Green News
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ : ภาพ
โรงเก็บแกลบบริเวณกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด (ถ่ายเมื่อ ธันวาคม ๒๕๕๔)
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงปลายปี สำหรับการจัดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้กรอบคิดและเจตนารมย์ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ
ภายใต้แนวคิดหลัก “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” มีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดการปัญหาหมอกควัน
การประชุมสมัชชาสุขภาพฯ นับเป็นวาระการเปิดพื้นที่สาธารณะครั้งสำคัญให้ผู้คนในสังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและทางออกในการสร้างสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม และยังเป็นปลายทางของการลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะ ๑ ปีที่ผ่านมา
ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ ให้สัมภาษณ์ว่า “ปัญหาสุขภาพของคนไทยไม่ได้เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่เกิดจากมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องสำคัญในวันนี้ แต่ทุกฝ่ายควรหันกลับมาทบทวนผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชนที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายหลายอย่าง”
ดร.ศิรินายกตัวอย่างบทเรียนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่นนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งถูกภาครัฐชี้นำ และขาดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน จนนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่
กรณีมาบตาพุด จังหวัดระยองเป็นตัวอย่างทำให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นควรให้มีการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีไอเอ (EIA : Environment Impact Assessment) และอีเอชไอเอ (EHIA : Environment & Health Impact Assessment)
หมอกควันจากไฟป่าและการเผาพื้นที่เกษตรส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ภาพประชาสัมพันธ์)
นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองนาสร้างศิริราษฎร์บูรณะทำความสะอาดห้องเรียนจาก “ฝุ่นดำ” ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
ข้อมูลในรายงานการประชุมสมัชชาฯ ได้ชี้ถึงปัญหาของการทำ EIA และ EHIA ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า “…รายงาน EIA และ EHIA ไม่มีบทบาทในการพิจารณาตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงหรือยับยั้งโครงการที่มีความเสี่ยงสูง และกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจในการยับยั้งนี้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) การจัดทำรายงานผลกระทบฯ ยังขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการทำและคัดเลือกพื้นที่โครงการ การจัดเวทีเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) กลายเป็นเพียงรูปแบบพิธีกรรม…”
ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น
ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอต่อประธานรัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อรองรับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบ EIA/EHIA และขอให้ภาคประชาสังคมหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมผลักดันการปฏิรูปตามแนวทางข้างต้น
หัวข้อต่อมาคือ การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังพบว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายรายอาศัยช่องว่างของกฎหมายสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า ๑๐ เมกกะวัตต์ เพื่อเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กจำนวนหนึ่งได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน จากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จนทำให้เกิดควันดำและเขม่า
ข้อเสนอเชิงนโยบายคือผลักดันให้ภาครัฐป้องกันและลดผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่ำกว่า ๑๐ เมกกะวัตต์ ส่งเสริมเทคโนโลยีเผาที่มีประสิทธิภาพและมลพิษต่ำ ปรับปรุงเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งคำนึงถึงระยะห่างระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน สาธารณะสถาน แหล่งน้ำสาธารณะด้วย
หัวข้อสุดท้ายคือการจัดการปัญหาหมอกควัน
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี พื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนมักประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่ มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมากเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด และดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่นควันจำนวนมากมองดูคล้ายหมอกเรียกว่า “ภาวะหมอกควัน” มาจากแหล่งสำคัญคือไฟป่า การใช้ไฟในพื้นที่เกษตร ฝุ่นละอองจากเมืองและอุตสาหกรรม รวมทั้งหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว จีนตอนใต้ และอินโดนีเซีย ปัญหาหมอกควันนี้มีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด หัวใจ และหลอดเลือด
ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค แต่ยังขาดการทำงานเกาะติด ให้ความสนใจเฉพาะช่วงที่เกิดสถานการณ์หมอกควันรุนแรง ทั้งนี้มีสาเหตุจากการไม่มีกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้ชุมชนมีสิทธิและหน้าที่ดูแลรักษาป่า ขาดแผนการจัดการไฟป่าระหว่างรัฐกับชุมชน โดยเฉพาะกรณีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซ้อนทับกับพื้นที่ป่าของรัฐที่ยังไม่มีการสำรวจ ตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ
ข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่นให้ปรับปรุงโครงสร้างกลไกคณะกรรมการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มคณะทำงานวิชาการเพื่อปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การเกษตร การจัดการที่ดินในพื้นที่สูง พื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมาย เสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายให้สามารถข้ามพ้นอุปสรรคในการแก้ปัญหาหมอกควัน เช่นแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อระบบนิเวศ เพื่อให้บุคคลหรือกลุ่มคนที่ดูแลรักษาระบบนิเวศและธรรมชาติได้รับค่าชดเชยหรือผลตอบแทน เป็นต้น
ทั้ง ๓ หัวข้อข้างต้นจะได้รับการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งผลักดันไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไปตามเจตนารมย์ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ .
หมายเหตุ : เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปลายปีมีมติเห็นชอบผลักดัน ๙ นโยบายเพื่อสุขภาพ นอกเหนือจาก ๓ นโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีหัวข้อความปลอดภัยด้านอาหาร การแก้ปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน, การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชั่วโมง : กรณีเด็กกับไอที, พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ, การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนากลไกและกระบวนการรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน