www.faylicity.com
การออกหนังสือ The Original of Laura ของ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นับเป็นวาระสำคัญแห่งปีของโลกวรรณกรรม นั่นเป็นเพราะที่มาอันยาวนานและเป็นที่กล่าวขวัญกันมากว่าหนังสือเรื่องนี้ควรตีพิมพ์ออกมาหรือไม่
นาโบคอฟเริ่มเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ตอนบั้นปลายชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ เมื่ออายุ ๗๖ ปี จากนั้นมาเขาเจ็บป่วย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยครั้งจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ๑๙๗๗ โดยยังเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ไม่เสร็จ นาโบคอฟสั่งเสียเวรา ภรรยาของเขาว่าเมื่อเขาตายให้ทำลายต้นฉบับที่ยังไม่สมบูรณ์ทิ้ง เวราเสียชีวิตในปี ๑๙๙๑ โดยมิได้ทำลายต้นฉบับ การตัดสินใจนี้จึงอยู่ที่ลูกชายคนเดียวผู้มีนามว่า ดมิทรี (Dmitri) ต้นฉบับซึ่งนาโบคอฟเขียนไว้ในบัตรคำถูกเก็บรักษาในห้องเซฟของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์นับตั้งแต่เขาเสียชีวิต
ต้นฉบับนี้เป็นข่าวเกรียวกราวทั่ววงการหนังสืออีกครั้งตอนต้นปี ๒๐๐๘ เมื่อนักวารสารศาสตร์นาม รอน โรเซนบอม (Ron Rosenbaum) เขียนบทความเผยว่าดมิทรีอาจทำลายต้นฉบับของบิดา รอนผู้รักและอยากอ่านต้นฉบับสุดท้ายของนาโบคอฟเขียนกึ่งขอร้องและบรรยายความคับข้องใจซึ่งสรุปได้ว่า จะทำอะไรก็ทำสักทางเถิดดมิทรี เดี๋ยวบอกว่าเผา เดี๋ยวบอกจะไม่เผา ฟังแล้วจะบ้าตาย บทความนี้ทำให้ผู้คนถกประเด็นนี้อีกครั้ง ในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง ดมิทรีประกาศว่าเขาตัดสินใจตีพิมพ์ต้นฉบับ เพราะพ่อพูดถึงต้นฉบับนี้ด้วยความรักใคร่นัก ซึ่งไม่น่าเป็นทีท่าของคนที่อยากเผามันทิ้ง และพ่อคงไม่โต้แย้งเขา (ปัดโธ่ จะไปโต้แย้งได้อย่างไรเล่า)
เรื่องที่ว่าควรพิมพ์หรือไม่ควรพิมพ์จึงเป็นอันยุติ เข้าใจได้ว่าแฟน ๆ นาโบคอฟย่อมอยากอ่านต้นฉบับใจแทบขาด จะเล็กจะน้อยสักเพียงใดก็ช่างเถิด เรารักเขาและรักตัวเองมากเสียจนเห็นแก่ตัว แต่ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าควรเคารพเจตนาของนาโบคอฟ ผู้รักความสมบูรณ์แบบเหนือสิ่งใด นิตยสาร Playboy เคยขอให้นาโบคอฟอ่านตัวอย่างหรือบันทึกสั้น ๆ จากต้นฉบับที่เขาเขียนอยู่ นาโบคอฟปฏิเสธโดยบอกว่า “ไม่มีทารกในครรภ์คนใดควรถูกผ่าตัดสำรวจ” ทว่าหากภรรยาของนาโบคอฟมิได้เคยยับยั้งเขาไว้โดยแย่งต้นฉบับมาจากมือถึงสองวาระ ป่านนี้ Lolita ก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้วเช่นกัน
ข่าวเรื่องต้นฉบับมีสีสันเผ็ดมันยิ่งขึ้นเมื่อดมิทรีเลือกขายสิทธิ์การพิมพ์ต้นฉบับนี้รวมถึงสิทธิ์การพิมพ์หนังสืออื่นทั้งหมดของนาโบคอฟให้นายหน้านักเขียนคนดังนาม แอนดรูว์ ไวลี (Andrew Wylie) ซึ่งคนในวงการเรียกขานว่า The Jackal (สัตว์ป่าคล้ายสุนัข กินซากศพเป็นอาหาร) และอื่น ๆ เช่นไอ้ชั่ว ไวลีเก่งมากในการเจรจาเรื่องเงินทองผลประโยชน์ และถนัดการแย่งนักเขียนดัง ๆ จากนายหน้าคนอื่นให้มาเข้าสังกัดของตนโดยยอมทำทุกวิถีทาง เขาเป็นนายหน้าของนักเขียนเช่น ซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie) ฟิลิป รอท (Philip Roth) และ อิตาโล คัลวิโน (Italo Calvino) คาดกันว่าดมิทรีคงได้เงินไปไม่น้อย ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขนี้ รู้แต่เพียงว่าหนึ่งในข้อตกลงคือ Lolita ต้องไม่มีวันขาดตลาดไปจนตลอดกาล
ที่บ้านของนาโบคอฟในเมืองอิทากะ กรุงนิวยอร์ก เวราช่วยพิมพ์ต้นฉบับจากบัตรคำ ลายมือของนาโบคอฟ (ภาพโดย Carl Mydans จากนิตยสาร Life ถ่ายเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๙)
ตัวอย่างบัตรคำต้นฉบับ (ที่มา : http://www.maslujo.com)
ครึ่งบนของหน้ากระดาษด้านขวาพิมพ์ต้นฉบับบัตรคำ ครึ่งล่างเป็นตัวพิมพ์ที่ถอดจากบัตรคำ นาโบคอฟมักขีดฆ่ากากบาทที่ด้านหลังของบัตรคำ
แล้วก็ถึงการรอคอยกำหนดหนังสือวางแผงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๙ ฉบับอเมริกาโดยสำนักพิมพ์ Knopf ฉบับอังกฤษโดย Penguin ในรูปเล่มงดงามน่าทึ่งเดียวกันที่ออกแบบโดย ชิป คิดด์ (Chip Kidd) นักออกแบบหนังสือชื่อดังแห่งยุค นี่คือหนังสือสวยที่สุดเล่มหนึ่ง จัดทำรูปเล่มปกแข็งด้วยกระดาษหนา พิมพ์ต้นฉบับสีจากบัตรคำทั้งสิ้น ๑๓๘ แผ่นที่ครึ่งบนของหน้ากระดาษด้านขวา ส่วนครึ่งล่างเป็นตัวพิมพ์ที่ถอดจากบัตรคำนั้น รอบบัตรคำเป็นรอยปรุให้ผู้อ่านถอดออกมาเรียงใหม่ได้ตามที่นาโบคอฟมักทำกับต้นฉบับ หนังสือนี้วางขายในร้านโดยหุ้มพลาสติกเพื่อรักษาบัตรคำในเล่ม (ต่างจากหนังสือทั่วไปที่มักไม่มีการหุ้มพลาสติก) และพิมพ์ฉบับจำหน่ายแก่ห้องสมุดโดยไม่มีการทำรอยปรุรอบบัตรคำ
การอ่านหนังสือเรื่องนี้ต้องอาศัยความระมัดระวัง เนื่องจากเมื่อพลิกหน้ากระดาษในช่วงต้นเล่ม ขอบบัตรคำด้านติดสันจะปริออกมา ส่งเสียงลั่นน้อย ๆ ซึ่งอาจสะเทือนใจเจ้าของหนังสือได้เหลือแสน ทางแก้คือให้ซื้อหนังสือ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งซื้อมาเก็บไว้ อีกเล่มหนึ่งซื้อมาอ่านและแกะบัตรคำออกมาเล่นตามใจชอบ ใครเล่าบอกว่าความรักยุติธรรม
นอกจากจะได้อ่านต้นฉบับที่ไม่คิดว่าจะได้อ่านแล้ว หนังสือนี้ยังดีขึ้นไปอีกเพราะเราได้เห็นลายมือของนาโบคอฟ เห็นวิธีการทำงานบางส่วนของเขา ผู้เป็นโรคหัวใจโปรดระวังให้ดี เพราะหนังสือสวยจนเห็นแล้วแทบจะเป็นลมตาย นี่เป็นกำเนิดของลอราอันแท้จริง ข้อมูลจาก Nielsen บอกว่าหนังสือนี้ขายได้ ๒,๙๐๖ เล่มในอเมริกาในสัปดาห์แรก และขายได้อีก ๑,๒๒๐ เล่มในสัปดาห์ต่อมา
หน้าปกบอกไว้ว่านี่คือนิยายในรูปแบบเศษเสี้ยวที่มาจากต้นฉบับเพียงเล็กน้อย โดยครึ่งหลังมักเป็นบันทึกหรือวลีสั้น ๆ เป็นร่องรอยของถ้อยคำที่อาจปรากฏในหนังสือ นักวิจารณ์จำนวนมากเห็นว่าคำยกยอต้นฉบับที่ออกมาก่อนการตีพิมพ์นั้นดีเกินจริง และต้นฉบับนี้น้อยเกินไปจนไม่น่านำมาตีพิมพ์ให้ขัดใจนาโบคอฟ มีแต่ผู้ที่รักนาโบคอฟจริง ๆ เท่านั้นที่จะซาบซึ้งใจกับต้นฉบับนี้
สังเกตรอยแตกปริด้านซ้ายมือซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อพลิกหน้ากระดาษ
ปกหนังสือเมื่อถอดกระดาษหุ้มปกออก ปกหน้าเป็นบัตรคำที่นาโบคอฟเขียนคำว่า “ลบ” ต่างๆกันไป ได้แก่ efface, expunge, erase, delete, rub out, wipe out และ obliterate
แต่สำหรับผู้ที่รักเขา นี่คือถ้อยคำที่มากยิ่งกว่ามาก คือของขวัญที่เราไม่หวังว่าจะได้รับ เราไม่คาดว่าจะได้เห็นประโยคใดจากเขาอีกแล้ว แต่จู่ ๆ ก็มีบัตรคำถึงร้อยกว่าแผ่น แล้วต้นฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องอะไรหรือ ใครที่ไม่อยากรู้เรื่องนี้จากคนอื่น โปรดอ่านหนังสือก่อนอ่านบทความนี้ต่อ…
ต้นฉบับเล่าเรื่องของ ฟลอรา สาวสวยวัย ๒๔ ปีผู้แสนบอบบาง ผิวสีงาช้างขาวผ่อง นัยน์ตาสีน้ำเงินเข้ม เธอมีเสน่ห์รุนแรง เป็นทั้งความอ่อนโยนและโหดร้าย “ทุกอย่างเกี่ยวกับเธอคือความไม่ชัดเจน… เรื่องของศิลปะ ความรัก ความแตกต่างระหว่างความฝันและความตื่นนั้นเธอไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่จะพุ่งใส่เราดังนากหัวแบนสีน้ำเงิน หากเราตั้งคำถามเธอ” ฟลอราแต่งงานกับสามีที่แก่กว่ามาก เธอไม่ได้รักเขาแต่รักความร่ำรวยและชื่อเสียงของเขา แต่แล้วต้องผิดหวังเมื่อรู้ภายหลังว่าสามีเป็นคนตระหนี่ (บ้านที่นิวเจอร์ซีย์มีคนรับใช้น้อยเกินไป วิลลาที่ริเวียราไม่มีสระว่ายน้ำและมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว) ฟลอรานอกใจสามีเรื่อยมา ชู้รักคนหนึ่งของเธอเขียนหนังสือ My Laura เล่าสัมพันธ์รักกับเธอไว้ ซึ่งกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี และใคร ๆ ก็รู้ทั่วไปว่าลอราคือฟลอรา
ดร.ฟิลิป ไวลด์ สามีของฟลอราก็ทราบเช่นกัน เขาอ่านหนังสือแล้วเห็นว่าเป็นมาสเตอร์พีซบ้า ๆ เล่มหนึ่ง แม้นิยายจะไม่พูดถึงตัวเขาชัด ๆ แต่ชัดเจนว่าเป็นเขาแน่เพราะตั้งชื่อเขาว่า Philidor Sauvage ฟิลิปอายุ ๖๐ ต้น ๆ เป็น “ประสาทแพทย์ผู้ปราดเปรื่อง เป็นอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพ… มีทุกอย่างยกเว้นแต่เสน่ห์ภายนอก” เขาอ้วนมหาศาล หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมกมุ่นกับการทดลองตายในมโนคติโดยนึกภาพการลบอวัยวะตนเองออกทีละส่วน เริ่มจากนิ้วเท้า ซึ่งเขาพบว่าการตายด้วยวิธีนี้เป็นความสุขหาใดปาน (ชื่อเรื่องรองของ The Original of Laura คือ Dying is Fun) ฟิลิปเขียนบันทึกถึงการทดลองเหล่านี้ไว้ อ่านสนุกและเป็นตลกร้ายมาก ๆ
ต้นฉบับบอกเราเพียงเท่านี้ น่าเสียดายที่ยังเขียนไม่เสร็จเพราะน่าสนุกไม่น้อย ยังมีปริศนามากมาย เช่นชื่อคนที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร ใครคือผู้เขียนเรื่องราวนี้ เรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร น่าสนใจว่ารูปแบบหนังสือที่เสร็จสมบูรณ์จะเป็นอย่างไร เพราะในเรื่อง ฟิลิปเขียนบันทึกการทดลองทางแพทย์ด้วยลายมือ แต่หัวใจวายตายกะทันหัน และต้นฉบับตกอยู่ในน้ำมือใครสักคนที่เรายังไม่รู้ น่าสงสัยว่าจะเป็นการตีความอันพิสดารผ่านใครคนนั้นดังในนิยาย Pale Fire หรือไม่ หากหนังสือจะมีข้อเสียก็อยู่ที่คำนำซึ่งเขียนโดยดมิทรี เป็นคำนำน่าชัง ดัดจริต และเขียนแย่เอามาก ๆ แต่ใครที่รักนาโบคอฟไม่ควรพลาดเรื่องนี้ เพราะการอ่านถ้อยคำของเขาเป็นความสุขเหลือประมาณ
นาโบคอฟเป็นนักเขียนรัสเซียที่ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในอเมริกา เขาเริ่มเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา ซึ่งผลงานจำนวนมากในช่วงนั้นคือหนังสือดีมาก ๆ เรื่องโด่งดังที่สุดคือ Lolita(๑๙๕๕) แต่ยังมีผลงานโดดเด่นอื่น ๆ เช่น Pnin(๑๙๕๗) และ Pale Fire(๑๙๖๒) นาโบคอฟเป็นนักเขียนภาษาสวยร้ายกาจที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ ๒๐ คำของเขาวิจิตรตระการตา เป็นเพชรที่ตกแต่งจนแพรวพราวระยับจับตา เขาชอบเล่นกับภาษา น้ำเสียง แสงและสี ใช้ถ้อยคำในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง หากครั้งหนึ่งเราได้อ่านงานของนาโบคอฟแล้ว ภาษาของเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา ความงดงามนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป ไม่มีใครจะเหมือนเขาอีกแล้ว เมื่ออ่านต้นฉบับ เราจะหวนกลับไปคิดถึงประโยคนั้นประโยคนี้จากนิยายเรื่องอื่น ๆ ของเขา (เช่นฟลอรา “เหยียดแขนอันรวดเร็วโหดร้ายของเธอ” ชวนให้นึกถึงฉากที่โลลิตาเล่นเทนนิส) คิดไปถึงครั้งที่เราได้อ่านหนังสือเหล่านั้นครั้งแรก ฤดูกาล สถานที่ และจังหวะเวลาเหล่านั้นหมุนย้อนกลับมา นี่คือเสน่ห์และมนตร์ขลังพิเศษของเขา เราได้รู้ว่าตลอดเวลาอันยาวนานนั้น เราไม่เคยจากกัน
ต้นฉบับนี้บอกเราว่าภาษาของเขายังงดงามแม้ในยามเย็นแห่งชีวิต เขายังตลกร้ายมืดมนมาก ๆ และยังล้อเล่นกับคนอ่านบ่อย ๆ ในเรื่องนี้ฟลอราในวัย ๑๒ มีพ่อเลี้ยงชื่อ ฮิวเบิร์ต เอช. ฮิวเบิร์ต ชายแก่อังกฤษตัวเหม็นหัวล้านผู้คอยคืบคลานมาใกล้เธอ ฮัมเสียงโทนเดียว “โอบล้อมเธอก็ว่าได้ด้วยสสารเหนียวอันมองไม่เห็นบางอย่าง และคอยเข้าใกล้และเข้าใกล้เธอเรื่อย ๆ ไม่ว่าเธอจะหันไปทางใด” ตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องของนาโบคอฟมักตายด้วยเหตุพิสดาร ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีไม่น้อย เช่น ฆ่ารัดคอ ถูกรถบรรทุกทับ ถูกขวานจามแยกชิ้นส่วน
ประเด็นเด่นในเรื่องยังคงสะท้อนประเด็นที่นาโบคอฟชอบเขียนถึง นั่นคือเรื่องรักในวัยเยาว์และความตาย แต่เรื่องนี้นาโบคอฟเขียนถึงความร่วงโรยเสื่อมถอยของร่างกายได้ลึกซึ้งน่าเจ็บปวด การลบอวัยวะทีละส่วนของตัวละครคือการกำจัดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจริงกับนาโบคอฟขณะป่วย ฟิลิปเขียนถึงความเจ็บนิ้วเท้าได้กินใจมาก เขาเจ็บเท้ามาตั้งแต่วัยเด็ก “รองเท้าสวยซึ่งเงางามสะท้อนความเจ็บปวดและพิษ น่ายินดีสักเพียงไรที่จะตัดเท้าเล็ก ๆ ของผมทิ้งไป ! ใช่ เล็ก แต่ผมอยากให้มัน…เล็กกว่านี้เสียอีก รองเท้าที่ใส่ตอนกลางวันนั้นเจ็บเสมอ เจ็บเสมอ” ฟิลิปยังป่วยจากโรคทางกระเพาะมา ๑๗ ปี “ผมเกลียดชังพุงของผม เกลียดลำไส้เป็นคันรถพวกนั้นซึ่งผมต้องหิ้วไปด้วย เกลียดทุกสิ่งที่เชื่อมต่อกับมัน–อาหารผิดประเภท อาการแสบร้อน ภาวะท้องผูกสาหัส หรือไม่ก็การไม่ย่อยอาหาร” นาโบคอฟเขียนว่า “สุดท้าย มันจะรามือ–ดังที่สักวันหนึ่ง ชีวิตจะรามือ–จากการรบกวนผม”
น่าเสียดายที่คนไทยยังไม่อาจรู้จักนาโบคอฟได้จากหนังสือแปลของเขาเท่าที่เรามีอยู่ในตอนนี้ ประโยคเริ่มต้นอันงามสง่าแสนไพเราะตรึงใจของ Lolita ที่ว่า “โลลิตา แสงแห่งชีวา เพลิงแห่งกามาของผม” แปลเป็นไทยว่า “โอ้ โลลิตาเอ๋ย หนูเป็นแสงสว่างในชีวิตป๋า” เราดึงดาวประกายพฤกษ์ลงมาเป็นหลอดไฟเปลือยหน้าซ่องข้างคลองน้ำเน่าไปได้อย่างไร
หวังว่าสักวันหนึ่งเราคงมีฉบับแปลที่แสดงอำนาจแห่งภาษาของนาโบคอฟได้แท้จริง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ต้นแบบนาโบคอฟ” สำหรับผู้อ่านไทย
The Original of Laura
เขียนโดย วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ
๒๗๘ หน้า ราคา ๙๙๕ บาท