เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
*จากคอลัมน์ My ASEAN Hero เมื่อสามัญชนเลือกคนสำคัญ
โดยให้ชาวอาเซียนเลือกฮีโร่ในใจของเขาและเธอ*
“ชาวสิงคโปร์เชื่อการทำงานหนัก เชื่อในการค้าเสรี เชื่อว่าเราจะปรับตัวได้ เชื่อในการคว้าโอกาสสุดท้ายเชื่อมั่นในตัวเอง นี่คือคุณภาพประชากรที่จะช่วยเปลี่ยนเกาะเล็กๆ ที่มีแต่บึงเฉอะแฉะไปสู่เมืองหลวงที่เฟื่องฟู”
ดร. โก๊ะเค็งซวี
สุนทรพจน์ที่กล่าวในโอกาสเยือนหอการค้าจีน ปี ๒๕๑๒/๑๙๖๙
วันประกาศเอกราช
|
๙ สิงหาคม ๒๕๐๘/๑๙๖๕ |
ชื่อทางการ | สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) |
เมืองหลวง | สิงคโปร์ |
ระบอบการปกครอง | ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา |
ประชากร | ๕,๐๗๖,๗๐๐ คน (กรกฎาคม ๒๕๕๕/๒๐๑๒, CIA World Factbook) |
ภาษาราชการ | ภาษาอังกฤษ จีนกลาง มลายู ทมิฬ |
ดร. โก๊ะเค็งซวี เกิดเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๖๑/๑๙๑๘ ที่รัฐมะละกา (ภายใต้การปกครองของอังกฤษ) ครอบครัวของเขาเป็นชาวเปอรานากัน (ลูกผสมจีน-มลายู) เขาย้ายตามครอบครัวมาอยู่สิงคโปร์ตอนอายุได้ ๒ ขวบ เข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอังกฤษ-จีน (Anglo-Chinese School) และศึกษาต่อที่วิทยาลัยแรฟเฟิลส์ (Raffles College) จนจบเมื่อปี ๒๔๘๒/๑๙๓๙ จากนั้นรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการสังคมของรัฐบาลอาณานิคมสิงคโปร์
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขากลับเข้ารับราชการตามเดิม ก่อนได้ทุนไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics (LSE) ในปี ๒๔๙๐/๑๙๔๗ ขณะอยู่ในลอนดอน เขาร่วมกับนักเรียนทุนสิงคโปร์ที่มีแนวคิดต่อต้านอาณานิคม เช่น ลีกวนยู ก่อตั้ง Malayan Forum เพื่อถกเถียงปัญหาทางการเมืองของอาณานิคม โดยเขารับเป็นประธานกลุ่มคนแรก
เขาจบจาก LSE ด้วยเกียรตินิยมอันดับ ๑ ได้รับรางวัล William Farr Prize แล้วกลับมารับราชการช่วงสั้น ๆ ก่อนได้ทุนกลับไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ LSE อีกครั้งในสาขาเดิม จนจบในปี ๒๔๙๙/๑๙๕๖
โก๊ะเริ่มเข้าสู่วงการการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคกิจประชา (PAP) ของลีกวนยู เส้นทางการเมืองของเขาหลังจากนั้นคือการดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี ๒๕๐๒/๑๙๕๙ ซึ่งเขาวางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงานในประเทศ พลิกเขตจูร่ง(Jurong) จากพื้นที่ชื้นแฉะให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการ Economic Development Board (EDB) ในปี ๒๕๐๔/๑๙๖๑ เพื่อออกมาตรการดึงดูดนักลงทุน หลังสิงคโปร์แยกตัวจากมาเลเซียเป็นเอกราชในปี ๒๕๐๘/๑๙๖๕ โก๊ะผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ
อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกของสิงคโปร์ ในช่วงที่ได้รับเอกราชใหม่ ๆ โก๊ะเร่งสถาปนากองทัพสิงคโปร์ท่ามกลางความขาดแคลนทรัพยากรและกำลังคนด้วยการสร้างกลุ่มนายทหารที่จะเป็นกำลังหลักโดยมีกำลังเสริมเป็นอาสาสมัคร ๓,๐๐๐ นาย ต่อมาในปี ๒๕๑๐/๑๙๖๗ จึงเริ่มใช้ระบบเกณฑ์ทหาร โดยผู้ชายสิงคโปร์ทุกคนที่อายุครบ ๑๘ ปีจะต้องเข้ารับการฝึกวิชาทหาร ร้อยละ ๑๐ จะถูกคัดเลือกเข้าประจำการ เมื่อครบกำหนดก็จะปลดประจำการและถูกทดแทนด้วยกำลังสำรองรุ่นใหม่
โก๊ะยังมีผลงานสำคัญขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี ๒๕๒๒/๑๙๗๙ โดยก่อตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดและความสามารถของตนเอง ซึ่งนโยบายนี้ช่วยลดจำนวนนักเรียนที่ลาออกจากโรงเรียนกลางคัน
ทั้งนี้นอกจากงานใน ๒ กระทรวงสำคัญ เขายังดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของรัฐบาลอีกหลายชุดและเป็นที่ปรึกษาขององค์กรเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง
หลังจากตรวจพบมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในเดือนกันยายน ๒๕๒๖/๑๙๘๓ เขาลาออกจากทุกตำแหน่งทาง
การเมืองในเดือนธันวาคมปีต่อมา แต่ยังดำรงตำแหน่งในองค์กรเอกชน อย่างไรก็ตามอาการที่ทรุดลงเรื่อย ๆ ทำให้เขาต้องนอนพักรักษาตัวมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓/๒๐๐๐ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓/๒๐๑๐
โก๊ะได้รับการยกย่องเป็น “สถาปนิกเศรษฐกิจ” ของสิงคโปร์ ในปี ๒๕๑๕/๑๙๗๒ เขาได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ได้รับอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสิงคโปร์คือ Order of Temasek เมื่อปี ๒๕๒๘/๑๙๘๕ ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาประเทศ กลุ่มธุรกิจและมหาวิทยาลัยแห่งชาติยังตั้งกองทุนและมอบทุนการศึกษาในชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติมาจนถึงทุกวันนี้
ล่าสุดในปี ๒๕๕๑/๒๐๐๘ ปัวซวีเหลียง (Pua Swee Liang) ภรรยาของเขาก่อตั้งมูลนิธิโก๊ะเค็งซวีขึ้น เพื่อรักษาเรื่องราวและเผยแพร่แนวคิดของโก๊ะต่อสาธารณชน
ผู้เลือก : เอ็ดการ์ เหลียว (Edgar Liao) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ วัย ๓๒ ปี ผมเลือก โก๊ะเค็งซวี (Goh Keng Swee) ด้วยเหตุผลคือ หนึ่ง ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์กล่าวสรรเสริญโก๊ะไว้ว่า นี่คือชายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจแยกสิงคโปร์จากมาเลเซียในปี ๒๕๐๘/๑๙๖๕ ประการแรกโก๊ะคิดว่าการปกครองตนเองคือทางที่ดีที่สุดในการเผชิญปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ มากกว่าจะคงเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ประการต่อมา ในรัฐบาลสิงคโปร์หลังประกาศเอกราช โก๊ะมีบทบาทสำคัญในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจและสังคมสิงคโปร์ในแบบที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน “นโยบายที่ส่งผลมากคือการเกณฑ์ทหาร การปฏิรูประบบการศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบเกณฑ์ทหารทำให้หลากหลายเชื้อชาติมาหลอมรวมกัน เกิดความรักชาติ สร้างความมั่นคงให้เกาะเล็ก ๆ ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ สนับสนุนให้สอน ๒ ภาษาในโรงเรียนตั้งแต่ปี ๒๕๒๒/๑๙๗๙ เปิดเขตเศรษฐกิจจูร่งในปี ๒๕๐๔/๑๙๖๑ กระทั่งบทบาททางวัฒนธรรม เขาคือผู้ก่อตั้งวงสิงคโปร์ ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และสวนสัตว์สิงคโปร์ “ผมรู้จักโก๊ะจากหนังสือเรียนชั้นมัธยม ชื่อของเขาถูกพูดถึงบ่อยรองจาก ลีกวนยู ผมมารู้จักเขามากขึ้นสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ในสิงคโปร์เราคุยเรื่องกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เน้นที่ ลีกวนยู คนเดียว สมัยก่อนโก๊ะเป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่มากเท่าปัจจุบัน เพราะหลังเขาเสียชีวิตในปี ๒๕๕๓/๒๐๑๐ เริ่มมีบทความที่เกี่ยวข้อง มีหนังสือ ๒ เล่มตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกัน มีการศึกษาชีวิตโก๊ะและผู้ก่อตั้งสิงคโปร์คนอื่น ๆ คนสิงคโปร์หลายคนดีใจที่มีเรื่องราวผู้ก่อตั้งประเทศคนอื่นนอกจาก ลีกวนยู “สิงคโปร์เป็นประเทศอายุน้อย เราเพิ่งเขียนประวัติศาสตร์ใช้ในโรงเรียนจริงจังเมื่อปี ๒๕๔๐/๑๙๙๗ ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์แห่งชาติ เมื่อเขียนก็ไม่ได้เพ่งเล็งที่ผู้นำทางการเมือง แต่ยุคหลัง ๆ เมื่อมีรัฐมนตรีในยุคสร้างชาติเสียชีวิต เรื่องของเขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เอาเข้าจริงผมคิดว่าสิงคโปร์อาจไม่ต้องการบุคคลสำคัญ เพราะแต่ละคนต่างมีอยู่ในใจแล้ว”
|