วันดี สันติวุฒิเมธี : สัมภาษณ์
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
เมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อน บนเส้นทางระหว่างรัฐฉาน ประเทศพม่า สู่ชายแดนไทยภาคเหนือ เด็กหญิงชาวไทใหญ่วัย ๖ ขวบคนหนึ่งนั่งอยู่ในตะกร้าซึ่งห้อยอยู่กับไม้คานที่พาดอยู่บนหลังม้า มุ่งหน้าสู่บ้านเด็กกำพร้าชายแดนไทย ก่อนแม่จะอุ้มเธอใส่ตะกร้า แม่บอกแต่เพียงว่า เธอจะได้เรียนหนังสือสูงกว่าชั้น ป. ๑ และปลอดภัยจากไฟสงครามซึ่งมักลุกลามมาถึงหมู่บ้านก่อนเรียนจบครบปีตลอดเวลา ๙ ปีในบ้านเด็กกำพร้า เด็กหญิงตักตวงความรู้ทุกอย่างเท่าที่หมู่บ้านชายแดนแห่งนี้จะให้เธอได้ เธอตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของบ้านเด็กกำพร้า กลางวันเรียนภาษาไทยจากโรงเรียนไทย ตกเย็นจนถึงค่ำเรียนภาษาจีนจากโรงเรียนของคนจีนฮ่อในหมู่บ้าน วันหยุดเรียนภาษาไทใหญ่จากคนในหมู่บ้าน
หลังจบชั้น ม. ๓ ชั้นเรียนสูงสุดของโรงเรียนในหมู่บ้าน เธอเฝ้าใฝ่ฝันว่า อยากนำความรู้ที่มีอยู่มาทำงานเพื่อคนไทใหญ่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความฝันของเธอเริ่มเป็นความจริงหลังจากเข้าร่วมงานในสำนักข่าวไทใหญ่และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ ซึ่งร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ผลิตรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” รายงานฉบับนี้เปิดเผยการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงไทใหญ่ เป็นรายงานที่ได้รับการเผยแพร่จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในวัยเพียง ๑๗ ปี เธอเป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่นำเสนอปัญหาของผู้หญิงไทใหญ่ในเวทีประชุมปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ๒ ปีต่อมา เธอก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเยาวชนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐฉาน ด้วยเชื่อว่าการศึกษาคือพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสและชีวิตใหม่ ปัจจุบัน เธอมีอายุเพียง ๒๔ ปี แต่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย อาทิ เมื่อปี ๒๕๔๖ ได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Marie Claire ให้เป็น ๑ ใน ๑๐ ของผู้หญิงทั่วโลกที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ต้นปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award ในฐานะตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ล่าสุด ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในผู้หญิง ๑,๐๐๐ คนที่ควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ เธอผู้นี้มีชื่อว่า จ๋ามตอง มีความหมายในภาษาไทยว่า ดอกจำปาเงิน เธอคือหญิงสาวผู้ปลูกต้นกล้าแห่งความหวังให้เติบโตงอกงามในสังคมไทใหญ่ท่ามกลางเปลวไฟแห่งสงครามที่ดำเนินมาบนผืนแผ่นดินรัฐฉานเกือบ ๔ ทศวรรษ
|
อยากให้เล่าประวัติชีวิตตอนเด็กก่อนจะย้ายมาอยู่ชายแดนไทย
ฉันเกิดปี ค.ศ. ๑๙๘๑ ในหมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณภาคกลางของรัฐฉาน ประเทศพม่า หมู่บ้านของฉันอยู่ในเขตที่มีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในรัฐฉาน พ่อแม่ส่งพี่ของฉันไปเรียนหนังสือที่หมู่บ้านอื่นเพื่อความปลอดภัย ส่วนฉันและน้องอีก ๒ คนอยู่กับพ่อแม่ เวลามีการสู้รบที่หมู่บ้านของเรา เราก็จะอพยพไปอยู่ที่หมู่บ้านอื่นที่ปลอดภัยกว่า หากหมู่บ้านนั้นมีโรงเรียน ฉันก็จะได้เรียนหนังสือ แต่ฉันไม่เคยได้เลื่อนชั้นเกิน ป. ๑ เลย เพราะพอมีการสู้รบ ฉันก็ต้องย้ายไปอยู่หมู่บ้านใหม่ แล้วก็ต้องเรียนชั้น ป. ๑ อีก แม่เห็นว่าถ้าปล่อยให้ฉันอยู่ด้วยต่อไปก็อาจจะไม่ปลอดภัย และฉันคงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงกว่าชั้น ป. ๑ ก็เลยส่งฉันมาอยู่บ้านเด็กกำพร้าที่ชายแดนไทย ตอนนั้นฉันอายุได้ประมาณ ๖ ขวบ
เดินทางจากรัฐฉานมาชายแดนไทยอย่างไร
ตอนนั้นเด็กมาก จำไม่ได้ แต่มีคนเล่าให้ฟังว่า ใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง บนหลังม้ามีตะกร้าห้อย ๒ ข้าง ฉันนั่งอยู่ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นเด็กที่พ่อแม่ส่งมาอยู่บ้านเด็กกำพร้าเหมือนฉัน ส่วนตรงกลางบนหลังม้าเป็นที่นั่งของลูกเจ้าของม้า ฉันจำได้แต่ว่าระยะทางมันไกลมาก อยู่ในตะกร้ามองไม่เห็นอะไร และไม่รู้จุดหมายว่าจะไปถึงไหน
จำความรู้สึกวันที่ต้องจากพ่อแม่ได้ไหม
จำได้ว่าร้องไห้ แล้วก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่มาด้วย พ่อบอกว่า ถ้าไปอยู่ชายแดนไทยจะได้เรียนหนังสือ และปลอดภัยกว่าอยู่ที่นี่ ไม่ต้องหนีไปเรื่อย ๆ
ชีวิตที่บ้านเด็กกำพร้าเป็นอย่างไร
เจ้าของบ้านเด็กกำพร้าชื่อครูแมรี่ นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ครูแมรี่ก็เป็นเด็กกำพร้าที่เติบโตมาในโรงเรียนคอนแวนต์ในรัฐฉาน เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาก่อน พออพยพมาอยู่ที่ชายแดนไทยก็เลยเปิดสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กในหมู่บ้าน แล้วก็รับเลี้ยงเด็กกำพร้าและเปิดบ้านพักสำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น ตอนแรกๆ ที่ฉันมาอยู่ ที่นี่ยังไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนภายนอกเข้ามาสนับสนุนเงินทุน เด็กที่มีพ่อแม่ ครูแมรี่จะเก็บเงินค่าอาหารเล็กๆ น้อยๆ ส่วนเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ก็อยู่ที่นี่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ปีแรกที่ฉันมาอยู่ มีเด็กแค่ ๑๕ คน พอปีสุดท้ายเพิ่มเป็น ๓๐ กว่าคน ฉันได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากที่นี่ ครูแมรี่เป็นคนใจกว้าง แม้ว่าจะเป็นคาทอลิก แต่ครูก็ไม่ได้บังคับให้เด็ก ๆ ต้องเป็นคาทอลิก ในบ้านมีหิ้งพระสำหรับให้เด็กๆ ไหว้พระด้วย ทุกคนที่อยู่ในบ้านจะต้องช่วยกันทำงาน ส่วนการเรียนภาษาอังกฤษ ครูแมรี่จะแบ่งชั้นเรียนสำหรับเด็กโตและเด็กเล็ก ฉันและเด็กโตต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเพื่อเตรียมตัวเรียนภาษาอังกฤษช่วงตีห้าถึงหกโมงเช้า หลังจากนั้นช่วงหกโมงถึงเจ็ดโมงฉันต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กเล็ก ครูแมรี่ให้ฉันเริ่มทำหน้าที่นี้ตอนเรียนอยู่ชั้น ป. ๕ พอถึงเจ็ดโมงก็กินข้าวและเตรียมตัวไปเรียนที่โรงเรียนไทย พอโรงเรียนเลิกสี่โมงเย็นก็กลับมาช่วยทำงานบ้าน อาบน้ำ กินข้าว หลังจากนั้นก็ไปเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนของชาวจีนฮ่อในหมู่บ้านเดียวกันจนถึงสามทุ่ม เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา ๙ ปีที่อยู่ที่นี่
ทำไมต้องเรียนหนักขนาดนี้
เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องเรียนหนักขนาดนี้ แต่พอคิดถึงชีวิตในรัฐฉานและสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอนไว้ก็เข้าใจ เพราะถ้าอยู่ในรัฐฉานต่อไป ฉันก็ไม่มีโอกาสได้เรียน ฉันรู้ว่าพ่อแม่ลำบากมากที่จะต้องทำงานเก็บเงินส่งมาให้ แม่เล่าว่า เคยมีคนมาถามแม่ว่า ส่งลูกมาอยู่ชายแดนทำไม แล้วให้เรียนหนักตั้ง ๓ ภาษา ไม่กลัวลูกเป็นบ้าเหรอ บางคนก็บอกว่าแม่ใจร้ายมากที่บังคับลูกแบบนี้ แม่บอกฉันว่า ความจริงแม่เสียใจที่ต้องอยู่ห่างจากลูก แต่แม่ทำไปเพราะอยากให้ลูกมีโอกาสเรียนหนังสือ พ่อแม่ไม่มีอะไรให้ลูก นอกจากการศึกษาเท่านั้น ความรู้จะช่วยให้ลูกมีชีวิตอยู่รอดต่อไปในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่
อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชายแดน ทำไมต้องเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีน
พ่อกับแม่คิดว่าน่าจะเรียนเอาไว้เป็นความรู้ติดตัว เพราะใคร ๆ ก็คิดว่าภาษาอังกฤษสำคัญ แต่ตอนเด็ก ๆ อยู่ในหมู่บ้าน เราก็ยังไม่รู้ว่ามันสำคัญอย่างไร เพราะไม่รู้จะเอาไปใช้พูดกับใคร ส่วนภาษาจีน ตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนไปแล้วจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่ไปเรียนแล้วสนุกดี ทำให้มีเพื่อนเยอะ ทั้งคนจีนฮ่อและคนไทใหญ่ รวมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมหลายอย่างของเขาไปด้วย
เหนื่อยบ้างไหม แล้วคิดถึงพ่อแม่มากไหม
เหนื่อย บางทีก็ง่วง เพราะต้องตื่นแต่เช้า ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ในหมู่บ้านมีงานศพ งานบวช หรืองานประเพณีอะไร ฉันก็ไปช่วยงาน ทำให้ฉันไม่มีเวลาเศร้าคิดถึงพ่อแม่เท่าไร แต่ถ้าพ่อแม่มาหา เวลาเขากลับ ฉันก็จะร้องไห้ทุกที พ่อแม่จะมาหาปีละครั้ง บางทีก็ ๒ ปีครั้งหรือนานกว่านั้น แล้วแต่สถานการณ์ข้างใน บางทีมีจดหมายส่งมาให้ปีละ ๒ ครั้ง จดหมายก็สั้นๆ แค่หน้าเดียว เวลาคิดถึงก็เอามาอ่านบ่อยๆ แต่การเรียนหนังสือหนักก็ทำให้ไม่ค่อยไม่มีเวลาเศร้ามากนักเพราะต้องทำการบ้าน
อยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าจนถึงอายุเท่าไร หลังจากนั้นไปอยู่ที่ไหน
อยู่จนถึงอายุ ๑๕ ปี เรียนจนจบชั้น ม. ๓ ก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะโรงเรียนในหมู่บ้านมีถึงแค่ ม. ๓ ถ้าจะเรียนต่อจนถึง ม. ๖ ต้องไปเรียนที่อำเภอซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม เพื่อนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อ แต่ออกไปทำงานรับจ้างในเมือง ตอนแรกฉันก็เริ่มลังเลเหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไป ถ้าเรียนต่อ พ่อแม่ก็คงจะลำบากหาเงินมากขึ้น ก็เลยเริ่มคิดจะหางานทำ ตอนแรกคิดว่าคงจะไปหางานรับจ้างในเมืองเหมือนกับเพื่อนส่วนใหญ่ แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกว่าอยากจะทำงานช่วยเหลือคนไทใหญ่ด้วยกัน ติดอยู่ตรงที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง พอดีได้ไปอ่านจดหมายข่าวรายเดือนที่มีชื่อภาษาไทใหญ่ว่า กอนขอ หรือภาษาอังกฤษว่า Independence ซึ่งผลิตโดยสำนักข่าวชาน (Shan Herald Agency for News – S.H.A.N) สำนักข่าวไทใหญ่ที่ก่อตั้งโดยชาวไทใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งคนในหมู่บ้านนับถือ จดหมายข่าวฉบับนี้มีข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับรัฐฉาน ตีพิมพ์เป็น ๔ ภาษาในฉบับเดียวกัน คือ ภาษาไทย ภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ตอนที่ได้อ่านจดหมายข่าวนี้ครั้งแรก รู้สึกภูมิใจมากที่เห็นตัวหนังสือไทใหญ่พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ เพราะรู้สึกว่าคนไทใหญ่ถูกทหารพม่ากดขี่ ไม่ค่อยมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือรักษาวัฒนธรรม สังคม ภาษา ของตนเองไว้ พอได้เห็นอย่างนั้นก็ดีใจ และพออ่านเนื้อหาก็ได้รู้เรื่องสถานการณ์ต่างๆ ข้างในรัฐฉานว่าชาวบ้านเดือดร้อนยังไงบ้าง ซึ่งมันตรงกับประสบการณ์ที่เคยเจอตอนเด็กๆ พออ่านแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นมาก มันทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว เรามีหนทางที่จะนำเรื่องราวที่ทหารพม่าทำร้ายชาวบ้านไทใหญ่มาบอกให้คนอื่นรับรู้ได้ด้วย มันเหมือนกับมาเจอคำตอบให้แก่สิ่งที่สงสัยมานาน คือเรารู้ว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในรัฐฉาน แต่ไม่รู้ว่าจะบอกให้คนภายนอกรับรู้ได้อย่างไร ฉันจึงบอกกับชาวไทใหญ่ที่ทำหนังสือฉบับนั้นว่า ฉันเรียนจบ ม. ๓ แล้ว และสนใจอยากเรียนรู้ว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไร ถ้าฉันช่วยอะไรได้ฉันก็อยากจะช่วย เขาก็บอกให้มาลองฝึกงานดู พอไปถึงวันแรกก็เริ่มหัดพิมพ์ดีด ตอนนั้นยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย แต่ก็ได้เริ่มอ่านข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐฉานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เริ่มตอบคำถามหลายๆ อย่างที่ค้างคาใจมานานได้ เช่น เริ่มรู้ว่าเหตุผลที่เราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะมีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารไทใหญ่ และเพราะอะไรถึงมีการสู้รบกัน เริ่มรู้ว่าทำไมคนไทใหญ่ต้องอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เหล่านี้เป็นต้น ระหว่างฝึกงานที่นี่ ได้มีโอกาสตามไปช่วยเก็บข้อมูลผู้อพยพไทใหญ่ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย นับจากนั้นก็เริ่มสนใจงานเก็บข้อมูล โดยเรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์จากเพื่อนที่มีประสบการณ์ เพราะเราไม่เคยผ่านการอบรมเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบมาก่อน
ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไรบ้าง
ทหารพม่ากดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ เช่น บังคับใช้แรงงานในค่ายทหารหรือโครงการต่างๆ ของกองทัพ โดยอ้างว่าเป็นโครงการพัฒนาประเทศ ทำให้ชาวบ้านแทบไม่มีเวลาทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวตัวเอง ถูกบังคับไปเป็นลูกหาบแบกเสบียงและอาวุธเพื่อรบกับทหารกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลายคนถูกทรมานร่างกายเมื่อแบกหามไม่ไหว หลายคนไม่มีโอกาสกลับมาหาครอบครัวอีกเลย และบางคนก็เสียชีวิตเนื่องจากถูกทหารฆ่าทิ้งระหว่างทาง
ช่วยยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้ฟังหน่อยได้ไหม
ช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๑ กองทัพพม่าออกคำสั่งขับไล่ชาวบ้าน ๑,๔๐๐ กว่าหมู่บ้านในเขตรัฐฉานภาคกลาง ทำให้ชาวบ้านกว่า ๓ แสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ชาวบ้านเหล่านี้ต้องขนของย้ายไปอยู่ตามค่ายทหารพม่าหรือตามถนนในเมืองภายใต้การควบคุมของทหารพม่า ชาวบ้านจะมีเวลาย้ายข้าวของแค่ ๓-๗ วัน ถ้าใครไม่ไปจะถูกเผาบ้าน ทำร้าย หรือฆ่าทิ้ง พื้นที่เหล่านี้จะถูกประกาศว่าเป็นเขตยิงอิสระ หากใครเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้จะถูกยิงทิ้งทันที หลายพื้นที่มีรายงานการถูกสังหารหมู่ เพราะชาวบ้านต้องการกลับไปเอาข้าวของที่ยังขนไปไม่หมด ในพื้นที่ใหม่ที่ทหารพม่าสั่งให้ไปอยู่ ไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ อาหาร หรือที่ทำกิน จากคนที่เคยเป็นเจ้าของไร่นาที่มีอาหารเพียงพอสำหรับยังชีพ มีสัตว์เลี้ยงและทรัพย์สินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรเหลือเลย การกระทำบางอย่างของทหารพม่ามันโหดร้ายจนไม่มีใครอยากจดจำ หลายคนเห็นญาติถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา และมีผู้หญิงถูกข่มขืนเป็นจำนวนมากในพื้นที่นี้
เพราะอะไรทหารพม่าจึงออกคำสั่งดังกล่าว
ทหารพม่าไม่ต้องการให้ชาวบ้านให้การสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ซึ่งสู้รบกับทหารพม่าอยู่บริเวณภาคกลางของรัฐฉานในเวลานั้น พื้นที่เหล่านี้จะถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่สีเทา ซึ่งทหารพม่าจะเข้าควบคุมการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าในพื้นที่เหล่านี้ อาทิ พลอย ไม้สัก และแร่ธาตุหลายชนิด
ทุกวันนี้ชาวไทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มีความเป็นอยู่อย่างไร
ชาวไทใหญ่กว่า ๓ แสนคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งสร้างกระต๊อบอาศัยอยู่ในเขตเมือง และพยายามดิ้นรนหางานรับจ้างไปวันๆ อีกกลุ่มหนึ่งพากันหนีตายหลั่งไหลเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่เหลือแอบหลบซ่อนอยู่ในป่า หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผู้พลัดถิ่นภายใน” (Internally Displaced Persons หรือ IDPs) กลุ่มนี้จะเก็บพืชผักตามป่าเพื่อยังชีพไปวันๆ และต้องเคลื่อนย้ายที่ซ่อนไปเรื่อยๆ เพราะหากทหารพม่ามาพบ อาจถูกฆ่าหรือทรมาน
ย้อนกลับมาถึงชีวิตของจ๋ามตอง ฝึกงานที่สำนักข่าวไทใหญ่นานไหม หลังจากนั้นไปทำอะไรต่อ
ฝึกอยู่ประมาณ ๒-๓ เดือน องค์กร Altsean-Burma ที่กรุงเทพฯ ก็ติดต่อให้ไปฝึกงานด้วย ๑ ปี องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้กลุ่มประเทศอาเซียนรับรู้ปัญหาในพม่า และต้องการส่งเสริมทักษะการสื่อสารให้กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานรณรงค์ คนที่ทำงานที่นี่มาจากทุกประเทศในแถบอาเซียน ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เป็นครั้งแรกที่ได้นำภาษาอังกฤษที่เรียนจากบ้านครูแมรี่มาใช้จริงๆ ตอนแรกไม่กล้าพูด เพราะฉันเคยแต่อ่านและพูดในห้องเรียน ไม่เคยใช้พูดกับคนต่างชาติจริงๆ พอพูดไป บางคนก็ไม่เข้าใจ แล้วก็หัวเราะทั้งที่เราพูดเรื่องซีเรียส ตอนนั้นเพิ่งรู้ว่าภาษาอังกฤษมันสำคัญมากจริงๆ ก่อนหน้านั้นฉันยังไม่เคยได้ใช้ เลยยังไม่มีอะไรมาพิสูจน์ว่ามันสำคัญอย่างไร หลังจากนั้นก็พยายามฝึกฝนทักษะทั้งการพูด ฟัง อ่าน เขียน มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาของชาวไทใหญ่มากขึ้น
ได้เรียนรู้อะไรจากการฝึกงานที่ Altsean-Burma บ้าง
ได้เรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ชนชาติตนเอง เคยมีคนถามว่ารู้จักเจ้าช้าง หยองห้วย ซึ่งเป็นลูกชายเจ้าฟ้าส่วยไต ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า และมหาเทวีเฮือนคำ ภรรยาของเจ้าฟ้าส่วยไตไหม พอฉันตอบว่าไม่รู้ เขาก็ทำหน้าแปลกใจแล้วบอกว่า ขนาดเขายังรู้จักเลย เจ้าช้างเป็นผู้นำความคิดทางการเมืองที่ใช้เป้าหมายเดียวกันแต่วิธีการแตกต่าง (common goal diverse actions) พอได้ยินแบบนี้ฉันก็รู้สึกอายและเสียใจที่เราเป็นคนไทใหญ่แต่ไม่รู้จักคนสำคัญของชนชาติตนเอง ทำให้ต้องขวนขวายที่จะรู้ประวัติศาสตร์ของตนเองเพื่อมาตอบคำถามคนอื่นให้ได้ ช่วงนั้นเริ่มตระหนักถึงปัญหาการศึกษาของคนไทใหญ่มากขึ้นว่า ผลกระทบของการไม่ได้เรียนหนังสือมันไปไกลมาก และแค่เพียงพูดกับเขียนเป็นก็ยังไม่พอ เราจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชนชาติตนเองด้วย เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และมองเห็นอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้น
รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชนหรือ human rights ตั้งแต่เมื่อไร ตอนได้ยินครั้งแรก เข้าใจไหมว่ามันคืออะไร
เริ่มรู้จักจากหนังสือเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เขาเขียนไว้สวยหรูว่า สิทธิของมนุษย์มีอย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่เราก็สงสัยว่ารู้แล้วจะเอาไปทำอะไรได้ จะไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงได้อย่างไร เพราะในสถานการณ์จริง คนที่ละเมิดสิทธิเขาไม่สนใจปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ แล้วใครจะมาลงโทษ จะมีมาตรการอะไรที่จะทำให้ตัวหนังสือที่เขียนไว้นำมาใช้ในทางปฏิบัติได้จริง รู้สึกว่าก็ดีนะที่มีข้อตกลงอย่างนั้นอย่างนี้ในระดับสากล แต่เราจะนำไปใช้กับสถานการณ์ของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานกับทหารพม่าได้อย่างไร จนกระทั่งฉันได้พบปะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากที่อื่นๆ มากขึ้น ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนจากที่ต่างๆ จึงทำให้ได้รู้ว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาสากลที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวไทใหญ่เพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เผชิญปัญหาความรุนแรงไม่ต่างกัน เราควรจะนำปัญหาของชาวไทใหญ่มาเป็นประเด็นหนึ่งร่วมในการต่อสู้ในระดับสากล ใช้หลักการสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศได้ตกลงร่วมกันให้เป็นประโยชน์กับชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่ถูกกดขี่ข่มเหง
เริ่มต้นสนใจงานด้านการละเมิดสิทธิของผู้หญิงไทใหญ่ได้อย่างไร
ตอนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่หมู่บ้านที่ชายแดนไทย มีเพื่อนหลายคนที่ถูกหลอกไปขายบริการ เริ่มเข้าใจว่านอกเหนือจากการถูกทหารพม่าละเมิดสิทธิต่างๆ แล้ว ผู้หญิงยังต้องประสบกับปัญหาอีกมาก ช่วงฝึกงานที่ Altsean-Burma ทางมูลนิธิผู้หญิงติดต่อให้ไปช่วยเป็นล่ามให้ผู้หญิงไทใหญ่ ๑๗ คนซึ่งถูกหลอกมาขายบริการทางเพศและถูกจับ ผู้หญิงเหล่านี้มาพักฟื้นปรับสภาพจิตใจที่บ้านเกร็ดตระการเพื่อรอการส่งกลับรัฐฉาน ทั้งหมดอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี อายุต่ำสุดแค่ ๑๓ ปีเท่านั้น ตอนนั้นฉันอายุแค่ ๑๗ ปี คนส่วนใหญ่อายุพอๆ กับฉัน แต่พวกเขาน่าสงสารมาก บางคนพ่อแม่เป็นคนขายลูกด้วยตนเองเพราะถูกทหารพม่ากดขี่ข่มเหงจนไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ บางคนรู้ว่าพ่อแม่รับเงินไปแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าพ่อแม่ไม่มีทางเลือก บางคนถูกหลอกมาขาย พวกเขาไม่รู้ทางกลับบ้านตัวเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบจากความล้มเลวของระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ นำไปสู่การขยายตัวของปัญหาสังคมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นสถานการณ์ทางโน้นแย่มาก ฉันก็เป็นห่วงว่าถ้าคนเหล่านี้ถูกส่งกลับไปแล้วจะเป็นยังไง เริ่มรับรู้ว่าปัญหาผู้หญิงไทใหญ่มีหลายอย่าง เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นทุกวัน รู้สึกแย่มากๆ ที่ผู้หญิงอายุรุ่นเดียวกับเราต้องมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ ฉันไปเยี่ยมเขาอาทิตย์ละวันสองวันช่วงตอนเย็น จนกระทั่งเขาถูกส่งกลับ
หลังจากฝึกงานกับ Altsean-Burma ครบ ๑ ปี ทางมูลนิธิผู้หญิงก็ถามว่าอยากมาทำงานกับเขาไหม ฉันก็สนใจอยู่ แต่ว่าอยากจะกลับไปร่วมงานกับองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือคนไทใหญ่ที่ชายแดนไทยก่อน เพื่อดูว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ช่วงนั้นตรงกับปี ๒๕๔๒ กลุ่มผู้หญิงไทใหญ่หลายคนซึ่งทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์กระจัดกระจายอยู่ตามองค์กรต่างๆ และมีความฝันอยากจัดตั้งองค์กรผู้หญิงไทใหญ่ร่วมกันมานานแล้วได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่” หรือ “สวอน” (Shan Women’s Action Network – SWAN) ขึ้น จึงมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มด้วย เพราะตรงกับความสนใจของฉันพอดี
เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) มีเป้าหมายอย่างไร
ส่งเสริมสิทธิสตรีและเด็ก ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงที่กระทำต่อสตรีและเด็ก ร่วมกันทำงานในการสร้างสันติภาพและเสรีภาพในรัฐฉาน สร้างความเข้มแข็งให้สตรี และสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มีการทำงานในระดับรากหญ้าโดยโครงการสร้างสมรรถภาพต่างๆ เช่นการศึกษา สุขภาพ การเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็ทำงานรณรงค์ในระดับสากลเพื่อสร้างความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และมีการผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในทางที่ดีขึ้น
เริ่มต้นทำงานกันอย่างไร
เริ่มจากการทำโครงการต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ รวมถึงกิจกรรมรณรงค์เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น กิจกรรมด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม โครงการสุขภาพ จัดทำโปสเตอร์ด้านสุขภาพ การยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ในระดับสากลถึงปัญหาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวไทใหญ่โดยทหารพม่าซึ่งไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่เท่าไร เราได้ไปรณรงค์ในเวทีต่างๆ รวมถึงเวทีของสหประชาชาติ เช่นในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on Human Rights) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่ความทุกข์ยากของชาวไทใหญ่ให้นานาชาติได้รับรู้ ฉันได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากสวอนไปนำเสนอปัญหาต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยมีเวลาพูด ๕ นาที ตอนนั้นฉันอายุแค่ ๑๗ ปี อาจเป็นตัวแทนที่อายุน้อยที่สุด พอพูดไปเสียงก็เริ่มสั่น เกือบจะร้องไห้บนเวที เพราะต้องนำเสนอปัญหาที่ผู้หญิงไทใหญ่ถูกทหารพม่าข่มขืนซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก กว่าจะพูดจบก็เกินเวลาที่กำหนดไว้ แต่เขาก็ไม่ว่าอะไร รอให้หยุดสะอื้นและอนุญาตให้พูดต่อจนจบ พอลงจากเวทีก็มีคนมาขอเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่ฉันพูด แล้วก็มากอดและพูดให้กำลังใจ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้รู้ว่า คนภายนอกเองก็มีความเห็นอกเห็นใจ มีความหวังดี และให้กำลังใจชาวไทใหญ่เช่นกัน
ความยากลำบากในการไปร่วมประชุมครั้งนี้คืออะไร
การพยายามทำให้ประเด็นของตนเองได้รับความสนใจ เพราะการประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก แต่ละคนก็ต้องการให้ประเด็นของตนเองได้รับความสนใจเพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจและการแก้ไขปัญหา ไม่มีใครมาคอยถามว่าปัญหาของเราเป็นอย่างไร แต่เราต้องหาโอกาสพูดถึงปัญหาของเราให้ได้ เราไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนภายนอกมากนัก เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามหาทางบอกให้คนอื่นรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นให้ได้มากที่สุด การร่วมไม้ร่วมมือและประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก
ประโยชน์ที่ได้มีอะไรบ้าง
ข้อแรก เป็นเวทีกว้างซึ่งรวมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับโลก ทำให้รู้ว่าเราไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีปัญหา คนอื่นก็มีปัญหาเยอะเหมือนกัน แล้วมันคงเทียบไม่ได้ว่าใครลำบากกว่าใคร เพราะเวลาคนลำบากมันก็ไม่ใช่ว่าลำบากน้อยหรือมาก ข้อสอง มีตัวแทนของทหารพม่านั่งฟังอยู่ด้วย และก็มีคนทั้งโลกเป็นพยานรับรู้ร่วมกันว่าทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงและประชาชนไทใหญ่อย่างไรบ้าง
การจัดทำรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” หรือ “License to Rape” ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และได้รับการแปลเป็นหลายภาษา มีความเป็นมาอย่างไร
การข่มขืนผู้หญิงในรัฐฉานโดยทหารพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ รายงานฉบับนี้เริ่มต้นจากองค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation – SHRF) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน แล้วพบว่าในแต่ละเดือนมีผู้หญิงถูกข่มขืนหลายคน จึงมาคุยกันว่าน่าจะทำรายงานเรื่องสถานการณ์การข่มขืนในรัฐฉานโดยเฉพาะ โดยรวบรวมจากรายงานที่องค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ทำในแต่ละเดือน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงมีการข่มขืนมากขนาดนี้ เมื่อเริ่มรวบรวมรายงานตั้งแต่ปี ๒๕๓๙-๒๕๔๔ เราก็ต้องตกใจกับตัวเลขที่ได้ เพราะจำนวนของผู้หญิงถูกข่มขืนมีเยอะมาก คือ ๖๒๕ คน จาก ๑๗๓ เหตุการณ์ หลังจากนั้นเรามีการเช็กข่าวหลายขั้นตอน เริ่มตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากเหยื่อหรือพยานที่เห็นเหตุการณ์ว่าทหารพม่าที่ข่มขืนเป็นใคร บางคนก็จำได้ บางคนก็จำไม่ได้ รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนไทใหญ่หลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล กลุ่มผู้เขียน กลุ่มผู้แปลข้อมูลการสัมภาษณ์จากภาษาไทใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ หลังจากได้ข้อมูลครบ เราก็เริ่มวิเคราะห์ เอาหลักกฎหมายสากล กฎหมายระหว่างประเทศ มาวิเคราะห์สถานการณ์ข่มขืน เริ่มรวบรวมสถานการณ์ตามพื้นที่ต่างๆ ในรัฐฉานซึ่งนำไปสู่ปัญหา “การข่มขืนอย่างเป็นระบบ” หรือ “systematic sexual violence” เรานำสถานที่เกิดเหตุมาพล็อตลงบนแผนที่ ทำให้เห็นภาพรวมว่าเกิดเหตุการณ์ที่ไหน แล้วทำแผนที่บอกจุดที่เกิดเหตุในรัฐฉาน ทีมงานใช้เวลาทำประมาณ ๑ ปี ก่อนเผยแพร่รายงานฉบับนี้ในภาษาอังกฤษ ช่วงนั้นมีการก่อตั้งสวอนขึ้นมาแล้ว เราจึงคิดว่าน่าจะออกรายงานฉบับนี้ร่วมกันระหว่าง ๒ องค์กร สวอนจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับรายงานฉบับนี้ ฉันเองไม่ได้เป็นคนเก็บข้อมูลหลัก แต่ทำหน้าที่เผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้
ความยากลำบากของการจัดทำรายงานฉบับนี้อยู่ตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่าผู้หญิงคนนั้นถูกข่มขืน
เรื่องการข่มขืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเรื่องที่น่าอับอายสำหรับผู้หญิงทุกคน ข้อมูลที่ได้มาจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านเป็นคนบอกก่อน แต่บางครั้งเจ้าตัวก็เป็นคนบอกเอง บางคนเห็นแม่ถูกข่มขืน บางคนแม่ถูกข่มขืนบนบ้าน และลูกถูกข่มขืนในป่าข้างบ้าน บางคนถูกข่มขืนต่อหน้าลูกและสามี กว่าจะได้คุยเรื่องข่มขืน ต้องไปสร้างความสัมพันธ์กับเขาก่อนหลายครั้ง พูดคุยและให้กำลังใจ เพราะถึงแม้เหตุการณ์อันเลวร้ายผ่านไปนานแค่ไหน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้บาดแผลและความเจ็บปวดนั้นน้อยลงหรือลบเลือนไปแต่อย่างใด แล้วเราก็ค่อยๆ อธิบายให้เขารู้ถึงเหตุผลที่เรามาคุยกับเขาว่า เราอยากให้โลกรับรู้ว่าอย่างไร อยากให้มีการช่วยเหลืออย่างไร เราพยายามอธิบายกับเขาว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นการพูดแทนผู้หญิงหลายๆ คนที่ไม่มีโอกาสพูด เพราะผู้หญิงหลายคนถูกฆ่าทิ้งหลังข่มขืน ถ้าเขาไม่อยากเปิดเผยชื่อก็ไม่เป็นไร เราจะไม่ระบุว่าเขาอยู่ที่ไหนหรือเป็นใคร และพยายามทำให้ตัวผู้หญิงเองรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อ แต่ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ต้องการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน
ในฐานะผู้หญิงไทใหญ่ด้วยกัน มองผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเหล่านี้อย่างไร
ผู้หญิงเหล่านี้กล้าหาญมาก เพราะถึงแม้การพูดถึงการข่มขืนจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกข่มขืนอีกครั้งแต่เขาก็เลือกที่จะพูด เพราะเขาไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนไหนอีก ทหารพม่าต่างหากที่สมควรอับอายและละอายใจกับการข่มขืนผู้หญิงอย่างโหดร้ายทารุณ
ทำไมถึงมีการข่มขืนมากในรัฐฉาน บริเวณไหนที่มีการข่มขืนมาก เพราะอะไร
ทหารพม่าต้องการข่มขวัญประชาชน ต้องการทำลายศักดิ์ศรีให้สังคมนั้นๆ ได้รับความอับอาย โดยใช้เรือนร่างผู้หญิงทุกวัยเป็นเครื่องมือ ทหารพม่าใช้ “การข่มขืนอย่างเป็นระบบ” เป็นอาวุธในการทำสงครามปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิงถูกข่มขืนไม่ใช่เพราะเป็นผู้หญิง แต่ถูกข่มขืนเพราะเป็นผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์ การข่มขืนจะกระทำโดยทหารชั้นผู้ใหญ่ และเหมือนเป็นการอนุญาตให้ทหารใต้บังคับบัญชาข่มขืนผู้หญิงได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดแต่อย่างใด การข่มขืนโดยทหารพม่าเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า และเกิดขึ้นมากในพื้นที่ของรัฐฉาน โดยเฉพาะภาคกลางที่มีการขับไล่ประชาชนออกจากหมู่บ้าน มีการกักขังผู้หญิงเป็นเวลายาวนานถึง ๔ เดือน ผู้หญิงจะถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกบังคับใช้แรงงานตอนกลางวันและถูกข่มขืนตอนกลางคืนเสมือนเป็นทาส
หลังจากมีการเผยแพร่รายงานออกไป ผลตอบรับเป็นอย่างไร
ได้รับความสนใจมากเกินคาด ตอนที่เริ่มทำแค่คิดว่าเหมือนรายงานสถานการณ์ทั่วไปที่คนอื่นเคยทำมาก่อน เป้าหมายของเราเริ่มจากต้องการทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงในรัฐฉานที่ถูกทำร้ายและต้องการต่อต้านความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง พอดีช่วงที่เราออกรายงาน อองซาน ซูจี เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ทั่วโลกกำลังจับตามองว่ารัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร นักข่าวที่ติดตามสถานการณ์พม่าก็เริ่มเขียนถึงรายงานของเรา หลังจากนั้นองค์กรรณรงค์ในอเมริกาก็นำไปเสนอในสภาคองเกรสของอเมริกา นักข่าวในอเมริกาก็เริ่มนำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ ก็เริ่มสนใจ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในภายหลังรายงานฉบับนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและติดอันดับหนังสือขายดี ทำให้คนไทยสนใจมากขึ้น อย่าง สว. ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะ ให้ความสนใจลงมาติดตามข้อมูลในพื้นที่ผู้ลี้ภัยไทใหญ่ที่หนีจากการสู้รบด้วย
รัฐบาลทหารพม่าตอบโต้อย่างไร
ทหารพม่าแถลงข่าวตอบโต้รายงานของเราตลอดเวลาหลายสัปดาห์ เขาบอกว่ารายงานฉบับนี้ไม่เป็นความจริง องค์กรของเราเป็นองค์กรผิดกฎหมาย ตั้งอยู่นอกประเทศ ต้องการทำให้กองทัพพม่าเสียหาย กล่าวหาว่าองค์กรของเรามีผู้นำไทใหญ่ที่เป็นผู้ชายสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ดูถูกว่าผู้หญิงไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ต้องมีผู้ชายบงการ เราก็ต้องแถลงข่าวโต้สิ่งที่ทหารพม่ากล่าวหา แต่ปรากฏว่ายิ่งรัฐบาลทหารพม่าแถลงข่าวตอบโต้ในหนังสือพิมพ์และสื่อของรัฐบาลมากเท่าไร นักข่าวก็ยิ่งสนใจติดตาม ทำให้รายงานของเรายิ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนในพม่ามากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเขาต้องอธิบายว่ารายงานของเรามีเนื้อหาอะไรบ้างเพื่อที่จะชี้แจงว่าไม่จริงอย่างไร มันก็เหมือนเขาช่วยประชาสัมพันธ์รายงานของเราโดยไม่ตั้งใจ ปรากฏว่าประชาชนในพม่าพยายามติดต่อมาที่องค์กรของเราเพราะอยากจะอ่านรายงานฉบับนี้ ภายหลังรายงานฉบับนี้ได้รับการแปลหลายภาษา เช่น เยอรมัน ไทย และพม่า
รัฐบาลทหารพม่าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างไร
คงไม่มีความบริสุทธิ์อะไรที่จะพิสูจน์ได้ เขาออกแถลงข่าวว่าส่งคนลงไปตรวจสอบหมู่บ้านที่ปรากฏในรายงาน แต่ไม่มีหมู่บ้านเหล่านี้ หรืออ้างว่าทหารชั้นผู้ใหญ่หรือทหารทั่วไปที่มีรายชื่อในรายงานไม่เคยปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว หรือบอกว่าขณะที่เกิดเหตุ ทหารเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ทางเราก็ออกแถลงการณ์กลับไปว่า สาเหตุที่ไม่มีหมู่บ้านเหล่านี้ก็เพราะทหารพม่าสั่งย้ายคนออกไปหมดแล้ว เหลือแต่หมู่บ้านร้าง นอกจากนี้ ยังมีการส่งภรรยาของพลเอก ขิ่น ยุ้นต์ นายกฯ คนก่อน ลงไปปลุกระดมชาวบ้านในรัฐฉานให้ออกมาต่อต้านรายงานฉบับนี้ แล้วก็ล่าลายเซ็นชาวบ้านให้บอกว่าไม่มีการข่มขืนเกิดขึ้น มีการส่งหน่วยข่าวกรองและทหารหลายหน่วยเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านว่า หากมีใครกล้าพูดเรื่องข่มขืนให้คนภายนอกรับรู้ จะกลับมาตัดลิ้นและฆ่าหมดทั้งครอบครัว
สวอนรับมือกับกระแสตอบรับและตอบโต้อย่างไร
ช่วงนั้นทุกคนทำงานหนักมาก ทุกครั้งที่เขาออกแถลงการณ์ว่าเรา เราต้องประชุมกันเพื่อระดมยุทธศาสตร์ในการแถลงการณ์และนำเสนอต่อสาธารณชน นักข่าวก็จะติดตามขอสัมภาษณ์ตลอด ต้องแบ่งหน้าที่กันให้สัมภาษณ์นักข่าว ในช่วงแรกๆ หากผู้หญิงคนไหนยินดีให้สัมภาษณ์ ทางสวอนก็พานักข่าวไปสัมภาษณ์ แต่พอช่วงหลังๆ สวอนตัดสินใจไม่พานักข่าวไปสัมภาษณ์ เนื่องจากตัวผู้หญิงเองก็เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับบาดแผลและความขมขื่นที่ยากจะลืมเลือน อีกอย่าง มีเวทีระดมความคิดในการให้ความช่วยเหลือและวางยุทธศาสตร์ในการเผยแพร่รายงานหลายที่ สมาชิกในองค์กรก็ต้องเดินสายไปพูดในหลายเวทีทั้งในและต่างประเทศ เหนื่อยมากแต่ก็ถือว่าคุ้ม เพราะปัญหาของผู้หญิงไทใหญ่เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอเท่าไร การเดินสายไปเผยแพร่จึงทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาของผู้หญิงไทใหญ่มากขึ้น
รายงานฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารพม่าอย่างไร
ทางสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ตั้งคำถามกับรัฐบาลทหารพม่าว่า รายงานฉบับนี้เป็นความจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงจะพิสูจน์ได้อย่างไร รัฐบาลพม่าต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ต่อหน้าตัวแทนของทุกประเทศ ตอนแรกยูเอ็นบอกว่า ต้องการไปสอบสวนในรัฐฉาน ซึ่งทางเราก็เป็นห่วงความปลอดภัยของชาวบ้านที่ให้ข้อมูลและผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ เพราะแม้แต่ อองซาน ซูจี ที่มีคนทั้งโลกจับตาดู ยังถูกจับและถูกทำร้าย แล้วนับประสาอะไรกับผู้หญิงตัวเล็กๆ และชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านในป่า ถ้าหากยูเอ็นเข้าไปจริง เราก็ต้องขอให้มีมาตรการความปลอดภัยที่ชัดเจน คือเราจะไม่ยอมให้เข้าไปโดยที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเหล่านี้ เพราะทหารพม่าได้ลงไปขู่ชาวบ้านว่า ถ้าใครพูดอะไร จะตัดลิ้นหรือฆ่าทิ้งทั้งครอบครัว ซึ่งแม้ยูเอ็นไม่เข้าไป เขาก็มีความหวาดกลัวอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้เรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นสาเหตุให้เขาถูกทำร้ายอีก สวอนก็ต้องมาต่อสู้กับยูเอ็นอีกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากให้มีการไปสอบสวน แต่ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบความปลอดภัยของผู้หญิงเหล่านี้ พอเราอธิบายแบบนี้ บางคนก็บอกว่า เห็นไหม เพราะมันไม่จริงก็เลยไม่อยากให้ไปตรวจสอบ แต่สุดท้าย คนที่ไม่ยอมให้ไปตรวจสอบก็คือรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่อยากให้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อนุญาตให้ทหารข่มขืนผู้หญิงอย่างเป็นระบบ
ถ้าอย่างนั้นเราพิสูจน์ได้อย่างไรว่ารายงานของเราเป็นความจริง
เราเรียกร้องให้เขามาสัมภาษณ์ผู้หญิงที่หนีมาชายแดนประเทศไทย ในที่สุด ตัวแทนของทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติในพม่าก็ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พร้อมพบปะกับผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมทางเพศรวมถึงพยานหลายคนตามแนวชายแดนไทย-พม่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ส่งตัวแทนมาแล้วทำรายงานยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ทำให้ได้หลักฐานชี้ชัดว่ากองทัพพม่าใช้การข่มขืนและการทารุณกรรมทางเพศต่อผู้หญิงไทใหญ่อย่างเป็นระบบในการทำสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์จริง และการข่มขืนถือว่าเป็นอาวุธสงครามรูปแบบหนึ่ง “การข่มขืนอย่างเป็นระบบ” ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ที่รัฐบาลทหารพม่าได้เคยร่วมลงนามไว้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงต้องออกแนวทางการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าในเวลาต่อมา
หลังจากรายงานฉบับนี้ได้รับความสนใจ ได้กลับไปบอกผู้หญิงไทใหญ่ที่ให้ข้อมูลไหม
ได้กลับไปบอกบางคน เพราะหลายคนต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ทำงาน พอเราบอกว่าเราได้ทำรายงานออกมาแล้ว แต่ทหารพม่าปฏิเสธว่าไม่จริง พวกเธอก็บอกว่า มันไม่จริงได้ยังไง บางคนแม่กับลูกถูกข่มขืนทั้งคู่ พวกเธอรู้ดีที่สุดว่าความจริงมันเป็นยังไง
เวลาคนอ่านรายงานฉบับนี้แล้วไม่เชื่อ คิดว่าเราโกหก เราจะตอบว่าอย่างไร
เราต้องดูก่อนว่า คนที่ไม่เชื่อ เขาอยู่ที่ไหนในโลกนี้ สาเหตุที่เขาไม่เชื่อเพราะเขาไม่เคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับไทใหญ่ในรัฐฉานหรือในพม่าหรือเปล่า เราต้องเข้าใจเขาก่อน ถ้าหากเขาไม่เคยรับรู้ไม่เคยได้ยิน คงยากที่เขาจะเชื่อ แต่ถ้าหากว่าเขารู้แล้วแกล้งถาม เราก็จะบอกเขาว่าให้ลองคิดดูว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับครอบครัวหรือคนที่เขารักจะเป็นยังไง คงไม่มีผู้หญิงคนไหนที่อยากจะมาแกล้งพูดหรือโกหกคนอื่นว่าถูกข่มขืน เราก็จะพยายามเชื่อมโยงให้เขาเห็นเลยว่า มันโหดร้ายมากนะที่ต้องเจอเหตุการณ์อย่างนี้
มีกระบวนการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกข่มขืนอย่างไร
ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา สิ่งที่พวกเธอต้องการคือใช้ชีวิตอย่างปรกติในสังคม พยายามลืมสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เขาไม่อยากอยู่กับสิ่งนั้นอีกแล้ว เขาอยากก้าวไปข้างหน้า แล้วใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ในระยะหลังถ้ามีนักข่าวหรือนักวิจัยอยากสัมภาษณ์เขาา เราจะบอกว่าผู้หญิงเหล่านี้บอกเราว่าพวกเธออยากจะลืม ไม่อยากพูดแล้ว เราต้องให้เกียรติเขาในจุดนั้น บางทีคนก็ยังไม่เข้าใจเรื่องความละเอียดอ่อนตรงนี้เท่าไร การทำงานของเราจะเคารพการตัดสินใจของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด เนื่องจากผู้หญิงที่ถูกข่มขืนไม่ได้รับการเยียวยาทางร่างกาย สภาพจิตใจของผู้หญิงจึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่สวอนให้ความสำคัญ
งานของกลุ่มสวอนหลังจากนั้นเป็นอย่างไร
เราพบว่ารายงานฉบับนี้ทำให้กลุ่มผู้หญิงไทใหญ่เองเริ่มเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน การเก็บข้อมูลออกมาเผยแพร่ และเห็นถึงศักยภาพของผู้หญิงไทใหญ่มากยิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์อื่นในพม่า เราก็ได้ใช้ประสบการณ์ของเราไปช่วยสนับสนุนรายงานที่เขาคิดจะทำอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น กลุ่มสันนิบาตผู้หญิงพม่าซึ่งรวมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าก็ออกรายงานเรื่องการข่มขืน กลุ่มผู้หญิงกะเหรี่ยงก็เก็บข้อมูลเพื่อจะออกรายงานเรื่องการข่มขืนในรัฐกะเหรี่ยงอยู่แล้ว เราก็ไปช่วยวิเคราะห์ เตรียมตัวรับมือกับกระแสทั้งสนับสนุนและตอบโต้จากรัฐบาลทหาร เพราะเราพอรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็เป็นการเพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงกลุ่มอื่นด้วย เราอยากให้องค์กรต่างๆ ที่ทำงานเรื่องพม่าตระหนักว่าบทบาทของกลุ่มผู้หญิงไม่ใช่แค่งานสังคมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพียงแต่เราไม่ใช่องค์กรการเมือง งานที่เราทำมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
หลังจากจัดทำรายงานฉบับนี้ การข่มขืนยังคงมีอยู่หรือไม่
ถึงแม้รายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” จะได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกก็ตาม แต่เหตุการณ์การถูกทหารพม่าข่มขืนยังเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ จากรายงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีคนพบศพพ่อถูกฆ่าตายพร้อมลูกสาว ลูกสาวถูกทรมานและรุมข่มขืน ร่างของเธออยู่ในสภาพที่ไม่มีเสื้อผ้าอยู่เลย และมีถ่านไฟฉายขนาดใหญ่คาอวัยวะเพศอยู่ นั่นหมายถึงความโหดร้ายและฝันร้ายสำหรับผู้หญิงยังคงเกิดขึ้น และไม่มีที่ไหนปลอดภัยสำหรับชีวิตของพวกเธอ
นอกจากสนใจประเด็นผู้หญิงแล้ว ทราบว่าจ๋ามตองยังสนใจเรื่องการศึกษา และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนรวมทั้งจัดทำหลักสูตรอบรมสำหรับเยาวชนจากรัฐฉานไว้ด้วยใช่ไหม
ใช่ค่ะ จุดเริ่มต้นของความคิดนี้มาจากปัญหาที่คนไทใหญ่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยเหมือนกับกลุ่มกะเหรี่ยงหรือคะยา จึงไม่มีความช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ลี้ภัยไทใหญ่ ดังนั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทใหญ่จึงมีน้อยมาก เวลาเขาเรียกอบรมหรือเปิดโอกาสทางการศึกษาที่ไหน คนไทใหญ่ก็จะไม่มีโอกาส เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี สู้กลุ่มที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราน่าจะหาโอกาสทางการศึกษาอะไรสักอย่างที่จะเป็นพื้นฐานให้แก่เยาวชนชาวไทใหญ่ เราอยากมีสถานที่สักแห่งที่จะสร้างเครือข่ายเยาวชนจากรัฐฉาน ถ้าหากเยาวชนเหล่านี้ไม่มีโอกาสเรียน เขาก็จะไม่มีโอกาสทำอะไรเพื่อคนอื่น ถ้าไม่มีการวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตตั้งแต่วันนี้ อีกหน่อยมันก็คงจะสายเกินไป
หลักสูตรที่เปิดสอนมีอะไรบ้าง
ปีแรกเปิดสอนภาษาอังกฤษ สังคมศึกษาและคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา ๖-๙ เดือน เราอยากให้เขาพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง จะได้สื่อสารกับคนชาติอื่นได้ และถ้าเขาใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็น ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาก็จะประสานงานติดต่อเพื่อนๆ หรือองค์กรอื่นได้ ความรู้เหล่านี้ยังช่วยให้เขาหาความรู้เพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต หรืออ่านหนังสือเองและเรียนรู้ด้วยตัวเองต่อไปได้ในอนาคต
เริ่มต้นดำเนินงานอย่างไร
เริ่มจากหาทุนสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าสถานที่ ค่าจ้างครู ค่ากินอยู่ของนักเรียน ปีแรกไม่ค่อยมีใครอยากให้ทุนเท่าไร เพราะคนไทใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัย องค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือก็มีน้อย โครงการการศึกษามีค่าใช้จ่ายเยอะและเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าปีนี้คนเท่านี้ ปีหน้าคนต้องเพิ่มแน่ๆ เพราะคนที่ต้องการโอกาสก็มีเยอะ นอกจากนี้ แหล่งทุนก็ยังมองไม่เห็นว่าเยาวชนเหล่านี้เรียนจบไปแล้วจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
แก้ปัญหาอย่างไร
ไปคุยหลายที่ บางคนก็ให้น้ำดื่มฟรี บางคนให้ข้าวสาร บางคนให้คอมพิวเตอร์มือสอง ส่วนค่าจ้างครู ปีแรกเราก็รับคนที่อยากเป็นอาสาสมัคร ในที่สุดก็ได้ทุนมาก้อนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับนักเรียน ๒๐ คน ค่าอุปกรณ์การเรียน แล้วก็เปิดหลักสูตรแรกปี ๒๕๔๔ พอรุ่นแรกจบก็เริ่มมีแหล่งทุนมองเห็นว่าโครงการนี้ดี เด็กที่จบไปมีความสามารถ ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็เริ่มมีแหล่งทุนมาให้เพิ่ม พอปีที่ ๒ เราก็เริ่มมีทุนจ้างครูเป็นเรื่องเป็นราว
มีการพัฒนาหลักสูตรบ้างไหม
ปีต่อมาเราก็เพิ่มเนื้อหาอื่นในการอบรมแทรกไปด้วย เช่น ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเขา การเขียนข่าว การเก็บข้อมูล สื่อต่างๆ สิทธิผู้หญิง โดยเชิญคนที่มีความรู้ด้านต่าง ๆ มาเป็นวิทยากร
กระบวนการคัดเลือกนักเรียนทำอย่างไร
ทุกๆ ปีจะมีคนสมัครร้อยกว่าคน แต่เรารับได้แค่ ๒๐-๒๔ คน มีการสอบคัดเลือกและสัมภาษณ์ มีคนสมัครเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มาทำงานก่อสร้างและงานรับจ้างทั่วไป เราคัดเลือกเด็กจากกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจากรัฐฉาน อาทิ ไทใหญ่ ปะโอ ปะหล่อง ว้า ลาหู่ คะฉิ่น ทั้งนี้เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรียนรุ้ความเป็นเพื่อน และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เคารพซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในรัฐฉานและในพม่า
มีนักเรียนจบไปแล้วกี่คน และไปทำอะไรกันบ้าง
ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๕ มีนักเรียนจบไปแล้ว ๙๓ คน กำลังศึกษาอยู่ ๒๔ คน บางคนก็เป็นครูตามชายแดนหรือไปทำงานกับองค์กรช่วยเหลือสังคมหลายๆ องค์กร สิ่งที่เราได้ตามมาก็คือเครือข่ายของเยาวชนทั้งหมด ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง เวลาเขาจบออกไปแล้วก็สามารถช่วยเหลือกันได้ นอกจากโรงเรียนจะสนับสนุนเรื่องการศึกษาแล้ว เรายังสนับสนุนให้เขาได้ออกไปทำงานช่วยเหลือผู้อื่นด้วย นักเรียนหลายคนเมื่อจบออกไปแล้ว เขาสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง บางคนบอกว่าก่อนจะมาเรียนที่นี่ เขาทำงานก่อสร้างทุกวัน แล้วก็เฝ้าคิดว่าจะช่วยเหลือคนในสังคมได้อย่างไรบ้าง แต่เขาก็ไม่มีเคยโอกาสเลย เขาดีใจมากที่ได้มาเรียนที่นี่ เพราะมันเป็นจุดที่เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา
ยกตัวอย่างศิษย์เก่าที่น่าภาคภูมิใจให้ฟังหน่อยได้ไหม
บางคนหลังจากเรียนคอมพิวเตอร์แล้ว เขาก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ปัจจุบัน เขาเปิดหลักสูตรสอนคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง มีคอมพิวเตอร์ ๑๐ เครื่อง สอนคนไปแล้ว ๓๐ คน บางคนไปเป็นครูอบรมความรู้เรื่องเอชไอวี บางคนทำโครงการรายการวิทยุ แล้วเชิญฉันไปออกรายการ เห็นแล้วก็รู้สึกดีใจที่ศิษย์เก่าจากโรงเรียนของเราสามารถทำอะไรที่ช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น ได้เห็นว่าเขามีศักยภาพมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นความสำเร็จที่เรามองไม่เห็นในตอนแรก นี่เป็นสิ่งชี้วัดว่าโรงเรียนของเราประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจก็คือเราสามารถรับเด็กนักเรียนได้แค่ปีละ ๒๐ คนเท่านั้น ซึ่งความจริงยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาส
ปัญหาการศึกษาของเยาวชนจากรัฐฉานซึ่งไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ต่างจากเยาวชนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมากน้อยแค่ไหน
ชีวิตในค่ายอพยพนั้นลำบากมาก แต่อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสได้เล่าเรียน สิ่งที่แตกต่างกันมากคือ หนึ่ง ไม่มีโรงเรียนที่ปลอดภัยและครูที่ได้มาตรฐาน เราต้องหาสถานที่มาเป็นที่เรียน ครูที่มาสอนก็เป็นอาสาสมัคร บางคนไม่สามารถอยู่จนครบกำหนดการเรียนการสอน สอง ความมั่นคงของการศึกษา เราไม่รู้ว่าจะหาทุนไปให้เขาได้ถึงเมื่อไรและเราก็อยากหาทุนให้แก่เด็กทุกคนที่ไม่มีโอกาส แต่ก็ลำบาก ต่างจากเด็กในค่ายซึ่งได้รับการศึกษาทุกคน สาม เด็กบางคนต้องย้ายที่อยู่ไปพร้อมกับพ่อแม่ ซึ่งย้ายไปตามไซต์งานก่อสร้างหรือสวนผลไม้ที่รับจ้าง บางคนอาจเรียนได้แค่ ๒ เดือน แล้วก็ย้ายไปที่อื่น ซึ่งก็ไม่มีที่ให้เรียนแล้ว หรือเด็กบางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในสวนส้มซึ่งจะได้เงินวันละหลายบาท เพราะฉะนั้นความมั่นคงในการศึกษาก็จะน้อย หากพ่อแม่เขามีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย มีองค์กรมาดูแลเรื่องปัจจัยสี่ เด็กๆ ก็ไม่ต้องช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้
ตอนนี้มีความฝันอะไรบ้าง
อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียน ถึงแม้จะเป็นแค่พื้นฐานก็ตาม แล้วก็ฝันว่า อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง เพราะคิดว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้คงจะไม่สำเร็จสักที ถ้ายังมีคนที่สร้างปัญหาอยู่เรื่อย ๆ อย่างเช่นทหารพม่าไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน ฆ่าชาวบ้าน ไม่ยอมให้กลับไปอยู่ที่เดิม ถ้าเขาไม่หยุด เราก็ต้องตามมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราพยายามสร้างความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในรัฐฉานให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เราต้องการให้รากเหง้าของปัญหาได้รับการแก้ไขด้วย ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นวงจรเดิมๆ และยิ่งถ้าเราไม่ได้เตรียมแก้ปัญหาตรงปลายเหตุเอาไว้ ระยะห่างของต้นเหตุกับปลายเหตุก็จะยิ่งห่างจากกันไปเรื่อย ๆ
หากผู้นำทหารมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาในพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ถึงแม้รัฐบาลพม่าจะมีทหารและอาวุธมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นเลย เขากำลังทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทำลายอนาคตของเยาวชน สิ่งที่เขาได้มีเพียงอำนาจที่เขาอยากจะควบคุม แต่สุดท้าย มันกลับกลายเป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย คือ lose-lose ไม่ใช่ win-win ถ้าหากผู้นำทหารพม่าไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ประชาชนส่วนใหญ่จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ และนั่นหมายถึงอนาคตของทุกคนที่จะพังลง ปัญหาแรงงาน ผู้ลี้ภัย ยาเสพติด จะไม่จบสิ้นสักที ทางออกที่ดีที่สุดคือ การเริ่มต้นเจรจา ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่เช่นนั้นปัญหาหาก็จะวนเวียนเหมือนเดิมและทวีความรุนแรงมากขึ้น
ตอนนี้จ๋ามตองอายุ ๒๔ ปี คิดว่าแบกรับภาระมากเกินอายุไหม เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน
ฉันชอบทำงานนี้ และมีความสุขที่ได้ทำ ไม่ได้คิดว่าทำงานหนักกว่าคนอื่น เพราะยังมีคนที่อายุมากหรือน้อยกว่านี้ที่ทำงานเหมือนเราหรืออาจมากกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราอาจไม่รู้ การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นงานที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำ ทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียวไม่ได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีเยาวชนหลายคนที่สนใจ กระตือรือร้นที่จะทำงานช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นความหวังมากขึ้น คนอื่นที่ไม่ได้มาทำงานตรงนี้ เขาก็อาจมีปัญหาของเขาเองด้วย เราก็เข้าใจว่าทุกคนอยากให้ชีวิตตัวเองมีอะไรที่ดีๆ ทั้งนั้น
เวลาเห็นเด็กไทยเดินเที่ยวชอปปิง มีชีวิตอย่างสุขสบายกว่า เคยนึกอิจฉาบ้างไหม
ไม่ได้อิจฉาและไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับวัยรุ่นไทย เพราะสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเมืองไทยมันไม่เหมือนกับที่เยาวชนในรัฐฉานพบเจอหรือถูกกระทำ บางครั้งก็เกิดคำถามว่าทำไมชีวิตของคนไทใหญ่ถึงแตกต่างกับคนไทยมากขนาดนี้ ถ้าหากเราไม่มีเรื่องสัญชาติไทยหรือไทใหญ่ หรือพรมแดนและสถานการณ์อันเลวร้ายที่ทหารพม่ากดขี่ข่มเหงมาขวางกั้น ชีวิตเราคงไม่แตกต่างกัน
เคยท้อใจบ้างไหม
ไม่ค่อยท้อ แต่บางทีมันก็ไม่ง่ายที่เราจะทำอะไรได้ดีไปหมด คิดอยู่ตลอดว่างานที่เราทำเป็นการนำเสียงของคนที่อยากพูดถึงปัญหาของเขา ส่งผ่านไปให้คนภายนอกรับรู้ ถ้าหากเราท้อ ก็ต้องหันมาดูว่า ขนาดคนที่ถูกข่มเหงและถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ สูญเสียเกือบทุกอย่างในชีวิต เขายังสู้ขนาดนี้ ในฐานะที่เราเป็นแค่คนนำสาร เราจะท้อได้อย่างไร เราก็ต้องร่วมต่อสู้กับเขาและพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นรับรู้ เพื่อให้มีความช่วยเหลือเข้ามาถึงพวกเขาเหล่านั้น
ทราบว่าได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนหลายรางวัล อยากให้พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับรางวัลเหล่านี้หน่อย
ตอนปี ๒๕๔๖ ได้รับรางวัล Women of the World จากนิตยสาร Marie Claire คือเป็น ๑ ใน ๑๐ ของผู้หญิงทั่วโลกที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ฉันได้รับคัดเลือกในฐานะผู้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ปีนี้ได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน ๓๐ ปี และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ในผู้หญิง ๑,๐๐๐ คนที่ควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ ซึ่งมีผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าได้รับคัดเลือก ๔ คน
ทราบว่าได้รับเงินรางวัลจากรางวัล Reebok Human Rights Award ๕ หมื่นเหรียญ นำไปใช้ทำอะไรบ้าง
มอบให้องค์กรใช้ในการทำงานเพื่อเป็นประโยชน์กับคนส่วนมาก เพราะเราเป็นเพียงตัวแทนในการรับรางวัลสำหรับคนไทใหญ่ทุกคนที่ต้องทนอยู่ในความลำบากจากการกระทำที่โหดร้ายของทหารพม่า และงานนี้ก็เป็นงานที่หลายกลุ่มหลายฝ่ายช่วยกันทำ ไม่ใช่เราทำเพียงคนเดียว
สิ่งที่หวังในวันนี้คืออะไร
หวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แล้วก็หวังว่า “สักวันหนึ่ง” นั้นจะมาถึงเร็วๆ หน่อย แต่ถึงมันจะมาช้า ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายยังไงเราก็ต้องหวัง พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ และทำให้ดีที่สุด
ทุกวันนี้พ่อแม่พี่น้องเป็นอย่างไรบ้าง
พ่อเสียแล้ว ส่วนแม่อยู่ที่ชายแดน นานๆ จะไปเยี่ยมสักครั้ง ฉันอยากให้น้องมีโอกาสเรียนต่อ เขาจะได้ดูแลตัวเองได้ ตอนนี้ คิดเหมือนกับที่แม่เคยคิดกับเรา ถ้าเราได้เรียนแค่นี้ น้องต้องได้เรียนมากกว่าเรา และต้องมีโอกาสและทางเลือกมากกว่าเรา เพราะถ้าหากเขาได้รับสิ่งที่ดีๆ เขาก็ต้องแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้แก่คนอื่นด้วย
สุดท้าย อยากจะฝากอะไรถึงคนไทยในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านกันบ้างไหม
ปัญหาในพม่ามันเกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนานและเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนบ้านกัน ก็อยากให้คนไทยรับรู้สถานการณ์โหดร้ายที่เกิดขึ้นกับคนไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าบ้าง อยากให้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมีการอพยพเข้ามาในเมืองไทย สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาในเมืองไทยเป็นอย่างไร อยากให้เปิดใจรับรู้ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งอยากได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยที่จะช่วยให้คนเหล่านี้ได้กลับไปอยู่บ้านของตัวเองอย่างสงบ
สิ่งที่คนไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ปรารถนาคือการได้กลับบ้าน กลับไปทำมาหากินบนแผ่นดินเกิดของตนเองอย่างสงบสุข ได้เรียนภาษาและประวัติศาสตร์ของชนชาติตนเอง ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องกลัวถูกทหารพม่าทำร้าย รวมทั้งสามารถกำหนดวิถีชีวิตและอนาคตของตนเองได้