“การค้าสัตว์ป่านอกจากจะเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ยังทำให้เครือข่ายอาชญากรรมเข้มแข็ง บั่นทอนความมั่นคงชาติ”

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งของรายงานซึ่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ใช้บรรยายสรุปต่อคณะทูตประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๕

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อาชญากรรมสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยมีเครือข่ายอาชญากรรมระดับโลกเป็นแรงขับเคลื่อน

เจมส์ ลีป (James Leape) ผู้อำนวยการใหญ่ WWF กล่าวว่า “รัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่าข้ามชาติอย่างเร่งด่วน  หัวข้อนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปกป้องธรรมชาติ แต่เป็นประเด็นความมั่นคงของชาติด้วย”

สินค้าสัตว์ป่าที่ค้าขายกันในตลาดมืดนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่เชื่อมโยงอย่างซับซ้อน  ผลกำไรที่ได้ถูกแปรเป็นทุนค้าอาวุธและเป็นเงินสนับสนุนการก่อการร้าย

ผู้ที่สูญเสียมากที่สุดคือชุมชนซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเสียชีวิต  ขณะที่เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติและเจ้าหน้าที่ผู้ฉ้อฉลได้กำไร

จากรายงานของ WWF ระบุว่าเครือข่ายอาชญากรรมมองว่าการลักลอบล่าสัตว์ป่ามีความเสี่ยงต่ำแต่สร้างผลกำไรสูง สามารถ “ทำเงินได้ง่ายๆ”  โดยแต่ละปีมีเม็ดเงินไหลเวียนในธุรกิจนี้สูงถึง ๑๙,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๕๗๐,๐๐๐ ล้านบาท  นับเป็นการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายขนาดใหญ่อันดับ ๔ ของโลก รองจากยาเสพติด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการค้ามนุษย์