ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

แล้วในที่สุด คำพูดตัดพ้อเชิงประชดเสียดสีว่า “รักแท้เหมือน 3G รู้ว่ามีแต่ไม่รู้เมื่อไหร่มา” ก็กำลังจะใช้กับสังคมไทยไม่ได้อีกต่อไป

ภายหลังจากปลุกปั้นกันมานานร่วม ๑๐ ปี

“ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ ๓” จึงเกิดขึ้น

3G เป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลทั้งภาพ เสียง ไฟล์วิดีโอ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเจเนอเรชั่นเดิมถึง ๓๕ เท่า  ช่วยให้การทำงานหรือศึกษาหาความรู้ที่ไม่เคยทำได้มาก่อนเป็นไปได้ทันใจทุกที่ทุกเวลา

ทว่าที่ผ่านมาเส้นทางสู่ 3G มีอุปสรรคปัญหามากมายเหลือเกิน  สองปีก่อน (พ.ศ. ๒๕๕๓) ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาระงับการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ของ “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” เพื่อเปิดทางให้จัดตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ความล่าช้าทำให้ไทยกลายเป็นประเทศลำดับท้าย ๆ ของโลกที่จะมี 3G ใช้

โดยก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาการไม่มี 3G ด้วยการแบ่งคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมมาให้บริการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จนทำให้คุณภาพบริการโดยรวมลดลง

จนเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ กสทช. องค์กรอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ได้ปฏิบัติ “ภารกิจเพื่อชาติ” จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ เมกะเฮิร์ตซ์เพื่อให้บริการ 3G เป็นผลสำเร็จ

เป็นการประมูลที่เต็มไปด้วยข้อกังขา เมื่อ “โอเปอเรเตอร์” ยักษ์ใหญ่ทั้ง ๓ ต่างจูงมือกัน “เข้าวิน” แบบไม่ต้องลุ้น  ทันทีที่ทราบผลประมูล นักวิชาการออกมา “ปูพรมถล่ม” ชี้ว่านี่เป็นการประมูลที่น่าขันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บ้างก็ว่านี่เป็นละครฉากที่ไม่เนียนเอาเสียเลย

แต่ถึงจะเต็มไปด้วยข้อกังขาอย่างไร  สายพานแห่งเทค-โนโลยีที่นำพาประเทศสู่ยุค 3G ก็เดินหน้าต่อ

นาทีนี้ยากปฏิเสธ ทุกคนล้วนต้องการให้ประเทศเข้าสู่ยุค 3G แล้ว

ท่ามกลางฝุ่นควันที่ยังไม่ทันจาง  เพียงมองเห็นฉากหลังชัดเจนขึ้นบ้าง  นอกเหนือจากคำถามใหญ่เรื่องความไม่ชอบมาพากลของการประมูล ยังมีอีกหลายสิ่งน่าพูดถึง  สิ่งหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่กับจุดเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย คือการปฏิรูปสัญญาที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมเป็นครั้งแรก  จากระบบ “สัมปทาน” ที่เหมือนแผลเก่ากลัดหนอง สู่การออก “ใบอนุญาต” ที่ว่ากันว่าจะนำพาประเทศสู่ยุคเสรีกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

สารคดี จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักวิชาการผู้จบปริญญาโทและเอกด้านปัญญาประดิษฐ์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แล้วกลับมาสร้างชื่อด้วยผลงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับปัญหาการแปรสัญญาโทรคมนาคมด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ (Econometrics) และที่สำคัญเขาคืออดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย กสทช. ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขา แล้วผู้ที่คิดว่ามหากาพย์ 3G ได้สิ้นสุดลงแล้วอาจต้องคิดใหม่

ขออภัยที่ขึ้นเรื่องด้วยคำว่า “แล้วในที่สุด” เพราะแท้จริงเรื่องราวเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นต่างหาก

การประมูลคลื่นความถี่เพื่อเปิดให้บริการ 3G เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ มีอะไรที่เป็นปัญหา
ปัญหาคือมันไม่มีการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประมูล  มีเพียงการแข่งขันเทียม ๆ  เมื่อคุณเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี  คุณมีเก้าอี้ ๓ ตัว ผู้เล่น ๓ คน  ทุกคนย่อมได้เก้าอี้ไป  งานนี้ กสทช. เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่มีอยู่ ๔๕ เมกะเฮิร์ตซ์ โดยออกกฎว่าจำนวนคลื่นสูงสุดที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถประมูลได้ต้องไม่เกิน ๑๕ เมกะเฮิร์ตซ์  เมื่อมีผู้เสนอราคา ๓ ราย คือ เอไอเอส ดีเทค และทรูมูฟ  ทุกรายจะได้คลื่นเท่ากัน  แล้วจะดิ้นรนประมูลเพื่ออะไร

ปัญหารองลงมาคือเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าไม่มีการแข่งขัน ยังตั้งราคาประมูลขั้นต่ำไว้ถูก ๆ  คุณก็ได้ราคาตามที่ตั้งเท่านั้นเอง  ผลคือราคาประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งนี้ดีดขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์จากราคาขั้นต่ำ  การประมูลครั้งนี้จึงถือว่าแย่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

เมื่อการประมูลมีปัญหา สิ่งที่ตามมาจะเป็นปัญหาด้วยหรือไม่ เหมือนดั่งคำกล่าวเรื่องผลไม้พิษกับต้นไม้พิษ
ตั้งแต่ทราบผลการประมูล  รัฐเสียหายทันทีแล้ว ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท  เป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายที่ประเมินไว้ล่วงหน้ากับราคาซื้อขายจริงที่เกิดขึ้น  แล้วสิ่งที่ กสทช. พยายามอ้างว่าเงินที่หายไปเข้ากระเป๋าโอเปอเรเตอร์ (ผู้ให้บริการ 3G) เงินนี้จะกลับมาเข้ากระเป๋าผู้บริโภคในรูปแบบของการลดราคา  คุณลองดูความเป็นไปได้ของการต่อรองนี้สิ  เอกชนจะลดราคาไหม  เมื่ออ้อยเข้าปากช้าง  อย่างตอนนี้ พอถูก กสทช. ไล่บี้หนักเข้าหน่อยก็บอกว่าไม่แน่ ขอไปพิจารณาก่อน  อ้างต้นทุนสารพัด  ฉะนั้นความเสียหายออกพิษแล้ว  และจะตามมาอีกในการประมูล 4G  คือเขาจะอ้างว่าขนาด 3G ก็ยังทำกันแบบนี้  จะขอใช้สูตรเดิมในการประมูล 4G อีก คือมีเก้าอี้ดนตรี ๓ ตัว มีคน ๓ คน หรือถ้ามีเก้าอี้ ๒ ตัวก็มีคน ๒ คน  เอกชนจะได้ประโยชน์ไปเรื่อย ๆ ประชาชนจะไม่ได้อะไร

พิษที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผู้บริโภคคืออะไร
ประชาชนทั้งคุณและผมมี ๒ ฐานะ  หนึ่งคือเป็นผู้บริโภคหมายถึงเป็นผู้ใช้โทรศัพท์  ในมุมนี้ปัญหาไม่ชัดนัก  ดูเหมือนคนไทยทั้งประเทศจะบอกว่ารอไม่ได้ ขอให้มี 3G ใช้ก่อน  อีกฐานะหนึ่งเป็นฐานะของผู้เสียภาษี  หากรัฐบาลนำบ่อน้ำมันของชาติไปขายในราคาถูก ขายป่าไม้ขายเหมืองแร่ราคาถูก  นำทรัพยากรที่มีมูลค่าไปขายในราคาต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างนี้ถือว่าเสียหายครับ  คลื่นความถี่ก็เหมือนกัน มันเป็นขุมทรัพย์  ในฐานะที่เราเป็นผู้เสียภาษีให้แก่รัฐ หากรัฐบาลปิดหีบไม่ลงเพราะรายได้ที่ควรจะได้หายไปเป็นหมื่นล้านบาท มันก็ต้องไปหาจากที่อื่นมาชดเชย  ประเดี๋ยวก็ต้องหาทางเก็บภาษีเพิ่มเติม  นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้พบ

วกกลับไปในฐานะของผู้บริโภค  การออกใบอนุญาต 3G โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดถือเป็นความเสียหายที่สุด  หมายความว่าในยุค 2G คุณมีผู้ให้บริการ ๓ ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ  ถึงยุค 3G คุณก็มี ๓ รายอีก ถึงยุค 4G ก็ยังมี ๓ รายอีกเหมือนเดิม  กรณีอย่างนี้มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะไม่ได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด  คุณต้องเปิดตลาดแบบเสรีให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาตัดราคาหรือทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นหน้าเก่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ แต่ต้องคอยพัฒนาตัวเอง