สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” งานแห่งชีวิตของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ชื่อ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้รับการพูดถึงพร้อมโครงการ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” อันเป็นรูปธรรมของแนวคิดในการสร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” แม้ระยะต้นโครงการนี้จะประสบอุปสรรคปัญหานานัปการ แต่คุณูปการที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังขาดแคลนและยากจน ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน
วันนี้คนไทยประมาณ ๔๗.๗ ล้านคนได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายเพียงเล็กน้อยตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เท่าเทียมข้าราชการที่มีสิทธิในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ๔.๙ ล้านคน และลูกจ้างแรงงานในกองทุนประกันสังคม ๙.๙ ล้านคน
นพ.สงวนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ ขณะดอกผลแห่งความฝันและความอุตสาหะกำลังงอกงามและได้รับการสานต่อ ชีวิตและผลงานอันเป็นตำนานของชายผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญแก่การสาธารณสุขไทยนี้จึงควรค่าแก่การศึกษายิ่ง
หมออนามัยและเรื่องหลากมิติของงานสุขภาพชุมชน
บันทึกชีวิตและการทำงานของกลุ่มคนทำงานสุขภาพชุมชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่อนามัย นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ทันตาภิบาล ที่ประจำอยู่ตามสถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือศูนย์สุขภาพชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่เกือบ ๕๐,๐๐๐ คน และมักถูกเรียกขานว่า “หมออนามัย” รวมทั้งแพทย์และพยาบาลในแผนกเวชปฏิบัติครอบครัวของโรงพยาบาลระดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งมีจำนวนหลายพันคน
หน้าที่ของหมออนามัยและคนทำงานสุขภาพชุมชนไม่ได้จบลงเพียงแค่ดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาแพทย์เท่านั้น เพราะชีวิตที่คลุกคลีใกล้ชิดกับชุมชน พวกเขาจึงต้องเข้าไปสัมพันธ์และเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน
หลายกรณีต้องเข้าไปช่วยเป็นกำลังใจหรือแก้ไขปัญหาชีวิตให้แก่คนไข้และครอบครัวอย่างใกล้ชิด ขณะที่หมออนามัยบางคนต้องจากบ้านไปทำงานในชนบทที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือในพื้นที่เสี่ยงอันตราย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนทำงานสุขภาพชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนท้องถิ่นชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ