สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


“อัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงประชาคมใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนประชาคมของเขาเอง”

นี่คือหลักการของศาสนาอิสลามที่ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ บอกว่าเขาใช้ในการทำงานมาตลอด ๕ ปี ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในวาระของไทยระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕

เมื่อพูดถึง “อาเซียนฟีเวอร์” ในสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของอดีตเลขาธิการอาเซียนที่เพิ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งมาหมาด ๆ รายนี้จะลอยเข้ามาในห้วงความคิดของใครหลายคน

เอาเข้าจริงแล้ว คนไทยส่วนมากรู้จัก ดร.สุรินทร์ในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น  เมื่อนักการเมืองจากปักษ์ใต้ค่ายประชาธิปัตย์ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชก้าวมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๒๕๓๕-๒๕๓๘ และขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๒๕๔๐ ในยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย ทั้ง ๒ สมัย ก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมาธิการต่างประเทศยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ แล้วกลายเป็นผู้ที่คณะรัฐมนตรี ชุด พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสนอให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในที่สุด

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนคนแรกที่ทำงานตาม “กฎบัตรอาเซียน” (ASEAN ) หรือรัฐธรรมนูญของอาเซียนที่ทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนคนแรกที่ทำงานในห้วงยามที่ชาติสมาชิกต่างเตรียมตัวเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN  ) ในปี ๒๕๕๘/๒๐๑๕ อันเป็นบันไดขั้นแรกในการเป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN ) ในอนาคตเช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป” (European )

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนที่เจอ “งานหิน” เช่น ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร หรือข้อพิพาทระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันและสมาชิกอาเซียนกับจีน กรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

สื่อมวลชนจำนวนมากที่ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องอาเซียนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ดร.สุรินทร์เป็นเลขาธิการอาเซียนที่เข้าถึงง่าย กล้าทำสิ่งที่เลขาธิการอาเซียนคนก่อน ๆ ไม่กล้าทำ ทั้งยังมีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ด้วยบุคลิกระดับอินเตอร์นั้นพื้นเพเดิมเป็นคนต่างจังหวัด เกิดในชุมชนเล็ก ๆ ชื่อ “บ้านตาล” ที่ตั้งอยู่เชิงเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ชื่อเดิมของเขาคือ “อับดุลฮาลีม” โดยเขาเติบโตมากับวิถีมุสลิมอย่างเข้มข้นและเคยขี่จักรยานไปกลับบ้าน-โรงเรียนวันละร่วม ๒๐ กิโลเมตร

ในวัยเด็ก ดร.สุรินทร์เข้าเรียนที่ปอเนาะบ้านตาล อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับได้รับชื่อ “สุรินทร์” ในช่วงนั้น  เด็กชายสุรินทร์ร่ำเรียนกับเพื่อนต่างศาสนาในศาลาการเปรียญโดยที่ยังเรียนศาสนาอิสลามไปพร้อมกันในช่วงค่ำ จากนั้นเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชและโรงเรียนเบญจมราชูทิศในตัวจังหวัด  และได้ทุน AFS ไปเรียนที่อเมริกา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และได้รับทุนการศึกษาอีกครั้งจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์  ปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและลงสู่สนามการเมืองในที่สุด

ปลายปี ๒๕๕๕ ดร.สุรินทร์ปลีกเวลาในตารางงานอันแน่นขนัด เปิดบ้านพักย่านซอยท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี มาพูดคุยกับ สารคดี ในหลากประเด็นรวมไปถึงงานตลอด ๕ ปีในฐานะเลขาธิการอาเซียน

ลองฟังเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนล่าสุดพูดถึงอาเซียนและงานของเขาเอง  สารคดี รับประกันว่านี่จะเป็นบทสัมภาษณ์เลขาธิการอาเซียนชาวไทยบทสุดท้ายของทีมงาน สารคดี เจเนเรชันนี้

ด้วยกว่าจะมีเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนใหม่ เราต้องรออีกไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี

การเป็นมุสลิมทำให้ท่านทำงานง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะประชากรอาเซียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
ผมคิดว่าไม่เกี่ยว  มุสลิมเป็นหนึ่งในตัวตนของผม นอกจากเป็นมุสลิมผมยังเป็น international เป็นไทย เป็น cosmopolitan (สากลนิยม) ไม่แคบ และหวังว่าตัวเองจะไม่คับแคบ  ผมเป็นคนพหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก เกิดในปอเนาะ เรียนโรงเรียนวัด ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก เจอวัฒนธรรมใหม่ตลอดเวลา  ตอนอยู่ต่างประเทศผมไปโบสถ์คริสต์วันอาทิตย์ เรียนคัมภีร์ไบเบิล  สำหรับผมสิ่งเหล่านี้คือความรู้ ผมกำลังหาความรู้ ถือหลักว่าทุกคนถูกสร้างโดยพระเจ้า ควรเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มาก  เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมก็กลับไปดูแลโรงเรียนปอเนาะบ้านตาลที่บ้านเกิด  เวลาว่างผมชอบดอกไม้ ชอบเดินป่า ชอบสัตว์ป่า  ส่วนมากผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กับปรัชญา  ชอบศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ ชอบงานของศิลปินอย่าง โกแก็ง มอเน แวนโก๊ะ  นั่นแหละ It’s me !

สรุปการทำงาน ๕ ปีที่ผ่านมาในฐานะเลขาธิการอาเซียน
ชีวิตเลขาธิการอาเซียนอยู่ทุกที่ ทุกวง เป็นผู้แทนของอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียนระบุไว้ว่าเลขาธิการอาเซียนต้องมี “ASEAN Character” ต้องมี “มุมมองแบบอาเซียน” สมาชิก ๑๐ ประเทศเป็นองค์ประกอบ  “บุคลิกของเลขาธิการอาเซียน” (The ASEAN Character of the Secretariat) จะต่างจาก “บุคลิกของชาติสมาชิก” (Particular Character of the Member States) ที่ต่างมีผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง  ผมต้องมีบทบาท ท่าที และความเห็นในนามอาเซียนไม่ใช่ในนามประเทศไทย

ตอนรับตำแหน่งความคาดหวังและเป้าหมายของผมน้อยมาก แค่อยากให้คำว่า “อาเซียน” แพร่หลาย  เมื่อเร็ว ๆ นี้มีทีมงานจากญี่ปุ่นช่วยทำวิจัยแล้วพบว่าร้อยละ ๘๑ ของประชากรอาเซียน ๖๐๐ ล้านคนคุ้นกับคำนี้แล้ว  ร้อยละ ๘๑ นั่นหมายถึงเราประสบความสำเร็จในการนำคำว่าอาเซียนเข้าไปสู่ครอบครัวขึ้นไปบนโต๊ะอาหารที่พ่อแม่ลูกปู่ย่าตายายคุยกัน  “อาเซียน” กลายเป็นคำคุ้นหู ทีนี้จะเข้าใจแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง แต่อย่างน้อยขอให้ได้ยินให้คุ้น

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือทำอย่างไรให้สิ่งที่กฎบัตรอาเซียนระบุเป็นจริง เพราะอาเซียนรวมกันแล้วก็ยังไม่เป็นหนึ่งเดียว  ถ้าจะเป็นหนึ่งเดียว ก็เป็นระดับต่ำที่สุดเท่าที่ตกลงกันได้ เป็นเงื่อนไขที่สมาชิกที่เข้ามาช้าที่สุดรับได้  แต่เราต้องการไปไกลกว่านั้น จึงต้องมีการปะทะสังสรรค์ระหว่างเลขาธิการอาเซียนกับตัวแทนของแต่ละประเทศเป็นเรื่อง ๆ  นั่นคือพลวัตของเลขาฯ กับชาติสมาชิก  ห้าปีที่ผมทำงานผมได้ข้อคิดจากเรื่องนี้และอยากเตือนอาเซียนเอาไว้ว่า เวทีอาเซียนจะโดนเขย่าจากมหาอำนาจที่เล่นเกมกันอยู่จนกว่าเราจะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  อาเซียนกำลังโดนกดดัน มีแรงตึง เป็นผ้าใบเวทีก็ตึงมากและแกว่งตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องรวมเป็นหนึ่งและต้องกำหนดทิศทางของตนเองให้ได้

อยากให้เล่าความเป็นมาของการรับตำแหน่ง และเหตุผลว่าทำไมเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนก่อนท่านคือคุณแผน วรรณเมธี (ปี ๒๕๒๗-๒๕๒๙) ดูจะไม่หวือหวาเท่าท่าน
ตอนผมรับตำแหน่ง ไทยได้สิทธิ์เป็นเลขาธิการอาเซียน พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคิดว่าคนที่รับตำแหน่งนี้ต้องมีภูมิหลังทั้งทางการเมืองและการทูต ไม่ใช่เอาอดีตทูตมารับตำแหน่ง  ท่านก็โทรศัพท์มาหาผมตอนผมกำลังประชุมกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้ช่วยพิจารณารับตำแหน่งนี้เพราะมองว่าไม่มีใครเหมาะเท่า  ท่านบอกว่าเรากำลังจะมีกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ไทยต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนอาเซียนช่วง ๕ ปีแรกที่กฎบัตรอาเซียนเริ่มมีผลบังคับใช้ (๒๕๕๒-๒๕๕๖) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) และท่านสัญญาว่าจะสนับสนุนในนามรัฐบาลและส่วนตัวอย่างเต็มที่

ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเปิดรับสมัครเลขาธิการอาเซียนมีทั้งอดีตนักการทูตอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเสนอตัว พอผมสมัคร กรรมการก็เลือก ต้องให้เครดิตกับพลเอกสุรยุทธ์ด้วย

ส่วนเหตุผลว่าทำไมภาพของเลขาธิการอาเซียนยุคก่อนไม่หวือหวาเท่า คงเพราะยุคนั้นสถานการณ์โลกต่างจากยุคนี้  ตอนนั้นอาเซียนไม่มีบทบาทมากนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าอาเซียนเติบโตมาถึงตรงนี้ได้เพราะมียุคนั้นและมามีกฎบัตรฯ ในยุคของเราเมื่อปี ๒๕๕๑

ช่วงนี้มีกระแส “อาเซียนฟีเวอร์” ข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไปมักบอกว่าอาเซียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่จริง ๆ แล้วถ้าศึกษาเราจะพบว่าอาเซียนเกิดจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นด้วยซ้ำ
ในปี ๒๔๙๘ ได้มีการจัดประชุม Afro-Asian Conference ของประเทศจากทวีปแอฟริกาและเอเชียที่ได้เอกราชใหม่เพื่อแสวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในหมู่ประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย มีบุคคลสำคัญจำนวนมากเข้าร่วม เช่น โจวเอินไหล (จีน) ยาวาหราล เนห์รู (อินเดีย) สมเด็จนโรดม สีหนุ (กัมพูชา) ประธานาธิบดีนัสเซอร์ (อียิปต์) แต่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๕ ประเทศต้องการเวทีของตัวเอง เพราะไม่ต้องการกระทบไหล่ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ส่งผลให้สูญเสียบทบาทและความเป็นตัวของตัวเอง  นอกจากนี้ยังมองว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัวมากและเป็นเวทีใหญ่เกินไป เราต้องการเวทีเล็กกว่าเพื่อประคองผลประโยชน์และอัตลักษณ์ นั่นเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการก่อตั้งอาเซียนในอีก ๑๒ ปีต่อมา

จริง ๆ แล้วก่อนหน้าการตั้งอาเซียน เคยมีความพยายามลักษณะนี้มาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ค่อยมั่นคงนัก เช่น “สมาคมอาสา” (Association of Southeast Asia – ASA) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๔ โดยไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สมาคมสหพันธรัฐมลายา (The Greater Malayan Confederation – Maphilindo) ที่ก่อตั้งโดยมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี ๒๕๐๖  แต่ดูเหมือนองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้จะมีโครงสร้างที่ไม่ลงตัวนัก ถ้าไม่นำมาจากนอกภูมิภาคก็เป็นโครงสร้างองค์กรที่ให้ความรู้สึกทะเยอทะยานในแง่ของความมั่นคงและการเมืองมากจนเกินไป

องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization – SEATO) เป็นตัวอย่างได้ดี  สหรัฐอเมริกามาสร้าง “ซีโต” ให้แก่ประเทศพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ พร้อมกับองค์กรลักษณะเดียวกันอีก ๒ องค์กรคือ “นาโต” ในทวีปยุโรป และ “เซนโต” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ต้องการโครงสร้างองค์กรของตนเอง ไม่ก้าวกระโดดมากเกินไป ไม่จับประเด็นที่ซับซ้อนมากเกินไป นี่คือที่มาของการรวมตัวกัน  ถ้าอ่านปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) จะเห็นเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก