ดนตรี / พื้นที่ / เวลา
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
แม่ชีฮิลเดการ์ดขณะได้ัรับนิมิตจากพระเจ้าและบันทึกลงหนังสือ
นักแต่งเพลงดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะเพลงคลาสสิกนั้น เรามักรู้จักแต่นักแต่งเพลงเพศชายที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น เช่น โมซาร์ต โชแปง เดบุสซี เนื่องด้วยสังคมตะวันตกแต่ไหนแต่ไรมาเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อเพศชายมากกว่าเพศหญิงอยู่แล้ว
ดังนั้นแม้ว่าจะมีนักแต่งเพลงผู้หญิง แต่ก็มักไม่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางนัก
ทั้งที่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว นักแต่งเพลงหรือ composer คนแรกของโลกตะวันตกนั้นเป็นผู้หญิง
แม่ชีคนสำคัญ
ผู้หญิงคนสำคัญนี้ เรารู้จักเธอในชื่อว่า ฮิลเดการ์ด ฟอน บิงเงน (Hildegard von Bingen) มีสถานะเป็นแม่ชีอยู่ในเมืองบิงเงน ในช่วง ค.ศ. ๑๐๙๘-๑๑๗๙ (หรือ พ.ศ. ๑๖๔๑-๑๗๒๒ ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาราว ๑๐๐ ปี) ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเยอรมนี
เรื่องนี้จัดว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าศาสนาคริสต์นั้น ในสมัยก่อนมักกีดกันผู้หญิงไม่ให้มีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมในโบสถ์ ถึงกับห้ามผู้หญิงร้องเพลงสวดเลยทีเดียว เมื่อคริสตจักรอนุญาตให้ผู้หญิงคนหนึ่งแต่งเพลงขึ้นจึงนับเป็นกรณีพิเศษมากๆ
แต่ก่อนอื่นผมต้องชี้แจงตรงนี้เล็กน้อยว่า การบอกว่าฮิลเดการ์ดเป็นนักแต่งเพลงคนแรกของโลกนั้น อาศัยการอ้างอิงว่าโน้ตเพลงดนตรีตะวันตกของเธอเป็นเพลง “เก่า” ที่สุดซึ่งมีการบันทึกชื่อคนแต่งไว้
เพราะมิใช่ว่าก่อนหน้าฮิลเดการ์ดจะไม่มีนักแต่งเพลง เพียงแต่โน้ตเพลงที่ค้นพบก่อนหน้านั้นไม่ระบุชื่อผู้แต่งไว้ เราจึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครเป็นคนแต่งเพลงเหล่านั้น โดยเพลงจำนวนมากเป็นเพลงสวดที่จดบันทึกต่อๆ กันมา ดัดแปลงแก้ไขผ่านมือคนหลายรุ่น แต่ไม่ระบุชื่อคนแต่งหรือคนแก้ไว้
ในทางประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว เราจึงนับว่าฮิลเดการ์ดเป็นนักแต่งเพลงคนแรก เพราะเธอบันทึกไว้ชัดเจนว่าเธอเป็นคนแต่งเพลงเหล่านั้น ด้วยสำนึกในความเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง
เรื่องที่ฮิลเดการ์ดมีตำแหน่งแห่งที่ในการดนตรีตะวันตกได้นั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และน่าจะมีสาเหตุจากการที่เธอเป็นแม่ชีชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในทางการเมืองและการศาสนา โดยเธอเป็นผู้นำคณะแม่ชีตั้งแต่อายุ ๓๘ ปี และมีหลายเหตุการณ์ชี้ว่าเธอเป็นบุคคลสำคัญซึ่งมีบทบาทค่อนข้างมากในศาสนจักร เช่น ฮิลเดการ์ดเคยขอย้ายคณะชีไปอยู่ที่เมืองรูเพิร์ตสบูร์ก (Rupertsburg) เพื่อให้เป็นอิสระจากพวกพระและบริหารงานตนเองได้เต็มที่ ซึ่งคำขอนั้นก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย
ส่วนหนึ่งของบันทึก Scivias หนังสือแสดงภาพนิมิตและอื่นๆ ของฮิลเดการ์ดราว ค.ศ.๑๑๕๑-๑๑๕๒
ฮิลเดการ์ดยังรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลสำคัญจำนวนมาก ทั้งพระสันตะปาปา เจ้าเมือง และพระจักรพรรดิ ซึ่งส่งผลให้สถานะของเธอสูงส่งกว่าแม่ชีทั่วๆ ไป และสามารถเขียนงานทางศาสนา ซึ่งตามขนบแล้วต้องเป็นหน้าที่ของนักบวชเพศชายเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นเธอยังแสดงธรรมเทศนา ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับแม่ชี โดยเธอกล่าวโจมตีการคอร์รัปชันในศาสนจักร เรียกร้องให้มีการปฏิรูป และต่อต้านการใช้เงินเพื่อซื้อหาตำแหน่งทางศาสนจักรด้วย
ตามประวัติที่ฮิลเดการ์ดเขียนเล่าไว้เองในหนังสือชื่อว่า Vita บอกว่าเธอเกิดในครอบครัวของชนชั้นสูง และถูกส่งเข้ามาอยู่ในโบสถ์ตั้งแต่ยังเด็กๆ เมื่ออายุได้เพียง ๘ ขวบ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าในช่วงแรกนี้ฮิลเดการ์ดอาจทำงานอยู่ในห้องเก็บสมุนไพรหรือไม่ก็สถานพยาบาลของโบสถ์
เห็นนิมิตจากพระเจ้า
ฮิลเดการ์ดเล่าว่าเธอเห็นนิมิตจากพระเจ้าตั้งแต่อายุเพียง ๓ ขวบ และเริ่มเข้าใจในนิมิตตอนอายุ ๕ ขวบ เธอลังเลที่จะบอกสิ่งที่เธอเห็นแก่ผู้อื่นมาตลอด จนเมื่อปี ค.ศ.๑๑๔๑ เมื่ออายุ ๔๑ ปี ฮิลเดการ์ดอ้างว่าเธอได้รับคำสั่งจากพระเจ้าให้บันทึกทุกสิ่งที่เธอเห็นลงในหนังสือ
หนังสือจำนวนมากที่ฮิลเดการ์ดเขียน นอกจากจะบันทึกเรื่องนิมิตต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องราวจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นนักปราชญ์แห่งยุคสมัยเลยทีเดียว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของจักรวาล สัตว์ พืช ดิน และน้ำ
นอกจากนี้ี้เธอยังมีชื่อเสียงในฐานะหมอสมุนไพรอีกด้วย
ในหนังสือ ฮิลเดการ์ดมักอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ซึ่งทำให้เรื่องการเห็นนิมิตของเธอยิ่งดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นไปอีก เพราะผู้มีการศึกษาน้อยจะเขียนหนังสือยากๆ อย่างที่เธอทำได้อย่างไรเล่า
และที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ฮิลเดการ์ดยังประดิษฐ์รูปแบบอักษรของเธอเอง (ดัดแปลงมาจากอักษรละตินในยุคกลาง) เพื่อใช้จดบันทึกนิมิตต่างๆ อีกด้วย นักวิชาการมองว่าฮิลเดการ์ดต้องการให้เนื้อหาในหนังสือเป็นความลับภายในอาณาเขตคอนแวนต์ของเธอเท่านั้น
การประดิษฐ์อักษรชนิดใหม่ขึ้นมานับเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนั่นเท่ากับว่าเธอกำลังท้าทายอำนาจของอักษรละตินกระแสหลักที่ศาสนจักรบังคับให้ทุกโบสถ์ใช้เหมือนๆ กัน
เหตุการณ์นี้จึงแสดงถึงอำนาจของฮิลเดการ์ดที่สามารถปกครองพื้นที่แยกขาดจากศาสนจักรได้ระดับหนึ่ง
ยิ่งในส่วนของดนตรีแล้ว ฮิลเดการ์ดจัดเป็นนักแต่งเพลงคนแรกที่แต่งทำนองใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง เพราะในสมัยนั้นนักบวชมักแต่งเพลงโดยอาศัยโครงสร้างของทำนองเก่าที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
ฮิลเดการ์ดยังเป็นคนแรกๆ ที่เขียนละครเพลงขึ้น มีชื่อเรื่องว่า Ordo Virtutum ว่าด้วยเรื่องศีลธรรมในศาสนาคริสต์ โดยมีบท “ร้อง” สำหรับเสียงผู้หญิง ๑๖ คน และบท “พูด” ของปิศาจอีก๑ ตน (เพราะปิศาจย่อมไม่ร้องเพลง)
หนังสือรวมเพลง Symphonia Armoniae Celestium Revelationum ของเธอ ประกอบด้วยบทเพลงจำนวนมากและหลากหลายประเภท
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่างานแต่งเพลงในดนตรีตะวันตกเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์และชนชั้นพิเศษอย่างแยกไม่ออกมาแต่แรก
ดูได้จากประวัติของนักแต่งเพลงหญิงคนแรกผู้ทรงอิทธิพลทางศาสนาและการเมืองคนนี้นี่แหละ