โลกใบใหญ่ / ศิลปะ
สุชาดา ลิมป์ : รายงานและถ่ายภาพ
เรากำลังอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง หรือที่เรียกกันว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองเก่า” ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจัดแสดง “เครื่องถ้วยสังคโลกแท้” ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ในสมัยนั้น ชาวศรีสัชนาลัยผลิตเครื่องสังคโลกกันเป็นล่ำเป็นสัน ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดีจนเป็นสินค้าส่งออกข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองจีน ญี่ปุ่น และยุโรป โดยมีอยุธยาเป็นพ่อค้าคนกลาง
“ชามรูปทรงคล้ายกะลามะพร้าวนี้ เป็นเครื่องถ้วยสังคโลกสุโขทัย ซึ่งผมสันนิษฐานว่าเป็นสังคโลกรุ่นแรก ๆ ยุคนั้นขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และมีป่าพร้าวอยู่มาก ชาวสุโขทัยอาจผลิตเครื่องสังคโลกรูปทรงคล้ายกะลามะพร้าว แทนการใช้กะลามะพร้าวเป็นภาชนะใส่อาหาร”
คุณสมเดช พ่วงแผน ปราชญ์ท้องถิ่นชาวเมืองเก่า สุโขทัย บอกเล่าที่มาที่ไปของเครื่องสังคโลกแต่ละชิ้น เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการพลิกฟื้นศึกษาเรื่องดิน น้ำเคลือบ วิธีเผา จนมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องสังคโลกเลียนแบบของโบราณ และคิดค้นรูปแบบใหม่ ๆ จนได้รับความนิยมจำหน่ายเป็นของที่ระลึกและของตกแต่งบ้าน
ตั้งแต่วัยเด็ก สมเดชเติบโตมาในบ้านที่เต็มไปด้วยเครื่องสังคโลกโบราณ เนื่องจากชาวบ้านที่ขุดพบมักนำมาขายต่อบิดาของเขาซึ่งเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลเมืองเก่า เป็นแรงบันดาลใจให้เขาผูกพันและศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องสังคโลกในเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะเรื่อยมา
สมเดชเล่าว่าเตาผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญของสุโขทัยมี ๒ แหล่ง แหล่งแรกคือบริเวณริมลำน้ำโจน ด้านทิศเหนือของเมืองสุโขทัยเก่า ซึ่งเมื่อเกิดสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาก็หยุดผลิต และย้ายมาใช้แหล่งเตาริมฝั่งแม่น้ำยม เมืองศรีสัชนาลัย โดยปรกติแหล่งเตาผลิตจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เพราะต้องอาศัยวัตถุดิบหลักคือดินเหนียว และที่สำคัญคือสะดวกในการขนส่งทางเรือ
เครื่องสังคโลกไม่ได้มีเพียงของใช้สอย ชาวสุโขทัยยังช่างคิดประดิษฐ์เป็นตุ๊กตา เช่น ตุ๊กตามวยปล้ำ หรือตุ๊กตาเสียกบาล ซึ่งสันนิษฐานว่าชาวสุโขทัยใช้สะเดาะเคราะห์ โดยปั้นตุ๊กตาเพศเดียวกับผู้ป่วยแล้วหักคอนำไปตั้งที่ทางสามแพร่ง เพื่อหลอกผีว่าคนป่วยตายไปแล้ว
“บ้านสุเทพ สังคโลก” ของ สุเทพ พรมเพ็ชร ชาวอำเภอศรีสัชนาลัย เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์เครื่องถ้วยสังคโลก โดยเขาได้ผลิตเลียนแบบรูปทรงและลวดลายของโบราณ ด้วยฝีมือประณีตจนแทบแยกไม่ออกว่าแท้จริงแล้วเป็นของทำขึ้นใหม่
เครื่องสังคโลกของที่นี่แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือชนิดเนื้ออ่อน (หรือเนื้อดิน) มีสีส้มอมแดง ผิวด้านนอกไม่เคลือบ แต่จะใช้วิธีขัดผิวจนมันแล้วชุบน้ำดินสีแดงก่อนตบแต่งลวดลาย อีกชนิดคือ ชนิดเนื้อแข็ง (หรือเนื้อหิน) ใช้ทำภาชนะใส่ของเหลว เช่น ครก สาก ไห โอ่ง เป็นต้น ด้วยวิธีเผาโดยใช้อุณหภูมิสูงกว่าชนิดเนื้ออ่อน ภาชนะบางชนิดเขียนลายก่อนชุบเคลือบแล้วค่อยนำไปเผา ลวดลายจะออกสีน้ำเงินเข้ม ดำ น้ำตาล งดงามมาก และมีราคาสูง
เทคนิคการตกแต่งสีมีหลากหลาย เช่น การเคลือบด้วยสีน้ำตาล สีเขียวไข่กา สีขาว เป็นต้น ลวดลายเฉพาะตัวก็มีมาก เช่น กงจักร พระอาทิตย์ ดอกไม้ก้านขด ฯลฯ ลายพิเศษสุดอันถือเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย คือลายปลา ดังจารึกบนศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”