เรื่อง : อัมพร ทรงกลด

“…ก็หวังว่าทุกคนที่รู้หน้าที่จะไปทำตามหน้าที่ อายุ ๘๐ จะได้สบายใจ พี่สาวเคยบอกว่าถึงเวลาอายุ ๘๐ ไวๆ ท่านอายุ ๘๔ ท่านไม่ค่อยสบายอยู่ ก็เลยต้องพูดถึงท่านขอให้ท่านสบาย ให้มีความสำเร็จในการรักษาตัว เดี๋ยวนี้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้าเหลือคนเดียว คือ พี่สาว…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๔ ธันวาคม ๒๕๕๐

นับจากที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตลอด ๑๐ เดือนที่ผ่านมา พสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมาเข้าถวายสักการะพระศพอย่างเนืองแน่นทุกวันกระทั่งวันสุดท้ายก่อนการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคมจนถึง ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีผู้ลงนามถวายสักการะพระศพเป็นจำนวน ๑.๔ ล้านคน  รวมยอดเงินบริจาคเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งสิ้นกว่า ๑๖๒ ล้านบาท

พระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุในช่วงเช้าวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระยานมาศสามลำคานในริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๑ แปรขบวนเชิญพระโกศไปยังพระมหาพิชัยราชรถ ก่อนเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ เพื่อเริ่มเคลื่อนริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๒ ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

แม้จะมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ พสกนิกรจำนวนมากก็เลือกเดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อจะได้มีโอกาสถวายความอาลัยแด่พระองค์อย่างใกล้ชิด (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

๑๔-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ อาจเป็นครั้งแรกในชีวิตของคนไทยจำนวนมากที่ได้มีโอกาสร่วมชมการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างราชประเพณีโบราณ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง และอาจเป็นครั้งที่ ๒ ของอีกหลายคนที่ได้เคยร่วมในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ มาแล้ว

ตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุวันสุดท้าย ขณะที่ภายนอกพระบรมมหาราชวัง รอบท้องสนามหลวง ประชาชนจำนวนมากต่างมาจับจองพื้นที่เพื่อชมริ้วขบวนพระอิสริยยศ หลายคนเตรียมเสื่อและที่นอนมาจับจองกันข้ามคืน เพื่อหวังจะได้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถชมริ้วขบวนพระอิสริยยศสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงได้ดีที่สุด

ฟุตบาทตั้งแต่หน้ากรมการรักษาดินแดน ถนนราชดำเนิน หน้าศาลหลักเมือง ศาลฎีกา หน้าโรงละครแห่งชาติ มีประชาชนมาจับจองพื้นที่กันแน่นขนัด

เมื่อมองไปที่กลางท้องสนามหลวงฝั่งทิศใต้จะเห็นพระเมรุตั้งตระหง่าน

พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ออกแบบโดยนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสองหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ยอดปักพระสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร ๗ ชั้น) ที่หน้าบันทั้ง ๔ ทิศประดับพระลัญจกร “กว” โครงสร้างภายในเป็นเหล็ก ประดับด้วยกระดาษทองย่นตกแต่งด้วยลวดลายไทย ความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ๓๙ เมตร กว้าง ๓๑.๘๐ เมตร ยาว ๓๙.๘๐ เมตร มีบันไดทอดถึงพระเมรุทั้ง ๔ ทิศ ภายนอกใช้สีแดงอันเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์คือวันอาทิตย์ ภายในใช้สีฟ้าเป็นสีโปรดเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ยังมีการใช้สีอ่อนหวานและลายอื่นๆ ประกอบ

โถงกลางภายในพระเมรุคือที่ตั้งพระจิตกาธาน (เชิงตะกอน) สำหรับประดิษฐานพระโกศ ถือเป็นศูนย์กลางมณฑลพิธีตามความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทวดา ซึ่งปรากฏใน ไตรภูมิ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวถึงจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกน มีมหานทีสีทันดร เขาสัตบริภัณฑ์ ๗ ชั้น และมหาทวีปทั้งสี่ล้อมรอบ นอกจากนี้ยังมีการนำรูปปั้นสุนัขทรงเลี้ยงมาตั้งไว้รายรอบพระจิตกาธานด้วย

ตามความเชื่อว่าตีนเขาพระสุเมรุคือป่าหิมพานต์ ตลอดบริเวณบันไดทอดถึงพระเมรุจึงประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ ประเภททวิบาท (สัตว์สองเท้า) ๔ ชนิด ประกอบด้วย กินนร (ครึ่งคนครึ่งนก) ที่ทางขึ้นด้านทิศตะวันตก อัปสรสีหะ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์) ที่ทางขึ้นด้านทิศเหนือ นกทัณฑิมา (ครึ่งนกครึ่งครุฑ) ที่ทางขึ้นด้านทิศใต้ และหงส์ เป็นเสาหงส์ทางทิศตะวันออก โดยรอบประดับด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ๘๔ ชนิดจากโครงการหลวงดอยตุง

ในราชวัติ (รั้วล้อมมณฑลพิธี) ยังมีกลุ่มอาคารที่ทำหน้าที่ต่างกันไป ได้แก่

พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ รวมถึงมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ตลอดจนคณะทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

หอเปลื้อง ทางทิศตะวันออก เป็นอาคารทรงไทยมีฝากั้นโดยรอบ ใช้เป็นสถานที่เก็บพระโกศหลังเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน และเป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆ ในการพระราชพิธี

ซ่างหรือสำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๔ หลัง ตั้งอยู่ที่มุมชาลาพระเมรุทั้งสี่ ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดงานพระเมรุ

ทับเกษตร ๔ หลัง และศาลาลูกขุน ๗ หลัง เป็นที่สำหรับข้าราชการพัก

ทิม ๘ หลัง เป็นอาคารที่มีลักษณะหลังคาปะรำหรือ หลังคาแบน สร้างติดรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ สำหรับตั้งเครื่องประโคมพระศพ และเป็นที่ของเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก

นอกราชวัติด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของพลับพลายก ๑ หลัง ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จรับพระศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถ และอีก ๒ หลังอยู่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทและหน้าวัดพระเชตุพน- วิมลมังคลาราม

บริเวณท้องสนามหลวงมีการจัดซุ้มสำหรับประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ทั้ง ๘ ซุ้ม นอกจากนั้นทางการยังได้จัดเตรียมจุดถวายดอกไม้จันทน์ ณ สถานที่สำคัญในจังหวัดต่างๆ รวมถึงวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ทั้ง ๔๖ เขต จำนวนดอกไม้จันทน์ที่เตรียมไว้มีกว่า ๒.๕ แสนช่อ ทั้งนี้ยังไม่นับที่แต่ละวัดเตรียมไว้อีกวัดละ ๑ หมื่นช่อ

ประชาชนจำนวนมากซึ่งมาเข้าแถวรอตั้งแต่ช่วงสายเข้าถวายดอกไม้จันทน์ ณ ซุ้มที่เตรียมไว้ทั้ง ๘ ซุ้มรอบสนามหลวง จำนวนดอกไม้จันทน์ที่เตรียมไว้มีกว่า ๒.๕ แสนช่อ (ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์)

ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๑ ประกอบด้วยส่วนหลักคือ พระยานมาศสามลำคาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นพระยานเชิญพระโกศพระศพโดยเฉพาะ ทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด ๔ ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง มีคานหาม ๓ คาน ใช้คนหาม ๖๐ คน ริ้วขบวนนี้มีกำลังพลทั้งหมด ๖๖๘ นาย ระหว่างเคลื่อนขบวนมีพระสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร ๗ ชั้น) กางกั้นเหนือพระโกศตลอดทาง (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๒ เชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินใน ก่อนเลี้ยวเข้าสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระมหาพิชัยราชรถสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ สูง ๑๑.๒ เมตร ยาว ๑๕.๓ เมตร ใช้ผู้ฉุดชักทั้งหมด ๒๑๖ คน สร้างขึ้นโดยจำลองเขาพระสุเมรุโดยใช้บุษบกโปร่งรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นสัญลักษณ์ ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงก่อนการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เริ่มขึ้นไม่นาน (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

เจ้าพนักงานเลื่อนเกรินเชิญพระโกศขึ้นสู่ที่ตั้งพระจิตกาธานในพระเมรุ หลังจากนี้จะเปลื้องพระลองทองใหญ่อันเปรียบได้กับเปลือกหุ้มพระโกศออก จากนั้นจะประกอบพระโกศจันทน์เพื่อใช้ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ (จริง) (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เมื่อแสงแรกของวันจับขอบฟ้า บริเวณโดยรอบสนามหลวงเต็มไปด้วยประชาชนจำนวนมากในชุดไว้ทุกข์สีดำที่หลั่งไหลมาตั้งแต่เมื่อคืน

๗.๐๐ น. พระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังเริ่มต้นขึ้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อพิธีทางศาสนาเสร็จสิ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง นำเจ้าพนักงานไปเปลื้องพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศออก จากนั้นเชิญพระโกศไปประดิษฐานที่พระยานมาศสามลำคาน โดยเคลื่อนออกทางทวารทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นับเป็นริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๑

ช่วงนั้นเองประชาชนที่อยู่รอบท้องสนามหลวงได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติดังกึกก้องต่อเนื่องถึง ๖๒ นัด

เมื่อเสียงปืนสงบ ในเวลา ๘.๒๐ น. ริ้วขบวนที่ ๑ เชิญพระโกศพระศพโดยพระยานมาศสามลำคานจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันตก ออกทางประตูศรีสุนทร ผ่านประตูเทวาภิรมย์ มีกำลังพลหาม ๖๖๘ นาย มีขบวนพระประยูรญาติ ๑๗ ท่านเชิญเครื่องพระอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามด้วยเจ้าพนักงานนำริ้วธง ๓ ชาย คู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กคู่แห่

ถัดมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นั่งเสลี่ยงกลีบบัวอ่านพระอภิธรรมนำ ข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่กระทรวงวัฒนธรรม เป็นคู่เคียงอินทร์ พรหม นาลิวัน (พราหมณ์ในราชสำนัก) ขบวนพระอิสริยยศประกอบด้วย พระอภิรุมชุมสาย พระแสง
หว่างเครื่อง แตรงอน แตรฝรั่ง สังข์ ปี่ กลองชนะประโคมแห่เชิญพระโกศทองใหญ่

๘.๓๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ตามพระโกศ เสด็จพระราชดำเนินตามจังหวะเพลงพญาโศกในจังหวะมาร์ชปรกติ ตามด้วยข้าหลวงมหาดเล็กและข้าราชบริพารใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๑ ยาตราไปตามถนนมหาราช ถนนท้ายวัง และสิ้นสุดที่ถนนสนามไชย เพื่อเชิญพระโกศไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

๙.๐๐ น. ริ้วขบวนที่ ๑ ถึงหน้าพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปประทับยังพลับพลายก ระหว่างนั้นขบวนหน้าของริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๑ ตั้งแต่ผู้นำริ้วธง ๓ ชาย คู่แห่นายทหารบก นายทหารเรือ นายทหารอากาศ ตำรวจหลวงถือหอก มหาดเล็กคู่แห่ เครื่องสูงฉัตรพระนำ เสลี่ยงกลีบบัวพระนำ เครื่องสูงหักทองขวาง พระแสง หว่างเครื่อง เดินหลีกพระมหาพิชัยราชรถไปตั้งแถว ต่อแถวขบวนกองทหารในริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๒ ขณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ลงจากเสลี่ยงกลีบบัวไปขึ้นนั่งในบุษบกราชรถพระนำ คู่เคียงอินทร์ พรหม เข้าประจำที่ราชรถพระนำ

จากนั้นพระยานมาศสามลำคานเทียบท้ายเกรินบันไดนาคพระมหาพิชัยราชรถ เจ้าพนักงานภูษามาลาเลื่อนพระโกศทองใหญ่จากพระยานมาศสามลำคานเข้าสู่ท้ายเกรินบันไดนาค ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงทอดผ้าไตรที่พระโกศทองใหญ่ พระสงฆสดับปกรณ์ ๒๐ รูป จากนั้นเจ้าพนักงานจึงเลื่อนเกรินเชิญพระโกศขึ้นสู่บุษบกพระมหาพิชัยราชรถ

๙.๓๕ น. ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๒ ที่ยาวถึง ๑,๐๓๖ เมตร มีกำลังพล ๒,๗๔๖ นาย หัวขบวนอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม ท้ายขบวนอยู่ที่โรงเรียนราชินี ก็เคลื่อนไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน

บนพระมหาพิชัยราชรถ ร.ต.ท. ธงชัย วัฒนะกีวงศ์ เจ้าพนักงานขับรถถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ถือแพนหางนกยูงทำหน้าที่สารถี เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งสุดท้าย จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ตามขบวนเชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถสู่พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

ระหว่างนั้นรอบมณฑลพิธีเงียบกริบ เพลงพญาโศกบรรเลงสลับกับเสียงยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรตินาทีละ ๑ นัด หลายคนพนมมือเมื่อพระโกศพระศพผ่านตรงหน้า บางคนร้องไห้ ทุกคนต่างอยู่ในอาการเศร้าสลด

ขบวนเชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนเข้าสู่ทิศเหนือของมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เจ้าพนักงานเชิญพระโกศลงสู่พระยานมาศสามลำคานเพื่อเวียนพระเมรุโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ ก่อนเชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุ (ภาพ : วิจิตร แซ่เฮ้ง)

บริเวณตรงข้ามสนามหลวงฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือใกล้อนุสาวรีย์ทหาร เต็มไปด้วยประชาชนจำนวนมากที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สู่สวรรคาลัย (ภาพ : วิิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเลี้ยวเข้าถนนตัดกลางท้องสนามหลวงเทียบพลับพลายกด้านทิศเหนือของมณฑลพิธี ก็มีการเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระยานมาศสามลำคาน จากนั้นมีการตั้งริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๓

๑๑.๑๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ร่วมในริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๓ เวียนพระเมรุโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระโกศสู่ที่ตั้งพระจิตกาธานในพระเมรุ จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จขึ้นพระเมรุ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระศพ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ประทับพับเพียบ ทรงกราบพระศพ แล้วเสด็จกลับ เป็นอันสิ้นสุดพระราชพิธีในช่วงเช้า

ภายนอกแม้อากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศยังคงเดินเข้ามายังท้องสนามหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินกลางซึ่งปิดการจราจรตลอดทั้งสาย คนจำนวนมากตั้งแถวรอถวายดอกไม้จันทน์ตามซุ้มที่ทางการจัดไว้จนหางแถวยาวเหยียดตั้งแต่เวลา ๑๑.๓๐ น. ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนัก ด้วยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มารอชมริ้วขบวนพระอิสริยยศนานหลายชั่วโมง หลายคนเป็นลมเนื่องจากต้องตากแดดมาตั้งแต่ช่วงเช้า

ทิม หอมหวน อายุ ๗๐ ปี จากจังหวัดร้อยเอ็ด มารอชมริ้วขบวนตั้งแต่คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน บอกว่าคุ้มค่ากับการมา “การได้เห็นงานพระราชพิธีและมีโอกาสได้รับเสด็จถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต เหนื่อยเท่าไรก็ยอม”

เช่นเดียวกับ ณัฐพร กลิ่นกลาง เยาวชนจากจังหวัดชัยนาท กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ครั้งก่อนตอนงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่า ผมยังเด็กมาก ครั้งนี้จึงอยากเดินทางมาดูให้เห็นกับตา”

เมื่อถึงเวลา ๑๖.๕๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระที่นั่งทรงธรรมในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพทรงธรรมบนพระเมรุ จากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้ว พระสงฆ์ ๕๐ รูปสวดศราทธพรต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ ทรงทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ แล้วทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางดอกไม้จันทน์ ทรงจุดไฟที่ชนวนพระราชทานเพลิงพระศพ (จริง) หลังเชิญหีบพระศพเข้าสู่เตาเผาไฟฟ้า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำเทคโนโลยีเผาศพสมัยใหม่มาใช้ัในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโอบกอดท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงทัศนาวลัยวางดอกไม้จันทน์พระมารดา (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

จนเวลา ๑๘.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นพระเมรุโดยลิฟต์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อทรงเอื้อมพระหัตถ์วางดอกไม้จันทน์ที่ข้างพระโกศพระศพ ทรงคม(ไหว้) พระศพ แล้วทรงยืนทอดพระเนตรเปลวไฟที่ลุกโชนอยู่เป็นเวลานาน

ระหว่างนั้นทหารกองเกียรติยศ ๓ เหล่าทัพยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ๒๑ นัด สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ฯลฯ ทยอยเดินขึ้นสู่พระเมรุเพื่อถวายเพลิงพระศพตามลำดับ เมื่อได้เวลาอันควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ กลับ

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ แถวยาวเหยียดบริเวณท้องสนามหลวงเริ่มเคลื่อนไหว คุณยายท่านหนึ่งนั่งยองๆ คุกเข่าอธิษฐานจิตถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก่อนจะเดินกระย่องกระแย่งไปถวายดอกไม้จันทน์บนพานเป็นที่ตื้นตันใจแก่ผู้พบเห็น

ประชาชนที่ได้เข้าถวายดอกไม้จันทน์แล้วส่วนหนึ่งยังไม่กลับออกจากบริเวณมณฑลพิธี ต่างเดินชมมหรสพที่กรมศิลปากรเตรียมไว้ ๓ เวที คือ เวทีที่ ๑ เป็นการแสดงหนังใหญ่และโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งจะแสดงทั้งหมด ๑๑ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. ไปจนถึง ๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น เวทีที่ ๒ เป็นการบรรเลงดนตรีสากลจากวงดนตรี อาทิ วงดุริยางค์เยาวชนไทย และวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง
นราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น เวทีที่ ๓ เป็นการแสดงมหรสพ ๓ ประเภท คือ หุ่นกระบอกเรื่อง พระอภัยมณี นาฏยศาลาหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และละครนอกเรื่อง สุวรรณหงส์

ทั้งนี้ การจัดมหรสพในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพตามคติโบราณถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพของพระมหากษัตริย์ และเป็นการออกทุกข์ในเวลาเดียวกันโดยถือว่ามิใช่งานโศกเศร้า หากเป็นงานฉลองการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ช่วงสำคัญที่สุดคือการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (จริง) ก็มาถึง

เวลา ๒๒.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปยังพระที่นั่งทรงธรรมบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงประกอบพิธีทางศาสนาแล้วเสด็จขึ้นพระเมรุโดยลิฟต์ไปยังหน้าเตาเผาพระศพไฟฟ้า ซึ่งถือว่าถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ทรงรับมะพร้าวแก้วจากเจ้าพนักงานพระราชพิธี แล้วทรงเทน้ำมะพร้าวแก้วลงในหีบพระศพ จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงเชิญหีบพระศพเข้าสู่เตาเผา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคม ทรงหยิบธูปเทียน ดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทรงจุดไฟที่ชนวนพระราชทานเพลิงพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงทัศนาวลัยและ ร.อ. จิทัศ ศรสงคราม พระธิดาและพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ วางดอกไม้จันทน์ จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทขึ้นถวายเพลิงพระศพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จลงพระเมรุไปประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ทอดพระเนตรการแสดงโขนหน้าไฟและหุ่นละครเล็กคณะโจหลุยส์เรื่อง รามเกียรติ์ ที่หน้ามุข

ระหว่างนั้น ภาพกลุ่มควันที่ลอยขึ้นจากพระเมรุสร้างความสลดใจแก่ประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมส่งเสด็จเต็มท้องสนามหลวง รวมไปถึงประชาชนที่ชมการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

๐.๓๕ น. วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เจ้าพนักงานปฏิบัติการถวายเพลิงพระศพเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเดด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาเสด็จขึ้นพระเมรุอีกครั้ง ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธาน พระสงฆ์ ๑๐ รูปสดับปกรณ์ แล้วเสด็จฯ กลับในเวลา ๑.๐๕ น.

ตลอดคืนประชาชนจำนวนมากยังคงทยอยเข้าถวายดอกไม้จันทน์ตามจุดที่ราชการจัดไว้ทั่วประเทศ และมีการแสดงมหรสพบริเวณท้องสนามหลวงไปจนรุ่งเช้า

เวลา ๘.๓๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการประกอบพิธีเก็บพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร(เถ้ากระดูก) หลังจากเจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระอัฐิ ทรงเก็บพระอัฐิ แล้วประมวลพระอัฐิลงในพระโกศทองคำลงยาประดับเพชร จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาประมวลพระสรีรางคารลงในพระผอบโลหะปิดทองพักไว้ในพระเมรุ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระอัฐิประดิษฐานในบุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้า ทรงประกอบพิธีทางศาสนา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระผอบพระสรีรางคารประดิษฐานในพระวอสีวิกากาญจน์ เพื่อเข้าสู่ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๔ เชิญพระโกศพระอัฐิและพระสรีรางคารเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ แทนพระองค์ไปประทับรอ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ แทนพระองค์ พร้อมด้วยข้าหลวง มหาดเล็ก ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตามพระโกศพระอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

๑๐.๑๐ น. ริ้วขบวนพระอิสริยยศเชิญพระอัฐิยาตราออกจากมณฑลพิธีตัดกลางสนามหลวง ออกถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ขบวนพระวอสีวิกากาญจน์แยกเข้าถนนหน้าศาลาสหทัยสมาคม เทียบที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระผอบพระสรีรางคารประดิษฐานพักไว้ในพระศรีรัตนเจดีย์ ขณะที่ขบวนพระโกศพระอัฐิตรงเข้าประตูพิมานไชยศรี เทียบที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกทองเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล ณ มุขตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๕ เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งราเชนทรยานมีลักษณะเป็นพระที่นั่งทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีหลังคาซ้อนกัน ๕ ชั้น มีคานหาม ๔ คาน (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพวงมาลาหลังจากทรงเชิญพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ลงในถ้ำศิลา ณ อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

บรรยากาศรอบพระเมรุยามพลบค่ำ ทั้งนี้หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเสร็จสิ้น มีการเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุและบริเวณโดยรอบมณฑลพิธี รวมทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีประชาชนจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาชมอย่างแน่นขนัด (ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง)

๑๗ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๕ เชิญพระโกศพระอัฐิขึ้นประดิษฐานที่พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในที่สุดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพก็มาถึงวันสุดท้ายในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เมื่อริ้วขบวนพระอิสริยยศที่ ๖ อันเป็นริ้วขบวนสุดท้ายเชิญพระสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังอนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา ภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และในเวลาเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงบรรจุพระสรีรางคารลงในถ้ำศิลา ทรงวางพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะ ก่อนเสด็จฯ กลับ เป็นอันสิ้นสุดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพอย่างเป็นทางการ

และสิ้นสุดการส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเชษฐภคินีในพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ สู่สวรรคาลัย