หลวงปู่ ติชนัทฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ธรรมาจารย์ด้านพุทธศาสนานิกายเซนชาวเวียตนาม ภิกษุนักรณรงค์เรื่องสันติภาพ ชื่อเดิมคือ เหงียนซวนเบ๋า (Nguyen Xuan Bao) ถือกำเนิดที่จังหวัดกวงสี ตอนกลางของเวียดนาม วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511ตอน 9 ขวบ ท่านเห็นปกหนังสือที่มีภาพพระพุทธองค์นั่งบนสนามหญ้าด้วยรอยยิ้มสงบงามและเต็มไปด้วยความสุข ความประทับใจครั้งนั้นทำให้ท่านตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตเมื่ออายุได้ 16 ปี ที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) ใกล้ ๆ เมืองเว้ อีกเจ็ดปีต่อมาจึงอุปสมบถเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า “ติชนัทฮันห์”


ติช เป็นคำเรียกพระ หมายถึงผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน นัทฮันห์ หมายถึงการกระทำเพียงหนึ่ง ท่านได้เรียนรู้และฝึกฝนการดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะที่วัดเซนแห่งนี้เอง

ปี 2504 ท่านเดินทางไปศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สองปีหลังจากนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเวียตนามเหนือ-ใต้เริ่มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ในเวียตนามใต้ก็มีความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง เมื่อ ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem) บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือคริสตศาสนาเช่นเดียวกับตนเอง ด้วยเชื่อว่าเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาประเทศก่อให้เกิดขบวนการชาวพุทธออกมาต่อต้าน จนกระทั่งพระภิกษุรูปหนึ่งจุดไฟเผาตัวเอง ท่านติชนัทฮันห์จึงถูกเรียกตัวกลับมาช่วยแก้ไขปัญหา เมื่อกลับมาถึง ท่านได้ก่อตั้ง “คณะเทียบหิน” (The Sanga of Interbeing) และโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (the School of Youth for Social Services หรือ SYSS) เพื่อนำพุทธศาสนามาช่วยเหลือสังคมโดยยึดหลักสันติวิธี ท่านมักสอนอยู่เสมอว่า “เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกว่าเราเป็นฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความเจ็บปวดล้วนเป็นหนึ่งเดียวเสมอ” ด้วยแนวคิดที่อ่อนโยนและทรงพลัง ทำให้กิจกรรมของท่านประสบความสำเร็จอย่างมาก มีประชาชนนับหมื่นคนอุทิศตนเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์และเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกเผยแพร่หลายเล่ม ไม่นานรัฐบาลก็ส่งทหารเข้ามากวาดล้างสมาชิกในองค์กรของท่าน ขณะที่มหาเถระสมาคมมองว่าองค์กรของท่านเป็นพวกนอกรีต

ระหว่างที่สงครามเวียดนามรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านได้รับนิมนต์ไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนของชาวเวียดนามกล่าวถึงความปรารถนาและความเจ็บปวด รวมทั้งเจรจาเพื่อการหยุดยิง และพยายามหลายวิถีทางเพื่อสันติภาพของเวียดนาม จนท่านถูกต่อต้านจากผู้นำเวียดนามเหนือ-ใต้ และถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา

ก่อนที่สงครามจะสงบท่านได้สร้างชุมชนเล็ก ๆ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเป็นแหล่งเจริญสติในหมู่ผู้ร่วมปฏิบัติงานเรียกร้องสันติภาพ โดยใช้ชื่อว่า “Sweet Potato” เพื่อการรำลึกถึงชาวเวียดนาม (มันเทศเป็นอาหารที่ชาวเวียดนามต้องกินในเวลาที่แร้นแค้นที่สุด) ก่อนจะขยายเป็น “หมู่บ้านพลัม” (Plum Village) ณ เมืองบอร์โดซ์ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบันหมู่บ้านพลัมเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในทุกขณะลมหายใจเข้าออก แต่ละปีผู้มาเยือนหลายพันคนจากหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการขยายสังฆะหมู่บ้านพลัมออกไปยังประเทศต่าง ๆ คือ อเมริกา เยอรมนี และเวียดนาม รวมทั้งหมด 12 แห่ง ทั้งยังมีกลุ่มสังฆะหรือกล่มผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติชนัทฮันห์กระจายอยู่หลายประเทศทั่วโลกอีกกว่าพันกลุ่ม ส่วนประเทศไทยมีสังฆะอยู่ที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ล่าสุด ท่านติชนัทฮันห์ได้จาริกธรรมมายังประเทศไทย เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ 20-31 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา