เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
*จากคอลัมน์ My ASEAN Hero เมื่อสามัญชนเลือกคนสำคัญ
โดยให้ชาวอาเซียนเลือกฮีโร่ในใจของเขาและเธอ*
“ในประเทศอินโดนีเซียเสรีการต่อสู้จะยังดําเนินต่อไป เพียงแต่จะแปลกไปในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้บรรลุหลักการที่อยู่ใน‘ปัญจสีลา’”
ซูการ์โน
ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ในสุนทรพจน์ “กำเนิดของปัญจสีลา” ๑ มิถุนายน ๒๔๘๙/๑๙๔๖
วันประกาศเอกราช
|
๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๘/๑๙๔๕ |
ชื่อทางการ | สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) |
เมืองหลวง | จาการ์ตา |
ระบอบการปกครอง | ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ |
ประชากร | ๒๔๘,๖๔๕,๐๐๘ คน (กรกฎาคม ๒๕๕๕/๒๐๑๒, CIA World Factbook) |
ภาษาราชการ | ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) |
ซูการ์โนเกิดวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๔๔/๑๙๐๑ ในเกาะชวาตะวันออก ในวัยเด็กครอบครัวสนับสนุนให้เขาเป็น “คนสำคัญ มีประโยชน์ พร้อมรับแสงอรุณ และมีอุดมการณ์” อิทธิพลทางความคิดนี้มาจาก “วาหยัง” หรือหนังตะลุงอินโดนีเซีย ที่เล่าความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรชวาโบราณ เขาถูกส่งไปเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนของชาวฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ที่เมืองสุราบายา โดยมีผู้ดูแลคือ อุมาร์ ซาอิด โจโครอามิโนโต (Umar Said Cokroaminoto) แกนนำและนักกล่าวสุนทรพจน์คนสำคัญของสหพันธ์การค้าอิสลาม (Sarekat Dagang Islam) สหพันธ์นี้เกิดจากการรวมตัวกันของนักหัตถกรรมผ้าบาติก เพื่อต่อรองผลประโยชน์กับเจ้าอาณานิคมฮอลันดา ต่อมาสหพันธ์ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมนี้ได้มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง ซูการ์โนจึงมีโอกาสซึมซับประสบการณ์หลายแบบ เช่น อ่านหนังสือได้หลายภาษา ติดต่อกับผู้นำฝ่ายอิสลามและสังคมนิยม จนรู้จัก “การเมือง” ตั้งแต่เด็ก จากนั้นเขาย้ายไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ในสถาบันเทคนิคเมืองบันดุง ทว่าเมื่อโจโครอามิตาโนโตถูกจับ และที่บ้านมีปัญหาการเงิน ซูการ์โนก็กลับบ้านและกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “พรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย” ที่มีสมาชิกถึง ๑ หมื่นคนในปี ๒๔๖๙/๑๙๒๖
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดระแวงให้แก่ฮอลันดา พรรคชาตินิยมอินโดนีเซียจึงถูกยุบ ซูการ์โนถูกจับ เขาได้รับการปล่อยตัวในปี ๒๔๗๔/๑๙๓๑ แต่ก็ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองจนถูกเนรเทศไปเกาะฟลอเรสและเบิงกูลูในปี ๒๔๗๖/๑๙๓๓ ต้องรอจนญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซียในปี ๒๔๘๔/๑๙๔๑ จึงได้รับการปล่อยตัวพร้อมนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ
เมื่อญี่ปุ่นตกลงทำงานร่วมกับกลุ่มนักชาตินิยมโดยชูประเด็นต่อต้านนักล่าอาณานิคมตะวันตก จึงมีการตั้งศูนย์ “ปูเตระ” (Pusat Tenaga Rakjat – Putera) องค์กรรวมนักชาตินิยมอินโดนีเซียและตั้งกองกำลัง “เปตะ” กองกำลังทหารอาสาซึ่งได้รับการฝึกแบบญี่ปุ่น แม้ในทางปฏิบัติองค์กรเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ญี่ปุ่นดูเป็นผู้ปลดปล่อย ทว่าในความเป็นจริงไม่มีบทบาทจริงจังนัก แต่ก็ทำให้ซูการ์โนกลายเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวลานั้น
๑ มิถุนายน ๒๔๘๘/๑๙๔๕ ระหว่างที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในแนวรบทั่วเอเชีย ซูการ์โนร่าง “ปัญจสีลา” ๕ ข้อ ซึ่งทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ในวันที่ ๑๗ สิงหาคมปีเดียวกัน มันถูกประกาศพร้อมกับพิธีประกาศเอกราชที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายในสวนหน้าบ้านพักของซูการ์โนในกรุงจาการ์ตา เขาอ่านคำประกาศอิสรภาพต่อหน้ากองทหารเปตะว่า “บัดนี้ชาวอินโดนีเซียขอประกาศเอกราช ภารกิจอื่น ๆ และการส่งถ่ายอำนาจจะจัดการต่อไปโดยเร็วที่สุด” จากนั้นฟาตมาวาตี ภรรยาของซูการ์โนจึงคลี่ผืนธงชาติที่เย็บเตรียมไว้ส่งให้ทหารชักขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมบรรเลงเพลง “อินโดนีเซียรายา” (อินโดนีเซียอันยิ่งใหญ่) อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก
สิ่งที่ตามมาคือช่วงเวลาอันยากลำบาก ซูการ์โนเผชิญความท้าทายในการรวมประเทศ ระหว่างปี ๒๔๘๘/๑๙๔๕-๒๔๙๒/๑๙๔๙ เขาต้องเผชิญกับการกบฏของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง กลุ่มคอมมิวนิสต์ เผชิญหน้าทางทหารกับฮอลันดาที่พยายามกลับมาปกครองอินโดนีเซียอีก ๒ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเขาถูกฮอลันดาจับกุมตัวพร้อมผู้นำคนอื่น ก่อนที่แรงกดดันจากนานาชาติจะทำให้ฮอลันดายอมให้เอกราชแก่อินโดนีเซียในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๒/๑๙๔๙ อินโดนีเซียจึงฉลองวันชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิในปี ๒๔๙๓/๑๙๕๐
ทว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๔๙๘/๑๙๕๕ ความวุ่นวายทางการเมืองทำให้ซูการ์โนเสนอ “ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ” (Guided Democracy) ยุบสภาผู้แทนราษฎร หันมาใช้รัฐสภาที่มีตัวแทนจากหลายสาขาอาชีพ ตั้งรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ยุบพรรคการเมืองหลายพรรค และเพิ่มอำนาจให้ตนเอง ผลที่ตามมาคือบทบาทของกองทัพมีมากขึ้น
อินโดนีเซียยุคซูการ์โนดำเนินนโยบายต่างประเทศได้โดดเด่น เขาร่วมกับผู้นำอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และพม่า จัดประชุมกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกาที่เพิ่งได้รับเอกราชในปี ๒๕๐๘/๑๙๖๕ ที่เมืองบันดุง เพื่อเน้นนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและถ่วงดุลอำนาจค่ายคอมมิวนิสต์และเสรีประชาธิปไตย
อำนาจของซูการ์โนลดลงเมื่อเกิดความพยายามทำรัฐประหารในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๘/๑๙๖๕ ที่เรียกกันติดปากว่า “เกสตาปู” แต่ล้มเหลวเพราะนายพลซูฮาร์โตผู้นำกองกำลังยุทธการสามารถปราบปรามได้ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ซูฮาร์โตมีบทบาทโดดเด่นขึ้นและค่อย ๆ ขึ้นสู่อำนาจ ในที่สุดซูการ์โนก็ถูกบีบให้ลาออกในปี ๒๕๑๑/๑๙๖๘ ทำให้อินโดนีเซียก้าวเข้าสู่ยุค “ระเบียบใหม่” (Order Baru) ที่มีนายพลซูฮาร์โตและกองทัพเป็นผู้นำ
ซูการ์โนอำลาโลกนี้ไปในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๓/๑๙๗๐ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี
ผู้เลือก : อัลฟอไรนัส เกรกอเรียส ปอนตัส (Alforinus Gregorius Pontus)บาทหลวงชาวอินโดนีเซีย วัย ๕๐ ปี ในอินโดนีเซียเรื่องของซูการ์โนเล่าต่อกันมาในลักษณะประวัติศาสตร์บอกเล่า คนเฒ่าคนแก่จำนวนมากยังจำเรื่องของเขาได้ เมื่อเราได้ยินชื่อซูการ์โนเรารู้สึกมีกำลังใจ ผมรับรู้เรื่องของเขาครั้งแรกตอนอายุ ๗ ขวบ ตอนนั้นเป็นยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โตแล้ว แม้ภายใต้การปกครองที่มีลักษณะเผด็จการห้ามสอนเรื่องพวกนี้ แต่หลายคนก็ยังกล้าพูดถึงซูการ์โน ปัจจุบันยังมีกลุ่มของ เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี บุตรสาวของซูการ์โนที่พยายามทำให้เรื่องของเขาเป็นที่รับรู้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลักปัญจสีลาคือเรื่องที่เด็ก ๆ ต้องเรียน “อินโดนีเซียยังต้องการสิ่งที่เรียกว่าวีรบุรุษ บุคคลสำคัญ เราต้องการผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จริง ๆ เรายังมีวีรบุรุษระดับท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก และทางการจะประกาศชื่อวีรบุรุษและวีรสตรีของชาติเพิ่มขึ้นเป็นระยะ แน่นอน ซูการ์โนมีข้อผิดพลาด เขามีอำนาจมากเกินไป เมื่อครองอำนาจนานก็กลายเป็นเผด็จการ แต่สำหรับคนอินโดนีเซียเขายังได้รับความนับถือในฐานะบิดาแห่งเอกราชและวีรบุรุษซึ่งต่างจากซูฮาร์โตที่ไม่ได้รับเกียรตินี้แม้จะครองอำนาจยาวนานเช่นกัน “ปัจจุบันคนอินโดนีเซียไม่ได้ตื่นตัวกับกระแสอาเซียนมากนัก คนที่พูดเรื่องนี้บ่อยที่สุดคือรัฐบาลอินโดนีเซียที่บอกว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร คนที่อยู่ห่างกรุงจาการ์ตาก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ พูดง่าย ๆ รัฐบาลเริ่มประชาสัมพันธ์แต่คนจำนวนมากก็ยังยุ่งกับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองมากกว่า” |