โดย : ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

“พี่น้องโคเอนเป็นคนตัวเล็กๆ สุดพิลึก และพวกเราก็ทำหนังเล็กๆ สุดพิลึก”

นี่คือคำกล่าวของ จอช โบรลิน เมื่อเขาและเพื่อนๆ รับรางวัลกลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม บนเวที Screen Actors Guild Awards เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ถือเป็นสุนทรพจน์ที่พิลึกทีเดียว เพราะคำว่า “พิลึก” (freaky) ไม่น่าจะเป็นคำชมเชยได้ แต่ถ้าใครเคยดูหนังของพี่น้องโคเอน คงพอเข้าใจได้ว่านี่คือคำที่ “ใช่”

หากวงการหนังอเมริกันคือห้องเรียนหนึ่ง สตีเวน สปีลเบิร์ก คงเป็นหัวหน้าห้อง เควนติน ทารันติโน (Kill Bill) และ โอลิเวอร์ สโตน (Natural Born Killers) เป็นนักเรียนหลังห้องสุดแสบ รอน เฮาเวิร์ด (A Beautiful Mind) เป็นเด็กตั้งใจเรียนและเชื่อฟังครูอย่างเคร่งครัด แลร์รี คลาร์ก (Ken Park, Kids) เป็นเด็กหนีเรียนไปเล่นยา พี่น้องโคเอนก็คงเป็นเด็กเนิร์ดสวมแว่นหนาผู้หมกมุ่น

ย้อนไปเมื่อ ๒๔ ปีก่อน โจเอล (พี่ชาย) และ อีทาน (น้องชาย) โคเอน สองหนุ่มแห่งรัฐมินนิโซตา หาทุนทำหนังเรื่องแรกด้วยการเรี่ยไรเงินตามบ้านคนแปลกหน้าในรัฐนิวยอร์ก มินนิโซตา และเทกซัส ผลลัพธ์แทบไม่น่าเชื่อเพราะพวกเขาระดมทุนได้ถึง ๗๕๐,๐๐๐ เหรียญ จนนำไปสร้างหนังเรื่อง Blood Simple

พี่น้องโคเอนสร้างหนังมาแล้ว ๑๒ เรื่อง พระเอกของเขามักเป็นอาชญากร (ตั้งแต่ปล้นจนถึงฆ่า) บางเรื่องตลกมาก (The Big Lebowski, ๑๙๙๘) บางเรื่องเครียดทีเดียว (The Man Who Wasn’ t There, ๒๐๐๑) ส่วนเรื่องที่โด่งดังในบ้านเราคือ Fargo (๑๙๙๖) ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

โคเอนนำเสนอด้านมืดของมนุษย์ด้วยลีลาตลกร้าย มุกตลกของพวกเขามีความโดดเด่น ๓ ประการสำคัญ นั่นคือ ตัวละครเอกมักเป็นคนต่างจังหวัด บทสนทนาที่ยียวน (แต่เมื่อต้องการความจริงจังก็ทำได้คมกริบ) และการใช้ความรุนแรงในระดับเดียวกับการ์ตูน ทอมแอนด์เจอร์รี่ (แค่ลองคิดภาพคนจริงๆ แกล้งกันแบบแมว-หนูคู่นั้นก็สยองแล้ว)

มองโดยผิวเผินก็เหมือนแรงระเบิดอันไร้สาระของเด็กผู้ชาย แต่เมื่อมองลึกเข้าไปก็ซ่อนด้านมืดของมนุษย์อย่างมีมิติ โดยเฉพาะผลงานล่าสุด No Countryfor Old Men ที่เป็นการวิจารณ์ตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ในระดับปัจเจก จนถึงความเลวร้ายที่ค่อยๆ กลืนกินประเทศของพวกเขา

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ เหตุใดหนังพิลึกๆ ของผู้กำกับพิลึกๆ เรื่องนี้ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังดีที่สุดของอเมริกาประจำปีที่ผ่านมา (หนังเข้าชิงถึง ๘ รางวัลออสการ์ ส่วนจะได้รางวัลอะไรไปบ้าง ท่านผู้อ่านคงทราบข่าวคราวไปแล้ว แต่ในขณะที่เขียนต้นฉบับ ผลรางวัลยังมิได้ประกาศครับ)

 

๑.

ถึงแม้ No Country for Old Men จะดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ คอร์แมค แมคคาร์ที แต่มันก็มีหลายๆ ส่วนที่คล้ายคลึงกับหนังเรื่องดังของโคเอนอย่าง Blood Simple และ Fargo

Blood Simple เป็นเรื่องของเจ้าของบาร์ที่จ้างมือปืนไปฆ่าเมียเพราะเธอคบชู้ แต่เจ้ามือปืนดันสมองใสไปเจรจากับเหยื่อ ก็เลยทำให้แผนสังหารพลิกกลับตาลปัตร

ส่วน Fargo เป็นเรื่องร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองหนาวๆ ชายร้อนเงินคนหนึ่งวางแผนให้โจรลักพาเมียตัวเองเพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อตาผู้ร่ำรวย แต่แผนไม่เป็นไปตามนั้นเลยเพราะมีศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันตำรวจหญิงก็สืบคดีนี้ด้วยลีลาเฉพาะตัวเพราะเธอกำลังท้องแก่

เห็นได้ว่าทั้งสองเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่ “ผิดแผน”

No Country for Old Men ก็มีแผนที่ผิดเช่นนั้น อย่างน้อยก็ ๒ แผน

แผนแรกที่ผิดคือ ความล้มเหลวในการส่งยาเสพติดข้ามพรมแดนเม็กซิโก-อเมริกา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหนังจะเริ่มต้น ผู้ชมจึงเห็นเพียงผลลัพธ์ในฉากเปิดเรื่อง คือมีรถบรรทุกผงขาวจอดทิ้งไว้กลางทะเลทราย โดยมีศพนอนเรียงรายอยู่รอบๆ ห่างไปจากตัวรถสักหนึ่งกิโลมีชายปริศนานอนตายใต้ต้นไม้ใหญ่ ที่ข้างตัวเขามีกระเป๋าบรรจุเงินสด ๒ ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกแผนที่พลาดคือ ชายหนุ่มรูปงามนาม ลูเวลลีน มอสส์ (จอช โบรลิน) พบกับภาพในย่อหน้าข้างต้น สิ่งที่เขาเลือกทำคือขโมยเงินโดยคิดว่าคงไม่มีใครรู้ แต่ที่ไหนได้ เขาถูกคนตามมาเจอโดยบังเอิญ แถมเขายังทิ้งรถอยู่ในที่เกิดเหตุอีกด้วย

มีคนตามล่ามอสส์อยู่ ๒ คน ได้แก่ แอนทอน ชีเกอรห์ (ฆาเบียร์ บาร์เด็ม) มือสังหารโรคจิตที่ไม่มีคำว่า “มนุษยธรรม” ในพจนานุกรม และ เอ็ด ทอม เบลล์ (ทอมมี่ ลี โจนส์) ตำรวจที่ตามหามอสส์
เพื่อช่วยชีวิต

หนังเดินเรื่องด้วย ๓ ตัวละครหลักที่มีศีลธรรมแตกต่างกัน เบลล์คือความดีสีขาวบริสุทธ์ ชีเกอรห์คือความชั่วสีดำ ข้นคลั่ก ส่วนมอสส์คือคนสีเทาผู้อยู่ระหว่างความดีและชั่ว แต่นับวันก็ยิ่งมี
สีเข้มขึ้นเรื่อยๆ โคเอนเก่งมากที่เขียนบทให้ ๓ ตัวละครนี้แทบไม่ได้เจอกันเลย แต่สามารถทำให้เรารู้สึกถึงความเชื่อมโยงของทั้งสามได้อย่างน่าประหลาดใจ

เราเห็นความพิลึกของพี่น้องโคเอนได้ในช่วงที่ชีเกอรห์ไล่ล่ามอสส์ แผนการล่าและหลบของทั้งคู่ซับซ้อนมาก และต่างฝ่ายต่างก็มี “ของเล่น” พิสดาร (ชีเกอรห์ฆ่าคนด้วยการปล่อยลมจากถังแก๊สขนาดพกพาได้ รวมทั้งปืนที่มีความแรงสูงของเขา ส่วนมอสส์เองก็มีฉากที่เขาสร้างอุปกรณ์เพื่อเกี่ยวของในช่องแอร์)

ชีเกอรห์โดดเด่นตรงที่เขาเป็นฆาตกรโรคจิต ไว้ผมบ๊อบ พูดเสียงต่ำ และมีตรรกะการพูดแบบไม่ค่อยเหมือนมนุษย์ทั่วไปเท่าไร เขาฆ่าคนไม่เลือกหน้า และบางครั้งก่อนฆ่าก็ให้โอกาสโดยโยนเหรียญแล้วให้เหยื่อทายว่าหัวหรือก้อย – นี่คือการกลั่นแกล้งของโชคชะตาและพระเจ้า ซึ่งเป็นธีมหนึ่งที่ปรากฏเสมอๆ ในหนังของโคเอน

ฉากสนทนาระหว่างชีเกอรห์และเหยื่อถูกออกแบบให้เป็นฉากที่ทั้งน่ากลัวและน่าขบขัน (แบบหัวเราะในลำคอ) สิ่งเหล่านี้เกิดจากน้ำเสียง จังหวะการพูดและการไม่พูด เหตุผลโดยตรงและโดยนัยของบทสนทนา ความเย็นชาและความกระอักกระอ่วน ชีเกอรห์จึงมีสภาพเหนือจริงราวกับเขาเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย

ไม่ใช่แค่ฉากของชีเกอรห์เท่านั้น แต่ทุกฉากที่มีบทสนทนายาวๆ ถูกควบคุมทิศทางอย่างแน่วแน่ตั้งแต่ต้นจนจบฉาก

นอกจากบทสนทนาแล้ว การตัดต่อในหนังเรื่องนี้ยังโดดเด่นมาก เมื่อ ๒๔ ปีก่อน พี่น้องโคเอนโด่งดังจากฉากสุดโหดใน Blood Simple นั่นคือฉากที่มือของตัวร้ายถูกตอกตะปูยึดไว้กับขอบหน้าต่าง แต่ใน No Country for Old Men ตัวละครบางตัวตายอย่างไร สภาพศพเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่ง “ตายรึเปล่า” เราเองก็ไม่ทราบแน่ชัด เพราะพี่น้องโคเอน “ไม่ให้เราดู”

เมื่อไรก็ตามที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอารมณ์ฟูมฟาย พี่น้องโคเอนก็ตัดไปฉากอื่นทันที หรือเหตุการณ์สำคัญในหลายฉากก็ไม่ได้รับการอธิบายอย่างละเอียดยิบเพราะมันไม่จำเป็นเลย การทิ้งพื้นที่ว่างให้ผู้ชมได้จินตนาการด้วยตนเอง นอกจากช่วยให้หนังหนักแน่นขึ้นแล้ว มันยังเป็นการโชว์รสนิยมทางศิลปะที่เข้าฝักแล้วของผู้กำกับด้วย

 

๒.

No Country for Old Men สามารถใช้เปรียบเปรยกับสภาพทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันได้ โดยผมตั้งข้อสังเกตว่า

นี่คือเรื่องของความชั่วกลางทะเลทราย ซึ่งเหมือนกับสงครามอเมริกา-อิรัก

นี่ยังเป็นการล้อเรื่องช่วงเวลา เพราะเหตุการณ์ในท้องเรื่องเกิดขึ้นในยุค ๘๐ ตอนต้น ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามเวียดนาม ส่วนในปัจจุบันคืออเมริกายุคหลังสงครามอิรัก

หนังยังอธิบายว่ามอสส์คืออดีตทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม และในขณะที่ตัวละครทุกตัวเป็นชาวอเมริกัน แต่ตัวร้ายอย่างชีเกอรห์เป็นคนต่างชาติ (เขาน่าจะถูกเปรียบกับใครดีระหว่าง บิน ลาดิน หรือ ซัดดัม ฮุสเซน ?)

ฉากหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการที่ชีเกอรห์บุกไปฆ่าเศรษฐีบน “ตึกสูง” เป็นไปได้ไหมว่านี่คือการเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ และตึกสูงนี้ก็คือตึกเวิลด์เทรด ? (หนังยังมีบทสนทนาที่เน้นถึงความสูงของตึก และตัวตึกสูงนี้ก็เป็นภูมิทัศน์ที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับทะเลทรายและเมืองเล็กที่เห็นตลอดทั้งเรื่องอีกด้วย)

นอกจาก No Country for Old Men แล้ว There Will Be Blood หนังชิงออสการ์อีกเรื่อง ก็เป็นการเปรียบเปรยเชิงเสียดสีกับสงครามอเมริกา-อิรักเช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องของชายละโมบผู้หวังไปขุดน้ำมันกลางทะเลทรายจนเกิดเรื่องนองเลือด ซึ่งคล้ายคลึงกับคำครหาที่รัฐบาลของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช โดนมาตลอด

น่าสนใจดีที่หนังชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ปีนี้ ๔ ใน ๕ เรื่องเป็นหนังวิพากษ์สภาพสังคมอเมริกันในปัจจุบันทั้งสิ้น อีก ๒ เรื่องได้แก่ Juno หนังเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นตั้งท้อง ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ชาวอเมริกันกำลังปวดหัวอยู่ และ Michael Clayton หนังว่าด้วยการทุจริตในวงการธุรกิจขนาดยักษ์ ซึ่งประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมาก็สอนให้เรารู้ดีว่า “ธุรกิจขนาดยักษ์” กับ “การเมืองระดับประเทศ” มีส่วนทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก (ส่วนหนังอีกเรื่อง – Atonement นั้นเป็นหนังจากประเทศอังกฤษ)

 

๓.

หนังให้น้ำหนักกับการไล่ล่าและหลบหนีระหว่างมอสส์กับชีเกอรห์ไปกว่าครึ่งเรื่อง ซึ่งคล้ายกับ “เกมของเด็กผู้ชาย” (โดยปรกติหนังของโคเอนก็มีความเป็นชายสูงอยู่แล้ว) แต่หนังก็สร้างสมดุลด้วย “ผู้ใหญ่” และ “ผู้หญิง”

เอ็ด ทอม เบลล์ เป็นตัวละครเอกที่แก่ที่สุด เขาคือสัญลักษณ์ของศีลธรรม และเขาคือชื่อหนัง (No Country for Old Men – ไม่มีพื้นที่ให้ไอ้เฒ่า) เพราะเขาครุ่นคิดเหลือเกินว่า ทำไมความ
ชั่วร้ายมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนราวกับไม่มีพื้นที่ให้คนดีแล้วสินะ ?

เบลล์คือชายชราที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า โคเอนเขียนบทโมโนล็อก (บทพูดคนเดียวขนาดยาว) ให้ตัวละครนี้ถึง ๓ บทใหญ่ๆ และขิงแก่ ทอมมี่ ลี โจนส์ ก็ใช้น้ำเสียง สีหน้า แววตา ได้อย่างพอเหมาะโดยบทพูดเหล่านี้มีจุดประสงค์คล้ายๆ กันคือการครุ่นคิดถึงความดีและชั่ว

ในบทพูดแรก เบลล์บอกว่าเขาไม่รู้อีกแล้วว่าทำไมความ “ชั่ว” ในปัจจุบันถึงได้ “ร้ายกาจ” ยิ่งนัก เขาเคยจับเด็กผู้ชายที่ฆ่าเด็กหญิงวัย ๑๔ ปี โดยไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดนอกจากแค่ต้องการ “ฆ่า” เท่านั้นเอง

“อาชญากรรมที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้มันเลวร้ายยิ่งกว่าในอดีตซะอีก ไม่ใช่ว่าผมกลัวนะ ผมรู้ดีว่าผมสามารถตายในหน้าที่ได้โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ด้วย แต่ผมไม่อยากไปเจอกับสิ่งที่ผมไม่เข้าใจ คุณอาจบอกว่ามันเป็นหน้าที่ (ที่ผมต้องต่อสู้กับความชั่วร้าย) แต่ผมไม่รู้จักอีกแล้วว่ามันคืออะไร และที่สำคัญคือผมไม่อยากรู้ด้วย” เบลล์กล่าว

ในฉากจบของหนังเป็นการสรุปแก่นความคิดที่แหลมคมมาก เบลล์เกษียณอายุและอาศัยอยู่กับเมียรัก เขาเล่าให้เมียฟังว่า เมื่อคืนเขาฝันถึงวัยเด็กอันงดงาม เขาขี่ม้าขึ้นภูเขากับพ่อ เขาอยู่ในความมืดมิดแต่รู้ว่าพ่ออยู่ใกล้ๆ เบลล์พร่ำพรรณนายาวมาก แล้วเขาบอกว่า “แล้วผมก็ตื่น”

เขาจบประโยคนี้ด้วยน้ำตาคลอเบ้า ความฝันในที่นี้เปรียบได้กับโลกที่เบลล์อาศัยอยู่มาตลอดทั้งชีวิต โลกที่แม้จะสับสนแต่อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว แต่แล้วเมื่อเขาแก่ตัวลง ก็ราวกับว่าเขาตื่นมาอยู่ในอีกโลกซึ่งเขาไม่รู้จักมันเลย โลกที่ไม่มีพื้นที่ให้เขาอีกแล้ว โลกที่มนุษย์ไม่มีแม้กระทั่งเหตุผลในการทำความชั่ว

ในขณะที่ตัวละครเพศชายตัวอื่นๆ (นอกจากเบลล์) เป็นตัวแทนของการทำลายล้าง ก็มีตัวละครผู้หญิง ๓ ตัวที่มีพฤติกรรมสวนทางกับตัวละครชายอย่างมาก

คนแรกคือ ลอเรตต้า ภรรยาของเบลล์ ดูผิวเผินเธอเป็นเพียง “เมียตำรวจ” ที่มีบทแค่ ๒ ฉาก แต่ในฉากที่เบลล์กำลังจะออกไปตามล่าฆาตกร เธอก็แสดงจุดยืนของความดีงามด้วยประโยคเพียงสั้นๆ “ระวังตัวด้วยนะคะ” / “อย่าให้ตัวเองโดนทำร้าย” / “และอย่าทำร้ายใคร”

ถึงลอเรตต้าจะเป็นเพียงเมียตำรวจ แต่เธอรู้ดีว่าการ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ไม่ได้หมายความว่าจะไปฆ่าผู้ร้าย การยุติปัญหาที่สมบูรณ์ที่สุดคือต้องไม่มีใครบาดเจ็บ

คนที่ ๒ คือ เสมียนอำเภอหญิงวัยกลางคน เธอปรากฏตัวเพียงไม่กี่ฉากเช่นกัน แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เธอเป็นตัวละครเดียวที่สยบปีศาจร้ายได้ (แม้มันจะเป็นมุกตลกของหนังก็ตาม) ในฉากนั้น แอนทอน ชีเกอรห์ เดินทางมาที่อำเภอเพื่อหาข้อมูลว่ามอสส์ทำงานอยู่ที่ไหน ผู้ชมคงคิดว่าเธอต้องตายแน่ๆ หรือเธอคงยอมบอกข้อมูลแต่โดยดี แต่ปรากฏว่าเธอยืนกรานว่าเธอไม่บอก ไม่ว่าชีเกอรห์จะข่มขู่เธอกี่ครั้งเธอก็ไม่บอก นี่ก็เป็นอีกตัวละครที่ยึดมั่นในหลักการ

คนสุดท้ายคือ คาร์ลา จีน ภรรยาของมอสส์ ในตอนแรกๆ เธอเป็นเพียงจุดอ่อน/ตัวถ่วงให้พระเอกไม่ประสบความสำเร็จในการโจรกรรมครั้งนี้ แต่ยิ่งหนังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เราก็เห็นว่า คาร์ลา จีน เป็นหญิงสาวแสนบริสุทธิ์ จนกระทั่งในฉากที่เธอต้องปะทะกับชีเกอรห์ ยิ่งเห็นชัดว่า คนหนึ่งคือเทพธิดาที่อยู่ในแสงสว่าง ส่วนอีกคนคือปีศาจที่อยู่ในมุมมืด

ในฉากนั้น คาร์ลา จีน อยู่ในสภาพหญิงม่าย ถังแตก และแม่ก็เพิ่งตาย ชีเกอรห์ไม่จำเป็นต้องฆ่าเธอก็ได้ แต่เขาก็จะทำ แม้ คาร์ลา จีน ไร้ทางสู้ แต่ปรากฏว่าเธอเป็นตัวละครที่ใจเด็ดที่สุดในเรื่อง ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็นตำรวจเหมือนเบลล์ หรือเป็นชายผู้แข็งแกร่งเหมือนสามี แต่หัวใจของ คาร์ลา จีน
เชื่อมั่นในความดีงามยิ่งนัก

เคลลี แมคโดนัลด์ (ผู้รับบท คาร์ลา จีน) เป็นนักแสดงที่มี “พรสวรรค์ในการตั้งคำถาม” คงเพราะใบหน้าและน้ำเสียงที่ดูบริสุทธิ์ราวกับเด็กๆ ที่ช่วยให้คำถามทรงพลังมากขึ้น

คาร์ลา จีน : คุณไม่ต้องทำอย่างนี้เลย
ชีเกอรห์ : ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลย
คาร์ลา จีน : พูดว่าอะไร
ชีเกอรห์ : พูดว่าผมไม่ต้องทำอย่างนี้
คาร์ลา จีน : ก็เพราะคุณไม่ต้องทำ
ชีเกอรห์ : โอเค (หยิบเหรียญขึ้นมาแล้วโยน) นี่คือสิ่งดีที่สุดที่ผมทำได้ (เขาโยนเหรียญขึ้น) เอ้า ทายมาว่าหัวหรือก้อย
คาร์ลา จีน : ฉันรู้ว่าคุณเป็นคนบ้า ตั้งแต่ตอนที่ฉันเห็นคุณนั่งอยู่ตรงนั้น ฉันรู้ว่าคุณมาเพื่อฆ่าฉัน
ชีเกอรห์ : ทายมา
คาร์ลา จีน : ไม่ ฉันไม่ทาย
ชีเกอรห์ : (ประหลาดใจปนรำคาญ) ทายมา
คาร์ลา จีน : เหรียญมันตัดสินอะไรไม่ได้หรอก แต่เป็นตัวคุณต่างหาก

คาร์ลา จีน ไม่ได้ขอร้องให้ชีเกอรห์ไว้ชีวิตเธอเพราะกลัวตาย แต่เธอรู้ว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะฆ่าเธอเลย เธอคือคนเดียวในหนัง (หรือในชีวิตของชีเกอรห์) ที่ไม่ยอมทายเหรียญ เพราะเชื่อว่าเธอไม่จำเป็นต้องอยู่ในเกมของเขา เธอไม่อยากเป็นเพียงศพในเรื่องเล่าของเบลล์ หรืออีกหลายศพที่ถูกฆ่าอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตลอดทั้งเรื่อง และในวินาทีตัดสินชีวิต แทนที่เธอจะปล่อยให้มันผ่านไปอย่างไร้ค่าหรือวิ่งหนีอย่างไร้สติ แต่หญิงบ้านนอกผู้นี้ขออุทิศชีวิตเพื่อสะกิดให้ปีศาจร้ายเปลี่ยนใจ ราวกับเธอเป็นตัวละครเดียวในเรื่องที่ยังหวังว่ามีพื้นที่สีขาวเล็กๆ ในหัวใจอันมืดดำของปีศาจ

เพราะเหรียญไม่ได้เป็นตัวตัดสินให้คนทำชั่ว โชคชะตาไม่ได้ทำให้ใครฆ่าใครแต่เป็นหัวใจของเราทุกคนต่างหากที่สามารถหยุดความชั่วในตัวเราได้