เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน

ติดเกาะ! ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไป “ลี้ภัยการเมือง” ที่ปีนัง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉายที่ห้องทำงานเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๕

ยามเยาว์เห็นโลกล้วน    แสนสนุก

เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุข    ค่ำเช้า

กลางคนเริ่มเห็นทุกข์ สุขคู่  กันนอ

ตกแก่จึ่งรู้เค้า       ว่าล้วนอนิจจัง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒๔๗๗

พ.ศ. ๒๔๗๖ หนึ่งปีให้หลังจากที่ “คณะราษฎร” ทำรัฐประหารรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย  สถานการณ์เลวร้ายลงอีกในเดือนตุลาคม เมื่อ “คณะกู้บ้านเมือง” นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชฯ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำกำลังทหารจากภาคเหนือและภาคอีสานมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำปฏิวัติซ้อน ยึดอำนาจรัฐบาลคณะราษฎรถวายคืนกลับให้พระมหากษัตริย์  แม้แผนการนั้นจะล้มเหลวเมื่อกองทัพคณะกู้บ้านเมืองตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกลายเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม “กบฏบวรเดช”  แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระราชวงศ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วเลวร้ายลงจนถึงขั้นร้าวฉาน  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ ไปยุโรป ด้วยเหตุผลที่แถลงอย่างเป็นทางการว่าเพื่อไปรักษาพระเนตร

ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระชนมายุ ๗๑ กราบถวายบังคมลาไปประทับที่เกาะปีนัง ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ


ปีนังในแผนที่เส้นทางรถไฟ (ที่มา : ที่รฦกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ๒๔๕๙)


ฉายกับรพินทรนาถ ตะกอร์ นักคิดนักเขียนชาวอินเดีย ณ วังวรดิศ พ.ศ.๒๔๗๐ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับในระแกะ เมื่อคราวเสด็จฯ ตรวจราชการมณฑลอีสาน ระหว่างทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๙ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)

ปีนังหรือที่คนไทยรู้จักกันมานานในนาม “เกาะหมาก” (Penang-หมาก) เกาะในช่องแคบมะละการิมฝั่งตะวันตกคาบสมุทรมลายู แม้จะมิได้อยู่ในเขตแดนสยาม แต่ถือว่าไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ นัก  เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟสายใต้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของอังกฤษในมลายูมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐  ข้าราชสำนักผู้บันทึกจดหมายเหตุการเสด็จฯ เยือนมลายูของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ถึงกับกล่าวว่าปีนังเป็นเหมือน “โรงหนังข้างบ้าน” ของชาวกรุงเทพฯ คือจะไปเมื่อไหร่ก็ได้

แล้วทำไมสมเด็จฯ ถึงต้องเสด็จไปปีนัง ?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจบริหารปกครองทั่วทั้งราชอาณาจักรมากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่แรกตั้งกระทรวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ จนตลอดรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องไปถึงปีแรก ๆ ของสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังจากนั้นก็ทรงรับหน้าที่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงดูแลการจัดพิมพ์เอกสารโบราณ รวมทั้งทรงนิพนธ์คำนำ คำอธิบาย และหนังสือประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ไว้อีกมากมาย  ยิ่งเมื่อล่วงเข้ามาถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่  เป็น “อากรม” ที่ในหลวงทรงนับถือ  โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นหนึ่งในอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการแผ่นดินตั้งแต่ต้นรัชกาล  กับทั้งยังทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จฯ กรมพระยา” อันเป็นลำดับสูงสุดแห่งพระอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์  เรียกง่าย ๆ ว่ายังทรงมีบารมีเปี่ยมล้น

ดังนั้นในตอนเช้าวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือหลังวันคล้ายวันประสูติพระชนมายุ ๗๐ พรรษา เพียง ๓ วัน เมื่อคณะราษฎรทำการรัฐประหาร  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องถูก “ทูลเชิญ” ไปควบคุมตัวไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ซึ่งอันที่จริงพระองค์หลังนี้มิได้อยู่ในรายชื่อที่คณะราษฎรต้องการตัว  แต่บังเอิญว่าในเช้าวันนั้นหลังจากที่ทรงทราบข่าวการยึดอำนาจ จึงเสด็จจากที่ประทับ ณ ตำหนักปลายเนิน คลองเตย ไปยังวังวรดิศของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบนถนนหลานหลวง เพื่อสอบถามและปรึกษาหารือ เลยพลอยต้องทรง “ติดหลังแห” ไปประทับที่ห้องราชองครักษ์ อาคารชั้นเดียวด้านข้างพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยกัน

หลังจากนั้น ๓-๔ วัน ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัว พร้อมกับถูกปลดออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงย้ายจากวังวรดิศไปประทับที่ “สำนักดิศกุล” บ้านพักชายทะเลของพระองค์ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ทรงเขียนจดหมายแจ้งข่าวไปยังมิตรสหายชาวต่างประเทศว่าขณะนี้ทรง leading a retired life (ใช้ชีวิตหลังเกษียณ) อยู่  แต่แล้วเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎรหลังกรณีกบฏบวรเดช ประกอบกับข่าวลือที่ว่าอาจมีการจับเจ้านายเป็นตัวประกันไว้ต่อรองกับในหลวงอีก  ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จฯ จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับที่เกาะปีนัง  ทรงเล่าไว้ในจดหมายที่มีมาถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ภายหลังเสด็จถึงปีนังไม่กี่วันว่า

“…ไม่มีอะไรเป็นประกันว่าที่ในกรุงเทพฯ จะเรียบร้อยได้โดยเร็ว  ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเชื่อว่าปลอดภัย แต่ส่วนเรายังเชื่อไม่ได้ว่าปลอดภัยจากถูกจับเป็นตัวจำนำสำหรับบังคับในหลวง จึงคิดว่ารออยู่ห่าง ๆ ก่อนจะดีกว่า…”

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ด้วยความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟของมาเลเซีย  เราจึงได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศย้อนยุค-กลับไปสู่วันคืนที่เวลายังคงผ่านไปอย่างเนิบช้า-โดยใกล้ชิด  ขบวนรถด่วนพิเศษ ๓๕ กรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวอร์ธ แถมเวลาเดินทางให้อีกโดยไม่คิดมูลค่า  ดังนั้นจากเวลา ๒๒ ชั่วโมงที่ระบุไว้ในตารางเดินรถ เราเลยได้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนรถไฟตู้เดิมของรถขบวน ๓๕ กันกว่า ๒๕ ชั่วโมง !

ตั้งแต่เมื่อ ๘๐ ปีก่อน  ขบวนรถด่วนจากกรุงเทพฯ มายังสถานีที่จะข้ามไปยังเกาะปีนังเคยใช้เวลา ๒๒ ชั่วโมงเสมอ และนั่นคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ตัดสินพระทัยเลือกมาประทับที่ปีนังในปี พ.ศ. ๒๔๗๖

นอกจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จออกมาประทับที่ปีนัง พร้อมด้วยพระธิดา ๓ องค์ คือ “หญิงพูน” ม.จ. พูนพิศมัย  “หญิงพิลัย” ม.จ. พิลัยเลขา และ “หญิงเหลือ” ม.จ. พัฒนายุ ดิศกุล แล้ว ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ที่เลือกเกาะปีนังเป็นที่พำนัก อาทิ สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระบิดาและพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมองค์สุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เสด็จออกมากับพระมารดา คือเจ้าจอมมารดาทับทิมในรัชกาลที่ ๕ และพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย พระขนิษฐา (พี่สาว) รวมทั้ง ม.จ. วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล อดีตราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า-เจ้าอยู่หัว ก็ทรง “ลี้ภัยการเมือง” ออกมาปีนังด้วย  นอกจากนั้นยังมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งหลังจากถูกรัฐประหารเงียบโดยคณะราษฎร ก็ต้องออกมาปักหลักอยู่ที่ปีนังหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเช่นกัน

แต่แรกที่เสด็จถึงปีนัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับที่บ้านอัษฎางค์ของตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเคยจัดเป็นที่รับเสด็จเจ้านายไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ทรงหาบ้านเช่าได้ ทรงเล่าในจดหมายลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า

“…บัดนี้หาได้แล้ว…เรียกชื่อว่าซินนะมอนฮอลล์ แปลว่าบ้านอบเชย เป็นเรือน ๒ หลังต่อกันกว้างขวางและมีเครื่องแต่งพร้อม แต่ก่อนเช่ากันเดือนละ ๓๐๐ เหรียญ แต่เดี๋ยวนี้ค่าเช่าตก จะเช่าได้เดือนละ ๑๑๐ เหรียญ ซึ่งเห็นกันว่าถูกที่สุดที่จะหาได้สำหรับบ้านใหญ่เท่านั้น  เขาจะมอบให้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนหน้า…”


สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ (ซ้าย) และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (กลาง) ในงานพระราชพิธีที่ช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉายกับพระธิดา ๓ องค์ที่ประทับด้วยกันที่ปีนัง ได้แก่ ม.จ.พูนพิศมัย, ม.จ.พิลัยเลขา และ ม.จ.พัฒนายุ ระหว่างเสด็จชวา พ.ศ.๒๔๗๗


ซินนามอนฮอลล์ ที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปีนัง (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่หน้าประตูเรือน ซินนามอนฮอลล์ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)

บ้านซินนามอน (Cinnamon Hall) เลขที่ ๒๐๖ ถนนเกลาไว (Jalan Kelawei) ตั้งอยู่ริมทะเล ถัดจากย่านใจกลางเมือง (คือตัวเมืองจอร์จทาวน์ George Town) ออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ  แม้จะมีขนาดใหญ่พอสำหรับพักอาศัยนับสิบคนได้อย่างสบาย แต่ก็เป็นบ้านเก่า ค่าเช่าจึงไม่สูงนัก

ในชั้นต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกะว่าจะพำนักอยู่ที่ปีนังเพียงชั่วระยะหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลงแล้วก็จะเสด็จกลับ  ทรงอธิบายไว้ในจดหมายที่มีไปถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณฺวโร) วัดเทพศิรินทราวาส หลังเสด็จถึงปีนังได้ไม่กี่วันว่า “…หมายจะพักอยู่ที่เกาะหมากสัก ๒-๓ เดือน ด้วยเป็นที่สงัด อากาศสบายดี…”

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ทรงปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เรียบร้อย “…การกินอยู่และวัตรปฏิบัติก็ลงรอยเรียบร้อย แม้จนมีหอสำหรับหาหนังสืออ่าน และมีที่ตีกอล์ฟ ด้วยสโมสรที่เขาเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์…”

พร้อมกันนั้นสมเด็จฯ ก็ทรงกลายเป็น “คนคุ้นเคย” ของเกาะปีนัง ชนิดที่เพียงจ่าหน้าซองว่า Prince Damrong, Penang ไปรษณีย์ก็จะสามารถจัดส่งจดหมายหรือโทรเลขฉบับนั้น ๆ มาถึงบ้านซินนามอนได้ ทรงเล่าว่าขณะที่ฝรั่งออกพระนามว่า “ปรินส์ดำรง”  คนจีนจะเรียกพระองค์ว่า “เสียมอ๋อง” ส่วนชาวมลายูรู้จักในนาม “รายาเซียม”

ม.จ. พูนพิศมัย พระธิดาและเลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ เล่าว่า เวลาในแต่ละวันของครอบครัวดิศกุลที่บ้านซินนามอนคือ

“…เช้าขึ้นกินอาหารพร้อมกันแล้วเราก็แบ่งงานกันทำ เสด็จพ่อทรงแต่งหนังสือตามเคยของท่าน และบางวันก็เสด็จไปหอสมุด  ข้าพเจ้าช่วยค้น ช่วยจัดหนังสือ และบางวันก็ทำกับข้าว  หญิงพิลัยทำหน้าที่ดูแลสวนกับแขกกลิงค์คนงาน หญิงเหลือทำบัญชีรายรับรายจ่ายและออกซื้อของ  บางวันเราก็ผลัดกันไปหรือไปด้วยกันตามสะดวก  เรามีบ่าว ๓-๔ คนทั้งชายและหญิง  กินข้าวกลางวันแล้วก็พัก จนถึงเวลาเย็นก็ไปขึ้นรถเที่ยวหรือเล่น golf กลับบ้านเวลาค่ำพอดี อาบน้ำกินข้าวเย็น  ถ้าวันใดโปรแกรมหนังฉายดี เราก็ไปดูกัน…”

หอสมุดของปีนังเป็นสิ่งที่ต้องกับพระอัธยาศัยของสมเด็จฯ ผู้ทรงเคยดำรงตำแหน่งสภานายกของหอพระสมุดฯ ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง  ทรงเล่าไว้ในจดหมายที่มีไปถึงพระยาอนุมานราชธนว่า

“ที่ปีนังมีร้านขายหนังสือ ๓ ร้าน และมีหอสมุดสำหรับเมือง อาจจะหาซื้อ หรือยืมหนังสือมาอ่านได้ไม่อัตคัด แต่มาปรากฏแก่ใจว่าการซื้อหนังสือสิ้นเปลืองมากนัก สู้เข้าเป็นสมาชิกยืมหนังสือหอสมุดอ่านไม่ได้ เขาเรียกค่าธรรมเนียมเพียงปีละ ๑๐ เหรียญ ให้ยืมคราวละ ๔ เล่ม เอาไว้อ่านได้คราวละ ๓ สัปดาห์…ฉันไปหอสมุดจนคุ้นกันแล้ว”

แม้กระนั้นความเดือดร้อนในช่วงแรก ๆ ที่ทรงรู้สึกได้ชัดเจนมี ๒ เรื่องใหญ่ ๆ ดังที่ทรงเขียนไปทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ว่า อย่างหนึ่งคือเมื่อทรงต้องการจะเขียนหรือสอบค้นเรื่องอะไร แต่ไม่มีหนังสือภาษาไทยเล่มนั้นอยู่ที่ปีนัง ก็ต้องส่งจดหมายมาให้ทางกรุงเทพฯ จัดส่งลงไป ดังนั้นแทนที่จะสามารถรู้เรื่องได้ภายใน ๕ นาที กลับจะต้องเสียเวลาไปถึง ๑ สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ “…ใคร่จะมีเพื่อนพูด พูดกันให้ถึงใจ…เมื่อคิดหาตัวไปว่าอยากได้ใครเป็นเพื่อนพูดก็เห็นขัน เพราะเห็นแต่ท่านพระองค์เดียว จะเชิญเสด็จออกมาก็ไม่ได้ ได้แต่เขียนจดหมายพ่นพิษกัน…”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ถ้าเรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ก็คือ “พี่น้อง” ต่างแม่ เพราะทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ (น้องชาย) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระชนม์มากกว่าเล็กน้อย ด้วยว่าประสูติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕  ส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ประสูติในอีก ๑๐ เดือนต่อมา คือเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖  ทว่าขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีบทบาทสำคัญในด้านการปกครอง แต่
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์นั้นทรงมีชื่อเสียงในฐานะเป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงรัชกาลที่ ๗  ดังที่ทรงได้รับมอบหมายให้ออกแบบก่อสร้างวัดเบญจมบพิตร วัดราชาธิวาส และพระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๑ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ฝั่งพระนคร นอกจากนั้นแล้วยังมีผลงานฝีพระหัตถ์อีกมากมายหลายแขนง ตั้งแต่พระเมรุ จิตรกรรมฝาผนัง ภาพลายเส้นประกอบหนังสือ งานประณีตศิลป์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไปจนถึงเพลงดนตรี เช่นเพลง “เขมรไทรโยค” หนึ่งในเพลงไทยที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดก็เป็นพระนิพนธ์ของพระองค์

เจ้านายในพระบรมราชจักรีวงศ์ยุคก่อนโดยมากพระชนมายุจะไม่ยืนยาวนัก  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์หนังสือ เจ้านายพระชันษายืน อันเป็นการรวบรวมรายพระนามเจ้านายที่ “พระชันษายืน” (อายุยืน) ปรากฏว่าทรงตั้งต้นนับแต่พระชันษา ๕๐ ปีขึ้นไปเท่านั้น และเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบรมวงศ์ที่เป็นชั้นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ แทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว  ทั้ง ๒ พระองค์จึงทรงรู้สึกคล้ายเป็น “คนตกยุค” ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยใช้คำว่า “ไอ้เรานี้มันเก่าเกินสมัยเสียมากแล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนั้นในโลกยุคที่โทรศัพท์ยังใช้การได้จำกัด โทรทัศน์ยังอยู่ในขั้นทดลอง และวิทยุก็มีเพียงเสียงหวี่ ๆ แทรกอยู่ตลอดเวลา  กิจกรรมการเขียนจดหมายจึงกลายเป็นเครื่องมือประหารเวลาว่าง สร้างความเพลิดเพลิน และชุบชูชีวิตอย่างสำคัญ  จดหมายที่สมเด็จฯ ทรงมีไปมากับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์นี้ ทรงเรียกกันเองว่า “จดหมายเวร” ในความหมายว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ

สำหรับคนไกลบ้านทางปีนัง จดหมายเวรจากกรุงเทพฯ ทำให้ “รู้สึกชื่นใจ เหมือนกับไปไหนมาแล้วกำลังร้อนได้กินน้ำแข็ง”  ส่วนในจดหมายจากตำหนักปลายเนินก็สรรเสริญว่าจดหมายเวรจากปีนัง “เป็นยาหอมอันหนึ่ง ซึ่งได้รับประทานแล้วทำให้ชูชื่นใจ”

แต่แล้วก็ถึงวันที่จดหมายจากปีนังกลับกลายเป็น “ยาขม”

จดหมายเวรขนาดยาว ลงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ จากซินนามอนฮอลล์ เริ่มต้นด้วยการถวายพระพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ (ขณะนั้นยังขึ้นปีใหม่และเปลี่ยนศักราชในวันที่ ๑ เมษายน)

“…ขอให้ทรงปราศจากโรคาพาธอุปัทวันตราย อยู่เป็นสุขสบายด้วยกันตลอดปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ เป็นนิรันดร เทอญ ถวายพรเพิ่มพิเศษส่วนพระองค์ท่านอีกโสตหนึ่ง ขอให้อำนาจศีลสัจธรรมและความกตัญญูกตเวทีซึ่งทรงบำเพ็ญ จงบันดาลให้คุณพระศรีรัตนตรัยกับทั้งพระบรมเดชานุภาพและพระราชเมตตากรุณาแห่งสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเจ้าทั้งหลาย คุ้มครองป้องกันให้พระองค์ท่านสามารถทนความลำบาก และรักษาพระเกียรติของพระราชวงศ์จักรีได้สะดวก ดังพระหฤทัยประสงค์จงทุกประการเทอญ…”

พรพิเศษนี้สืบเนื่องจากขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยุโรป และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากนั้นเนื้อความในจดหมายก็ข้ามไปเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะกรณีที่มี “ผู้หวังดี” คิดหาช่องทางให้สมเด็จฯ เสด็จกลับกรุงเทพฯ

“…เพราะรัฐบาลจะงดเงินงวดที่พระคลังข้างที่เคยจ่าย มิให้จ่ายแก่เจ้านายที่ไปอยู่นอกประเทศ จึงมีผู้สงสาร หม่อมฉันคิดหาเหตุจะให้หม่อมฉันมีกิจกลับเข้าไป แล้วจะได้เลยอยู่ในกรุงเทพฯ มิให้ต้องขาดผลประโยชน์ มาคิดดูก็ยิ่งเห็นประหลาดด้วยเงินงวดที่เจ้านายได้ เป็นของพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ซึ่งนับว่าเป็นของพระองค์เอง ไม่เห็นบุคคลภายนอกแม้มีอำนาจในการบ้านเมือง จะมีสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องให้เพิ่มให้ลดหรือให้หยุดเงินงวดที่พระราชทานนั้น อันเป็นสิทธิของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว…”

อีกไม่กี่บรรทัดต่อมา สมเด็จฯ ทรงวิจารณ์การเมืองในประเทศอีกกรณีหนึ่งว่า

“…เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ถึงการที่ปรึกษาและโต้ตอบกันในรัฐสภา เห็นหลายเรื่องที่มูลเหตุเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง ๒๕ ปี ช่างไม่มีใครรู้มูลเหตุนั้นเสียเลย ทั้งฝ่ายถามและฝ่ายตอบ  หนังสือจดหมายเหตุเรื่องเหล่านั้นก็มีอยู่ตามกระทรวงทะบวงการ ดูไม่ตรวจตราสืบสวนกันเสียเลย…”

จดหมายตอบจากกรุงเทพฯ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ขึ้นต้นว่า “ได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๔ เมษายน ทรงพระเมตตาโปรดประทานพรปีใหม่จับใจ ให้บังเกิดความยินดีเป็นล้นพ้น ขอถวายบังคมรับพรไว้เหนือเกล้า” ก่อนจะต่อว่า

“แต่ลายพระหัตถ์ฉบับนั้น มีอาการแปลกประหลาดมาก โปรดประทานเปิดซองไป และข้อคำในลายพระหัตถ์นั้นก็เผ็ดร้อนผิดกว่าคราวก่อน ๆ จะเป็นลืมปิดซอง หรือเปิดไปเพื่อประกาศโปรเตส (protest ประท้วง-ผู้คัดลอก) เป็นทางลัดก็ไม่ทราบ  อย่างไรก็ดีฝ่าพระบาทประทับอยู่ปีนัง จะตรัสอะไรก็ตรัสได้ เกล้ากระหม่อมเป็นสถานีกรุงเทพฯ ย่อมมีภัย ตัวตายนั้นไม่เป็นไร แต่จะพาเอาพระราชกิจและพระเกียรติยศแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียหายไปด้วยนั้นสำคัญมาก จึงขอประทานหยุดระงับหนังสือเสียที ตั้งแต่บัดนี้ไป”

กระนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกลับไม่ยอมหยุด ทรงวิงวอนทาง “สถานีกรุงเทพฯ” ในจดหมายฉบับต่อมาว่า “ขอเขียนต่อไปโดยระวังมิให้ร้อนพระหฤทัย หวังใจว่าท่านก็จะทรงเห็นอกและทรงเขียนต่อไป” พร้อมกับทรงยืนยันว่า “ในบรรดาจดหมายที่หม่อมฉันเขียนถวายท่าน หรือเขียนถึงใคร ๆ ได้เขียนด้วยเตรียมถูกเปิดอยู่เสมอทุกฉบับเป็นนิจ”

จากนั้นสมเด็จฯ ก็ทรงเขียนเล่าเรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นในสัปดาห์ก่อนหน้า อันได้แก่คำพรรณนาการเสด็จเยือนเทวสถานฮินดูของชาวทมิฬในปีนัง และพิธีสถาปนาพระสังฆราชแห่งมะละกาของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ณ วัดอัสสัมชัญที่ปีนัง ราวกับไม่เคยเกิดอะไรขึ้น

กำหนดการของจดหมายเวรคือในแต่ละสัปดาห์จะมีรถไฟวิ่งขึ้นล่องระหว่างสถานีไปร (Prei/Prai) บนแผ่นดินใหญ่ฝั่งตรงข้ามกับเกาะปีนัง กับหาดใหญ่ ๒ ขบวน  ต่างพระองค์ก็จะทรงเขียนจดหมายถึงกัน โดยมีกำหนดนัดหมายว่าให้ทางปีนังส่งจดหมายเข้าไปกับรถเที่ยวขึ้นวันศุกร์  สวนทางกับจดหมายจากกรุงเทพฯ ที่จะส่งมากับรถไฟเที่ยวล่องที่ออกมาวันเสาร์และจะมาถึงในวันอาทิตย์  ดังนั้นจดหมายของแต่ละฝ่ายก็มักจะได้รับคำตอบในสัปดาห์ถัดไป

ทุกวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี รถไฟจากสถานีหาดใหญ่จะเข้าเทียบชานชาลาสถานีไปรเวลา ๑๗.๕๕ น. จากนั้นหากต้องการเดินทางต่อไปยังปีนัง ต้องลงเรือข้ามฟากที่ท่าบัตเตอร์เวอร์ธ (Butterworth) กำหนดออกทุกครึ่งชั่วโมง แล้วใช้เวลาข้ามไปยังเกาะปีนังอีกราว ๓๐ นาที

จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีเรือโดยสารข้ามฟากระหว่างเกาะปีนังกับฝั่งสถานีรถไฟ  ค่าโดยสารเรือข้ามฟากขาไปจากบัตเตอร์เวอร์ธ คนละ ๑.๒๐ ริงกิต คิดเป็นเงินไทย ๑๒ บาท  เรือข้ามฟากที่จอดเทียบท่าอยู่ ดูแล้วขนาดเห็นจะพอ ๆ กับเรือเฟอร์รีที่ข้ามจากท่าเรือดอนสักไปเกาะสมุย  การแบ่งพื้นที่ของเรือก็เป็นแบบเดียวกัน คือชั้นล่างเป็นระวางสำหรับจอดรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์  ส่วนชั้นบนเป็นที่นั่งผู้โดยสาร

แสงแดดเย็นสาดเข้ามาพร้อมกับลมทะเล  ผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง นั่ง ๆ ยืน ๆ อยู่ทั่วไปที่ชั้นโดยสารของเรือ  หลายคนสนใจชมวิวทิวทัศน์รอบ ๆ  หนุ่มสาวบางรายถ่ายรูปตัวเองด้วยโทรศัพท์มือถือตามสมัยนิยม  จากบนเรือมองไปทางซ้ายแลเห็นสะพานปีนังที่เชื่อมเกาะปีนังเข้ากับฝั่งแผ่นดินใหญ่  สะพานที่มีความยาวกว่า ๑๓ กิโลเมตรแห่งนี้ว่ากันว่าเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในมาเลเซีย และติดอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย  ส่วนเกาะปีนังที่เห็นอยู่เบื้องหน้าดูเป็นพืดเขาสูงสีเขียวเข้ม แตะแต้มที่แนวเส้นระดับน้ำด้วยตึกรามบ้านช่องที่เห็นชัดขึ้นทุกขณะที่เข้าใกล้

แต่สำหรับอีกหลาย ๆ คน ทิวทัศน์รอบตัวระหว่างช่วงราว ๒๐ นาทีบนเรือข้ามฟากนี้คงเป็นเพียงความจำเจจนไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ใส่ใจ  แม้ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมาพร้อมกระเป๋าสัมภาระ แต่พวกเขาดูไม่เหมือนนักท่องเที่ยว (บางคนหิ้วมาเพียงพัดลมตัวเดียว) คงมีทั้งคนที่ข้ามไปทำงาน จัดการธุระปะปัง และคงมีอีกไม่น้อยที่อยู่ระหว่างทางกลับบ้าน  แต่เมื่อปลายทศวรรษ ๒๔๗๐ นั้น แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงคิดอยู่เสมอว่าจะได้เสด็จกลับเมืองไทยในอีกไม่ช้าไม่นาน ทว่าหนทางการ “กลับบ้าน” ของสมเด็จฯ ยังอยู่แสนไกล

สำหรับคนที่ต้องเขียนจดหมายโต้ตอบกันทุกสัปดาห์ การจะหาอะไรมาเล่าย่อมเป็นเรื่องใหญ่  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแสวงหาเรื่องมาเขียน  บางครั้งเมื่อทรงพบหนังสือน่าสนใจก็จะพอพระทัยยิ่ง ถึงกับเปรียบว่าทรงพบ “ขุมทรัพย์” แล้วก็จะทรงแปลถวายมายังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์


ภาพสิ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรด ได้แก่ เครื่องเล่นแผ่นเสียง หนังสือ พระพุทธรูปโบราณ ไม้เท้า กล้องยาเส้น และกล้องถ่ายรูป เข้าใจว่าจะเป็นภาพฝีพระหัตถ์ที่ฉายไว้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)


ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๐ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ เสด็จมาประทับที่บ้านซินนามอนเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในปีนังทรงเล่าว่า “ได้คุยกันอย่างรื่นรมย์ถึงอกถึงใจ” (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)

บ้านโบราณจากศตวรรษก่อนยังคงหลงเหลืออยู่ไม่น้อยตามริมถนนที่ร่มรื่นด้วยเงาไม้ใหญ่

ยามเย็นบนเรือข้ามฟากจากบัตเตอร์เวอร์ธไปยังเกาะปีนัง

เรื่องราวที่ ๒ สมเด็จทรงคุยกันทางจดหมายเวรนั้น ส่วนใหญ่คือประเด็นที่เรียกได้ว่าเป็น “วิชาการ” อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี ราชประเพณี ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ หรือแม้แต่การถกเถียงหาที่มาของถ้อยคำสำนวนนานา  แต่ระหว่างบรรทัดของสาระเหล่านั้นยังมีเรื่องราวส่วนพระองค์อีกสารพัด  บอกเล่าสารทุกข์สุกดิบต่าง ๆ ในหมู่ญาติพี่น้อง รายงานสภาพลมฟ้าอากาศ ข่าวคราวของลูกหลาน หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ทรงชมมา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงโปรดปรานการชมภาพยนตร์อย่างยิ่ง มักเสด็จไปทอดพระเนตรภาพยนตร์ที่เข้าใหม่เสมอ ๆ และหากมีเรื่องไหนสนุกหรือน่าสนใจ ก็จะทรงเขียนมาเชิญชวนให้สมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เสด็จไปทอดพระเนตรบ้าง  จดหมายฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงเล่าว่า “…หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์เขาประกาศจะเล่นหนังฉายเรื่อง Tarzan and His Mate ในกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กับเล่นที่ปีนังนี้ หม่อมฉันได้ไปดูแล้วน่าดูมาก หวังใจว่าทางกรุงเทพฯ ท่านจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรแล้ว…”

โดยเฉพาะประสบการณ์ใหม่ทุกเรื่องจะได้รับการแบ่งปันผ่านหน้ากระดาษของจดหมายเวรมายังกรุงเทพฯ เสมอ เช่นเมื่อเรือเดินสมุทร Empress of Britain ระวางขับน้ำ ๔๐,๐๐๐ ตัน เข้ามาเทียบท่าปีนังในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ ก็เสด็จไปเที่ยวชมและทรงพรรณนาความใหญ่โตของเรือสำราญลำนั้นไว้

หรือตอนเย็นวันหนึ่งเสด็จไปเดินเล่นที่เอสพลานาด (Esplanade) ลานโล่งริมทะเลหน้าศาลากลางเมืองปีนัง ทรงพบหาบเร่ขายอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นขนมจีนน้ำยาที่จีนขาย “มีคนซื้อนั่งล้อมกินกันดูเอร็ดอร่อย…นึกจะลองกิน” แม้จะทรงรังเกียจว่าดูไม่ค่อยสะอาด กระนั้นก็ยังทรงให้ซื้อมาแยกส่วนดูเพื่อการ “ไต่สวนทำรายงาน” ถวายมาทางกรุงเทพฯ

“ตัวน้ำยานั้นหม่อมฉันเอามาดมดูกลิ่นเหมือนแกงส้มต้มกะปิ  วานให้หญิงเหลือ (ม.จ. พัฒนายุ พระธิดา-ผู้คัดลอก) ชิมรส…บอกว่ารับไม่อยู่” สมเด็จฯ ทรงเล่าไว้

เราพบว่าอาหารที่ทรงเล่าไว้ก็ยังมีขายอยู่ทั่วไปบนเกาะปีนัง เหมือนกับที่จะหารถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวได้ในเมืองไทยเรียกกันว่าอะซัมหละซา (Assam Laksa) หรือบ่อยครั้งก็เรียกว่า “หละซา” เฉย ๆ ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อของปีนัง  เราเองลองชิมหละซาแล้วก็มีความเห็นคล้าย ๆ กับสมเด็จฯ ว่ารสชาติเหมือนกินขนมจีนราดแกงส้มปลาที่มีกลิ่นกะปิจัด ๆ  แต่ที่ต่างไปคือเรากินได้หมดชาม !

หลังจากเสด็จไปประทับที่ปีนังได้ราวปีครึ่ง กลางปี พ.ศ. ๒๔๗๘ สิ่งที่เคยมีผู้กราบทูลไว้ก็ปรากฏเป็นความจริง เมื่อรัฐบาลแจ้งไปยังกระทรวงวังให้ตัดเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ที่ออกไปประทับในต่างประเทศเกิน ๖ เดือน ดังนั้นจึงทรงไม่ได้รับเงินปีจำนวน ๖,๐๐๐ บาทที่เคยได้รับพระราชทานมาแต่เดิมอีกต่อไป  รายได้ของบ้านเหลือเพียงเงินบำนาญจากหน้าที่ราชการของสมเด็จฯ เดือนละ ๙๖๐ บาท ซึ่งต้องแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งทางวังวรดิศที่กรุงเทพฯ และทางปีนัง  ครอบครัวดิศกุลที่พำนักอยู่ ณ ซินนามอนฮอลล์ต้องหาวิธีรัดเข็มขัดกัน ทั้งที่ดิน เครื่องประดับ ทองหยองที่เก็บสะสมไว้หลายสิบปีถูกนำออกขาย พร้อมกับต้องตัดทอนรายจ่ายทุกอย่างในบ้านลง  ม.จ. พูนพิศมัยทรงเล่าว่า

“การเล่นเช่น golf เลิก เป็นเอารถไปจอดแล้วเดินเล่นไกล ๆ แทน  การออกไปกินอาหารแปลก ๆ ตามโฮเต็ลก็ต้องงด  เรานึกสงสารตัวเองในตอนแรก ๆ เพราะทุกครั้งที่ผ่านสนาม golf หรือบ้านพวกเศรษฐีเจ๊กเขามีไฟฟ้าจดว่า ‘Wedding’ และมีโต๊ะอาหารจีนเต็มสนามแล้ว  เราทั้ง ๔ คนพ่อลูกในรถต้องเมินหน้าหนี พอพ้นไปแล้วก็หัวเราะกันว่า ‘แหมมัน tempt (เย้ายวนใจ-ผู้คัดลอก) จริง’…”

แต่สิ่งหนึ่งที่สมเด็จฯ ทรงไม่ยอมตัดรอนเป็นอันขาดคือเรื่องหนังสือ ท่านหญิงพูนทรงเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า

“วันหนึ่งเด็จพ่อท่านเสด็จไปพบหนังสือขายที่ร้านขายหนังสือเล่มหนึ่ง ราคา ๘ เหรียญ  ท่านอยากทรง (อ่านผู้คัดลอก) แต่เห็นว่าแพงเกินกำลัง ก็ยืนเปิด ๆ ทอดพระเนตร  แขกผู้ขายเข้าใจทูลว่า- ‘เอาไปก่อนเถอะ มีใช้เงินเมื่อไรก็ได้’ ท่านก็เอามา ตรัสบอกหญิงเหลือผู้เก็บเงินว่า- ‘แขกมันเชื่อพ่อ เธอเอาไปใช้มันเสียทีนะ’ เวลานั้นกำลังจะสิ้นเดือน หญิงเหลือ (ม.จ. พัฒนายุ-ผู้คัดลอก) ก็หัวเสียบ่นออกไปว่า- ‘ดี ไม่กินละข้าว กินหนังสือแทน’ ท่านทำไม่ได้ยินแล้วเสด็จออกไปจากห้อง  สักครู่ใหญ่ ๆ เสด็จกลับเข้ามาตรัสว่า- ‘จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้นที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า’ เรานิ่ง ท่านก็ออกไปเขียนหนังสือต่อ  หญิงเหลือเขาลุกขึ้นค้นเงินในลิ้นชักได้อีก ๑๒ เหรียญ เขาก็เอาออกไปส่งถวายว่ายังมีซื้อได้อีกเล่ม  ท่านก็ทรงพระสรวลไม่ว่าอะไร…

ความว่างเปล่าของชีวิตในสถานที่ซึ่งไม่ใช่บ้านจะหวนกลับมาทำร้ายความรู้สึกได้มากที่สุดก็ในวันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นช่วงเวลาแห่งความเบิกบาน เมื่อครอบครัวพี่น้องเพื่อนฝูงอยู่พร้อมหน้า ให้ของ ให้พร กินเลี้ยงกันสนุกสนานตั้งแต่เช้าจดค่ำ  แต่ปีใหม่ที่บ้านซินนามอนตอนนั้น ม.จ. พูนพิศมัยทรงเล่าว่า

“พอลืมตาเช้าขึ้นก็เงียบเหงา เดินออกไปกินอาหารเช้าอย่างซึม ๆ พอเสด็จพ่อออกมาจากห้อง ท่านก็ทรงยิ้มแต่อ้าพระกรตรงมายังเราและตรัสว่า ‘มา มาจูบพ่อเสีย ปีนี้เราไม่มีอะไรจะให้กันได้นอกจากอย่างนี้’ แล้วเราก็จูบท่าน ท่านก็จูบเราด้วย ต่างคนต่างน้ำตาเต็มตา…”

ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาปีนัง เราทราบล่วงหน้าแล้วว่าซินนามอนฮอลล์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยประทับนั้นไม่หลงเหลือซากใด ๆ เพราะจากการสอบถามคุณอร่าม สวัสดิวิชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยถวายงานรับใช้ใกล้ชิด ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล  คุณอร่ามเล่าว่าเคยทูลถามเรื่องนี้เช่นกัน  ท่านหญิงพูนทรงเล่าว่ารื้อไปนานแล้ว  แม้จะฟังดู “น่าเสียดาย” ที่คนรุ่นหลังพลาดโอกาสจะได้ตามรอยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปีนังอย่างใกล้ชิดจริง ๆ จัง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าตั้งแต่เมื่อสมเด็จฯ ไปเช่าอยู่ บ้านซินนามอนก็เก่าถึงขนาดที่เจ้าของบ้านเคยบอกว่าถ้าสมเด็จฯ เลิกเช่าแล้วคงต้องรื้อทิ้ง เพราะเทศบาลไม่อนุญาตให้ซ่อมแซมอีกต่อไป  ส่วนถนนเกลาไวที่เราเห็นในวันนี้กลายเป็นย่านหรูของปีนัง เต็มไปด้วยตึกสูงและคอนโดมิเนียมราคาแพง

แม้จะไม่เห็นร่องรอยของสมเด็จฯ ที่ถนนเกลาไว  แต่เรากลับเห็นอย่างอื่น

ในไม่ช้าเราพบว่ามีคนไทยอยู่ที่เกาะปีนังไม่น้อยเลย  โดยเฉพาะผู้หญิงไทยที่มาแต่งงานกับคนมาเลเซีย  อย่างภรรยาเจ้าของร้านข้าวมันไก่ที่อยู่ข้าง ๆ โรงแรมที่พัก ซึ่งไป ๆ มา ๆ ดูเหมือนว่าเธอเลยสอนภาษาไทยให้เถ้าแก่ที่ยืนสับไก่อยู่หน้าเขียง จนเราสามารถสั่งอาหารหรือเรียกคิดเงินเป็นภาษาไทยได้สะดวกปาก  หรือเมื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่เป็นบ้านจีนโบราณแห่งหนึ่ง จัดแสดงวัฒนธรรมจีนแถบช่องแคบมะละกา (Nyonya-ย่าหยา/ยอหยา) อันเป็นส่วนผสมของความเป็นจีนกับความเป็นตะวันตกและวัฒนธรรมมลายู  เราได้พบพี่ผู้หญิงคนไทยที่แต่งงานกับคนมาเลย์มาช่วยดูแลอยู่ที่นั่น  เธอบอกเราว่าคนไทยในปีนังเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่เป็นหลักพัน  นอกจากนั้นที่โรงเรียนมัธยมหานเจียงซึ่งเป็นโรงเรียนจีนชื่อดังก็มีนักเรียนไทยวัยรุ่นชายหญิงอยู่อีกนับร้อย  หนุ่มน้อยนักเรียนไทยในปีนังคนหนึ่งออกปากว่า “แทบจะเป็นโรงเรียนไทยอยู่แล้ว…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ตั้งแต่เสด็จมาถึงปีนังไม่นาน ว่าทรงได้ยินมาว่ามีคนไทยในปีนังราว ๕๐๐-๖๐๐ คน  หลังจากนั้นในจดหมายเวรช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อเสด็จไปเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชาที่วัดปูโลติกุส วัดไทยที่เก่าแก่ที่สุดในปีนัง ทรงเล่าว่า  “พอเข้าวัดก็เกิดพิศวงด้วยเห็นผู้คนไปมาราวสัก ๒๐๐ แต่มีผู้หญิงเป็นพื้น เห็นแต่งตัวเป็นอย่างยอหยาทั้งนั้น…ได้ยินเสียงพูดจึงรู้ว่าเป็นไทย”

ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่ไปประทับที่ปีนัง ชาวซินนามอนฮอลล์มักจะไปทำบุญหรือทอดกฐินกันที่วัดปูโลติกุส(Pulao Tikus- เกาะหนู) แต่ถ้าไปถามหาอาจไม่มีใครในปีนังรู้จักชื่อวัดนี้แล้ว เพราะวัดแห่งนั้นปัจจุบันได้รับนามใหม่ว่า “วัดไชยมังคลาราม”  Wat Chaiyamangkalaram ขึ้นทำเนียบสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเกาะปีนัง  ปูชนียวัตถุสำคัญคือพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย จนสามารถใช้ถามคนขับรถเมล์ได้ว่ารถสายนี้จะผ่านไปทาง Sleeping Buddha หรือไม่  พระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างขึ้นในโอกาส ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาเบิกพระเนตรระหว่างเสด็จฯ เยือนปีนังอย่างเป็นทางการ และถวายพระนามว่า “พระชัยมงคล”

รูปปั้นพระนารายณ์และยักษ์สีสันสดใสที่วัดไชยมังคลาราม

อุโบสถหลังคาทรงเก๋งจีนอายุนับร้อยปีของวัดปิ่นบังอร

ฉายกับรูปช้างสำริดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในการเสด็จชวาเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต [องค์แรกจากซ้าย] กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ [ที่ ๓ จากซ้าย] ฉายพระรูปหมู่ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ณ เมืองบันดุง เกาะชวา พ.ศ.๒๔๗๗ (ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)

ตัวเมืองจอร์จทาวน์ยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมจากศตวรรษก่อน ตึกสูงที่เห็นคือคอมตาร์ (KOMTAR) คอมเพล็กซ์ ๖๕ ชั้น สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดบนเกาะปีนัง

แม้จะไปประทับที่ปีนังแต่ข่าวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังคงเป็นที่สนใจของสาธารณชนอยู่เสมอ เช่น เรื่องปีนังแตกจากปากคำกงสุลโดยที่กลับเข้าไปกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ (ที่มา : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.จ.ปราโมทย์ จงเจริญ)

วัดไชยมังคลารามตั้งประจันหน้ากับวัดพม่าชื่อวัดธรรมมงคลในตรอกพม่า (Lorong Burma) ซึ่งแยกจากถนนเกลาไวอีกทีหนึ่ง  วัดนี้เป็นวัดพุทธศาสนาแบบไทยที่เก่าแก่ที่สุดบนเกาะปีนัง  มีประวัติว่าตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๘ (ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) โดยได้รับพระราชทานโฉนดในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งจักรภพอังกฤษ เพื่อให้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของชุมชนคนไทยบนเกาะปีนัง เช่นเดียวกับที่ชุมชนพม่าซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัดพร้อม ๆ กัน อันหมายความว่าตั้งแต่เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน ก็มีชุมชนคนไทยอยู่บนเกาะปีนังไม่ใช่น้อยแล้ว

แต่วัดไชยมังคลารามในวันนี้ดูจะไม่หลงเหลือร่องรอยอะไรจากสมัยก่อตั้ง หรือแม้แต่จากยุคของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกแล้ว  สิ่งที่แลเห็นเด่นชัดที่สุดเมื่อแรกเข้าไปถึงคือรูปปั้นยักษ์ นาค มังกร และเทวดานางฟ้าสีสันฉูดฉาดที่คงสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แลดูเป็นส่วนผสมระหว่างศิลปะจีนกับศิลปะไทยในจินตนาการของช่างเสียมากกว่า

วัดไทยอีกแห่งหนึ่งที่ทรงกล่าวถึงไว้ในจดหมายเวรหลายครั้งคือวัดประตูลันจัง หรือบาตูลันจัง (Batu Lanchang- หินเรียง) เช่นในวันคล้ายวันประสูติ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๓ เวลาเย็น เสด็จไปถวายหนังสือเทศนา ๕๐ กัณฑ์ ที่ทรงสั่งซื้อมาจากมหามกุฏราชวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แล้วถวายปัจจัยแทนการเลี้ยงพระ

แต่ก็เช่นเดียวกันกับวัดปูโลติกุส หากไปถามหาวัดบาตูลันจังใน พ.ศ. นี้ ก็อาจจะเสียเวลาเปล่า เพราะตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ซึ่งมาประทับลี้ภัยการเมืองที่เกาะปีนังพร้อมกันกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานนามใหม่อย่างที่เราเห็นป้ายภาษาไทยหน้าประตูวัดว่า “วัดปิ่นบังอร”

หากฟังจากเสียงพูด เราเดาเอาว่าท่านพระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ เจ้าคณะรัฐปีนัง และเจ้าอาวาสวัดปิ่นบังอรย่านกรีนเลน (Green Lane) ในปีนัง คงมาจากจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ “ปักษ์ใต้บ้านเรา”  แต่เมื่อเรียนถามดูปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะท่านเป็นคนไทยสัญชาติมาเลเซียจากรัฐเกดะห์ หรือไทรบุรี ซึ่งยังมีชุมชนคนไทยพุทธตกค้างจากสมัยก่อนอาณานิคมหลายหมื่นคน  ท่านพระครูพูดได้ถึง ๕ ภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ มลายู จีนกลาง และจีนฮกเกี้ยนอย่างที่คนจีนในปีนังใช้กัน สมกับที่เป็นพระสงฆ์ในปีนังซึ่งเป็นดินแดนหลากภาษาหลายวัฒนธรรม

ท่านพระครูติดตามพี่ชายที่เป็นพระภิกษุมาอยู่วัดนี้ตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ ราว พ.ศ. ๒๔๘๘ ก่อนจะได้บวชเรียนในเวลาต่อมา  แม้ท่านจะเป็นคนรุ่นหลัง แต่กระนั้นก็ยังเคยได้ยินเรื่องที่ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จมาทำบุญที่วัดนี้  ท่านพระครูยังทราบด้วยว่าที่นี่เคยใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

การสิ้นพระชนม์ งานพระศพ จนถึงงานพระเมรุของสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเวรจากปีนัง  พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกันกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  หลังจากประทับที่ปีนังได้ไม่นานก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘  หากเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของพระบรมวงศ์ระดับนี้ย่อมต้องมี “เมรุกลางเมือง” ที่ท้องสนามหลวง  แต่ในยุคแห่งความตกต่ำของเจ้านาย จึงมีได้เพียงงานพระราชทานเพลิงพระศพที่ลานข้างอุโบสถวัดปิ่นบังอรนั่นเอง  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบพระเมรุที่เรียบง่าย และสามารถจัดสร้างขึ้นในต่างแดนได้สะดวก หากยังคงไว้ซึ่งความสง่างามสมพระเกียรติยศ ส่งลงไปทางรถไฟพร้อมตัวนายช่างที่จะดูแลควบคุมการก่อสร้าง  และแน่นอนว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรง “เป็นอาวุโสอยู่ในฐานผู้แทนพระราชวงศ์อยู่ในเมืองปีนัง” เป็นผู้พระราชทานเพลิงพระศพ

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทำให้พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ที่ยังมีพระชนม์อยู่คงเหลือเพียง ๒ พระองค์ คือผู้เขียนจดหมายเวรจากกรุงเทพฯ และที่ปีนัง  เมื่อปีใหม่เดือนเมษายนเวียนมาถึงอีกครั้ง ปฏิทิน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงหวนระลึกถึงความหลังเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ดังที่ทรงเล่าไว้ในจดหมายเวรว่า

“…หม่อมฉันเห็นปฏิทินปีใหม่นี้จุลศักราชถึง ๑๓๐๐ นึกขึ้นถึงความหลัง บางทีท่านเห็นจะทรงจำได้เหมือนกัน  ในกาลครั้งหนึ่งดูเหมือนจะเป็นเมื่อปีจุลศักราช ๑๒๕๐ เจ้านายพี่น้องผู้ชายพวกเราเวลานั้นยังเป็นหนุ่มอยู่ทั้งนั้น  เคยปรารภกันว่านี่พวกเราจะมีใครอยู่จนถึงจุลศักราช ๑๓๐๐ บ้างหรือไม่  บางพระองค์ก็ตรัสว่าไม่มีหวัง บางพระองค์ก็ตรัสว่าทำไมจะอยู่ไม่ได้  เมื่อมาถึงปีจุลศักราช ๑๓๐๐ เข้าจริง  เหลือแต่เรา ๒ คนเท่านั้น…”

นับวันคำปรารภทำนองนี้ยิ่งถี่ขึ้น เช่นในจดหมายเวรฉบับวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเริ่มประเด็นที่ว่า “…การอยู่ค้ำฟ้านั้นไม่มีอะไรดีเลย  อย่าหาว่าจะอยู่ค้ำฟ้าเลย เอาแต่อยู่ไปจนแก่เท่านั้นก็แคบเข้าไปทุกทีแล้ว เพราะคนที่รู้จักคุ้นเคยต่างก็ตายร่อยหรอไปทุกที…” ส่วนความเห็นจากปีนังก็สอดคล้องกันว่า “…ความที่คนปรารถนาจะมีอายุยืนอยู่ค้ำฟ้านั้น  หม่อมฉันนึกว่าเห็นจะเป็นความปรารถนาของผู้มีอายุยังเป็นหนุ่มขึ้นไปเพียงกลางคน เมื่อยังไม่รู้รสชราภาพ…”

เมื่อเทียบกับคนวัย ๗๐ กว่าในยุคนั้น ต้องถือว่าทั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงพอใช้  แต่ “รสชราภาพ” ที่ทั้งสองพระองค์ต้องเผชิญเหมือน ๆ กันคือเรื่อง “หูตึง”

อาการหูตึงของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นสิ่งที่ทำให้ทรงรำคาญมานานแล้ว  แม้ว่าช่วงแรก ๆ ที่เสด็จไปประทับที่ปีนังทรงอธิบายว่า “…ความสบายดูก็พอเหมาะกับหูตึง ด้วยไม่ต้องไปมาหาใคร ไม่มีกิจที่ต้องพูดกับใคร และไม่ต้องฟังคำเล่าลือร้อยหูรำคาญใจ…” แต่ก็ทรงเพียรหาทางแก้ไขอยู่เสมอ นับแต่วิธีสามัญขั้นพื้นฐาน เช่นให้ช่างตัดผมคนจีนมาแคะหู ทำให้พอ “รู้สึกว่าได้ยินขึ้นบ้างเล็กน้อยเหมือนกัน”

กลางปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเกาะชวาตามคำทูลเชิญของ “ทูลกระหม่อมชาย” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งต้องเสด็จลี้ภัยการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ไปประทับ ณ เมืองบันดุง บนเกาะชวา  นอกจากการพบปะกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ต่างก็ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาอยู่ต่างแดน  และโปรแกรมการเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานกับพิพิธภัณฑ์ในเกาะชวาแล้ว  วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งคือจะเสด็จไปหาวิธีรักษาอาการหูตึงซึ่งเป็นมากขึ้นทุกที แต่ผลการตรวจของนายแพทย์ประจำพระองค์ของทูลกระหม่อมชายคือ “หูหม่อมฉันตึง
ด้วยความชราจะรักษาให้หายไม่ได้”

สุดท้ายเครื่องช่วยฟังที่ทรงเลือกใช้คืออุปกรณ์แบบโบราณที่รูปร่างหน้าตาเหมือนแตร เวลาจะใช้ก็ต้องถือด้านปากแตรให้หันออกไปรับเสียง แล้วเอาปลายอีกข้างมาจ่อไว้ในรูหู  ทรงเล่าถึงสภาพของพระองค์เองไว้ในจดหมายที่ทรงมีไปยัง “หญิงใหญ่” ม.จ. มารยาตรกัญญา ดิศกุล พระธิดาซึ่งประทับในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ว่า

“หูหนวกหนักจนเกือบจะต้องใช้แตรของหญิงเล็กเป็นนิจอยู่แล้ว และมีผลต่อไปถึงไม่ใคร่จะชอบสนทนากับใคร ๆ เพราะฟังลำบาก และเกรงใจที่เขามักต้องตะโกน  ความสุขมีอยู่ที่อ่านหนังสือเป็นสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะกับเจ้าหญิง ๓ คน ก็ไม่มีเรื่องอะไรใหม่ที่จะพูดกัน มันคล้ายกับเขาว่าพวกคนที่ไปสำรวจขั้วโลก เดินลุยทะเลหิมะอย่างเดียวทุก ๆ วัน มีเรื่องอะไรก็พูดกันจนสิ้นไส้สิ้นพุงแล้วเลยเดินเป็นใบ้ไม่พูดกัน…”

เมื่อทรงไม่ได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูด และไม่มีเรื่องที่จะตรัสให้ใครฟัง  กิจวัตรประจำวันจึงลดลงเหลือเพียงการอยู่ในโลกส่วนพระองค์ วนเวียนอยู่กับการอ่านและงานเขียนเกือบตลอดเวลา ทรงเล่าไว้ในจดหมายเวรฉบับหนึ่งว่า

“ตอนเช้าอ่านหนังสือข่าวแล้ว เขียนหนังสือกับค้นสอบหนังสือซึ่งจะเอามาประกอบการเขียน ตอนบ่ายอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวอีกพักหนึ่ง ตอนค่ำตั้งแต่กินอาหารเย็นแล้วอ่านหนังสือไปจนเวลาเข้านอน  หนังสือซึ่งอ่านโดยปรกตินั้น ตอนหัวค่ำอ่านหนังสือเรียนหาความรู้เพิ่มเติมเป็นหนังสือไทยบ้าง หนังสือฝรั่งบ้าง…ตอนดึกอ่านหนังสือประโลมโลก Novel อันเป็นแต่ทำให้เพลิดเพลินหย่อนใจพอสิ้นกังวลแล้วเข้านอน”

ซ้ำร้ายนานวันเข้า สิ่งที่เคยแปลกหูแปลกตาแต่แรกที่เสด็จมาถึงปีนัง กลับกลายเป็นความชาชิน ถึงขั้นที่ทรงปรารภในจดหมายเวรเมื่อถึงฤดูงานนักขัตฤกษ์ประจำปีของปีนังว่า ล้วนแต่เป็นเรื่อง “ตามเคย” “เบื่อ” และว่า “หม่อมฉันเคยเห็นเสียทุกอย่างแล้วก็ไม่อยากดูเหมือนคราวก่อน…”

แต่ระหว่างความอ้างว้างจำเจเหมือนเดินลุยหิมะขั้วโลกคนเดียว ยังมีเรื่องของ “อีแมว” แมวลายเสือสีเหลือง ๆ ดำ ๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน  ทรงเล่าถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ไว้ในจดหมายเวรฉบับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑

“…แต่มันแปลกที่เป็นแมวมีอัชฌาศัย  แรกเข้ามาก็มาอย่างสุภาพในบ่ายวันหนึ่ง  เวลานั้นหม่อมฉันนั่งอยู่ที่โต๊ะกินของว่างที่ชั้นล่าง มันตรงเข้ามาหาหม่อมฉัน เอาศีรษะและตัวเสียดสีที่ขา ตามกิริยาแสดงไมตรีจิตของแมวทำนองอยากจะถวายตัว  หม่อมฉันก็เกิดเมตตาให้นมโคมันกินจาน ๑ แต่วันนั้นถึงเวลามันก็มา…เดี๋ยวนี้ยังมีความรู้หนักยิ่งขึ้น  ถึงเวลานอนคอยอยู่  พอได้ยินเขาตีฆ้องสัญญาเวลากินอาหารกลางวัน หรือเวลาค่ำ ก็ขึ้นมาที่ห้องหม่อมฉันบนเรือน ร้องแง้ว ๆ เที่ยวหาหม่อมฉันจนพบ  พอพบก็เอาเท้าหน้าของมันกอดปลายเท้าหม่อมฉัน เอาหัวเกลือกที่เท้า  ถ้าเผอิญพบเวลาหม่อมฉันเคลิ้มอยู่บนเก้าอี้อ่านหนังสือ มันก็เอาหางปัดจนตื่น แล้วตามหม่อมฉันลงไปห้องกินข้าว…”

จากนั้น “อีแมวทรงเลี้ยง” ตัวนี้ยังมาโผล่หน้าในจดหมายเวรอีกเป็นระยะ ๆ เช่นตอนจบของอีกฉบับหนึ่ง ทรงลงท้ายว่า “เขียนมาถึงตอนนี้ อีแมวตัวโปรดของหม่อมฉันมันมานอนหมอบขวางที่บนตักชวนให้ไปกินกลางวัน ด้วยจวนบ่ายโมงแล้ว ต้องหยุดที”

๑ กันยายน ๒๔๘๒ กองทัพนาซีเยอรมันบุกข้ามพรมแดนเข้าสู่โปแลนด์ ลุกลามกลายเป็นสงครามไปทั่วทั้งทวีปยุโรป  ระยะนั้นการสู้รบยังไม่แผ่ขยายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กระนั้นชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่ปีนังเริ่มมีการฝึกซ้อมพรางไฟ  มีระเบียบเข้มงวดเรื่องการส่งข่าวสารต่าง ๆ จดหมายเวรถูกตัดอ่านตรวจอย่างเป็นทางการ ทั้งจากทางฝ่ายไทย และที่ไปรษณีย์ปีนัง  แต่สำหรับผู้เขียนจดหมายแล้ว ยังทรงยืนยันว่า “…สำหรับตัวเราทั้งสอง การเขียนจดหมายเวรเป็นบ่อเกิดความรื่นรมย์ในเวลาเมื่อแก่ชราด้วยกันมากว่า ๕ ปีแล้ว  ถ้ายังเขียนได้อยู่ตราบใดควรเขียนต่อไปตามเดิม เมื่อเขาจะตรวจหรือทำอย่างไรก็ตามใจเขา…”

นับวันข่าวสงครามที่ทรงอ่านจากหนังสือพิมพ์ ทำให้ผู้ที่ผ่านโลกมาเกือบ ๘๐ ปีรู้สึกสลดหดหู่ใจลงเรื่อย ๆ จดหมายเวรจากบ้านซินนามอน ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ พรรณนาว่า

“…เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปอยู่บนเขาถึงเวลาเย็น มักไปนั่งเล่นที่ลานโฮเต็ล  เขาตั้งเก้าอี้ยาวไว้ตรงไหล่เขาสำหรับนั่งดูภูมิฐาน แลเห็นได้จนสุดสายตาเลยพาให้เพลิดเพลินเจริญใจ  เมื่อเกิดสงครามแล้วหม่อมฉันไปนั่งเล่นที่นั่นตามเคย แต่อารมณ์มักนึกไปว่าในโลกนี้ก็กว้างใหญ่ไพศาลพอที่มนุษย์จะอยู่เย็นเป็นสุขได้ด้วยกันหมด  มนุษย์ก็มีสติปัญญาและความรู้ยิ่งกว่าสัตว์เดียรฉานมาก ไฉนจึงไม่ช่วยกันหาความสุข กลับไปพยายามที่จะแข่งกันฉิบหายวายวอด…”

๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ในหมู่เกาะฮาวาย พร้อมกับบุกเข้าประเทศไทยเพื่อเคลื่อนทัพไปตีกองทัพอังกฤษในมลายูและพม่า นับเป็นจุดตั้งต้นของสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ม.จ. พูนพิศมัยทรงจดบันทึกไว้ว่า ในตอนเช้าวันนั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าอังกฤษประกาศสงครามกับญี่ปุ่นแล้ว จึงไปทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “เมื่อทูลแล้วท่านตรัสว่า- ‘ไม่นึกว่าจะเร็วอย่างนี้’…”

ถัดมาอีกเพียงไม่กี่วัน เพื่อความปลอดภัย ทางบ้านซินนามอนตัดสินใจอพยพไปขออาศัยที่บ้านนอกเมืองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งกลายมาเป็นเหมือนมิตรสนิทของครอบครัว

ตลอดเวลาหลายเดือนหลังจากนั้นถือเป็นช่วง “ปีนังแตก” อังกฤษถอยทัพทิ้งปีนังไว้เป็น “เมืองเปิด” ให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดได้ตามชอบใจ  กงสุลไทยถูกเรียกตัวกลับเข้ากรุงเทพฯ ไปโดยลำพัง ทิ้งคนไทยในปีนังไว้ให้เผชิญชะตากรรมกันเอาเอง  เมืองปีนังกลายเป็นซากปรักหักพัง  ญี่ปุ่นคือนายคนใหม่แทนฝรั่ง ทุกวันมีแต่เสียงเครื่องบิน เสียงระเบิด และข่าวลือมากมาย  เงินสดและทรัพย์สินที่สมเด็จฯ ทรงฝากไว้ในธนาคารของฝรั่งถูกอายัดไว้โดยกองทัพญี่ปุ่นจนหมดสิ้น  อาหารและสินค้าต่าง ๆ ล้วนขาดแคลน  การติดต่อสื่อสารกับทางเมืองไทยแทบจะเป็นไปไม่ได้  และเนื่องจากรถไฟจากเมืองไทยหยุดการเดินรถ จดหมายเวรจึงขาดตอนไปหลายเดือน

แม้กระนั้นในบันทึกรายวันของ ม.จ. พูนพิศมัยก็ยังทรงเล่าไว้ถึง “อีแมว” ว่าต่อมาทรงได้ข่าวว่ามันหายตัวไปจากบ้านซินนามอน “เราก็นึกว่ามันไปตายที่ไหนให้เที่ยวค้นอยู่นานจึงได้ตัว มันคงจะพยายามตามหาเสด็จพ่อเป็นแน่…” หลังจากนั้นสมเด็จฯ จึงต้องเสด็จกลับมาบ้านซินนามอนเป็นครั้งคราว เพื่อไปเยี่ยม “อีแมว”

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖  เมื่อแน่ใจว่าไม่มีการสู้รบในเขตปีนังแล้วจึงเสด็จกลับมาประทับที่บ้านซินนามอนตามเดิม  ม.จ. พูนพิศมัยทรงบันทึกสภาพความแร้นแค้นยุคสงครามไว้ว่า

“…เราขุดดอกไม้ล้มลุกออก ปลูกผักต่าง ๆ หมดแทน เอาไว้แต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่นต้นลั่นทม เพราะมีพวกแขกทำพวงหรีดขายชอบเข้ามาซื้อไปทำพวงหรีด…ผักเหลือกินก็เอาไปขายหรือแลกเนื้อสดมาจากตลาด  กระสอบถ่านกระสอบข้าวสารใช้แล้วก็ขายเหมือนกัน กระดาษหนังสือพิมพ์อ่านแล้วขายไปทำถุงได้สตางค์มา เอาไปซื้อกระดาษดินสอถวายเสด็จพ่อทรงเขียนหนังสือ…”

วันหนึ่งสมเด็จฯ ทรงยื่นกระดาษมีลายพระหัตถ์ให้ ม.จ. พูนพิศมัย พร้อมกับรับสั่งว่า “เอ้า พิมพ์เก็บไว้เสีย พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไม่ให้อยู่ในความประมาท”  ท่านหญิงพูนทรงเล่าว่าอ่านแล้วตัวสั่น ข้อความไม่กี่บรรทัดนั้นพิมพ์ผิดต้องพิมพ์ใหม่อยู่ไม่รู้ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เพราะกระดาษแผ่นนั้นคือคำสั่งเสียว่าด้วยรายละเอียดในการจัดการพระศพ กรณีที่ทรงประสบชะตากรรมเดียวกับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ คือต้องสิ้นพระชนม์อยู่ที่ปีนัง

ขณะนั้นสมเด็จฯ ทรงมีพระชนมายุ ๘๑ และประทับที่ปีนังมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว  พระพลานามัยทรุดโทรมลงตามความชราที่เพิ่มขึ้น  และความหวังที่จะ “กลับบ้าน” ยังดูริบหรี่ เพราะมีข่าวลือมาถึงปีนัง ว่าที่ชายแดนตรงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ มีเจ้าพนักงานฝ่ายไทยคอยยืนตะโกนอยู่ว่าในระหว่างสงครามนี้ ใคร ๆ จะกลับเข้าเมืองไทยได้ทั้งนั้น  ยกเว้นกรมพระยาดำรงฯ และพระยามโนฯ !

ม.จ. พูนพิศมัยหาทางฝาก “คำสั่ง” ฉบับนั้นกลับไปให้พี่น้องในราชสกุลดิศกุลทางกรุงเทพฯ รับทราบ  และคงด้วยเหตุนั้นเอง ม.จ. พงศ์พิสิฐ ดิศกุล พระโอรสองค์หนึ่งซึ่งขณะนั้นทรงเป็นนายพันเอก ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ในตำแหน่งรองเจ้ากรมประสานงานพันธมิตร ดูแลด้านความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพญี่ปุ่น จึงทรงเจรจาขอร้องกับทางผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้  ในที่สุดนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยินยอมให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จกลับประเทศไทยได้ โดยมีการประสานงานผ่านไปยังกองทัพญี่ปุ่นในปีนังให้จัดรถรับคนทั้งหมดในบ้านซินนามอนกลับมายังประเทศไทยช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖  ส่วนคณะจากกรุงเทพฯ ที่ไปรับเสด็จ ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปได้ถึงเพียงด่านสะเดาในจังหวัดสงขลา เพราะทางกองทัพญี่ปุ่นไม่ยอมให้ข้ามเข้าไปในมลายูที่เป็นเขตยึดครอง  ม.จ.อาชวดิศ ดิศกุล หนึ่งในพระโอรสที่ไปรอรับอยู่ทางชายแดนฝั่งไทยบันทึกไว้ว่า

“ครั้นถึงวันศุกร์พวกเราตื่นแต่เช้า รู้สึกตื่นเต้นทุกคน พอได้เวลาก็ว่าจ้างรถยนต์ออกจากหาดใหญ่ ไปตามเส้นทางถนนไปสู่เขตแดนที่สะเดา เพราะรู้สึกว่าไปนั่งคอยอยู่ที่นั่นจะสะดวกกว่า ระหว่างทางเกิดฝนตก ต่างคนต่างมองไปข้างหน้าเพื่อดูว่าจะมีขบวนรถยนต์แล่นสวนมาหรือไม่  ประมาณเที่ยงเศษ ม.จ. ดิศศานุวัติทรงร้องขึ้นมาว่า ‘รถเด็จพ่อมาโน่นแล้ว’ เราสั่งรถเราให้หยุดลงจากรถมายืนคอยข้างถนน  ต่อมาสักครู่รถพระที่นั่งของเสด็จพ่อก็มาจอดอยู่ตรงที่เรายืน  เรารีบเปิดประตูรถเข้าไปกราบและกอด  จำได้ว่าผู้เขียนร้องไห้มากในตอนนั้น เพราะคาดไม่ถึงว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงซูบผอมไปถึงเช่นนั้น…”

ม.จ. อาชวดิศทรงจำได้ว่าในวันนั้นมีแมวใส่กรงอยู่ในรถคันหนึ่งที่กลับมาจากปีนังด้วย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับถึงวังวรดิศในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ระหว่างน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และสิ้นพระชนม์ที่นั่นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ปีต่อมา

เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕  เมื่อเราไปสอบถามที่ช่องขายตั๋วของสถานีบัตเตอร์เวอร์ธเพื่อจองตั๋วรถไฟขากลับ  เจ้าหน้าที่หนุ่มของการรถไฟมาเลเซียปฏิเสธที่จะขายตั๋วให้ พร้อมทำหน้าเหนื่อยหน่ายใจ อธิบายว่าเขาไม่อาจทราบได้ว่าวันไหนจะมีรถไฟมาจากเมืองไทยบ้าง จะรู้ก็เพียงวันต่อวัน ดังนั้นจึงจะขายตั๋วล่วงหน้าได้เพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น  เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงเปลี่ยนแผน เดินทางกลับประเทศไทยด้วยรถตู้สายปีนัง-หาดใหญ่ ที่มีแล่นออกจากใต้ถุนตึกคอมตาร์ (KOMTAR) ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดบนเกาะปีนังแทบทุกชั่วโมง

และแล้วจากหน้าต่างรถตู้ที่แล่นฉิวอยู่บนสะพานข้ามทะเล  เกาะปีนังทางด้านหลังก็ค่อย ๆ เล็กลง ก่อนจะลับหายไปจากสายตาในที่สุด

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เห็นภาพอย่างเดียวกันนั้น

วันที่เราไปกราบท่านพระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดปิ่นบังอร  คุยกันสักพักเดียวท่านก็ “จับทาง” ได้เมื่อเห็นว่าเราสนใจประวัติศาสตร์ ท่านจึงย้ำว่าให้ไปดูที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดาริมกำแพงวัดด้านติดถนนด้วย

เจ้าคุณมโนฯ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งลี้ภัยการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ตัดสินใจว่าจะไม่กลับเมืองไทย  ท่านดำรงชีวิตทำสวนเงาะอยู่ที่ปีนัง ผ่านความหฤโหดของสงครามโลกมาได้ แต่แล้วก็ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ที่เกาะปีนังนั่นเอง  ศพของท่านถูกบรรจุไว้ ณ วัดปิ่นบังอรต่อมาอีกระยะหนึ่ง ก่อนจะนำกลับไปประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพที่กรุงเทพฯ ในเดือนเมษายนปีถัดมา  แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ สิ่งก่อสร้างคอนกรีตเล็ก ๆ หลังคาโค้ง รูปร่างเหมือนหลุมฝังศพชาวคริสต์แห่งนี้ยังคงตกค้างอยู่ในวัดปิ่นบังอรเรื่อยมา  ไม่กี่ปีก่อนที่บรรจุศพแห่งนี้รกร้างอยู่ในดงหญ้า แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างชุมชนคนไทยกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ของปีนัง ก่อนเราไปถึงไม่นานจึงมีการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์รอบ ๆ ให้ดูสะอาดเรียบร้อยมากขึ้น

เมื่อไม่เหลือที่ยืนในบ้านของตัวเอง  การก้าวออกไปข้างนอก-สู่ความหดหู่อ้างว้างและชีวิตที่ไม่คุ้นเคย-อาจไม่ใช่“ทางเลือก” แต่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่กระทำได้  ประสบการณ์เมื่อโลกทั้งหมดที่คนคนหนึ่งเคยรู้จักมีอันต้องพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา ซ้อนทับอัดแน่นอยู่ในสิ่งก่อสร้างเล็ก ๆ แห่งนี้  สำหรับเราแล้ว ภารกิจการตามรอยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปีนังจบสิ้นลง ณ เบื้องหน้าสุสานที่ว่างเปล่านั้นเอง

ขอขอบคุณ
พระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดปิ่นบังอร  คุณวิชญดา ทองแดง
คุณอร่าม สวัสดิวิชัย และหอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร

หมายเหตุท้ายเรื่อง
ราชสกุลดิศกุลได้เก็บรักษาสำเนาของจดหมายเวรทั้งหมดไว้ จากนั้นจึงมีการนำมาทยอยจัดพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็เริ่มมีการแบ่งพิมพ์เป็นเล่มหนังสือต่างหาก (โดยมากเป็นหนังสืองานศพ) ในชื่อ สาส์นสมเด็จ จนถึงขณะนี้หนังสือ สาส์นสมเด็จ ชุดที่สมบูรณ์ที่สุดคือที่ทางองค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหนังสือเล่มเล็กจำนวน ๒๗ เล่ม (รวมดัชนี) ซึ่งผู้เขียนได้ใช้เป็นข้อมูลหลักสำหรับบทความนี้  อนึ่งแม้ว่าในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางองค์การค้าของคุรุสภาจะมีโครงการเริ่มต้นพิมพ์ สาส์นสมเด็จ ชุดใหม่ขนาดเล่มใหญ่อีกครั้ง เพื่อทดแทนฉบับเล่มเล็กที่ขาดตลาดไปนานแล้ว และตรวจสอบแก้ไขข้อผิดพลาดจากการพิมพ์ครั้งก่อน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบชุด  ส่วนรายการเอกสารอ้างอิงอื่น ๆ นอกจาก สาส์นสมเด็จ จะปรากฏอยู่ข้างท้ายนี้

อ้างอิง
“ชีวิตและงานของพลโท หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล” ใน ดิศพงษ์อนุสรณ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๙
ธัชชัย ยอดพิชัย, “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ‘คนนอกคณะราษฎร’ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม ๒๕๔๙) : ๑๒๔-๑๓๙.
พระประวัติ พระนิพนธ์ และภาพฝีพระหัตถ์ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. พระนคร : ก้าวหน้า, ๒๕๐๖.
พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. พระประวัติลูกเล่า. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๕.
__________________. เมื่อปีนังแตก. พระนคร : ก้าวหน้า, ๒๕๐๖.
__________________. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๔.
__________________. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ภาคจบ. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ ๒  มติชน, ๒๕๔๖.
ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๓๖.
ศิลปากร, กรม  หอสมุดแห่งชาติ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : พระนิพนธ์. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๒.
สมบัติบริหาร (เอื้อ ศุภมิตร), พระยา. (ผู้เรียบเรียง) จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศมลายู พ.ศ. ๒๔๖๗. พิมพ์ในงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดสุวรรณดาราราม วัดตานีนรสโมสร และวัดชลเฉลิมเขต วัดพุทธภูมิ พระกฐินส่วนพระองค์ พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๑.
สุภัทรา จงเจริญ, คุณหญิง. “ปีนังแตกเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.จ. ปราโมทย์ จงเจริญ. กรุงเทพฯ : กรุงเทพการพิมพ์, ๒๕๒๐.