ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
จากคอลัมน์ อรุณสวัสดิ์คุณศิลปะ ฉบับ 337
ตอนที่ผมเริ่มศึกษาสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นใหม่ๆ และได้ไปเกียวโตเป็นครั้งแรกกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน นอกจากชมสถาปัตยกรรมสำคัญ เรายังไปดูสวนกันด้วย
ความจริงต้องบอกว่าสวนและอาคารไม่ได้แยกจากกัน เมื่อไปดูอาคารก็มักจะได้ชมสวน สวนส่วนใหญ่ที่เราไปในทริปนั้นเป็นสวนแบบที่ต้องนั่งชมอยู่บนระเบียง (‘ช่างคล้ายกับระเบียงของบ้านไทยภาคกลางเสียจริง’ คือความคิดของผมเวลานั้น) ช่วงเป็นนักศึกษาผมเข้าใจคำว่า “ชม” จากแง่มุมของคนที่ผ่านการฝึกฝนด้านทัศนศิลป์และมีประสบการณ์กับสถาปัตยกรรมไทยในภูมิภาคต่างๆ มาบ้าง แต่ต้องรอจนมีอายุมากขึ้น ได้ศึกษามากขึ้น จึงเริ่มเห็นว่าระเบียงไม่ใช่แค่พื้นที่ให้เราไปนั่ง “ชม” สวน แต่ทำหน้าที่มากกว่านั้น ระเบียงเป็นตัวเชื่อมสวนและพื้นที่ภายในอาคารเข้าเป็นหนึ่งเดียว หรือในทางตรงกันข้ามเป็นตัวแยกพื้นที่ภายในและภายนอกออกจากกัน ขึ้นอยู่กับคนและเวลา
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ระเบียงเป็นพื้นที่ที่มีความคลุมเครือเป็นเนื้อหา พื้นที่ระเบียงแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารแต่กลับทำหน้าที่เชื่อมเข้าหาสวน ไม่มีความแน่ชัดว่าระเบียงเป็นพื้นที่ภายในหรือภายนอกกันแน่
ในพัฒนาการของสวนญี่ปุ่นช่วงกลาง การก่อสร้างสวนมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสานสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม แตกต่างจากสวนสมัยก่อนหน้านี้ที่เน้นความหมายสัญลักษณ์ และสวนช่วงกลางนี้เองที่จะกลายเป็นเส้นทางเดินเพื่อแสวงหาตัวตน ในแง่มุมของศิลปะและสถาปัตยกรรม ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สวนและสถาปัตยกรรมจะถูกออกแบบก่อสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กันและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง อย่างที่เราเห็นกันบ่อยครั้งจากภาพหรือภาพยนตร์ต่างๆ พื้นที่ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อหรือแยกสวนออกจากพื้นที่อาคารคือระเบียง หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เอ็นกะวะ” (Engawa)
สวนแบบที่เรียกว่าสวนทิวทัศน์แห้งหรือ “คะเระซันซุย” (Karesansui) เมื่อจะต้องนั่งทำสมาธิ บางครั้งพระจะใช้ระเบียงและสวนนี้เป็นตัวช่วย โดยนั่งอย่างสงบบนระเบียง เพ่งพินิจสวนที่ถูกออกแบบโดยปรัชญาเซน ช่วยทำให้เวลาและพื้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของเรา เกิดการเพ่งพิจารณาความหมายของชีวิต ผ่านการกระตุ้นของมิติทั้งสี่ของสวนและสถาปัตยกรรม ถ้ามีเวลามากพอ ลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้แม้กับนักท่องเที่ยวปัจจุบันที่อยากจะทดลองประสบการณ์นี้
ระเบียงไม่ใช่สมบัติของสถาปัตยกรรมในวัดเพียงอย่างเดียว เวลาดูละครทีวีหรือภาพยนตร์ญี่ปุ่น ถ้ามีเหตุต้องเกี่ยวข้องกับบ้าน เรามักพบว่าบทสนทนาหรือตัวละครสำคัญชอบมานั่งบนระเบียงและรำพึงความในใจ นั่งดื่มชา รับแขกแบบเป็นกันเอง ฯลฯ แม้ในปัจจุบันการใช้พื้นที่ระเบียงในลักษณะดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องปรกติ
ผมเคยไปบ้านเพื่อนในชนบทในหน้าหนาว เมื่อพาเดินชมบ้าน เพื่อนก็ยังอดไม่ได้ที่จะนำเสนอระเบียงของเขาอย่างภาคภูมิใจ เห็นได้ชัดว่าถ้าเป็นหน้าร้อนละก็ เราคงได้นั่งสนทนากันตรงนั้นอย่างมีความสุขเป็นแน่
กล่าวกันว่าสำหรับคนญี่ปุ่น การเห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยอยู่บนท้องฟ้าได้เต็มตาจากกลางสวน ไม่ใช่สิ่งที่ปรารถนา พระจันทร์ที่บางครั้งแหว่งเว้าไม่สมบูรณ์ลอยขึ้นมาจากแนวสวน ผ่านกรอบสถาปัตยกรรมของระเบียงกลับเป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกได้มากกว่า เพราะในลักษณะเช่นนี้ พื้นที่ภายใน พื้นที่ภายนอก และเวลา ไหลผ่านตัวคนบนระเบียง ก่อความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับพื้นที่และเวลา
เมื่อหลายร้อยปีก่อน ราชวงศ์ญี่ปุ่นประทับชมจันทร์ที่ระเบียงชมจันทร์ (Tsukimidai) ของพระราชนิเวศน์คะสึระ (Katsura palace) ที่ประณีตสูงสุด พระจันทร์ลอยขึ้นช้าๆ ผ่านยอดไม้ สูงขึ้นและค่อยๆ หลุดจากกรอบของสวนและชายคาระเบียง เป็นผลจากการกำหนดตำแหน่งของระเบียงนี้ไว้แต่แรก อีกหลายร้อยปีต่อมาที่ระเบียงอีกแห่งหนึ่ง ครูสอนสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นตอนเด็กๆ กินแตงโมและสร้างความสนุกสนานด้วยการถ่มเมล็ดแตงโมลงไปในสวน ท่านตั้งคำถามว่าสำหรับคุณแล้ว พื้นที่ที่ชอบไปนั่งชมจันทร์ที่สุดคือที่ไหน