วันแรงงานแห่งชาติ – ในช่วงเวลายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจากกรรมกรในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่มาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 กรรมกรในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเดินขบวนเรียกร้องสิทธิจากนายจ้างขอทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จากเดิมที่กรรมกรถูกกดขี่ให้ทำงานวัน 12-16 ชั่วโมง ภายหลังได้รับชัยชนะในที่สุด

ปี พ.ศ. 2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก  หรือ วันกรรมกรโลก (May Day หรือ Labor Day) โดยในหลายประเทศต่างตอบรับกับการก่อตั้งวันดังกล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของกรรมกรในประเทศไทยนั้น ได้เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมกรสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ รวมทั้งให้กรรมกรทั่วประเทศหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง จนในที่สุด รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุญาติให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันกรรมกร โดยเริ่มในปี 2499 เป็นปีแรก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วันแรงงานแห่งชาติ