เทียรี ฟาลีส์ : ภาพลายเส้นและเรื่อง
คำข้าว : แปล

เทียรี ฟาลีส์ ช่างภาพและนักข่าวอิสระชาวเบลเยียมผู้นี้สนใจในชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยละแวกเอเชีย เทียรีเป็นอดีตนักข่าวของสำนักข่าวเอพี ประจำกรุงปารีส เขาทำงานให้นิตยสารต่างประเทศและสำนักข่าวในเบลเยียมหลายแห่ง รวมทั้งเป็นฟรีแลนซ์เจ้าประจำของ สารคดี ผลงานของเทียรีที่ลงตีพิมพ์แล้ว ได้แก่ บุกดงฝิ่นในดินแดนว้าแดง (ฉ. ๑๐๒) มองโกเลีย : ความเปลี่ยนแปลงของทุ่งกว้าง (ฉ. ๑๑๗) ทหารเด็กแดนขุนส่า (ฉ. ๑๒๐) ลัทธิสัมภาระ-คลั่งฝรั่งที่วานูอาตู (ฉ. ๑๓๘) แคว้นนาคา ปฐพีผืนสุดท้ายของนักรบคอนยัก (ฉ. ๑๕๓) ผู้นำเด็กแฝดแห่งกะเหรี่ยงติดอาวุธ (ฉ. ๑๗๗)

ตามปรกติ เทียรีส่งงานเป็นภาพสไลด์พร้อมต้นฉบับ แต่คราวนี้เขาส่งงานเป็นภาพสเกตช์สิ่งที่ได้พบเห็นในป่าเขตจังหวัดเชียงขวาง ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากฟิล์มสไลด์ถูกยึดไประหว่างการถูกจับกุมขณะอยู่ร่วมกับกลุ่มชาวม้ง–ชนกลุ่มน้อยที่ทางการถือว่าเป็นโจร หลังจากที่มีการปะทะกับทหารบ้านลาว (militia) เทียรีกับเพื่อนตากล้องชาวฝรั่งเศสชื่อ แวงซองต์ เรย์โนด์ ถูกตัดสินจำคุก ๑๕ ปี พ่อแม่ ญาติมิตร และเพื่อนร่วมงานของทั้งคู่ ได้ต่อสู้เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา โดยจัดตั้งเป็นกลุ่ม The Thierry Falise and Vincent Reynaud Support Committee ขึ้น จนกระทั่งทั้งสองได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

การจับกุมในครั้งนั้นเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก และทำให้เรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่ถูกลืมไปนานแล้วกลุ่มนี้ได้รับความสนใจขึ้นอีกครั้ง

แอนดริว เพอร์ริน นักข่าวนิตยสาร ไทม์ ซึ่งเข้าไปทำเรื่องของชาวม้งก่อนหน้านั้นรายงานว่า ชาวม้งอพยพจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมายังลาวในศตวรรษที่ ๑๙ เป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถด้านการสู้รบ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ชาวม้งที่นำโดยนายพลวังเปาก็เข้าร่วมกับซีไอเอทำ สงครามลับ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนามและในลาวเองด้วย เชื่อกันว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชาวม้งซึ่งมีอยู่ราว ๔ หมื่นคน เสียชีวิตจากการสู้รบนี้

เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนทหารจากลาวในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ และขบวนการคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว (The Communist Pathet Lao) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือเข้ายึดครองประเทศได้สำเร็จและโค่นล้มระบบกษัตริย์ ๒ ปีหลังจากนั้น ม้งและชนเผ่าอื่น ๆ ที่เคยทำงานให้ซีไออีก็ถูกทิ้งไว้ให้เผชิญชะตากรรมตามลำพัง รัฐบาลใหม่ของลาวประกาศว่าจะตามล่าตามล้างพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่างถอนรากถอนโคน ชาวม้งบางส่วนหนีตายเข้าประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ที่เหลือต้องเอาชีวิตรอดจากความอดอยากและสู้รบต่อไปด้วยอาวุธเก่าแก่ที่หลงเหลือมาจากครั้ง สงครามลับ

 

ผมกับ แวงซองต์ เรย์โนด์ ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม คศ.๒๐๐๓ บนถนนไปพอนสะหวัน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากการปะทะกันระหว่างหน่วยคุ้มกันติดอาวุธชาวม้งกับทหารบ้านลาว ซึ่งโชคร้ายที่ในเหตุการณ์ดังกล่าวทหารม้งเกิดตื่นตระหนกและสังหารทหารลาวไปหนึ่งราย ในเวลา ๕ สัปดาห์ เราสองคนถูกคุมขังในคุกสามแห่ง (สองสามวันในพอนสะหวัน ที่เหลือในเวียงจันทน์) หลังจาก ๑๒ วันแรก ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเวียงจันทน์ ผมได้รับกระดาษและปากกา จึงเริ่มต้นสเกตช์ภาพต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทางไปทำข่าวเกี่ยวกับชาวม้งกลุ่มดังกล่าวเท่าที่อยู่ในความทรงจำของผม ผมพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่วาดรูปอาวุธต่าง ๆ และเครื่องใช้ประจำตัวของทหารเพื่อไม่ให้เป็นที่สนใจของตำรวจลาว

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม คศ.๒๐๐๓ หลังจากการไต่สวนอย่างปลอม ๆ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมรายอื่น คือ สาธุคุณนอคาลเมา–ล่ามชาวม้งสัญชาติอเมริกัน และไกด์ชาวม้งอีกสองคน พวกเราถูกตัดสินจำคุก ๑๕ ปีด้วยข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และครอบครองวัตถุระเบิด ยาเสพติด และอาวุธสงคราม

ขอบคุณเพื่อนร่วมงาน ญาติ และเพื่อนนานาชาติ ที่ช่วยกันต่อสู้เรียกร้องให้เรา พวกเราได้รับการปล่อยตัว ๙ วันหลังจากนั้น ทางการลาวริบภาพสเกตช์ของผมเอาไว้ แต่น่าแปลกที่ว่าพวกเขาคืนสมุดบันทึกที่ผมจดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางครั้งนี้

มันไม่มีที่สำหรับซ่อนฟิล์มเลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ผมก็จัดแจงซ่อนฟิล์มสไลด์ทั้ง ๔๑ ม้วนไว้ที่ก้นกระเป๋ากล้อง ใต้กล้องและเลนส์ต่าง ๆ ซึ่งมันจะอยู่ปลอดภัยอย่างนั้นหากการตรวจค้นกระทำอย่างขอไปที
แต่หน่วยความมั่นคงของลาวที่จับกุมเรา คือผมกับช่างภาพชาวฝรั่งเศส ชื่อ แวงซองต์ เรย์โนด์ ก็ไม่ได้อยากจะค้นตัวพวกเราอย่างขอไปทีเสียด้วย พวกนั้นจดคำว่า สไลด์ ลงในรายการสิ่งของต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่จดหมายเลขและปีที่ปรากฏบนธนบัตรดอลลาร์ รวมทั้งรายการข้าวของส่วนตัวชิ้นอื่น ๆ

ผมคงไม่ได้เห็นฟิล์มพวกนั้นอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมพอจะเข้าใจความกระตือรือร้นของตำรวจลาวได้ เพราะไม่ว่าอย่างไร รูปภาพเหล่านั้นก็เป็นรูปของกบฏชาวม้งและครอบครัว กลุ่มคนที่พวกเขาปฏิเสธว่ามีอยู่ กลุ่มคนที่เขาเรียกว่า โจรห้าร้อย

เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อนหน้า

หลังจากเดินเท้าในป่ามาสี่วันสี่คืนโดยหลีกเลี่ยงเส้นทางลาดตระเวนและทหารบ้านลาวในจังหวัดเชียงขวาง ซึ่งอยู่ห่างจากเวียงจันทน์ไปทางเหนือราว ๑๗๐ กิโลเมตร เราก็มาถึงโลกที่ไม่มีใครรู้จักของพวก ม้งที่ถูกลืม

ในบ่ายที่เรามาถึงลานโล่งขนาดเล็กที่มีกระท่อมทำจากไม้ไผ่และใบตองตั้งอยู่ล้อมรอบ พวกเราถูกกลุ้มรุมด้วยหลายมือ หลายแขน และหลายร่าง รวมทั้งใบหน้านองน้ำตาและเสียงสะอึกสะอื้น เราสองคนถูกผลักให้ไหลไปโดยคลื่นของคนนับร้อยที่สวมเครื่องแบบขาดวิ่นสีกากี เสื้อยืดกะรุ่งกะริ่ง หรือชุดที่มีแต่รอยปะ คลื่นลูกแรกนี้นำโดยพวกผู้ชายก่อนตามธรรมเนียม ตามด้วยผู้หญิง และเด็ก เด็กหลายคนพุงโรเพราะขาดอาหาร

“พวกนี้เชื่อว่าคุณเป็นอเมริกันที่จะมาช่วยเขา” เมาตาวเต๋อ หัวหน้าวัย ๔๖ ปีบอกเรา มือซ้ายของเขาต้องถูกตัดทิ้งเพราะโดนยิงจนกระดูกแตกละเอียดเมื่อหลายปีก่อน

หญิงสาวคนหนึ่งอุ้มลูกของเธอวิ่งรี่เข้ามายืนตรงหน้ากล้อง ผู้ชายอีกคนลุกขึ้นโชว์ร่องรอยที่ปรากฏอยู่บนใบหน้า สองสามปีก่อน บุนสี แสงนาลาด ถูกไฟคลอกเพราะหนีออกจากบ้านที่ถูกทหารลาววางเพลิงไม่ทัน ส่วนผู้ชายอีกคนลงนั่งแล้วถอดขาเทียมข้างซ้ายที่ทำด้วยไม้ออก เนียลอวัง อดีตสมาชิกกองโจรวัย ๔๓ ปี เหยียบถูกกับระเบิดเข้าระหว่างเดินลาดตระเวน “ตอนนั้นเราไม่มียา เมียกับญาติ ๆ ของผมจึงเข้าไปเก็บสมุนไพรในป่ามารักษา และให้หมอยาเป่ามนตร์ให้”

แต่พวกเราคงจะต้องทำให้คนเหล่านี้ผิดหวังโดยบอกไปตามตรงว่า เราสองคนไม่ได้เป็นทั้งอเมริกันหรือผู้ปลดปล่อย แต่เป็นเพียงนักข่าวธรรมดา ๆ ที่จะพยายามเล่าเรื่องของพวกเขาให้โลกภายนอกรับรู้

ห้าวันที่อยู่ในชุมชนของคนร่วม ๖๐๐ คนที่ขาดทั้งอาหารและที่ซุกหัวนอน เราพบว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเด็ก พ่อของเด็กพวกนี้เคยปลูกข้าวและฝิ่นบนยอดเขาห่างไกล แต่กลับต้องร่อนเร่ย้ายถิ่นและหลบซ่อนตัวปีแล้วปีเล่า ทุกคนเอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงแต่เรื่องที่เมาตาวเต๋อสรุปไว้ว่า “พวกเราเป็นพันธมิตรของอเมริกันมาตลอด ๑๕ ปี พวกเราหวังว่าเขาจะกลับมาช่วยเราจากศัตรูคอมมิวนิสต์ ทำไมพวกเขาจึงทิ้งพวกเราไว้อย่างนี้ ในประเทศของพวกคุณ กระทั่งสัตว์และพืชยังมีคุณค่า แต่ที่นี่พวกเราไม่มีค่าเลย ทั้งที่พวกเราก็เป็นมนุษย์”

ชุมชนที่ถูกลืมแห่งนี้กับอีกสองสามแห่ง เป็นตัวแทนเศษซากชิ้นสุดท้ายของความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีนหลังจากร่วมรบกับฝรั่งเศสในทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ต่อมาในทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ชาวเขาที่มีประวัติศาสตร์การยืนหยัดต่อสู้ยาวนานอย่างม้ง ก็รับจ้างซีไอเอต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ใน สงครามลับ โดยมีนายพลวังเปาเป็นผู้บัญชาการ

ปี ๑๙๗๕ เมื่อขบวนการปะเทดลาวที่มีแนวทางสังคมนิยมเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลลาวฝ่ายขวาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บรรดานักรบกองกำลังลับของนายพลวังเปาจำนวนมากก็อพยพหนีตายเข้าเมืองไทย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ แต่ยังคงมีกลุ่มนักรบชาวม้งอีกราว ๑๕,๐๐๐ คนที่โชคไม่เข้าข้าง เหลือตกค้างอยู่ นักรบเหล่านี้จึงเริ่มสงครามกองโจรต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์จากที่มั่นบนภูเบี้ยอันกว้างใหญ่และเป็นที่สถิตของผี วิญญาณ และตำนานต่าง ๆ

เกือบ ๓๐ ปีต่อมา ม้งกลุ่มของเมาตาวเต๋อได้สร้างความสัมพันธ์กับม้งกลุ่มอื่นรวมทั้งศัตรูกลุ่มต่าง ๆ ของทางการ และยังคงอ้างว่าเขา “ต่อสู้ในสงครามเพื่อล้มล้างรัฐบาลคอมมิวนิสต์และจัดตั้งระบอบประชาธิปไตย” เราไม่จำเป็นต้องเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ก็รู้ได้ว่าจุดประสงค์ที่ว่านี้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ช่างห่างไกลจากความเป็นจริงเสียเหลือเกิน

ในฐานที่มั่นของเมาตาวเต๋อมีปืน M 16 และ AK 47 วางให้เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งหมดล้วนประกอบขึ้นด้วยลวดและเศษไม้

“เราไม่รู้ว่าปืนยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า เราไม่มีกระสุน อย่างดีเราก็แค่มีไว้ใช้ป้องกันตัวเองจากการกวาดล้างของฝ่ายรัฐบาล” จาไหมหยาง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกซื่อ ๆ

ปืนเด็กเล่นที่เอาแน่เอานอนไม่ได้พวกนี้หรือจะต่อกรกับบรรดาปืนครกและลูกกระสุนจากเฮลิคอปเตอร์ที่ฝ่ายลาวหมั่นถล่มลงมาเพื่อทำให้ โจรห้าร้อย เหล่านี้เชื่องลง

สำหรับ กองโจร ชาวม้งและครอบครัวแล้ว สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการเสาะหาหัวมันซึ่งกลายมาเป็นอาหารหลักของชาวม้งในระยะหลัง ทุกรุ่งเช้า ขบวนแถวของผู้หญิง เด็ก และผู้ชายติดอาวุธสองสามคน เดินออกจากฐานที่มั่นไปพร้อมตะกร้าเปล่า ๆ

“ตอนนี้เราต้องเดินเข้าไปในป่าไกลถึงสองสามชั่วโมงเพื่อหาหัวมัน” ไอวาง หญิงวัย ๔๑ ปีเริ่มร้องไห้ “เราหมดหวัง ไม่เหลืออะไรแล้ว เด็ก ๆ กับคนแก่กำลังจะตายเพราะไม่มีอะไรจะกิน”
ทุกวันนี้ ชาวม้งราว ๕,๐๐๐ ถึง ๑ หมื่นคนที่อาศัยอยู่ตามชุมชน ๑๐ แห่งในเขตลาวเหนือ ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในสถานการณ์อันน่าสะเทือนใจเช่นนี้

จะว่าไปม้งเหล่านี้ยังมีประโยชน์สำหรับทางการลาว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวคนหนึ่งซึ่งให้สัมภาษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวอย่างเย็นชาว่า “เราอาจกำจัดโจรพวกนั้นได้ง่าย ๆ แต่เราก็ไม่ทำ”
กองโจร ม้งที่กำลังจะตายพวกนี้อาจจะมีประโยชน์มากกว่ากองโจรที่ตายไปแล้ว สำหรับรัฐบาลลาว ชาวม้งเหล่านี้มีไว้เพื่อเป็น ข้ออ้าง เมื่อเกิดการก่อการร้ายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการโจมตีรถประจำทางที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่ม้งทุกคนก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเลย เรื่องนี้ทำเอาชาวม้งระส่ำระสายและรู้สึกถูกคุกคามอยู่นานหลายปี

นอกจากนั้น รัฐบาลลาวยังแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาที่นานาประเทศใช้ได้ผลมาแล้ว นั่นคือการอพยพชาวม้งเหล่านี้ไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งมีชาวม้งอาศัยอยู่ราว ๒๕๐,๐๐๐-๓๐๐,๐๐๐ คน แหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตตะวันตกหลายคนกล่าวว่า รัฐบาลอเมริกันเคยยื่นข้อเสนอดังกล่าว แต่ถูกทางเวียงจันทน์ปฏิเสธ

เช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นที่อับโชค ลาหยิงเมา ผู้เฒ่าที่เคยต่อสู้ร่วมกับฝรั่งเศสในทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ก็พร้อมยอมรับการแก้ปัญหาด้วยวิธีข้างต้น “ถ้าเราไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้ว ทางเลือกที่เหลือคือการอพยพไปอยู่ที่อื่น” เขาชี้มือขึ้นไปบนท้องฟ้าและฝากคำพูดอย่างเปิดเผยไปถึงอดีตผู้บัญชาการทหาร–นายพลวังเปา ที่ปัจจุบันลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาและยังคงมีอิทธิพลเหลือล้นในชุมชนม้งอเมริกันขนาดใหญ่

“ถ้าท่านไม่ยอมช่วยผมแล้วปล่อยให้ผมตายที่นี่ วิญญาณผมจะไปเอาชีวิตท่าน แล้วค่อยสะสางคดีกันที่บนนั้น”