เรื่องและภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ตะลุยมาดาร์กัสการ ์ตามหาเบาบับและลีเมอร์

วิถีชีวิตของชาวมาลากาซีในชนบทริมลำน้ำสายหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศ

ชาวมาลากาซีสืบเชื้อสายมาจากชาวอินโด-มาเลย์ ชนชาติแรกที่มาขึ้นฝั่งบนเกาะนี้เมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน

มาดาร์กัสการ์ อาจเป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะแหล่งค้าพลอย เป็นเกาะใหญ่ อันดับ ๔ ของโลก รองจากเกาะกรีนแลนด์ นิวกินี และบอร์เนียว อยู่ห่างจากประเทศไทยประมาณ ๖,๐๐๐ กิโลเมตร

เราใช้เวลาเดินทางร่วม ๑๐ ชั่วโมงกว่า โดยสายการบินแอร์มาดากัสการ์ที่บินตรงจากกรุงเทพมหานครมุ่งสู่เกาะใหญ่ใจกลางมหาสมุทรอินเดีย

ไม่น่าเชื่อว่าบรรพบุรุษของชาวมาดากัสการ์ หรือภาษาพื้นเมืองว่า มาลากาซี ไม่ใช่คนผิวดำที่อพยพมาจากทวีปแอฟริกาที่ห่างออกไปเพียง ๔๐๐ กว่ากิโลเมตรทางตะวันตก หากเป็นคนอินโด-มาเลย์ ผู้หาญกล้าเดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลร่วม ๖,๐๐๐ กิโลเมตรมาขึ้นฝั่งที่นี่

เราใช้เวลา ๑๐ ชั่วโมงบินตรงข้ามมหาสมุทรอินเดียมาถึงที่นี่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าชาวทะเลจากอุษาคเนย์ใช้เวลากี่เดือนกว่าจะแล่นเรือข้ามมหาสมุทรอินเดีย เลียบชายฝั่งทางใต้ของอินเดียถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา จนมาถึงเกาะแห่งนี้เมื่อราว ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีก่อน

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ผู้คนแห่งอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลบริเวณเกาะสุมาตราและสามารถคุมเส้นทางการค้าในมหาสมุทรอินเดีย ได้เคยล่องเรือไกลมาถึงเกาะมาดากัสการ์ และถือว่าเป็นชนชาติรุ่นแรกที่มาขึ้นฝั่งบนเกาะนี้ แล้วตั้งรกรากออกลูกออกหลานเป็นบรรพบุรุษของชาวมาดากัสการ์ ก่อนที่ชาวอาหรับ-ชาวแอฟริกันจะเดินทางมาถึงในอีกหลายร้อยปีต่อมา

เกาะแห่งนี้มีพื้นที่ ๕๘๗,๐๔๑ ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศอังกฤษสองเท่าครึ่ง มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทยหรือฝรั่งเศส ได้รับฉายาว่าเป็น “ทวีปแห่งที่ ๘ ของโลก” จากเดิมที่โลกนี้มีแผ่นดินอยู่ ๗ ทวีป

เหตุใดเกาะเล็กๆ จึงได้รับยกย่องเป็นทวีปอีกแห่งของโลก ลองไปค้นหาคำตอบกัน

 

ตำนานแห่งมาดากัสการ์

ก่อนจะถึงมาดากัสการ์ราว ๒๐๐ กิโลเมตร เครื่องบินแวะลงจอดที่เกาะ Reunion  กลางมหาสมุทรอินเดีย เพื่อขนถ่ายผู้โดยสารและเติมน้ำมัน สารภาพว่าในชีวิตนี้ก็เพิ่งได้ยินชื่อเกาะเล็กๆ นี้เป็นครั้งแรก เกาะนี้มีพื้นที่ ๑.๕ ล้านไร่ ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครของเรา เป็นเกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เป็นอาณานิคมไม่กี่แห่งบนโลกที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน นอกจากเป็นจุดแวะพักแล้ว ในช่วงที่มีการเปิดคลองสุเอซเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๙ เกาะแห่งนี้ยังเป็นที่พักแรมของบรรดาเรือสินค้าต่างๆ ที่แล่นออกจากคลองสุเอซ

เกาะ Reunion ใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลักตามอย่างประเทศแม่ กล่าวกันว่าตอนที่มีการประกาศใช้เงินยูโรเป็นวันแรก เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งแรกในโลกที่ใช้เงินสกุลนี้ เพราะที่ตั้งของเกาะอยู่ด้านตะวันออกที่สุด ขึ้นเช้าวันใหม่ก่อนประเทศในยุโรปใดๆ ที่ใช้เงินสกุลนี้

พอเครื่องบินร่อนลงแตะพื้นเป็นครั้งที่สองบนแผ่นดินมาดากัสการ์ ในอาคารที่พักผู้โดยสาร นอกจากป้ายโฆษณาเหมือนกับสนามบินนานาชาติแห่งอื่นๆ แล้ว เราสะดุดตากับโปสเตอร์หลายแผ่นเตือนนักท่องเที่ยวว่า การเที่ยวโสเภณีเด็กในประเทศนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (แต่ไม่ได้บอกว่าการเที่ยวโสเภณีอย่างอื่นผิดกฎหมายหรือไม่)

น่าสนใจที่รัฐบาลมาดากัสการ์แสดงความกล้าหาญในการพูดถึงปัญหาสังคมของประเทศเวลานี้แก่นักท่องเที่ยว แน่นอนเราคงไม่มีโอกาสเห็นป้ายเตือนสตินักท่องเที่ยวในสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ว่าปัญหาโสเภณีเด็กบ้านเราจะติดอันดับโลกแซงหน้ามาดากัสการ์เสียอีก

ราคาป้ายโฆษณาคงมีค่ามากกว่าการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว

การปลูกข้าวเป็นอาชีพลักของคนมาลากาซี เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวอินโด-มาเลย์

สองข้างทางระหว่างที่รถแล่นเข้าเมืองหลวงอันตานานาริโว หรือเมืองตานา ที่มีประชากรอาศัยกว่า ๒ ล้านคน เราเห็นทุ่งนาเขียวขจี เห็นชาวนากำลังเทียมเกวียนไถนา เห็นควายตัวเป็นๆ ไม่ใช่ควายเหล็กแบบบ้านเรา รู้สึกอุ่นใจว่าคนแถวนี้กินข้าวเจ้าเหมือนบ้านเรา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมตกทอดสืบมาตั้งแต่สมัยที่ชาวอินโด-มาเลย์อพยพมาขึ้นฝั่งที่นี่ นั่นเป็นเหตุให้ชาวมาลากาซีนิยมกินอาหารแบบคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า กินอาหารแบบคนแอฟริกัน

ชาวมาลากาซีเดินเล่นบนผืนทรายในเขตแห้งแล้งทางตอนใต้ของเกาะ

ชาวมาลากาซีร้อยละ ๘๐ เป็นเกษตรกร ปลูกข้าวเจ้าเป็นหลักไม่ต่างกับคนแถวอุษาคเนย์ อยู่บนเกาะนี้จึงไม่ต้องกลัวไม่มีข้าวเจ้ากิน ช่างไม่เหมือนกับเดินทางมาทวีปแอฟริกาที่คนส่วนใหญ่กินแป้งคล้ายโรตีเป็นอาหารหลักเลย

พอเข้าไปในเมืองหลวง อาหารมาลากาซีมื้อแรกของเรามีหน้าตาคล้ายข้าวแกงไก่แบบมุสลิม เรียกว่ารามาซาวา แต่รสชาติของแกงไก่คล้ายจับฉ่ายมากกว่า อร่อยถูกปาก ประชากรมาลากาซีราว ๑๗ ล้านคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามพอๆ กับศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ลักษณะรูปพรรณของชาวมาลากาซีเป็นลูกผสมระหว่างชาวอินโด-มาเลย์กับชาวแอฟริกันและยังมีลูกผสมของพวกอาหรับที่มาสำรวจตั้งสถานีการค้าขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ และบันทึกเรื่องราวของเกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก รวมถึงลูกผสมของโปรตุเกสซึ่งเป็นฝรั่งชาติแรกที่ค้นพบเกาะนี้ในปี ค.ศ. ๑๕๐๐

ความหลากหลายทางเชื้อชาติเหล่านี้ทำให้ปัจจุบันบนเกาะนี้มีประชากรถึง ๑๘ เผ่าพันธุ์ แต่ก็ยังอยู่ร่วมกันได้ ไม่ค่อยมีความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตายกันเป็นล้านๆ คนเหมือนกับหลายประเทศในแอฟริกาขณะนี้

เมืองตานาตั้งอยู่บนเนินเขา ๑๒ ลูก บ้านเรือนและอาคาร ส่วนใหญ่จึงอยู่สูงๆ ต่ำๆ ตามทางลาดของเนินเขา จีโน่ ไกด์ผิวหมึกบอกเราว่า การตั้งบ้านเรือนของชาวมาลากาซีเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะทางสังคมด้วย

“บ้านคนจนจะอยู่ติดพื้นราบ หากมีเงินหน่อยก็จะอยู่สูงขึ้นไป และบนยอดเนินเขาจะเป็นบ้านของคนรวย” จีโน่ให้เราสังเกต

บ้านพักอาศัยของผู้มีอันจะกินในมาดากัสการ์

ตานาเป็นเมืองหลวงขนาดเล็ก นั่งรถไม่ถึงวันก็เที่ยวได้ทั่วเมืองแล้ว มีทะเลสาบอาโนซีอยู่กลางเมืองล้อมรอบด้วยต้นศรีตรัง เมืองหลวงแห่งนี้ในทางภูมิศาสตร์แบ่งเป็นสองส่วน คือตานาบนและตานาล่าง ตานาบนคือส่วนบนเขาใจกลางเมือง เป็นย่านผู้มีอันจะกินอาศัยอยู่ รวมไปถึงร้านอาหาร โรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว และที่ตั้งสถานทูต องค์การระหว่างประเทศ ถือเป็นย่านอาศัยของชนชั้นสูง ต่ำลงมาหน่อยเป็นย่านการค้า ที่ตั้งของสถานที่ราชการ ส่วนตานาล่างคือบริเวณที่ราบรอบๆ เมือง เมื่อก่อนเป็นย่านคนจนอาศัยอยู่ แต่เมื่อเมืองขยายตัวขึ้น ประชากรเพิ่มมากขึ้น คนจนเหล่านี้ก็ถูกรุกไล่ สลัมถูกเปลี่ยนกลายเป็นย่านการค้าเล็กๆ มีตึกแถว สนามกีฬา ตลาดนัด ไม่ไกลออกไปยังเป็นถิ่นสลัมย่านคนจน เต็มไปด้วยบ้านชั้นเดียวติดดิน หลายหลังเป็นบ้านดินที่สร้างกันมานานแล้ว

สภาพอาคารบ้านเรือนบนถนน Independence Avenue ถนนสายหลักของเมืองตานา

ร้านขายของที่ระลึกย่านตลาดลาดีก ชานเมืองตานา

หญิงมาลากาซี อุ้มลูกมาขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวบริเวณชานเมืองตานา

คนงานหญิงกำลังตากเส้นใยจากใบของป่านศรนารายณ์ก่อนจะำนำไปทำเชือกและของที่ระลึกต่างๆ

สภาพบ้านเรือนบนถนนหลายสายคล้ายกับบ้านสไตล์ฝรั่งเศส ยิ่งมาเดินบนถนน Independence Avenue ถนนสายหลักของเมืองหลวงซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าและสถานีรถไฟ จะพบว่าอาคารสองฟากล้วนเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสสมัยที่เคยตกเป็นอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

อย่างที่บอกแต่แรกว่า ชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งผู้ค้นพบเกาะนี้เป็นชาติแรก และเกาะใหญ่แห่งนี้ได้กลายเป็นเกาะสวรรค์ที่พักของกองเรือโจรสลัดนานาชาติ อาทิโจรสลัดจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และได้กลายเป็นแหล่งซื้อขายทาสรายใหญ่ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวมาลากาซีที่มีหลายเผ่าพันธุ์ได้ก่อตั้งอาณาจักรของพวกเขาเองหลายแคว้นทั่วเกาะ แต่ละแคว้นมีกษัตริย์ปกครองกันเองไม่ขึ้นกับใคร และมีประเพณีวัฒนธรรมของเผ่าตนเอง จนกระทั่งพวกเผ่าเมอรินาที่อยู่ภาคกลางของเกาะ
ได้เข้าโจมตีแคว้นอื่นและสามารถครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะได้ อาณาจักรเมอรินาจึงเข้มแข็งที่สุด แต่ก็อยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปี เมื่อจักรวรรดิฝรั่งเศสได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๔๑ โดยยึดทางเหนือของเกาะเป็นฐานที่มั่น และใช้เวลาไม่กี่สิบปีค่อยๆ รุกคืบไปเรื่อยๆ สุดท้ายในปี ค.ศ. ๑๘๙๖ ทหารฝรั่งเศสก็สามารถยึดได้ทั้งเกาะ ราชวงศ์เมอรินาถึงกาลล่มสลาย ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่นั้นมาวัฒนธรรมของฝรั่งเศสได้แทรกซึมเข้ามาสู่เกาะแห่งนี้ ตั้งแต่อาหารการกิน อาคารบ้านเรือน และภาษาจนถึงทุกวันนี้

มาดากัสการ์เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสแพ้เยอรมนี มาดากัสการ์ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลหุ่นฝรั่งเศสที่มีเยอรมนีชักใยอยู่เบื้องหลัง ฮิตเลอร์มีแผนการที่จะอพยพพวกยิวในยุโรปทั้งหมดมาไว้บนเกาะแห่งนี้ เรียกว่า แผนมาดากัสการ์ แต่แผนนี้ยังไม่ทันได้นำออกมาใช้ เยอรมนีก็แพ้สงครามก่อน

ไม่มีใครรู้ว่า ฮิตเลอร์วางแผนจะมาสร้างห้องรมแก๊สเพื่อฆ่าหมู่ชาวยิวที่นี่ หรือเพียงปรานีแค่เอาชาวยิวมาปล่อยเกาะอย่างเดียว

เราเดินผ่านอาคารหลายหลังที่เคยเป็นที่ทำการของรัฐบาลฝรั่งเศสสมัยมาปกครองเกาะแห่งนี้ จีโน่บอกว่าราว ๖๐ ปีก่อนถนนสายนี้มีการก่อการจลาจล เมื่อชาวมาลากาซีลุกฮือขึ้นต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝรั่งเศสก็ไม่ต่างจากชาติมหาอำนาจอื่นที่ยังไม่ยอมปล่อยให้อาณานิคมเป็นอิสระ แม้ว่าชาวมาลากาซีจะถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบในต่างแดนตามคำสั่งของเจ้าอาณานิคม เสียชีวิตนอกมาตุภูมิก็มาก แต่พอสงครามสงบ เจ้าอาณานิคมก็ยังไม่ยอมให้เอกราชแก่คนพื้นเมืองเจ้าของประเทศตัวจริง หวังจะครอบครองเพื่อดูดเอาทรัพยากรไปให้มากที่สุด

“ในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ ชาวมาลากาซีทุกคนจำได้แม่นยำ เพราะพวกเราลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงและจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราช ถูกทหารฝรั่งเศสกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ปราบปรามอย่างโหดร้าย และสังหารพวกเราตายไปถึง ๘ หมื่นคน”

หลังจากสู้รบกับคนพื้นเมืองมาหลายปี สุดท้ายรัฐบาลฝรั่งเศสก็มิอาจต้านแรงกดดันจากภายนอกและภายในประเทศได้ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ประกาศให้เอกราชแก่ประเทศมาดากัสการ์ มีการจัดตั้งรัฐบาลและมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศจนถึงปัจจุบัน

ตามท้องถนนเราเดินดูสินค้าพื้นเมืองแบกะดินบนทางเท้า ส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตร อะโวคาโด มะเขือเทศ ถั่วหลายชนิด มันฝรั่ง และดอกไม้หลากสีนานาชนิด ไปถึงไม้ประดับอย่างต้นอาโรเวล่าที่บ้านเรานิยมนำมาปลูก ก็เป็นต้นไม้จากทวีปแอฟริกา

ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองตานาเป็นชนเผ่าเมอรินา สืบเชื้อสายมาจากพวกอินโด-มาเลย์ และถือว่ามีความเจริญกว่าเผ่าอื่น เราสังเกตเห็นชาวมาลากาซีทั้งหญิงชายนิยมทูนตะกร้าบนศีรษะเหมือนคนมอญที่เคยเห็นตามชายแดนไทย-พม่า บนศีรษะเป็นที่วางสินค้าได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลังไก่ กระเทียม ผักผลไม้ ดอกไม้ ไม้ฟืน ไปจนถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง พวกเขาเดินอย่างคล่องแคล่วหลบหลีกผู้คนที่เดินสวนไปมาโดยไม่ต้องใช้มือช่วยประคองแต่อย่างใด

ระหว่างทางเห็นรถเมล์แล่นสวนมา เราอดนึกดีใจแทนชาว กทม. ไม่ได้ เพราะแม้คนกรุงจะก่นด่ารถเมล์ไร้มารยาทหรือปล่อยควันดำมากเท่าไร ก็คงไม่เท่าสภาพรถเมล์ในเมืองตานา รถประจำทางเมืองนี้ไม่ใช่รถบัสแต่เป็นรถเล็กเก่ามากขนาดรถตู้ ปรกติบรรทุกได้เพียง ๑๐ คน แต่คนที่นี่สามารถอัดเข้าไปได้ถึง ๒๐ คน ไม่รวมสินค้ามหึมาบนหลังคารถที่มีสภาพไม่ต่างจากการทูนตะกร้าบนศีรษะของพวกเขา จีโน่บอกว่าค่าโดยสารคิดเป็นเงินไทยตกคนละ ๓-๗ บาท ซึ่งถือว่าแพงสำหรับชาวมาลากาซีที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๖๐๐-๗๐๐ บาท จนติดอันดับหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก

ไม่น่าแปลกใจที่ช่วงเช้าตกเย็น เราจะเห็นชาวมาลากาซีจำนวนมากเดินจากบ้านไปที่ทำงาน หรือเดินจากชานเมืองเข้าไปทำงานในเมืองมากกว่านั่งรถ เพื่อเก็บค่ารถโดยสารไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน

คืนนั้นจีโน่พาเราไปดูชีวิตกลางคืนของคนที่นี่ ไนต์คลับส่วนใหญ่เป็นห้องแถวเก่าๆ ติดกระจกรอบด้าน เราสั่งเบียร์ยี่ห้อ THB หรือม้าสามหัวมาดื่ม ขวดละประมาณ ๑๐๐ บาท ตรงเคาน์เตอร์มีผู้หญิงผิวคล้ำนั่งหน้าแฉล้มดื่มเรียกแขก คุณเธอนุ่งมินิสเกิร์ตสีแสบตาแบบที่ไม่สามารถเห็นได้ตามท้องถนน พอสบตากันจนได้ที่ เราสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติพาสาวๆ เหล่านี้ออกไปเต้นรำที่ฟลอร์ แล้วค่อยๆ หายกันไปเป็นคู่ๆ

จีโน่บอกเราว่า ค่าบริการสาวๆ เหล่านี้คิดเป็นเงินไทยประมาณครั้งละ ๓๐๐-๖๐๐ บาท พอๆ กับเงินเดือนของคนที่นี่ทั้งเดือน

ไม่แปลกใจที่ส่วนใหญ่จะเห็นคุณเธอเหล่านี้มากกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก

เบาบับแต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 800 ปี สูงประมาณ 15 เมตรขึ้นไป ทนความแห้งได้ดี ภายในลำต้นเป็นที่เก็บน้ำจำนวนมหาศาล เบาบับ 1 ต้นอาจเก็บน้ำได้ถึง 120,000 ลิตร

เบาบับเป็นไม้เนื้ออ่อนจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นนุ่น ต้นงิ้ว ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ผลและใบเป็นอาหารหรือทำยารักษาโรค เปลือกใชทำเชือก อวน แห ฯลฯ

 

มหัศจรรย์แห่งเบาบับ ยักษ์ใหญ่ใจดี

เช้าวันรุ่งขึ้น เราออกจากเมืองตานามุ่งสู่นอกเมือง ตลอดสองข้างทางมีโรงงานเกิดใหม่ผุดขึ้นมากพอควร จีโน่เล่าว่าช่วงหลังรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือและมาลงทุนในมาดากัสการ์มากขึ้น มีทั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศในปัจจุบันพอๆ กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และท่องเที่ยว

ในทางการเมือง ประเทศในแถบแอฟริกาเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลและความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต จนเมื่อมหาอำนาจหมีขาวล่มสลายลง ประเทศจีนซึ่งกำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารจึงได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในแอฟริกาแทน โดยอาศัยการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นทัพหน้าในการสร้างความสัมพันธ์

เราขึ้นเครื่องบินมุ่งหน้าสู่เมืองโมรอนดาวาทางตะวันตกของประเทศ เมืองนี้เป็นเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งบนเกาะนี้ ก่อนเครื่องจะร่อนลง เราพยายามสังเกตดูต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาดากัสการ์ ว่ากันว่ามีมากที่สุดในเมืองนี้ สักพักจึงเห็นภาพจากมุมสูงว่าต้นเบาบับที่อยากเห็นมานานและเป็นไฮไลต์ในการมาเยือนประเทศนี้อยู่ข้างล่างนี้เอง มองจากมุมนี้เราก็ยังไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้นไม้นี้จึงได้รับฉายาว่า ต้นไม้กลับหัว

หลังอาหารกลางวันในเบาบับคาเฟ่ รีสอร์ตเล็กๆ ใกล้ปากน้ำออกสู่ทะเลใหญ่บริเวณที่เรียกว่าช่องแคบโมซัมบิก กั้นระหว่างทวีปแอฟริกากับเกาะมาดากัสการ์ เราออกมาเดินเล่นตรงชายหาด เห็นเรือใบของชาวมาลากาซีกลับจากการออกทะเลหาปลา คนแถวนี้เป็นมุสลิมสืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดีย อาหรับ และแอฟริกัน เราสังเกตเห็นมีสุเหร่า มัสยิดหลายแห่งในเมืองนี้ ที่นี่มีประชากรไม่มากนัก ผู้คนไม่พลุกพล่าน แต่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้พอควร จากถนนสายหนึ่งที่อยู่ห่างไปไม่ไกล เรียกว่า ถนนสายเบาบับ

เราเช่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อมุ่งหน้าไปตามท้องถนนที่เป็นดินทรายออกไปนอกเมือง สองข้างทางเป็นภูมิประเทศกึ่งทะเลทรายอันแห้งแล้ง แม้ว่าระยะทางแค่ไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร แต่สภาพถนนที่เป็นลูกคลื่นสลับหลุมบ่อ คนบนรถต้องโยกหน้าโยกหลังตลอดทาง ทำให้ใช้เวลาถึงเกือบชั่วโมงกว่าเราจะมาถึง Avenue de Baobab หรือถนนสายเบาบับ ที่ถือว่าเป็นดงเบาบับ มีต้นเบาบับมากที่สุดบนเกาะมาดากัสการ์

ต้นเบาบับบริเวณ Avenue de Baobab เมืองโมรอนดาวา ส่วนใหญ่เป็นชนิด Adansonia grandidieri เพราะต้นเบาบับที่โตเต็มที่อาจต้องใช้คนนับสิบโอบรอบต้น จึงได้ฉายาว่าต้นไม้ขวด(bottle tree) และด้วยรูปร่างประหลาดของมัน บางคนจึงเรียกเบาบับว่า “ต้นไม้กลับหัว”

ไม่ผิดหวังกับการเดินทางแสนทุลักทุเล ต้นไม้ยักษ์ของโลกที่มีอายุยืนที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาปรากฏอยู่ต่อหน้า เบาบับมีขนาดใหญ่มาก เป็นต้นไม้ประหลาดราวกับต้นไม้ในเทพนิยาย ลำต้นอวบใหญ่คล้ายปาล์ม ต้นตั้งตรง ด้านบนมีกิ่งขนาดใหญ่แตกแขนงออกมาคล้ายรากต้นไม้ เรามาในช่วงที่ต้นไม้ผลัดใบพอดี จึงเห็นแต่กิ่งล้วนๆ สมกับที่ได้รับฉายาว่า ต้นไม้กลับหัว

มีนิทาน เรื่องเล่า และตำนานมากมายเกี่ยวกับต้นเบาบับ อาทิ เรื่องเล่าเก่าแก่ของคนอาหรับบอกไว้ว่า นานมาแล้ว มีปีศาจตนหนึ่งถอนต้นเบาบับขึ้นมาและคิดจะปลูกกลับลงไปใหม่ แต่ปลูกผิดดันเอารากชี้ฟ้า เบาบับจึงกลายเป็นต้นไม้กลับหัว นิทานของชาวแอฟริกันเล่าว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกเสร็จ ได้แจกต้นไม้ให้แก่สัตว์ทุกชนิดไปปลูก สัตว์ทุกตัวปลูกต้นไม้ได้ถูกต้องเหมือนกันหมด แต่ปรากฏว่าไฮยีน่าดันปลูกต้นไม้กลับหัว จึงเกิดเป็นต้นเบาบับขึ้นมา

อีกตำนานกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าสร้างโลกพร้อมสรรพชีวิตขึ้นมา ต้นเบาบับไม่พอใจสิ่งที่พระเจ้าสร้างให้ อยากสูงแบบต้นปาล์ม พระเจ้าก็ประทานให้ อยากมีดอกสวยงาม พระเจ้าก็ประทานให้ พอเห็นต้นมะเดื่อมีผลสีแดง จึงอยากเป็นแบบต้นมะเดื่ออีก คราวนี้พระเจ้าคิดว่าชักมากเกินไป จึงสั่งสอนด้วยการถอนรากถอนโคน เอาหัวปักดินรากชี้ฟ้า

ยังมีตำนานความเชื่อของชาวแอฟริกันอื่นๆ อาทิ สิงโตจะกินคนที่บังอาจปีนขึ้นไปเก็บดอกเบาบับ เพราะถือว่าดอกไม้ชนิดนี้เป็นที่สถิตของภูตผีปีศาจ ผู้ที่ได้ดื่มน้ำที่แช่เมล็ดเบาบับจะป้องกันสัตว์ร้ายอย่างจระเข้ได้ และใครที่ดื่มน้ำแช่เปลือกเบาบับจะแข็งแรงและเตะปี๊บดัง (ฮา)

หากเบาบับเป็นต้นไม้ขนาดเล็กหรือกลางๆ คงไม่มีใครสนใจมาก แต่ต้นเบาบับถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่เก๋ากึ้กมีอายุเก่าแก่มาก บางต้นมีอายุถึง ๓,๐๐๐ ปี รุ่นราวคราวเดียวกับพีระมิดในอียิปต์เลยทีเดียว ว่ากันว่าในประเทศแอฟริกาใต้ เจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งที่มีต้นเบาบับได้สร้างร้านขายเหล้าในลำต้นเบาบับต้นหนึ่งที่มีความสูงถึง ๒๑ เมตร และมีเส้นรอบวง ๔๖ เมตร มีอายุถึง ๖,๐๐๐ ปี เก่าแก่พอๆ กับอารยธรรมสมัยแรกของมนุษย์ทีเดียว

สองข้างทางที่เราขับรถผ่านมีต้นเบาบับขึ้นอยู่เป็นระยะ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า Adansonia grandidieri ชื่อนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Alfred Grandidier (ค.ศ. ๑๘๓๖-๑๙๒๑)นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจเกาะมาดากัสการ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๕ เขาเดินทางมากว่า ๕,๐๐๐กิโลเมตรทั่วเกาะเป็นเวลาหลายปี และกลับไปเขียนหนังสือจนถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกและวางรากฐานการศึกษาธรรมชาติวิทยาบนเกาะแห่งนี้

เบาบับแต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ปี ความสูงประมาณ ๑๕ เมตรขึ้นไป มีลำต้นอวบใหญ่ วัดเส้นรอบวงได้ ๖-๗ เมตรต้นเบาบับที่โตเต็มที่อาจต้องใช้คนกว่า ๕๐ คนโอบรอบต้นจึงได้ฉายาว่า ต้นไม้ขวด (bottle tree) ดูไกลๆ ไม่ต่างจากขวดน้ำยักษ์ตั้งเรียงรายอยู่กลางทุ่ง

เบาบับเป็นไม้ยืนต้นสกุล Adansonia ทั่วโลกมีต้นเบาบับทั้งหมด ๘ ชนิด พบเฉพาะในทวีปแอฟริกาและออสเตรเลีย ในมาดากัสการ์พบถึง ๖ ชนิด ได้แก่ A. grandidieri, A. madagascariensis, A. suarezensis, A. perrieri, A. rubrostipa และ A. za ที่พบในทวีปแอฟริกาคือ A. digitata และ A. gregorii ในทวีปออสเตรเลีย เบาบับเป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้เป็นอย่างดี ภายในลำต้นยังเป็นที่เก็บน้ำปริมาณมหาศาล กล่าวกันว่าต้นเบาบับ ๑ ต้นอาจเก็บน้ำได้ถึง ๑๒๐,๐๐๐ ลิตร หรือเท่ากับแท็งก์น้ำมาเรียงกัน ๑๒๐ ใบ เบาบับกักเก็บน้ำเพื่อความอยู่รอดในสภาพภูมิประเทศแห้งแล้งแบบกึ่งทะเลทรายที่แล้งนานถึง ๙ เดือน ในช่วงฤดูฝนเก็บน้ำไว้ในทุกส่วนของต้น พอหน้าแล้งต้นเบาบับจะสลัดใบหมดเหลือแต่กิ่งจนดูเหมือนรากไม้ยืนต้น ช่วยลดการคายน้ำเพื่อความอยู่รอด และมนุษย์ยังได้อาศัยน้ำจากต้นเบาบับในช่วงหน้าแล้งด้วย

หากมนุษย์มีพฤติกรรมเหมือนต้นเบาบับ เป็นต้นไม้ใหญ่ใจดีและยังเสียสละให้ผู้อื่น สังคมน่าจะดีกว่านี้แน่

เราลงจากรถมาพิจารณาต้นไม้เก่าแก่อย่างใกล้ชิด พอเอามือไปสัมผัสยักษ์ใหญ่ใจดีนี้ เปลือกต้นเบาบับนิ่มกว่าที่เราคิด เบาบับเป็นไม้เนื้ออ่อนอยู่ในวงศ์เดียวกันกับต้นนุ่น ต้นงิ้ว มีคุณสมบัติในการเก็บน้ำได้มาก ลักษณะเยื่อเปลือกไม้สามารถฉีกเป็นเส้นๆ ได้ ชาวมาลากาซีจึงนิยมนำเปลือกไม้ที่มีคุณสมบัติเหนียวเป็นพิเศษมาทำเชือก แห อวน ทอเป็นเสื่อ หรือมาทำกระดาษเบาบับคุณภาพสูง และแม้ลำต้นจะถูกถากเอาไปใช้ทั้งต้น แต่ต้นเบาบับก็ไม่ตาย มันจะสามารถสร้างเส้นใย
ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้อีกดังเดิม

คุณค่าของต้นเบาบับไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะต้นไม้ยักษ์นี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน

ชาวบ้านนำทุกส่วนของต้นเบาบับมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใบเบาบับกินได้เหมือนผักสด หรือเอามาป่นเป็นผงทำน้ำซุป ผลมีสีขาว รสเปรี้ยวคล้ายลูกหยี นำมาทำเป็นอาหาร เมล็ดเอามาทำน้ำมันและส่วนผสมของเครื่องสำอาง เพราะมีการพบว่าสารในเมล็ดทำให้ผิวเนียน ใบหน้าไม่เหี่ยวย่น และไม่ทำให้ต่อมตามรูขุมขนอุดตัน นอกจากนั้นยังนำเมล็ดมาคั่วกาแฟ ใช้เป็นยารักษาโรค หรือมาดองเหล้า เปลือกมาทำบ้าน เส้นใยมาทอผ้า

ไม่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากต้นเบาบับ บรรดาสัตว์ต่างๆ ก็มากินใบกินผลจากต้นไม้นี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ยีราฟ และโดยเฉพาะลิงที่ใช้ประโยชน์จากต้นไม้นี้มากที่สุด จนเบาบับมีชื่ออีกอย่างว่า Monkeys’ bread tree

ทุกวันนี้มีบริษัทต่างชาติมาร่วมทุนกับคนพื้นเมือง เอาเมล็ด ผล ต้น และรากเบาบับมาสกัดทำอาหาร ยา เครื่องสำอาง ส่งไปขายในยุโรป แม้กระทั่งยาแก้ปวดหัว พาราเซตามอลก็นิยมใช้สารสกัดจากใบเบาบับเป็นส่วนผสมหนึ่งด้วย

อากาศเริ่มเย็นลง พระอาทิตย์ใกล้อัสดงแล้ว เราตระเวนไปดูต้นเบาบับชนิดต่างๆ บ้างก็ขึ้นกลางหมู่บ้าน บ้างก็อยู่กลางทุ่งนา บ้างก็อยู่กลางป่ารกร้าง แต่เราเห็นชัดเจนว่าป่าแถวนี้ถูกทำลายไปมาก ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ หลายสิบปีที่ผ่านมา ผืนป่าบนเกาะมาดากัสการ์จำนวนมากถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ป่าแถวนี้ถูกแผ้วถางเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ต้นเบาบับยังโชคดีที่ไม่ค่อยถูกทำลายมาก เพราะชาวบ้านยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์

เย็นนั้นทุกคนมารวมตัวกันบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งเพื่อมาดูพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและถ่ายรูป ด้านหลังเป็นดงเบาบับหลายสิบต้น ภาพตรงหน้าเราคือชาวมาลากาซีกำลังเดินกลับบ้านหลังจากลงแรงในผืนนามาทั้งวัน เด็กน้อยบางคนเอากิ้งก่าคามีเลียนเกาะบนกิ่งไม้มาเสนอให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ก่อนจะแบมือขอตังค์ คนพื้นเมืองชี้ให้เราดูโพรงต้นเบาบับที่มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปสำรวจและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

ต้นเบาบับยังเป็นที่พักอาศัยของชาวแอฟริกันมาช้านาน ชาวบ้านจะเจาะโพรงเข้าไปทำความสะอาดอาศัยเป็นบ้าน หรือเป็นที่คุมขังนักโทษ เป็นยุ้งฉางเก็บพืชผล หรือที่หลบภัยจากสัตว์ร้าย ในทวีปออสเตรเลีย ๑ ใน ๒ ทวีปของโลกที่มีต้นเบาบับมีการพบว่าในทศวรรษ ๑๘๙๐ คนขาวใจร้ายได้ใช้ลำต้นเบาบับเป็นที่คุมขังพวกอะบอริจิน ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียมาเป็นเวลานาน (ต้นเบาบับที่ใช้ขังชาวอะบอริจินคือชนิด A. gregorii) จนเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนปัจจุบันได้ประกาศขอโทษชาวอะบอริจินอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากอดีตอันโหดร้ายที่ทำให้ชนพื้นเมืองเหล่านี้แทบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์

เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานข่าวจากประเทศในทวีปแอฟริกาว่า ขณะนี้เด็กแอฟริกันกว่า ๓๐ ล้านคนเป็นโรคขาดสารอาหารและวิตามินเออย่างรุนแรง แต่ละปีมีเด็กเสียชีวิตถึง ๕ แสนคน เพราะขาดสารอาหาร ทางองค์การสหประชาชาติจึงได้วางแผนคัดเลือกต้นไม้ป่าหลายชนิดที่มีคุณค่าทางอาหาร ให้วิตามินและสารอาหารสูง โตเร็ว ทนทานในที่แห้งแล้ง เพื่อส่งเสริมให้คนแอฟริกันได้ปลูกต้นไม้เหล่านี้ให้แพร่หลายแทนผืนป่าที่ถูกทำลายลงไปมาก เพื่อให้คนแอฟริกันได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากขึ้น เรียกโครงการนี้ว่า Tree of Change ต้นเบาบับเป็นหนึ่งในต้นไม้ในโครงการนี้ เพราะเป็นต้นไม้ป่าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยเฉพาะผลของเบาบับมีวิตามินเอและซีสูงมาก กล่าวกันว่าผลเบาบับมีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึง ๖ เท่าทีเดียว

ก่อนมาเยือนประเทศนี้ เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่เมืองไทยมีคนนำต้นเบาบับไปปลูกได้สำเร็จในลักษณะดินฟ้าอากาศแบบไทย ลักษณะใบและลำต้นคล้ายต้นนุ่น โตเร็ว สูงเกิน ๕ เมตรภายในปีเดียว ลำต้นยังไม่อวบแบบต้นพื้นเมืองแถวนี้ แต่การนำเข้าต้นไม้ชนิดนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ด้านโภชนาการให้แก่เด็กๆ ที่ขาดแคลนอาหาร หากเป็นเพียงไม้ประดับราคาแพงตามบ้านเศรษฐี สนามกอล์ฟ หรือรีสอร์ต

อาทิตย์อาบแสงสีแดงทั่วขอบฟ้า เรานั่งมองฟ้าเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ จนมืดสนิท ดาวเริ่มพราวฟ้า เห็นดงต้นเบาบับสูงร่วม ๒๐ เมตรที่มีกิ่งก้านแตกแขนงออกมาเป็นเงาทะมึนกลางหมู่ดาวระยิบระยับ ลมเย็นๆ พัดโชยมาเรื่อยๆ เรานอนลงกลางทุ่งแหงนดูต้นไม้ที่มีรูปทรงไม่เหมือนใคร เห็นดาวตกพาดผ่านท้องฟ้า ชวนให้นึกถึงตอนหนึ่งในหนังสือ เจ้าชายน้อย ที่กล่าวถึงเจ้าต้นไม้ยักษ์นี้ว่า เจ้าชายน้อยกลัวว่าต้นเบาบับยักษ์จะเจริญเติบโตขึ้นมาบนดาวเคราะห์เล็กๆ ของเขา และทำให้บนดาวไม่มีที่ว่างพอ

ใครจะรู้ ดาวบนท้องฟ้าดวงใดดวงหนึ่ง อาจเป็นที่อยู่ของเจ้าชายน้อยกับต้นเบาบับก็ได้

เราออกจากป่าเบาบับกลับที่พัก กะว่าจะหาเครื่องดื่มน้ำเบาบับที่ทำจากผลเบาบับแก้กระหาย เพิ่มวิตามินในร่างกาย แต่บริกรบอกว่าน้ำผลไม้เบาบับหมดแล้ว ครั้นเหลือบไปเห็นขวดเหล้าดองเมล็ดพืชชนิดหนึ่งบนเคาน์เตอร์ เขาก็เฉลยให้เราฟังว่า เป็นเหล้าดองเมล็ดเบาบับ

คืนนั้นจึงได้เหล้าเบาบับเป็นเพื่อนจนใกล้รุ่ง

Ring-tailed Lemur หรือ ลีเมอร์หางแหวนกำลังนั่งอาบแดดยามเช้าลีเมอร์ชนิดนี้มีรูปร่างเหมือนลิง แต่หน้าตาคล้ายหมาจิ้งจอกหางเป็นลายคาดดำสลับเทาดูคล้ายแปรงล้างขวด

Coquerel’s Sifaka มีแหล่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์สังเกตดูลีเมอร์ทุกชนิดจะมีหางยาวกว่าลำตัว

Verreaux’s Sifaka เกาะอยู่บนต้นไม้ใน Berenty Reserve ทางตอนใต้ของมาดากัสการ์

White-collared Brown Lemur เพศเมีย ลีเมอร์ชนิดนี้มีน้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม จัดเป็นลีเมอร์ขนาดกลาง

Brown Lemur พบเห็นได้ตามป่าทั่วเก่าะมาดากัสการ

ฺฺBamboo Lemur หรือ Gentle Lemur อาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชอบกินต้นไผ่เป็นอาหารหลักช่วยให้ฟันแหลมคม แต่ยังไม่มีใครทราบว่ามันสามารถกำจัดสารไซยาไนด์ในต้นไผ่ที่กินข้าไปได้อย่างไรr

 

ตามหาลีเมอร์

จากชายทะเลฝั่งตะวันตกของมาดากัสการ์ เรานั่งเครื่องบินข้ามเกาะลงใต้มุ่งสู่เมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ ที่เรียกว่า ฟอร์ต โดแฟง ก่อนจะออกจากสนามบิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรพาเราเข้าไปในห้องเล็กๆ และพูดจาข่มขู่ไถเงินหน้าตาเฉย เมื่อเรายืนกรานว่าไม่ให้เด็ดขาดและขู่ว่าจะไปฟ้องร้องจึงได้หลุดรอดออกมา ภายหลังถึงรู้ว่าเราโชคดีกว่านักท่องเที่ยวหญิงหลายคนที่ถูกยึดกระเป๋าและถูกฉกเงินไปหน้าตาเฉย ไม่น่าแปลกใจที่การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศนี้

ในปี ค.ศ. ๑๖๔๓ ชาวฝรั่งเศสจากบริษัท French East India ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ตั้งขึ้นมาแข่งกับบริษัทของอังกฤษและดัตช์ที่เข้ามาค้าขายในย่านมหาสมุทรอินเดียได้พากันมาตั้งรกรากบริเวณนี้ และสร้างป้อมหรือ ฟอร์ต โดแฟง ขึ้นในบริเวณที่มีชนพื้นเมืองเผ่าแองตาโนซีอาศัยอยู่มานาน แต่สุดท้ายชาวฝรั่งเศสนับร้อยคนที่อาศัยอยู่ในป้อมนี้ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกับชนเผ่านี้ได้ ต้องอพยพหนีตายออกมาในปี ๑๖๗๔ กระทั่งอีก ๒๐๐ กว่าปีต่อมา ทหารฝรั่งเศสได้กลับมายึดเกาะนี้คืนและสร้างเมืองขึ้นใหม่

ตึกหลายหลังในเมืองหลวงมักทาสีแดงซึ่งเป็นสีของแบรนด์ “โค้ก” เพราะโค้กคือลูกค้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อวานิลลา พืชที่เป็นส่วนผสมหลักของน้ำอัดลมยี่ห้องนี้จนกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของมาดากัสการ์

อาคารที่สร้างสมัยอาณานิคมยังปรากฏให้เห็นทั่วไป เราเห็นตึกหลายหลังทาสีแดงโฆษณาน้ำอัดลมโค้กทั้งหลัง และเห็นอาคารโค้กหลายแห่งทั่วเกาะมาดากัสการ์โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาปริศนานี้จึงถูกเฉลย

อาชีพสำคัญของชาวมาดากัสการ์คือการทำเกษตรและป่าไม้ สินค้าส่งออกสำคัญคือกาแฟ วานิลลา พริกไทยดำที่ได้ชื่อว่ากลิ่นหอมและราคาแพงที่สุดในโลก แต่สำหรับวานิลลาเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศมาก มาดากัสการ์เป็นผู้ส่งออกวานิลลารายใหญ่ของโลก เรียกว่าครึ่งหนึ่งของวานิลลาที่ขายในโลกมาจากเกาะนี้

โค้กหรือโคคาโคล่าที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก มีส่วนผสมสำคัญคือวานิลลา และบริษัทโค้กก็เป็นลูกค้าสำคัญที่สุดของมาดากัสการ์ จนกระทั่งในปี ๑๙๘๕ บริษัทโคคาโคล่าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ นิวโค้ก ซึ่งมีส่วนผสมของวานิลลาน้อยลง ทำให้ปริมาณการส่งออกวานิลลาของมาดากัสการ์ลดลงมากกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศอย่างรุนแรง สินค้าล้นตลาด จนทางบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์โค้กคลาสสิกที่ใช้วานิลลามากขึ้น ปริมาณการสั่งซื้อวานิลลาจากประเทศนี้จึงกลับมาเท่าเดิม

ไม่น่าแปลกใจที่ชาวมาลากาซีทาสีแดงบนตึกด้วยความผูกพันอันยาวนาน

เราออกมาเดินเล่นรอรถตรงชายหาดที่มีลมแรงมาก ทะเลสีฟ้าสวย เห็นชาวแองตาโนซีหลายคนเล่นกระดานโต้คลื่นในวันแดดจัด คนพื้นเมืองเผ่านี้ได้ชื่อว่าเป็นเผ่ายากจนที่สุดในมาดากัสการ์ ดูเหมือนตลอดเวลาที่มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสปกครองคนพื้นเมือง ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเลย นอกจากการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติกลับประเทศตัวเอง

“ซาลามา”

ดูดี้ ไกด์ท้องถิ่นที่มากับรถตู้กล่าวทักทายเราเป็นภาษาพื้นเมือง บอกให้เราเตรียมตัวเดินทางให้พร้อมสำหรับการไปดูสัตว์ชนิดหนึ่งที่ในโลกนี้มีอยู่เฉพาะบนเกาะแห่งนี้ คือ ลีเมอร์ จุดหมายของเราคือ Berenty Reserve ห่างออกไปจากเมืองประมาณ ๙๐ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางถึง ๔ ชั่วโมง

พอรถขับออกจากเมืองได้ไม่กี่กิโลเมตร สภาพถนนก็เริ่มขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อมากขึ้นเรื่อยๆ จึงรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้คงไม่ต่ำกว่าครึ่งวันแน่ ดูดี้บอกว่าถนนสายนี้เป็นถนนตั้งแต่สมัยอาณานิคมร่วมร้อยปี และไม่เคยมีการบูรณะอีกเลยเพราะความยากจน

ตอนแรกเราผ่านป่าเขตร้อนที่ยังมีต้นไม้หนาแน่นและความชุ่มชื้นอยู่ แต่หลังจากนั้นเราก็เข้าสู่ภูมิประเทศแบบกึ่งทะเลทราย ผ่านทุ่งหญ้า ผ่านไร่ชาวบ้าน เห็นกระท่อมซอมซ่อของชาวบ้านตั้งเรียงรายตามถนน สะท้อนความอัตคัดขัดสนของคนแถวนี้ รถยังขับโคลงเคลงและคนในรถกินฝุ่นแดงไปตลอดทางจนมืดค่ำ น้ำย่อยในกระเพาะเริ่มเรียกหาสารอาหาร ไม่มีทีท่าว่ารถจะนำเราไปสิ้นสุดตรงไหน พอผ่านป่าแห่งหนึ่งมาจึงเริ่มเห็นแสงไฟกลางป่า นำทางเราไปสู่ป่าสงวนที่เรียกว่า Berenty Reserve อยู่ติดแม่น้ำ Mandrare

ป่าผืนนี้ไม่ใช่อุทยานของรัฐ แต่เป็นป่าของเอกชนที่ไว้สำหรับการอนุรักษ์พืชและสัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะตัวลีเมอร์ เจ้าของผืนป่าชื่อ อองรี เดอ โอล์ม (Henry de Heaulme) ได้ซื้อป่าริมแม่น้ำพื้นที่ ๒๕๐ เอเคอร์ไว้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสวรรค์สำหรับนักวิจัยสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เข้ามาศึกษาป่าแห่งนี้ อองรีเคยได้รับรางวัลจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในฐานะนักอนุรักษ์ดีเด่น และพื้นที่แห่งนี้เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อ ๒๐ กว่าปีนี้เอง

เกือบสามทุ่มแล้ว ร้านอาหารเล็กๆ ยังเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งและญี่ปุ่นหลายสิบคนนั่งอยู่เต็มโต๊ะ เราสั่งอาหารง่ายๆ คล้ายข้าวราดปลาทอดมากินอย่างหิวโหย หลังจากนั้นด้วยความเหนื่อยล้าต่างคนต่างแยกย้ายเดินไปตามทางในป่า สองข้างทางมืดสนิท เข้าไปนอนตามบ้านพักชั้นเดียวที่ปลูกเรียงรายหลายหลัง พอหัวถึงหมอนก็หลับสนิทกันหมด ไม่ทันได้คิดว่าในป่าด้านนอกมีเพื่อนร่วมโลกจำนวนมากแอบมองเราอยู่เงียบๆ

รุ่งเช้าเราพบว่าบริเวณที่พักรายรอบด้วยต้นมะขามใหญ่ ระหว่างเดินออกมาหากาแฟดื่มในโรงอาหารพบลีเมอร์ สัตว์น้อยที่เราอยากเห็นมาตลอดการเดินทางนี้ หลายตัวออกมานอนอาบแดดด้วยความสบายใจ เราจึงได้รู้ว่าป่าอนุรักษ์แห่งนี้เป็นที่อยู่ของฝูงลีเมอร์หลายชนิดนับพันตัวทีเดียว เริ่มจากชนิดที่เรียกว่า Ring-tailed Lemur หรือลีเมอร์หางแหวน ที่มีหางเป็นลายคาดดำสลับเทาคล้ายแปรงล้างขวด รูปร่างเหมือนลิงแต่หน้าตาคล้ายหมาจิ้งจอก ตั้งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมจนถึงตอนนี้ ๒๐ กว่าปีแล้ว ทำให้ลีเมอร์แถวนี้ไม่ค่อยกลัวคน พฤติกรรมยังคล้ายกับลิงเขาใหญ่ ใครวางอาหารบนโต๊ะไม่ทันระวัง ลีเมอร์ก็จะลงจากต้นมะขามเข้ามาขโมยทันที จนเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวให้อาหารเด็ดขาด เพราะแค่นี้ลีเมอร์ก็นิสัยเสียจนหากินเองแทบไม่ค่อยได้แล้ว

ลีเมอร์ หรือ Lemur เป็นชื่อที่มาจากภาษาละตินว่า Lemures มีความหมายถึงปีศาจกลางคืน มาจากที่คนโบราณเห็นเจ้าลีเมอร์ที่มีตากลมใหญ่สะท้อนแสงในยามค่ำคืน ทั่วโลกมีลีเมอร์อาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์เท่านั้น เป็นสัตว์ในอันดับ (order) ไพรเมต* ในอดีตมีการค้นพบฟอสซิลของบรรพบุรุษลีเมอร์เก่าแก่ที่สุดอายุ ๕๕ ล้านปีในทวีปแอฟริกา เรียกว่า Ancestral Lemur และต่อมามีหลักฐานพบว่าลีเมอร์อาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์มาตั้งแต่เมื่อ ๔๐ ล้านปีก่อน จนปัจจุบันได้กลายเป็นที่แห่งเดียวในโลกที่ยังมีตัวลีเมอร์อาศัยอยู่ ขณะที่อื่นๆ ในโลกได้สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้นแล้ว ถือเป็นสัตว์อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

แต่ที่ยังเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้คือ เกาะมาดากัสการ์เคยเป็นแผ่นดินเชื่อมติดกับทวีปแอฟริกา และแยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อ ๙๐ ล้านปีก่อนที่จะมีลีเมอร์บนโลกนี้ แล้วเหตุใดลีเมอร์ที่เคยอยู่บนทวีปแอฟริกาจึงสามารถข้ามทะเลกว้าง ๔๐๐ กว่ากิโลเมตรมาขึ้นฝั่งบนเกาะนี้

หรือว่าเจ้าลีเมอร์จะเกาะขอนไม้ลอยทะเลมาเรื่อยๆ ก็ไม่มีใครทราบได้

นักเดินเรือชาวอาหรับหรือชาวโปรตุเกสเคยบันทึกถึงตัวลีเมอร์มานานแล้ว แต่ที่เป็นหลักฐานจริงๆ คือเมื่อราวปี ค.ศ. ๑๖๒๕ วิลเลียม ฟินช์ พ่อค้าชาวอังกฤษได้บันทึกถึงตัวลีเมอร์เป็นครั้งแรกว่า

“ในป่าใกล้แม่น้ำ มีสัตว์ป่าชนิดหนึ่งขนาดเท่ากับลิงสีเทา หัวเล็ก หางยาวเหมือนกับหมาจิ้งจอก ขนนุ่มมาก”

ลีเมอร์ในปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๓๕ ชนิด มีน้ำหนักตั้งแต่ ๓๐ กรัม คือ Pygmy Mouse Lemur และบางชนิดมีน้ำหนักถึง ๑๐ กิโลกรัม คือ Indri นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบฟอสซิลของลีเมอร์ยักษ์ที่เรียกว่า Megaladapis ซึ่งเป็นลีเมอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักถึง ๒๔๐ กิโลกรัม ส่วนช่วงเวลาที่ลีเมอร์ยักษ์สูญพันธุ์ไปหมดสิ้นนั้นเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการที่มนุษย์เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะนี้

ฟลากูร์ต พ่อค้าชาวฝรั่งเศสที่เคยอยู่ที่ฟอร์ต โดแฟง ระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๖๖๐ และกลายเป็นนักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นที่ได้บันทึกพฤติกรรมของลีเมอร์หลายชนิด รวมถึงลีเมอร์ยักษ์ที่ต่อมาได้สูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว เขาบันทึกหลักฐานชิ้นสำคัญนี้ว่า

“สัตว์ชนิดนี้ใหญ่ขนาดลูกวัวอายุสองปี หัวกลมและหน้าเหมือนมนุษย์ ขาเหมือนลิง ผมหยิก หางสั้นและหูเหมือนมนุษย์ มันเป็นสัตว์รักสันโดษ แต่คนพื้นเมืองดูจะกลัวมันมาก…”

หลังอาหารเช้า เจ้าหน้าที่ในเขตอนุรักษ์พาเราเดินสำรวจป่ารอบๆ เราเห็นเจ้าลีเมอร์หางแหวนหรือหางปล้องเกาะอยู่ตามต้นมะขาม ธรรมชาติของลีเมอร์จะอาศัยอยู่ในป่าผลัดใบและป่าริมน้ำ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ว่า ลีเมอร์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์หากินกลางวัน ยกเว้นลีเมอร์ขนาดเล็กที่จะออกหากินกลางคืน ลีเมอร์หางแหวนชอบกินใบและผลมะขามเป็นพิเศษ อาหารร้อยละ ๕๐ มาจากต้นมะขาม และลีเมอร์ยังกินดอกไม้ น้ำผึ้ง เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ ๕ กิโลกรัม เวลาเดินจะเห็นหางชี้ตั้งตรงอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวลีเมอร์ หางของมันยาวถึง ๕๖ เซนติเมตร ยาวกว่าส่วนลำตัวที่มีความยาวจากหัวถึงลำตัวเพียง ๔๖ เซนติเมตร

เราพบลีเมอร์อีกชนิดหนึ่งปรากฏตัวบนกิ่งไม้ เจ้าหน้าที่ให้เราคอยสังเกต สักพักมันกระโดดโหนตัวไปตามกิ่งไม้ต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ดูไม่ต่างจากชะนีบ้านเราเลย ลีเมอร์ชนิดนี้เรียกว่า Verreaux’ s Sifaka หรือซีฟาก้า ลำตัวมีสีขาว หัวกลม ใบหน้าสีดำ ขนปุยนุ่ม เป็นลีเมอร์ที่โหนตัวได้เก่งที่สุด
มันมีน้ำหนักตัวพอๆ กับลีเมอร์หางแหวน

Coquerel’s Sifaka ในช่วงฤดูผสมพันธุ์

ตามปรกติซีฟาก้าจะอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ ๕-๖ ตัว ช่วงที่เราไปเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ ลูกซีฟาก้าจะอาศัยอยู่กับแม่เพียงหนึ่งปี ก่อนจะออกมาใช้ชีวิตเป็นเสรีชนต่อไป

“โน่นๆ มันลงมาแล้ว”

ไกด์ชี้ให้ดูเอกลักษณ์ประจำตัวของซีฟาก้า พอมันลงพื้นดินแทนที่จะเดินสี่ขา มันกางแขนเดินสองขาและกระโดดอย่างรวดเร็ว อากัปกิริยาราวกับนักเต้นระบำเท้าไฟหรือนักบัลเลต์ไปตามทางเดินในป่า จากนั้นกระโดดขึ้นกิ่งไม้หายลับไปภายในเวลารวดเร็วจนกล้องถ่ายภาพจับภาพไม่ทัน

ท่วงทำนองในการเดินของซีฟาก้าคล้ายมนุษย์มาก ชาวมาลากาซีเชื่อว่ามันมีนิสัยชอบทำร้ายมนุษย์มากกว่าลีเมอร์ชนิดอื่น เพราะเชื่อว่าในอดีตซีฟาก้าเคยเป็นมนุษย์มาก่อน ต่อมาถูกแม่ทำร้ายด้วยการตบหน้าอย่างแรงจนเป็นปื้นสีดำ ด้วยความอับอายจึงหนีไปอยู่บนต้นไม้ เมื่อเห็นมนุษย์จะลงจากต้นไม้เข้ามาทำร้ายทันที

เราถามว่าเจ้าลีเมอร์มีศัตรูไหม

“ศัตรูของมันอาจจะมีหมา แมว แต่ที่สำคัญคือมนุษย์นักล่าทั้งหลาย”

ปัญหาของลีเมอร์ก็ไม่ต่างจากปัญหาของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดในโลกนี้ คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นเวลานับร้อยปีแล้วที่มาดากัสการ์ประสบปัญหาการทำลายป่า เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นความต้องการด้านผลผลิตทางการเกษตรก็มากขึ้น ชาวมาดากัสการ์พากันบุกรุกเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นผืนนา ปลูกพืชเกษตรชนิดต่างๆ การทำเหมืองแร่และการตัดไม้เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกและตะวันตกอันเป็นเขตแห้งแล้ง

การทำลายป่าไม่ใช่ทำลายเฉพาะตัวลีเมอร์เท่านั้น แต่มันได้ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของมาดากัสการ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น megadiversity ที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดของโลกกำลังจะสูญหายไป

มาดากัสการ์ได้รับการขนานนามว่าเป็นทวีปแห่งที่ ๘ บนพิภพนี้ มีพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มีสิ่งมีชีวิตกว่า ๒ แสนชนิด ซึ่ง ๑๕๐,๐๐๐ ชนิดไม่พบนอกเกาะนี้เลย มีพันธุ์พืชถึง ๑๔,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ ชนิด ในจำนวนนี้ร้อยละ ๙๐ ไม่สามารถพบได้ในที่อื่นๆ ของโลก เกาะนี้มีพื้นที่ไม่ถึง ๒ % ของพื้นที่ทวีปแอฟริกา แต่มีชนิดของกล้วยไม้ประมาณ ๑,๐๐๐ ชนิด มากกว่าทั้งทวีป บนเกาะมีสัตว์เลื้อยคลานถึง ๓๔๐ ชนิด และ ๙๒ % เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น กิ้งก่าพันธุ์ต่างๆ ในโลกกว่าครึ่งพบบนเกาะนี้ มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหมด ๑๙๙ ชนิด เกือบทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่าไพรเมต หรือลิงชนิดต่างๆ มีพบบนเกาะ ๖๘ ชนิด และทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใดในโลก รวมทั้งลีเมอร์ด้วย

ปัจจุบันป่าส่วนใหญ่ในมาดากัสการ์ถูกมนุษย์บุกรุกทำลายตลอดเวลา สวรรค์ของสิ่งมีชีวิตที่พระเจ้าประทานมากำลังเผชิญกับภาวะใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นทุกที

“แถวนี้มีการล่าตัวลีเมอร์ไหม” เราถามเจ้าหน้าที่ต่อด้วยความสงสัย

“มีตลอดเวลาครับ การล่าสัตว์เป็นปัญหาใหญ่รองลงมาจากการสูญเสียที่ดิน ชาวบ้านล่าเพื่อกินเป็นอาหารหรือทำยารักษาโรคตามความเชื่อ ในภูมิภาคอื่นมีการล่าลีเมอร์เพื่อเอาขนตรงคอมาบดเป็นผงผสมกับน้ำกินแก้ไอ แต่บางเผ่าก็ไม่กินเนื้อลีเมอร์เพราะถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์”

Red-fronted Brown Lemur เป็นลีเมอร์ที่ถูกมนุษย์ล่าเป็นอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่ง จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

ลีเมอร์สีน้ำตาล หรือ Red-fronted Brown Lemur คือลีเมอร์ชนิดสุดท้ายที่ได้พบในป่าแห่งนี้ขณะที่เราเดินเลียบไปตามแม่น้ำ ขนของมันออกสีแดงน้ำตาล และมีขนาดไม่ต่างจาก ๒ ชนิดที่กล่าวมาแล้ว แต่ดูจะขี้ตื่น หวาดระแวงผู้คนมากกว่าชนิดอื่น เขตสงวนแห่งนี้มีลีเมอร์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ๓ ชนิด คาดกันว่ามีลีเมอร์สีน้ำตาลประมาณ ๖๐๐ ตัว ซีฟาก้า ๔๐๐ ตัว และลีเมอร์หางแหวนประมาณ ๖๐๐ ตัว การันตีได้ว่าผู้มาเยือนเขตสงวนเล็กๆ แห่งนี้สามารถเห็นลีเมอร์แน่นอน

ช่วงบ่ายเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ในเขตสงวนแห่งนี้ที่จัดแสดงเรื่องราวทางชนชาติของภูมิภาคนี้ และที่สะดุดตาคือเรื่องราวของนกช้าง หรือ Aepyornis ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้วตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เราเห็นรูปโครงกระดูกนกช้าง คาดคะเนว่าคงมีความสูงประมาณ ๓ เมตร จนเรียกได้ว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หนักประมาณครึ่งตัน ไข่นกมีขนาดเท่าลูกรักบี้มีเส้นรอบวงถึง ๑ เมตร ใหญ่กว่าไข่ไก่ ๑๖๐ เท่า นกช้างเคยมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มาหลายสิบล้านปีก่อนจะสูญพันธุ์เมื่อมนุษย์ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะมาดากัสการ์ และเริ่มออกล่านกเอาไปเป็นอาหาร ไข่ก็ขโมยไปกิน เช่นเดียวกับสัตว์ที่ติดตัวเรือมาเมื่อครั้งมนุษย์อพยพมาเกาะแห่งนี้ อาทิ หนูและหมาที่ขโมยไข่นกไปกิน ในที่สุดนกยักษ์ชนิดนี้ก็สูญพันธุ์ไปจากโลกในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับฮิปโปแคระที่เคยมีบนเกาะนี้ก็ถูกมนุษย์ล่าจนสูญพันธุ์เช่นกัน

ไข่นกช้าง นกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สูงประมาณ 3 เมตร เคยมีชีวิตอยู่บนโลกมาหลายสิบล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ เมื่อมนุษย์ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะมาดากัสการ์

ตกกลางคืนเราตามเจ้าหน้าที่ไปเดินส่องสัตว์ เผื่อจะเห็นลีเมอร์ตัวเล็กๆ ที่ออกหากินตอนกลางคืน เจ้าหน้าที่เอาไฟฉายส่องไปตามยอดไม้ เพื่อว่าแสงตกกระทบดวงตาสัตว์แล้วสะท้อนให้เราเห็น และก็ไม่ผิดหวังเมื่อเราหา Gray Mouse Lemur ตัวจิ๋วได้สำเร็จ

ขากลับเราเดินผ่านป่าหนาม (Spiny Forest) เป็นไม้ทนความแห้งแล้งลักษณะต่างไปจากป่าหนาม (Thorn Forest) อื่นๆ มีอยู่ที่เดียวในโลกทางภาคใต้ของเกาะ ต้นไม้มีรูปร่างประหลาดสูงชะลูดมีหนามรอบตัว เราเห็นว่านหลากชนิด คล้ายว่านหางจระเข้แต่มีขนาดใหญ่โต มองตามยอดไม้ขึ้นไปเห็นดาวระยิบระยับนับล้านดวงเต็มท้องฟ้าในคืนเดือนมืด เป็นดาวกลุ่มขั้วโลกใต้ที่เราไม่ค่อยสันทัด ทุกคนปิดไฟจนมืดสนิท ไม่มีแสงใดๆ เล็ดลอดออกมา ฟ้ายิ่งมืดดาวยิ่งกระจ่าง เห็นทางช้างเผือกเสมือนหมอกจางๆ พาดผ่านกลางท้องฟ้า

เรายืนมองดาวพราวฟ้าด้วยความอิ่มใจ มีเสียงดนตรีเหงาๆ จากฝีมือชาวมาลากาซีแว่วมาแต่ไกล

ลาก่อน มาดากัสการ์…ทวีปแห่งที่ ๘ มหัศจรรย์ ลึกลับ และน่าหลงใหลยิ่ง

ขอขอบคุณ : สายการบินแอร์มาดากัสการ์

เอกสารประกอบการเขียน
Fitzpatrick, Mary and Paul Greenway. Madagascar. Lonely Planet, 2001.
Mittermeier, Russell A. et al. Lemurs of Madagascar. Second Edition. Conservation International, 2006.
เว็บไซต์วิกิพีเดีย wikipedia.org