อยากทราบว่าทำไมตัวหนังสือในภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกบางทีก็เขียนจากซ้ายไปขวา บางทีก็เขียนจาก ขวาไปซ้าย บางภาษายิ่งแปลกใหญ่คือเขียนจากบนลงล่างดังเช่นภาษาจีน
(คนช่างสงสัย / จ.อุดรธานี)
“ซองคำถาม” ยังไม่มีข้อมูลที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างครอบคลุม คือมีแต่ข้อมูลฝ่ายภาษาอังกฤษ คุณ “คนช่างสงสัย” อ่านไปพลาง ๆ ก่อนก็แล้วกัน
อักษรโรมัน ๒๖ ตัวในภาษาอังกฤษสมัยใหม่ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยกลาง แต่ต้นกำเนิดดั้งเดิมของมันนั้นอาจย้อนกลับไปในอดีตได้นับพัน ๆ ปี ต้นเค้าแรกสุดของอักษรโรมันคือ อักษรที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวฟินิเชียนอันเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาเซมิติก และตั้งถิ่นฐานอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือดินแดนที่เป็นประเทศเลบานอนในปัจจุบัน อักษรฟินิเชียนพัฒนาจากการเขียนด้วยภาพของพวกอียิปต์โบราณ และชุมชนบุพกาลอื่น ๆ โดยใช้ภาพสัญลักษณ์แทนพยัญชนะ ไล่จากอักษรตัวแรก alef, bet, gimel ส่วนสระนั้นไม่เขียนไว้
ในช่วงระหว่างปี ๑,๐๐๐ ถึงปี ๙๐๐ ก่อนคริสตกาล พวกกรีกได้ดัดแปลงตัวหนังสือของคู่ค้าชาวฟินิเชียน มาใช้เป็นภาษาของตนเอง นวัตกรรมหนึ่งของพวกกรีกคือการนำสัญลักษณ์ในภาษาเซมิติกหกตัว มาใช้แทนสระ alef อักษรตัวแรกได้กลายมาเป็น alpha ในภาษากรีก และถ่ายตัวอักษรเป็น A ในภาษาโรมัน
ชาวฟินิเชียนเขียนจากขวามาซ้าย เช่นเดียวกับ ภาษาฮิบรู อารบิก และอีกหลายภาษาของประเทศเอเชียในปัจจุบัน จารึกอักขระกรีกยุคแรกสุดก็อ่านจากขวาไปซ้ายเช่นเดียวกัน ต่อมาพวกกรีกจึงรับเอาวิธีเขียนที่เรียกว่า “boustrophedon” (การเลี้ยวกลับในลักษณะเดียวกับการไถคราดของวัว) มาใช้ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะเขียนตัวอักษรจากซ้ายไปขวา และจากขวาไปซ้ายสลับกันไปทีละแถว
จนล่วงมาถึงราวปี ๕๐๐ ก่อนคริสตกาลด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด พวกกรีกก็เริ่มเขียนจากทางซ้ายมือไปทางขวา เพียงแบบเดียวเท่านั้น บางทีอาจเป็นเพราะว่าการขยับปลายปากกาต้นอ้อซึ่งเพิ่งคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ไปในทิศทางดังกล่าวทำได้ง่ายกว่า ชาวอิทรัสคันในอิตาลีถือเอาตัวอักขระกรีกเป็นตัวแบบอักษรของพวกตน ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นอักษรโรมันโบราณ ๒๓ ตัว ส่วนอักษร J, U, และ W นั้นเพิ่มเติมขึ้นภายหลังในช่วงสมัยกลาง
ภาพ : 123rf