โลกใบใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์


กิจกรรมวันปลอดรถยนต์ หรือที่มักเรียกทับศัพท์กันว่า “คาร์ฟรีเดย์” (Car Free Day) เป็นกิจกรรมสากลที่จัดกันทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓  ในประเทศไทยก็มีการจัดกิจกรรมนี้ตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นต้น  เป้าหมายของกิจกรรมก็ดังที่ทราบกันทั่วไป กล่าวคือ เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน ลดมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้จักรยานและการออกกำลังกาย ตลอดจนกระตุ้นให้มีการใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

ทว่ามีอีกประเด็นหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยได้ยินจากการรณรงค์กิจกรรมนี้ในประเทศไทยก็คือ กิจกรรมวันปลอดรถยนต์ที่มุ่งหวังจะส่งเสริมการมี “พื้นที่สาธารณะ” หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการ “ทวงคืน” พื้นที่สาธารณะเพื่อการทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชนชาวเมืองอีกโสดหนึ่งด้วย

ตั้งแต่ก่อนที่กรุงโบโกตา นครหลวงของประเทศโคลอมเบีย จะกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นล่ำเป็นสันในทุกวันนี้  โบโกตาเป็นเมืองที่มีการทำกิจกรรม “วันปลอดรถยนต์” และบูรณาการกิจกรรมนี้เข้ากับการส่งเสริม “พื้นที่สาธารณะ” และการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนให้แก่ชาวเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

Ciclovía  ปิดถนนกั้นรถ  เปิดถนนคนสังสรรค์

คำว่า Ciclovía เป็นคำภาษาสเปน แปลตรงตัวคือ “ทางจักรยาน” แต่คำคำนี้ในโบโกตาหมายถึงกิจกรรมปิดถนนบางสายให้ประชาชนออกมาขี่จักรยาน เดินเล่น เที่ยวเตร่ สังสรรค์และดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่างๆ  กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทวงคืนพื้นที่ถนน ซึ่งปรกติเป็นพื้นที่อภิสิทธิ์ของรถยนต์ มาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม  ส่วนคำว่า “เลนจักรยาน” ซึ่งหมายถึงเส้นทางถาวรที่สงวนไว้ให้ผู้ขี่จักรยานนั้น มีคำอีกคำหนึ่งแยกต่างหากออกไปคือคำว่า ciclorutas

กิจกรรม “เปิดถนนคนสังสรรค์” ริเริ่มขึ้นในกรุงโบโกตาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ โดยเกิดจากความพยายามของกลุ่มนักกิจกรรมสังคม  แต่ต่อมากิจกรรมนี้กลายเป็นกิจกรรมอย่างเป็นทางการของเมืองโดยมีนายกเทศมนตรีสนับสนุน  และตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นต้นมา กิจกรรม “เปิดถนนคนสังสรรค์” ก็จัดกันทุกสัปดาห์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงบ่ายสองโมง ถนนหลายสายในกรุงโบโกตา ทั้งถนนสายหลักใจกลางเมืองและถนนย่อยบางสาย รวมกันเป็นระยะทางกว่า ๑๒๐ กิโลเมตร จะปิดกั้นไม่ให้รถยนต์แล่นเข้ามา  แล้วเปิดให้ประชาชนออกมาวิ่งเล่น เล่นสเกต ขี่จักรยาน  ตามสวนสาธารณะมีการตั้งเวทีวัฒนธรรม มีการเต้นแอโรบิก เล่นโยคะ เล่นดนตรี ฯลฯ  ประเมินกันว่ากิจกรรม “เปิดถนนคนสังสรรค์” ทุกสัปดาห์มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ ๒ ล้านคน หรือ ๓๐ % ของประชากรทั้งหมดในกรุงโบโกตา

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพอใจกับกิจกรรมปิดถนนกั้นรถยนต์เช่นนี้  ในปี ๒๕๕๐ สมาชิกสภาคองเกรสของโคลอมเบียผู้หนึ่งเคยเสนอให้ออกกฎหมายจำกัดเวลาการปิดถนนให้เหลือแค่ระหว่างตีห้าถึงเที่ยง โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่สะดวกในการสัญจรและการจราจรติดขัด  ทว่าประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วง โดยได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกเทศมนตรี เอนริเก เปญญาโลซา และนายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน รวมทั้งนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติอีกหลายคน  ข้อเสนอให้จำกัดการปิดถนนจึงพ่ายแพ้ไป

ไม่เพียงเฉพาะการปิดถนนในวันหยุดเท่านั้น กรุงโบโกตาได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่จัดกิจกรรม “วันปลอดรถยนต์” ประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่กิจกรรมนี้จัดในวันธรรมดาหรือวันทำงาน  กิจกรรม “วันปลอดรถยนต์” เริ่มจัดครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓  ในปีนั้นเองมีการลงประชามติและผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน ๖๓ % ในกรุงโบโกตาลงมติสนับสนุนให้การจัดงาน “วันปลอดรถยนต์” เป็นกิจกรรมถาวรประจำปี  การจัดงานนี้ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๒๘,๑๕๓ เฮกตาร์ หรือประมาณ ๒๘๑ ตารางกิโลเมตร

กิจกรรม “เปิดถนนคนสังสรรค์” ของกรุงโบโกตา ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่หลายเมืองทั่วโลกให้หันมาจัดกิจกรรมเช่นนี้บ้าง  ทั้งในลาตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล เอกวาดอร์ เปรู  ในอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา  ในยุโรป เช่น เบลเยียม เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น กรุงโบโกตายังกล้าแก้ปัญหาการจราจรติดขัดด้วยวิธีการจำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล  ในแต่ละวันจันทร์ถึงศุกร์ รถยนต์ที่เลขทะเบียนลงท้ายด้วยตัวเลขบางตัวจะถูกห้ามไม่ให้วิ่งเข้ามาในเมืองในช่วงเช้า (๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น.) และช่วงเย็น (๑๖.๓๐-๑๗.๓๐ น.) เช่น วันจันทร์ห้ามรถยนต์ที่เลขทะเบียนลงท้ายด้วย ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นต้น  ด้วยวิธีนี้สามารถลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลลงได้ถึง ๔๐ %  ข้อห้ามนี้ไม่ครอบคลุมรถพยาบาล รถสถานทูต รถราชการ และรถขนส่งมวลชนต่างๆ

ด้วยวิธีการหลายๆ อย่างข้างต้น ทำให้กรุงโบโกตาสามารถลดปัญหามลพิษ การจราจร การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อาชญากรรม ฯลฯ ลงได้มากพอสมควรสำหรับประเทศกำลังพัฒนา  อีกทั้งสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น

วันปลอดรถยนต์กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ผู้ที่ต่อต้านและไม่เห็นพ้องกับการปิดถนนกั้นรถและเปิดถนนคนสังสรรค์มักอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าการห้ามการใช้รถยนต์ก่อให้เกิดผลเสียด้านการพาณิชย์และการลงทุน  ทว่าจากงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรม “วันปลอดรถยนต์” ทั้งแบบประจำสัปดาห์และประจำปีของกรุงโบโกตา กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม  กล่าวคือ การเปิดถนนคนสังสรรค์กลับช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนและการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการบูรณาการปัจจัยต่างๆ โดยรวมด้วย อาทิเช่น การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การปรับปรุงและขยายบาทวิถี การปรับปรุงทัศนียภาพ เช่น การปลูกต้นไม้ การจัดหาที่นั่งและนันทนาการต่างๆ เป็นต้น

ในด้านมูลค่าสินทรัพย์นั้น พื้นที่ที่มีการปรับปรุงข้างต้นจะมีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่การปิดถนนไม่ได้ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง  และในบางพื้นที่มีแนวโน้มที่มูลค่าจะสูงขึ้นด้วยซ้ำ

ในด้านการค้าขาย  ร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ ที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วในบริเวณที่เปิดถนนให้คนมาสังสรรค์กันในวันอาทิตย์และวันหยุด ต่างก็มีรายได้มากขึ้นจากกิจกรรมนี้  นอกจากนี้กิจกรรม “วันปลอดรถยนต์” ยังช่วยให้มีการสร้างรายได้และการสร้างงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น  มีธุรกิจรายย่อยที่ได้ประโยชน์ เช่น ผู้ค้าเร่ ซุ้มขายเครื่องดื่มและอาหาร ธุรกิจซ่อมและขายอุปกรณ์เกี่ยวกับจักรยาน เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ  เคยมีการประเมินว่ามันช่วยสร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ประชาชนมากกว่า ๒,๐๐๐ คน

นอกจากธุรกิจรายย่อยข้างต้น กิจกรรม “เปิดถนนคนสังสรรค์” ยังสร้างงานพิเศษและรายได้พิเศษให้แก่คนอีกจำนวนหนึ่ง  กลุ่มนี้ก็คือเยาวชนอาสาสมัครที่เทศบาลจ้างมาจัดการและดำเนินงานกิจกรรม  เยาวชนเหล่านี้มีอายุระหว่าง ๑๕-๑๗ ปี  นอกจากเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับ การมาทำงานอาสาสมัครถือเป็นส่วนหนึ่งของวิชากิจกรรมบริการสังคม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของโคลอมเบียกำหนดเป็นหลักสูตรบังคับที่เยาวชนทุกคนต้องเข้าร่วมก่อนจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย  เยาวชนอาสาสมัครจะทำหน้าที่ควบคุมการจราจรและการปิดถนนกั้นรถตามสี่แยกสำคัญๆ กว่า ๕๐๐ แห่ง

หมายเหตุ : อ่านตอน ๑-๒ ได้ใน สารคดี ฉบับที่ ๓๒๑ (กันยายน ๒๕๕๕) และ ๓๒๒ (ตุลาคม ๒๕๕๕)