ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๖ แอรอน สวาร์ตซ (Aaron Swartz) นักเขียน นักพัฒนาโปรแกรม แฮ็คเกอร์ และนักกิจกรรมอินเทอร์เน็ตชาวอเมริกันวัยเพียง ๒๖ ปี ตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการแขวนคอตายที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองนิวยอร์ก
ในแวดวงโลกไซเบอร์ชื่อของสวาร์ตซได้รับการจดจำจากความสามารถที่หลากหลาย เมื่ออายุ ๑๔ ปีเขามีส่วนร่วมพัฒนามาตรฐาน RSS โปรแกรมสำหรับดึงข่าวสารผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี ๒๕๔๘ ได้ร่วมก่อตั้ง Reddit เว็บไซต์แชร์และโหวตบทความ เขายังเป็นนักเขียนบทความในหลากหลายหัวข้อ แต่ที่สำคัญกว่านั้นสวาร์ตซไม่ได้ใช้ความสามารถเพื่อผลทางธุรกิจ ในฐานะนักกิจกรรมเขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Demand Progress เว็บไซต์หัวขบวนในการต่อสู้ให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี ร่วมรณรงค์ต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลที่เกิดจากร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ และร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี (SOPA/PIPA) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง “สิทธิการเผยแพร่ข้อมูลแบบสาธารณะด้วยอินเทอร์เน็ต” คือเป้าหมายสำคัญที่สวาร์ตซทุ่มเทมาตลอด โดยเฉพาะเว็บไซต์สถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกาซึ่งนอกจากจะเรียกเก็บเงินค่าบริการโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนผู้เขียนแล้ว คนจำนวนมากก็ไม่อาจเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อีกด้วย
ปี ๒๕๕๑ เขาและเพื่อนสร้างโปรแกรมสำหรับดาวน์โหลดเอกสารของศาลจากเว็บ Pacer (pacer.gov) ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายเอกสารเป็นรายหน้า และดึงเอกสารได้นับล้านชิ้น ทำให้เขาถูกสอบสวนจากเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ
ความพยายามล่าสุดของสวาร์ตซในปี ๒๕๕๔ คือการดาวน์โหลดงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ให้บริการแบบคิดเงินของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จากเว็บ JSTOR กว่า ๔.๘ ล้านชิ้น ส่งผลให้เขาถูกจับกุม ซึ่งหากมีความผิดตามคดีจริงอาจทำให้ผู้กระทำผิดต้องโทษจำคุกกว่า ๓๐ ปี และถูกปรับเป็นเงิน ๔ ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้เผยแพร่งานวิจัยหรือบทความใดออกไปรวมถึงส่งคืนไฟล์ทั้งหมด และสาบานแล้วว่าจะไม่กระทำการเช่นนี้อีกก็ตาม
ครอบครัวของเขาเผยว่าสวาร์ตซกลัดกลุ้มมากจากคดีนี้ “ความตายของสวาร์ตซไม่ใช่แค่เรื่องน่าเศร้าของคนคนเดียว มันเป็นผลจากการข่มขู่และฟ้องร้องที่เลยเถิดของกระบวนการยุติธรรม”
ความตายของสวาร์ตซไม่ใช่จุดจบ มีผู้ไว้อาลัยกับเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวนมาก ทวิตเตอร์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งพร้อมใจกันแชร์ลิงก์งานวิจัยของตนออกมาเผยแพร่ฟรี ๆ พร้อมติดคำค้นว่า #pdftribute เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ด้านเว็บไซต์ Demand Progress ได้ใช้พื้นที่สำหรับรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีกฎหมายแอรอน (Aaron’s Law) แก้ไขกฎหมายซึ่งทำให้เขามีความผิด และเรียกร้องให้รัฐสภาสืบสวนต่อการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้อีกด้วย
ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยกับวิธีคิดในการกระจายข้อมูลข่าวสารของสวาร์ตซหรือไม่ สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือคำตัดสินที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ
และเชื่อแน่ว่าการเสียชีวิตของสวาร์ตซน่าจะกลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัญหาและบทลงโทษของการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ที่สำคัญยิ่งในอนาคต
“ศาลฎีกานั้นจะมองไม่เห็นบทบัญญัติเพิ่มเติมที่ ๑ แห่งรัฐธรรมนูญ* ได้มากกว่าอะไรอย่างอื่น มากกว่าการใส่ร้าย หรือดูหมิ่น สื่อลามก หรือแม้แต่ภาพอนาจารของเด็ก จุดบอดนั้นก็คือลิขสิทธิ์ เมื่อเราอ้างถึงลิขสิทธิ์จะทำให้สมองส่วนความยุติธรรมปิดลง พวกเขาจะลืมบทบัญญัตินั้นไปในทันที…ถ้าคุณอยากปิดเว็บ WikiLeaks มันคงต้องใช้เวลาไม่น้อยเพื่ออ้างว่าคุณจะปิดเพราะมันมีภาพลามกอนาจารมากเหลือเกิน แต่มันไม่ยากที่จะอ้างว่า WikiLeaks ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะทุกอย่างเป็นลิขสิทธิ์ได้หมด” แอรอน สวาร์ตซ (๒๕๒๙-๒๕๕๖) |
* First Amendment – บทบัญญัติเพิ่มเติมที่ ๑ แห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น