วีระศักร จันทร์ส่งแสง : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
๑
ชายมุสลิมวัย ๗๒ ปีคนนี้ บอกตัวเองและมักบอกกับใคร ๆ เสมอว่า เขาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ก็ด้วยคุณธรรม
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ เป็นชาวนราธิวาส และเป็นล่ามภาษามลายู*ประจำพระองค์อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มาตั้งแต่เมื่อ ๔๐ ปีก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน
ก่อนนั้นเขาเป็นครูอยู่ในโรงเรียนแถบบ้านเกิด แต่แล้วด้วยความรู้ระดับปริญญาตรีกับประวัติที่ดี ทำให้มีโอกาสทำหน้าที่อันเป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิต
“เมื่อปี ๒๕๑๖ ผมเป็นครูใหญ่อยู่โรงเรียนบ้านบ่อทอง นายอำเภอระแงะบอกให้หัวหน้าส่วนราชการ คัดเลือกคนเป็นล่ามถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยมีเกณฑ์ว่าถ้าเป็นคนไทยพุทธต้องเกิดที่จังหวัดนราธิวาส และพูดภาษาไทยได้คล่อง แต่ถ้าเป็นคนมุสลิม ต้องจบปริญญาตรี และมีความเชี่ยวชาญภาษาไทย ก็มีคนเสนอชื่อผมในที่ประชุมว่า เท่าที่รู้ เป็นมุสลิมคนเดียวที่จบปริญญาตรีของอำเภอระแงะ นายอำเภอถามเรื่องความประพฤติ ที่ประชุมก็รับรองเป็นเอกฉันท์ ก็ได้เป็นล่ามครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๖ เฉพาะที่อำเภอระแงะ”
ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ อำเภอบาเจาะ ซึ่งในเวลานั้นว่าที่ร้อยโทดิลกได้โอนย้ายไปเป็นศึกษาธิการอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส นายอำเภอจึงมอบหมายให้เขาทำหน้าที่ล่ามอีกครั้ง
กระทั่งในอีกปีต่อมา
“ปี ๒๕๑๘ ผมย้ายไปเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอตากใบ วันหนึ่งพระองค์เสด็จฯ ไปอำเภอตากใบ แล้วทรงเรือที่หน้าที่ว่าการอำเภอ ไปถึงโก-ลก และอีกหลาย ๆ ที่ กลับมาถึงตอนค่ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายข้าราชการที่มาเข้าแถวรับเสด็จ ผมก็ไม่ต้องแปลเพราะท่านเหล่านั้นพูดไทยได้อยู่แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงทักทายกับประชาชน ผมก็ตามไปเป็นล่ามให้ พระองค์ทรงถามผมว่า ‘คุณดิลก ฉันอยากชวนเธอไปเป็นล่ามตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ไหม ?’ ผมตอบอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดว่า ‘ได้พระพุทธเจ้าข้า แต่ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอก่อน’ มาถึงเดี๋ยวนี้ผมก็ยังงง ว่าพูดไปอย่างนั้นได้อย่างไร สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงขอแล้ว ผมยังต้องไปขออนุญาตจากนายอำเภออีกหรือ พระองค์ก็ทรงนิ่ง จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินมาถึง พระองค์ก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงบอกให้เชิญนายอำเภอเข้ามา แล้วทรงถามว่า ‘เราจะชวนคุณดิลกไปเป็นล่ามตามเราไปที่อื่นด้วย คุณดิลกเต็มใจจะไป แต่บอกว่าให้เราขออนุญาตนายอำเภอก่อน นายอำเภอจะอนุญาตไหม’ นายอำเภอก็ตอบทันทีเสียงดังฟังชัด ‘อนุญาตพระพุทธเจ้าข้า’ หลังจากนั้น สำนักพระราชวังก็ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็แจ้งไปยังนายอำเภอ ให้ผมตามเสด็จตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ จนบัดนี้ก็ยังทำงานอยู่”
เขาเล่าประวัติตัวเองในหน้าที่ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ แล้วย้ำคำเดิมที่เป็นข้อสรุปตั้งแต่ต้น
“การที่ผมได้เข้ามาครั้งแรกนั้นด้วยความรู้เป็นหลัก ตามเกณฑ์ว่าต้องจบปริญญาตรี แต่ที่พระองค์ท่านทรงเรียกตัวผมไปเป็นล่ามภายหลังนั้น พระองค์คงทรงพิจารณาจากความประพฤติ จากคุณธรรม ตามที่ในหลวงตรัสว่าความรู้ต้องคู่คุณธรรม ท่านผู้หญิงที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์บอกผมภายหลังว่าได้มีการสืบแล้วว่านายดิลกเป็นคนดี พูดจาดี ให้เกียรติประชาชน เพราะในบางท้องถิ่นนั้น ให้ข้าราชการซึ่งใช้ภาษามลายูได้แค่พอเข้าใจมาเป็นล่าม อย่างสมเด็จฯ ทรงถามว่า ยายชื่ออะไร น้ำเสียงอ่อนโยน แต่คนแปลไปพูดเสียงแข็ง ความจริงคำเดียวกัน แต่ด้วยหางเสียง สำเนียงไม่ชัดเจน ก็อาจทำให้ชาวบ้านตกใจสะดุ้ง ต้องเป็นคนที่เข้าใจภาษา ต้องถามว่าป้าทำงานอะไร อยู่กับใคร เราต้องให้เกียรติ คนเฒ่าคนแก่อาจหูตึงก็ต้องพูดดัง แต่ตอนพูดเราเอามือไปจับมือจับเข่าเขา ตอนพูดเรามองหน้า เขาก็มองหน้าเรา พูดเพียงเบา ๆ แค่ดูปากเขาก็รู้แล้วว่าเราพูดอะไร”
จากนั้นเขาก็เล่าขยายความให้เห็นภาพของการทำหน้าที่
“ในวันที่มีเสด็จฯ ผมต้องไปเตรียมพร้อมบนพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ตั้งแต่ก่อนเที่ยง มีรถประจำให้นั่ง ไปคันไหนก็ต้องนั่งคันนั้นทั้งไปกลับ…ถ้าเสด็จฯ ไปไกล ๆ ก็ออกเร็วหน่อย ถ้าภายในจังหวัดก็อาจเป็นช่วงบ่ายถึงเย็น ส่วนกลับอาจเป็นช่วงทุ่มสองทุ่ม ไปจนถึงสี่-ห้าทุ่ม ไม่แน่นอน”
นั่นเป็นเหตุการณ์ในช่วงหลังปี ๒๕๑๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ที่เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นที่ประทับระหว่างเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและทรงงานในแถบพื้นที่สุดชายแดนใต้
ในหลากหลายพระราชกรณียกิจเหล่านั้น ล่ามภาษามลายูผู้นี้ได้ร่วมตามเสด็จด้วย เขาหยิบยกประสบการณ์ที่ยังประทับอยู่ในใจมาเล่าสู่กันฟัง
“สมัยก่อนยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง การเข้าเฝ้าใกล้ชิด เดี๋ยวนี้ต้องผ่านเครื่องสแกน เมื่อก่อนไม่ต้อง มาก่อนก็เข้าไปนั่งในปะรำได้ก่อนเลย ไม่เกี่ยวว่าเป็นพุทธหรือมุสลิม ไม่ต้องแต่งตัว อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น สถานที่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องตกแต่งอะไร มีเสื่อมีอะไรมาปู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกันเอง บางทีก็ประทับลงด้วยเลย”
เขายกตัวอย่างบางเรื่องที่เขายังจำเหตุการณ์ได้ดี
“มีหญิงคนหนึ่งบอกว่าเดือดร้อน เงินที่เก็บไว้ในยุ้งข้าวหายไป ในหลวงทรงถามว่าแจ้งความหรือยัง นางบอกแจ้งแล้วแต่จับคนร้ายไม่ได้สักที เมื่อเช้าก็ยังไปแจ้งกับทหารของในหลวงที่อารักขาอยู่บนถนน ระหว่างนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มากราบทูลว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแจ้งว่าผู้หญิงคนนี้สติไม่ดี พระองค์ทรงบอกว่า ที่เรามาก็เพื่อมาดูทุกข์สุขของประชาชน คนนี้เขาบอกว่าเดือดร้อนเพราะเงินเขาหาย เราพูดกันรู้เรื่อง ดีหรือไม่ดีเราก็ต้องรับฟัง”
และแล้วปัญหาของสตรีผู้นั้นก็ได้รับการแก้ไข
“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานเงินให้จำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเขาก็ได้เงินคืน คนในบ้านนั่นแหละเอาไป แต่เพราะพระบารมีของในหลวง ทำให้ได้คืน
“ไปเจอคนไม่สบาย เรายังดูไม่ออก พระองค์ทรงถามเป็นภาษามลายูแล้ว ไม่สบายหรือ ไปหาหมอหรือยัง ชาวบ้านบอกไปมาแล้ว เอาถุงยาให้ดู ในหลวงก็ทรงอ่านฉลากให้ฟัง ทรงบอกให้กินยาตามเวลา ไม่อย่างนั้นไม่หาย แล้วจะมาบอกว่ายาหลวงไม่ดีไม่ได้นะ” ล่ามภาษามลายูเล่าเกร็ดประสบการณ์ ซึ่งเขาบอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ภาษามลายูได้บ้าง “บางทีพระองค์ก็รับสั่งภาษามลายูว่าปวดหัว แบบขำ ๆ ในวันที่พบปัญหาจากการเสด็จฯ ออกไปทรงงาน
“พระองค์ทรงเป็นคนละเอียด ชอบทำจริง ทุกอย่างพระองค์จะทรงให้ลองทำดู ได้ไม่ได้ไม่เป็นไร” เขาพูดจากที่ได้ตามเสด็จมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม “ความประทับใจเรื่องงาน คือนาขั้นบันไดที่สุคิริน พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องอาชีพ ก็ให้ประชาชนลองทำดู คนไม่มีข้าวจะกินเพราะที่ราบไม่พอ พระองค์รับสั่งว่าต้องทำนาให้ได้ แม้แต่บนภูเขา ตอนแรกมีคนทัดทานนะ พระองค์ทรงบอก เราทราบ แต่อย่างไรก็ต้องทำ เพื่อทดลองดู พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ได้บังคับ ก็ปรับหน้าดิน ต้องสร้างระบบเก็บน้ำ ใช้ปุ๋ย และต้องแก้ปัญหานกหนูอีก แต่ก็ทำให้เกิดนาขั้นบันไดที่อำเภอศรีสาครและอำเภอสุคิริน”
๒
นอกจากความทรงจำ ว่าที่ร้อยโทดิลกยังเก็บพระบรมฉายาลักษณ์พระราชกรณียกิจไว้เป็นปึก ทั้งที่มีตัวเขาเองอยู่ในภาพด้วย หรือเพียงได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์
“อย่างในภาพนี้” เขายกภาพถ่ายที่คุ้นตาคนไทยทั่วไป ในหลวงทรงฉลองพระองค์สีแดง ประทับพิงรถแลนด์โรเวอร์ซึ่งจอดอยู่บนสะพาน มีรับสั่งอยู่กับชาวบ้านที่นั่งพนมมือ
“บ้านเจาะบากงอยู่กึ่งกลางจากตากใบไปสุไหงโกลก ทางขวามือคือพรุโต๊ะแดง ทางซ้ายมือเป็นแม่น้ำสุไหงโกลก ถ้าฝนตกน้ำจากพรุโต๊ะแดงก็เข้าท่วมเจาะบากง ถ้าน้ำแม่น้ำเอ่อขึ้นมาก็ท่วมเหมือนกัน ท่วมเป็นประจำทุกปี ในหลวงทรงไปหยุดอยู่บนสะพาน ทรงซักถามชายในภาพนี้เกี่ยวกับอาชีพของชาวบ้าน สภาพของพรุ น้ำและสายน้ำในพรุ เพื่อหาทางระบายน้ำให้เร็ว เขาก็บอกว่าน้ำมาจากคลองสายนั้นสายนี้ พระองค์ก็ทรงเขียน
ลงในแผนที่”
แล้วเหมือนเขาจะนึกถึงเรื่องสำคัญที่สุดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเจาะไปที่แผนที่ในพระหัตถ์
“แผนที่ของพระองค์จะทันสมัยที่สุด พระองค์ทรงศึกษามาหมด แต่จุดสำคัญคือการศึกษาความเป็นจริง สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พระองค์ทรงแก้ไขปรับปรุงลงในแผนที่ของพระองค์ตลอด หมู่บ้าน ทางน้ำ ที่เกิดใหม่ หรือหายไป ก็จะทรงเขียนลงไป
“ส่วนภาพนี้ที่บึงบัวบากง อำเภอรือเสาะ” ว่าที่ร้อยโทดิลก ชวนให้ดูอีกภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือแผนที่ ประทับอยู่ในเรือกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยมีชาวบ้านคนหนึ่งพายอยู่ท้ายเรือ
“คนพายเรือชื่อลุงนุช เป็นคนโปรดที่ให้เข้าเฝ้าทุกปี ต่อมาเขาถวายที่ดิน ๙ ไร่ที่อยู่ติดกับสระนี้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนา”
บางส่วนของความทรงจำจากการตามเสด็จ ว่าที่ร้อยโทดิลกบันทึกพระราชดำรัสไว้ เขาเอาออกมาให้ดูและอ่านให้ฟังตามที่ตัวเองจด
“พระองค์ตรัสว่า ไม่รู้ไม่ผิด แต่ไม่รู้แล้วพูดผิด ๆ นั่นคือผิด ผมจดไว้”
แล้วเขาก็เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น
“ที่วัดพระพุทธ อำเภอตากใบ เสด็จฯ ไปถึงพระองค์ทรงถามว่า ปีนี้น้ำท่วม น้ำมาจากไหน ก็สันนิษฐานกันไปคนละทาง พระองค์ทรงเข้าไปคุยกับหลวงพ่อ พอออกมาผู้ใหญ่บ้านกำนันก็เตรียมถวายรายงานเต็มที่ พระองค์ทรงบอกว่าทราบแล้วจากหลวงพ่อ จากนั้นทรงพายเรือออกไปดูว่าน้ำมาจากไหนไปไหน วันนั้นพระองค์รับสั่งว่า ไม่รู้ไม่ผิด แต่ไม่รู้แล้วไปพูดผิด ๆ อันนี้ผิด
“คราวที่ไปเจาะไอร้อง ชาวบ้านขอสองอย่าง น้ำกับไฟฟ้า พระองค์ทรงบอกจะให้ทีละอย่าง จะเอาอะไรก่อนคิดดูให้ดี”
ล่ามมลายูประจำพระองค์เล่าแล้วเว้นวรรคให้คนฟังได้ชั่งใจตัวเองไปด้วย ว่าหากเป็นเราจะเลือกเอาอย่างไหนก่อน ก่อนคนเล่าจะเฉลย
“ให้เขาประชุมกันเอง เป็นการสอนเรื่องประชาธิปไตย ชาวบ้านสรุปกันว่าจะเอาน้ำ พระองค์รับสั่งว่าดี มีน้ำจะได้ทำเกษตร มีรายได้ เมื่อไฟฟ้าเข้ามาจะได้ไม่ลำบาก แต่ถ้าไฟฟ้ามาก่อน ซื้อเครื่องใช้ก็มีแต่เรื่องใช้จ่ายเงิน ขณะที่รายได้ยังไม่มี ก็จะเดือดร้อน”
แล้วนราธิวาสเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเป็นอย่างไร ?
ชายมุสลิมชาวนราธิวาสวัย ๗๒ ปี ทยอยเล่าไปทีละเรื่อง
“ฤดูน้ำน้ำท่วม ฤดูแล้งก็แล้ง ที่พรุก็ดินเปรี้ยว การศึกษาก็น้อย คนในชนบทยังพูดไทยได้น้อยมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ โดยรถไฟมาครั้งแรกในปี ๒๕๐๒ คนที่นี่พูดไทยไม่ได้ ท่านก็พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น”
เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ
“โรคที่ท้องถิ่นอื่นไม่มีแล้วอย่างโรคเท้าช้าง ที่นราธิวาสยังมี”
แต่เขาว่าปัญหาหลักจริง ๆ ของนราธิวาสคือการเกษตร
“ดินที่นี่มีปัญหาเยอะ พื้นที่เป็นพรุเสีย ๓ แสนไร่ ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย ปัญหาน้ำท่วม น้ำในพรุท่วมขังอยู่แล้ว ถ้ามีน้ำจากภูเขาก็ยิ่งหนักขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมาแก้ไขเรื่องนี้ ว่าน้ำท่วมทำอย่างไรให้ระบายออกให้เร็ว ก็ใช้การขุดลอกคลองบ้าง มาทำเรื่องบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่เลย การเก็บน้ำ การทำเขื่อน ฝาย อ่าง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้ ประชาชนมีงานทำ เกิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง จนเกิดโครงการ ‘แกล้งดิน’ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีแห่งเดียวที่ทำดินเปรี้ยวให้เป็นดินดี ทำการเกษตรได้”
แล้วเขาก็เล่าภาพแห่งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เมื่อ ๔๐ ปีก่อน
“พระองค์เสด็จฯ ไปด้วยพระองค์เอง เพื่อทำความรู้จักกับสภาพพื้นที่ ความเป็นอยู่ สภาพชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา ตามที่ท่านให้หลักว่าต้อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจ คือต้องศึกษาให้เข้าใจ รู้เรื่องทุกแง่มุม ในหลวงเสด็จฯ ไปทุกที่ ไปรู้จักกับคนในพื้นที่ ไปทำความคุ้นเคย ทั้งกับคนไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งพูดกันคนละภาษาแต่รู้เรื่องกัน อย่างคนหนึ่งมาซื้อของพูด (ภาษา) ใต้ คนขายเป็นมุสลิม ต่างฝ่ายต่างพูดภาษาของตัวเอง แต่สื่อสารกันได้รู้เรื่อง เพราะเขารู้จักและอยู่ด้วยกันมา เข้าใจคือพูดจากันรู้เรื่อง แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเข้าถึงด้วย เข้าถึงนี่ลึกกว่าเข้าใจ คือเข้าถึงความรู้สึก รู้ความต้องการและไม่ต้องการ ต้องรู้จักเขาเป็นอย่างดี สังคมเราพึ่งพาอาศัยกันก็ด้วยการรู้จัก เกิดความไว้วางใจ ผูกพันกัน ทำอะไรก็ง่าย พูดอะไรก็ง่าย คนเราถ้าพูดกันรู้เรื่อง ปัญหาจะลดลงเยอะเลย ถ้าจะเจริญรอยตามในหลวงก็อย่าลืมเรื่องรู้รักสามัคคี และต้อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
เล่าถึงเรื่องไหนเขามักมีตัวอย่างจริงด้วย
“คนหนึ่งที่ผมประทับใจเป็นครูสอนศาสนา ที่เราเรียก อุสตาส เป็นครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาถามผมว่าท่านจะฝาก สลาม ไปถึงในหลวงได้ไหม คำนี้แปลว่าความคิดถึง ตามธรรมเนียมของคนมุสลิม ไม่ได้เจอกันก็ฝากถึงกันได้ ผมก็ไปกราบทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงขอบใจ และพระองค์ก็ทรงฝากความคิดถึงกลับไป พอผมไปบอกอุสตาสบนมัสยิด คนอื่น ๆ ก็เลยฝากสลามมาอีกเป็นการใหญ่ นี่เป็นการสร้างความรักความผูกพัน คนที่ไม่ได้เข้าเฝ้าก็เกิดความผูกพัน ความรักความศรัทธาได้”
นั่นเองที่ทำให้เขากล่าวอย่างปลาบปลื้มตื้นตันใจทั้งโดยน้ำเสียงและสีหน้า
“ผมเพียงทำหน้าที่เหมือนสะพานเชื่อมเอาความรักความศรัทธาของผู้คนมากราบทูลพระองค์ท่าน และนำความรักความผูกพันความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาให้ประชาชนได้เข้าใจ อันนี้ประทับใจมาก ๆ เราได้ทำหน้าที่ที่น่าภาคภูมิใจที่สุดอย่างหนึ่ง”