สถาปัตยกรรมสีเขียว Green Architecture
เมื่อการอยู่ในตึกสูง อาคารสำนักงาน และบ้านปิดทึบที่ครอบด้วยโครงสร้างกระจกและคอนกรีต ทำให้เครื่องปรับอากาศกลายเป็นปัจจัยที่ ๕ ของการใช้ชีวิตของคนทั่วเมือง การบริโภคพลังงานทั้งเพื่อสร้างแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศ จึงเผาผลาญพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทว่าสุขภาวะของคนที่ต้องอาศัยในอาคารสถาปัตยกรรมที่ลอกเลียนจากตะวันตกนี้กลับย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
นิตยสาร สารคดี ฉบับขึ้นปีที่ ๒๙ เดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ขอเสนอแนวคิดซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคมทั่วโลก นั่นคือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture)
หากเชื่อในคำกล่าวว่า “มนุษย์ถูกออกแบบให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ” ในทางสถาปัตยกรรมก็มีคำกล่าวว่า “ไม่มีคำตอบใดที่สถาปัตยกรรมในโลกนี้จะตอบแทนผู้คนได้ดีเท่าความสัมพันธ์กับธรรมชาติ” คำกล่าวนั้นพร้อมสนองความต้องการของมนุษย์แล้ว
หัวใจสำคัญของสถาปัตยกรรมสีเขียวไม่ใช่เทคโนโลยีวัสดุสร้างบ้านอันล้ำสมัย ไม่ใช่เครื่องปรับอากาศเบอร์ ๕ ไม่ใช่แผงโซลาร์เซลล์หรือกังหันลมบนหลังคาบ้าน สารคดี ชวนคุณผู้อ่านมาลองค้นหาคำตอบ เปิดใจ เปิดทางให้สถาปัตยกรรมสีเขียวที่อยู่ได้จริง ไม่เลื่อนลอยพร่ำเพ้อ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเราและของโลก
…
สถาปัตยกรรมสีเขียว Green Architecture เปิดเรื่องด้วยภาพกว้างของวงการสถาปัตยกรรมสีเขียว อย่างไรที่เรียกว่าเขียว เมื่อเขียวแล้วเขียวเข้มหรือเขียวอ่อน เขียวจากข้างนอกเพราะ “ย้อมเขียว” หรือเขียวจากข้างใน จากนั้นลองหันกลับมามองเรือนไทย “รากเหง้า” แห่งที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะต่อยอดภูมิปัญญาเรือนไทยที่คนไทยเคยอยู่อย่างร่มรื่น มาสู่อาคารใช้สอยของคนยุคปัจจุบัน
สิ่งปลูกสร้างสีเขียว พบกับสถาปัตยกรรมอันหลากหลายในเมืองไทยที่มีแนวคิดอยู่บนรากฐานของความเป็นเมืองเขตร้อน จาก สนามบินนานาชาติที่ไม่ต้องติดแอร์ สวนป่ากลางตึกมหาวิทยาลัย โรงแรมเล็กใจกลางเมืองที่อยู่สบายโดยอาศัยเพียงพัดลม บ้านสถาปนิกที่กลมกลืนกับบ้านเรือนท้องถิ่น ฯลฯ
ปิดท้ายด้วย Green Guru : ปราชญ์สถาปนิกสีเขียวแห่งโลกตะวันออก ขณะที่สถาปนิกจำนวนมากพากันเดินทับรอยเท้าสถาปนิกของโลกตะวันตก “บรมครู” ผู้ทรงภูมิปัญญาทั้งสี่คนจากอินเดียและศรีลังกากลับนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์เข้ากับบริบทท้องถิ่น ก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของโลกทัศน์แบบตะวันออกที่ว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ