วิจิตต์ แซ่เฮ้ง บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ
ขาเทียมจำนวน ๖๖๔ ขา รอเจ้าของมารับในพิธีมอบขาเทียม แต่ละขาจะมีชื่อช่างผู้ทำ และแพทย์ผู้ตรวจการทดลองเดิน แปะอยู่ด้านหน้า |
กรกฎาคม ๒๕๔๙
แดดบ่ายกลางท้องสนามหลวงร้อน แม้ภายใต้ผืนผ้าใบของเต็นท์ขนาดใหญ่ก็อบอ้าวไม่แพ้กัน ทว่าความร้อนก็ไม่อาจหยุดความตั้งใจของคนกว่า ๒๐๐ ชีวิตภายในนั้น ฝ่ายหนึ่งกำลังนั่งรอคิวเพื่อตรวจวัดตอขา และรอคอยการทดลองเดินด้วยขาเทียมอันใหม่อย่างใจจดใจจ่อ ขณะที่อีกฝ่ายกำลังรีบเร่งทำขาเทียม กลุ่มหนึ่งกำลังทำเบ้า กลุ่มหนึ่งกำลังขัดแต่ง อีกกลุ่มกำลังประกอบ ภาพผู้คนในชุดขาวเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับฝุ่นละอองของปูนปลาสเตอร์ เศษพลาสติก และไฟเบอร์กลาสส์ ที่ลอยคละคลุ้งผสมกับกลิ่นฉุนแสบจมูกของเรซิน แต่เรากลับเห็นเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่มีผ้าสีขาวปิดจมูก
“ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยนะ พวกเราทราบดีว่ากลิ่นเรซินและฝุ่นละอองพวกนี้อันตรายแค่ไหน แต่เวลาสวมผ้ากันฝุ่นแล้วรู้สึกอึดอัด ไม่สะดวก ไม่กระฉับกระเฉง ช่างส่วนใหญ่ก็เลยไม่ใส่หน้ากาก เขานึกอย่างเดียวว่าจะต้องเร่งผลิตให้เร็วที่สุด ให้คนไข้ได้ทดลองใช้ขาเทียมภายในวันนั้น ส่วนเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเอาไว้ก่อน” ศิริราช บุญฉัตรกุล นักวิชาการประจำมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าว
เต็นท์ผ้าใบดังกล่าวคือหน่วยทำขาเทียมเคลื่อนที่ของมูลนิธิขาเทียมฯ ในโครงการ “หน่วยจัดทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และร่วมเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” การออกหน่วยฯ ครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๘๙ จึงพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เพราะเป็นการออกหน่วยฯ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ โดยคณะทำงานตั้งเป้าการทำขาเทียมให้ได้ทั้งหมด ๖๐๐ ขา
ขาเทียมที่กำลังรอรับการตกแต่ง ก่อนเคลือบหุ้มด้วยเรซิน |
โครงการนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ โดยรับผู้พิการจากทั่วประเทศซึ่งผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิฯ และผู้พิการจากประเทศมาเลเซียอีกบางส่วน เฉลี่ยวันละประมาณ ๑๐๐ คน ทั้งนี้มูลนิธิขาเทียมฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ในการทำขาเทียม ค่าเดินทาง และอาหาร
“ลำพังมูลนิธิขาเทียมฯ เพียงองค์กรเดียว คงไม่สามารถจัดหน่วยทำขาเทียมเคลื่อนที่อย่างนี้ได้ เพราะเรามีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คน แต่เพราะความรักที่มีต่อสมเด็จย่าและพระเจ้าอยู่หัว เพราะความตั้งใจมาร่วมกันสร้างกุศลถวายพระเจ้าอยู่หัว เราจึงได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ คนที่มาทำขาเทียมในงานนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของรัฐ” รศ. นพ. เทอดชัย ชีวเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ กล่าว
การออกหน่วยฯ ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครกว่า ๑๐๐ คน ประกอบด้วยช่างเทคนิค ช่างกายอุปกรณ์ นักกายอุปกรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ภารกิจประจำวันของคนทำขาเทียมจะเริ่มตั้งแต่ประมาณแปดโมงเช้า เมื่อคนไข้เดินทางมาถึง รับบัตรคิวแล้วเข้าไปวัดตอขา ช่างจะเริ่มทำเบ้าปูน เทปูนปลาสเตอร์ แต่งหุ่นปูน ทำเบ้าพลาสติก แล้วนำไปประกอบกับหน้าแข้งและเท้าเทียม หลังจากนั้นจะมาจัดแนวบนโต๊ะ (Bench alignment) แล้วให้คนไข้ทดลองสวมใส่เดินเพื่อดูความกระชับ และดูแนวของขาเทียม เมื่อคนไข้เดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีจุดกดเจ็บ และพึงพอใจแล้ว แพทย์ก็จะตรวจสอบการเดินอีกครั้ง ขั้นตอนสุดท้ายจะตกแต่งและเคลือบหุ้มด้วยเรซินเพื่อความสวยงาม ในแต่ละขั้นตอนจะมีการตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด กว่าที่ภารกิจในแต่ละวันจะเสร็จสิ้นก็เกือบๆ เที่ยงคืน
“เราทำกันแบบ non stop เลย ไม่มีการแบ่งกะ ยิ่งกว่าโรงงานอีก พวกเราเริ่มทำพร้อมกัน เลิกงานก็พร้อมกัน บางวันเหนื่อยมากๆ กลับไปถึงห้องก็หลับไปเลยโดยที่ยังไม่ได้อาบน้ำก็มี เรามองเป้าหมายเป็นสำคัญ แม้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่พอขาเสร็จ ให้คนไข้ทดลองเดิน เห็นเขาเดินด้วยขาเทียมที่เราทำ เห็นเขายิ้มอย่างมีความสุข มันเหมือนกับว่าเราได้ให้ชีวิตใหม่แก่เขา คนไข้บางคนไม่เคยได้ขาเทียม เขาใช้ไม้เท้าหรือต้องคลานเข่ามาเป็นปีๆ พอได้ขาเทียม เขาถึงกับกอดเรา น้ำตาไหลเลย ผลที่ได้มันทำให้ความเหนื่อยล้าที่ติดต่อกันมาหลายวันหายไปหมด” ศิริราชกล่าวด้วยความปลื้มใจ
ในยุคแรกๆ มูลนิธิขาเทียมฯ เริ่มทำขาเทียมโดยใช้พลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene) ซึ่งได้จากการนำขวดยาคูลท์มาละลายด้วยทินเนอร์ เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเป็นห่วงว่าในระยะยาวช่างทำขาเทียมและคนไข้จะได้รับอันตรายจากทินเนอร์ จึงได้พระราชทานน้ำยาเรซิน (Resin) ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัยกว่าและมีการใช้กันโดยทั่วไปมาให้
การตรวจวัดตอขาก่อนจะหล่อเบ้า เบ้าขาเทียมของแต่ละคน จะต้องถอดออกมาจากตอขาของผู้ใส่ |
ปัจจุบันมูลนิธิขาเทียมฯ ได้เปลี่ยนมาใช้พลาสติกประเภทโพลีโพรไพลีน ชนิดโคโพลีเมอร์ (Polypropylene Copolymer) ซึ่งเป็นพลาสติกเกรดเดียวกับที่ใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว ช่วยให้การทำขาเทียมง่ายกว่าเดิม นอกจากนี้ยังได้วัสดุบางส่วนมาจากการบริจาค เช่น เศษอะลูมิเนียม ถุงน่อง ในส่วนเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนของขาเทียม รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำขาเทียม มูลนิธิขาเทียมฯ ก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทำการวิจัย ทดลองและประดิษฐ์อยู่เสมอ ปัจจุบันมูลนิธิขาเทียมฯ สามารถผลิตขาเทียมที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองไทย โดยมีจุดเด่นคือสามารถทำเสร็จภายในเวลารวดเร็ว น้ำหนักเบา และมีคุณภาพใกล้เคียงกับต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่า ๑๐-๑๐๐ เท่า สำหรับขาเทียมระดับใต้เข่าใช้เวลาทำเพียง ๔-๖ ชั่วโมง จากที่เคยใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์ ต้นทุนประมาณ ๒,๕๐๐ บาท ส่วนขาเทียมระดับเหนือเข่าใช้เวลาประมาณ ๓ วัน จากที่เคยใช้เวลา ๓-๔ สัปดาห์ ต้นทุนประมาณ ๗,๕๐๐ บาท ขาเทียมแต่ละชิ้นจะมีอายุการใช้งานประมาณ ๓-๕ ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคน
“การทำพลาสติกให้เป็นรูปขานั้นไม่ยาก แต่การจะทำขาเทียมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น ผู้ทำจะต้องมีความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา กลศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ และวัสดุศาสตร์ ขาเทียมที่ดีนั้นจะต้องใส่สบาย ไม่เจ็บ และเดินได้ใกล้เคียงกับขาธรรมชาติ ถ้าเราทำไม่ดี ถึงแม้คนไข้สามารถใช้งานได้ แต่ในระยะยาวกระดูกข้อต่อที่อยู่เหนือขาเทียมก็จะเสีย เพราะขาเทียมจะเกี่ยวโยงกับระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และร่างกายทั้งหมด” เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ กล่าว
สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยสำรวจจำนวนผู้พิการขาขาดในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๔๔ พบว่ามีจำนวน ๓๔,๖๘๔ ราย แต่ ณ วันนี้ หมอเทอดชัยคาดการณ์ว่า จำนวนผู้พิการขาขาดน่าจะเกิน ๕๐,๐๐๐ รายแล้ว สาเหตุของผู้พิการขาขาดส่วนใหญ่ในเมืองไทย ประมาณ ๔๕ เปอร์เซ็นต์เกิดจากอุบัติเหตุทางการจราจร อีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเหยียบกับระเบิด อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์เกิดจากแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ที่เหลือเป็นความพิการผิดปรกติมาแต่กำเนิดและสาเหตุอื่นๆ ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้พิการขาขาดกลับตรงข้ามกับบ้านเรา
นพ. เทอดชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผู้พิการขาขาดในแถบยุโรปและอเมริกา ส่วนใหญ่พิการเนื่องจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากอาหารการกิน ที่เกิดจากการจราจรเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะการจราจรของเขาเป็นระเบียบ จึงไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ ทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนไทยเริ่มตามฝรั่งมากขึ้น จึงเริ่มเป็นโรคแบบฝรั่งกันมาก ขณะนี้จำนวนคนพิการบ้านเราที่ถูกตัดขาเนื่องจากแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวานกำลังเพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่า จำนวนผู้พิการจากอุบัติเหตุทางการจราจรก็ไม่ได้ลดลง”
เด็กๆ ที่พิการมาแต่กำเนิด กับขาเทียมอันใหม่ |
แม้จำนวนคนพิการจะเพิ่มขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้สังคมไทยเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อคนพิการมากขึ้น
“สังคมไทยเริ่มมีมุมมองต่อคนพิการดีขึ้น ภาครัฐและเอกชนก็เริ่มให้การช่วยเหลือคนพิการมากขึ้น สถานประกอบการบางส่วนก็เริ่มเปิดรับคนพิการเข้าทำงาน สถานที่ราชการและเอกชนหลายแห่งก็เริ่มอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ โดยทำทางลาดสำหรับรถเข็น มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ สถานีรถไฟฟ้าก็มีลิฟต์สำหรับผู้พิการ แม้สิ่งเหล่านี้จะยังกระจายอยู่แค่ในเมืองใหญ่ๆ แต่ถ้าเทียบกับในอดีตแล้ว ทุกวันนี้ถือว่าดีขึ้นเยอะ เมื่อก่อนนอกจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการแล้ว สังคมยังมองคนพิการด้วยความรู้สึกเวทนา สงสาร ต้องให้ความช่วยเหลือ แต่จริงๆ แล้วคนพิการเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ และสิ่งที่คนพิการอยากได้มากที่สุดก็ไม่ใช่ขาเทียม แต่คือโอกาส เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ คนพิการก็อยากทำงานเสียภาษีให้รัฐเหมือนเช่นคนปกติ”
เมื่อการทำขาเทียมในโครงการฯ เสร็จสิ้นลง ปรากฏว่าสามารถทำขาเทียมได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ คือทำได้ทั้งหมด ๖๖๔ ขา ผู้พิการทุกคนได้รับขาเทียมอันใหม่พร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ โดยองคมนตรี ผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานในพิธีมอบขาเทียม นอกจากนี้ การออกหน่วยฯ ครั้งนี้ยังได้รับการพิจารณาบันทึกลงใน กินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นการทำสถิติการทำขาเทียมเพื่อบริจาคให้คนพิการเป็นจำนวนมากที่สุดในโลกด้วย
ช่างเทคนิคประจำมูลนิธิขาเทียมฯ ขาขาดเพราะถูกงูกะปะกัดและแผลเปื่อยลาม “ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการ คิดแต่ว่าจะต้องช่วยเหลือคนพิการให้มากที่สุด”
ไชยศรี ยศประเสริฐ (คนที่มีลายมังกรอยู่ที่หน้าแข้งขาเทียม) กำลังประกอบเบ้าพลาสติกเข้ากับหน้าแข้งและเท้าเทียมของผู้พิการ |
“ผมเองก็ใส่ขาเทียม ก็เลยเข้าใจคนที่เป็นเหมือนเรา คนที่ขาขาดใหม่ๆ สุขภาพจิตจะเสียไปแล้วครึ่งหนึ่ง กำลังใจจึงสำคัญมาก ต้องพยายามให้กำลังใจเขา
“ขาเทียมของผมจะมีสีสันหน่อย ใครเห็นก็จะรู้สึกว่า เออ เข้าท่าดี เวลาผมทำให้เด็กๆ หรือวัยรุ่น ผมจะหาผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อยืดที่มีลายสวยๆ มาเย็บสวมรอบขาแล้วเคลือบเรซิน พวกวัยรุ่นจะชอบอะไรจ๊าบๆ แบบนี้ แทนที่จะเห็นขาเทียมแล้วรู้สึกหดหู่ หม่นหมอง ก็ทำให้ดูน่ารัก สนุก เห็นแล้วอยากใส่ ใส่แล้วเท่ จนลืมปมด้อยไปเลย
“ตอนนี้รัฐบาลก็เริ่มดูแลคนพิการดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง คนพิการที่ตกงานมีเยอะมาก หลายคนมีความรู้ แต่ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่ค่อยรับ บางคนที่เคยมีงานทำ มีครอบครัว พอเกิดอุบัติเหตุขาขาด ต้องออกจากงาน จากที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัวก็กลายมาเป็นภาระ บางครอบครัวถึงกับล่มสลายไปเลย บางคนไม่อยากเป็นภาระของครอบครัวก็ต้องยอมไปขายลอตเตอรี่ หรือขอทาน เพราะเขาหมดหนทางแล้วจริงๆ ผมอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือคนพิการให้มากกว่านี้ ตอนนี้โรงเรียนสอนอาชีพคนพิการยังมีอยู่แค่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ แต่ตามแนวชายแดนที่มีคนพิการเยอะๆ กลับไม่ค่อยมี
“ทุกวันนี้ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการหรือมีปมด้อยแล้ว คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะต้องช่วยเหลือคนพิการให้มากที่สุด ที่ได้มาออกหน่วยทำขาเทียมครั้งนี้ก็รู้สึกภูมิใจมาก เพราะเป็นการทำขาเทียมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้ในหลวง ถึงจะเหนื่อยแค่ไหนแต่พอนึกถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ประชาชนแล้วก็มีกำลังใจ ทุกคนก็ทำงานกันเต็มที่ แม้จะเหนื่อยกาย แต่ไม่เคยเหนื่อยใจ”
เรียม อาษาภักดิ์
ผู้พิการขาขาดเพราะเหยียบกับระเบิด จาก อ. ตาพระยา จ. สระแก้ว
“ในเมื่อมันเป็นไปแล้ว ฉันจะท้อแท้ไม่ได้…เราต้องสู้ของเราต่อ”
เรียม อาษาภักดิ์ ด้านหลังคือเพื่อนผู้พิการจากจังหวัดสระแก้ว |
“ที่หมู่บ้านมีคนทั้งหมด ๓๐๐ กว่าคน เหยียบกับระเบิดขาขาดไป ๑๐ กว่าคน โดนกันทุกปี เมื่อปีที่แล้วตายไปสอง ปีนี้รายหนึ่ง กับวัวอีก ๒-๓ ตัว เราแจ้งทางราชการไปแล้วว่าที่หมู่บ้านเรามีกับระเบิด เขาก็บอกว่ากำลังกู้ที่อื่นอยู่ ต้องรอตามคิว กว่าจะถึงหมู่บ้านเราก็คงอีกหลายปี ปรกติถ้าชาวบ้านไปเจอกับระเบิด ก็จะตัดกิ่งไม้ทำเครื่องหมายกากบาท-ห้ามเข้าเอาไว้ แล้วก็บอกต่อๆ กัน ใครที่กู้เป็นก็กู้เอาไปทำลายทิ้ง ทุกวันนี้ก็เจออยู่บ่อยๆ ทั้งลูกเล็กลูกใหญ่ แบบปิ่นโต แบบดักรถถังยังเคยเจอเลย เราก็ไม่รู้ว่าเป็นระเบิดของใคร ทหารไทยก็ฝัง เขมร ญวนก็ฝัง ฝังแล้วก็ไม่ได้มากู้เก็บกัน เผลอไปเหยียบจนขาขาดแล้วก็ไม่รู้จะไปโทษใครได้ คงเป็นเวรกรรมของเรา ในหนังที่พระเอกเดินไปเหยียบกับระเบิดเสียงดังกริ๊ก แล้วรู้ตัว ค่อยๆ เอามีดแซะออก กู้ระเบิดได้น่ะ ไม่มีหรอก เรื่องจริงคือ เหยียบแล้วตูม ขาขาด นั่นแหละถึงจะรู้ว่าเป็นระเบิด
“พอขาขาดแล้วจะทำอะไรก็ลำบากไปหมด แต่ในเมื่อมันเป็นไปแล้ว ฉันจะท้อแท้ไม่ได้ เพราะยังมีลูกเล็กๆ ต้องเลี้ยงอีก ตอนแรกๆ แฟนก็ให้กำลังใจดี แต่มาหลังๆ เขาก็เริ่มเปลี่ยนไป ก็เข้าใจว่าเขาคงรับสภาพเราไม่ได้ ก็ปล่อยเขาไป เราก็ต้องสู้ของเราต่อ
“ตั้งแต่ขาขาดมา เคยได้เงินช่วยเหลือจากหน่วยสงเคราะห์ผู้พิการแค่พันเดียว แล้วก็มี สส. เอาเงินช่วยเหลือคนพิการมาให้อีก ๒,๐๐๐ บาท อบต. เคยทำเรื่องไปแล้วแต่ก็ยังไม่เห็นความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย คนอื่นๆ ในหมู่บ้านก็เหมือนกัน ก็มาได้ขาเทียมพระราชทานนี้แหละ ไม่อย่างนั้นชีวิตคงลำบากกว่านี้อีกหลายเท่า ไม่รู้จะตอบแทนพระคุณของในหลวงยังไง อยากจะขอบคุณพระองค์ท่าน และขอบคุณหมอกับเจ้าหน้าที่ทำขาเทียมทุกคนมากๆ ”
ขอขอบคุณ : สุปัญญา ยอดปัญญา จันทร์ที สามัญ มณี นานกระโทก Cheah Pei Fen และ Persatuan Pandu Puteri