Green News
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

โฟมพอลิสไตรีนขึ้นรูปเป็นกล่องโฟมบรรจุอาหาร  ใช้งานได้เพียงครั้งเดียวก็ต้องทิ้งกลายเป็นขยะไม่เน่าเปื่อยหรือย่อยสลายช้า  หากเผาทำลาย กล่องโฟมซึ่งผลิตจากปิโตรเลียมก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสารที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อทำให้เกิดการพองตัว เป็นตัวเร่งทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ

นักศึกษาและอาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ และสถานวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงหาวิธีนำกล่องโฟมใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ซ้ำ โดยผสมเข้ากับน้ำยางพาราที่เติมสารเชื่อมขวาง และเสริมแรงด้วยขยะใบข้าวโพดหรือใบอ้อย  แปรรูปเป็นวัสดุตั้งต้นทำกรอบรูป ขาเทียม แผ่นรองพื้น ฯลฯ

รศ.ดร. สอาด ริยะจันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยหัวข้อ “การเตรียมและสมบัติของพอลิเมอร์แบบกึ่งสอดไขว้จากยางธรรมชาติและโฟมพอลิสไตรีนที่เสริมแรงด้วยเซลลูโลสดัดแปร” กล่าวว่า

“โดยทั่วไปหากนำกล่องโฟมใช้แล้วมาแปรรูป ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะแข็งและเปราะ แต่เมื่อเรานำโฟมมาผสมกับเซลลูโลสจากใบพืช คือ อ้อย ข้าวโพด ร่วมด้วยน้ำยางพารา เราพบว่าผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นกว่า รวมทั้งมีน้ำหนักเบาและมีลวดลายตามธรรมชาติด้วย”

นั่นเพราะเซลลูโลสจากพืชช่วยเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่น  เช่นเดียวกับใบพืชที่มีเซลลูโลสมากจะมีความเหนียว ฉีกขาดยากกว่าใบพืชที่มีเซลลูโลสน้อย

รศ.ดร. สอาดอธิบายว่า นี่เป็นเหตุผลในการเลือกใช้ใบอ้อยหรือใบข้าวโพดเนื่องจากมีเซลลูโลสสูง  ประเทศไทยยังมีพื้นที่ปลูกอ้อยถึง ๙ ล้านไร่  หลังเก็บเกี่ยวแล้วโดยทั่วไปใบอ้อยมักถูกกำจัดด้วยวิธีเผา ก่อให้เกิดควันไฟส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

ใบอ้อยที่ใช้ในการวิจัยนี้นำมาจากเกษตรกรในอำเภอหาดใหญ่ซึ่งปลูกอ้อยอยู่ในพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ทดลองนำกล่องโฟมใช้แล้วมาแปรรูป ทว่าสัดส่วนของกล่องโฟมสูงถึงราวร้อยละ ๙๕ และไม่มีการใส่เซลลูโลสจากพืช  ขณะที่งานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษากลุ่มนี้ใส่เซลลูโลสจากใบอ้อยหรือใบข้าวโพดลงไปในอัตราส่วนสูงสุดถึงครึ่งหนึ่ง

อิศรา อินทฤทธิ์  ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ เจ้าของผลงานวิจัยอธิบายและยกตัวอย่างประกอบว่า “ในการวิจัยเราทดลองใช้ส่วนผสมหลายสูตร ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ผลิตภัณฑ์มีสมบัติอย่างไร ปริมาณใบอ้อยที่เราใช้สูงสุดมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่ง  หมายถึงถ้ามีการใช้กล่องโฟมเป็นส่วนประกอบ ๕๐ กรัม รวมกับน้ำยางพารา ๕๐ กรัม ก็จะมีใบอ้อย ๑๐๐ กรัม”

เมื่อนำผลผลิตไปศึกษาเรื่องการทนทานแรงกระแทก การต้านทานการลามไฟ พบว่ามีค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณเซลลูโลสจากใบอ้อย  ทนความร้อน ทั้งยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ  เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านการตลาดพบว่าเหมาะที่จะใช้เป็นวัสดุสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ กรอบรูป แผ่นปูพื้น วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งกายอุปกรณ์เช่นขาเทียม  เขาอธิบายการทำกายอุปกรณ์นี้ว่า

“พอลิเมอร์ผสมที่ออกมาอยู่ในรูปอิมัลชันง่ายต่อการขึ้นรูปทำขาเทียม โดยใช้วิธีเดียวกับการหล่อเรซิน  เบื้องต้นเรายังพบว่าราคาวัสดุถูกกว่าราคาขาเทียมทางการค้า ๒-๓ เท่า”

จากกล่องโฟมใช้ครั้งเดียวทิ้งและใบอ้อยที่เดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก่อเกิดเป็นวัสดุที่มีประโยชน์  งานวิจัยนี้นับว่าช่วยลดปัญหาขยะ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาโลกร้อน

หมายเหตุ : งานวิจัยเรื่อง “การเตรียมและสมบัติของพอลิเมอร์แบบกึ่งสอดไขว้จากยางธรรมชาติและโฟมพอลิสไตรีนที่เสริมแรงด้วยเซลลูโลสดัดแปร” โดย อิศรา อินทฤทธิ์ และ ดลยา สาบวช  ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดโครงการรางวัลความคิดริเริ่มทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (STISA) ครั้งที่ ๕ ประจำปี ๒๕๕๕ จัดโดยบริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย ร่วมกับบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ และสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (สวคท.)