ผลงานคัดสรร สารคดีสะท้อนปัญหาสังคม
โดย เยาวชนนักเขียน โครงการค่ายนักเขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ ๑
เรื่อง : สุรีวัลย์ บุตรชานนท์
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นิตยสาร สารคดี และสำนักพิมพ์สารคดี ได้ริเริ่มโครงการค่ายนักเขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณเริ่มต้นจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และในเวลาต่อมาโดย แผนงานเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้สู่สุขภาวะ (ยสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาเยาวชนในเชิงรุกโครงการนี้เปิดรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ และได้รับผู้เข้าอบรมประมาณ ๔๐ ชีวิต มีนักเขียนสารคดีหญิง อรสม สุทธิสาคร เป็นวิทยากรคนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และวิทยากรจากสำนักพิมพ์สารคดีอีกหลายท่าน หลังจากผ่านการอบรมครั้งแรกแล้ว ผู้เข้าอบรมมีโอกาสเลือกเขียนงานสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมในประเด็นและมุมมองที่ตนเองสนใจ ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลจริงจากการสัมภาษณ์ การสำรวจลงพื้นที่ โดยมีวิทยากรเป็นผู้ช่วยชี้แนะ ให้คำแนะนำเป็นระยะๆ จนกระทั่งสำเร็จเป็นผลงานของผู้เขียนเองเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ โดยมีผลงานที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น ๑๐ ผลงาน
นี่คือหนึ่งใน “ผลงานคัดสรร-สารคดีสะท้อนปัญหาสังคม” บทเรียนจากชีวิตจริงที่เยาวชนนักเขียนได้ไปสัมผัสและนำมาถ่ายทอดต่อคุณผู้อ่าน (และโปรดติดตามหนังสือรวมผลงานคัดสรรของเยาวชนนักเขียน โครงการค่ายนักเขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ ๑ โดยสำนักพิมพ์สารคดี ในเร็ววันนี้ตามร้านหนังสือทั่วไป) |
มือเล็กๆ ดูกร้านจนเหมือนจะไม่ใช่มือของเด็กประสานกันนิ่งอยู่บนตัก แววตาอันเศร้าสลดที่ทอดมองมา ราวกับจะถามว่าโลกนี้คืออะไร ทำไมคนต้องเกิดมา ความสดใสของวัยเด็ก บริสุทธิ์ ใสสะอาด ดังดอกไม้แรกแย้ม กลับกลายเป็นความมืดมนในโลกกว้างใบนี้
บอล อายุ ๑๔ ปี เล่าว่า เขาหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี เพราะพ่อเลี้ยงและแม่ทะเลาะกันบ่อย พ่อเลี้ยงมักจะทุบตีเขาอยู่เสมอ เขาไม่มีความสุขที่จะอยู่บ้าน จึงออกมาเร่ร่อนอยู่กับเพื่อน เล่นเกมตามร้านเกมต่าง ๆ ตอนกลางคืนก็ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนที่สะพานปลา พัทยาใต้
“อยู่ที่สะพานปลาเพื่อนเยอะ ตอนกลางคืนก็กินเหล้า ดมกาว หาเรื่องชกต่อยกับกลุ่มอื่น ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเพื่อนทำเราก็ต้องทำตาม พอไม่มีเงิน เพื่อนก็ชวนให้ไปกับฝรั่ง ได้ครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อน ๆ ก็ทำอย่างนี้กันทุกคน พอได้เงินก็เอาไว้ซื้อข้าวกินแล้วก็เล่นเกม”
บอลบอกว่า เขาและเพื่อนจะนั่งเล่นอยู่ตามสะพานปลา พอมีชาวต่างชาติเข้ามาทัก ตกลงราคากัน แล้วก็จะพาไปโรงแรมหรือบ้านที่เช่าไว้ หรือบางทีมีคนมาติดต่อพาไปหาชาวต่างชาติตามบ้าน เขาบอกว่า ตนเองไม่ได้อยากทำอย่างนี้เลย แต่เมื่อไม่มีเงินก็ต้องทำ
“จะมีน้าผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาคุยและตกลงราคา แล้วพาไปส่งตามบ้านหรือโรงแรมที่ฝรั่งอยู่ ผมต้องทำเพราะเงินมีความสำคัญกับผมมาก ถ้าไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีเงินกินข้าว บางทีแม่ก็มาขอ เพราะเขารู้ว่าผมอยู่ที่ไหน และรู้ด้วยว่าผมทำอะไร ผมรักแม่นะ ก็ให้เงินเขาไป เขาเคยมาตามให้กลับบ้าน แรกๆ ผมก็กลับไปนอนที่บ้านกับแม่ แต่แม่กับพ่อเลี้ยงทะเลาะกันบ่อย ผมเลยหนีออกมาอีก อยู่กับเพื่อนแล้วสบายใจกว่า” บอลสะท้อนความในใจอันปวดร้าวออกมา
นี่คือชะตากรรมอันน่าเศร้าของเด็กที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ บ้านสำหรับเด็กเหล่านี้มิใช่บ้านที่มีความสุข มีพ่อมีแม่ให้ความอบอุ่น หากบ้านสำหรับเด็กเหล่านี้กลับเป็นข้างถนน ตึกร้าง และห้องนอนที่มีท้องฟ้าเป็นมุ้ง
“บ้านในฝันของผม ไม่ขออะไรมาก แค่มีบ้านเล็กๆ สักหลัง มีงานทำ มีเงินใช้ มีแฟนอยู่ด้วยก็พอแล้ว”
เด็กชายคนนี้ยังฝันถึงอนาคตไว้ว่า อยากทำงานเป็นพนักงานห้างสรรพสินค้า และสักวันหนึ่งเขาจะเลิกขายบริการทางเพศกับชาวต่างชาติ
“ครั้งแรกที่ผมมีอะไรกับฝรั่ง ผมกลัวมาก แต่ตอนนี้รู้สึกเฉยๆ ผมไม่ได้อยากทำอย่างนี้เลย แต่ถ้าไม่มีเงินก็ต้องทำ เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรกิน มีฝรั่งหลายคนชอบผม ชวนไปอยู่ต่างประเทศด้วย แต่ผมไม่ไป อยากอยู่กับเพื่อนมากกว่า” เด็กชายคนเดิมกล่าวถึงความในใจ
บอลเล่าให้ฟังว่า หลายปีก่อน แม่เคยขายยาบ้า เม็ดละประมาณ ๘๐-๙๐ บาท มีน้าที่รู้จักคนหนึ่งเป็นตำรวจเอามาให้ขาย แต่ตอนนี้แม่เลิกขายแล้ว พ่อเลี้ยงก็ทำงานขับรถที่โรงแรม ส่วนชาวบ้านละแวกเดียวกันก็ขายยาบ้าแทบทุกบ้าน
นี่หรือสังคมไทย…สังคมที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด จนไม่ได้นึกถึงศีลธรรมและความถูกต้อง ความยากลำบากและความมักง่ายกลายเป็นตัวผลักดันให้ต้องทำในสิ่งที่ผิด
หากทุกคนเลือกเกิดได้ คงจะไม่มีใครเลือกเกิดมามีชีวิตอย่างบอล ชีวิตน้อยๆ ที่ควรจะเริ่มต้นด้วยความสดใส แต่กลับต้องพบเจอสิ่งที่มืดมัว
แสงไฟสว่างไสว สีสันแห่งเมืองพัทยา ภาพชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ คงเป็นภาพชินตาของทุกคน แสงสีและเสียงดนตรีตามผับ บาร์ ร้านรวงต่างๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไป ยังคึกคักอยู่ทุกค่ำคืน แต่ใครจะรู้เล่าว่า ท่ามกลางความศิวิไลซ์นี้ ยังมีชีวิตน้อยๆ อีกหลายชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน รอคอยความหวังต่อไป
ดาว เด็กสาววัยรุ่นอายุ ๑๕ ปี วัยแห่งดอกไม้แรกแย้ม ที่กำลังงดงาม น่าทะนุถนอม หากต้องออกจากบ้านเพราะครอบครัวแยกทางกัน เธอต้องเดินทางจากดินแดนที่ราบสูงบ้านเกิด ติดตามมารดามาอยู่ที่พัทยา
“หนูออกจากบ้านมาเพราะเกลียดพ่อเลี้ยง เกลียดลูกเขา แม่มีลูกใหม่กับพ่อเลี้ยง น้องอายุ ๖ ขวบแล้ว หนูแตะไม่ได้เลย แม่ก็ชอบว่า ตอนหนูอยู่กับแม่ แม่เคยให้หนูลองเสพยาบ้า ตอนนั้นแม่ติดยาจนประสาทหลอน และมักใช้หนูไปเอายาบ้ากับแฟนแม่ แม่มีแฟนเยอะ เวลาแม่เล่นยาหนูได้กลิ่น ไม่ชอบเลย” ดาวเล่าด้วยแววตาซึมเศร้า
เด็กสาวคนนี้บอกว่าขณะนี้แม่ของเธออยู่กับแฟนชาวต่างชาติที่อังกฤษ แม่จะส่งเงินมาให้พ่อเลี้ยงและพี่สาวเธอเสมอ แต่ไม่เคยส่งให้เธอเลย
“แม่รักลูกลำเอียง รักพี่สาวหนูมากกว่า เขาบอกว่าหนูไม่ใช่ลูกเขา หนูคลอดยาก แม่ไม่เคยสนใจหนู ไม่เคยรู้ว่าอยู่ที่ไหน ก่อนเขาจะไปอังกฤษก็ไม่เคยมาตามว่าหนูอยู่ที่ไหน เป็นยังไง”
ดาวเล่าว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาเธอจะคุยกับตุ๊ก เพื่อนรุ่นพี่อายุ ๑๙ ปี ตุ๊กให้ความช่วยเหลือเธอเสมอแม้เวลาไม่มีเงินกินข้าว แต่ตอนนี้ตุ๊กติดคุกอยู่ด้วยข้อหาลักขโมย ก่อนหน้านี้เธอเคยขโมยของที่ร้านสะดวกซื้อกับตุ๊ก แต่โดนจับได้เลยไม่กล้าทำอีก
“หนูเคยน้อยใจพี่สาวแล้วกรีดแขนตัวเอง ทำร้ายตัวเองก็บ่อย เพราะเขาไม่สนใจเรา มีครั้งหนึ่งแม่บอกให้พี่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้หนูในวันเกิด แต่พี่สาวบอกว่าไม่อยากซื้อให้หรอกถ้าแม่ไม่บอก เพราะอย่างนี้แหละหนูถึงไม่อยู่ที่บ้าน ไม่มีใครรักหนู ตอนนี้ที่บ้านก็มีพ่อเลี้ยง พี่สาวหนู แล้วก็แฟนเขา หนูอยู่ข้างนอกอย่างนี้สบายใจกว่า ถึงอยู่เขาก็ปล่อยให้อยู่กับพ่อเลี้ยง” ดาวพูดด้วยสีหน้าขมขื่น
ชีวิตของเด็กสาวคนนี้ก็เหมือนกับเด็กเร่ร่อนทั่วไป ตกกลางคืนก็ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนที่สะพานปลา กินเหล้า ดมกาว หาเรื่องชกต่อย และขายบริการทางเพศกับชาวต่างชาติ เป็นพฤติกรรมเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหมู่เด็กเร่ร่อน
ดาวกล่าวด้วยสีหน้าอันปวดร้าวว่า “พ่อกับแม่ไม่เคยเลี้ยงหนูเลย หนูเกิดได้ ๗ วัน เขาก็ทิ้งหนู ปล่อยให้ย่ากับน้าเลี้ยง หนูเกลียดพ่อ เขาไม่เคยรู้หรอกว่าหนูอยู่ที่ไหน พวกญาติที่อีสานชอบด่าว่าหนูเป็นลูกกะหรี่ เป็นลูกกำพร้า หนูอายคนก็เลยไม่อยู่ หนูอยากกลับบ้านไปเยี่ยมย่านะ คิดถึงย่าจะตาย ย่าเป็นคนเดียวที่รักหนูจริงๆ หนูทำผิดย่ายังบอกว่าถูก หนูคิดจะอยู่กับย่าแต่ไม่รู้จะอยู่ยังไง หนูอายเพื่อนด้วยเพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ถึงกลับไปเรียนตอนนี้ก็ช้ากว่าเพื่อน เงินไม่มีความสำคัญกับหนูเลย มันไม่ได้ทำให้หนูมีความสุข มีเงินแต่ไม่มีใคร มีเพื่อนที่จริงใจกับเราดีกว่า ความสุขของหนูมีแค่ตอนอยู่กับเพื่อนเท่านั้น”
จากจุดเริ่มต้นชีวิตที่ไม่ได้งดงามดังใจนึก อรุณแรกแห่งชีวิตที่มีแต่ความมืดหม่น บ้านที่ไม่เคยมีความหมายและความอบอุ่น หากเธอยังฝัน…ฝันจะมีชีวิตที่ดี พบแสงสว่างที่จะช่วยนำทางให้เธอต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากวงจรชีวิตอันน่าขมขื่นเช่นนี้
ทางเลือกใหม่ของชีวิต
ศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวพระมหาไถ่ พัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาสที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ประสบปัญหาครอบครัว โดยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นด้านอาหาร ที่พักอาศัยเฉพาะในเวลากลางวัน
นายสุชาติ สุทธินาค นักจิตวิทยาศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวพระมหาไถ่ เล่าว่า
“สาเหตุที่เด็กออกจากบ้าน ส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัวแตกแยก ครอบครัวล่มสลาย และอีกปัญหาหนึ่งคือ อยู่ที่ตัวเด็กเอง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและค่านิยม เช่นบางคนออกมาเร่ร่อนเนื่องจากติดเกม พอไม่มีเงินก็พยายามหาเงิน ลักขโมยบ้าง เมืองพัทยามีสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการให้เด็กออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านที่เต็มไปด้วยแสง สี เสียง และสิ่งยั่วยุต่างๆ”
นักจิตวิทยาแสดงทรรศนะว่า ชีวิตของเด็กเร่ร่อนง่ายต่อการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ดมสารระเหย ขายบริการทางเพศ หรือเป็นนายหน้าจัดหาบริการทางเพศ กระทำผิดทางอาญา ลักขโมย ขายยาเสพติด พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาทางร่างกาย ที่พบมากคือ โรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การช่วยเด็กของศูนย์พักพิงฯ โดยดึงเด็กเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฯ จึงถือว่าเป็นการช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงลง
จากคำบอกเล่าของนักสังคมสงเคราะห์ศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวฯ บอกว่า ในกรณีที่เด็กไม่อยากออกไปเร่ร่อนแล้ว ก็สามารถอยู่ที่นี่ได้ แต่เด็กบางคนยังไม่พร้อมจะเข้าไปอยู่สถานสงเคราะห์ เพราะยังมีปัญหาด้านความประพฤติ ความคิด ทัศนคติต่าง ๆ การดึงพวกเขาไปอยู่สถานสงเคราะห์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“การทำงานกับเด็ก เราจะต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของเขาทีละเล็กทีละน้อย ที่สำคัญคือสัมพันธภาพของเรากับเขาต้องดีขึ้นเรื่อยๆ จนเขาไว้ใจและยอมให้เราช่วยเหลือทั้งในด้านบ้านใหม่และการศึกษา ซึ่งเรามีเครือข่ายพระมหาไถ่ที่ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนอยู่แล้ว” เจ้าหน้าที่คนเดิมให้ข้อมูล
เด็กเหล่านี้เปรียบไปก็เหมือนคนไข้ที่ป่วยอยู่ และต้องใช้เวลาสำหรับการเยียวยารักษาให้หายเป็นปรกติดังเดิม
นักจิตวิทยามองว่า เด็กที่เข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฯ นี้สามารถเลิกสารเสพติด สารระเหยต่างๆ ได้ และเด็กผู้หญิงก็ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อทางเพศ ถ้าเด็กติดโรคมา ไม่ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคผิวหนัง ก็จะรีบส่งไปรักษาพยาบาลทันที
“ทัศนคติของเด็กที่เจอปัญหาต่างๆ มา ทำให้เขาปรับตัวเข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมไม่ได้ เราต้องค่อยๆ ช่วยเขาจากหนักให้เป็นเบา ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้ว ทำนายได้เลยว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต” นักจิตวิทยาแสดงทรรศนะ
………………………………………………………………………….
เช่นเดียวกับดาว เธอบอกว่าหากมีโอกาสก็อยากกลับไปเรียนหนังสือต่อ เธอเข้ามาอยู่ศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวฯ ได้ ๕ เดือนแล้ว ครูสุชาติบอกว่าปีหน้าจะให้เรียนต่อ ตอนที่เธอออกจากบ้านมา เธอกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. ๑
“ตอนนี้กลางวันหนูอยู่ที่ศูนย์ฯ เพราะมีที่อาบน้ำ กินข้าว ตอนกลางคืนก็ออกไปที่สะพานปลากับเพื่อน แต่บางวันไม่ได้ไปก็จะนอนที่ศูนย์ฯ หนูเคยลองกัญชา เคยดมกาวที่หลังศูนย์ฯ สองครั้ง แต่ไม่ชอบเพราะหนักหัว หนูไม่ทำแล้ว ถ้าครูสุชาติจับได้จะไม่ได้กินข้าว หนูไม่เคยคิดถึงอนาคตตัวเองเลยตั้งแต่ออกจากบ้านมา แต่ครูจะให้เข้าโรงเรียนปีหน้า ดีเหมือนกัน เพราะหนูไม่อยากกลับไปอยู่บ้านแล้ว ก่อนมาอยู่ที่ศูนย์ฯ หนูเคยทำงานที่ร้านอาหาร พอร้านปิด ๖ โมง หนูก็ไปเที่ยวสะพานปลากับเพื่อนแล้วตื่นสาย ไปทำงานไม่ทัน ก็เลยลาออกมาอยู่ที่ศูนย์ฯ แทน ถ้าได้เรียนหนังสือต่อก็ดี เพราะหนูอยากได้งานดี ๆ ทำด้วย” เด็กสาวบอกเล่าความในใจ
ส่วนบอล เด็กชายผู้ใช้ชีวิตลำพังกับความโดดเดี่ยว เล่าให้ฟังถึงวัฏจักรชีวิตที่มักวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาว่า “ตอนกลางคืนผมก็ออกไปเที่ยวกับเพื่อนที่สะพานปลาเหมือนเดิม พอเช้าก็กลับมาอาบน้ำ กินข้าว นอนที่ศูนย์ฯ ตอนบ่ายดูโทรทัศน์หรือไม่ก็เดินเที่ยวห้างสรรพสินค้า พอตกเย็นหน่อย เราก็รวมกลุ่มแล้วไปสะพานปลา ก็เหมือนเดิม กินเหล้า ดมกาว ถ้าวันไหนไม่มีเงินก็หาแขกฝรั่ง”
ที่นอนเก่าๆ สกปรก ขาดรุ่งริ่ง ผ้าเปื้อนฝุ่นเก่าๆ เหมือนผ้าขี้ริ้ว ที่แอบซุกอยู่ในป่ารกร้างข้างศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวฯ นั้น กลับเป็นเหมือนเตียงนอนอันอ่อนนุ่มและผ้าห่มอุ่นสำหรับชีวิตน้อยๆ อีกหลายชีวิต
“วันไหนไม่มีอะไรทำ เบื่อ ไม่อยากอยู่ที่สะพานปลา ก็กลับมาที่ศูนย์ฯ บางทีตีสองตีสามศูนย์ฯ ยังไม่เปิด พวกผมไม่รู้จะไปไหนก็นอนกันที่ข้างศูนย์ฯ เพื่อนไปหาที่นอนเก่าๆ มาไว้นอน บางครั้งนอนกันเป็นสิบคนเลยทั้งผู้หญิงผู้ชาย ยุงก็กัด เพราะยุงเยอะมาก มันเป็นป่าไง พอเช้าก็ค่อยเข้าไปนอนต่อในศูนย์ฯ ครูสุชาติรู้ก็ให้เอาที่นอนไปทิ้งเลยนะ เพราะครูไม่ให้นอนที่นี่ ครูบอกว่าไม่อยากให้ข้างศูนย์ฯ เป็นที่มั่วสุม แต่เพื่อนผมก็แอบไปเอาที่นอนมาไว้อีกเหมือนเดิม”
บอลยังบอกอีกว่า “ผมก็อยากกลับไปเรียนหนังสือ ตอนที่ออกจากบ้านมายังไม่จบ ป. ๖ ด้วยซ้ำ ผมไม่อยากใช้ชีวิตอย่างนี้ไปตลอดหรอก อยากทำงานและมีบ้านอยู่อย่างคนอื่นเขาบ้าง เคยชวนเพื่อนแล้วแต่เพื่อนไม่ไป ถ้าเพื่อนเรียนก็จะเรียน แต่ไม่มีเพื่อนก็ไม่อยากไป กลัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้”
เด็กที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ปราศจากพ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น บ้านไม่เคยมีความหมายสำหรับพวกเขา หากคำว่า “เพื่อน” กลับกลายเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่ “เพื่อน” สามารถเป็นตัวตัดสินอนาคตได้
บ้านหลังใหม่…บ้านแห่งการเรียนรู้
บ้านเด็กด้อยโอกาสพระมหาไถ่ พัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ทั้งด้านปัจจัยสี่ และการศึกษา
นายศุภกร โนจา หรือครูจา ผู้จัดการบ้านเด็กด้อยโอกาสพระมหาไถ่ ให้ข้อมูลว่า เด็กเร่ร่อนแบ่งออกเป็นหลายลักษณะ ทั้งเร่ร่อนเพื่อขอทาน เพื่อยาเสพติด หรือเพื่อขายบริการทางเพศ เด็กที่จะเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังนี้มีอยู่ ๒ กรณี คือ กรณีแรก มีครูข้างถนนเข้าไปพบปะเด็กเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้อยู่ตามท้องถนนหรือตามที่สาธารณะ และดึงให้เข้ามาอยู่ที่บ้าน เพื่อจะได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเด็ก ส่วนกรณีที่ ๒ เด็กที่ผ่านการอยู่ที่ศูนย์พักพิงเด็กชั่วคราวฯ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ จนมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และพร้อมเข้าสู่การศึกษา
ครูจามองว่า “เราทำงานเต็มที่ได้แค่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนของเด็ก ถ้าเราทำได้ ๕๐ เด็กให้ความร่วมมืออีก ๕๐ เด็กคนนี้สามารถรอดพ้นจากชีวิตอันมืดมนและแหล่งอบายมุขแน่นอน แต่ถ้าเราทุ่มเทไป แต่เด็กกลับไม่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่ได้ผล
“การทำงานของรัฐกับที่นี่จะต่างกัน ภาครัฐจะใช้อำนาจในการจับกุม แล้วส่งต่อมูลนิธิหรือสถานสงเคราะห์เด็ก แต่ของเราจะเข้าไปพบปะพูดคุยให้เด็กไว้ใจ แล้วจึงดึงเด็กเข้ามา เพราะถ้าเด็กเข้ามาด้วยความสมัครใจ เขาก็สามารถอยู่ได้ แต่ถ้าถูกจับมา เขาก็อยู่ไม่ได้”
พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กฉบับใหม่ของสังคมไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นกฎหมายที่ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้
พ.ร.บ. ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความปลอดภัยในชีวิต
“ตัวกฎหมายเป็นแค่กลไกที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น และมีแนวความคิดใหม่ว่า เราไม่ได้ทำงานเฉพาะกับเด็กเท่านั้น แต่ต้องดูแลและรับผิดชอบคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กด้วย รากฐานของกฎหมายฉบับนี้จะชี้ให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นคน โดยเฉพาะคุณค่าของเด็ก และมีผลคุ้มครองเด็กจนถึงอายุ ๑๘ ปี”
ครูจาให้ข้อคิดเห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กเอื้อประโยชน์ให้แก่เด็กมากขึ้น แต่ถ้ามองอีกด้าน กฎหมายต้องรับรองในภาคปฏิบัติ และต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายทำงานร่วมกัน ซึ่งของไทยเรายังมีศักยภาพในการทำงานเป็นทีมไม่พอ
ผ้าขาวที่เปื้อนฝุ่น
เด็กคือผ้าขาวสะอาดบริสุทธิ์ที่รอการแต่งแต้มสีสันให้สดใสจากสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง หากแต่เด็กเร่ร่อนเหล่านี้กลับกลายเป็นผ้าขาวที่เปื้อนฝุ่น ได้รับการหมิ่นแคลนจากคนทั่วไป อย่างไรก็ตามผ้าขาวที่เปื้อนฝุ่นนี้ก็พร้อมจะเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ได้ถ้าได้รับการเยียวยาจากสังคมอย่างจริงจัง
นักสังคมสงเคราะห์บ้านเด็กด้อยโอกาสพระมหาไถ่ เล่าว่า การดูแลเด็กต้องควบคุมอย่างเข้มงวด และต้องอยู่ในสายตาครูทุกคน หลังเลิกเรียนเด็กจะต้องทำเวร ทำการบ้าน ทำธุระส่วนตัวให้เสร็จแล้วจึงขึ้นตึกนอน ขณะนี้มีเด็กในบ้านทั้งหมด ๑๓๐ คน อายุตั้งแต่ ๖-๑๘ ปี การศึกษาของเด็กจะมีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม. ๖ สิ่งแรกที่ให้เด็กคือการศึกษา เพื่อให้เขาอ่านออกเขียนได้
“ถ้าเด็กคนไหนเรียนดี มีความตั้งใจ และพร้อมจะเรียนในระดับสูงได้ ทางเราก็พร้อมจะส่งให้เรียนต่อ ตอนนี้เราเตรียมเด็กไว้ ๓-๔ คนที่กำลังจะจบ ม. ๖ จะให้เรียนต่อสายอาชีพ เช่น ช่างไฟฟ้า หรือคอมพิวเตอร์ ตามแต่ความสนใจของเขา ส่วนเด็กที่จบไปแล้วก็จะหางานให้ทำ ให้เขาดูแลตัวเองได้และอยู่ได้ด้วยตัวเอง”
กานต์ เด็กชายตัวน้อยอายุ ๑๑ ขวบ กำลังนั่งดูโทรทัศน์ เพียงแรกสบตาก็มองทะลุถึงความขมขื่นภายในใจของเด็กชาย เดิมทีกานต์อาศัยอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี พ่อแม่แยกทางกัน ทั้งคู่ต่างแต่งงานใหม่ ทำให้หนูน้อยคนนี้ไม่อาจทนอยู่กับพ่อหรือแม่ได้ เนื่องจากโดนทั้งพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงทุบตีเสมอ
“หนูไม่อยากอยู่ที่บ้านแล้ว โดนตีทุกวัน เลยหนีมาอยู่กรุงเทพฯ อาศัยนอนตามข้างถนน และเดินขอเงินเขาไปเรื่อยๆ ไว้เป็นค่าข้าว บางวันก็มีข้าวกิน แต่บางวันก็ไม่มี อยู่นานไปก็มีเพื่อนพวกเดียวกันเยอะ อยู่ด้วยกันแบ่งกันกินบ้าง ก่อนที่หนูจะมาอยู่ที่นี่มีครู (ครูข้างถนน) เข้ามาคุยด้วยทุกวัน แล้วเขาก็ชวนมาอยู่ที่นี่ บอกว่าจะได้เรียนหนังสือ ตอนนี้หนูรอเข้าโรงเรียนปีหน้า”
กานต์ยังบอกอีกว่า เขามาอยู่ที่บ้านเด็กด้อยโอกาสนี้แล้วสบายกว่าตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เพราะไม่ต้องดิ้นรนขอเงินใคร อยู่บ้านนี้มีข้าวกิน มีเสื้อผ้า มีที่ให้อาบน้ำ เพียงแค่ช่วยงานครูบ้างเวลาที่ครูเรียกใช้ หากถามว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตเร่ร่อนอย่างเดิมหรือไม่ กานต์ตอบว่าไม่ เพราะตั้งใจจะเรียนเพื่อเป็นช่างซ่อมรถอย่างที่หวังไว้
ชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวัง สักวันหนึ่งจะต้องทำตามฝันให้ได้ เพียงแค่มีโอกาส
วิฑิต หนุ่มวัย ๒๑ ปี ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ เล่าให้ฟังว่า แม่ย้ายไปอยู่กับพ่อเลี้ยงที่สระแก้ว เขาไม่สามารถทนอยู่กับพ่อได้ จึงออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เพราะติดเกมและติดเพื่อน วิฑิตมองว่าสำหรับเด็กเร่ร่อน เพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงทุกรูปแบบ ไม่ว่าการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า จับกลุ่มมั่วสุม ยกพวกไปชกต่อยกัน จนถึงชักชวนกันขายบริการทางเพศกับชาวต่างชาติเมื่อไม่มีเงิน คนเราเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีก็ดีไป หากเจอสิ่งที่ไม่ดีก็จะหวั่นไหวไปกับมันด้วย
“ชีวิตผมเจอมาแล้วทุกรูปแบบ เคยทำทุกอย่าง บางอย่างรู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ต้องทำเพราะผมต้องดิ้นรนเอาตัวรอดตั้งแต่ ๗ ขวบ ทุกซอกทุกมุมของพัทยา ผมรู้หมดว่าตรงไหนบ้างที่มีสิ่งโสโครกโสมมอยู่ ชีวิตคนเราหากมีโอกาสเป็นคนดีหรือเลือกเดินห่างจากสิ่งร้ายๆ ได้ ผมว่าเราก็ควรทำนะ ชีวิตที่ผ่านมาผมถือว่าเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเตือนไม่ให้ตนเองเดินกลับเข้าไปหามันอีก อย่างน้อยผมก็รู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มค่าแล้ว” วิฑิตกล่าวพร้อมรอยยิ้มอันภาคภูมิใจ
ขณะนี้วิฑิตทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นคนดูแลร้านเกม รายได้เฉลี่ยต่อเดือนก็เพียงพอต่อการดำรงชีพได้โดยไม่ลำบาก เขาพอใจกับการทำงานตรงนี้ และตั้งใจจะเก็บเงินซื้อบ้านหลังเล็กๆ สักหลัง และจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตตน
เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ทุกคนคาดหวังกับเด็กเหล่านี้ว่า อยากให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความตั้งใจและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากเป็นอะไร แล้วต้องทำอะไร และเมื่อออกจากบ้านหลังนี้แล้วจะประกอบอาชีพสุจริต ไม่กลับไปเป็นโจร เป็นอันธพาล ไม่ไปใช้ชีวิตเร่ร่อนเหมือนเดิมอีก และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข
อาจจะเป็นการยากที่เราจะเปลี่ยนมือเล็กๆ ที่ดูกร้านให้เป็นมืออันอ่อนนุ่มดังเดิมได้ แต่เราเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน สักวันหนึ่งมือกร้านของเด็กเหล่านี้จะกลายเป็นมือที่แข็งแกร่ง มั่นคง และสามารถปั้นแต่งสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมต่อไป