นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ผมใช้จดหมาย โทรเลข และโทรศัพท์ติดต่อกับคนที่รัก
จดหมายถึงช้าหน่อย โทรศัพท์ได้คุยทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และเสียค่าใช้จ่ายนาทีละ ๑๘ บาทสำหรับการคุยกันระหว่างเชียงราย และกรุงเทพฯ โทรเลขเป็นอะไรที่อยู่ระหว่างจดหมาย และโทรศัพท์ นั่นคือเร็วกว่า และราคาแพงกว่าจดหมาย ช้ากว่า และราคาถูกกว่าโทรศัพท์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของข้อความด้วย
เราสามารถนำจดหมายไปหยอดลงตู้ไปรษณีย์ใดๆ ก็ได้ ขณะที่โทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นสิ่งที่หาได้ยากในต่างจังหวัดเมื่อ ๒๐ ปีก่อน จึงว่ากว่าจะโทรศัพท์ได้ก็ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน นับตั้งแต่หาที่แลกเหรียญ หาตู้โทรศัพท์ และรอคิว
โทรเลขจึงเป็นเครื่องมือส่งข่าวด่วนที่สะดวกที่สุด และราคายอมรับได้
มีคำถามว่าสมอง และจิตใจของผู้คนที่เติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีจดหมาย โทรเลข และโทรศัพท์มีสาย เป็นอย่างไร
แล้วสมอง และจิตใจของผู้คนที่เติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีอีเมล์ แช็ต เอสเอ็มเอส และโทรศัพท์มือถือจะเป็นอย่างไร
และเมื่อโทรศัพท์มือถือก้าวเข้าสู่ยุคที่เห็นทั้งภาพ และเสียง พร้อมทั้งรับส่งเอกสารหรือไฟล์รูปภาพได้ด้วยแล้ว สมอง และจิตใจของผู้คนควรเป็นอย่างไร
อย่าลืมว่ามิใช่สมองที่เรียนรู้โลก แต่เป็นโลกต่างหากที่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานของสมอง
ในนวนิยายเรื่อง Taipan ของ เจมส์ คลาเวลล์ (James Clawell) ซึ่งเล่าเรื่องการค้าทางทะเล และการเมืองบนเกาะฮ่องกงเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน ตัวเอกของเรื่องคือ เดิร์ก สตรวนแห่งโนเบิลเฮ้าส์ ได้เปรียบคู่ต่อสู้เพราะเขาครอบครองยอดเขาที่สูงที่สุดบนเกาะฮ่องกงเอาไว้ จากยอดเขานี้ เขาสามารถมองเห็นขอบฟ้าได้ไกลที่สุด จากขอบฟ้าที่ไกลที่สุดนั้นเอง เขาได้นัดหมายให้กัปตันเรือสินค้าของเขาส่งข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจมาให้เขารับทราบก่อนใครๆ บนเกาะฮ่องกง นั่นทำให้เขาตัดสินใจซื้อ และขายสินค้าได้แม่นยำกว่าใครๆ
“ดูเรือ จากที่นี่เราจะเห็นเรือที่เข้ามาที่ท่าล่วงหน้าได้ถึง ๔ หรือ ๕ ชั่วโมง โดยเฉพาะเรือส่งไปรษณีย์ แล้วเราก็ส่งเรือเร็วออกไปรับจดหมายของเราได้ก่อนคนอื่น”
“แล้วไงฮะ” “เราก็ทำอะไรล่วงหน้าคนอื่นได้ ใน ๔ ชั่วโมงนี่เราซื้อขายได้เยอะเลย ไอ้การรู้อะไรล่วงหน้าคนอื่น ๔ ชั่วโมงนี่แตกต่างขนาดชี้เป็นชี้ตายได้นะ” คัดจาก ไทแพน ฉบับแปล
ของ วรปัญจา สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. ๒๕๒๑
|
ประเด็นสำคัญคือเรื่องเวลา ใครเร็วกว่าก็ได้เปรียบ
เวลาอาจจะไม่มีความสำคัญเท่าไรนักในสังคมตะวันออกหรือสังคมเกษตรกรรม เพราะผู้คนในฝั่งตะวันออกมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น และลงอย่างชัดเจนทุกวัน เห็นดวงจันทร์ข้างขึ้น และข้างแรมอย่างชัดเจนทุกเดือน เห็นฤดูกาลที่หมุนเปลี่ยนเวียนไปอย่างชัดเจนทุกปี อีกทั้งสังคมเกษตรกรรมทำให้หน้าที่การงานของผู้คนมีลักษณะหมุนเวียนเป็นวงรอบอีกด้วย
บางคนว่าโลกตะวันออกไม่มีมิติที่สี่ คือไม่มีเวลา
ในทางตรงข้าม โลกตะวันตกที่ท้องฟ้ามืดหม่นทั้งปี ปีละหลายๆ เดือน อีกทั้งกลางวันยาวไม่เท่ากลางคืน ทำให้ผู้คนไม่สามารถจับเวลาด้วยดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้ชัดเจน เวลาในฤดูหนาวก็มีความสำคัญถึงชีวิต ถ้าไม่ป้องกันความหนาวอย่างมีประสิทธิภาพ และ “นาน” พอ การออกนอกเคหสถานในฤดูหนาวของผู้คนตะวันตกกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวางแผน และประมาณ “เวลา” ที่จะต้องอยู่กลางแจ้ง แล้วแต่งกายให้อบอุ่นมากพอที่จะเดินออกไป
จะเห็นว่าเพียงเรื่องฤดูกาลเรื่องเดียวก็ทำให้โลกตะวันตกมีมิติที่สี่ที่ชัดเจนกว่าโลกตะวันออก แต่แล้วโลกทั้งใบก็ทำการค้าด้วยกัน เวลาจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ และมีอยู่จริงๆ ทั่วโลก
การค้าในยุคสมัยของไทปันซึ่งเป็นเพียงการค้าทางทะเลด้วยเรือสำเภา ยังมีอิทธิพลต่อสมองผู้คนให้สนใจเรื่องเวลามากเพียงนั้น การค้าในยุคปัจจุบันที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวันจะมีอิทธิพลต่อสมองคนให้ทวีความสำคัญของเวลามากเพียงใด
ทุกวันนี้หน้าที่การงานของคนจำนวนมากในบ้านเราผูกพันอยู่กับโทรศัพท์มือถือ และอีเมล ชีวิตส่วนตัวของคนมากกว่ามากผูกพันอยู่กับเอสเอ็มเอส และแช็ต เช่นนี้แล้วจึงทำนายได้ว่าเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงสมองคน และแน่นอนเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดในคนรุ่นใหม่คือ “รอไม่ได้”
เมื่อผมคิดถึงคนรักหรือต้องการส่งข่าวถึงคนรัก ผมเคยเขียนจดหมายแล้วรอ ๓ วันกว่าคนรักจะได้ข่าวว่าผมคิดถึง ถ้าผมต้องการความเร็วกว่านั้น ผมจะใช้โทรเลข
“สุขสันต์วันเกิดจ้ะ” อันนี้ใช้บ่อย
“ถึงกรุงเทพฯ แล้ว” อันนี้ก็บ่อย
“คิดถึง” อันนี้ก็เคยส่ง เจ้าหน้าที่ส่งโทรเลขส่ายหัวทำนองว่าน้ำเน่า
ปัจจุบันผมใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก หากไม่รีบ (คิดถึง) มากก็อีเมล หากรีบมหารีบ (คิดถึง) ก็นั่น เอสเอ็มเอสไปเลย เอสเอ็มเอสจะช้ากว่าโทรจิตนิดหน่อย (ถ้าไม่ส่งในวันปีใหม่หรือวันวาเลนไทน์นะครับ)
ของมันเร็วได้แล้วจะรอทำไม อยากจะบอกใครว่าคิดถึง อยากจะประสานงาน อยากจะส่งงาน อยากจะขายของ อยากจะซื้อของ ถ้าทำให้เร็วได้แล้วจะรอไปทำไม ยังไม่นับว่ามีคนจำนวนมากที่มีภาระงานเกินตัว ทำให้ต้องรับส่งเมล และโทรศัพท์เกือบตลอดเวลา อีกทั้งแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะมีงานสารพัดเกินตัวจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้แล้วการไม่รอหรือรอไม่ได้จะมีผลดีผลเสียอย่างไร
การรอมักทำให้ผู้คนกระวนกระวายใจ ภาษาอังกฤษเรียกว่าเกิด frustration กินความตั้งแต่กังวล รุ่มร้อน กระวนกระวายใจ นั่งไม่ติดที่ เรียกว่าเมื่อจิตใจไม่นิ่ง ร่างกายก็ไม่นิ่งตามไปด้วย
คนเราควรมีความอดทนต่อความกระวนกระวายเหล่านี้ ศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยาเรียกว่ามี frustration tolerance ซึ่งเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะตัวหนึ่ง นั่นคือกังวลได้ รุ่มร้อนได้ กระวนกระวายใจได้ แต่ไม่ทำอะไร ยังคงรอต่อไป และไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น ระเบิดอารมณ์ด้วยความรุนแรงหรือตัดสินใจด้วยความหุนหันพลันแล่น
ระเบิดอารมณ์ด้วยความรุนแรง เช่น กำลังโมโหอยู่ก็กดมือถือไปด่าทันที หรือส่งเอสเอ็มเอสนัดหมายยกพวกตีกัน
ตัดสินใจด้วยความหุนหันพลันแล่น เช่น คนบางคนทำงาน ๓-๔ อย่างทั้งทางอีเมล โทรศัพท์ และโทรสารพร้อมๆ กัน จึงมักรับข้อความเร็ว แล้วตอบอย่างรวดเร็ว หรือตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างรวดเร็ว
การรอจึงเป็นคุณสมบัติที่พึงมี ประเด็นปัญหาของยุคปัจจุบันคือจะรอไปทำไม
และเป็นไปได้ว่าต่อไปอาจจะไม่มีใครรอเป็น
การปิดฉากโทรเลขจึงอาจจะมีความหมายมากกว่าการปิดฉากสิ่งประดิษฐ์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในรูปแบบของซองสีเขียว กระดาษสีกากี และบุรุษไปรษณีย์ขี่มอเตอร์ไซค์ (สมัยก่อนบุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมายด้วยจักรยาน ส่งโทรเลขด้วยมอเตอร์ไซค์) แต่หมายถึงการปิดฉากตัวชี้วัดตัวหนึ่งของจิตใจมนุษย์ไปด้วย
นั่นคือคนปรกติย่อมไม่รอ (The norm is acting suddenly)
“บัดนี้ เวลาผ่านไปปีเศษแล้ว แต่ละค่ำคืน มันยังนั่งอยู่ในโต๊ะที่มุมห้องตัวนั้น ยังคงสั่งเต้าหู้แห้งจานหนึ่ง เนื้อวัวต้มจานหนึ่ง หมั่นโถวสองใบ กับสุราเจ็ดป้าน” … “ท่านอยู่ที่นี่นานเท่าใดแล้ว” “ยี่สิบกว่าร่วมสามสิบปีแล้ว” คฤหาสน์ที่อยู่ตรงข้ามร้านเป็นของผู้ใด? ท่านทราบหรือไม่?” “เป็นของตระกูลลี้” “เป็นเจ้าของตอนหลังเล่า ?” “แซ่เล้ง เล้งโซ่วฮุ้น”
คัดจาก ฤทธิ์มีดสั้น
ของโก้วเล้ง สำนวนแปล ว.ณ เมืองลุง
|
หากให้คนรุ่นต่อไปที่เติบโตมากับมือถือ และเอสเอ็มเอสอ่านฤทธิ์มีดสั้น ผมคิดว่าเป็นไปได้ว่า พวกเขาจะเข้าใจได้ยากมากเลยว่า ลี้คิมฮวงนั่งรออะไร