เรื่อง : วราพร วันไชยธนวงศ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เจริญถ่ายคู่กับบ้านหลังใหม่ของเขาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง
เสียงหวีดร้องโหยหวนของชายวัยกลางคนดังขึ้นท่ามกลางความเงียบ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเสียงตะโกนด่าทอ ร้องเอะอะโวยวาย เขาพยายามพยุงร่างที่เต็มไปด้วยผ้าพันแผลและสายน้ำเกลือระโยงระยางบนเตียงผู้ป่วยอย่างทุลักทุเล แต่เมื่อความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ท้ายที่สุด เขาจึงตัดสินใจโขกศีรษะกระแทกกับราวเหล็กข้างเตียงอย่างรุนแรงหลายครั้งด้วยแววตาสิ้นหวัง และอาการคลุ้มคลั่งคล้ายคนบ้า…
เช้าวันหนึ่งของปี ๒๕๔๗
รวงข้าวเหลืองอร่ามกลางแสงแดดอ่อน ๆ ยามต้องสายลมพัดดูราวกับผืนแพรสีทองพลิ้วไหว สายลมยามเช้าพัดพาไอเย็นเข้าปะทะใบหน้า ขณะขับมอเตอร์ไซค์คู่ชีพลัดเลาะผ่านทุ่งนาสีทอง ฉันมัวแต่เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ธรรมชาติโดยรอบจนเกือบเลยทางแยกที่จะเลี้ยวเข้าบ้านของผู้ป่วยที่ฉันต้องไปเยี่ยมในวันนี้
“มีใครอยู่บ้างไหมคะ”
“มีครับ เชิญข้างใน” เสียงตอบรับดังพร้อม ๆ กับใบหน้าผู้พูดชะโงกออกมาทางหน้าต่างชั้นบน
ฉันแหงนมองตามเจ้าของเสียง ภาพที่เห็นทำให้ฉันตกใจและชะงักไปเล็กน้อย เพราะชายที่ยืนโผล่พ้นขอบหน้าต่างมานั้น แขนทั้งสองข้างขาดตั้งแต่หัวไหล่ลงมา ดวงตาสีน้ำตาลดูหม่นหมอง ปราศจากความสดชื่นแจ่มใส ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเพราะเขาเพิ่งผ่านศึกหนักที่สุดของชีวิตมาได้ไม่นาน
ข้อมูลจากใบส่งตัวทำให้ฉันทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ชื่อ เจริญ ดวงจันทร์ ประสบอุบัติเหตุถูกไฟฟ้าช็อร์ตเมื่อ ๒ เดือนก่อน ได้รับบาดเจ็บฉกรรจ์จนต้องตัดแขนทิ้งทั้งสองข้าง ใบส่งตัวผู้ป่วยที่ฉันได้รับระบุว่า แม้ตอนนี้บาดแผลทางกายหายดีแล้ว แต่จิตใจของเขายังรับสภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงขั้นเคยมีประวัติคิดฆ่าตัวตายระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว
ฉันเดินเข้าไปในบ้านตามคำเชิญ รอบ ๆ บ้านของเจริญร่มรื่นไปด้วยไม้ผลหลายชนิด เมื่อมองเข้าไปในครัวก็เห็นสมาชิกในบ้านกำลังกินข้าวกันอยู่ จึงแวะทักทายแล้วเดินมาหยุดตรงบริเวณห้องโถงชั้นล่างเพื่อหาที่นั่ง สักครู่เจ้าของบ้านก็ตามเข้ามา ก่อนจะหยุดอยู่หน้าจอโทรทัศน์ซึ่งเปิดทิ้งไว้ เขาค่อย ๆ ยกเท้าข้างหนึ่งขึ้นปิดสวิตช์ จากนั้นก็เดินมานั่งเยื้อง ๆ กับฉัน
“ไม่ไหวแล้วหมอ ครั้งนี้โดนหนัก แขนขาดทั้งสองข้าง จะทำอะไรได้อีก” เจริญโพล่งขึ้น ใบหน้าก้มลงต่ำน้ำตาคลอเบ้า เขาหยุดพูดไปชั่วขณะ จนฉันต้องเอื้อมมือไปแตะเข่าเขาเบา ๆ
ฉันรู้จักเจริญมาตั้งแต่ก่อนหน้าเขาได้รับอุบัติเหตุ เพราะในยามเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เจริญจะไปรับบริการที่สถานีอนามัยอยู่เป็นประจำ วันที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในชีวิตของเขานั้น เจริญไปรับจ้างทาสีตามปรกติ
ขณะงานใกล้จะเสร็จเต็มที ลูกกลิ้งที่เขาใช้ทาสีบังเอิญไปเกี่ยวเข้ากับสายไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านใกล้ตัวบ้าน เขาเล่าว่าพอรู้ตัวว่าถูกไฟดูดก็มองเห็นแขนตัวเองยกขึ้น รู้สึกเหมือนตัวกำลังลอยลงมาข้างล่าง คิดในใจว่าคราวนี้คงไม่รอด และคิดถึงครอบครัวขึ้นมาทันที
สักครู่พอเขาฟื้นก็ได้ยินเสียงผู้คนแตกตื่น บอกกันว่าให้รีบพาเขาไปหาหมอ จากนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรอีกเลยอยู่นานเป็นเดือน
“ผมไม่อยากอยู่เป็นคนเลย ทำไมผมต้องโดนขนาดนี้ด้วย เพิ่งจะเสียลูกชายไปไม่ถึงปี ผมก็ต้องมาเป็นอย่างนี้อีก”
ลูกชายคนที่เจริญเอ่ยถึง คือลูกคนเล็กที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ฉันเองยังไปร่วมงานศพด้วย ได้ยินว่าเขาเพิ่งจบ ปวช. เป็นเด็กหนุ่มที่กำลังจะมีอนาคตสดใส แต่ต้องมาจบชีวิตด้วยโรคลมชักในวัยเพียง ๑๘ ปี
“ไหน ๆ มันก็เป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้แล้ว เราเองต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป เรามาช่วยกันทำวันนี้ให้ดีที่สุดดีไหม” ฉันพูดปลอบ
เจริญเงยหน้ามองฉัน พยักหน้าพร้อมกับปล่อยให้น้ำตาที่เอ่อล้นไหลอาบแก้มทั้งสองข้าง
“ฉันยินดีที่จะเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องการมาช่วยดูแลสุขภาพของเจริญนะ คนเราคงไม่โชคร้ายตลอดไปหรอก”
“แต่ชีวิตผมไม่ใช่อย่างนั้นนะหมอ” เขาส่ายหน้าเป็นเชิงโต้แย้ง ก่อนจะลำดับเรื่องราวชีวิตเหมือนจะทบทวนให้ตัวเองฟังไปด้วยพร้อมกัน เพื่อค้นหาคำตอบว่าทำไมชีวิตเขาถึงเป็นเช่นนี้ และเขาจะดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปบนความคิดและความเชื่อแบบไหนดี
ฉันนิ่งฟังอย่างใส่ใจ สำหรับคนทำงานในสถานีอนามัยเล็ก ๆ แห่งนี้ ประวัติชีวิตผู้ป่วยเป็นเสมือนเครื่องมือช่วยสืบค้นลึกเข้าไปถึงต้นตอที่อยู่เบื้องหลังบาดแผลทางใจของเขา อีกทั้งยังช่วยให้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้อีกด้วย
+ + +
ครอบครัวที่อบอุ่น ภรรยาและลูกสาวเป็นแรงใจช่วยให้เจริญยืนหยัดสู้ชีวิต
เจริญเป็นคนบ้านโจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้อง ๗ คน ตัวเขาเป็นลูกคนที่ ๓ น่าเศร้าที่น้อง ๆ ของเจริญทั้ง ๔ คนเสียชีวิตแล้วทั้งหมด น้องชายคนแรกฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในความรัก น้องสาวคนที่ ๒ เสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๘ ขวบด้วยโรคลมชัก น้องชายคนที่ ๓ ถูกรถชนตาย และคนสุดท้ายก็เสียชีวิตโดยไม่รู้สาเหตุตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
เจริญทำงานหนักตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบชั้น ป.๔ ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ไม่นานพ่อก็เสียชีวิต แม่ต้องเปลี่ยนอาชีพไปค้าข้าว โดยรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านแล้วนำไปสีที่โรงสี จากนั้นค่อยขนข้าวไปขายที่ตลาด ทุก ๆ เย็นเจริญต้องช่วยแม่แบกข้าวสารจากโรงสีไปเก็บไว้ที่บ้านเป็นระยะทาง ๒-๓ กิโลเมตร
แม่ของเจริญค้าข้าวอยู่ได้พักใหญ่ก็ตัดสินใจแต่งงานใหม่เพื่อหาเพื่อนชีวิตมาช่วยแบ่งเบาความหนักใจในการแบกภาระเลี้ยงดูลูก ๆ หลายคน เมื่อเห็นว่าแม่มีคนดูแล เจริญจึงขอแม่ไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ
“เจริญก็เป็นคนดีคนหนึ่งนะ มีความกตัญญู เป็นคนที่มีความอดทนสูง เอาเถอะ เท่าที่ฟังมาชีวิตก็ผ่านอะไรมามากนักหนาแล้ว ต่อไปนี้คงไม่มีอะไรที่จะทนไม่ได้หรอก” ฉันให้กำลังใจเขา
“แต่มันไม่เหมือนเดิมแล้วหมอ คนไม่มีแขนจะทำอะไรได้ ขนาดจะแปรงฟันเองยังทำไม่ได้เลย” น้ำเสียงเจริญฟังดูเหมือนเยาะหยันตัวเอง
ฉันเลี่ยงไม่โต้ตอบ แต่หันมาชวนเจริญคิดวางแผนการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต เรื่องที่เขาหนักใจในเวลานี้ก็คือ การดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ และชำระล้างทำความสะอาดหลังถ่ายหนัก
ฉันกระตุ้นให้เขาค่อย ๆ พิจารณาปัญหาไปทีละเรื่องว่ามีทางออกอย่างไรได้บ้าง เขาครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะเงยหน้าสบตาฉัน นัยน์ตาเริ่มส่งประกาย
เจริญเสนอแผนที่จะนำแปรงสีฟันขนาดค่อนข้างใหญ่ ๒ อัน ตอกตะปูที่ด้ามให้อยู่ในระดับเดียวกัน ติดไว้บริเวณข้างฝาผนังห้องน้ำใกล้ ๆ ประตู โดยหันหัวแปรงเข้าหากัน เพื่อเขาจะได้ยื่นปากเข้าไปแปรงฟันทีละด้าน ฟังน้ำเสียงของเจริญ ดูเขาตื่นเต้นกับความคิดตัวเองไม่น้อยเลย
ฉันรุกต่อโดยชวนเจริญเข้าไปสำรวจห้องน้ำด้วยกัน พบปัญหาที่น่าจัดการอย่างหนึ่งตรงโถส้วม ซึ่งแม้เป็นชักโครกแต่ยังต้องใช้ขันตักน้ำเพื่อชำระล้าง เป็นอีกจุดหนึ่งที่เจริญช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ฉันเสนอว่าน่าจะลองคิดหาวิธีอื่น โดยอาจใช้เท้าหรือปากช่วย เจริญนิ่งคิดอยู่นานทีเดียว แล้วจึงเสนอวิธีต่อสายยางเส้นยาวจากก๊อกน้ำแล้วติดตั้งตัวปิดเปิดก๊อกน้ำไว้ในระดับต่ำเพื่อเขาจะได้ใช้เท้าปิดเปิดเอง นับว่าเจริญคิดได้ไวมากทีเดียว ฉันเชื่อว่าเป็นเพราะเขาไม่อยากจะเป็นภาระคนอื่นนั่นเอง
ก่อนลากลับ ฉันให้กำลังใจและชื่นชมเขาอย่างจริงใจ หน้าตาของเจริญดูสดชื่นขึ้นกว่าตอนแรกที่เห็นมากนัก
+ + +
ผ่านไปกว่า ๒ สัปดาห์ ก็ถึงกำหนดวันนัดหมายเยี่ยมเจริญที่บ้านอีกครั้ง พบกันครั้งนี้เจริญเดินออกมาต้อนรับฉันถึงหน้าประตูบ้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดชื่น ดวงตาเขาดูเป็นประกายกว่าครั้งก่อนมากเหลือเกิน
เจริญรายงานผลงานที่ก้าวหน้าไปตามแผนที่ได้วางไว้ เขาดูสบายใจขึ้นมากที่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ พร้อมกล่าวขอบคุณฉันที่ช่วยกระตุ้นให้เขาคิด และเชื้อเชิญให้เข้าไปดูผลงาน
พอเดินกลับออกมาจากห้องน้ำก็ได้พบสุจา ภรรยาของเจริญ
“วันนี้ไม่ไปขายของหรือ” ฉันทักทาย
“ไปทุกวันละค่ะหมอ พอใกล้ถึงเวลาอาหารจะรีบกลับมาป้อนข้าวให้เจริญ” สุจาตอบยิ้ม ๆ พลางเหลือบสายตามองสามี
ฉันเริ่มเปิดประเด็นชักชวนกันคิดหาวิธีเพื่อให้เจริญช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องการกิน แต่เจริญส่ายหน้าปฏิเสธในทันที เขาคงสังเกตเห็นสีหน้าฉันหม่นหมองลง จึงพยายามรักษาน้ำใจด้วยการเอ่ยถามว่าจะให้เขาทำอย่างไร
“คิดไม่ออกเหมือนกัน เจริญล่ะ เคยคิดไว้บ้างไหม”
เจริญพยักหน้า ก่อนบอกว่ามีอยู่หนทางเดียวคือใช้เท้าคีบช้อนตักอาหารเข้าปาก
“หมอ ผมรับไม่ได้นะ ผมว่าเท้ามันสกปรก มันเป็นของต่ำที่สุดแล้ว และโบราณก็สอนมาว่า ข้าวเป็นเจ้า ถ้าต้องใช้เท้าคีบข้าวเข้าปาก ผมกลัวว่ามันจะบาปหรือเปล่า”
เหตุผลของเจริญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฟังแล้วฉันเองยังอึ้ง แต่ก็พยายามกระตุ้นเจริญว่าอย่าเพิ่งหยุดคิดหาหนทางอื่น เพื่อจะได้ไม่ต้องรบกวนสุจากลับมาป้อนข้าวทุกวัน
เจริญนิ่งเงียบไปนาน สุจาซึ่งนั่งฟังอยู่ห่าง ๆ คงสงสารสามีจับใจ จึงพูดขึ้นมาบ้างว่าไม่เป็นไร เธอกลับมาป้อนข้าวสามีได้ทุกวัน
“สุจา ฉันรู้ว่าสุจายินดีทำทุกอย่างเพื่อให้เจริญมีความสุข แต่เราต้องหาวิธีทำให้เจริญช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นวันไหนสุจาติดธุระเร่งด่วนต้องไปต่างจังหวัด ใครจะดูแลเจริญ จริงไหม”
สุจาเริ่มคล้อยตาม แต่สายตายังส่อแววกังวลเล็กน้อย สุจาเป็นภรรยาที่รักและอยู่เคียงข้างดูแลสามีมาตลอดตั้งแต่วันที่เขาประสบอุบัติเหตุ จนถึงวันนี้ร่วม ๔ เดือนแล้ว ก่อนลากลับ ฉันพูดเพียงว่า ไม่ต้องกังวล ทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ค่อยคิดกันใหม่ และบอกว่าอีก ๒ สัปดาห์จะกลับมาเยี่ยมอีก
+ + +
เจริญคาบไม้จิ้มปุ่มรีโมตคอนโทรลเพื่อเปลี่ยนช่องสถานีโทรทัศน์ แม้วันนี้ร่างกายไม่สมบูรณ์ แต่เขายังพยายามช่วยเหลือตนเองทุกทาง
สองสัปดาห์ถัดมา ฉันมาเยี่ยมเจริญตามที่นัดไว้…
ด้วยความคุ้นเคย ฉันเดินตรงดิ่งเข้าไปในบ้านจนลืมร้องทักทายเจ้าของบ้านเหมือนเคย และตะลึงงันไปชั่วครู่กับภาพที่เห็นเบื้องหน้า
ในห้องครัว เจริญกำลังใช้เท้าขวาของเขาคีบช้อน แล้วโน้มตัวลงมาตักข้าวเข้าปากด้วยท่าทางเก้งก้างเงอะงะเหมือนเด็กหัดใช้ช้อนกินข้าว เขาเงยหน้าเห็นฉันเข้าพอดี ใบหน้าเขาเลอะเทอะไปด้วยเม็ดข้าวเกาะอยู่เต็ม
“ดีใจจังเลยที่เห็นเจริญกินข้าวได้เองแล้ว” ฉันบอกเขาด้วยความจริงใจ ทำเอาเจริญยิ้มอาย ๆ
“ทำไงได้ล่ะหมอ ผมมาคิดดูแล้ว จริงอย่างที่หมอว่า ผมควรจะทำอะไรได้เองให้มากที่สุด เมื่อชีวิตมันเฉียดตายมาแล้ว มาคิดดูว่ามันไม่ตายก็ถือเป็นบุญ”
เขาสารภาพด้วยว่าเก็บคำพูดของฉันไปคิดอยู่หลายวัน จนในที่สุดจึงตัดสินใจฝึกช่วยเหลือตัวเอง น้ำเสียงเอ่ยเล่านั้นฟังดูไม่เศร้าสร้อยเหมือนวันก่อนอีกแล้ว
“เจริญผ่านโชคร้ายมาแล้ว ดีเหลือเกินที่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อไปนี้จะมีแต่โชคดี ซื้อลอตเตอรี่ไว้นะคะ” ฉันพูดให้กำลังใจก่อนตบท้ายด้วยคำกระเซ้าเย้าแหย่
“ผมต้องขอขอบคุณหมอมากที่คอยมาดูแลผมตลอด ถ้าหมอไม่มา ผมคงยังนึกไม่ออกว่าจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้ยังไงคนเดียว” เจริญขอบคุณฉันเหมือนทุกครั้ง และฉันเองก็ไม่เบื่อที่จะฟัง เราคุยกันต่ออีกหลายเรื่อง จนพักใหญ่ฉันจึงลากลับ
+ + +
สัปดาห์ถัดมาฉันพบสุจาที่ตลาด เธอกำลังเข็นรถเร่ขายขนม ผักและผลไม้ตามฤดูกาล ฉันแวะทักทายและถามไถ่ถึงเจริญ
สุจาเล่าว่าสามีของเธอดูมีกำลังใจขึ้นมาก จากแต่ก่อนที่เอาแต่นั่งเงียบอยู่กับบ้านไม่ยอมทำอะไร ช่วงหลัง ๆ มานี้เจริญช่วยงานบ้านมากขึ้น ทั้งทำความสะอาดบ้านและหุงข้าวไว้รอสุจากลับบ้าน จนเธอเองยังรู้สึกแปลกใจในความเปลี่ยนแปลงของสามี
“ยังมีเรื่องอะไรหนักใจอยู่หรือเปล่า” ฉันซักต่อ
“ฉันว่าเขาคงจะอายชาวบ้านนะหมอ” สุจาพูดลอย ๆ ฟังดูเป็นปริศนา
“เพราะอะไรถึงคิดอย่างนั้น”
“ก็เขาไม่ยอมไปไหนมาไหนเลย เมื่อก่อนที่ยังไม่ป่วย เขาเป็นคนชอบออกงานมาก มีงานศพงานแต่งที่ไหน เขาจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของงาน ไปช่วยทุกงานจนชาวบ้านรัก มีแต่คนถามถึง แต่เดี๋ยวนี้ อย่าว่าแต่งานแต่งงานศพเลย ชวนออกไปไหนก็ไม่ไป มาตลาดยังไม่ยอม” น้ำเสียงสุจาเจือความกังวล
ฉันบอกสุจาว่าต้องร่วมมือกันเรียกความเชื่อมั่นของเจริญให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยแสดงให้เขาเห็นว่าลูกเมียไม่ได้รู้สึกอายที่มีพ่อหรือมีสามีอย่างเขา
“เอาเลยหมอ หมอจะให้ช่วยทำอะไร ฉันทำให้หมด ฉันเชื่อหมอทุกอย่าง”
ฉันนิ่งคิดแล้วแนะสุจาว่า น่าจะหาทางพาเจริญออกจากบ้านมาพบปะผู้คน สุจานิ่งคิดชั่วครู่ แล้วรอยยิ้มอย่างมีความหวังก็ค่อย ๆ ปรากฏบนใบหน้า
การกลับคืนสู่สังคมคือความท้าทายขั้นสุดท้ายสำหรับเจริญ ผู้ซึ่งเดินผ่านด่านการฟื้นฟูชีวิตตนเองหลังจากมีสภาพพิการมาได้ไกลโขแล้ว
+ + +
หลังจากได้พบสุจา ฉันถูกเรียกตัวให้เดินทางไปอบรมในจังหวัดเป็นเวลานาน เมื่อกลับไปเยี่ยมเจริญอีกครั้งก็ได้รับข่าวดีว่า สุจาและลูกสาวสามารถเกลี้ยกล่อมให้เจริญยอมออกจากบ้านไปพบปะผู้คนได้สำเร็จ
เจริญเดินออกมาต้อนรับฉัน วันนี้สีหน้าเขาดูต่างไปจากครั้งแรก ๆ ที่เห็นอย่างสิ้นเชิง นัยน์ตาเขาเป็นประกายและใบหน้าเปี่ยมด้วยความสุข
“ตอนนี้กินข้าวสบายเลยหมอ” เขาเอ่ยทักฉันน้ำเสียงสดใส
“เก่งมาก ในที่สุดเจริญก็ทำสำเร็จ เห็นไหมความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น” ฉันชมเขาจากใจจริง
สุจาเล่าให้ฉันฟังว่า แสงหล้า ลูกสาวคนโตของเธอกับเจริญ ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ เชียงใหม่ ก่อนที่เจริญจะประสบอุบัติเหตุจนต้องตัดแขน ขณะนี้สอบบรรจุข้าราชการและทำงานอยู่ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดปราจีนบุรี ได้ชวนพ่อแม่ให้ไปเยี่ยมเธอที่นั่น
+ + +
ตอนแรกเจริญบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไป แต่สุจาและแสงหล้าช่วยกันเกลี้ยกล่อมจนเขายอมเปลี่ยนใจ ขณะนั้นเป็นช่วงวันหยุดปลายปี เมื่อเจริญไปเยี่ยมลูกสาวที่ปราจีนบุรีแล้ว แสงหล้าก็พาพ่อแม่ไปเที่ยวตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ภายหลังทั้งสามคนยังได้ไปเที่ยวทะเลที่ระยอง และไปเยี่ยมพี่สาวเจริญที่จังหวัดจันทบุรีอีกด้วย
ฉันดีใจกับเขา แต่อดที่จะถามต่อไม่ได้ว่าทำไมช่วงแรกถึงเก็บตัวไม่ยอมออกไปไหน
“ไม่แน่ใจว่าคนอื่นเขาจะว่าอย่างไร ลูกเมียจะอายชาวบ้านเขาหรือเปล่า จะทำความเดือดร้อนให้ลูกเมียหรือเปล่า จะลุกจะนั่งกลัวจะลำบากคนอื่น ผมคิดไปเองหมอ ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว วันก่อนเมียผมพาไปงานขึ้นบ้านใหม่เพื่อนที่สันป่าตอง ไปแนะนำเขาว่านี่สามีฉัน ผมก็ตื้นตันใจ เขาไม่อายเลยหมอ…ผมคิดว่าเขาจะอายที่มีสามีพิการเสียอีก”
เจริญยังเล่าต่อว่า คืนก่อนเขามีโอกาสไปร่วมทำบุญงานศพในหมู่บ้าน คืนนั้นเจริญได้พบลุงมา มรรคนายกของวัด แกมีท่าทีดีใจเมื่อเห็นเขาและยังพูดว่า เป็นบุญเหลือเกินที่เขาไม่เป็นอะไรไปมากกว่านี้ จะได้มาช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านต่อไป เพื่อนบ้านทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาหมดทุกข์หมดโศกแล้ว จากนี้ไปคงมีแต่ความโชคดี
+ + +
การยอมกลับคืนสู่สังคมทำให้เจริญเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น ว่าไม่ใช่มีแต่ครอบครัวที่คอยเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างเขา แต่คนในชุมชนและเพื่อนบ้านทุกคนต่างก็ดีใจที่เห็นเขาหายป่วย และชีวิตเขายังมีค่าอีกมากมายนัก ยิ่งนึกย้อนไปถึงวันที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาเยี่ยมเขามากมาย แม้แต่เพื่อนสมัยทำงานรับจ้างก่อสร้างอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังเดินทางมาเยี่ยมและให้เงินไว้ใช้ เจริญก็ยิ่งรู้สึกอบอุ่นใจ
ฉันมองเห็นพัฒนาการด้านจิตใจของชายผู้นี้มาโดยตลอด ถึงวันนี้ฉันมั่นใจว่าเขายอมรับสภาพของตัวเองด้วยใจที่กล้าแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ภาพที่สุจาเล่าให้ฟังถึงการพยายามฆ่าตัวตายของเจริญเมื่อแรกฟื้น ค่อย ๆ ลบเลือนไปจากความคิดฉันในที่สุด
ประกายสดใสและมีชีวิตชีวาในดวงตาของเจริญ เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ฟันเฟืองเล็ก ๆ ในระบบบริการสุขภาพอย่างฉันมีความสุข และประจักษ์ด้วยตาตัวเองว่า งานบริการระดับปฐมภูมินั้นช่วยสมานบาดแผลทางใจให้แก่ชีวิตผู้คนจนข้ามพ้นความทุกข์ไปได้อย่างไร แม้เพียงชีวิตเดียวแต่ก็มีคุณค่ายิ่งนักสำหรับฉัน
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สุขศาลา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๑
แนะนำผู้เขียนเรื่อง : วราพร วันไชยธนวงศ์สำเร็จ การศึกษาประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ชั้นสูง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๒๔ และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเจริญพันธุ์และวางแผนประชากร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี ๒๕๓๔ เริ่มการทำงานเป็นนักวิชาการสาธารณ สุข ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย เมื่อปี ๒๕๒๔-๒๕๔๓ จากนั้นเป็นพยาบาลวิชาชีพ (ด้านการสอน) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๙ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ |