สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
นักประวัติศาสตร์ทราบดีว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงหลังสงครามจบลงใหม่ ๆ ความอดอยากและสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทำให้คนจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาทำมาหากินในสยาม
ครอบครัวแซ่คูก็เป็นหนึ่งในผู้อพยพเหล่านั้น หัวหน้าครอบครัวทิ้งบ้านจากซัวเถามาเริ่มต้นชีวิตในสยามด้วยการเป็นคนงานโรงงานฟอกหนัง ไม่นานนักเขาก็ให้ลูกและภรรยาตามมาตั้งรกราก
ไม่ต่างกับครอบครัวจีนส่วนใหญ่ ทุกคนทำงานหนักเพื่อตั้งตัวและสร้างชีวิตที่ดีกว่า
“มุก แซ่คู” ลูกชายคนโตทำงานหาเงินส่งเสียน้อง ๆ เรียนหนังสือ ในช่วงวัยรุ่น เขาดัดแปลงห้องแถวบนถนนพระราม ๔ ย่านคลองเตยเป็นร้านรับปะยางจักรยานเล็ก ๆ ชื่อ “สินเจริญ”
จากงานปะยาง เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีสร้างชื่อในฐานะ “ผู้ผลิตจักรยานเสือหมอบแฮนด์เมด” สัญชาติไทย โดยผลิตเสือหมอบให้นักจักรยานทีมชาติจนเป็นที่รู้จักในฉายา มุก คลองเตย
ความเชี่ยวชาญของมุกได้รับการยอมรับถึงระดับถูกทาบทามให้ทำหน้าที่ “นายช่าง” ของนักจักรยานทีมชาติไทยชุดซีเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์หลายครั้ง เป็นที่รู้กันว่าเบื้องหลังความสำเร็จของนักจักรยานทีมชาติไทยช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ นั้น “มุก คลองเตย” มีส่วนสำคัญไม่น้อย
ทว่าถึงปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ จู่ ๆ ร้าน “สินเจริญ” ก็ปิดตัว “มุก คลองเตย” หายไปจากวงการเงียบ ๆ กลายเป็นปริศนาให้วิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานา บ้างลือถึงขนาดว่ามุกเสียชีวิตแล้ว
จนทุกวันนี้ นักจักรยานรุ่นใหญ่ยังคงพูดถึงเขาบ่อยครั้งในฐานะนักสร้างจักรยานแฮนด์เมดระดับปรมาจารย์ เฟรมที่ “มุก คลองเตย” สร้างปัจจุบันยังมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของนักจักรยานจำนวนมาก
วันนี้ มุก แซ่คู หรือ “มุก คลองเตย” ในวัย ๗๙ ปี ซึ่งไม่เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารเล่มใดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เปิดใจคุยกับ สารคดี เพื่อเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คนรุ่นหลังได้รับรู้
อยากให้คุณมุกเล่าประวัติส่วนตัว
ผมมีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน บ้านผมอพยพมาจากเมืองจีน จากเมืองซัวเถา นามสกุลคือ “แซ่คู” เตี่ย (พ่อ) มาเมืองไทยก่อน จากนั้นผมกับแม่ก็ตามมา ตอนนั้นผมอายุ ๑๒ ปี ผมเกิดที่เมืองจีน ส่วนน้อง ๆ มาเกิดที่เมืองไทย วันนี้ผมเองก็ยังมีสถานะเป็นบุคคลต่างด้าว นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมผมพูดจีนกลางได้นิดหน่อย ที่พูดได้จริง ๆ คือจีนแคะซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของซัวเถา ส่วนหนังสือผมเขียนไม่ได้เพราะที่บ้านไม่ได้ส่งให้เรียน
ตอนเตี่ยมาเมืองไทย เตี่ยทำงานเป็นพ่อครัวให้ทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) พอญี่ปุ่นแพ้สงคราม เตี่ยเอาของที่ทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้ไปขายแล้วเอามาเป็นค่าเดินทางให้ผมกับแม่ตามมาเมืองไทย
จุดเริ่มต้นการซ่อมและสร้างจักรยานเกิดขึ้นอย่างไร
ผมมีญาติอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขามาเยี่ยมบ่อย ครั้งหนึ่งผมตามไปอยู่กับเขาราวปีเศษ เขาเปิดร้านจักรยาน รับปะยาง ผมก็ได้ไปเรียนรู้ สมัยนั้นปะยางแผลหนึ่งคิด ๕๐ สตางค์ พอกลับมากรุงเทพฯ ผมมาเปิดร้านปะยางที่บ้านบนถนนพระราม ๔ ตอนนั้นผมอายุ ๑๘ ปี ถนนพระราม ๔ ยังเป็นลูกรัง รอบ ๆ เป็นนาข้าว จนมีการสร้างถนนแล้วน้ำท่วมเข้าบ้าน ผมเลยย้ายบ้านมาที่อยู่ปัจจุบัน
ส่วนเรื่องสร้างจักรยาน เริ่มต้นจากมีเด็กฝรั่งคนหนึ่งขี่เสือหมอบมาให้ซ่อมที่ร้าน เขาพูดไทยชัด พ่อแม่ที่เมืองนอกซื้อจักรยานมาให้ สมัยนั้นหาที่ซ่อมจักรยานเสือหมอบยากและยังไม่มีการผลิตจักรยานชนิดนี้ในเมืองไทย ผมเกิดคิดจะทำเลียนแบบ เพราะเห็นเสือหมอบต่างประเทศสวยมาก เลยขอเขาวัดช่วงรถ ดูรายละเอียดต่าง ๆ แต่พอจะทำก็ติดเรื่องอะไหล่ว่าไม่มีของสักชิ้น ผมต้องทำขึ้นใหม่ทั้งหมด
แฮนด์เมดทุกขั้นตอน
ใช่ครับ วิธีสร้างต้องคิดเองทั้งหมด ตอนนั้นไม่มีเงินซื้อเครื่องมือ เช่น เครื่องเชื่อม เครื่องตัด ก็ทำแฮนด์เมดทั้งหมด เวลาสร้างจะทำเป็นลอต ลอตละ ๑๐ คัน ต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ครบก่อน เช่น ท่อเฟรม ตะเกียบรถ ซื้อเหล็กแผ่นมาม้วนใช้ค้อนทุบให้ได้ทรง หัวโตปลายเล็ก ต้องเคาะไม่ให้เหล็กมันยับยู่ยี่ ใช้ปากกาจับวัสดุจับแล้วดัด จะตัดก็ใช้เลื่อยมือ เวลาเจียเก็บมุมก็ใช้มือหมุนหินเจีย ใช้กระดาษทรายขัด พวกชิ้นส่วนอย่างหางปลาที่สมัยนี้ปั๊มออกมาด้วยเครื่องจักร ผมเอาเหล็กแผ่นมาวางเขียนลายแล้วตัดด้วยเลื่อยตามลาย ตอนเชื่อมเฟรม ผมใช้สายตากะระยะ
เรื่องเชื่อมเหล็กก็มีเทคนิค ผมเชื่อมให้ไม่มีรอยต่อได้ สำคัญที่การใช้ไฟ ไฟมีแก่กับอ่อน ต้องคุมให้ได้ เป่าไฟมากเหล็กก็กรอบ เบาไปก็ยึดไม่อยู่ ทองเหลืองด้านในไม่ละลาย สมัยนั้นยังใช้แก๊สก้อน ซื้อมาแล้วเอาไปล้าง ผสมน้ำ ให้มันเดือดเป็นไอ เอาไอออกมาตามท่อเป็นแหล่งกำเนิดไฟ
เวลาลงสีเฟรมก็ไม่ใช้เครื่องพ่น ใช้มือนี่แหละทา ผมใช้สีตราทหารซื้อมาเป็นกระป๋อง ๆ จากสามย่าน การทาสีอยู่ที่การผสมสีและฝีมือ มันมีเทคนิค ผมบอกใคร ๆ ว่าผมทาเองนี่ไม่มีคนเชื่อ มีคนถามผมว่าใช้โรงงานทำสีที่ไหน ผมบอกทาเองทั้งนั้น
นี่ยังไม่นับขั้นตอนการสร้างที่ต้องดูให้เหมาะกับคนที่มาสั่ง ผมไม่ได้วัดตัว แต่ใช้สายตากะแล้วเอามาสร้างเฟรม พอคิดว่าจะไปจ้างคนอื่นทำ ก็คิดว่าสู้เราทำเองทั้งหมดไม่ได้
ผมทำจักรยานเฉลี่ยวันละคัน มีลูกมือช่วยราว ๕ คน เป็นน้องชายและเด็กที่ญาติ ๆ ฝากมาทำงาน ทำกันทั้งวันทั้งคืน เพราะมีคำสั่งซื้อเยอะ ใน ๑ วัน ผมต้องปั่นจักรยานไปซื้ออะไหล่ที่วรจักร ๒ ครั้ง แม่บอกว่าทำไมต้องทำมากขนาดนี้ แต่เราไม่ทำไม่ได้ เพราะเขาจ่ายเงินมาแล้ว และถ้าทำไม่ทันเวลาก็จะโดนต่อว่า
ทำจักรยานออกมากี่รุ่น
จักรยานที่สร้างมีอยู่ ๔-๕ รุ่น เช่น มุกเปอโยต์ มุกคาร์ลตัน มุกชินเนลลี่ แต่ละรุ่นมีลวดลายข้อต่อ (LUX)ต่างกัน ทำเลียนแบบจักรยานยี่ห้อต่างประเทศเหมือนเป๊ะ ส่วนพวกรอยบากบนตะเกียบหลังที่มีลักษณะของแต่ละรุ่น เราก็เอามาจากต่างประเทศ ภาพพวกนี้มันอยู่ในหัวของเรา
ทั้งหมดเกิดจากความกล้าเสี่ยง เรียนด้วยตัวเอง ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ไปของมันได้
ทำอย่างไรให้ “จักรยานมุก” ได้รับการยอมรับ
ผมให้พวกนักเรียนไปลองขี่ ไม่ชอบก็เอามาคืนได้ ผมทำเฟรมขายราคาถูกตั้งแต่ ๑๘๐ บาท สูงสุด ๖๐๐ บาท ต่อมามีคนเอาไปขี่ชนะได้ถ้วยรางวัล ก็รู้กันปากต่อปาก เขาก็สั่งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จำได้ว่าให้ฟรีก็มี
ส่วนโลโก น้องชายวาดแล้วไปจ้างร้านสติกเกอร์ ใช้คำภาษาอังกฤษว่า MOOK KLONGTOEI สมัยนั้นมีจดหมายมาจากทั่วประเทศถึงวันละ ๔๐ ฉบับ ส่วนมากจะถามราคา หาอะไหล่ สั่งรถ ตอบกันแทบไม่หวาดไม่ไหว ผมให้น้องชายช่วยเขียนตอบ
ที่มาของฉายา “มุก คลองเตย” และชื่อร้าน “สินเจริญ”
มุก คือชื่อของผม คลองเตย มาจากย่านที่อยู่ และชื่อจริงของผมคือ “มุก แซ่คู” ส่วนชื่อร้านมาจากการดัดเสียงคำจีนว่า “เซ้ง หลี” มาเป็น “สินเจริญ”
ร้านคู่แข่งเจ้าอื่นละ
ร้าน “จุกอารีย์” อยู่ย่านซอยอารีย์ เฟรมของเขายังไม่สวยและเนี้ยบเท่าของเราที่ทำได้เทียบเท่ากับจักรยานต่างประเทศ ร้าน “ราชาช่าง” เดิมเจ้าของร้านเป็นช่างทำเหล็กดัดหน้าต่าง เขาเอาเหล็กตัน ๆ มาทำรถจักรยาน มันก็ยกกันไม่ไหว ผมยังสงสัยว่าจะขี่ได้ยังไง ส่วนร้าน “หลานหลวง” เสี่ยเจ้าของร้านเขากลับจากเมืองนอก เลยสั่งจักรยานนอกเข้ามาขาย ไม่ได้มีจุดเด่นอะไร
ช่วยเล่าบรรยากาศการขี่จักรยานเสือหมอบยุคนั้น
สมัยนั้นในกรุงเทพฯ ที่ซ้อมขี่เสือหมอบมีน้อย เขาจะหาถนนเส้นยาว ๆ ที่เพิ่งตัดใหม่ เช่น วิภาวดีรังสิต บางนา-ตราด หรือถนนแถวบางแคซ้อมกัน เย็น ๆ สามสี่โมง นักจักรยานจะมารวมกัน มาซ่อมบำรุงรถ ดูอุปกรณ์ พอรู้ว่าที่ร้านทำเฟรมได้สวย เขาก็มารวมกันที่นี่ มีจักรยานมาจอดหน้าร้าน ๓๐-๔๐ คัน น้ำแข็ง ๔ กระติกไม่พอ
หลังไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๖ ปี ๒๕๑๓ กระแสจักรยานเสือหมอบก็แรง เพราะมีการจัดการแข่งขันจักรยานในงานกีฬาเขต (ปัจจุบันคือกีฬาแห่งชาติ) และรายการจัดแข่งขันจักรยานทางไกลหลายรายการ ตอนนั้นมีคนมาสั่งทำรถล่วงหน้าเป็นเดือน เพราะแต่ละเขตที่ส่งทีมแข่งขันต้องมีจักรยาน ๘ คัน
แล้วจักรยานแฮนด์เมดดีกว่าจักรยานโรงงานแค่ไหน
โรงงานทำจักรยานแบบยกโหล แต่สร้างจักรยานแฮนด์เมดต้องละเอียด คนขี่สูงเท่าไร ขายาว แขนยาวไหม จักรยานแฮนด์เมดแต่ละคันก็ต่างกัน มีรายละเอียดเยอะ เช่น ถ้าเป็นเสือหมอบแบบแข่งในลู่ หางปลาสองข้างต้องสูง ถ้าไม่สูงจะงัดกับพื้นตอนเลี้ยวและทำให้รถคว่ำ ส่วนบันไดปั่น เราต้องวัดจากดุมล้อหน้าจนถึงก้านถีบ มันต้องไม่ติดกัน ต้องมีระยะแค่นิ้วสอดเข้าไปนิ้วเดียว และทำให้เวลาปั่นในเวลโลโดรมไม่ตีกับล้อหน้า มันเป็นจักรยานที่สร้างให้กับผู้ขี่คนเดียว
ช่วงหนึ่งได้เป็นนายช่างของทีมชาติไทย
ในยุคที่อาจารย์เสรี ไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการและนายกสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย ท่านเรียกผมไปเป็นช่างประจำทีมทุกครั้ง ไม่ว่าจะซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ หน้าที่คือประกอบรถจักรยานที่เขานำเข้ามาจากเมืองนอก เช็กสภาพรถนักกีฬาให้พร้อมแข่ง ล้อเบี้ยวไหม มีอะไรเสียหายหรือไม่
บางครั้งนักกีฬาเขาได้รางวัลมาก ๆ ก็ให้เหรียญรางวัลผมเป็นที่ระลึก ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อยู่ ภายหลังทีมชาติรุ่นนั้นเกษียณตัวเอง ผมก็เลิกไป เพราะไม่รู้จักใครอีก ตอนนี้อาจารย์เสรีก็จากไปแล้ว ปรีดา จุลละมณฑล ก็จากไปแล้ว จริง ๆ ผมอายุมากกว่าพวกเขานะครับ
จักรยานมีส่วนในชัยชนะของนักจักรยานแค่ไหน
ส่วนมากคนขี่จักรยานมักไม่ค่อยนึกถึงข้อนี้ มันมีหลักการอยู่ เช่น เสือหมอบที่ใช้แข่งประเภทลู่ วัดระยะจากดุมล้อหน้าถึงดุมล้อหลังไม่ควรเกิน ๓๘ นิ้ว ตัวถังต้องสั้น ช่วงหลังสั้น ถ้าเป็นเสือหมอบถนนอาจห่างกว่านั้นได้
ผู้ขี่และการวางแผนก็มีส่วนมากเช่นกัน ต้องมีเทคนิค ใครจะนำช่วงไหน ใครจะขี่กัน ต้องทำงานเป็นทีมในสนามแข่ง
สร้างจักรยานจนมีชื่อเสียงแล้วขี่จักรยานเก่งไหม
ผมสร้างจักรยานแต่ขี่จักรยานไม่เก่งครับ ไม่เคยไปแข่ง มีหน้าที่อย่างเดียวคือทำรถให้เสร็จแล้วให้คนอื่นเขาเอาไปใช้
เคยมีคนทำจักรยานเลียนแบบ “มุก คลองเตย”
เราเรียกมันว่า “มุกปลอม” เป็นฝีมือของโรงงานแห่งหนึ่ง ทำเหมือนกับของเรา แต่งานไม่ละเอียดเท่า เราดูก็รู้ แต่ผมไม่สนใจ เพราะเราผลิตของดีอยู่แล้ว คนใช้จะรู้เอง
ในเมื่อกิจการไปได้ดีขนาดนี้ ทำไมต้องปิดร้านเลิกทำจักรยาน
ผมเลิกทำร้านตอนอายุ ๕๒ ปี แก่แล้ว ลูกชายแต่งงาน แม่ผมก็เสียชีวิต ไม่มีใครช่วย คนเดียวทำไม่ไหว แค่นั้นเอง จะขยายให้ใหญ่โตกว่านี้ก็ไม่มีเงิน ถ้านับจากวันที่เริ่มทำจักรยานก็ทำมาทั้งหมด ๓๖ ปี ห้องแถวนี่อายุเกินครึ่งศตวรรษแล้ว พอลูกชายแต่งงาน เขาแต่งบ้านใหม่หมด ของส่วนใหญ่ขายให้ซาเล้งชั่งกิโลไป ๕๐๐-๖๐๐ บาท
มีลูกศิษย์บ้างไหม
ก็มีครับ แต่เลิกทำกันไปหมดแล้ว อย่างลูกน้องมือขวาของผม ภรรยาไปเปิดร้านขายหมูทอด ขายได้วันละเป็นแสน เขาจะมาทำงานแบบนี้ให้เหนื่อยทำไม ส่วนลูกน้องคนอื่น ๆ ก็เป็นญาติพี่น้องที่ฝากมาให้ทำงานด้วย ขั้นตอนสำคัญอย่างการเชื่อมเฟรม ผมบอกตรง ๆ ว่าไม่ไว้ใจให้ทำ ถ้านักกีฬาเอาไปขี่อยู่ ๆ หลุดจะทำอย่างไร จะเรียกว่าผมไม่ได้สอนหรือถ่ายทอดวิชาให้ใครเป็นกิจจะลักษณะก็ได้
หลังปิดร้าน “มุก คลองเตย” ไปทำอะไร
ผมไม่ได้แตะงานนี้อีกเลย ไปอยู่ระยองเพราะภรรยาไปเปิดร้านขายของที่นั่น บางทีก็กลับมากรุงเทพฯ อยู่บ้านลูกสาว ส่วนบ้านเดิม ถ้าไม่เข้ามาหาหมอหรือทำธุระก็ปิดไว้เฉย ๆ
สมัยที่เพิ่งเลิกใหม่ ๆ มีคนบ่นว่าเฮียเลิกทำไม ร้านอื่นทำไม่ได้ดังใจ งานนิดหน่อยต้องรอเป็นวัน แต่ถ้าเป็นผมนี่ทำให้ได้เลย ไปปะยางกลางถนนก็ทำได้
รู้หรือไม่ว่ากลายเป็นตำนานในวงการไปแล้ว
สำหรับผม ตำนาน “มุก คลองเตย” จบแล้ว เราไม่ได้เที่ยวไปบอกใครว่าเราคือใคร แต่ที่บ้านก็ทราบ ลูกเขยยังมาถามว่าป๋าเหลือเฟรมอยู่บ้างไหม เราก็หาเจอเฟรมมุกเปอโยต์อันหนึ่ง ก็ให้เขาเอาไปพ่นสี ปรากฏว่ามีคนมาขอซื้อต่อในราคา ๑๓,๐๐๐ บาท เราก็โอ้โฮเมื่อก่อนมัน ๖๐๐ บาทเอง แต่เขาไม่ขาย มันเป็นเรื่องของเจ้าของเฟรมที่จะตั้งราคาขายกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราแล้ว
ผมเคยไปซื้อของแถววรจักร เขายังเรียกผมว่า “อาจารย์จักรยาน” ผมก็อาย กลัวเลย (หัวเราะ) เมื่อไม่นานมานี้ ผมขี่จักรยาน BMX ออกกำลังกายอยู่ที่บ้านระยอง จักรยานติดสติกเกอร์ยี่ห้อมุก ก็มีคนขับรถตามไปขอซื้อถึงที่หมู่บ้าน ผมบอกจะไว้ให้หลานขี่ ขายไม่ได้หรอก เขาก็ขอ ภรรยาผมตั้งราคา ๕,๐๐๐ บาท เขายอมจ่ายแล้วยกจักรยานไปเลย
อีกครั้งหนึ่งผมไปเมืองจีน มีลูกของญาติถามถึง “มุก คลองเตย” เขาก็พามาแนะนำ ขอจับมือถ่ายภาพกันไป
มีโอกาสจะกลับคืนวงการนักสร้างจักรยานแฮนด์เมดไหม
ล่าสุดเพื่อนสนิทมาชวนผมทำตัวถังจักรยานมุกขายอีก ผมบอกว่าแก่แล้ว ไม่ไหว ช่วงที่ผมทำร้าน ปรีดา จุลละมณฑล นักแข่งชื่อดัง เขาก็เคยมาชวนร่วมลงหุ้น ผมบอกว่า ดา เราไม่มีเงิน ไม่มีทุน ตอนหลังเขาไปทำเองชื่อ “จักรยานปรีดา”
คิดอย่างไรกับคนไทยที่สร้างจักรยานแฮนด์เมดสมัยนี้
พวกอะไหล่และวัสดุสมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนมาก ช่วยให้รถจักรยานเบาขึ้น ไม่นานมานี้ผมไปดูการสอนประกอบจักรยานที่ “บ้านเสือหมอบ” ของ สุรชัย ศศิบุตร เขามีความรู้เรื่องการอ๊อกเหล็กเพราะเรียนมา แต่สิ่งที่ผมต่างจากเขา คือผมยึดอาชีพนักสร้างจักรยานเป็นอาชีพมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ และยุคนั้นต้องสร้างอุปกรณ์เองทั้งหมด สมัยนี้บางชิ้นซื้อมาใช้ได้เลย
ถ้าใครคิดจะกลับไปทำอย่างผมนี่ใจต้องรักมาก ๆ เพราะจะเหนื่อยและลำบากกว่า
ช่วงชีวิตต่อจากนี้ละ
คงไม่คิดสอนใคร หรือกลับมาทำอะไรอีกแล้ว คิดแค่ว่าจะอยู่ต่อไปได้อีกสักกี่ปี ตอนนี้ผมก็เกือบ ๘๐ แล้ว บางคนบอกว่าผมตายไปแล้ว ได้ยินแล้วก็ได้แต่หัวเราะ
ผมเพิ่งเริ่มขี่จักรยานญี่ปุ่นออกกำลังกายเช้าเย็นรอบหมู่บ้าน ระยะทางราว ๓๐๐ เมตร แค่นี้ก็พอแล้ว