โดย จักรพันธุ์ กังวาฬ
แม้ในยุคปัจจุบันที่วิทยาการด้านการแพทย์ก้าวหน้า หากพูดถึงการผ่าตัดที่ต้องกรีดเปิดหนังศีรษะเพื่อเจาะกะโหลก อาจทำให้หลายคนหวาดเสียวและรู้สึกเป็นเรื่องอันตราย แต่เชื่อไหมว่าคนโบราณอย่างชาวอินคารู้วิธีผ่าตัดหัวกะโหลกเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว
อาณาจักรอินคาตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ นักวิชาการพบหลักฐานว่าการผ่าตัดหัวกะโหลกเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บกระทำกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวอินคา ในยุคที่เมืองหลวงชื่อคุซโช ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๐๐ พบว่าอัตราผู้รอดชีวิตจากการผ่าตัดหัวกะโหลกสูงถึง ๙๐ % และมีระดับการติดเชื้อน้อยมาก
วาเลอรี อันดรุชโก จากมหาวิทยาลัย Southern Connecticut State สหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำทีมนักวิชาการศึกษาเรื่องดังกล่าว เธอได้สำรวจสุสาน ๑๑ แห่งบริเวณเมืองคุซโชและชานเมืองรอบนอก ในจำนวนหัวกะโหลกชาวอินคา ๔๑๑ หัวที่ขุดพบ มีกะโหลก ๖๖ หัวถูกเจาะเป็นรูกลวงอันเป็นร่องรอยของการผ่าตัดนั่นเอง นอกจากนั้นที่สุสานแห่งหนึ่งซึ่งพบกะโหลก ๕๙ หัว มีกะโหลกถึง ๒๑ หัวมีรูของการผ่าตัด
หัวกะโหลกบางหัวมีร่องรอยการผ่าตัดมากกว่า ๑ ครั้ง รวมทั้งหัวกะโหลกหัวหนึ่งมีร่องรอยถูกผ่าตัดถึง ๗ ครั้ง
วาเลอรีกล่าวว่าชาวอินคามีทักษะการผ่าตัดหัวกะโหลกในระดับสูง แม้ยังไม่รู้จักการวางยาสลบหรือใช้ยาปฏิชีวนะตามรูปแบบการแพทย์สมัยใหม่ แต่ผู้รักษาใช้ประโยชน์จากพืช เช่น ใบโคคา ใบยาสูบ และเบียร์ข้าวโพด เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด รวมทั้งใช้พืชสมุนไพรบางชนิดเพื่อเป็นยาฆ่าเชื้อ
วาเลอรียังระบุว่าการผ่าตัดหัวกะโหลกของชาวอินคาทำเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ในสงคราม โดยร่องรอยการผ่าตัดปรากฏอยู่บริเวณแนวกลางและด้านซ้ายของหัวกะโหลกแทบทุกหัว เพราะผู้ป่วยถูกทำร้ายโดยคู่ต่อสู้ซึ่งถนัดมือขวานั่นเอง
นอกจากนั้นยังพบว่าหัวกะโหลกที่ถูกผ่าตัดจำนวน ๑๙ หัวเป็นของผู้หญิง นักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าชาวอินคาผ่าตัดหัวกะโหลกเพื่อรักษาอาการป่วยบางอย่างด้วย เช่น โรคลมบ้าหมู