ปราบดา หยุ่น

โอซากาเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น รองจากโตเกียว-ถึงแม้จะมีร้านรวงยี่ห้อเดียวกันผงาดกระจายไปทั่ว แต่บุคลิกและบรรยากาศของโอซากา แตกต่างจากโตเกียวโดยรู้สึกได้ไม่ยากหากมีเวลาสัมผัสสักระยะหนึ่ง ที่ยากคือเมื่อต้องอธิบายว่าต่างอย่างไร เพราะเป็นความต่างที่ทั้งคลุมเครือและโจ่งแจ้งไปพร้อมกัน ที่แน่ ๆ คือมิใช่เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้นที่เห็นความแตกต่าง ชาวโอซากาเองนอกจากจะรู้ซึ้งถึงความต่างนั้นแล้ว พวกเขายังเป็นคนเมืองที่มีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์เฉพาะของตนเป็นพิเศษ พร้อมใจกันกระแหนะกระแหนโตเกียวเมื่อมีโอกาสเหมาะ และพูดถึงบ้านเกิดด้วยรอยยิ้มเยื่อใย แม้ในขณะต้องวิพากษ์ข้อด้อยของโอซากา พวกเขาก็ใช้วิธีเหน็บกัดตัวเองอย่างเอ็นดู หรือมิเช่นนั้นก็หยอกล้อ แทนที่จะด่าทออย่างเลือดเย็น

ครั้งแรกที่ไปโอซากา ผมไม่รู้สึกสบตาสบใจอะไรนัก มันดูเป็นเมืองคอนกรีตที่เน้นหนักไปกับเส้นทางจราจร และขาดแคลนย่านคนเดินร่มรื่นน่ารัก ดังที่โตเกียวมีนำเสนอให้เป็นระยะ ๆ (แม้แต่ย่านชอปปิงคึกคักผู้คนอย่างฮาราจูกุในโตเกียว ยังนับว่ามีเสน่ห์ชวนเดินเพลินใจไม่น้อย) ถนนหนทางในโอซากาท่าทางห่างเหิน เย็นชา เป็นสีเทาคลุกเคล้าฝุ่น ไม่สนับสนุนให้คนเตร็ดเตร่เดินเล่นเหล่บรรยากาศหรือธรรมชาติ

ตอนนั้นผมสบถในใจ “เหมือนกรุงเทพฯ !”

ไม่ใช่เพราะผมรังเกียจกรุงเทพฯ เข้ากระดูก (ยังเป็นแค่ความหงุดหงิดที่ซึม ๆ อยู่รอบรูขุมขนเท่านั้น) แต่เมื่อได้เดินทางออกจากที่ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ทุกวี่วัน อย่างน้อยขอให้เป็นที่ที่ต่างไปบ้าง ขอเป็นที่ที่เอาอกเอาใจคนชอบใช้เท้าบ้าง ขอเป็นที่ที่อากาศไม่ขมุกขมัวไปด้วยควันท่อไอเสียบ้าง ดังนั้นเมื่อโอซากาทำให้ผมนึกถึงกรุงเทพฯ มากเกินควร ผมจึงจดบันทึกลงบนกระดานความทรงจำในหัวไว้ว่า โอซากาเป็นเมืองที่ไม่ค่อยน่ากลับไปเหยียบเยือน หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ

แต่เพราะ “ไม่ชอบอะไร ก็จะได้อย่างนั้น” สามารถเป็นจริงอย่างน่าอัศจรรย์ใจในบางช่วงของชีวิต ผมจึงมีเหตุให้ต้องติดต่อกับชาวโอซากาขึ้นมาเสียเฉย ๆ-พวกเขาบุกมาพูดคุยกับผมถึงบ้านเกิดเมืองกิน

ฮิเดกิ โทโยชิมา ชายหนุ่มผมยาว เกล้ามัดเป็นก้อนไว้เหนือต้นคอคล้ายซามูไร เดินทางมากรุงเทพฯ พร้อม ฟูมิยา ซาวา ผู้ซึ่งสีผมเปลี่ยนจากดำเป็นน้ำตาลแซมขาวตามธรรมชาติไปเรียบร้อยแล้ว ทว่าทีท่ายังเหมือนเด็กวัยรุ่นไม่งุ่นง่าน ผมกล่าวคำทักทายพลางเขย่ามือชายทั้งสอง (ทีละคน ไม่ได้เขย่าพร้อมกัน) ที่ล็อบบี้โรงแรมระดับสามดาวเทียมแถวถนนสุขุมวิท ในค่ำคืนอบอ้าวเมื่อต้นปี และเมื่อได้ยินน้ำเสียงของกันและกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจึงเคลื่อนไปสนทนาท่ามกลางดนตรีแจซบรรเลงเบา ๆ ที่สถานราตรีแห่งหนึ่ง นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับสมาชิก (ฮิเดกิ) ของกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวโอซากาที่เรียกตัวเองว่า “กราฟ” (Graf หรือชื่อเต็มยศคือ Graf Decorative Mode No.3 Design Products. Inc.)

“กราฟ” เป็นกลุ่มเพื่อนวัยใกล้เคียงกันหกคน (สามสิบต้น ๆ) ที่ร่ำเรียนมาคนละด้าน บางคนเป็นช่างไม้ บางคนเป็นนักออกแบบภายในและเฟอร์นิเจอร์ บางคนเป็นนักออกแบบสิ่งของ บางคนสนใจการทำอาหาร ส่วนฮิเดกิเรียนจบด้านศิลปะ ทั้งหมดถูกโฉลกกันอย่างไรไม่ทราบ แต่ตกลงปลงใจรวมตัวเปิดบริษัทรับทำเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบภายใน ขายอาหาร และจัดพื้นที่แสดงงานศิลปะ เรียกว่าใครถนัดด้านไหนก็ทุ่มใส่ด้านนั้น สิ่งที่ผลิตออกมาถือเป็นผลงานของ “กราฟ” ร่วมกัน และคงจะจัดสรรแบ่งปันรายได้กันเองด้วย อันนี้ผมไม่แน่ใจเพราะไม่สนิทถึงขั้นจะไปจุ้นจ้านเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของพวกเขา

เมื่อได้ยินประวัติคร่าว ๆ และระบบการทำงานของ “กราฟ” จากฮิเดกิ หูผมก็ตั้งอย่างกับหมาตัวผู้ได้กลิ่นหมาตัวเมีย-ผมชื่นชอบบริษัทที่ทำงานแบบ “multi-disciplinary” (หรือจะแปลเป็นไทยห่วย ๆ ว่า “บริษัทสารพัดช่าง”) เป็นพิเศษ เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศของบริษัทที่ใช้ความสนใจหรือความชำนาญอันแตกต่างของผู้ร่วมงานแต่ละคนเป็นฐานหลักในการสร้างสรรค์ ช่างเป็นการเติบโตของมิตรภาพในทางที่ดีสำหรับทุกฝ่ายเสียเหลือเกิน แน่นอนว่าความจริงคงมีปัญหาจุกจิกที่คนนอกไม่สามารถล่วงรู้อยู่มากมาย ทั้งยังคงมีปัญหาเรื่องความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนกว่าระบบการทำงานปรกติ แต่หากสามารถทำให้เกิดบรรยากาศและระบบนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมนึกอิจฉาว่ามันคงเป็นชีวิตการทำงานที่มีความสุขไม่น้อย ถึงแม้จะค่อนข้างเข้าใจและเห็นด้วยกับคำเตือนที่ว่า เราควรหลีกเลี่ยงที่จะทำธุรกิจกับเพื่อน แต่ในนาทีแห่งอารมณ์ยูโทเปีย ผมยังมองโลกในแง่หวังว่าคำเตือนนั้นจะใช้ไม่ได้กับเพื่อนที่รักกันจริง เพื่อนที่ไม่โกงและไม่ทรยศ เพื่อนที่ให้ค่ากับปริมาณของมิตรภาพมากกว่าปริมาณของธนบัตรในกระเป๋าสตางค์

“กราฟ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๓ แต่แกลเลอรีสำหรับงานศิลปะที่ฮิเดกิเป็นผู้ดูแล เปิดมาได้เพียง ๔ ปี คงเป็นเพราะพวกเขาเพิ่งพอจะมีกำไรหรือมีลู่ทางหาสตางค์มาทำอะไร “สนุก ๆ” หรืออะไรที่อยากทำตามใจ โดยไม่ต้องกังวลหรือคาดหวังเรื่องรายได้จากสิ่งเหล่านั้นมากนัก ตอนที่เราเจอกัน ฮิเดกิเพิ่งเสร็จสิ้นจากการจัดแสดงงานของ โยชิโตโมะ นาระ (Yoshitomo Nara) ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังระดับสากล (โด่งดังขนาดที่คนไทยยังอุตส่าห์ลอกงานของเขามาทำเป็นปกซีดีเพลงของนักร้องไทยเสียดื้อ ๆ) และจากนั้นไม่นานเขาก็จัดแสดงงานของเจ้าแม่คงกระพันแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่ชื่อ คาสุมา ยาโยอิ (Kasuma Yayoi) ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ศิลป์ถือว่าเป็นการร่วมงานที่ไม่ธรรมดา

ถึงแม้จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินชื่อใหญ่โตมาหลายครั้ง แต่จุดประสงค์หลักของกราฟแกลเลอรีไม่ใช่เพื่อส่งเสริมคนดังให้ดังยิ่งขึ้น ฮิเดกิพยายามจัดแสดงและสนับสนุนงานของศิลปินใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่เป็นระยะ นอกจากนั้นยังมีการจัดงานเฉพาะกิจอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะ เช่น คอนเสิร์ตเล็ก ๆ ของวงดนตรีแนวทดลอง การเดินแฟชั่นโดยนักออกแบบเสื้อผ้ารุ่นใหม่ การแสดงละครเวที และกิจกรรมปลีกย่อยอื่น ๆ รวมถึงการจัดเสวนาและการสอนสั้น ๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัดของกราฟแกลเลอรี ที่คนเข้าชมเข้าดูต้องอดทนกับสภาพเบียดเสียดยัดเยียดกันอย่างอบอุ่น

“กราฟ” ประกาศอย่างชื่นมื่นว่า “We equate art and design with eating and speaking.” สำหรับพวกเขา ศิลปะและการออกแบบมีค่าเทียบเท่าการเปิดปากกินและการปริปากพูด นั่นคือรวมศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ของการสื่อสาร ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือต่ำต้อยไปกว่ากัน

สิ่งที่ใช้คีบลูกชิ้นเข้าปากหรือป้อนข้าวลงคอ นั่นคืองานออกแบบ

รสชาติของลูกชิ้นหรือข้าว รวมถึงรูปร่างหน้าตาของสิ่งที่ใช้คีบหรือตัก นั่นคือศิลปะ

ผมชื่นชอบฮิเดกิและเพื่อนพ้องชาว “กราฟ” ที่ความเป็นสามัญชนคนสบาย ๆ ความสนใจในศิลปะและวัฒนธรรมของพวกเขาไม่ได้มาในรูปแบบคนหัวสูงจนต้องใส่เสื้อคอเต่า หรือนั่งไขว่ห้างอ่านหนังสือวิพากษ์สังคมเล่มล่าสุดโดยนักโครงสร้างนิยมจากสาธารณเช็ก พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซ้ายจัดของแอ็กติวิสต์ที่แอบอยู่ใต้ดิน ตามร้านกาแฟที่ไม่ใช่สตาร์บั๊คส์ (เพราะคนพวกนี้จะไม่สนับสนุนธุรกิจขนาดยักษ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะเดินทางไปนั่งร้านกาแฟเล็กๆ ในปารีสแทน ไฮโซกว่าแต่ไม่ผิดศีลปัญญาชน) ถึงแม้ “กราฟ” จะไม่อิงตัวเองกับโลกกระแสนิยม แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่สำคัญตนเป็นอะไรมากกว่าช่างไม้และคนทำของขาย คงใช้สำนวนฝรั่งได้ว่าพวกเขาไม่ “take themselves too seriously” คือไม่ให้ค่าตัวเองว่าทำอะไรยิ่งใหญ่เหนือใคร เมื่อพวกเขายกคำพูดของนักปราชญ์อย่าง Pascal มาใช้ หรืออ้างถึงนักออกแบบชาวสแกนดิเนเวีย ก็อ้างด้วยน้ำเสียงไม่ต่างจากที่พวกเขาจะพูดถึงคุณยายร้านโซบะหน้าปากซอยหรือ ทอม ครูซ

ขณะที่ผมกำลังเรียงตัวหนังสือให้คุณอ่านอยู่นี้ ฮิเดกิอาจกำลังร้องคาราโอเกะอย่างเมามันในตรอกใดตรอกหนึ่งของโอซากา-สาบานว่าเป็นไปได้ เพราะการร้องคาราโอเกะเป็นงานอดิเรกอันจริงจังของเขา

ฝ่าย ฟูมิยา ซาวา หรือที่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร ผู้เขียนการ์ตูน hesheit และกำลังใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองโกเบ ใกล้โอซากา) ตั้งชื่อพิเศษให้เขาว่า “น้าฟู” นั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของ “กราฟ” แต่ผมยังไม่รู้จะอธิบายว่าเขาเป็นอะไรดี น้าฟูเพิ่งมีอายุครบ ๔๐ ปีเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาผ่านการทำงานด้านศิลปะและการสื่อสารหลากหลาย ตั้งแต่เป็นบรรณาธิการหนังสือเฉพาะกิจ เช่นหนังสือภาพรวมงานศิลปิน เป็นผู้แปลและบรรณาธิการให้แก่หนังสือของ บานานา โยชิโมโตะ (Banana Yoshimoto นักอ่านชาวไทยอาจรู้จักจากผลงานอย่าง คิทเช่น, หลับ และ ลาก่อนท์ซึกุมิ) กระทั่งเป็นช่างภาพให้หนังสือแฟชั่นบางครั้ง รวมทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับนักสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่นักประพันธ์ดนตรี ซากาโมโต ริวอิชิ (ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้ภาพยนตร์สากลหลายต่อหลายเรื่อง และได้รางวัลออสการ์จาก The Last Emperor) นักร้องสาวมาดศิลป์ของญี่ปุ่นที่ชื่อ UA มาจนถึงศิลปินเลือดแรงรุ่นใหม่หลายคนในเมืองไทยของเราเอง

อาจจะเรียกได้ว่าน้าฟูเป็นนักทำงานอิสระอาชีพ (Professional Freelancer) แต่ผมว่าจะง่ายและน่าเอ็นดูกว่ามาก หากเราจะสรุปเพียงว่า “น้าฟู” ก็คือน้าฟู

น้าฟูคนนี้นี่เอง เป็นตัวตั้งตัวตีที่ชักนำความเป็นไทยไปใส่หูฮิเดกิแห่ง “กราฟ” และทำให้ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับพวกเขา น้าฟูเล่าว่าเมื่อก่อน สมัยที่มีภารกิจเกี่ยวกับศิลปะในละแวกนี้ เขาได้แต่แวะสนามบินดอนเมืองด้วยความจำเป็น ไม่เคยคิดจะโผล่หัวออกมาสูดอากาศแห่งความเป็นไทยเอาเสียเลย แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มาถึงถมึงทึงมา น้าฟูก็เกิดอาการที่แพทย์ตั้งชื่อไว้ว่า “สงสัย” น้าฟูสงสัยขึ้นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบไหนกันแน่หนอ เขาจึงตัดสินใจลองให้โอกาสแบงค็อกสักครั้ง

ไม่มีใครเตือนน้าฟูว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองวิเศษ หากริลองเป็นต้องติดใจ หลงรักงอมแงมโงหัวไม่ขึ้นไปอีกนาน (ยิ่งเยือนกรุงเทพฯ ในยุคสมัยรัฐบาลนี้ ยิ่งโงหัวขึ้นยากเป็นพิเศษ เพราะนายกฯ และพรรคพวกจะพยายามกดหัวคนอื่นเอาไว้อย่างสุดความสามารถ)

หลังจากครั้งแรกที่ได้ลิ้ม น้าฟูก็กลับมาอีก และกลับมาอีก จนเดี๋ยวนี้น้าฟูมีที่นวดแผนโบราณประจำตัวเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนั้นน้าฟูยังทำความรู้จักกับผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงศิลปะร่วมสมัยของเมืองไทยหลายคน ตั้งแต่หอศิลป์ตาดูไปถึงวัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่ น้าฟูเคยนำงานศิลปะของศิลปินไทยไปแสดงต่างประเทศมาแล้ว กล่าวโดยรวมคือน้าฟูรู้จักมักคุ้นคนในสังคมศิลปะของไทยดีกว่าผมเสียอีก

น้าฟูติดต่อผมผ่านอินเทอร์เน็ต โดยบอกเพียงสั้น ๆ ว่าอยากพบเจอพูดคุย ผมถามกลับไปว่าอยากเจอทำไม น้าฟูตอบกลับมาว่า ไม่รู้เหมือนกัน อยากเจอเฉย ๆ

“เฉย ๆ” เป็นทั้งสถานภาพและสถานการณ์ที่ผมโปรดปราน ดังนั้นเมื่อมีคนอยากเจอเฉย ๆ ผมก็อยากไปเจอเขาเฉย ๆ เหมือนกัน

ระหว่างเคลิ้มเคลิบเสียงซ่ากลมกล่อมของดนตรีแจซ น้าฟูและฮิเดกิเผยว่าเขากำลังคิดจะจัดงานแสดงศิลปะโดยคนไทยที่กราฟแกลเลอรี แต่เขาไม่อยากแสดงงานศิลปะบนผนังขาวแบบแกลเลอรีทั่วไป จึงคิดคร่าว ๆ ว่า ไหน ๆ ที่กราฟก็มีสัดส่วนที่เป็นคาเฟ่ขายเครื่องดื่มอยู่แล้ว คงจะน่าสนใจดีหากสามารถปรับเปลี่ยนทั้งแกลเลอรีและคาเฟ่ให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย อาจจะมีอาหารไทยขาย มีดนตรีจากเมืองไทยไปขับกล่อมบรรยากาศ มีจอทีวีฉายอะไรบางอย่างโดยคนไทย และมีสิ่งของร่วมสมัย อาทิ นิตยสาร โปสเตอร์ หรือหนังสือ ตั้งโชว์ไว้ให้ผู้มาเยือนได้เข้าใจว่าสังคมร่วมสมัยของกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรกันบ้าง

ผมฟังพลางพยักหน้าเห็นชอบ และพลั้งปากพลั้งใจไปว่าจะให้ช่วยเหลืออย่างไรก็บอก เพราะเมื่อได้ฟังเรื่องของ “กราฟ” และได้รับรู้ความตั้งใจที่จะนำเสนอศิลปะ ร่วมถึงตัวอย่างชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยไปสู่ชาวญี่ปุ่นในลักษณะเป็นกันเองอย่างนั้น ก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะทำความรู้จักและเป็นมิตรกับทั้งสองคน-มันอาจจะเป็นเหตุผลโง่ ๆ แต่ผมมักฉกฉวยโอกาสที่จะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเสมอ โดยเอาเรื่องศิลปวัฒนธรรมบังหน้า

และนั่นคือที่มาของงาน Welcome to Soi Sabai หรือ “ยินดีต้อนรับสู่ซอยสบาย” ณ กราฟแกลเลอรี แห่งเมืองโอซากา ตั้งแต่วันที่ ๑-๓๑ สิงหาคม ปีพอศอ ๒๕๔๗

หลังการพบปะพูดคุยแบบเฉย ๆ กับฮิเดกิและน้าฟูคืนนั้นไม่นาน ผมมีภารกิจอื่นต้องเดินทางไปโตเกียว จึงถือโอกาสนั่งรถไฟสายกระสุนจากโตเกียวไปโอซากาเพื่อดูความเป็นอยู่ของชาว “กราฟ” ให้เห็นกับตา และถือโอกาสเดียวกันนั้นแวะหาตั้ม-วิศุทธิ์ที่โกเบ ซึ่งต้องนั่งรถไฟต่อจากโอซากาไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมง

หน้าตาของ “กราฟ” ไม่ต่างจากที่ผมจินตนาการไว้นัก พวกเขาใช้ตึกสีขาวขนาดกะทัดรัด (สี่ชั้น) ซึ่งตั้งอยู่อย่างสงบในซอยแคบ ๆ ริมแม่น้ำสายใหญ่ของโอซากา เป็นศูนย์รวมตัวและเป็นสำนักงาน สิ่งแรกที่ผมเดินผ่านคือด้านหน้าของโรงงานเล็ก ๆ ของช่างไม้ ที่เปิดโปร่งให้คนเดินถนนเห็นกิจกรรมภายในอย่างเต็มตา ชายหนุ่มสองสามคนกำลังเชือดเฉือนไม้แผ่นหนาอยู่ที่โต๊ะเลื่อยไฟฟ้า หมาหน้าตาปลงโลกตัวหนึ่งนอนนิ่งอยู่หน้าประตู

ถัดจากโรงช่าง เป็นทางเข้าสู่คาเฟ่ แกลเลอรี และร้านหนังสือ พื้นที่นี้เองที่ฮิเดกิและน้าฟูจะปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น “ซอยสบาย”

ชั้นสองเป็นห้องที่อาจเรียกว่าโชว์รูมสำหรับผลิตภัณฑ์ของ “กราฟ” ซึ่งมีตั้งแต่ถ้วย ชาม จาน ไห ไปจนถึงโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ส่วนใหญ่ทำจากไม้หรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ

น้าฟูนั่งจิบน้ำรอพบผมอยู่ที่ร้านอาหารบนชั้นสาม และเมื่อทักทายกันเสร็จสรรพตามธรรมเนียม เขาพาผมไปพบสมาชิกชาวกราฟคนอื่น ๆ-ทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชาย ล้วนมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับฮิเดกิ นั่นคือเป็นกันเอง ยิ้มแย้มต้อนรับมิตรภาพใหม่ ไม่สำอางหรือเป็นห่วงภาพลักษณ์ภายนอกเกินควร ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดคนอย่างพวกเขาจึงมีความรู้สึกร่วมกับความหมายของคำว่า “สบาย” ได้โดยอัตโนมัติ

ผมอิจฉา “กราฟ” มิใช่เพราะพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังเจริญรุ่งเรืองในด้านที่ผมเองก็มีความสนใจ แต่ผมอิจฉาความแข็งแรงทางมิตรภาพระหว่างพวกเขา การทำงานของชาวกราฟทำให้ผมนึกถึงระบบธรรมชาติของแมลงกับดอกไม้ ของการพึ่งพาสืบสานซึ่งกันและกันเพื่อความเปลี่ยนแปลง เติบโต งอกงาม โรยรา และการกลับมางอกงามอีกครั้ง

ทำให้ผมซาบซึ้งอีกครั้งกับคำกล่าวของ มาร์แซล ดูชองป์ ที่ว่า “ผมไม่ได้ศรัทธาศิลปะ ผมศรัทธาศิลปิน”-“I don’t believe in Art, I believe in artists.”

มิตรภาพลักษณะนี้คืองานออกแบบและงานศิลปะที่เจริญตาเจริญใจที่สุดของมนุษยนิยม

ผมไม่ตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อย ที่จะได้เห็นฮิเดกิและน้าฟูเป็นผู้นำคำว่า “สบาย” ไปกระจายในอากาศของโอซากา