สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : เรื่อง
สถาบันอาศรมศิลป์ : ภาพ
สถาบันอาศรมศิลป์เลือกจัดให้มีพื้นที่ธรรมชาติถึงร้อยละ ๘๐ ของที่ดินทั้งหมดซึ่งเคยเป็นบ่อกุ้งร้าง ขุดสระน้ำ และปลูกต้นไม้สร้างความร่มเย็น ปลูกเรือนหลังคามุงจากแยกเป็น ๕ หลังให้ความรู้สึกของชุมชนหมู่บ้านแทนการสร้างอาคารหลังใหญ่สูงหลายชั้น ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ พร้อมๆ กับชีวิตของชุมชนแห่งการเรียนรู้นี้
“การเป็นมหาวิทยาลัยมุงจาก ผมไม่อายเลย ผมไม่ได้ต้องการอยู่มหาวิทยาลัยโก้ๆ …เราเป็นสถาบันเล็กๆ ถึงเล็กแต่ดี…ปรัชญาการศึกษาของเราคือ เราต้องการสร้างสถาปนิกชุมชน การสร้างอาคารก็เลยพยายามสร้างให้เป็นชุมชน ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับที่ชาวบ้านเขาอยู่ ลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติ อย่างนั้น…เราอยู่ได้อย่างมีความสุข”
รศ.ดร.วีระ สัจกุล อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวถึงหัวใจของสถาบันการศึกษาทางเลือกที่คนทั่วๆ ไปอาจไม่คุ้นชื่อ หากแต่ผลงานการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” ที่ชนะการคัดเลือกแบบเมื่อปี ๒๕๕๓ อันเกิดจากการรวมตัวของหลายบริษัท โดยมีอาศรมสถาปนิกเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นแกนหลัก น่าจะทำให้สถาบันแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
ขณะที่สัปปายะสภาสถานเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่อลังการ แต่อาคารของสถาบันอาศรมศิลป์เจ้าของผลงานเอง กลับเรียบง่ายยิ่ง
ย่านบางขุนเทียน จากถนนพระราม ๒ เข้าไปในซอย ๓๓ หรือซอยวัดยายร่ม ข้ามสะพานข้ามคูคลองเล็กๆ ไปจนถึงโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกไม่กี่แห่งในเมืองไทยที่มุ่งสู่การพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม สถาบันอาศรมศิลป์นั้นตั้งอยู่ลึกเข้าไปทางด้านหลังเขตโรงเรียน เมื่อเดินตามทางไม้กระดานผ่านศาลาและซุ้มต้นไม้เล็กๆ ก็จะพบเรือนหลังคามุงจาก ๕ หลังเรียงรายอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่หลังลานสนามหญ้ากว้างริมทะเลสาบ มีต้นจามจุรีใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น
ราว ๘ ปีก่อน ธีรพล นิยม หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มแปลน และ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ เห็นพ้องต้องกันถึงการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางเลือกระดับอุดมศึกษาและปริญญาโททางสถาปัตยกรรมศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนจากการทำงานจริง ปฏิบัติจริง และการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร
แนวทางการออกแบบและก่อสร้างสถาบันอาศรมศิลป์จึงเกิดขึ้นตามปรัชญาของสถาบัน ซึ่งชาวอาศรมศิลป์ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า “เราไม่ได้ต้องการแค่อาคาร แต่เราอยากจะสร้างคนและชุมชนไปพร้อมๆ กัน”
ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ สถาปนิกผู้รับผิดชอบการออกแบบย้อนความหลังถึงกระบวนการทำงานที่แตกต่างจากการออกแบบอาคารทั่วๆ ไปที่เจ้าของอาคารไม่กี่คนเป็นผู้ให้โจทย์แก่สถาปนิกนำไปขบคิดแล้วนำโมเดลกลับมานำเสนอ
“กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลักของการทำงานของเราเลยครับ ครั้งแรกที่ประชุมมีประมาณ ๓๐ คนได้ อาจารย์ประภาภัทรตั้งโจทย์ให้ทุกคนคิด คืออยากให้อาศรมศิลป์เป็นอย่างไร ให้หารูปมาคนละอย่างน้อย ๓ รูป แล้วนำมาประชุมแลกเปลี่ยนกัน กระบวนการนี้ทำให้ได้สถาปัตยกรรมที่ใกล้เคียงความคิดของผู้ใช้อาคาร และยังเป็นการสร้างวิถีการเรียนรู้ร่วมกัน”
จากความคิดเห็นร่วมกันของชาวอาศรมศิลป์ สรุปลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมที่ต้องการได้ ๔-๕ ประเด็น
“มีเรื่องของการมีธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ เรื่องของความเป็นหมู่บ้าน เรื่องของความเป็นพื้นถิ่นแบบตะวันออก เรื่องของการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากๆ และหลังจากทำงานไประยะหนึ่งก็มีเรื่องของความยืดหยุ่นที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเข้ามา”
เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นบ่อกุ้งร้างราว ๘ ไร่ เมื่อปรับสภาพเพื่อให้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก จึงวางพื้นที่ธรรมชาติไว้ถึงร้อยละ ๘๐ ให้ทะเลสาบที่ขุดขึ้นใหม่และพื้นที่สีเขียวโอบล้อมหมู่เรือนอาคารไว้อย่างกลมกลืน
และแทนที่จะสร้างตึกอาคารโดดเดี่ยวหลังใหญ่อย่างที่สถาบันการศึกษาต่างๆ นิยม ชาวอาศรมศิลป์เลือกการแยกปลูกเรือนเป็น ๕ หลังให้บรรยากาศของความเป็นชุมชนหมู่บ้าน
“ลานหน้าอาคารทั้งห้าหลังเป็นหัวใจของอาศรมศิลป์ คือเป็นที่จัดงานพิธีสำคัญทางศาสนา หรือแม้แต่เล่นกีฬา สิ่งนี้มาจากภูมิปัญญาของไทยที่มีพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนให้คนมามีปฏิสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมร่วมกัน”
วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นหลัก เพื่อให้ผู้ใช้อาคารเกิดจิตสำนึกถึงคุณค่าของไม้และธรรมชาติ
หลังคาจั่วทรงสูงช่วยให้อากาศร้อนในอาคารระบายออกทางหลังคา ส่วนจากที่มุงหลังคาและกันสาดก็เป็นฉนวนกันความร้อนจากแสงแดดได้ดี
หลังคาทรงจั่วสูงช่วยระบายความร้อน แผ่ชายคายาวกันฝนและแดดตามแบบอย่างจากเรือนไทย และยังมีตับจากซึ่งมุงหลังคาเรือนทุกหลังเป็นฉนวนกันความร้อนอย่างดีให้อาคาร หลังคาจากยังให้ความรู้สึกถึงกระท่อมชาวบ้าน และเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาแห่งนี้กับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติด้วยความเรียบง่ายและงดงาม
จากไม่ใช่วัสดุที่คงทน และในอนาคตจะสร้างภาระในการเปลี่ยนตับจากใหม่แทนของเก่าที่จะเสื่อมสภาพไป
“เรามุงจากหนากว่าที่ชาวบ้านเขามุงกัน ๒ เท่าเพื่อยืดอายุการใช้งาน แต่เราก็ยอมรับว่าในที่สุดวันหนึ่งมันต้องเปลี่ยน ถือเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นไตรลักษณ์ตามหลักทางพุทธศาสนา และประโยชน์จากการเรียนรู้นี้มีค่าเกินกว่าการต้องเปลี่ยนมันเสียอีก”
เรือนแต่ละหลังตั้งเรียงกันจากเรือน ๑ ถึงเรือน ๕ ตามลำดับจากซ้ายไปขวา (เมื่อหันหน้าเข้าหาหมู่อาคาร) ทว่าทุกเรือนยังเชื่อมถึงกันด้วยชานและระเบียงที่นั่งบนชั้น ๒ จากบนเรือนหลังหนึ่งจึงมองเห็นเรือนทั้งหมดเชื่อมต่อราวกับเป็นอาคารเดียวกัน แต่ระหว่างตัวเรือนมิได้สร้างโครงสร้างใดไว้ป้องกันฝน เพื่อให้คนได้โดนฝนสัมผัสธรรมชาติบ้าง
ขณะที่บริเวณชั้น ๑ เมื่อแรกสร้างเป็นใต้ถุนโล่งเพื่อช่วยการระบายอากาศ ภายหลังชุมชนขยายตัวทำให้ปัจจุบันต้องปิดกั้นใต้ถุนเพิ่มห้องทำงาน มีเพียงห้องสมุดที่ตั้งอยู่ใต้ถุนอาคารเรือน ๒ ยังเปิดรับอากาศและแสงธรรมชาติให้แก่ผู้มาใช้บริการ โดยใช้ประตูบานเฟี้ยมที่ช่วยให้เปิดปิดห้องได้สะดวกและประหยัดพื้นที่
ด้านหน้าเรือน ๑ และเรือน ๔ มีชานขนาดใหญ่ที่อาจเห็นชาวอาศรมศิลป์มานั่งพูดคุยหรือประชุมงานอยู่ใต้ร่มเงาชายคาที่ยื่นยาวในบรรยากาศใกล้ชิดใบไม้ใบหญ้ากับสายลม บางช่วงเวลาอาจมีคนนำโมเดลทางสถาปัตยกรรมมาตั้งวางเพื่อศึกษา “ชานชุมชน” นี้ถูกยกระดับความสูงครึ่งชั้นเพื่อให้ทั้งคนในใต้ถุนชั้น ๑ และคนบนชั้น ๒ มองเห็นกิจกรรมที่เป็นไปบนชาน เพื่อสร้างวิถีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เช่นเดียวกับห้องทุกห้องที่ใช้บานประตูและหน้าต่างไม้ติดกระจกค่อนบานที่ภายนอกมองเห็นภายใน และภายในก็มองเห็นภายนอก
พื้นที่ชานและระเบียงที่เอื้อต่อการพบปะนั่งแลกเปลี่ยนสนทนาของคนในชุมชน คิดเป็นพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ใช้งานทั้งหมด
“ถ้าเป็นองค์กรอื่นเขาจะใช้เวลาประชุมให้น้อยที่สุดและทำงานให้เยอะที่สุด แต่กระบวนการทำงานที่นี่จะเป็นทีม ใช้กระบวนการกลุ่มมาก ไม่ค่อยมีใครนั่งทำงานอยู่เงียบๆ คนเดียว งานทุกชิ้นต้องผ่านการระดมสมอง ผ่านความคิดเห็นของทุกๆ คน ตั้งแต่แม่บ้านยันผู้บริหาร งานสัปปายะสภาสถานก็เกิดขึ้นผ่านกระบวนการแบบนี้ พื้นที่เหล่านี้จึงเอื้อและสนับสนุนให้เราได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และงานก็มีประสิทธิภาพ” ภคชาติให้ภาพของการทำงานในแบบอย่างชาวอาศรมศิลป์
ทั้งพื้นเรือน ชาน ระเบียง ผนัง ฝ้าเพดานของเรือนทุกหลังล้วนสร้างขึ้นด้วยไม้ เป็นสื่อสัมผัสเชื่อมโยงชาวอาศรมศิลป์กับปรัชญาของสถาบันที่เชื่อว่า ชีวิตแยกขาดจากธรรมชาติไม่ได้ และเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ถ้าจะให้สถาปนิกผูกพันและเกิดจิตสำนึกในการใช้ไม้อย่างรู้คุณค่า เราก็ต้องให้เขาได้สัมผัสกับมันทุกวัน และมันจะสะท้อนออกมาในงานที่เขาออกแบบ เราเชื่อว่าหากเลี้ยงเด็ก ๒ คน คนหนึ่งเติบโตในห้องที่เป็นไม้ อีกคนอยู่ในห้องคอนกรีต เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน คนที่อยู่กับธรรมชาติ จิตใจน่าจะอ่อนโยน อบอุ่น นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง เช่นเดียวกับชุมชนในเรือนไม้ น่าจะมีความกลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มากกว่าทะเลาะเบาะแว้งกัน ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัย แม้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด”
การประกอบโครงหลังคาภายในตัวเรือนยังใช้สิ่งใหม่ที่แตกต่างจากแบบอย่างทั่วไป นั่นคือสลิงโลหะที่ขึงตึงช่วยรับแรงให้กับโครงสร้าง ช่วยให้เรือนหลังนี้ใช้หน้าไม้ขนาดเล็กกว่าปรกติ
“เราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยประหยัดหน้าไม้ เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาเก่ากับใหม่”
พื้นที่ใช้งานในห้องทำงานแต่ละเรือนส่วนใหญ่เปิดพื้นที่กลางห้องให้เป็นโถงกลาง บางห้องตั้งโต๊ะประชุม บางห้องเป็นโต๊ะทำงานที่ทุกคนในห้องมองเห็นถึงกัน เมื่อแรกก่อสร้างเรือนทุกหลัง ชาวอาศรมศิลป์ยังตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อเข้าอยู่ใช้งานอาคารมาสักระยะก็พบปัญหาเรื่องอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จึงต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ในห้องให้ใช้เครื่องปรับอากาศอย่างประหยัดพลังงานไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพ เช่นในเรือน ๔ ซึ่งเป็นห้องทำงานของสถาปนิกชุมชน ได้กั้นห้องกระจกเฉพาะพื้นที่ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ หากสถาปนิกซึ่งปรกติต้องเดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัดบ่อยๆ ไม่ค่อยมีคนทำงานในห้องหรืออยู่น้อยคนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือหากจำเป็นต้องเปิด ภาระการปรับอากาศก็จำกัดอยู่เฉพาะในห้องกระจกเล็กๆ ไม่ใช่ทั้งโถงห้องใหญ่
แม้ความพยายามในการไม่ใช้เครื่องปรับอากาศอาจไม่ประสบความสำเร็จเต็มร้อย แต่จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของชาวอาศรมศิลป์ยังกลมกลืนอยู่ในวิถีปฏิบัติของชีวิตประจำวัน เช่น การคัดแยกขยะ การบำบัดน้ำเสียโดยผ่านการกรองด้วยวัสดุธรรมชาติก่อนปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ และนำน้ำกลับมาใช้รดต้นไม้ในพื้นที่
“ผมคิดว่าความหมายของสถาปัตยกรรมสีเขียวไม่ใช่แค่เรื่องการประหยัดพลังงาน แต่ลงไปถึงเรื่องของคน ชุมชน และจิตวิญญาณ มันเป็นการสร้างสำนึกว่ามนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ถ้าเรามีสำนึกและความเชื่อแบบนี้เป็นหลักนำ ไม่ว่าเราจะมีพื้นที่ใหญ่หรือเล็กแค่ไหน เราก็ออกแบบให้ธรรมชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ เช่นถ้าอยู่ในเมืองปลูกผักบนดาดฟ้าได้ไหม หรือจะทำสวนเล็กๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
“สถาปนิกไม่ได้ออกแบบแค่ตัวอาคาร แต่มีส่วนในการสร้างวิถีชีวิต ซึ่งผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่สร้าง แต่มีผลต่อทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ไปจนถึงมีผลต่อเมืองและประเทศ”
จากจุดเริ่มต้นมาถึงทุกวันนี้ เรือนหมู่ทั้งห้าหลังแห่งมหาวิทยาลัยมุงจากได้ผ่านการปรับเปลี่ยนมาตลอดเวลาตามวิถีแห่งการงานของชาวอาศรมศิลป์ที่เติบโตและไม่เคยหยุดนิ่ง ราวกับเป็นชีวิตที่งอกงามไปพร้อมๆ กัน
หลายคนอาจมองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นทุกข์ แต่หากคนได้อยู่ร่วมใกล้ชิดกับธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปเสมอ ทั้งร้อน หนาว ลม ฝน งอกงาม และผุพัง เขาย่อมเรียนรู้ที่จะยอมรับในสัจธรรมที่น้อมนำไปสู่การลดความละโมบ ลดการเอาแต่ประโยชน์ของมนุษย์เป็นที่ตั้งแล้วเบียดเบียนธรรมชาติหรือชีวิตอื่น
ขอขอบคุณ : ธีรพล นิยม และ ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์