เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : ไพรัตน์ ทรงพานิช


คลิก Full Screen เพื่อชมตัวอย่างภาพขนาดใหญ่

บัวตูมดอกน้อยที่โผล่พ้นน้ำกำลังเผยอกลีบสีชมพูแรกแย้มรับแสงแดดอ่อนของรุ่งอรุณ

เช้าวันนั้นอาจารย์ไพรัตน์ ทรงพานิช พาเราเดินลัดเลาะคันดินขอบบ่อปลูกบัว ชี้ให้ดูบัวตูมดอกนั้นพร้อมอธิบายว่า ดอกบัวที่เห็นใกล้จะแย้มบานเป็นวันแรก ถึงตอนนั้นย่อมหมายความว่ามันพร้อมแล้วสำหรับการผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์

ปัจจุบัน อ.ไพรัตน์ทำงานประจำเป็นนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร แต่ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักผสมพันธุ์บัวที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่เขาได้พบ “รักแรก” กับเพอรีส์ไฟร์โอปอล (Perry’s Fire Opal) บัวฝรั่งที่มีดอกสีชมพูอ่อนหวาน เมื่อปี ๒๕๔๓ อ. ไพรัตน์ก็เริ่มสนใจปลูกเลี้ยงบัวฝรั่งเป็นไม้ประดับนับจากนั้น

ล่วงมาปี ๒๕๔๖ ก็เริ่มข้ามขั้นลงมือผสมพันธุ์บัวฝรั่ง จนได้ผลผลิตเป็นบัวฝรั่งพันธุ์ใหม่ที่มีสีสันและลักษณะแปลกใหม่สวยงาม โดดเด่นกว่าต้นพ่อแม่ สามารถนำไปจดทะเบียนตั้งชื่อบัวพันธุ์ใหม่กับสมาคมบัวและไม้น้ำสากล ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งยังก้าวไปอีกขั้น ด้วยการทดลองผสมพันธุ์บัวข้ามสกุลย่อย ระหว่างบัวฝรั่งกับบัวผัน จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้ลูกผสมเป็นบัวฝรั่งที่มีดอกสีน้ำเงินต้นแรกของโลก ตั้งชื่อว่า สยามบลูฮาร์ดดี้ ทำให้ได้รับรางวัล “Hall of Fame” จากสมาคมบัวและไม้น้ำสากลเมื่อปี ๒๕๕๒ ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดในแวดวงนักปรับปรุงพันธุ์และผสมพันธุ์บัวทั่วโลก

ถึงวันนี้ อ.ไพรัตน์ยังคงมุ่งมั่นและมีความฝันจะผสมพันธุ์บัวให้ได้บัวพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีลักษณะสวยงามแปลกต่างไปจากเดิม ซึ่งเขาเคยให้ทรรศนะว่า เป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ทางพันธุศาสตร์และอารมณ์ศิลป์ควบคู่กัน

 

จากเมล็ดที่ฝังอยู่ใต้โคลนตม ก็ค่อย ๆ แตกก้านชูใบ ชูดอกขึ้นแย้มบานเหนือผิวน้ำ ให้ผู้คนประจักษ์ถึงความงามของดอกบัว

บัวได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้น้ำ” จากดอกบัวที่มีลักษณะและสีสันงดงามบริสุทธิ์ ให้ความรู้สึกลึกซึ้ง ดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี ทั้งเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญและผูกพันอยู่ในตำนานของศาสนาต่าง ๆ ทั้งศาสนาพราหมณ์ ฮินดู รวมทั้งศาสนาพุทธ

สำหรับคนไทยใช้ดอกบัวสำหรับบูชาพระ และรู้จักคุ้นเคยกับบัวหลากหลายพันธุ์มาตั้งแต่อดีต เช่น บัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อน บัวขาบ บัวสัตตบรรณ จงกลนี ฯลฯ

ทว่าหากแบ่งตามหลักพฤกษศาสตร์ บัวจัดว่าเป็นพืชน้ำที่เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี พบได้ทั้งในภูมิอากาศเขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตหนาว ลำต้นมีหลายแบบ ทั้งเป็นเหง้า เป็นไหล หรือเป็นหัวอยู่ในดินใต้น้ำ

นักพฤกษศาสตร์จำแนกบัวออกเป็น ๒ วงศ์ (Family) ได้แก่ บัววงศ์ Nelumbonaceae และบัววงศ์ Nymphaeaceae

บัวในวงศ์ Nelumbonaceae มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Lotus บัววงศ์นี้มีเพียงสกุล (Genus) เดียว คือ สกุล Nelumbo เป็นบัวที่มีก้านแข็ง คนไทยเรียกบัวในวงศ์นี้ว่า บัวหลวง หรือ ปทุมชาติ

ส่วนบัววงศ์ Nymphaeaceae มีชื่อสามัญคือ Waterlily หรือที่คนไทยเรียกว่า บัวสาย หรือ อุบลชาติ เป็นบัวที่มีก้านอ่อน มีถิ่นกำเนิดทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น บัวในวงศ์นี้ประกอบด้วย ๖ สกุล ได้แก่ Barclaya, Euryale, Nuphar, Nymphaea, Ondinea และ Victoria

อ.ไพรัตน์บอกกับเราว่า ความสนใจหลักของเขาอยู่ที่บัวสกุล Nymphaea เนื่องจากเป็นสกุลที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์และมีความสวยงาม จนคนนิยมปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับกันทั่วไป

บัวสกุล Nymphaea ยังแบ่งออกเป็น ๖ สกุลย่อย (Subgenus) ได้แก่

สกุลย่อย Anecphya เช่น พวกบัวยักษ์ออสเตรเลีย

สกุลย่อย Brachyceras ก็คือพวกบัวผัน บัวเผื่อน บัวจงกลนี ของไทย

สกุลย่อย Confluentes เป็นบัวยักษ์ออสเตรเลียอีกพวกหนึ่ง

สกุลย่อย Hydrocallis เป็นบัวเขตอบอุ่น ดอกบานกลางคืน

สกุลย่อย Lotos เป็นบัวเขตร้อน ดอกบานกลางคืน หรือคือบัวกินสายของบ้านเรา

และสกุลย่อย Nymphaea ซึ่งพ้องกับชื่อสกุล เป็นบัวเขตอบอุ่น ดอกบานกลางวัน มีชื่อสามัญว่า Hardy Waterlily ที่คนไทยเรียกบัวกลุ่มนี้ว่า “บัวฝรั่ง”

ทุกวันนี้บัวที่ อ.ไพรัตน์ปลูกเลี้ยงและผสมพันธุ์ ก็คือ บัวฝรั่ง และบัวผัน ซึ่งต่างก็เป็นสกุลย่อยของบัวในสกุล Nymphaea นั่นเอง

ไพรัตน์ ทรงพานิช ขณะกำลังใช้พู่กันเบอร์เล็กกวนเกสรตัวผู้ที่ตัดจากบัวต้นพ่อมาใส่ในจานยอดเกสรตัวเมียของบัวต้นแม่ เป้าหมายของนักผสมพันธุ์บัวก็คือบัวพันธุ์ใหม่ที่สวยงามและแปลกต่างจากเดิม (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

 

เช้าวันอาทิตย์ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ เรามีโอกาสติดตาม อ.ไพรัตน์เข้าไปยังพื้นที่แปลงปลูกและผสมพันธุ์บัวที่เขาทำงานอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี

ที่ดินผืนนี้มีขนาดประมาณ ๑๐ ไร่ ขุดบ่อปลูกบัวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียงรายเป็นระเบียบ เจ้าของคือ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ผู้รอบรู้เรื่องการปลูกเลี้ยงบัวของเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ อ.ไพรัตน์มาตั้งแต่ต้น

อ.ไพรัตน์เล่าว่าเขาเรียนจบจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเข้าทำงานที่สถาบันวิจัยยาง ซึ่งขณะนั้น ดร.เสริมลาภดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่ตอนนั้นเขายังไม่มีความสนใจเรื่องบัวแต่อย่างใด

งานอดิเรกที่ อ.ไพรัตน์สนใจอย่างจริงจังมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยคือการถ่ายภาพ เขาเคยส่งภาพถ่ายเข้าประกวดและได้รับรางวัลอยู่เสมอ

กระทั่งในปี ๒๕๔๑ เขาได้ไปถ่ายภาพงานรับปริญญาให้บุคคลที่นับถือ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ทำให้มีโอกาสได้เห็นบัวผันและบัวฝรั่งหลากหลายพันธุ์ที่ปลูกใส่อ่างเป็นไม้ประดับสถานที่

อ.ไพรัตน์เกิดความประทับใจความสวยงามของบัวฝรั่งพันธุ์เพอรีส์ไฟร์โอปอลตั้งแต่แรกเห็น จุดประกายให้เขาอยากหาบัวพันธุ์นี้มาเลี้ยงบ้าง

“ตอนนั้นประทับใจบัวฝรั่งดอกสีชมพูต้นนี้ ชอบทั้งทรงดอกและสีสัน แต่ไม่รู้เลยว่าเป็นบัวพันธุ์อะไร ภายหลังจึงมารู้ว่าเพอรีส์ไฟร์โอปอลเป็นบัวที่เคยได้รับรางวัลที่ ๑ ของสมาคมบัวและไม้น้ำสากล”

เมื่อเขานำภาพถ่ายบัวต้นนั้นไปสอบถาม ดร.เสริมลาภ ผู้อาวุโสจึงมอบบัวเพอรีส์ไฟร์โอปอลให้แก่ อ.ไพรัตน์มาเลี้ยงเป็นต้นแรก

หลังจากนั้น อ.ไพรัตน์จึงเสาะหาบัวฝรั่งพันธุ์อื่น ๆ มาปลูก ทั้งหาซื้อมาจากแหล่งต่าง ๆ และได้รับการแบ่งปันจาก ดร.เสริมลาภ พร้อมกันนั้นก็ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับบัวอย่างจริงจัง ลงมือเก็บข้อมูลเรื่องปัจจัยการออกดอกของบัวแต่ละพันธุ์ที่เลี้ยงไว้

ก่อนจะเริ่มทดลองผสมพันธุ์บัวเมื่อประมาณปี ๒๕๔๖ ผ่านการลองผิดลองถูก หาความรู้ทั้งจากตำราและในอินเทอร์เน็ต ลงมือเก็บข้อมูลการผสมพันธุ์แต่ละครั้งอย่างเป็นระบบ ผ่านมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี อ.ไพรัตน์เผยว่าเขาผสมพันธุ์บัวจนติดฝักแล้วกว่า ๔๐๐ ฝัก เพาะเลี้ยงจนเติบโตประมาณ ๙๐๐ ต้น ในจำนวนนี้ได้คัดเลือกต้นที่มีดอกลักษณะแปลกใหม่สวยงามเพื่อไปจดทะเบียนเป็นบัวพันธุ์ใหม่กับสมาคมบัวและไม้น้ำสากล จำนวน ๑๓ พันธุ์ ทั้งลูกที่เกิดจากบัวฝรั่งด้วยกัน และลูกที่เกิดจากการผสมข้ามสกุลย่อยระหว่างบัวฝรั่งกับบัวผัน ได้แก่

แทนขวัญ (Tan-khwan), รัตนอุบล (Rattana Ubol), พิงค์ริบบอน (Pink Ribbon), มณีเรด (Manee Red), มิสสยาม (Miss Siam), สุปราณีพิงค์ (Supranee Pink), แทนพงศ์ (Tanpong), สยามบลูฮาร์ดดี้ (Siam Blue Hardy)
ฯลฯ

วันที่เราติดตาม อ. ไพรัตน์มาถึงแปลงปลูกบัวที่จังหวัดปทุมธานี ก็ได้พบบัวหลากพันธุ์เหล่านั้นปลูกอยู่ในบ่อ หลายต้นกำลังออกดอกสีสวยอ่อนหวาน ให้ความรู้สึกชื่นบานแก่ผู้พบเห็น

 

ภายในพื้นที่แห่งนี้ขุดบ่อปลูกบัวประมาณ ๑๐ บ่อ แต่ละบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒๐x๓๐ เมตร น้ำในบ่อลึกระดับหัวเข่า และมีหมายเลขกำกับอยู่ทุกบ่อ

อ.ไพรัตน์บอกว่าบ่อปลูกบัวที่เขาผสมพันธุ์ขึ้นมาคือบ่อหมายเลข ๓ และ ๖ ซึ่งอยู่ติดกัน

เช้าวันนั้นอากาศเย็นสดชื่น พวกเราเดินตามคันดินไปที่บ่อหมายเลข ๓

บัวในบ่อไม่ได้ปลูกอย่างสะเปะสะปะ หากมีการจัดระเบียบโดยใช้หลักไม้ไผ่สูงพ้นน้ำปักเรียงเป็นแถวตามแนวยาวของบ่อ ซ้อนกันลงมาหลายแถว โดยบัวแต่ละต้นถูกปลูกอิงอยู่ติดกับหลักไม้ไผ่แต่ละลำ นอกจากนั้นบัวพันธุ์เดียวกันยังถูกปลูกเรียงเป็นแถวเดียวกันด้วย

เมื่อเรายืนอยู่ที่ขอบบ่อด้านยาวฝั่งหนึ่ง ก็เห็นว่าบัวแถวแรกคือ สุปราณีพิงค์ ส่วนแถวถัดขึ้นไปคือ รัตนอุบล, พิงค์ริบบอน, ควีนสิริกิติ์, แทนพงศ์ และมณีเรด…ตามลำดับ

อ.ไพรัตน์เดินมาที่บ่อปลูกบัว ก็เพื่อจะสาธิตวิธีการผสมพันธุ์บัวให้เราได้ชม ขั้นแรกคือการเลือกดอกบัวที่หมายตาไว้แล้วว่าจะใช้เป็นต้นพ่อและต้นแม่

กวาดตามองไปในบ่อมีบัวหลายต้นที่กำลังชูดอกเบ่งบาน

ดอกบัวที่งดงามในสายตาคนเรานั้น แท้จริงแล้วมันกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่หลักคือการสืบพันธุ์

ดอกบัวเป็นดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวเมีย หรือ stigma อยู่บริเวณใจกลางดอกซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่ง หรือเรียกว่าจานยอดเกสรตัวเมีย ภายในแอ่งจะมีน้ำใส ๆ เรียกว่า น้ำต้อย หรือ nectar ซึ่งจะปรากฏอยู่เฉพาะในวันแรกที่ดอกบาน ส่วนเกสรตัวผู้ หรือ stamen เรียงรายเป็นวงรอบแอ่งเกสรตัวเมีย ถัดมาเป็นวงของกลีบดอก และกลีบเลี้ยงอยู่ชั้นนอกสุด

แม้ว่าบัวมีดอกแบบสมบูรณ์เพศ คือมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย แต่ดอกบัวในสกุล Nymphaea มีกลไกป้องกันการผสมตัวเองในดอกเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า โพรโตจีนัส (protogynous) นั่นคือเกสรตัวเมียพร้อมที่จะผสมเฉพาะในวันแรกที่ดอกบาน หลังจากนั้นน้ำต้อยภายในแอ่งจะเหือดแห้งไป ส่วนเกสรตัวผู้พร้อมจะกระจายละอองเกสรในวันที่ ๒ และ ๓ ดังนั้นการถ่ายละอองเกสรของบัวจึงเป็นแบบผสมข้ามดอก โดยมีลมหรือแมลงเช่นผึ้งเป็นผู้ช่วยตามธรรมชาติในการถ่ายละอองเกสรตัวผู้จากดอกหนึ่งไปยังเกสรตัวเมียอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นผลพวงระหว่างที่พวกมันบินเวียนว่อนหาน้ำหวานจากเกสรดอกบัว

หากเปรียบเทียบกันแล้วนักผสมพันธุ์บัวเช่น อ.ไพรัตน์ ก็มีบทบาทในการช่วยถ่ายและผสมเกสรของดอกบัวเช่นกัน เพียงแต่กระบวนการทำงานของพวกเขาจะต้องคัดเลือกดอกบัวที่จะใช้เป็น “ต้นพ่อ” และ “ต้นแม่” อย่างเฉพาะเจาะจง ที่คาดว่าเมื่อผสมแล้วจะได้ลูกที่มีลักษณะดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อ.ไพรัตน์อธิบายให้ฟังว่า เมื่อหมายตาไว้แล้วว่าจะใช้ดอกบัวจากต้นไหนเป็นต้นพ่อและต้นแม่ ก็ต้องใช้ถุงผ้าแพรโปร่งมีรูระบายอากาศ ขนาดประมาณฝ่ามือไปคลุมดอกบัวนั้นตั้งแต่เป็นดอกตูมยังไม่แย้มบาน โดยมัดปากถุงไว้กับก้านดอก เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาผสมเกสรตามธรรมชาติ เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมจึงดำเนินการถ่ายละอองเกสรตัวผู้จากต้นพ่อ ไปผสมกับเกสรตัวเมียของต้นแม่

ดังเช่นในคราวนี้เป็นการผสมพันธุ์บัวข้ามสายสกุลย่อย อ.ไพรัตน์เลือกบัวที่ใช้เป็นต้นแม่ คือ มิสสยาม บัวฝรั่งออกดอกสีชมพูสดที่ อ.ไพรัตน์ผสมพันธุ์ขึ้นมาเอง ส่วนต้นพ่อคือ โคโลราตา (Colorata) ซึ่งเป็นบัวผันพันธุ์พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ออกดอกสีน้ำเงินอมม่วง

มิสสยามต้นที่เลือกไว้ ปลูกอยู่ในบ่อหมายเลข ๖ ดอกของมันเพิ่งบานเป็นวันแรก มีถุงผ้าแพรโปร่งคลุมไว้เรียบร้อยแล้ว มองเห็นกลีบดอกสีชมพูอยู่ภายใน

ส่วนบัวโคโลราตาปลูกอยู่ในบ่อหมายเลข ๖ ดอกที่ถูกเลือกสำหรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้บานได้ ๒ วันแล้ว มีถุงผ้าแพรคลุมไว้เช่นกัน

อ.ไพรัตน์เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้น เดินลุยน้ำลึกระดับหัวเข่าลงไปในบ่อหมายเลข ๐ ตัดบัวโคโลราตาดอกนั้นขึ้นมาทั้งก้าน

พวกเราเดินจากบ่อหมายเลข ๐ ไปยังบ่อหมายเลข ๖ เขาจัดการดึงถุงแพรจากดอกบัวโคโลราตาแล้วเรียกเราเข้าไปดูในระยะใกล้ เห็นได้ว่าน้ำต้อยในแอ่งตรงกลางเหือดแห้งไปแล้ว แสดงว่าเกสรตัวเมียไม่สามารถผสมเกสรได้อีก ส่วนอับเรณูที่มีลักษณะเป็นก้านเรียวเล็กเรียงรายเป็นวงรอบแอ่งนั้น เมื่อเพ่งดูดี ๆ จะเห็นละอองเกสรตัวผู้เป็นผงสีเหลืองเล็กละเอียดเกาะอยู่ทั่วไป พร้อมสำหรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมียของดอกบัวมิสสยาม

อ.ไพรัตน์บรรจงใช้กรรไกรค่อย ๆ ตัดก้านอับเรณูให้ร่วงลงในช้อนกาแฟพลาสติกที่วางรองรับไว้ใกล้ ๆ

“เวลาตัดอับเรณู ต้องเบามือนิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ละอองเกสร (ตัวผู้) ร่วงออกจากอับเรณู”

ประมาณ ๙ โมงเช้าแดดยังไม่แรง อ.ไพรัตน์เดินลงไปในบ่อหมายเลข ๖ ที่ระดับน้ำสูงแค่เข่า มีกะละมังบรรจุเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับการผสมเกสรลอยน้ำตามไปด้วย ตรงไปยังบัวมิสสยามต้นแม่ที่ปลูกไว้บริเวณขอบบ่อ

เมื่อถอดถุงผ้าแพรคลุมดอกบัวสีชมพูสดออกแล้ว เขาก้มพิจารณาดูมันอยู่ครู่หนึ่ง มือขวาจับช้อนกาแฟที่บรรจุก้านอับเรณูยื่นเข้าไปใกล้ และใช้ฝ่ามือซ้ายป้องเพื่อกันลม พลิกช้อนกาแฟเทให้ก้านอับเรณูของโคโลราตาร่วงลงไปในแอ่งน้ำต้อยใจกลางดอกบัวมิสสยาม จากนั้นหยิบพู่กันเบอร์เล็กจากกะละมังมากวนในแอ่งน้ำต้อยอย่างเบามือ ท่วงท่าคล้ายนักวาดรูปกำลังผสมสี แต่แท้จริงแล้วเป็นการใช้พู่กันกวนให้ละอองเกสรตัวผู้บนอับเรณูได้คลุกเคล้าและผสมกับเกสรตัวเมียได้อย่างถ้วนทั่ว

“เวลาจะเทอับเรณูลงไปในแอ่งน้ำต้อยของดอกต้นแม่ เราดูว่าถ้าอับเรณูมีปริมาณเหมาะสมอย่างนี้ก็เทลงไปทั้งหมดเลย ถ้าอับเรณูมีปริมาณมากเกินไป แล้วเรามีดอกต้นแม่ที่คลุมไว้ ๒ ดอก ก็อาจแบ่งอับเรณูเป็น ๒ ส่วน เมื่อเทลงไปแล้วใช้พู่กันกวนสักครู่ ให้เกสรเพศผู้กระจายไปทั่ว ๆ” อ.ไพรัตน์อธิบาย

หลังจากนั้นใช้ถุงผ้าแพรคลุมดอกบัวมิสสยามอีกครั้ง ป้องกันไม่ให้มีแมลงมาถ่ายละอองเกสรซ้ำอีก แล้วเขียนรายละเอียดในการผสมพันธุ์ ได้แก่ ชื่อแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ รวมทั้งวันและเวลาในการผสมพันธุ์ไว้ในป้ายบันทึก ผูกไว้กับก้านดอก สำหรับใช้ในการเก็บข้อมูล

อ.ไพรัตน์ใช้เชือกผูกปากถุงผ้าแพรที่ก้านดอกบัวโยงไปมัดไว้กับหลักไม้ไผ่ของบัวมิสสยามต้นนั้น

“ดอกบัวจะบานอยู่ประมาณ ๓ วัน พอหุบแล้วอีก ๒-๓ วันจะค่อย ๆ จมลงใต้น้ำ เราเอาเชือกผูกไว้กับหลักไม้อย่างนี้ ดอกจะจมลงไม่ถึงพื้นดิน สามารถเก็บมันขึ้นมาดูได้ในภายหลัง”

เขาอธิบายต่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป ๒ สัปดาห์จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าดอกบัวเน่าแสดงว่าไม่มีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น แต่หากกลีบเลี้ยงและกลีบดอกยังคงอยู่ เมื่อลองบีบฐานรองดอกยังมีลักษณะแข็ง ก็แสดงว่าดอกบัวมีแนวโน้มจะ “ติดฝัก” นั่นคือในเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ต่อจากนั้น รังไข่ภายในฐานรองดอกจะขยายตัวเจริญเติบโตเป็นผลหรือฝัก (pod) ซึ่งมีเมล็ดอยู่ภายใน

สำหรับดอกบัวมิสสยามที่ อ.ไพรัตน์ลงมือผสมเกสรในวันนี้ คงต้องรอให้เวลาผ่านไป ๔ สัปดาห์ก็จะรู้ว่ามันติดฝักหรือไม่

 

โชคดีที่เราไม่ต้องรอไปถึง ๔ สัปดาห์จึงจะได้เห็นตัวอย่างของดอกบัวที่ผสมจนติดฝัก

พวกเรามาที่บ่อปลูกบัวหมายเลข ๖ ซึ่งอยู่ติดกับบ่อหมายเลข ๓ หลักไม้ไผ่ในตำแหน่งที่ปลูกบัวพันธุ์แทนขวัญต้นหนึ่งผูกป้ายบันทึกข้อมูลการผสมพันธุ์ติดอยู่ด้วย แสดงว่าแทนขวัญต้นนั้นได้รับการผสมพันธุ์แล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อ.ไพรัตน์เดินลงไปในบ่อ เก็บถุงผ้าแพรสีเขียวที่จมอยู่ใต้น้ำขึ้นมาให้เราดู

ข้อมูลในป้ายบันทึกระบุว่า ดอกบัวฝรั่งพันธุ์แทนขวัญที่ใช้เป็นต้นแม่ได้รับการผสมเกสรเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยใช้ละอองเกสรเพศผู้จากดอกของต้นพ่อ คือ มาดามวิลฟรองกอนเนีย (Madame Wilfron Gonnere) ซึ่งเป็นบัวฝรั่งเช่นกัน

เมื่อแกะเชือกรัดปากถุงผ้าแพรออก พบว่าภายในมีเมล็ดบัวทรงกลมขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มิลลิเมตร อยู่จำนวนมาก ปะปนกับเศษสิ่งสกปรกและซากพืช ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าฝักบัวได้แตกและเน่าเปื่อยไปแล้ว จึงเหลือแต่เมล็ดอยู่ภายในถุงผ้าแพร

ตามปรกติเมล็ดบัวจะถูกหุ้มด้วยเจลาติน ลักษณะเป็นวุ้นใส ทำหน้าที่ช่วยพยุงให้เมล็ดลอยน้ำ ในสภาพธรรมชาติเมล็ดบัวจะลอยไปไกลจากต้นแม่เพื่อแพร่ขยายพันธุ์

แต่สำหรับเมล็ดบัวในถุงผ้าแพรนี้ อ.ไพรัตน์บอกว่าจะต้องนำไปล้างน้ำให้สะอาด ปราศจากสิ่งสกปรก จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะขนาดเล็กที่มีน้ำอยู่ประมาณ ๓/๔ และปิดฝาให้สนิท แล้วนำไปเก็บรักษาในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ ๔-๕ องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย ๒ เดือน เพื่อทำลายการพักตัวของเมล็ด

“ที่เราต้องนำเมล็ดบัวแช่น้ำเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะตามธรรมชาติของบัวฝรั่งในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เมื่อพ้นฤดูหนาวเมล็ดบัวจะฝังตัวอยู่ใต้ดินโคลนเป็นเวลาประมาณ ๒ เดือนถึงค่อยงอก” อ.ไพรัตน์อธิบาย

เมื่อแช่เมล็ดในตู้เย็นครบกำหนดเวลาก็นำออกมาเพาะเป็นต้นอ่อน โดยนำเมล็ดฝังดินในภาชนะขนาดเล็ก เช่น ถ้วยไอศกรีม แล้วนำไปแช่น้ำ พอต้นงอกและเริ่มโตขึ้น ก็ย้ายไปปลูกในภาชนะที่ใหญ่ขึ้น ๆ เป็นลำดับ กระทั่งบัวเติบโตแข็งแรงพอที่จะย้ายลงไปปลูกในบ่อ

โดยเฉลี่ยแล้วบัวต้นหนึ่งนับแต่เริ่มต้นเพาะเมล็ดจนกระทั่งเติบโตพอจะให้ดอก ใช้เวลาประมาณ ๑ ปี

“ขั้นตอนการผสมพันธุ์ไม่ยากเท่าไรหรอก แต่ยากในขั้นตอนการเลี้ยง การอนุบาล กว่าบัวจะโตจนให้ดอก” อ. ไพรัตน์กล่าว

ระหว่างนั้นเขานำเมล็ดบัวจากถุงผ้าแพรที่เพิ่งเก็บขึ้นมาจากบ่อไปล้างที่ก๊อกน้ำประปา แล้วนำไปแช่ในภาชนะพลาสติกขนาดเล็กใส่น้ำ คะเนด้วยสายตาดูว่ามีจำนวนประมาณ ๕๐๐ เมล็ด

ตามปรกติแล้วอัตราหรือเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดในแต่ละฝักจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คู่ผสม ความสมบูรณ์ของฝักหรือเมล็ด กรรมวิธีการเพาะ ฯลฯ

ยกตัวอย่างเช่น อ.ไพรัตน์เคยจับคู่ผสมพันธุ์บัวฝรั่ง โดยใช้เมย์ลา (Mayla) เป็นต้นแม่ และใช้เพอรีส์ไฟร์โอปอล เป็นต้นพ่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓

ผลปรากฏว่าดอกบัวเมย์ลาได้รับการผสมพันธุ์จนติดฝัก ได้เมล็ด ๕๐๐ กว่าเมล็ด

เมื่อนำเมล็ดไปเพาะ พบว่ามีอัตราการงอกถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นคือสามารถเพาะจนงอกเป็นต้นอ่อนได้ราว ๔๕๐ ต้น

ทว่าในเวลา ๑ ปีต่อจากนั้น จากต้นอ่อนกว่า ๔๐๐ ต้นสามารถเลี้ยงให้รอดจนกระทั่งเติบโตและออกดอกได้เพียง ๗๒ ต้น

และเมื่อบัวลูกผสมทั้ง ๗๒ ต้นถูกย้ายไปเลี้ยงในบ่อ ก็ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ที่ดี โดยพิจารณาจากความสวยงามของดอก ทั้งในแง่รูปทรงและสีสัน ความแปลกใหม่ ดอกดก ลวดลายและสีของใบ ฯลฯ

สุดท้ายแล้วมีลูกผสมเพียง ๓ ต้นที่มีลักษณะดีเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับการตั้งชื่อและนำไปขอจดทะเบียนพันธุ์บัวกับ International Waterlily and Water Gardening Society หรือสมาคมบัวและไม้น้ำสากล ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นบัวพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ สุปราณีพิงค์ พิงค์ริบบอนและมิสสยาม

หนึ่งในขั้นตอนการถ่ายละอองเกสร

รังไข่ในฐานรองดอกเจริญเติบโตเป็นฝักที่มีเมล็ดอยู่ภายใน

ในขณะที่การขยายพันธุ์บัวด้วยการแยกหน่อ ลูกที่เกิดใหม่จะมีลักษณะเช่นเดียวกับต้นแม่ทุกประการ แต่การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสรระหว่างต้นพ่อและต้นแม่ จะทำให้ได้ลูกผสมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย

ด้วยเหตุนี้นักผสมพันธุ์บัวจึงเลือกใช้วิธีการผสมเกสรระหว่างต้นพ่อและต้นแม่ เพื่อสร้างสรรค์บัวลูกผสมที่สวยงาม แปลกใหม่กว่าเดิม

อ.ไพรัตน์เผยว่า หลักสำคัญข้อหนึ่งของการจับคู่ผสมพันธุ์ก็คือ ควรเลือกต้นพ่อและต้นแม่ที่ให้ดอกมีลักษณะแตกต่างกัน หรือกล่าวอีกอย่างคือทั้งคู่มีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน จะทำให้ได้ลูกผสมที่มีลักษณะแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

ดังเช่นเมื่อ อ.ไพรัตน์ทำการผสมพันธุ์ระหว่างต้นแม่คือ เมย์ลา ซึ่งเป็นบัวฝรั่งออกดอกสีชมพู กับต้นพ่อคือ มาดามวิลฟรองกอนเนีย บัวฝรั่งซึ่งกลีบดอกวงนอกมีสีขาว กลีบดอกวงในสีชมพู โดยรวมแล้วดอกของพ่อแม่คู่นี้มีสีสันและรูปทรงที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ภายหลังเมื่อดอกบัวต้นแม่ติดฝักแล้วนำเมล็ดมาเพาะ สามารถเลี้ยงให้เติบโตกระทั่งออกดอกได้ ๔๒ ต้น

ผลปรากฏว่าลูกผสมทั้ง ๔๒ ต้น ให้ดอกทั้งสีขาว ชมพู และแดง รวมทั้งยังมีรูปทรงของดอกที่แตกต่างกันไป

ในจำนวนนี้มี ๓ ต้นที่ผ่านการคัดเลือก นำไปตั้งชื่อและจดทะเบียนเป็นบัวพันธุ์ใหม่กับสมาคมบัวและไม้น้ำสากล ได้แก่ แทนพงศ์ รัตนอุบล และสยามจัสมิน

อ.ไพรัตน์ยังบอกกับเราว่า งานของนักผสมพันธุ์บัวนั้นต้องอาศัยความรู้ทางพันธุศาสตร์ของพืชบวกกับจินตนาการ นั่นเป็นเพราะเขาต้องรู้ว่าจะต้องเลือกบัวต้นพ่อและแม่คู่ไหนมาผสมพันธุ์ จึงจะได้ลูกผสมที่มีลักษณะตามที่ต้องการ

แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์จากการผสมพันธุ์บัวเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด

บางครั้งการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อแม่คู่หนึ่งอาจได้ลูกผสมที่ไม่มีลักษณะตามต้องการสักต้นเดียว

ทว่าบางครั้งสิ่งที่เหนือความคาดหมายก็กลับมีค่ากว่าที่คิด

อ.ไพรัตน์ชี้ให้เราดูดอกบัวสีแดงจัดเบ่งบานเหนือผิวน้ำในบ่อหมายเลข ๓ ชื่อของบัวฝรั่งต้นนี้คือ มณีเรด เป็นลูกผสมระหว่างต้นแม่คือ โอโดราตา ลูเซียนา บัวฝรั่งที่ให้ดอกสีชมพู และต้นพ่อ มาดามวิลฟรองกอนเนีย

“การผสมพันธุ์ระหว่างบัวที่ให้ดอกสีชมพูและสีขาว ย่อมคาดว่าลูกผสมน่าจะให้ดอกสีชมพูหรือสีขาว แต่มณีเรดกลับให้ดอกสีแดงสด ก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการคาดคิด”

อ.ไพรัตน์จับคู่ผสมพันธุ์ต้นพ่อและแม่ของมณีเรดเมื่อปี ๒๕๔๖ กระทั่งมันเริ่มให้ดอกเมื่อปี ๒๕๔๗

มณีเรดนอกจากมีสีแดงสดสะดุดตา รูปทรงของดอกยังสวยงาม และมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันจำนวนมาก ลักษณะเด่นเหล่านี้ทำให้มันสามารถคว้ารางวัลที่ ๑ ของสมาคมบัวและไม้น้ำสากลมาครอง เมื่อปี ๒๕๕๔

“คุณสมบัติของบัวที่จะได้รับรางวัล กรรมการจะดูหลายอย่าง เช่น form หรือรูปทรงของดอก ดูการเรียงซ้อนของกลีบดอก จำนวนกลีบดอก ถ้ายิ่งเยอะยิ่งดี ดูสีสันของดอก แล้วก็ลักษณะของใบ เช่น ใบที่มีลวดลายสวยงาม เป็นต้น” อ.ไพรัตน์อธิบาย

นอกจากมณีเรดแล้ว ยังมีบัวลักษณะโดดเด่นอีกหลายพันธุ์ที่ อ. ไพรัตน์ผสมขึ้นแล้วได้รับรางวัลต่าง ๆ

ในบรรดาบัวเหล่านี้มีอยู่ต้นหนึ่งที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับโลก และนำความภาคภูมิใจอย่างสูงมาสู่ผู้ที่สร้างสรรค์มันขึ้นมา

บัวต้นนั้นคือ สยามบลูฮาร์ดดี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบัวฝรั่งออกดอกสีน้ำเงินต้นแรกของโลก

 

ตามปรกติบัวฝรั่งซึ่งเป็นบัวเขตอบอุ่นจะออกดอกเฉพาะสีขาว ชมพู แดง เหลือง และส้มเรื่อ ๆ เท่านั้น ส่วนบัวที่ออกดอกสีน้ำเงินพบเฉพาะบัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน เช่น บัวผัน

ดังนั้นเองการผสมพันธุ์ให้ได้บัวฝรั่งออกดอกสีน้ำเงิน จึงเป็นความใฝ่ฝันและความท้าทายอย่างยิ่งของนักปรับปรุงพันธุ์บัวทั่วโลกมานับร้อยปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ

นับจาก Joseph Bory Latour-Marliac นักผสมพันธุ์บัวฝรั่งคนแรกของโลกชาวฝรั่งเศส เคยบันทึกไว้ในวารสาร The Garden ของ Royal Horticultural Society แห่ง
สหราชอาณาจักร ปี ค.ศ.๑๘๙๓ และ ๑๘๙๙ ว่า เขาได้ทำการผสมพันธุ์บัวฝรั่งกับบัวผัน เพื่อให้ได้ลูกผสมบัวฝรั่งสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก แต่ยังทำไม่สำเร็จ หากใครทำได้ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

แม้ต่อมามีนักพฤกษศาสตร์ออกมาวิเคราะห์ว่า การผสมข้ามระหว่างบัวฝรั่งและบัวเขตร้อนเป็นเรื่องที่มีโอกาสประสบผลสำเร็จน้อย เพราะทั้งคู่มีพันธุกรรมต่างกัน

ถึงอย่างนั้นยังมีนักผสมพันธุ์บัวคนแล้วคนเล่าที่ยังไม่ละทิ้งแรงบันดาลใจ มุ่งหวังว่าจะเป็นคนแรกที่สามารถสร้างสรรค์บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินต้นแรกของโลกให้ได้

หนึ่งในนั้นย่อมมี อ.ไพรัตน์ ทรงพานิช รวมอยู่ด้วย

เขาตั้งใจศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง ก่อนจะลงมือทำ “งานใหญ่” ชิ้นนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖

เริ่มต้นด้วยการคัดเลือกบัวที่จะใช้เป็นต้นแม่และต้นพ่อ

บัวต้นแม่นั้นใช้บัวสกุลย่อย Nymphaea หรือบัวฝรั่งจำนวน ๕ พันธุ์ ซึ่งมีประวัติการติดฝักง่าย ดอกสวยงาม และให้ดอกดก เป็นเกณฑ์ ได้แก่ สุปราณีพิงค์, เมย์ลา, มาดามวิลฟรองกอนเนีย, เพอรีส์ไฟร์โอปอล และสเปลนดิดา (Splendida)

บัวต้นพ่อใช้บัวจาก ๒ สกุลย่อย คือ Anecphya ได้แก่ พวกบัวยักษ์ออสเตรเลีย และ Brachyceras ได้แก่พวกบัวผัน โดยคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ที่ให้ดอกกลุ่มสีน้ำเงิน เพื่อหวังผลการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของดอกสีน้ำเงินจากต้นพ่อสู่รุ่นลูก

โดยรวมแล้ว อ.ไพรัตน์คัดเลือกบัวที่ใช้เป็นต้นพ่อจำนวน ๒๒ พันธุ์ แบ่งเป็นบัวในสกุลย่อย Anecphya จำนวน ๒ พันธุ์ และจากสกุลย่อย Brachyceras อีก ๒๐ พันธุ์

เดือนมกราคม ๒๕๔๖ เขาเริ่มลงมือปลูกบัวต้นพ่อและต้นแม่ลงในแปลงปลูก โดยใช้ต้นแม่ พันธุ์ละ ๑๐ ต้น และใช้ต้นพ่อ พันธุ์ละ ๒ ต้น

จากนั้นทำการผสมพันธุ์บัวในช่วงระหว่างปี ๔๖-๔๘ การจับคู่ผสมขึ้นอยู่กับความพร้อมของดอกที่บานในแต่ละวัน

อ.ไพรัตน์ยังบันทึกข้อมูลการทำงานโดยละเอียด ในช่วงระยะเวลา ๓ ปีนี้ เขาได้ทำการถ่ายละอองเกสรเพื่อผสมพันธุ์บัวรวมทั้งสิ้น ๑,๒๓๐ ครั้ง จากบัวต้นพ่อและต้นแม่ทั้ง ๙๔ ต้น

ผลของการทำงานหนัก กลับพบว่ามีบัวเพียงคู่เดียวที่ผสมแล้วติดฝัก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘

นั่นคือคู่ผสมระหว่าง สุปราณีพิงค์ บัวฝรั่งออกดอกสีชมพู กับนางกวักฟ้า บัวผันออกดอกสีน้ำเงินอมม่วง

ฝักที่ได้มามี ๒๔๔ เมล็ด เมื่อนำไปเพาะปรากฏว่าสามารถงอกเป็นต้นอ่อนได้ ๓๙ ต้น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การงอกได้ ๑๖ เปอร์เซ็นต์

ในจำนวนนี้มี ๒๐ ต้นที่แข็งแรงและเจริญเติบโตกระทั่งออกดอกในช่วงปี ๒๕๕๐

บัวลูกผสมชุดนี้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่มที่ออกดอกสีชมพูเหมือนต้นแม่ จำนวน ๑๗ ต้น มีตั้งแต่ดอกสีชมพูอ่อนไล่ไปจนถึงสีชมพูเข้ม และอีกกลุ่มเป็นบัวที่ออกดอกสีน้ำเงินอมม่วง จำนวน ๓ ต้น ซึ่งช่วยจุดประกายความหวังให้เรืองรองขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามบัวทั้งกลุ่มสีชมพูและสีน้ำเงินได้ถูกคัดเลือกเพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ความเป็นลูกผสมก่อน ทั้งโดยการตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการสกัด DNA ไปตรวจสอบเครื่องหมายโมเลกุล ที่ห้องปฏิบัติการพันธุ-ศาสตร์โมเลกุลพืช ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควบคุมการตรวจสอบโดย ผศ.ดร.วิภา หงษ์ตระกูล

การตรวจสอบทั้ง ๒ วิธีการ แสดงให้เห็นว่าลูกผสมมีลักษณะภายนอกและลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากทั้งนางกวักฟ้าและสุปราณีพิงค์ ช่วยยืนยันได้ว่าลูกผสมเหล่านี้เกิดจากการผสมข้ามของบัวสกุลย่อยจริง

ขณะที่คำถามสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ในเมื่อลูกผสมเหล่านี้เกิดจากบัวผันและบัวฝรั่ง เหตุใดจึงสรุปว่าพวกมันเป็นบัวฝรั่ง

คำตอบในเรื่องนี้คือ บัวลูกผสมมีลักษณะบางอย่างเหมือนต้นแม่ ได้แก่ มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้าและเจริญในแนวนอน มีขอบใบเรียบ และมีผนังคาร์เพลในรังไข่เชื่อมติดกัน ซึ่งล้วนเป็นลักษณะสำคัญของบัวฝรั่งตามที่นักพฤกษศาสตร์ใช้จำแนก

จากการตรวจสอบทั้งหมดช่วยยืนยันว่า บัวลูกผสมที่ให้ดอกสีน้ำเงินอมม่วงทั้ง ๓ ต้น ซึ่งในเบื้องต้นได้จำแนกแต่ละต้นตามรหัสอักษรย่อ ได้แก่ ต้น H3, H16 และ H18 เป็นบัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินชุดแรกของโลก

ทว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างทั้ง ๓ ต้น พบว่าบัวลูกผสม H3 มีรูปทรงดอกที่สวยงามและมีจำนวนกลีบดอกมากกว่าต้นที่เหลือ อ.ไพรัตน์จึงคัดเลือกต้นนี้ไปจดทะเบียนพันธุ์บัวกับสมาคมบัวและไม้น้ำสากล โดยตั้งชื่อว่า Nymphaea “Siam Blue Hardy” หรือสยามบลูฮาร์ดดี้

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ สมาคมบัวและไม้น้ำสากลได้มอบรางวัล Hall of Fame ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักปรับปรุงพันธุ์บัวทั่วโลก ให้แก่ อ.ไพรัตน์ ทรงพานิช จากผลงานที่สามารถให้กำเนิดสยามบลูฮาร์ดดี้ บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินต้นแรกของโลก ทั้งยังเป็นการผสมพันธุ์บัวข้ามสายสกุลย่อยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

ถึงแม้สยามบลูฮาร์ดดี้จะสร้างปรากฏการณ์ขึ้นในแวดวงบัวระดับโลก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมันมีอยู่เพียงต้นเดียว
แถมยังไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ ไม่ว่าด้วยการผสมเกสรกับต้นอื่น หรือขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ

รวมทั้ง ผศ.ดร.วิภา หงษ์ตระกูล จากภาควิชาพฤกษ-ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำชิ้นส่วนบริเวณฐานรองดอกของสยามบลูฮาร์ดดี้ไปทำการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์

“การเพาะเนื้อเยื่อจะทำให้ได้ต้นใหม่ที่เหมือนเดิม” อ.ไพรัตน์อธิบาย “แต่ยังไม่ทันทำสำเร็จ สยามบลูฮาร์ดดี้ก็ตายเสียก่อน”

ความสูญเสียครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔ จากเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ที่ทุกคนคงยังไม่ลืม

เมื่อกระแสน้ำเริ่มล้นเอ่อเข้ามาในพื้นที่ คนงานได้ย้ายสยามบลูฮาร์ดดี้ใส่กะละมังหนีน้ำท่วมเข้ามาในบ้านได้ทัน มันจึงรอดจากการจมหายไปพร้อมบัวพันธุ์อื่น ๆ ใต้ระดับน้ำท่วมที่สูงจากพื้นดินถึง ๓ เมตร

อย่างไรก็ตามสยามบลูฮาร์ดดี้ในกะละมังปลูกถูกวางไว้บนอ่างล้างหน้า อ.ไพรัตน์เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า

“สยามบลูฮาร์ดดี้ถูกย้ายมาไว้ในบ้านเป็นเวลานาน มันจึงได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ แล้วช่วงนั้นหอยเชอรี่เยอะมาก อาจลงไปกัดกินยอด ทำให้มันตายไปในที่สุด”

ด้วยเหตุนี้เองบัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินต้นแรกและต้นเดียวในโลกจึงสาบสูญไปนับจากนั้น

 

หลังจากประสบผลสำเร็จในการจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างบัวฝรั่งและบัวผัน จนได้บัวลูกผสมพันธุ์ใหม่อย่างสยามบลูฮาร์ดดี้ เป็นแรงผลักดันให้ อ.ไพรัตน์ลงมือผสมพันธุ์บัวข้ามสายสกุลย่อยต่อมาอีกหลายครั้ง

ดังเช่นการผสมพันธุ์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง อ.ไพรัตน์เลือกบัวฝรั่งพันธุ์โปรดของเขาคือ เพอรีส์ไฟร์โอปอล เป็นต้นแม่ และใช้บัวผัน นางกวักฟ้า เป็นต้นพ่อ

การจับคู่ครั้งนี้ไม่สร้างความผิดหวัง ในบรรดาบัวลูกผสมที่เกิดขึ้นมีอยู่ต้นหนึ่งลักษณะโดดเด่น ออกดอกสีม่วงสวยงาม ทรงดอกรูปถ้วย มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันจำนวน ๒๔ กลีบ โดยกลีบดอกมีสีม่วงตรงปลายกลีบ โคนกลีบดอกมีสีขาว กลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียว

มันถูกสกัด DNA ไปตรวจสอบเครื่องหมายโมเลกุล ยืนยันได้ว่าเป็นบัวลูกผสมข้ามสายสกุลย่อยที่เกิดจากพ่อแม่คู่นี้จริง

ทั้งยังมีลักษณะสำคัญของบัวฝรั่ง คือ มีลำต้นใต้ดินแบบเหง้า ขอบใบเรียบ และมีผนังคาร์เพลในรังไข่เชื่อมติดกัน

จึงสรุปได้ว่าลูกผสมเป็นบัวฝรั่งออกดอกสีม่วง ซึ่งถือว่าเป็นดอกสีใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในบัวฝรั่ง

สิ่งที่สร้างความปลื้มปีติให้แก่ อ.ไพรัตน์อย่างยิ่งก็คือ ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้แก่บัวลูกผสมพันธุ์ใหม่ต้นนี้ว่า บัวควีนสิริกิติ์ (Nymphaea “Queen Sirikit”)

นอกจากนั้นบัวควีนสิริกิติ์ยังสามารถแตกหน่อและขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ แตกต่างจากสยามบลูฮาร์ดดี้ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้

 

เมื่อลองถาม อ.ไพรัตน์ว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะผสมพันธุ์บัวสยามบลูฮาร์ดดี้ให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง

เขาตอบเราว่าไม่มีทาง

“ถึงจะใช้พ่อแม่คู่เดิม คือ สุปราณีพิงค์ และนางกวักฟ้า ก็จะได้ลูกผสมที่ไม่เหมือนเดิมอีก เช่น สีของดอกอาจใกล้เคียงกัน แต่รูปทรงของดอกก็จะผิดแผกกัน”

นั่นเป็นเพราะบัวลูกผสมนั้นเกิดขึ้นจากผลงานการสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างนักผสมพันธุ์บัวและธรรมชาติ

แม้ว่า อ.ไพรัตน์สามารถกำหนดการจับคู่ระหว่างบัวต้นพ่อและแม่ เพื่อให้ลูกผสมที่เกิดขึ้นมีลักษณะตามต้องการ

ทว่าการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมใด ๆ จากพ่อแม่ไปสู่ลูกนั้นเป็นกลไกซับซ้อนของธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่อาจควบคุมได้

แต่ถึงแม้สยามบลูฮาร์ดดี้จะจากโลกของนักนิยมบัวอย่างไปแล้วไปลับ แต่บัวควีนสิริกิติ์คงช่วยยืนยันให้เห็นว่าฝีมือมนุษย์ย่อมสามารถสร้างสรรค์บัวพันธุ์ใหม่ที่สวยงามมีคุณค่าขึ้นได้อีก

อ.ไพรัตน์บอกกับเราว่า ความฝันของเขาในฐานะนักผสมพันธุ์บัวคือการสร้างสรรค์บัวฝรั่งที่มีดอกสีน้ำเงิน

ถึงแม้เคยทำสำเร็จแล้วในกรณีสยามบลูฮาร์ดดี้ แต่ก็เป็นบัวที่มีดอกสีน้ำเงินอมม่วง

ส่วนบัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินแท้ ยังไม่มีนักผสมพันธุ์บัวรายใดทำได้มาก่อน นั่นจึงนับเป็นจุดมุ่งหมายใหม่ที่เขาหวังว่าจะไปให้ถึง

“ต่อไปผมอยากทดลองผสมพันธุ์บัวข้ามสายสกุลย่อย ระหว่างบัวยักษ์ออสเตรเลียกับบัวฝรั่ง เพราะยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน” เขาบอกแผนการในอนาคต

กล่าวได้ว่านับจากวันแรกที่ อ.ไพรัตน์พบรักแรกกับบัวฝรั่งสีสันอ่อนหวานอย่างเพอรีส์ไฟร์โอปอล จวบจนทุกวันนี้เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว เขายังคงรักและหลงใหลงานเพาะเลี้ยงและผสมพันธุ์บัวไม่เสื่อมคลาย

ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์บัวพันธุ์ใหม่ที่สวยงามยิ่งกว่าเดิม

ถึงแม้เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๕๔ จะทำให้บัวหลายพันธุ์ในแปลงปลูกบัว จังหวัดปทุมธานีแห่งนี้ตายไปเป็นจำนวนมาก แต่เชื่อว่าอีกไม่นานบัวลูกผสมชุดใหม่จะถูกปลูกทดแทน และออกดอกเบ่งบานงามสะพรั่งเต็มบ่อบัว