วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : รายงานและถ่ายภาพ

ไม่นานก่อนหน้านี้ อรสม สุทธิสาคร กล่าวถึงตัวเองว่า “เราไม่เคยได้รางวัล และคิดว่าการได้ทำงานที่รักเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิตแล้ว” (สารคดี ฉบับที่ ๒๔๑ เดือนมีนาคม ๒๕๔๘)

กระทั่งเดือนมีนาคมปีนี้ (๒๕๕๑) นักเขียนหญิงแถวหน้าของเมืองไทยคนนี้ก็ได้รับรางวัลแรกในชีวิตหลังก้าวเดินบนถนนนักเขียนมานานกว่า ๒๐ ปี กับผลงานหนังสือร่วม ๓๐ เล่ม ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วบรรณพิภพไทยก็เช่น นักโทษประหารหญิง, สนิมดอกไม้, ชีวิตคู่ (ไม่) รู้กัน, เด็กพันธุ์ใหม่วัย X ฯลฯ

ที่เธอได้รับคือ รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา จากคณะกรรมการตัดสินรางวัลดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก ซึ่งเกิดจากการริเริ่มของภิกษุณีรัตนาวลี มรรค-ปัญญา และภิกษุณี ดร. ลี ชาวอเมริกัน ที่มีความคิดจะพัฒนาบทบาทและสถานภาพของสตรี ด้วยการมอบรางวัลเป็นเกียรติประวัติให้แก่สตรีชาวพุทธที่ทำคุณงามความดี เนื่องในวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ โดยมีองค์กรพุทธศาสนาจากกว่า ๒๐ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมดำเนินกิจกรรม

ภิกษุณีรัตนาวลี มรรคปัญญา ผู้ร่วมก่อตั้งรางวัลกล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ การมอบรางวัลให้นักบวชและฆราวาสหญิงในพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติยังไม่เคยมีมาก่อน

ท่านบวชเป็นภิกษุณีที่ประเทศศรีลังกาในปี ๒๕๔๔ เมื่อกลับมาเมืองไทยหลังออกพรรษา ก็เกิดแนวความคิดว่าน่าจะทำอะไรให้หญิงไทยได้มีโอกาสศึกษาธรรมะและร่วมพัฒนาสังคม จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา

“เพื่อยกสถานภาพและบทบาทของสตรีในพุทธ-ศาสนา เราเห็นกันทั่วไป เวลาภิกษุได้พัดยศ จะมีการจัดฉลองกันเป็นหลายวันหลายคืน เราก็มองว่าน่าจะมีมุทิตาให้แก่นักบวชหญิงด้วย และการมอบรางวัลนี้ก็คือการแสดงมุทิตาแบบหนึ่ง ทั้งยังสามารถดึงนานาชาติเข้ามาหนุนช่วยเมืองไทยในเรื่องศาสนาและคุณธรรมเพื่อสตรี ปัจจุบันเรามีสมาชิกกว่า ๒๐ ประเทศทั่วโลก”

ผู้ได้รับรางวัลมาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะกรรมการฯ ตามลักษณะงานที่แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ๑. งานปฏิบัติธรรม สอนธรรมะ ๒. งานสังคมและพัฒนาชุมชน ๓. งานเขียนและเผยแผ่ธรรมะ ๔. กิจกรรมเพื่อสันติภาพ

การมอบรางวัลเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ๒๕๔๕ ที่ผ่านมามีสตรีชาวพุทธทั่วโลกเคยได้รับรางวัลนี้ร่วม ๑๐๐ คน รวมทั้งบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก อาทิ นางอองซาน ซูจี จากพม่าสมเด็จพระราชินีอาชิ เชอริง ยองดอน วังชุก ประเทศภูฏาน เจ้าหญิงนโรดม โมนิเรน จากกัมพูชา มาดามศรีรันตรี วิกกรมสิงห์ราชปักษา สตรีหมายเลขหนึ่งจากศรีลังกา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จากประเทศไทย

ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น ๒๐ คน ทั้งภิกษุณี แม่ชี และฆราวาส จากประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อังกฤษ และไทย

ที่เป็นคนไทยจำนวน ๘ คน ได้แก่

สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์ สิกขมาตุรูปแรกของสันติอโศก วัย ๘๓ ปี

ภิกษุณีศีลนันทา ชาวไทย ผู้เป็นอิฐก้อนแรกๆ ในการปูทางไปสู่การจัดตั้งสถาบันภิกษุณีในเมืองไทย

แม่ชีพิมพ์ใจ มณีรัตน์ ผู้ก่อตั้งโครงการศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยนานาชาติไทยภูเขาเพื่อช่วยเด็กไร้สัญชาติให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน

แม่ชีวารี ชื้อทัศนะประสิทธิ์ ครูที่ฝึกแม่ชีไทยให้ออกไปเป็นครูสอนธรรมะและวิชาทั่วไป

พยาบาลอังกูร วงศ์เจริญ ที่มีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิโดยหลักโพธิสัตวธรรมในพุทธมหายาน

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นศีลและคำสอนในพุทธศาสนาเป็นหลักในการปฏิบัติงาน

เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา นักกิจกรรมสังคมที่สนใจความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมีผลงานเขียนเกี่ยวกับชนเผ่าและสิ่งแวดล้อม

และ อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีสะท้อนสังคม ที่เชื่อว่าการสะท้อนความจริงของชีวิตจะทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิตและตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท

เธอกล่าวหลังขึ้นรับรางวัล ณ ห้องประชุมสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑ ว่า “ดีใจ เพราะเป็นรางวัลแรกของการทำงานในแวดวงสารคดีมา ๒๐ กว่าปี และเป็นรางวัลซึ่งไม่ใช่มาจากแวดวงวรรณกรรม แต่มาจากแวดวงอื่นซึ่งเขาเห็นคุณค่าความหมายของงานสารคดี ตามคำประกาศของกรรมการที่บอกว่าเป็นงานที่สะท้อนสัจจะของชีวิต และฉายให้เห็นแสงสว่างของความหวังของผู้ทุกข์ทน”

นักเขียนหญิงชาวท่าใหม่ (จันทบุรี) บอกด้วยว่า งานเขียนของเธอไม่ใช่แนวธรรมะโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันออกมาจากชีวิตที่มีพื้นฐานทางศาสนาของเธอ ตั้งแต่ในครอบครัวซึ่งมีพ่อเป็นไวยาวัจกรวัด และการเรียนหนังสือในโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนของคณะนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์

“ศาสนาทั้งพุทธและคริสต์สอนให้เรารู้จักความเมตตา สอนให้รัก และแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อมาทำงานสารคดียิ่งรู้สึกว่าการได้เห็นชีวิตของผู้คนทำให้โลกภายในของเราเติบโตขึ้น ทำให้ได้สัมผัสความรัก ความเมตตา ความหวัง”

และสุดท้ายนักเขียนสารคดีวัย ๕๐ กะรัต ผู้ยืนเด่นอยู่บนถนนนักเขียนมานานร่วม ๒๐ ปี กล่าวว่า “จุดหมายจริง ๆ ของการทำงานเขียนตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน เราทำด้วยความรักในงานสารคดีทุ่มเทและมีความสุขกับมัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้รางวัล ไม่ได้รางวัล อุดมคติสำหรับการเขียนงานสารคดีก็จะไม่เปลี่ยนไปจากใจเรา”