วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนในเมืองไทยเคยมีความเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเติบโตช้า โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ ๔.๙ ในช่วงปี ๒๕๔๓-๒๕๕๐ แนวโน้มการเติบโตในอัตราต่ำนี้อาจต่อเนื่องไปอีกหลายปีข้างหน้า จนคาดหมายว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักมานานนับสิบปี
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่บัดนี้ทั้ง ๒ ประเทศทิ้งไทยไปไม่เห็นฝุ่น ประเทศมาเลเซียที่เคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไล่เลี่ยกับไทยเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีก่อน ปัจจุบันก็ล้ำหน้าไทยไปเรียบร้อยแล้ว
สาเหตุสำคัญนั้นมาจากการที่ประเทศไทยเน้นการใช้นโยบายระยะสั้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เข้าใจผิดว่าจะให้ผลเร็ว โดยมิได้มีการดำเนินนโยบายปฏิรูปอย่างจริงจังเหมือนในหลายประเทศที่เผชิญภาวะวิกฤต
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยถูกจัดกลุ่มให้อยู่ใกล้กับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในแทบทุกภูมิภาคกลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าพึงพอใจ มีการคาดคะเนว่าภายในปี ๒๕๘๓ ประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล จะมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น และจะไล่ทันประเทศพัฒนาแล้วที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรียกกันว่ากลุ่ม G7 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และแคนาดา
ประเทศเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจในสายตานักลงทุน และจะสังเกตเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นของทั้ง ๔ ประเทศนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการดำเนินนโยบายปฏิรูปทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีแนวคิดที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวอย่างจริงจัง นอกจากนโยบายประชานิยมที่ดูเหมือนจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันดีมากที่สุด
ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ ๘-๙ % ซึ่งถือว่าสูงมาก เกิดภาวะราคาสินค้าทุกชนิดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และความขัดแย้งในการดำเนินนโยบายด้านการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช สารคดี มีนัดกับ ศ. ดร. ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอความรู้จากท่านว่าทางออกของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวควรจะเป็นอย่างไร
หลังจากวิกฤตฟองสบู่แตกในปี ๒๕๔๐ ผ่านไป ๑๐ ปีทำไมเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นสักที
ผมคิดว่าขณะนี้เราค่อนข้างมีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าวิกฤตเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดจากภาคการเงิน สาเหตุที่เกิดวิกฤตมี ๓-๔ อันที่เป็นเรื่องระยะสั้น หนึ่งก็คือไปแทรกแซงค่าเงินมากเกินไปจนกระทั่งมันไม่มีเหตุมีผล เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่รักษาไว้ไม่ได้ก็เกิดความล้มเหลวของระบบอัตราแลกเปลี่ยน
อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตในหลายๆ ประเทศ สองเกิดจากการที่แบงก์ปล่อยกู้มากเกินไป ปล่อยกู้อย่างไม่มีเหตุผล มีการคอร์รัปชันในกระบวนการสินเชื่อด้วย อันนี้มีปัญหาของไทยก็ใช่ เวียดนามก็ใช่ ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยกู้มากไป แต่ถ้าปล่อยกู้ถึงขั้นทำให้แบงก์ล้มเหลว อันนี้เป็นวิกฤตการณ์ธนาคารจะยิ่งหนักเลย ยิ่งเจอทั้งดุลการชำระเงินขาดดุลหนักแล้วยังเจอแบงก์ล้มเหลวอีกจะไปกันใหญ่ แต่ว่าเรายังไม่เคยเจอเหตุการณ์ใหญ่ๆ แบบนั้นยกเว้นปี ๒๕๔๐ และสามคือมีการพึ่งทุนระยะสั้นมากเกินไป ซึ่งก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจอ่อนแอด้วย ทุนระยะสั้นคือทุนที่เราไปกู้มาหรือให้เขามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศไทย เช่น หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรที่มีอายุสั้นประมาณ ๑ ปีลงไป
หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นมี ๒-๓ ประการ ผมคิดว่าสาเหตุหลักคือเราไม่ได้แก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเราพยายามฟื้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไป และใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่ปัญหาคือเราใช้นโยบายนี้นานไป ไม่มีกระบวนการใหม่ที่เป็นกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะทำให้โครงสร้างเหมาะสม
ฉะนั้นสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยจะพึ่งอยู่ ๒-๓ เรื่อง เช่น การทำค่าเงินบาทกับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ ซึ่งเป็นนโยบายระยะสั้นทั้งสิ้น พอทำไปสักระยะหนึ่งปัญหาเงินเฟ้อก็ตามมา เนื่องจากเราเติมสภาพคล่องเข้าไปมาก การกระตุ้นด้วยวิธีนี้มากๆ ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์บางทีมันก็ไม่ได้มีอนาคต และสุดท้ายก็ขาดทุน ถ้ายังจำได้เมื่อหลายปีก่อน คนในต่างจังหวัดผลิตแชมพูมหาศาล ผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาด เทคโนโลยีก็ไม่ได้ปรับให้สูงพอที่จะแข่งขัน
กับตลาดต่างประเทศได้ ในที่สุดก็ต้องพึ่งตลาดภายในเท่านั้น พอตลาดภายในจำกัด สินค้าก็ขายไม่ออก ท้ายที่สุดก็ต้องล้มหายตายจากไป ฉะนั้นเราจะเห็นว่าแนวทางแบบนี้จะดูดีตอนแรกๆ ตอนที่คนแห่มาลงทุนก็ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะไปได้ดี จริงๆ แล้วเราต้องดูมากกว่านั้น ต้องดูว่าเป็นการลงทุนที่มีอนาคตด้วยหรือเปล่า สินค้านั้นไปได้ไหม ใช้เทคโนโลยีไหม พึ่งค่าแรงสูงหรือเปล่า หรือพึ่งค่าเงิน ในทางเศรษฐศาสตร์ถ้าเราไปกดค่าเงินบาทเอาไว้ ท้ายที่สุดเงินก็จะเฟ้อ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นสินค้าของเราก็จะขายยาก
เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนเกาหลีใต้เจอวิกฤตเศรษฐกิจพร้อมกับไทย แต่ทำไมเขาฟื้นตัวได้เร็วกว่า
เขาใช้นโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาก็ลงทุนไปมาก แต่สามารถทำให้เทคโนโลยีกระจายไปจนประชาชนก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เกาหลีใต้นั้นมีการปฏิรูปบางส่วน เช่น มีการปรับระบบเศรษฐกิจไม่ให้ผูกขาดมาก มีการปรับปรุงระบบ “แชโบล”ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าของเกาหลีใต้ เช่น แดวู ซัมซุง แชโบลพวกนี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก การปฏิรูปของเขาทำให้แชโบลมีอำนาจผูกขาดน้อยลง ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย พวก SMEs หรือพวก medium เข้ามาแข่งขันมากขึ้น การแข่งขันทำให้พวกแชโบลที่มีอยู่ปรับปรุงการผลิตและเทคโนโลยีด้วย ฉะนั้นจะเห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เจอวิกฤตหลังไทยแต่ฟื้นเร็วกว่าไทยและยั่งยืนกว่าไทยเพราะเขาปรับเทคโนโลยี ขณะที่ของเราไม่มีเลย ทรัพยากรมนุษย์ก็ไม่ได้มีการปรับปรุง ระบบการศึกษาก็มีแต่ถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ ด้านเทคโนโลยีก็ไม่ได้มีการลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ลงทุนบ้างแต่ว่าคอร์รัปชันเสียส่วนใหญ่ มันก็ไปไม่ถึงจุดที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการปรับโครงสร้างหรือคุณภาพ คล้ายๆ เป็นการแก้ปัญหาแบบใช้ยาแก้ปวด ไม่ได้เป็นการผ่าตัด ฉะนั้นการที่จะฟื้นตัวมาโดยโครงสร้างเก่าๆ วิธีการทำงานแบบเก่า ทัศนคติแบบเก่า การบริหารเศรษฐกิจแบบเก่า หรือการเมืองแบบเก่า จึงไปได้แค่นี้
ผมคิดว่าอย่างน้อยมี ๓-๔ เรื่องที่เราจำเป็นต้องปรับปรุง แต่เราไม่มีการปรับปรุงเลย ได้แก่ การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี หรือแม้แต่นโยบายเศรษฐกิจก็ต้องมีการปรับปรุง จะเห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของเราก็เหมือนเดิม แจกของฟรี แจกของที่ไม่มีเงื่อนไขในการปรับปรุง ถ้าเราจะให้ของฟรีก็ควรมีเงื่อนไขว่าให้แล้วต้องปรับปรุง ถ้าปรับปรุงก็ให้อีก ถ้าไม่ปรับปรุงก็ไม่ให้ อย่างนี้จึงจะเกิดกระบวนการที่ว่าเม็ดเงินทุกเม็ดที่เราเอาไปใช้มันคุ้มค่า เม็ดเงินที่เราลงไปมากๆ ในช่วงหลายปีนี้ความจริงน่าจะเกิดดอกออกผล ทำให้เศรษฐกิจฟื้นยาวๆ แต่ปรากฏว่าเงินที่ให้ไปไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรที่เป็นหลักเป็นฐาน แม้แต่สมัยแรกๆ ที่เรามีโครงการเงินกู้เพื่อสังคม บางโครงการอย่างเช่นการทำพิพิธภัณฑ์ พอทำสักปีสองปีจากนั้นไม่มีใครดูแลรักษาแล้วก็ทิ้ง หรือว่าไปขุดคลอง ขุดเสร็จก็ทิ้ง หมดเงินแล้วคลองก็กลายเป็นที่ตื้นเขินใช้ไม่ได้ ตอนที่ทำคลองทำพิพิธภัณฑ์ แรกๆ ฟังดูเหมือนเรามีเม็ดเงินไปลงทำให้เกิดการปรับปรุง แต่บางทีไม่ได้ปรับปรุงอะไรเลย
สมมุติว่าอาจารย์เป็นรัฐมนตรีหรือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ อาจารย์คิดว่าจะผลักดันมาตรการอะไรบ้าง
ผมคิดว่าต้องทำงานประกอบกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพียงแต่ว่านโยบายระยะสั้นต้องหวังผลในระดับที่รับได้ คืออย่าหวังผลในระดับที่ว่าต้องทำอะไรมากมายขนาดต้องไปกระตุ้นเศรษฐกิจโต ๘-๙ เปอร์เซ็นต์ แล้วโตแค่ปีหรือสองปี พอรัฐบาลออกไปก็ออกไปด้วยความรู้สึกที่ดี แต่ว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาแย่เลย อันนั้นไม่ถูก ต้องใช้นโยบายที่ทำให้เสถียรภาพค่อนข้างจะดี เพราะตอนนี้นักลงทุนเขาฉลาด เขาอ่านออกว่าถ้าโตด้วยนโยบายระยะสั้น เขารู้เลยว่าอีก ๒-๓ ปีจะชะลอลง เขาก็จะเลือกลงทุนระยะสั้นๆ ลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อช้อนเอาผลประโยชน์ระยะสั้นไป ส่วนการลงทุนระยะยาวเขาไม่มาแล้ว เพราะเขารู้ว่าประเทศนี้ไม่เจริญ ใช้จ่ายเงินไม่ถูกวิธี ไม่ถูกลักษณะ ฉะนั้นถ้าเราต้องการให้เกิดการลงทุนระยะยาว เราต้องพยายามสร้างเสถียรภาพด้วยนโยบายระยะสั้นตามหน้าที่ของมัน และต้องใช้นโยบายระยะยาวอย่างจริงจัง
สิ่งที่เราต้องเน้นมากๆ มี ๓ เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องการศึกษา การศึกษาเวลานี้เราไปเน้นด้านปริมาณ แต่ด้านคุณภาพเราไปไม่ได้ เช่นเราให้เด็กกู้เงินไปเรียน แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยดีๆ ให้เลือก มีแต่มหาวิทยาลัยคุณภาพพอๆ กันหมด มันก็ไม่เกิดความแตกต่างที่จะทำให้เกิดการพัฒนา เราต้องปรับปรุงคุณภาพของสถาบันการศึกษาให้ดีขึ้น การใช้เม็ดเงินของกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องประหยัดขึ้น ไม่ใช่มีโรงเรียนผุดขึ้นมากมายแต่นักเรียนมีไม่พอ คุณภาพครูก็มีแค่นี้
สองคือเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งผมคิดว่าต้องอัดฉีด แทนที่จะไปอัดฉีดเรื่องปล่อยกู้ทั่วไปเฉยๆ ให้กู้กันเยอะๆ ผ่านธนาคารของรัฐ เราควรจะต้องไปเน้นเฉพาะเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ เทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือเน้นสังคมที่ใช้พลังงานน้อย ก่อมลพิษน้อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันก็จะเกิดกระบวนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีตามมาในตัวของมัน เนื่องจากสิ่งใหม่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีเสมอ
สามคือเรื่องของ infrastructure ขณะนี้เรามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมกะโปรเจ็กต์ คิดว่าความสำเร็จของเมกะโปรเจ็กต์ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่รัฐบาลให้ ถ้าเราทุ่มเงินไปมากเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่ ผมคิดว่าขณะนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าเราเลือกเมกะโปรเจ็กต์อย่างไม่มียุทธศาสตร์ เราอยากมีโครงการใหญ่ๆ แต่เราไม่ได้ดูว่าโครงการเหล่านั้นจะบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร อาทิ โครงการตัดถนน เราผิดพลาดในแง่ที่ว่าเอาเงินไปส่งเสริมให้คนใช้น้ำมันเป็นจำนวนแสนๆ ล้าน แทนที่จะไปทำ mass transit หรือระบบราง นอกจากนั้นแล้วเวลาทำโครงการใหญ่ๆ เรายังไม่มีการวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยว่าควรจะปรับปรุงเส้นทางไหน ควรจะสร้างเมืองใหม่ตรงไหน เราไม่มีจุดคิดตรงนี้เลย ถ้าเรามีจุดคิดตรงนี้ประกอบกับนโยบายการลงทุนของภาครัฐ ผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะไปได้ดี เศรษฐกิจก็ไม่มากระจุกอยู่กรุงเทพฯ ที่เดียว บางทีอาจจะลงทุนไม่มากด้วยซ้ำไป แต่กระจายความเจริญไปได้อย่างมโหฬารเลย ปัญหาคือเราไม่ได้ใช้ความคิดทางยุทธศาสตร์ทางนี้เลย
จุดสำคัญในเรื่องการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐนี้คือเรื่องการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้การบริหารจัดการไม่ต้องพึ่งนักการเมือง ไม่เอาการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันกับโครงการของรัฐมากเกินไป เราจะเห็นว่าในอดีตสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) มีบทบาทมากตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมา รวมทั้งสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โครงการใหญ่ๆ จำนวนมากไม่ได้เกิดง่ายๆ มีหน่วยงานเศรษฐกิจมากลั่นกรองว่าโครงการไหนคุณภาพไม่ถึงก็ไม่ให้เกิด ซึ่งผมคิดว่ายังต้องมี แต่ทุกวันนี้สภาพัฒน์อ่อนแอเกินไปในเรื่องการดูแลโครงการลงทุนภาครัฐ หรือว่าขณะนี้อาจจะไม่มีหน้าที่แล้วก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วสภาพัฒน์เป็นหน่วยวางแผน ควรจะต้องมีหน้าที่ดูแลว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ใช้เงินอย่างคุ้มค่า หนองงูเห่าเป็นตัวอย่างความล้มเหลวที่ชัดเจน นอกจากสร้างในที่ดินที่ไม่เหมาะสมแล้วยังมีข้อครหาเรื่องการรั่วไหลของเม็ดเงินอย่างมโหฬาร อีกทั้งเป็นโครงการที่ใช้เวลานานมากเป็นทศวรรษ ไม่มีประเทศไหนใช้เวลาสร้างสนามบินนานขนาดนี้ หรือแม้แต่สร้างไปแล้วยังไม่รู้เลยว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างดอนเมืองกับสุวรรณภูมิอย่างไร หรือในอนาคตเราจะขยายสุวรรณภูมิได้อย่างไร ถ้าเราแก้จุดอ่อนตรงนี้ได้ผมว่าเมืองไทยไปได้ ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมานักการเมืองเข้ามาล้วงลูก เดี๋ยวก็เปลี่ยนเดี๋ยวก็แก้ ไม่มีอะไรที่ให้ความเชื่อมั่นได้ว่านักธุรกิจที่ซื่อสัตย์สุจริตก็มีโอกาสได้สัมปทานจากรัฐ นักธุรกิจในเมืองไทยเชื่อว่าถ้าคุณ “วิ่ง”แล้วคุณจะได้ ถ้าคุณ “ไม่วิ่ง”แล้วคุณก็ไม่ได้ นี้คือสิ่งที่ต้องแก้อย่างเข้มข้น ถ้าทำได้เราจะมีเม็ดเงินเหลือเฟือที่จะไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สามเรื่องนี้สำหรับนโยบายระยะยาว ถ้าทำได้ ๓ อันนี้ก็สุดยอดแล้ว แรกสุดมองง่ายๆ ว่าถ้าต่างประเทศจะมาลงทุน คนไทยต้องเก่ง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเขาจะเอาคนงานที่ไหนมาทำ จะหาแรงงานมีฝีมือที่ไหน เขาก็ต้องไปลงทุนในที่ที่ดีกว่า ลงทุนที่เวียดนามอาจจะดีกว่าเพราะเวียดนามมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่าไทย คนไทยส่วนใหญ่เรียนจบมาทางสายศิลปกรรม แน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่เหมาะสมก็ควรจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าจะให้ยืนยาว
ก็ต้องมีการกระจาย (diversify) ออกไป เรียกว่าให้เกิดความหลากหลาย ไม่ใช่ว่าจะพึ่งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์หรือธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเดียว ต้องมีธุรกิจการเงิน การบริการประเภทอื่นๆ ธุรกิจอุตสาหกรรมด้วย แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้คุณภาพคนต้องไปด้วยกัน ถ้าคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง อุตสาหกรรมการเงินก็มาไม่ได้แล้วอุตสาหกรรมการเงินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภาษาอังกฤษของเราต้องอยู่ในขั้นดีถึงจะไปแข่งกับเขาได้ฉะนั้น
ถ้าจะทำอุตสาหกรรมการเงินหมายความว่าโครงสร้างเศรษฐกิจเราก็ต้องปรับด้วย ต้องทำให้ภาคการเงินเปิดกว้างขึ้น ไม่ใช่ออกกฎหมายจำกัดให้คนไทยทำธุรกรรมการเงินได้ไม่กี่ประเภท คนไทยก็ไม่มีทางที่จะมีประสบการณ์การเรียนรู้ ถ้าเราจะต้องไปแข่งกับสิงคโปร์ก็จะต้องมีคนไทยที่ภาษาดีไม่น้อยกว่าคนสิงคโปร์ ซึ่งผมคิดว่าทำได้ แต่ดูเหมือนว่าขณะนี้เราไม่มีพลังในเชิงของนโยบายเศรษฐกิจ เหมือนกับมันขาดหายไปเฉยๆ อย่างเก่งก็ลดหย่อนค่ากู้บ้าน ซึ่งก็ดูเป็นโครงการช่วยเหลือมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจต้องเข้าไปผลักดันให้เกิดปัจจัยบางปัจจัย เงื่อนไขบางอย่าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะนำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงเข้าประเทศ
ในแง่ของมาตรการระยะสั้นล่ะครับ
เราต้องให้ประชาชนคุ้นเคยกับระบบใหม่ของโลกที่จะต้องมีการปรับตัวและรองรับความเสี่ยงด้วยตัวเองมากขึ้น คือเราต้องให้ประชาชนเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องค่าเงิน เราไม่ควรไปแทรกแซงมาก ควรให้ประชาชนศึกษาหาความรู้เรื่องค่าเงินบ้าง และรู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน เขาต้องดูแลกระเป๋าตัวเอง มันก็จะทำให้ประชาชนเรียนรู้ไปในตัว ขณะเดียวกันประชาชนก็จะไม่พึ่งรัฐ รัฐก็จะคำนึงถึงต้นทุนของนโยบาย ทุกวันนี้เราแทรกแซงค่าเงินมากไป เวลาค่าเงินเปลี่ยนแปลงรัฐก็เข้าไปแทรกแซงเพราะกลัวว่าผู้ส่งออกจะไปไม่รอด แต่ผมเกรงว่าถ้าทำอย่างนั้นมากๆ ผู้ส่งออกจะไปไม่รอดเองเพราะคุ้นเคย กลายเป็นว่าธุรกิจอยู่ได้เพราะรัฐช่วย ถ้ารัฐไม่ช่วยก็อยู่ไม่ได้ ในอนาคตถ้ารัฐทำไม่ได้อย่างที่เคยทำ ธุรกิจนั้นๆ ก็จะไม่รอด ประเทศไทยผ่านขั้นตอนความล้มเหลวเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาแล้ว เราก็ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หมายความว่าเมื่อเราไม่สามารถแทรกแซงค่าเงินได้ เราก็ปล่อยให้มันลอยตัวขึ้นหน่อย แล้วก็ไปดูแลอัตราเงินเฟ้อหรืออัตรา
ดอกเบี้ยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น คือแทนที่จะไปเอาค่าเงินคงที่อิงตามสหรัฐฯ อย่างเดียว เราก็ยอมให้มันผันผวนขึ้นหน่อย แต่ไปทำให้อัตราดอกเบี้ยของเราไม่ผันผวนมาก ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
อาจารย์คิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ผมคิดว่าในระยะยาวมันน่าจะแข็งกว่า ๓๐ บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ น่าจะอยู่ที่ ๒๕-๓๐ บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่ผ่านมามีการแทรกแซงมาก อย่าลืมว่าทุกอย่างมีต้นทุน พอแทรกแซงมากแล้วถ้าแบงก์ชาติไม่ออกพันธบัตรมาดูดสภาพคล่องกลับ สภาพคล่องนั้นก็จะเข้าไปสู่สถาบันการเงิน แล้วปล่อยกู้กันได้ง่ายๆ โครงการที่ไม่มีคุณภาพก็ผุดเป็นดอกเห็ดเลย ปัญหาก็คือว่าถ้าประเทศไทยสามารถรองรับอย่างนี้ไปได้ตลอดก็คงไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ถ้าทำได้ถึงขั้นหนึ่งแล้วต้องยกเลิกนโยบาย ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น เหมือนทำๆ ไป จู่ๆ บอกว่าอยู่ที่ ๓๕ บาทต่อดอลลาร์ไม่ไหวแล้วต้องปล่อยลอยตัว อย่างนี้แย่เลย เพราะประชาชนเข้าใจว่าแบงก์ชาติต้องช่วยอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการบริหารว่าทำอย่างไรถึงจะให้นโยบายดูแลเงินเฟ้อ การว่างงาน การผลิต ในเชิงมหภาคมีความสมดุลในตัวมันเอง คือไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป ขณะนี้ของเราหย่อนเกินไปเพราะว่าการเมืองอยากให้ธุรกิจเฟื่องฟู แต่อนาคตจะแย่ลง ของจะขายไม่ออก คิดแต่ว่าไม่เป็นไร ขอให้วันนี้ขายดีไว้ก่อน มันขายดีก็จริงแต่เราขาดทุนนะ เพราะทุกบาทที่เราขายไป สินค้าทุกชิ้นที่เราส่งออกไป เราเอาเงินของประชาชนหรือผู้อื่นมาช่วยเหลือ
ในทางเศรษฐศาสตร์การดำเนินนโยบายดังกล่าวต้องเอาเงินจากที่ใดที่หนึ่งมาช่วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นเอาเงินจากผู้ออมมาช่วย ผู้ออมก็ต้องได้ดอกเบี้ยน้อยลง ยกตัวอย่างเช่นพอแทรกแซงค่าเงินให้เงินบาทอ่อน แบงก์ชาติต้องเอาเงินบาทออกมา พอเอาเงินบาทออกมา ดอกเบี้ยก็ถูก เมื่อดอกเบี้ยถูกกว่าความเป็นจริง คนที่ออมก็ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่างแทนที่จะได้ ๕ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ๓ เปอร์เซ็นต์ ส่วน ๒ เปอร์เซ็นต์คือเอาไปช่วยเหลือผู้กู้ แทนที่ผู้กู้จะเสียดอกเบี้ย ๙ เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเสียน้อยกว่านั้น แล้วก็ช่วยผู้ส่งออก ฉะนั้นเนื่องจากระยะยาวการผลิตนั้นต้องอาศัยเงินออม เศรษฐกิจก็จะเดินไปในลักษณะที่ต้องอาศัยเงินออมจากต่างประเทศมา ทำอย่างนี้ฟังดูดี แต่สมมุติว่าในอนาคตเราต้องการเงินลงทุนในระบบสัก ๑ ล้านล้านบาท แต่เรามีเงินออมไม่ถึงเพราะแรงจูงใจในการออมไม่มี ต้องพึ่งเงินจากต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น เข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บ้าง หรือไปกู้จากต่างประเทศ หรือปล่อยให้คนต่างชาติมาถือหุ้นในบางส่วน เพื่อให้ได้เงินออมจากต่างประเทศมาช่วยให้เกิดการผลิต ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องคืนผลประโยชน์ให้เขา เงินทุนก็รั่วไหลออกไป ในระยะยาวเขาถึงบอกว่าการสะสมทุนจะไปได้ต้องมีเงินออมหนุนหลังอยู่ด้วย จริงอยู่ระยะสั้นเขาอาจจะดูดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยถูกโครงการอาจเกิดขึ้นเยอะ ถ้าเราเข้าใจทฤษฎีเหล่านี้สับสน เราก็จะมองว่าดอกเบี้ยต้องถูกเพื่อให้เกิดการสะสมทุน ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ระยะสั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลต่อการลงทุน แต่ระยะยาวเงินออมจะมีผล คราวนี้ถ้าเราดูแลนโยบายระยะสั้นไม่ดี มันอาจจะทำให้ดูเหมือนมีการลงทุนเยอะในวันนี้แต่ว่าเงินออมมันน้อยลงไปด้วย นโยบายระยะสั้นที่ดีจึงต้องพยายามไม่ให้เงินออมตรงนี้มันลด โดยยังคงทำให้ดอกเบี้ยไม่สูงจนเป็นอุปสรรค ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ดอกเบี้ยสูงมโหฬารเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพียงแต่อย่าให้มันต่ำมาก
ปัจจุบันอาจารย์คิดว่าดอกเบี้ยยังต่ำอยู่
ผมคิดว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยังต่ำอยู่ อาจจะต้องปรับขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับเงินออมด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไร ส่วนต่างไม่ควรต่างมาก ขณะนี้ถือว่ายังต่างกันมาก เพราะโครงสร้างแบงก์ของเราค่อนข้างจะผูกขาด ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ ๙ เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างตรงนี้ยังค่อนข้างสูง จึงไม่ใช่ว่าจะต้องไปเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่โครงการที่ปล่อยกู้ไปต่างหาก ซึ่งน่าเป็นห่วงกว่าเรื่องดอกเบี้ย เพราะปล่อยให้ใคร ปล่อยอย่างไร ปล่อยไปในธุรกิจประเภทไหน ปล่อยแล้วทำการผลิตจริงหรือเปล่า บางคนอาจจะบอกว่ากู้ไปทำโครงการ แต่จริงๆ แล้วเอาไปทำอย่างอื่นก่อน เป็นต้น
อาจารย์หมายความว่าทิศทางการลงทุนของบ้านเราไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไรหรือเปล่าครับ
ผมคิดว่าอย่างนั้น เพราะว่าดอกเบี้ยถูกเกินไป มันเลยทำให้เกิดธุรกิจง่ายๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอ่อนไหวต่อการขึ้นลงของดอกเบี้ย แต่อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมมันไม่ได้อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย มันอ่อนไหวต่อการคิดใหม่ ธุรกิจที่จะแข่งขันได้ต้องเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีหรือใช้ความคิดใหม่ ผมคิดว่าเม็ดเงินที่มีจำกัดควรจะไปลงทุนในธุรกิจซึ่งแข่งขันกับต่างประเทศได้ อย่างเช่นส่งออกบางส่วน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมการศึกษา สมมุติเอาไปลงทุนในอุตสาหกรรมการศึกษาที่สามารถทำให้คนเอเชียอาคเนย์หันมาเรียนในประเทศไทย ผมคิดว่าก็ทำได้ถ้าตั้งใจทำ ใช้เม็ดเงินเยอะ ใช้ความสามารถสูง ถ้าทำได้ก็จะกินยาว เพียงแต่ว่ามันคืนทุนนาน แต่อย่าลืมว่ามันยั่งยืนนะ สหรัฐอเมริกานี่เห็นชัดว่าขายอุตสาหกรรมการศึกษา และเขาสามารถสร้างเทคโนโลยีที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมหาศาลเลย ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เขาเจริญมาเพราะเทคโนโลยี เราเองก็ต้องเดินไปในรูปนั้น
เป็นเพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มันคืนทุนเร็วด้วยใช่ไหม
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช้เงินตัวเอง แต่ใช้เงินของคนอื่น ใช้เงินของผู้ฝาก แล้วก็ล้มง่าย หนีง่าย อาจเป็นเพราะช่องว่างทางกฎหมาย กฎหมายไทยอาจจะยังไม่พัฒนา ซึ่งก็ต้องไปศึกษากันในรายละเอียด น่าสนใจมากว่าทำไม NPL ถึงเกิดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เยอะที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมโรงแรม สร้างกันเป็นดอกเห็ด แล้วการบริหารจัดการก็ต้องอาศัยต่างประเทศมา เรายังไม่พัฒนาไปถึงขั้นที่จะทำให้เราไปรับจ้างบริหารซึ่งมันน่าจะได้กำไรกว่า ผมคิดว่าธุรกิจเหล่านี้น่าจะปรับคุณภาพด้วย ในแทบทุกสาขาต้องปรับปรุงคุณภาพ แม้แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอก็ต้องปรับปรุงในเชิงโครงสร้าง เราอาจจะต้องเน้นเรื่องการตัดเย็บ เน้นเรื่องการออกแบบ มากกว่าเน้นการฟอกสีหรือการทำวัตถุดิบ เราอาจจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากเวียดนาม ลาว หรือประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมาออกแบบเอง เราน่าจะต้อง outsourcing ออกไป แล้วก็ restructure ของตัวเองใหม่ ไม่ใช่ว่าทำอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบที่ทำมา แต่ใช่ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะเป็นแบบ sunset หรือล้าหลังทั้งหมด ไม่อย่างนั้นอิตาลีก็ sunset สิ อิตาลีต้นทุนแพงกว่าจีนมโหฬารเลยแต่ทำไมเขาไปได้ เพราะเขาต่อยอด เขาใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้ ใช้การออกแบบ ความน่าเชื่อถือ การพัฒนาที่ยาวนานต่อเนื่อง เขาไม่ได้ขายของราคาถูก หรือขายแรงงานราคาถูก เขาอัปเกรดตลอดเวลา อุตสาหกรรมสิ่งทอของเขาจึงไปได้ ขายได้แพงด้วย แม้แต่สเปนหรือโปรตุเกสก็ดีขึ้น เพราะเขาไปต่อยอดเรื่องการดีไซน์ เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ทนทาน ให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการมากขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าการอัปเกรดอุตสาหกรรมจึงเป็นวาระสำคัญของภาคอุตสาหกรรม
ตอนนี้เงินเฟ้อในประเทศประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ครับ
ถ้าเป็นตัวเลขเฉพาะเดือนสิงหาคมตกประมาณ ๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมาก มีไม่กี่ปีหรอกครับในประวัติศาสตร์ไทยที่สูงขนาดนี้ เพียงแต่ว่าเราก็ต้องดูต่อไปว่าโดยเฉลี่ยแล้วมันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เฉลี่ยแล้วก็น่าจะ ๖-๗ เปอร์เซ็นต์ซึ่งก็ถือว่าแย่แล้ว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อมากที่สุดก็คือคนชั้นกลาง และชนชั้นล่างที่ไม่มีกำลังซื้อ หรือมีกำลังซื้อคงที่ เช่นข้าราชการหรือคนกินเงินเดือนที่ปรับตัวไม่ทัน
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกับเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
แล้วแต่ว่าเงินเฟ้อมาจากสาเหตุไหน ถ้าเงินเฟ้อเพราะความต้องการสินค้ามาก ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยก็จะไม่มี แต่ถ้าเกิดว่าเงินเฟ้อมาจากด้านต้นทุนหรือด้านอุปทาน อย่างกรณีราคาน้ำมัน เศรษฐกิจมีโอกาสถดถอย เนื่องจากว่าต้นทุนการผลิตสูงทำให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย ขณะเดียวกันคนก็ต้องซื้อสินค้าน้อยลงเนื่องจากของแพง ผู้ผลิตที่เคยผลิตไหวก็ผลิตไม่ไหวแล้วเพราะสู้ต้นทุนไม่ได้ ก็ต้องลดการผลิตลง นี้คือส่วนที่ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้มีความหมายต่อนโยบายระยะสั้น เช่นนโยบายดอกเบี้ย คนที่ดูแลนโยบายอัตราดอกเบี้ยก็ต้องระวังไม่ให้เกิดเงินเฟ้อแล้วขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นไปอีก กรณีนี้จะต่างจากเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปสงค์หรือคนต้องการซื้อสินค้ามาก ซึ่งแก้ง่ายคือถ้าเรากลัวว่าเงินจะเฟ้อมากเกินไปก็ชะลอเศรษฐกิจสักหน่อยเพราะเศรษฐกิจโตมากอยู่แล้ว แต่กรณีที่ถดถอยพร้อมเงินเฟ้อจะแก้ยาก พอเราจะไปแก้เงินเฟ้อมันก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยชะลอตัว จึงต้องให้น้ำหนักเหมาะสมตามสถานการณ์ ฉะนั้นแบงก์ชาติหรือรัฐบาลต้องอ่านสถานการณ์ให้ดีว่าอะไรคือตัวที่น่ากลัว อะไรที่เกิดแล้วจะแก้ไม่ทัน ขณะนี้เงินเฟ้อส่วนใหญ่ประมาณ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์มาจากด้านอุปทาน ขณะที่ด้านอุปสงค์อาจจะประมาณ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเงินเฟ้อ