เรื่อง : อาณัติ แสนโท
นักศึกษาปี ๒ ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส เด็กนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งยืนคุยกันอย่างสนุกสนาน เสียงหัวเราะของพวกเธอทำให้ขบวนรถมีชีวิตชีวา next station…และ next station… จากสถานีหนึ่งผ่านสู่อีกสถานี ผู้คนค่อยๆ บางตาลง เด็กนักเรียนกลุ่มนั้นเหลือเด็กสาวเพียงคนเดียว บรรยากาศเงียบเชียบมาคุแบบรถไฟฟ้าก็ย่างกรายเข้ามา แต่ละคนจมสู่ห้วงความรู้สึก-นิ่งเงียบ

เด็กสาวหยิบสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” ออกมา…

………………………………………………………………………………………….

หน้าออฟฟิศแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ค่ำคืนเริ่มคลี่ห่มมหานคร เด็กหนุ่มกรรมกรก่อสร้างเดินวนเวียนกลับไปกลับมาผ่านหน้าออฟฟิศนับครั้งไม่ถ้วน เด็กหนุ่มเดินอย่างมีความสุข บ้างครั้งยิ้มและหัวเราะคนเดียว บางครั้งเต้นไปเดินไป แกว่งแขนแกว่งขา จากฟ้าสีส้มค่อยๆ มืดลงทุกขณะ จวบจนอาทิตย์ลับหายไปกับทิวตึกน้อยใหญ่

เด็กหนุ่มพูดคุยผ่านสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ”…

………………………………………………………………………………………….

จริงหรือไม่ที่ “วัยรุ่นใช้โทรศัพท์อย่างไม่รู้จักคิด” จริงหรือไม่กับประโยค “คุยกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น”

และจริงไหมที่ “โทรศัพท์มือถือเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร”

นี่คือเรื่องเล่าในบางจังหวะของสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” และ “ชีวิตวัยรุ่น”

 

เปรี้ยวกับมือถือ ๓ เครื่อง

เปรี้ยว (เธอขอไม่เปิดเผยชื่อจริงและสถาบัน) เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านบางเขน เธอสวมชุดนักศึกษารัดติ้วตามสมัย หลังจากทักทายกันเสร็จ เธอก็เล่าให้ฟังถึงความผิดหวังครั้งแรกๆ ของชีวิต

“เราสอบไม่ติดที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเสียใจมาก คิดว่าจะรอเอนฯ ใหม่ แต่ติดที่นี่ก็เลยเรียน ตอนแรกเหงามาก เพราะเพื่อนที่สนิทๆ เอนฯ ติดที่ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ กันเป็นส่วนใหญ่” เปรี้ยวเป็นสาวเมืองแพร่ เมื่อต้องมาอยู่กรุงเทพฯ ผมจึงถามเธอต่อถึงวิธีจัดการกับความเหงาที่รุมเร้า

“ตอนนั้นก็เขียนจดหมายไปหาพ่อกับแม่ แล้วก็จะตั้งตารอจดหมายตอบกลับ” ผมนึกประหวัดไปถึงว่า นี่คงเป็นเหตุให้เธอชอบเขียนหนังสือ ไดอารี่ออนไลน์ของเธอมีคนติดตามอ่านกันอย่างเหนียวแน่น

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เปรี้ยวก็มีจดหมายที่เขียนติดต่อกับทางบ้านถึง ๒๐ กว่าฉบับ และหลายๆ ครั้งที่เกิดปัญหาหรือรู้สึกผิดหวัง การอ่านจดหมายเหล่านี้ทำให้เธอมีกำลังใจ ทว่าในที่สุด การเขียนจดหมายในระยะเริ่มแรกที่มาเรียนในกรุงเทพฯ ก็หยุดลงเมื่อทางบ้านซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในชีวิตให้ และนั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอสื่อสารกับคนทางบ้านน้อยลง…

“ไม่รู้จะคุยอะไร ส่วนใหญ่จะโทร. ไปเมื่อมีเรื่องสำคัญจริงๆ”

“เรื่องสำคัญจริงๆ…” ของเปรี้ยวคือ “เรื่องเงิน” ดังนั้นสิ่งที่เธอพูดคุยกับทางบ้านในระยะหลังๆ มานี้ จึงเป็นคำพูดสั้นๆ “แม่..โอนตังค์ให้หน่อย”

ผมมองไปที่โทรศัพท์มือถือสีบรอนซ์เครื่องกะทัดรัด มันเป็นรุ่นที่เวลาใช้งานจะต้องกางออก ผมไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้ออะไรหรือรุ่นไหน แต่คงไม่ใช่โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของเธอ

หลังจากได้โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในชีวิตตอนปี ๑ จนมาบัดนี้เรียนถึงปี ๔ ใกล้จะจบ เปรี้ยวเปลี่ยนมือถือบ่อยจนนับไม่ถ้วนว่าเคยใช้มาแล้วกี่เครื่อง วันนี้เธอมีโทรศัพท์มือถือในครอบครองถึง ๓ เครื่อง

เครื่องหนึ่งเป็นเบอร์เก่าตั้งแต่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก จ่ายรายเดือนโดยพ่อแม่ เครื่องนี้เอาไว้รับโดยเฉพาะ

เครื่องหนึ่งเอาไว้โทร. ออก เพราะมีโปรโมชันที่ทำให้ค่าโทร. ถูก

อีกเครื่องหนึ่งแฟนซื้อให้ ด้วยเหตุผลว่าขอมีเบอร์ที่ใช้เฉพาะสองเรา

การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือของเปรี้ยวไม่ได้กำหนดตายตัวว่า ๒ เดือนครั้งหรือ ๔ เดือนครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นมีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ออกมาหรือมีฟังก์ชันใหม่ๆ น่าสนใจหรือเปล่า อย่างเครื่องที่วางอยู่ตรงหน้า เปรี้ยวซื้อมาเพราะมันถ่ายรูปและฟัง MP3 ได้

เปรี้ยวบอกว่าเหตุผลที่จำเป็นมากๆ ในการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ คือ ถ้าเธอเห็นมีคนใช้มือถือรุ่นที่คล้ายของเธอมาก เธอก็จะเปลี่ยน เพราะไม่อยากซ้ำใคร และจะได้ไว้โชว์ให้เพื่อนดูด้วย โทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องที่เปรี้ยวซื้อใหม่ราคาไม่ต่ำกว่าหมื่นหรือสองหมื่นบาท ส่วนเครื่องเก่านั้นจะนำไปขายตามร้านรับซื้อโทรศัพท์มือสอง เงินที่ได้ก็เอามาซื้อเครื่องใหม่ต่อ

ก่อนที่เราจะจากกัน ผมอดแซวไม่ได้ว่า “เอาเครื่องที่ ๔ มั้ย แบบกิ๊กซื้อให้ไง” เปรี้ยวหัวเราะก่อนจะตอบยิ้มๆ

“พอแล้ว…”

 

บิ๊กหอย ชายแดนเขมร “ไม่ซื้อมือถือไม่ไปโรงเรียน”

สิ้นเสียงขบวนรถไฟและสิ้นสุดการโบกรถในเดือนเมษายน ผมพบตัวเองยืนมองดอกจานสีแสดบนกิ่งก้านสีดำ สายลมจากท้องทุ่งพัดพากลิ่นหญ้าไหม้ไฟ ซึ่งถูกเผาเพื่อเตรียมทำนาในฤดูฝนที่จะมาถึง หอย หรือ ธีรพงศ์ นบน้อม กำลังไถนาพลิกดินขึ้นมาด้วยรถไถคูโบต้าคู่ใจ ลอนดินที่ถูกพลิกขึ้นมาส่งกลิ่นอย่างที่คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่เคยได้ดม

หอยเรียนอยู่ชั้น ม. ๕ โรงเรียนกาบเชิงวิทยาคม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ในคืนวันเก่าๆ ตอนที่ผมยังเป็นสามเณรอยู่นั้น (ผมเคยบวชอยู่กาบเชิง ๓ ปี) หอยยังเรียนอยู่ ป. ๖ ชอบขี่จักรยานมาเล่นที่วัด และเคยบวชสามเณรภาคฤดูร้อน

ในอดีตเมื่อ ๕ ปีก่อน เด็กนักเรียนของกาบเชิงรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” น้อยมาก แต่ในวันนี้กลับเกิดปรากฏการณ์ “ถ้าพ่อแม่ไม่ซื้อมือถือให้ก็จะไม่ไปโรงเรียน” คำบอกเล่าของพระอาจารย์พิเชษฐ์ พิเชษโฐ เป็นแรงผลักให้ผมมานั่งคุยกับหอยใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ริมทุ่งนา

“เพื่อนรู้สึกตื่นเต้นและเห่อ โทร. หาสาวอะไรแบบนี้ ชอบเห่อเพลงของมือถือ ทั้งเสียงเรียกเข้าและฟัง MP3 โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เท่าที่เห็นราคาจะอยู่ประมาณ ๖,๐๐๐ บาท ถ้าใครมีเงินก็มีเหมือนคนอื่นได้ ถ้าทั่วไปก็จอสีเท่านั้น ใครเห็นเพื่อนมีมือถือรุ่นใหม่ก็จะอยากได้ ใครมีแบบหรูๆ ก็เอามาโชว์กัน รู้สึกว่าเท่ ได้โชว์สาว”

เขาเล่าให้ฟังถึงค่านิยมในโรงเรียนด้วยสำเนียงอีสานเหน่อๆ ผมถามหอยถึงความรู้สึกของเขาในการใช้โทรศัพท์มือถือ

“รู้สึกตื่นเต้น อยากโทร. เล่น ส่วนใหญ่คุยตามแต่ธุระหรือยิงกันไปมา หรือยิงไปหาสาว ให้สาวโทร. กลับบ้าง ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็ตก ๑๕๐ บาท”

กับการจีบสาว หอยบอกว่าโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนสำคัญ แต่เขายืนยันว่าถ้าไม่มี เขาก็จีบติด… ผมถามหอยว่าแล้วตอนคุยโทรศัพท์คุยกันนานไหม คุยเรื่องอะไร ?

“โทร. หากันเป็นประจำทุกวันนานถึง ๒ เดือน โทร. ทุกวันจนแบตเสื่อม คุยกันตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน คุยกันไปจนหมดเรื่องคุย แล้วก็นอนฟังลมหายใจกันผ่านโทรศัพท์ หรือไม่ก็ร้องเพลงให้กันฟัง เพราะไม่มีอะไรจะพูด พอจีบสาวติดแล้ว ต้องเตือนว่าให้โทร. มาอาทิตย์หนึ่ง ๓-๔ วันก็พอ“

แล้วหอยก็เล่าให้ฟังถึงบางอย่างที่เขาค้นพบ

“บางทีโทร. นานก็ประสาทเสีย ปวดหัว มึนหัว ตาลอยเหมือนคนติดยา แสบหูร้อนหู อยากกินน้ำ คอแห้ง”

เหล่านี้เป็นอาการปรกติที่หอยพบ แต่เมื่อถามว่าเขายังจะโทร. อีกไหม เขาก็โทร. เพราะโปรโมชั่นโทร. ฟรีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น “มันฟรี” หอยบอกอย่างยิ้มๆ

ส่วนโรงเรียนที่หอยเรียนอยู่ มีนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือกันประมาณครึ่งโรงเรียน

“ม. ๑ เห็นใช้กันอยู่ ๕-๖ คน นอกนั้นจะเป็น ม. ปลาย ใหม่ๆ ก็เห่อกัน เห็นรุ่นพี่มีก็อยากได้ พ่อแม่ไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ก็จะไม่มาโรงเรียน ประมาณว่าเป็นข้อต่อรอง”

พฤติกรรมแบบนี้อาจไม่ได้เกิดกับนักเรียนทุกคน เคยมีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่มอเตอร์ไซค์เพิ่งเข้ามาในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้ มีวัยรุ่นบางคนไม่ยอมไปโรงเรียนถ้าพ่อแม่ไม่ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้

 

“เห็นหน้าดีกว่าเห็นเบอร์” ในส่วนเสี้ยวความรู้สึกของตาล

ชื่อของตาลหรือ อัญชณา ด่านวิเชียรชัย ถูกเอ่ยขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำด้วยคำบอกเล่าที่ว่า “เป็นลูกศิษย์ของแม่ ตาลชอบส่ง message มาให้แม่เกือบทุกวัน เดี๋ยวนัดให้” นับจากวันนั้นมา ๓ วัน ผมก็ได้พบตาลในร้านฟาสต์ฟูดแห่งหนึ่ง ย่านปิ่นเกล้า

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการใช้โทรศัพท์มือถือว่า

“เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือมาได้สักปีแล้ว ตอนนั้นเรียนอยู่ ม. ๔ แรกๆ คิดว่ามันไม่จำเป็น แต่ป๋าบอกว่าเอาไว้เวลาเราไปไหนไกลๆ พอดีช่วงนั้นทางทีโอทีเขาให้เลือกว่าจะเอาเงินประกันคืนหรือจะเอาโทรศัพท์ ก็เลยเอาโทรศัพท์”

ตาลเสริมว่า “ก่อนหน้านี้จะโทร. หาใครก็ต้องหยอดเหรียญ พอมาใช้มือถือสะดวกกว่า ตอนนั้นเพื่อนก็เริ่มใช้มือถือกันเยอะมาก

“แรกๆ โทร. น้อยหน่อย แต่ตอนนี้ชินกับมันแล้วเพราะเราสื่อสารกันมากขึ้น ใช้เป็นกิจวัตรประจำวันเลยค่ะ วันหนึ่งใช้โทร. ๕-๖ ครั้ง โทร. หาเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ โทร. เกือบทุกวัน ก็คุยกันประมาณว่า ทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน กินข้าวรึยัง กินกับอะไร คิดถึงกันรึเปล่า

“ตาลเลือกโปรโมชั่นเป็นระบบเหมาจ่าย ๒,๐๐๐ นาที ๓๐๐ บาท คิดว่าคุ้มที่สุดแม้จะมีปัญหาเรื่องสัญญาณ คือโทร. ได้เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ที่โรงเรียนจะใช้โทรศัพท์มือถือกันเกือบทุกคน ถ้ามีใครซื้อของใหม่มาก็จะเอามาโชว์กัน พอเริ่มตกรุ่นก็จะเอาไปเทิร์นเครื่องใหม่มา ในโรงเรียนของตาล เด็กส่วนใหญ่จะใช้พีซีที ส่วนเพื่อนๆ ในห้องตาลใช้มือถือราคาไม่เกิน ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ บาท นอกจากบางคนที่จะมีรุ่นใหม่มาเปลี่ยนเรื่อยๆ

“เด็กสมัยนี้ใช้โทรศัพท์มือถือกันตั้งแต่ชั้นประถม เอาไว้ติดต่อพ่อแม่ ในโรงเรียนตาลมีเกือบทุกคน พักกลางวันก็จะเริ่มโทร. แล้ว หรือไม่ก็ส่ง message”

ผมถามตาลว่าถ้าไม่มีใครโทร. หาจะรู้สึกยังไง

“ไม่เป็นไร ตาลคิดว่าถ้าเขาไม่โทร. มาเราก็โทร. ไป เพราะโทรศัพท์เรามีตังค์เยอะไง แค่ยิงมาก็พอแล้ว เดี๋ยวโทร. ไป ปรกติไม่ค่อยห่วงเรื่องไม่มีใครโทร. มา เพราะเราโทร. หาคนนั้นคนนี้ประจำอยู่แล้ว อยากคุยก็โทร. ไปหาเขา”

ปรกติตาลจะใช้เวลาคุยโทรศัพท์นานครั้งละ ๔๐-๕๐ นาที เรื่องที่คุยก็เป็นเรื่องใกล้ตัวทั่วๆ ไป ซึ่งตาลเสริมว่า “คนเราชอบการเทกแคร์นะ ถ้ายิ่งเราโทร. ไปหาทุกวัน เขายิ่งจะรู้สึกดี บางครั้งตาลก็จะส่ง message คิดว่าการส่ง message ดีกว่าการคุย ว่างๆ เขาจะได้ค่อยๆ มาไล่เปิดข้อความดู มันได้ความรู้สึกดีๆ”

ผมถามตาลว่าคิดยังไงกับการมีแฟนผ่านโทรศัพท์มือถือ

“ถ้าให้ตาลคบทางมือถือไม่เอาหรอก ต้องมาเจอ ต้องมารู้จัก”

ตาลเล่าให้ฟังด้วยว่าเคยมีเพื่อนที่คุยโทรศัพท์กันบ่อยๆ ซึ่งตอนคุยผ่านโทรศัพท์จะคุยกันได้เยอะมาก แต่พอมาเจอตัวจริงเธอกลับไม่รู้จะคุยอะไร

คำถามสุดท้ายที่ผมถามตาลคือ จะเป็นยังไงถ้าโลกนี้ไม่มีโปรโมชันและโทรศัพท์มือถือ

“คงรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง ประมาณนั้น ตาลคิดว่ามันเป็นการมอบความรู้สึกดีๆ ให้กันและกัน ส่วนโปรโมชั่น มันไม่ได้มีโปรโมชั่นเดียว เราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

เธอทิ้งท้ายก่อนลาจากกันว่า “แต่ก็ไม่เป็นไรนะ ตาลชอบเขียนจดหมาย คือเขียนคำดีๆ ลงไป น่าประทับใจกว่าการคุยโทรศัพท์เสียอีก เห็นหน้าดีกว่าเห็นเบอร์ค่ะ”

 

ความเหงาร่วมสมัยและผู้หญิงชื่อจุ๋ม

จุ๋ม – ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล เป็นนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อนในกองบรรณาธิการหนังสือ p+itch ในวันที่การประชุมคร่ำเครียดจนที่ประชุมลงมติหยุดพัก ผมชวนเธอคุยถึงเรื่องโทรศัพท์มือถือ และโดยไม่ได้ตั้งใจ ความเหงาร่วมสมัยก็เผยตัว…

“เมื่อก่อนชีวิตนักศึกษาจะมีกิจกรรมทำเยอะ เป็นกิจกรรมที่ทำกันหลายคน ไปไหนไปกันหลายคน และมันจะมีแบบ มีอะไรก็ต้องไปเจอกันที่ตรงนั้นตรงนี้ แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีเรื่องของตัวเอง ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ใช้การสื่อสารอย่างอื่นมากขึ้น เจอหน้ากันน้อยลง มันเป็นอารมณ์เหงาน่ะ”

จุ๋มใช้โทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่อยู่ ม. ๖ คือตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ จนถึงบัดนี้ก็ ๔ ปีแล้ว คำพูดง่ายๆ ของเธอเมื่อให้พูดถึงมือถือคือ “มันสะดวกดี” แต่กระนั้นจุ๋มก็ตั้งคำถามทั้งกับตัวเองและเพื่อนนักศึกษาว่า “ทำไมเวลาอยู่คนเดียวต้องยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจิ้มเล่น หรือโทร…”

“แปลกนะ ถ้าเราอยู่กับเพื่อน ถ้าเรามีกลุ่ม มีสมาคมอยู่ (เธอกวาดตามองไปที่เพื่อนๆ) เราจะไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นเกมหรือโทร. หาใคร ไม่จำเป็นต้องฟังเพลง แต่ถ้าไปในพื้นที่บางแห่ง เราจะรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว แปลกแยก แปลกหน้า เราจะทำอะไรที่แยกจากโลกภายนอก อย่างฟังเพลงหรือเล่นเกม หรือไม่ก็โทร. หาคนนั้นคนนี้”

ผมถามเธอว่า “วัยรุ่นใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อแก้เหงาหรือเพื่อแสดงความเป็นตัวตน”

“อาจจะใช่ทั้งสองอย่าง สองอย่างนี้เกี่ยวข้องกัน ปรกติถ้าเราเหงา เราจะมีโลกส่วนตัว อาจจะอ่านหนังสือ หรือทำอะไรก็ได้ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นต้องอินเทรนด์ด้วย ต้องไฮเทค กลายเป็นเรื่องของการซื้อ ต้องเท่ห์ ต้องฟัง MP3 แล้วโยกหัว”

เราคุยกันไปไกลมาก ไปถึงเรื่องโครงสร้างของสังคม โฆษณา ค่านิยม สุดท้ายผมถามเธอง่ายๆ ว่า อะไรคือสิ่งที่เธออยากบอกเพื่อนและบอกตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ”

“ต้องคิดให้เยอะๆ สำหรับบางคนที่ไม่เดือดร้อนก็เป็นเรื่องของเขา แต่บางคนที่ต้องดิ้นรนหามาให้ได้ มันก็ไม่ควร และไม่ว่าโปรโมชั่นจะถูกแค่ไหน คนที่คุ้มที่สุดไม่ใช่เราแน่ๆ โปรโมชั่นที่เขาออกมา เขาคิดมาดีแล้ว เราไม่ได้จ่ายเงินน้อยลงเลยนะจ๊ะ”

 

กาลครั้งหนึ่งกับการหายตัวไปของ “โทรศัพท์มือถือ”

สุวิทย์ นักศึกษาปี ๔ มหาลัยวิทยาลัยรามคำแหง มีประสบการณ์ไม่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ ๓ เดือน ต้นเหตุไม่ได้มาจากการมีอคติกับโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเพราะช่วงนั้นเขาไม่มีเงินไปซื้อบัตรมาเติมเงิน โทรศัพท์จึงถูกตัด

สิ่งแรกที่สุวิทย์ได้ค้นพบคือ เขามีอิสระมากขึ้น เขาเล่าแบบขำๆ ว่า “ตอนที่ใช้ยังโทรศัพท์มือถืออยู่ ถ้าเกิดตื่นตอนดึกๆ สิ่งแรกที่จะทำคือคว้าโทรศัพท์มาดูว่ามี missed call รึเปล่า” และบางวันเขาจะหงุดหงิดด้วยคำถามที่เกิดกับตัวเองว่า “ไม่เห็นมีคนโทรมาเลยยย…”

อีกเรื่องที่หายไปเมื่อเขาไม่ใช้โทรศัพท์คือ อาการหูฝาด เมื่อก่อนโดยเฉพาะตอนอยู่กับคนเยอะๆ สุวิทย์จะรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แต่พอหยิบขึ้นมา กลับไม่มีใครโทร. เข้า นอกจากนี้เขายังได้เรียนรู้ว่าโทรศัพท์สาธารณะก็ใช้ได้ดี ทั้งยังทำให้เขาจำเบอร์เพื่อนได้หลายคน ไม่เหมือนตอนที่ยังใช้โทรศัพท์มือถืออยู่

ปุ๊กกี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทดลองไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ๑ เดือนแล้วพบว่าตัวเองได้มองเห็นรายละเอียดของสิ่งรอบตัวมากขึ้น ในช่วงที่ไปเที่ยวทะเล ขณะที่เพื่อนทุกคนกำลังคุยโทรศัพท์ เธอเป็นคนเดียวที่ได้ชมพระอาทิตย์ตกจนลับขอบฟ้าวินาทีต่อวินาที

ปุ๊กกี้เล่าว่า แรกๆ ที่ไม่มีโทรศัพท์ใช้ ก็ขัดๆ เขินๆ เพราะความเคยชิน แต่ตอนหลังรู้สึกเบาสบายตัว ไม่ต้องคอยชาร์จแบต ถ้านัดเพื่อนก็จะมาตรงเวลา เพราะติดต่อกันไม่ได้ เดี๋ยวนี้ถ้าจะติดต่อใครทางโทรศัพท์ เธอจะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะคุยเรื่องอะไรบ้าง เพราะต้องเดินไปไกลกว่าจะเจอตู้โทรศัพท์สาธารณะ

สุดท้ายเธอบอกยิ้มๆ ว่า

“เรามีเวลาส่วนตัวมากขึ้น” รอยยิ้มของเธอดูมีความสุข…

 

สู่เรื่องเล่าที่ใครๆ หลงลืม

เปลวแดดทำให้ลมร้อนผ่าว และในสายลมมีกลิ่นเน่าของขยะมูลฝอยนับล้านๆ ชิ้น ภาพตรงหน้าช่างขัดแย้งกับภาพความเจริญและความสะอาดสะอ้านที่เห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ผมปาดเหงื่อที่ไหลย้อยและมองฝ่าไปในระยิบแดด ที่ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ในกองขยะมหึมานั้น

ชายสูงอายุคนหนึ่งเดินเข้ามาหาผม เขาหน้าตามอมแมมและอยู่ในสภาพโทรมอย่างเห็นได้ชัด ผมยกมือไหว้เขาและบอกจุดประสงค์ในการมาขอสัมภาษณ์ เขาทำหน้าบอกบุญไม่รับและมองผมหัวจรดปลายเท้า ก่อนจะหายกลับไปในกองขยะเช่นเดิม

เรื่องของเรื่องคือผมต้องเขียนงานส่งนิตยสารทางเลือกฉบับหนึ่ง เป็นคอลัมน์ที่พูดถึงคนเล็กๆ ซึ่งดำรงชีวิตไม่หวือหวาอะไร หากแต่มีคุณค่าในวิถีของเขา ผมสงสัยมานานแล้วว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรกับขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน – ดีใจที่มีงานไม่ขาดสาย ดีใจที่มีสิ่งเหลือใช้จากคนเมืองที่พวกเขาจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ หรือจะมองเห็นขยะที่เกิดจากความฟุ่มเฟือยและมักง่ายของคนกรุง เหมือนถุงพลาสติกที่ปลิวว่อนอยู่ไม่ไกล..

เอาแค่โทรศัพท์มือถือ ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือที่มีการลงทะเบียนใช้งานมีอยู่ประมาณ ๓๑.๒ ล้านหมายเลข (ม.ค.-มิ.ย. ๒๕๔๘) ไม่นับการที่คนคนหนึ่งใช้มือถือหลายเครื่องแต่เบอร์เดียว

ลองคิดถึงจำนวนขยะที่จะเกิดขึ้น…ทั้งหน้ากากโทรศัพท์และของตกแต่งอื่นๆ อีก ไม่นับรวมแบตเตอรี่ซึ่งมีส่วนประกอบที่เป็นโลหะหนัก จัดเป็นกากของเสียอันตราย (hazardous waste) คือมีสารพีซีบี ปรอท แคดเมียม อาซีนิค ตะกั่ว ไซยาไนด์ นิกเกิล เป็นต้น ขณะที่ทุกวันนี้ยังไม่มีกระบวนการจัดเก็บขยะเช่นแบตเตอรี่ที่รัดกุมพอ…

ผมมองเห็นภาพผู้คนกำลังคุยโทรศัพท์มือถือ เป็นเรื่องเล่าที่ผู้คนกำลังหลงลืม

“เราจะเก็บขยะพวกนี้ เราจะเก็บไว้ที่ไหนดี…”

“ดาวอังคาร…?”

 

next station และนิยามใหม่ของศตวรรษ ?

“ช่วยมาเล่นตลาดคนแก่บ้างนะ ตอนนี้ทุกคนที่บ้านมีมือถือครบหมดแล้ว กระทั่งพ่อแม่ที่อายุเกือบจะ ๖๐ ก็ยังมีกันคนละเครื่อง ทั้งๆ ที่อยู่บ้านทั้งวันไม่ได้ไปไหน” ข้อความในบอร์ดของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ทำให้ผมนิ่งเงียบอยู่นาน…

ปรากฏการณ์โทรศัพท์มือถือราคาถูก และโปรโมชันถูกแสนถูก เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นและคนทั่วไป ทำให้มือถือกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของคนยุคนี้ จนในบางห้วงของชีวิต “การไร้มือถือ” กลายเป็นความรู้สึกราวกับการขาดที่พึ่ง ไม่มีความมั่นใจ หรือเริ่มรู้สึกตัวเบาๆ บางครั้งถึงกับต้องควานเข้าไปในกระเป๋าหรือตบกางเกงโดยไม่ได้ตั้งใจ แม้จะรู้ว่าวันนี้ลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน…

โทร. กันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ?

คำถามนี้ชวนให้สะกิดใจ แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ปรากฏการณ์โทรศัพท์มือถือและกระแสโปรโมชันที่กำลังไหลบ่า กำลังสร้างวัฒนธรรมอะไรให้แก่วัยรุ่นและสังคมไทย

next station…ในสถานีหน้าเราอาจจะพบกับสิ่งที่เรียกว่าเพื่อน มิตรภาพ คนรัก ฯลฯ บนพื้นฐานของนิยามใหม่…หรือมันเกิดขึ้นแล้ว ?

“ฮัลโหล…”