เรื่อง : ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์
หลายต่อหลายครั้งที่เดินทางไปป่าเขาบนดอยสูง ผมมักสะดุดตาเสมอเวลาเห็นคนขี่จักรยานพร้อมสัมภาระปั่นผ่านมา
แปลกดีเหมือนกัน วิธีเดินทางแสนสะดวกสบายและรวดเร็วมีอยู่มากมาย แต่ยังมีคนเต็มใจเลือกเดินทางด้วยแรงกายที่ทั้งช้าและเหนื่อยกว่ากันหลายเท่าตัว
ผมมักเฝ้ามองการกระทำเหล่านี้จากด้านในของกระจกหน้าต่างรถ แม้ไม่รู้สาเหตุของการปั่นที่แท้จริง แต่ทุกครั้งที่เห็นแววตาแห่งความมุ่งมั่นของผู้คนเหล่านั้น ผมรู้สึกเหมือนได้รับเทียบเชิญให้ออกไปท่องโลกด้วย ๒ ล้อดูบ้าง
ลำพังวันหยุดยาวไม่กี่วันที่มีอยู่ในปฏิทิน ดูเหมือนคับแคบไปเสียหน่อยหากต้องการบรรจุโปรแกรมเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ อย่างไม่เร่งรีบลงไป โอกาสที่จะได้ทำตามฝันของมนุษย์เงินเดือนไทยอย่างผมจึงถูกพับเก็บในลิ้นชักมานานหลายปี
แต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ อากาศเย็นสบายน่าปั่นเสียจนผมรอโอกาสนั้นต่อไปไม่ไหว ลุกขึ้นมาเตรียมตัว เตรียมจักรยานให้พร้อมเดินทางไกลกันสักตั้ง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
ก่อนออกเดินทาง ผมทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไกลด้วยจักรยานที่เคยอ่านมานานอีกครั้ง คนเราปั่นจักรยานระยะไกลๆ ด้วยหลากหลายวัตถุประสงค์ บางคนต้องการฝึกซ้อมเพื่อการแข่งขัน บางคนต้องการทดสอบสมรรถภาพของตัวเอง บางคนต้องการท่องเที่ยว แต่สำหรับผม การขี่จักรยานทางไกลเป็นการเดินทางด้วยพละกำลังของเราเอง ทำให้เราภูมิใจในการพึ่งพาตนเอง ได้เปิดโลกชื่นชมสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งยังทำให้มีสมาธิอยู่กับตัวเองได้ดีอีกด้วย
ดังนั้นการเดินทางของผมครั้งนี้จึงไม่เน้นทำความเร็วเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แต่ไม่ว่าจะเดินทางเร็วหรือช้า หรือด้วยจุดประสงค์ใด บรรดานักปั่นทางไกลล้วนแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่าการวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ผมจึงต้องวางแผน และการวางแผนก็เริ่มต้นได้ด้วยการคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
>>>ประเมินสมรรถนะของตัวเอง ความจริงแล้วการวางแผนเดินทางด้วยจักรยานก็คล้ายๆ กับการเดินทางประเภทอื่น เราต้องรู้ว่าพาหนะนั้นพาเราไปได้ไกลแค่ไหน รองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากน้อยเท่าไร ต้องใช้พลังงานอะไร เป็นต้น แต่บังเอิญว่าการเดินทางด้วยจักรยานมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเป็นร่างกายเราเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประเมินร่างกายตัวเองให้ได้ว่าใน ๑ วันเราเดินทางได้ไกลแค่ไหน
ข้อมูลจากกลุ่มคนรักจักรยานบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bikepacking Thailand บอกว่า คนทั่วไปขี่จักรยานทางไกลด้วยความเร็วเฉลี่ย ๒๐-๒๕ กิโลเมตร/ชั่วโมง และใน ๑ วันเดินทางได้ไกลที่สุดประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ กิโลเมตร แต่หากทางลาดชัน ขรุขระมาก หรือต้องขนสัมภาระติดตัวไปเยอะจะทำให้ระยะทางและความเร็วลดลง
เราไม่มีทางรู้เลยว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน จนกว่าจะได้ลงมือปั่นจริง ดังนั้นหากมีโอกาสน่าจะลองทดสอบกำลังดูจริงๆ เช่น ลองปั่นด้วยความเร็วที่คาดว่าจะขี่ได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หากยังรู้สึกสบายๆ ไม่เหนื่อยมากนัก แสดงว่าความเร็วระดับนี้ร่างกายน่าจะพอรับไหวได้ การทดสอบกำลังจะช่วยให้การประเมินไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากนัก หากยังไม่แน่ใจ ควรประเมินขั้นต่ำไว้ก่อนเพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น
>>>เลือกเส้นทาง เส้นทางที่เหมาะสมสำหรับขี่จักรยานไม่ใช่ถนนสายหลักที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายจากการถูกเฉี่ยวชนแล้ว รถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงจะทำให้อากาศเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจนอาจส่งผลให้เราเสียการทรงตัวได้ อีกทั้งถนนสายหลักมักมีฝุ่น ควันพิษ และความร้อน ขาดแคลนต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นริมทาง
เส้นทางที่เหมาะสมจึงมักเป็นเส้นทางสายรอง อาจสังเกตได้จากหมายเลขทางหลวง ยิ่งมีเลขหลายหลักยิ่งเป็นถนนสายรอง ซึ่งรถสัญจรน้อยกว่ามาก มักอากาศดี ร่มรื่น และมีทิวทัศน์ที่สวยแปลกตาน่าค้นหามากกว่าถนนสายหลัก แต่ทั้งนี้ถนนสายรองมากๆ หรือถนนท้องถิ่น อาจเปลี่ยว ผิวทางขรุขระ หรือเป็นทางลูกรัง หากวางแผนใช้เส้นทางเหล่านี้ควรต้องสอบถามสภาพเส้นทางเพิ่มเติม
>>>กำหนดเวลาปั่น นักปั่นหลายคนนิยมออกเดินทางเวลาเช้าตรู่ เพราะอากาศดีสดชื่นกว่าตอนกลางวัน และวางแผนให้แต่ละวันต้องจบทริปในช่วงบ่ายแก่ๆ เพื่อเผื่อเวลาหาที่พักหรือเผื่อเวลากรณีต้องเดินทางนานกว่าที่คาดก็จะยังสามารถถึงที่หมายได้ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
>>>มาตรการรักษาความปลอดภัย นักปั่นบางคนบอกว่าการเดินทางด้วยจักรยานมักถูกมองว่ามีอันตรายเกินกว่าความเป็นจริง แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่ควรประมาทจนเกินไป ทั้งเรื่องเฉี่ยวชน หรือการถูกจี้ปล้น ด้วยการไม่พกของมีค่าติดตัวไปมาก เตรียมของใช้ไปเท่าที่จำเป็น จดเบอร์ฉุกเฉินติดตัวไว้ ชวนเพื่อนไปกันหลายๆ คน การมีเพื่อนร่วมทางนอกจากช่วยคลายความกังวลต่างๆ ยังทำให้การขี่จักรยานสนุกขึ้นอีกเป็นกอง แต่ไม่ว่าจะปั่นเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กฎเหล็กสำคัญที่หลายคนพูดย้ำตรงกันคือ หากไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ควรเดินทางในตอนกลางคืน
แผนที่ดีจะต้องมีแผนสำรองเสมอ หากการเดินทางไม่ได้เป็นไปตามคาด เราจะได้ไม่ลำบากมากนัก เช่น
- วางแผนแรกไว้ว่าจะเดินทางให้ได้วันละ ๑๕๐ กิโลเมตร แต่หากไปได้ไม่ถึงให้นึกถึงแผน ๒ ไว้ว่าจะเลือกพักจุดไหน หรือจะเดินทางต่อด้วยวิธีใด
- หากจักรยานเสียระหว่างทางจะแก้ไขอย่างไร กรณีไหนซ่อมเองได้-ไม่ได้ ต้องเตรียมอุปกรณ์ซ่อมแซมหรืออะไหล่ชิ้นใดที่จำเป็นต้องใช้ไปบ้าง
- จดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินลงสมุดบันทึก พิมพ์ข้อมูลเส้นทางที่จำเป็นพกติดไปด้วยเผื่อกรณีไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือแบตเตอรี่หมด
>>>เตรียมตัวให้พร้อมตลอดการเดินทาง การเตรียมแผนล่วงหน้าดีๆ จะทำให้เราปั่นจักรยานท่องเที่ยวด้วยความสนุกไร้กังวล แต่การบำรุงรักษาร่างกายให้พร้อมทั้งก่อนและระหว่างออกทริปก็เป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้กัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินข้าวให้อิ่มท้อง ก่อนออกเดินทาง
- ฟิตซ้อมร่างกาย ยืดเส้นยืดสายก่อนออกถนน ป้องกันการเป็นตะคริวและทำให้กล้ามเนื้อทำงานดีขึ้น
- พักทุกๆ ๑ ชั่วโมง จิบน้ำทุกๆ ๑๐-๑๕ นาที แม้ไม่กระหาย กินอาหารให้เพียงพอก่อนรู้สึกหิว เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย หรือล้าเกินไป การกินและพักเป็นประจำจะทำให้ร่างกายไม่ทรุดโทรมแม้ในวันรุ่งขึ้น
- อย่าฝืนเร่งทำความเร็วมากเกินไป หลายคนมักเผลอเร่งทำความเร็วในชั่วโมงแรกๆ เพื่อหวังความเร็วเฉลี่ยรวมที่สูงขึ้น แต่การฝืนเร่งจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าเร็วจนหมดแรงปั่นในชั่วโมงต่อๆ มา แทนที่ความเร็วเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น ผลสุดท้ายอาจลดลงกว่าการปั่นตามจังหวะปรกติด้วยซ้ำ แต่ที่แน่ๆ คือ การฝืนปั่นขณะหมดเรี่ยวแรง ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยจริงๆ
…………..
ดูเหมือนต้องเตรียมอะไรยุ่งยากไปหมด แต่ผมว่าการเดินทางไกลด้วยจักรยาน ก็ไม่ต่างจากการเดินทางด้วยพาหนะอื่นๆ ที่เราต้องเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนออกเดินทาง ความไม่คุ้นชินอาจทำให้ต้องมีการเตรียมตัวมากหน่อย แต่หากได้เดินทางบ่อยๆ ทุกอย่างจะลงตัวในที่สุด
กว่าจะเตรียมตัวจนพร้อมได้ก็กินเวลาไปหลายวันเลยทีเดียว ไหนจะติดอุปกรณ์เสริม ทดสอบร่างกาย เตรียมยางอะไหล่ ไฟส่องสว่าง ซ้อมการถอดล้อแพ็กจักรยานขึ้นรถทัวร์ ประดิษฐ์ของใช้จิปาถะ ฯลฯ
แล้วในที่สุดความมุ่งมั่นของนักปั่นพร้อมจักรยานคู่ใจที่ผมเคยเห็นจากในรถก็ฉุดดึงตัวผมผ่านกระจกกั้นของความสะดวกสบาย มาลิ้มรสของอิสระแห่งการเดินทางด้วยการปั่นไกลๆ ได้สำเร็จ แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก็ตื่นเต้นไม่น้อย เพราะเพื่อนที่ชักชวนกันไว้ไม่สามารถมาร่วมทริปได้ แผนเดินทางที่มีจุดเริ่มต้นจากกลางกรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองจันท์ครั้งนี้จึงต้องลุยเดี่ยว ท่ามกลางกระแสกองเชียร์ กองหนุน และกองเป็นห่วงอยู่ห่างๆ ^^
แม้การเดินทางจะไม่ได้เป็นไปตามแผน (แรก) มากนัก ด้วยอาการหวัดก่อนออกเดินทางทำให้ระยะทางปั่นที่คาดไว้หดหายเหลือเพียงครึ่ง ดีที่มีแผน ๒ สำรองไว้ ความสุขจึงไม่ได้ลดลงไปด้วย
การปั่นจักรยานทางไกลก็เหมือนการเดินทางของชีวิตนั่นละครับ หากเรามีแผน ๒ เตรียมไว้ แม้เส้นทางชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่คาด เราก็ยังมีทางไปต่อเสมอ •