่งใหญ่ใน แสงศตวรรษ

๓.๑ แสงศตวรรษ เป็นหนังในโครงการ New Crowned Hope ของประเทศออสเตรีย เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ ๒๕๐ ปีของโมสาร์ต หนังในโครงการนี้ไม่ต้องถ่ายทอดประวัติชีวิตหรือใช้ดนตรีของโมสาร์ต แต่ท้าทายให้ ทดลองดูว่าจะถ่ายทอดวิญญาณของโมสาร์ตในงานของคุณได้อย่างไร ? เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเปลี่ยนโมสาร์ตเป็นสุนทรภู่ แทนที่จะถ่ายหนังเรื่อง นิราศเมืองแกลง คุณสามารถทำหนังเกี่ยวกับการเดินทางสุดขอบโลกก็ย่อมได้

อภิชาติพงศ์เลือกอุปรากร “The Magic Flute” ของโมสาร์ต ซึ่งมีธีมเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองความมหัศจรรย์ของมนุษย์ มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ สิ่งวิเศษสุดของมนุษย์ในสายตาของเขาก็คือ การเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์คนหนึ่งเกิดจากพ่อและแม่

๓.๒ อภิชาติพงศ์ตั้งคำถามว่าช่วงเวลาก่อนที่พ่อและแม่จะมาเจอกัน พวกเขามีชีวิตอย่างไร ? ความรักก่อนหน้าเป็นอย่างไร ? นี่ไม่ใช่หนังชีวประวัติ เขาใช้ชีวิตของพ่อแม่มาเป็นจุดกำเนิดแรงบันดาลใจ แล้วพัฒนาไปสู่ไอเดียอื่น ๆ มันยังผสมไปด้วยความทรงจำวัยเด็กในโรงพยาบาล (ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นแพทย์) ความทรงจำที่มีต่อขอนแก่น (บ้านเกิด) และทัศนคติต่อชีวิตในปัจจุบันที่กรุงเทพฯ

ผลลัพธ์ออกมาได้หนังเรื่องหนึ่งที่ถูกแบ่งเป็น ๒ ส่วน เป็นหนังที่ดูคล้ายภาพคอลลาจของหลากชีวิต ไม่มีเนื้อเรื่องอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่สิ่งโดดเด่นก็คือหนังครึ่งแรกเน้นที่คุณหมอผู้หญิง (หมอเตย) ครึ่งหลังเป็นหมอผู้ชาย (หมอหน่อง) ครึ่งแรกเป็นหนังตลก ครึ่งหลังมีกลิ่นไซ-ไฟ ครึ่งแรกเกิดในชนบท ครึ่งหลังเกิดในเมือง ครึ่งแรกดูคล้ายอดีต ครึ่งหลังคล้ายอนาคต

อย่างไรก็ดีทั้งครึ่งแรกและหลังไม่ได้เกิดในโลกแห่งความจริง มันเป็นเพียงพื้นที่แห่งจินตนาการที่ทุกสิ่งในข้างต้นมาปะทะสังสรรค์กัน

ประการที่ ๔ : แสงศตวรรษยังมีความสัมพันธ์กับหนังเรื่องก่อน ๆ ของอภิชาติพงศ์ นั่นคือ ถ้า สัตว์ประหลาด คือความทุกข์ แสงศตวรรษ ก็คือความสุข ถ้า สัตว์ประหลาด คือความมืดมิด แสงศตวรรษ ก็คือความสว่างไสว

สัตว์ประหลาด เหมือนเมฆดำหมองหม่น ส่วน แสงศตวรรษ บางเบาล่องลอยราวกับหมอกจาง ๆ หรือแสงสว่างยามเช้า

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ในหนังขนาดยาวทั้ง ๕ เรื่องของอภิชาติพงศ์ แสงศตวรรษน่าจะเป็นหนังที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ถึงมันจะไม่ได้เป็นหนังที่มีเส้นเรื่องชัดเจน แต่ก็มีความหวือหวาจนเพลิดเพลินไปได้ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะบรรยากาศบาง ๆ ของความรัก

สิ่งที่โดดเด่นเป็นอย่างมากจนกลายเป็นตัวละครสำคัญก็คือ ภูมิทัศน์ (landscape) ในหนังครึ่งแรกเราจะได้เห็นโรงพยาบาลต่างจังหวัดในอดีต ความเขียวขจีร่มรื่น บรรยากาศอันเป็นมิตร

ในครึ่งหลัง เราจะได้เห็นโรงพยาบาลของโลกอนาคต ห้องทำงานของหมอที่อยู่บนยอดตึก ห้องรักษาคนไข้ที่อยู่ชั้นใต้ดิน สภาพโรงพยาบาลสลับซับซ้อน มีความเก่าและใหม่จนเชื่อว่านี่คือกรุงเทพฯ ในโลกอนาคต ส่วนหนึ่งของความเชื่อมาจากว่า ฉากเหล่านี้ไม่ได้มีวัสดุไฮเทค (จนซ้ำซาก) แบบหนังฮอลลีวูด รวมทั้งดนตรีประกอบของ โคอิชิ ชิมิสุ ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างโลกลึกลับแห่งนี้

งานภาพและเสียงของอภิชาติพงศ์รวมตัวเป็น “สัมผัส” ซึ่งคงศักยภาพสูงสุดต่อเมื่อได้รับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

ประการที่ ๕ : หากใช้คำร่วมสมัย คงต้องบอกว่า แสงศตวรรษ เป็นการที่คนทำหนัง “อารยะขัดขืน” ต่อกระแสโลกาภิวัตน์

ที่ใช้คำว่า “อารยะ” เพราะนี่เป็นการโต้ตอบกับโลกาภิวัตน์ด้วยศิลปะ แถมยังถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ด้วยลีลาสุภาพ ไม่ได้บีบบังคับเร่งเร้าเหมือนหนังการเมืองและสารคดี

แสงศตวรรษ คือการชำเลืองมองแห่งศตวรรษ (glance of the century) เป็นการมองเพียงแวบเดียวอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกมองไปยังอดีต ครั้งหลังมองไปยังปัจจุบันและอนาคต

อภิชาติพงศ์จับตัวละครชุดเดิมไปเล่นบทบาทเดิม แต่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน คนดูจึงมีโอกาสเฝ้าสังเกตความเหมือนและความไม่เหมือนของครึ่งแรกและหลัง

โลกาภิวัตน์และทุนนิยมเปลี่ยนเมืองเล็กกลายเป็นเมืองใหญ่ เทคโนโลยีก้าวไกล แต่น่าแปลกไหมที่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอีกกี่ร้อยปี สุดท้ายมนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม พูดเหมือนเดิม ต้องมาโรงพยาบาลเหมือนเดิม ต้องการความรักความใคร่เหมือนเดิม

มันน่าเศร้าไหมที่สุดท้ายเราก็เปลี่ยนแค่เฟอร์นิเจอร์รอบตัว เรากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดกับดักที่ตัวเองวางไว้ เราสร้างสิ่งรกรุงรัง และสุดท้ายมันก็ค่อย ๆ กลืนกินตัวเรา

แต่มนุษย์ก็ไม่เหมือนเดิมสักทีเดียว จากการเปรียบเทียบหนังทั้ง ๒ ส่วน อดคิดไม่ได้ว่าระหว่างมนุษย์ในอดีตกับมนุษย์ในปัจจุบัน (และอนาคต) ใครกันที่มีความสุขมากกว่า ? ในหนังครึ่งหลังมนุษย์กล้าแสดงความเป็นมนุษย์น้อยลง พวกเขาโดดเดี่ยว ติดอยู่กับตัวเอง ดูคล้ายเครื่องจักรที่มีเศษเสี้ยวอารมณ์เหลืออยู่ ตัวละครเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมองติดสารพิษเป็นตัวละครที่บอกแนวคิดนี้ได้ดี

ระหว่างการดูหนังครึ่งหลัง ความทรงจำเกี่ยวกับหนังครึ่งแรกก็ผุดขึ้นมาให้เปรียบเทียบ ภาพหมอฟันในอดีตร้องเพลงให้คนไข้ฟัง ปะทะกับภาพหมอฟันอีกคนที่ไม่พูดจาอะไรนอกจากเรื่องงาน ภาพมนุษย์เดินเล่นอยู่กลางสวน ปะทะกับภาพมนุษย์เดินพาเหรดในตึกคอนกรีต ภาพการทำกายภาพบำบัดที่หมอดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด ปะทะกับภาพฝูงชนออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ภาพสุริยุปราคาในธรรมชาติ ปะทะกับภาพท่อดูดก๊าซที่มืดมิดราวกับดูดวิญญาณของมนุษย์เข้าไป

มี ๒ ฉากที่กระทบใจผู้เขียนมาก ฉากแรกเกิดขึ้นเมื่อหญิงสาวพยายามชวนหมอหน่องย้ายไปทำงานที่ชลบุรี หญิงสาวมั่นใจว่าเธอจะมีความสุขในสถานที่แห่งนั้น เธอเปิดอัลบั้มรูป แล้วเราก็เห็นภาพการก่อสร้างเมืองแห่งอนาคตที่หวือหวาแต่ไร้ชีวิต ภาพแต่ละภาพตีแสกหน้าเราเข้าอย่างจัง

หลังจากดูอัลบั้มรูป หมอหน่องก็เปลี่ยนเรื่องคุย บอกเป็นนัยว่าไม่อยากไปด้วย เรามองเห็นความเจ็บปวดในดวงตาของหญิงสาว

นี่ละ…แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปเท่าไร มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ

ฉากที่ ๒ เกิดขึ้นในห้องทำงานของหมอเตย ในครึ่งแรกเป็นห้องโปร่ง ๆ ที่เพียงหมอเตยมองออกไปนอกหน้าต่าง ก็จะได้เห็นทุ่งนาเขียวชอุ่ม แต่ในโลกอนาคตครึ่งหลังนั้น ห้องทำงานของหมอเตยเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มืด ๆ ทุ่งหญ้าเขียวนอกหน้าต่างถูกแทนที่ด้วยผ้าม่านสีเขียวหม่น

หมอเตยจะรู้บ้างไหมว่าเธอเคยอยู่ในห้องทำงานที่สดใสกว่านี้
ประการที่ ๖ : ในแง่ของเรื่องเล่า ผู้คนทั่วไปมักมีกรอบความคิดว่า เรื่องเล่าในภาพยนตร์นั้นต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดจบ การลำดับอารมณ์แบบดรามา การสร้างตัวละครที่มีจุดมุ่งหมายบางอย่าง แต่อภิชาติพงศ์เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ เขาสลายองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องเล่าจนเหลือเพียงความคำนึงบาง ๆ ซ้อนทับกันไปมา

แสงศตวรรษ ทำให้เรารำลึกได้ว่า เอกลักษณ์ของสื่อภาพยนตร์ที่สื่ออื่น ๆ ไม่สามารถคว้าไปได้ก็คือ “การสร้างภาพฝัน” ในโลกของหนังเรื่องนี้เป็นดินแดนแห่งความลับ เราไม่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฉากต่อไป ตัวละครแต่ละตัว เนื้อเรื่องแต่ละส่วนไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ เป็นคำถามปลายเปิดที่ปล่อยให้เราคิดต่อเองได้ไม่สิ้นสุด

ตัวอย่างเช่นในฉากที่หมอเตยเล่าให้ข้าราชการที่มาจีบเธอฟังว่า เธอเคยหลงรักคนคนหนึ่ง ภาพตัดไปเป็นเหตุการณ์ในอดีต เธอเจอกับผู้ชายคนนั้น เดินเที่ยวกับเขาในโอกาสต่าง ๆ มันเป็นเรื่องเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไม่มีจุดจบ แล้วเธอก็ไปเจอกับป้าเจน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเหมือนกัน) อยู่ดี ๆ หนังก็เปลี่ยนคนเล่าเรื่องเมื่อป้าเจนเล่านิทานเกี่ยวกับคนละโมบ (ที่ตลกก็คือนิทานเรื่องนี้เคยถูกเล่าในหนังเรื่องสัตว์ประหลาดมาแล้ว) หมอเตยกับป้าเจนไปเที่ยวด้วยกัน แล้วป้าเจนเล่านิทานอีกเรื่องว่าด้วยสุริยุปราคา จากนั้นก็เปลี่ยนมุมมองมาที่หมอเตยใหม่ เธอเล่าไปอีกสักพัก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับตัวเธอก็ค่อย ๆ จางหายกลายเป็นชีวิตตัวละครตัวอื่น

เหมือนหยดสีละลายในน้ำแล้วอันตรธานไปพร้อม ๆ กับสีใหม่ที่หยดลงมา
ประการที่ ๗ : การดูหนังของอภิชาติพงศ์คล้ายกับการนั่งสมาธิอีกด้วย มันเป็นทั้งการปล่อยวางและการควบคุมสติไปพร้อมกัน

สำหรับผู้ชมที่สามารถรับคลื่นความถี่ในงานของเขาได้ ช่วงเวลา ๒๐ นาทีสุดท้ายในหนังของเขามักเป็นช่วงเวลาที่จิตนิ่งมาก นิ่งราวกับนั่งสมาธิ

โดยปรกติแล้วภาพยนตร์กับการนั่งสมาธิไม่น่าจะข้องเกี่ยวกัน เพราะภาพยนตร์เป็นของร้อน เป็นมายาที่ล่อหลอกให้คนดูหลงระเริง แต่ทั้งสองก็คล้ายกันตรงที่เป็นสภาวะที่ตัดทุกอย่างรอบข้างออกไป โรงหนังที่มืดมิดก็เหมือนการผลักให้ผู้ชมอยู่กับตัวเองและสิ่งตรงหน้า ยิ่งหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ได้เร้าอารมณ์ผู้ชมด้วยวิธีการทั่วไป (เช่นให้เราเอาใจช่วยตัวละคร) เราจึงได้มีสติอยู่กับตัวเองมากขึ้น เป็นความดื่มด่ำรูปแบบหนึ่ง

หลายคนที่ไม่คุ้นกับหนังของเขา มักนั่งหงุดหงิดหรืองีบหลับไป คล้ายคนที่ไม่ค่อยได้ฝึกนั่งสมาธิ อย่างไรก็ดีผู้เขียนมิได้หมายความว่าคนที่นั่งสมาธิเป็นประจำจะเข้าถึง แสงศตวรรษ ได้มากกว่าผู้อื่น

ผู้เขียนสังเกตว่าใน แสงศตวรรษ มีฉากหนึ่งที่แปลกประหลาดมาก เพราะเป็นฉากที่สมาธิและการสะกดจิตปะทะกัน สมาธิคือการรู้ตัว สะกดจิตคือการถูกชักจูง ทั้งคู่ดูเหมือนตรงกันข้ามแต่ก็สามารถอยู่ด้วยกันได้

ฉากดังกล่าวคือฉาก “การรักษาด้วยพลังจักระ” หมอคนหนึ่งกำลังรักษาคนไข้ด้วยการสะกดจิตให้คิดถึงภาพธรรมชาติ ในขณะที่หมออีกคนหนึ่งจ้องคนดู (ด้วยการจ้องมาที่กล้องถ่ายหนัง)

มันเป็นการสะกดจิตคนดูไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นให้คนดูรู้ตัว มันบอกให้คนดูเคลิ้มไปกับหนัง แต่ขณะเดียวกันก็เขย่าตัวคนดูแล้วบอกว่า “คุณกำลังดูหนังอยู่นะ” มันช่วยไม่ได้ที่สายตาของผู้ชมจะต้องจ้องมองใบหน้าของหมอคนหนึ่งโดยอัตโนมัติ แต่หูก็เผลอไปได้ยินเสียงหมออีกคนหนึ่งสะกดจิตคนไข้

การทั้งดึงเข้าและผลักออก ทำให้คนดูตกอยู่ในภวังค์อันแปลกประหลาด แต่เนื่องจากฉากนี้ยังไม่ใช่จุดสูงสุดทางอารมณ์ของหนัง (ซึ่งอยู่ในฉาก “ท่อดูดวิญญาณ”) อภิชาติพงศ์ก็ฉลาดพอที่จะปิดฉากด้วยมุกตลกครั้งใหญ่จนผู้ชมหัวเราะแล้วหลุดออกมาอยู่ในสภาพปรกติ

สิ่งเหล่านี้เป็นมายาทั้งสิ้น มายาของคนดู กิเลสของคนสร้าง น่าสนใจดีที่อภิชาติพงศ์ได้สร้างมายาที่คล้ายการนั่งสมาธิ รู้แจ้งอดีต มองเห็นอนาคต

ถึง แสงศตวรรษ จะเป็นมายา แต่ก็ทำให้จิตสงบนิ่งอยู่ชั่วขณะ ซึ่งสร้างความสุขอย่างมากให้แก่ผู้เขียน

เป็นความสุขของความนิ่งที่หาได้อย่างยากยิ่งในเมืองใหญ่